นอกเหตุเหนือผล
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
จ.อุบลราชธานี)
อย่างการเดินจงกรม และการนั่งสมาธินี้มีประโยชน์มาก พระกรรมฐานท่านสอนตามที่บอกไว้ในธรรมว่า
"ให้ทำอิริยาบถสี่ คือ การยืน การเดิน การนั่ง การนอนให้เสมอกัน" ลองทำดูเหมือนกัน โอ๊ะ ! มันไม่ไหวแน่นอน จะให้ยืน ๒ ชั่วโมง เดิน ๒ ชั่วโมง นั่ง ๒ ชั่วโมง นอน ๒ ชั่วโมง เรียกว่า
อิริยาบถเสมอกัน อย่างนี้เราฟังผิด
อิริยาบถเสมอกันอย่างนี้ ท่านพูดถึงจิตของเรา ความรู้สึกของเราเท่านั้น
คือทำจิตของเราให้เกิดปัญญา ให้มีปัญญา ให้มันสว่าง ทั้งอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง
นอน ก็รู้อยู่เสมอ เข้าใจอยู่เสมอในอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าหากว่ามาเพ่งถึงจิตให้เป็นปฏิปทาให้สม่ำเสมอกัน ก็คือการปล่อยวางเสมอกัน
ไม่หลงในความดี ไม่หลงในความชั่ว
ไม่หลงในสมมุติทั้งหลาย เมื่อเราพยายามทำไปๆ เห็นโทษในอารมณ์ที่ว่า มันชอบใจหรือมันไม่ชอบใจ หรือเห็นโทษในสรรเสริญ
เห็นโทษของนินทา สม่ำเสมอกันอยู่อย่างนั้น
ไม่ติดในสรรเสริญ มันมีโทษ ไม่ติดในนินทา มันมีโทษทั้งหมดทั้งนั้น
ถ้าเราไปมั่นหมาย มันเป็นทุกข์ มันทุกข์ให้เห็น ถ้าไปยึดดี
ยึดชั่วขึ้นมา มันก็เป็นทุกข์ขึ้นมา เพราะชั่วเราก็ตะครุบ ดีเราก็ตะครุบ มันเห็นโทษ มันไม่มีสุข ทีนี้ก็หาทางปล่อยมัน จะปล่อยมันไปทางไหนหนอ ?
ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า “อย่าไปยึดมั่นถือมั่น” แต่เราฟังไม่จบ ไม่ตลอด ที่ว่าอย่าไปยึดมั่น ถือมั่นนั้น ท่านให้ยึดอยู่ แต่อย่าให้มั่น
อย่างเช่นไฟฉายนี่นะ นี่คืออะไรไปยึดมันมา แล้วก็ดู พอรู้ว่าเป็นไฟฉายแล้ว ก็วางลง รู้แล้วปล่อยวาง อย่าไปมั่น ยึดแบบนี้ ถ้าเราไม่ยึดแล้ว จะทำอะไรได้ไหม จะเดินจงกรมก็ไม่ได้
จะนั่งสมาธิก็ไม่ได้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ ต้องยึดเสียก่อน
อย่างเขาสมมุติว่าอันนี้มันดี อันนี้มันไม่ดี รู้แล้วก็ปล่อย ทั้งดี ทั้งชั่ว แต่ว่าการปล่อยนี้ มิได้ทำด้วยความโง่ ให้ยึดด้วยปัญญา
อิริยาบถเสมอกันด้วยอย่างนี้ ทำจิตให้มีปัญญา เมื่อจิตมันมีปัญญาแล้ว อะไรมันจะเหนือไปกว่านี้อีกเล่า
ถ้าหากจะยึดมา มันก็ยึดแบบไม่มีโทษ ยึดขึ้นมา แต่ไม่มั่น ยึดดูแล้ว รู้แล้วก็วาง
พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าทำงานเพื่องาน ไม่ต้องการอะไร ถ้าเราทำงานเพื่อต้องการอะไร
ก็เป็นทุกข์
ครั้งแรกเราทำก็ปรารถนาให้มันเป็นอย่างนั้นๆ ทำไปๆ
ทำจนกว่าที่เรียกว่าไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว ทำเพื่อปล่อยวาง มันลึกซึ้งอย่างนี้
คนเราปฏิบัติธรรมเพื่อต้องการพระนิพพาน นั่นแหละ ! มันจะไม่ได้พระนิพพาน จะทำอะไร
ก็ไม่ต้องคิดว่าจะต้องการอะไรทั้งสิ้น แล้วมันจะเป็นอะไร ก็ไม่เป็นอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าต้องการอะไรมันก็ทุกข์
เท่านั้นแหละ
การทำงานไม่ต้องการอะไรนั้นเรียกว่า “ทำจิตให้ว่าง” แต่การกระทำมีอยู่ ต้องเข้าใจความว่างในของที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่างในของที่ไม่มี ทางโลกทำอะไรเรียกว่า มีเหตุผล พระพุทธองค์ทรงสอนว่าให้ “นอกเหตุ เหนือผล” ไม่ว่าจะทำอะไร ปัญญาให้นอกเหตุเหนือผล ให้นอกเกิดเหนือตาย ให้นอกสุขเหนือทุกข์
ฉะนั้น จึงว่าให้ใกล้พระพุทธเจ้า เราน้อมเข้ามา น้อมเข้ามา ให้เราเข้าถึงธรรมะ เมื่อได้ถึงธรรมะ เราก็ถึงพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นธรรมะ เราก็เห็นพระพุทธเจ้า แล้วความสงสัยทั้งหลายก็จะหมดสิ้นไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น