สมถวิปัสสนา
(หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย)
วิปัสสนาปัญญารอบรู้ เห็นอยู่เฉพาะซึ่งของจริงทั้งหลายเป็นต้น เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นจริงอยู่อย่างนั้น
ไม่แปรผันยักย้ายเป็นอื่นไปเลย จิตวางเฉยรู้เท่าทันต่อสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว
ไม่ถือมั่นด้วยอัตตานุทิฏฐิ ตัดกระแสแห่งภพทั้งสามให้ขาดไปด้วยวิปัสสนาอยู่ในที่เดียว
เมื่อเพ่งรูปกายนี้เป็นสักแต่ว่าธาตุดิน เป็นต้น แต่จิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทาน ก็ได้ชื่อว่า
เห็นอาการของธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว หรือเห็นด้วยจิตอันดิ่งแน่วแน่ด้วยองค์ภวังค์ ก็พอจะยังนิวรณธรรมให้สงบลงได้ ถ้าสมาธิแน่วแน่ดี อันมีวิปัสสนาเป็นผลเกิดขึ้นในที่นั้น
ก็จะย้อนกลับมาเพ่งวิพากษ์วิจารณ์รูปขันธ์ตัวนี้เอง เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะทิ้งอุปธิตัวนี้แหละ ฉะนั้น “รูปกาย” จึงชื่อว่าเหมาะ สมควรจะเอามาเป็นอารมณ์กรรมฐานของผู้ที่มีการจดจำน้อย
สมถวิปัสสนานี้ เมื่อมีกำลังเสมอภาคกันเข้าเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นแล มรรคทั้งแปด มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จะมารวมกันเข้าเป็นองค์อันเดียว
อย่าว่าแต่ทั้งมรรคแปดเลย อริยสัจทั้ง
๔ ก็ดี โพธิปักขิยธรรมทั้ง
๓๗ ก็ดี หรือธรรมหมวดอื่นๆ นอกจากนี้ก็ดี ย่อมมารวมอยู่ในมรรคอันเดียว ในขณะเดียวกันนั้น ขณะนั้นท่านจึงเรียกว่า “สมัยวิมุตติ หรือเอกาพิสมัย” รู้แจ้งแทงตลอดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวงขณะเดียว
ของไม่รวมกันอยู่ ณ ที่เดียวจะไปรู้ได้อย่างไร จึงสมกับคำว่า "ผู้มีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ" จึงจะถึงวิมุตติธรรมได้ดังนี้ ทำไมจึงรู้ได้
เพราะจิตเดิมเป็นอันเดียว ที่ว่าจิตมีมากดวง
เพราะจิตแสดงอาการออกไป
จึงได้มีมาก เมื่อจิตมีอันเดียว ธรรมอันบริสุทธิ์ที่จะให้หลุดพ้นจากอาการมากอย่าง ก็ต้องมีอันเดียวเหมือนกัน “จิตอันเดียว ธรรมอันเดียว” จึงเข้าถึงซึ่งวิมุตติได้ จึงเรียกว่า "เอกาพิสมัยวิมุตติ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น