วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความว่างเป็นยอดธรรมเป็นธรรมสูงสุด - อมตธาตุ อมตธรรม




ความว่างเป็นยอดธรรมเป็นธรรมสูงสุด
(เป็นอมตธาตุ อมตธรรม)



        สามโลกธาตุนี้  ล้วนเป็นสมมุติ  เกิดที่จิตและดับที่จิต  ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจของ อวิชชา  (ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔)  ทำให้สัตว์โลกคิดปรุงแต่ง (สังขาร) หมุนวนเวียนไปมาไม่รู้ต้น ไม่รู้ปลาย และไม่รู้จบ ทำไฉนหนอ เราจึงจะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้ไปได้

        พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า "สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน  สิ่งทั้งปวงเป็นของมืดมน  สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"  ร้อนเพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย และมืดมนเพราะราคะ โทสะ  โมหะ และมืดมนเพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เนื่องจากสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน  มิใช่ของของตน  ถ้าไม่สามารถถอนการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ ก็เป็นทุกข์ไม่รู้จบ

อุบายธรรมที่จะสามารถถอนการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง แบบรวบหัว รวบหาง แล้วถอนออกจากใจ เหมือนถอนต้นไม้ทั้งรากทั้งโคน  ได้นั้น คือ การพิจารณาเห็นโลกตามความเป็นจริงว่า  เป็นความว่างเปล่าจากตัวตน และเป็นของของตน ได้จริงๆ นั่นเอง

ดังพระพุทธเจ้าตรัสสอนท่านโมฆราชว่า โมฆราช ! เธอจงมีสติพิจารณาโลก  โดยความว่างเปล่าทุกเมื่อ  พึงถอดอัตตาตัวตนออกเสีย เมื่อนั้นมัจจุราชจึงมองไม่เห็น  เมื่อพระโมฆราชได้ฟังพระธรรมบทนี้จบแล้ว ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

 และดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า
สารีบุตร ! เธอมีอินทรีย์ผ่องใส  ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง เธออยู่วิหารธรรมอะไร ? เป็นส่วนมากในบัดนี้
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์อยู่ด้วย สุญญตาวิหารธรรม (ความว่าง) เป็นส่วนมากในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธองค์ตรัสว่า  “ดีละ ! ดีละ ! สารีบุตร เธออยู่วิหารธรรมของมหาบุรุษ เป็นส่วนมากในบัดนี้ เพราะ "สุญญตาวิหารธรรม เป็นธรรมของมหาบุรุษ"  เราควรอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรมเป็นส่วนมาก

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า  ธรรมอันเป็นเหตุแห่งความเนิ่นช้า คือ สัญญา  ซึ่งมันแสดงอาการระยิบระยับ  หลอกหลอนความรู้สึกนึกคิดอยู่ตลอดเวลา


นิโรธสัญญา คือ การดับความจำได้ หมายรู้ในสิ่งทั้งปวง ที่ท่านหลวงพ่อสุมโนดาบส แห่งอาศรมเวฬุวัน จังหวัดเชียงราย นำธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ มาสอนสานุศิษย์อยู่เสมอ เพราะเป็นธรรมที่สามารถกำจัด  เหตุแห่งความเนิ่นช้าของการปฏิบัติธรรม เพื่อให้บรรลุมรรคผลได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ "ยอดธรรมยอดคาถาสูตร"  มีใจความสำคัญ คือให้ทำจิต น้อมจิต กำหนดจิต  ไม่ให้มีธรรมทั้งภายใน  ไม่ให้มีธรรมทั้งภายนอก  ไม่ให้มีธรรมที่ล่วงมาแล้ว  ไม่ให้มีธรรมที่ยังมาไม่ถึง และไม่ให้มีธรรมที่กำลังตั้งอยู่  ทำจิตให้ว่างเปล่าจากปวงสังขตะที่เกิดดับ  ทุกข์ทั้งหลาย ก็จะดับไป หมดไป  สิ้นไปได้ในที่สุด

       หนังสือ เว่ยหล่าง ของท่านพุทธทาสภิกขุ  ก่อนที่ท่านเว่ยหล่างจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ แห่งนิกายเซ็น ท่านได้เขียนโศลกธรรม ของผู้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ไว้ว่า   "ไม่มีต้นโพธิ์(กาย) ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด(ใจ)  เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว  ฝุ่นจะลงจับอะไร" เพราะทุกสรรพสิ่งทั้งรูปธรรม และนามธรรมล้วนเป็นของว่างเปล่าทั้งสิ้น
          พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๕  ได้อธิบายข้อความในวัชรสูตร (กิมกังเก็ง) ให้ท่านเว่ยหล่างฟังว่า  คนเราควรใช้จิตของตน  ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระได้ จากเครื่องข้องทั้งหลาย  ทันใดนั้นท่านก็บรรลุการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์

  ท่านพระสารีบุตรได้พูดกับท่านพระอานนท์ว่า สัญญาได้เกิดขึ้นกับท่านว่า การดับภพ คือนิพพาน การดับภพ คือนิพพาน ภพทั้งสาม ได้แก่ กามภพ  รูปภพ และอรูปภพ

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านสอนว่า " ปล่อยทั้งภายใน ปล่อยทั้งภายนอก วางทั้งภายใน วางทั้งภายนอก ว่างทั้งภายใน ว่างทั้งภายนอก ก็จะเข้าถึงอมตธาตุ อมตธรรม คือนิพพาน”
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านสอนให้ทำงาน หรือปฏิบัติธรรมโดยไม่ให้หวังอะไร คือ การทำจิตให้ว่าง เมื่อไม่หวังอะไรแล้ว  มันก็ไม่ได้อะไร และไม่เป็นอะไร

พระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส  ท่านสอนเน้นให้บำเพ็ญบารมี ๑๐ แนวสุญญตสมาธิ เพื่อทำจิตให้ว่าง  เพราะถ้าจิตไม่ว่างแล้ว  จะไม่สามารถถอนรากถอนโคน ของกิเลสตัณหาทั้งปวงได้  ได้แก่

     ๑. ทานบารมี คือ การให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวงออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น  เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์

๒. ศีลบารมี  คือ การละเว้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัสและธรรมารมณ์ทั้งปวง  เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์

 ๓. เนกขัมมบารมี คือ การปลีกตัวปลีกใจออกจากกาม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) ที่ชวนให้รัก  ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์
     
     ๔. ปัญญาบารมี คือ การกำหนดรู้ว่ารูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นที่เกิด ที่อาศัยของตัณหา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตนแล้ว ละ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง ให้หมดสิ้นไปจากจิตใจ

๕. วิริยบารมี คือ มีความเพียร บำเพ็ญทานบารมี  ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี  อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์

 ๖. ขันติบารมี คือ มีความอดทน บำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี  สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี  เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์ 

๗. สัจจบารมี คือ มีความจริงใจ ต่อการบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี  วิริยบารมี ขันติบารมี  สัจจบารมี  อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์ 

 ๘. อธิษฐานบารมี  คือ ความตั้งใจมั่น เด็ดเดี่ยว แน่วแน่  ในการบำเพ็ญทานบารมี  ศีลบารมี  เนกขัมมบารมี  ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์

๙. เมตตาบารมี คือ มีความรัก ในทานบารมี  ศีลบารมี  เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี  วิริยบารมี  ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์ และมีความรักสูงสุด คือ พระนิพพาน

๑๐. อุเบกขาบารมี คือ การวางเฉยใน รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง และวางเฉยในโลกธรรม ๘  ได้แก่ มีลาภ เสื่อมลาภ  มียศ เสื่อมยศ  มีสรรเสริญ มีนินทา  มีสุข มีทุกข์  เพื่อให้จิตว่างบริสุทธิ์

         ความจริงแท้ของทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏในสามโลกธาตุนี้ ล้วนแต่เป็นของว่างเปล่าหมด ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตนจริงๆ  รูปขันธ์  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์  อันเป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัยชั่วขณะหนึ่ง ก็ไม่ใช่ของของเรา มันเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการบงการหรืออำนาจการบังคับบัญชาของเรา  เมื่อเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย ตามกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นมายา เป็นสิ่งหลอกลวงให้สัตว์โลกผู้โง่เขลาลุ่มหลงมัวเมาไม่รู้จบ


        ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เกิดที่จิต และก็ดับที่จิต ผู้บำเพ็ญบารมี ๑๐  ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ย่อมมีปัญญาเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลายทั้งปวง และพ้นทุกข์ได้  ตรวจสอบด้วยความสามารถตัดสังโยชน์ ๑๐ ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้ด้วยตนเอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น