วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หลุดพ้นจากมารทั้ง ๕...พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



หลุดพ้นจากมารทั้ง ๕

พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี)

อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
******

วันนี้จะแสดงธรรม เรื่อง “มาร”  ได้แก่มารทั้ง ๕ คำว่า “มาร” หมายถึง สิ่งที่มาขัดขวาง ครอบงำ คุมขังเราให้ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของเขา ซึ่งเขามีอำนาจเหนือกว่าเรา จิตใจของเราอยู่ในอำนาจของเขามาโดยตลอด แต่เราไม่รู้จัก เราจึงจำเป็นต้องทำความรู้จักมารทั้ง ๕ นั้นได้แก่ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวบุตรมาร

กายและใจของเราหรือขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เราได้จากโลกนี้ ส่วนจิตของเรานั้นมาจากที่อื่นหรือภพภูมิอื่น ได้มาจับจองร่างกายที่เกิดจากบิดามารดาผู้ให้กำเนิด แต่อย่างไรก็ดีร่างกายนี้ ก็เป็นของโลกที่เรามาอิงอาศัยชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น และเป็นของมาร ขันธ์ ๕ นี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ขันธมาร”  เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเขาก็ให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นเครื่องใช้สัมผัสสัมพันธ์กับโลกภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทำให้เกิดการปรุงแต่งตามมา เรียกว่า “อภิสังขารมาร”  และ อภิสังขารมารนี้นำไปสู่การปรุงแต่ง(ทั้งบุญหรือกุศลคือความดี บาปหรืออกุศลคือความชั่ว หรือกลางๆคือไม่ใช่บุญและบาป)ด้วยอารมณ์ต่างๆมากมาย เราถูกอิทธิพลของการปรุงแต่งครอบงำตลอดวันตลอดเวลา ไม่เคยหยุดการคิดปรุงแต่งเลย จึงเป็นปัญหาหรืออุปสรรคใหญ่สร้างความหนักใจให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมมาก เพราะจิตไม่เคยหยุดนิ่งเลย แม้แต่ลัดนิ้วมือเดียว เปรียบเหมือนกับลิงห้อยโหนอยู่บนกิ่งไม้ คว้ากิ่งไม้นี้แล้วปล่อยกิ่งนี้ ไปคว้ากิ่งไม้โน้น จับกิ่งไม้โน้นปล่อยแล้ว ไปจับกิ่งไม้นี้ และก็เป็นเช่นนี้ติดต่อกันไปเรื่อยๆมาทุกภพทุกชาติ จนถึงบัดนี้

เมื่อทำสมาธิจิตไม่นิ่ง เราต้องการความสงบ แต่ก็ไม่สามารถบังคับใจของเราให้สงบได้ ทั้งๆที่กายใจไม่ใช่ของใครเป็นของเรานี้เอง แต่จิตใจไม่เคยอยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของเราเลย เพราะมีอำนาจบางอย่างที่จะทำให้จิตของเราอยู่ใต้อำนาจของเขา เราจึงใช้อำนาจของเราบังคับจิตไม่ได้ เราบอกจิตว่า เจ้าอย่าไปนะ เจ้าจงหยุดนะ เจ้าจงอยู่ในอำนาจของเรานะ แต่ไม่มีผลอะไรเลย จิตไม่เชื่อฟังเราเลย ทั้งๆที่เราเป็นเจ้าของชีวิต ทั้งนี้เพราะมีอำนาจอย่างอื่นที่มีอิทธิพลเหนือเขานั่นคืออภิสังขารมาร ที่จูงจิตของเราไปตลอดเวลา เป็นสาเหตุทำให้เราบังคับจิตใจไม่ได้ ถ้าเราสั่งจิตได้ จิตอยู่ใต้อำนาจของเรา ทุกคนที่นั่งสมาธิอยู่จิตต้องสงบได้ทุกคน แต่เราบังคับไม่ได้ มันจึงไม่สงบอย่างที่ใจเราต้องการ เราบอกจิตให้คิดดีๆนะ เขาจะคิดไม่ดี บอกให้เขาหยุดนะ เขาก็จะวิ่ง เขาจะทำตรงกันข้ามไปหมด แสดงว่าเราไม่อำนาจในจิตดวงนี้เลย เพราะเขาอยู่ใต้อำนาจของบางสิ่งบางอย่าง นั่นคืออภิสังขารมารนี้เอง

มารอีกอย่างหนึ่งคือ “เทวบุตรมาร” เป็นภพภูมิของเทวดาชั้นสูงสุด ซึ่งมีอำนาจมาก มีฤทธานุภาพมาก  สามารถขัดขวางการทำความดีของคนอื่น  โดยเฉพาะผู้ที่คิดหาทางออกจากโลกนี้ มารเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันให้ทุกคนหลงเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๕ ไม่ให้จากโลกนี้ไป ใครคิดจะออกจากโลกนี้ไป เทวบุตรมารนี้จะเข้ามาขัดขวางก่อน  พระพุทธเจ้าทรงค้นหาทางพ้นทุกข์ พญามารก็เข้าไปขัดขวางทันที ตั้งแต่วันที่เสด็จหนีออกจากพระราชวังเพื่อออกบวช จนถึงวันตรัสรู้สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่มารก็พ่ายแพ้ไป  ธิดามารคือนางตัณหา นางราคา และนางอรดี ก็อาสามาร่ายรำยั่วยุให้พระองค์ทรงมายินดีในกามคุณ สุดท้ายก็พ่ายแพ้ไปอีกเช่นกัน

สุดท้ายก็คือ “มัจจุมาร” คือ ความตาย ซึ่งมีอำนาจยิ่งใหญ่ ที่ใครๆจะขอผัดผ่อนต่อรองอะไรไม่ได้เลย บอกว่า รอก่อนนะ อย่าพึ่งตายนะ ก็ร้องขอไม่ได้ เขาไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา ร่างกายของเราทั้งหมดเป็นของมาร เรามาศัยมารอยู่ เรายืมของเขามาใช้ ในที่สุดเราต้องคืนเขาไป เราอาศัยเขาก็ต้องมีวันที่สิ้นสุด แม้แต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทรงสร้างสมบุญบารมีมามาก มีศักดานุภาพมากเพียงใด ความตายก็ไม่ว่างเว้น ต้องพลัดพรากจากไป แล้วเราจะว่างเว้นได้อย่างไร  มัจจุมารนี้ทุกคนจะต้องได้รับ นั่นคือความตาย

ดังนั้น มารทั้ง ๕ นี้ คือขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และเทวบุตรมารจึงเป็นสิ่งขัดขวาง ครอบงำเราให้ตายจากคุณงามความดี ปิดกั้นมิให้บรรลุผลสำเร็จในหนทางแห่งความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน และครอบงำเราให้อยู่ในอำนาจของเขาตลอดเวลา เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้พ้นจากอำนาจของมารให้ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระราหุลว่า ราหุล ! สิ่งใดเป็นมารเธอจงละสิ่งนั้นเสีย อะไรคือมาร สิ่งนั้นคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เธอจงละความยินดีพอใจในสิ่งนั้นเสีย ขันธ์ ๕ เป็นของมาร ถ้าเธอละความยินดีในสิ่งที่เป็นของมารได้ มารย่อมไม่ได้ช่อง เธอย่อมพ้นจากอำนาจของมารได้ 

การที่เราได้ขันธ์ ๕ มาก็เพราะอาศัยกิเลส ซึ่งเป็นของมาร ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด ชาตินี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อได้มาแล้วเราหลงยินดีพอใจ เราก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมาร  การมีขันธ์ ๕ นี้ทำให้จิตของเราซ่านไปหาอารมณ์ของโลกมากมาย ทำให้ไม่รู้เบื้องต้น เบื้องปลาย เมื่อเรายินดีในของๆมาร ก็ถูกมารจับทันที มารก็ครอบงำเราได้ ทำอันตรายเราได้

ดังนั้น จงพิจารณาขันธ์ ๕ ให้แจ้งชัดว่า เป็นของที่น่ายินดีหรือไม่ โดย  “โอปนยิโก” คือน้อมจิตเข้ามาดูขันธ์ ๕ ที่เรามีอยู่นั้นว่า เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง โดย “โยนิโสมนสิการ” คือการคิดพิจารณาโดยแยบคาย ด้วยอุบายอันแยบยล ทั้งกลางวันและกลางคืน การรู้แจ้งชัดในขันธ์ ๕ ย่อมปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ รู้คุณ รู้โทษ รู้ความเกิด ความดับ รู้อุบายออก รู้ปฏิปทาออกจากขันธ์ ๕  ด้วยวิราคธรรม จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัดยินดี จิตก็พ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ละความยินดีพอใจในขันธ์ ๕ ได้ เมื่อละได้ก็เหมือนปลาไม่กินเหยื่อ เมื่อปลาไม่กินเหยื่อเบ็ดก็ไม่เกี่ยวปลานั้น นายพรานก็ไม่สามารถจับเอาไปต้มไปแกงได้ และเมื่อไม่ติดเหยื่อของมาร เราก็พ้นจากอำนาจของมาร

เราได้ขันธ์ ๕ มา เพราะอาศัยกิเลสมาร ปรุงแต่งมาจากอวิชชา การปรุงแต่งทั้งหมดเป็นของมาร  เมื่อได้ขันธ์ ๕ มาแล้ว ในที่สุดก็ให้มาเบื่อขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งปรุงแต่งอยู่ในวงจรของมาร เป็นของไม่ควรแก่ตน เป็นของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

เมื่อเบื่อมากๆ จะทำให้เราเห็นแจ้งในจตุราริยสัจ รู้ว่านี้คือทุกข์ นี้คือเหตุแห่งทุกข์ นี้คือการดับทุกข์ นี้คือปฏิปทาทางออกจากทุกข์คือมรรคมีองค์ ๘ เพราะอวิชชามี สังขารย่อมมี และ สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง เมื่อความรู้ในอริยสัจมี สังขารก็ดับ เมื่อสังขารดับวิญญาณก็ดับ กิเลสมารก็เป็นอันทำลายได้ อภิสังขารก็เป็นอันทำลายได้ เมื่อกิเลสมาร อภิสังขารมารดับไปแล้ว เทวบุตรมารก็ทำอะไรเราไม่ได้

วิญญาณขันธ์หรือนามขันธ์ดับไปก่อน ส่วนรูปขันธ์อาศัยแต่ไม่ยึดติด เหมือนใบบัวใบบอนอาศัยน้ำเกิด แต่ไม่ติดน้ำ น้ำก็ไม่อาจซึมเข้าไปในใบบัวใบบอนนั้นได้  ส่วนรูปขันธ์ คือร่างกายเป็นของมาร ยังมีลมหายใจอยู่ก็ใช้ไปก่อน ดื่มบริโภคอาศัยโลกแต่ไม่ติดโลก อาศัยเหยื่อไม่ติดเบ็ด กินเหยื่อไม่ติดบ่วง ทำให้นายพรานคร่ำครวญว่าสัตว์นี้กินเหยื่อเราแต่ไม่ติดบ่วงเรา มารจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ กินเหยื่อเขาแล้วไม่ติดบ่วงเขา เปรียบดังเราอาศัยเครื่องอยู่ของมาร ความเป็นอยู่เป็นมาร แต่ไม่ติดมาร มารจะทำอะไรเราไม่ได้  เมื่อก่อนจิตเราหลงใหลอยู่ในเหยื่อของมาร จึงตกอยู่ใต้อำนาจของมาร เมื่อหลุดพ้นจากกิเลสมาร อภิสังขารมาร เทวบุตรมาร ก็ถึงกาลอวสาน 

เมื่อมาร ๕ ดับไปแล้ว ทุกข์ก็ดับ บุคคลนั้นชื่อว่าชนะมารแล้ว อยู่ในโลกนี้ซึ่งเป็นของมาร อาศัยมารอยู่ แต่ไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร เราอาศัยโลกแต่ไม่ติดโลก กินเหยื่อไม่ติดบ่วง เพราะเห็นแจ้งตามความเป็นจริงว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา เมื่อเบื่อขันธ์ ๕ คลายความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ ได้แล้ว จิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว 

สุดท้ายร่างกายนี้ยังมีลมหายใจอยู่ก็รักษาไปก่อน รอวันตาย คือมัจจุมาร ร่างกายที่เราได้มานี้เป็นของเขา เป็นของมาร เรายืมเขามา ต้องส่งกลับเขาไป เป็นการตายครั้งสุดท้ายของเรา เราเตรียมตัวไว้พร้อมแล้ว เรารู้แจ้งแทงตลอดในสัจเหล่านั้นแล้ว อยู่เหนืออำนาจของมารได้แล้ว ไม่หลงอยู่ในอำนาจของมารเหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลาย 

ภิกษุเห็นขันธ์ ๕ แจ้งชัดก็รู้แจ้งโลก เห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา “สัพเพ ธัมมา อนัตตา” ก็ดับเย็น มารเห็นภิกษุแต่ไม่สามารถครอบงำจิตภิกษุให้อยู่ในอำนาจได้  เพราะจิตของภิกษุไม่ผูกพันกับอะไรๆของโลกนี้ต่อไป เทวบุตรมารก็ไม่สามารถมากร้ำกรายได้

มารทั้ง ๕ นี้เป็นอุปสรรคของการทำความดีมาโดยตลอด แต่ไม่ใช่หมายความว่า เขาจะมีอำนาจครอบคุมไปทั้งหมด โดยใครๆก็ไม่อาจหลุดรอดมารไปได้ บางอย่างมารมีอำนาจ แต่เราไม่มีอำนาจ บางอย่างเรามีอำนาจ  แต่มารไม่มีอำนาจ มารเปรียบเหมือนนายพราน เราเปรียบเหมือนเก้งกวางที่หากินในป่า นายพรานเอาบ่วงไปดักจะจับเรา เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าบ่วงอยู่ตรงไหน ไม่รู้บ่วงเป็นบ่วง นายพรานเอาบ่วงไปดักไว้เพื่อจะจับเรา เราก็หลงเข้าไปกินเหยื่อที่เขาล่อไว้ ก็ไปติดบ่วงของเขาในที่สุด แล้วก็พบกับความตายมาทุกภพทุกชาติ แต่เมื่อเรารู้ว่า นี่คือบ่วงของนายพราน และรู้ว่าบ่วงอยู่ตรงไหน เราก็กินเหยื่อแต่ไม่ติดบ่วงของเขา อย่างเช่นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ตราบใดที่เก้งกวางยังไม่ติดบ่วง เก้งกวางนั้นก็เป็นใหญ่กว่านายพราน ดังนั้น กาลใดเราติดบ่วงเขา เขาก็เป็นใหญ่ กาลใดเราไม่ติดบ่วง เราก็เป็นใหญ่ เขาก็เอาเราไปต้มไปแกงได้

ฉะนั้น บางคราวเราเป็นใหญ่ได้ เขาไม่เป็นใหญ่ เราอยากเป็นใหญ่ต้องไม่ไปติดกับดักของเขา เราต้องไม่ไปกินเหยื่อเขา เมื่อเป็นเช่นนี้เราสามารถหาช่องทางหนีได้ ช่องทางนั้นมีอยู่ ถ้ามิเช่นนั้นแล้วพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเจ้าทั้งหลายก็หนีออกจากบ่วงของมารไม่ได้ ถ้าติดบ่วงเขา เราพ่ายก็แพ้ ถ้าไม่ติดบ่วง เราก็เยาะเย้ยเขาได้  เขาจะเอาเราไปต้มไปแกงไม่ได้ ทางออกในเรื่องนี้คือเรากินเหยื่อเขา แต่ไม่ยอมติดบ่วง เราจะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้

การจะให้พ้นจากมารทั้ง ๕ นี้ เราจงคลายความยินดีในสิ่งที่เป็นของมารคือขันธ์ ๕ นี้ให้ได้ ด้วยการอบรมอริยมรรค สิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรเป็นของเรา เราจรมาพบเข้าเท่านั้นเอง ร่างกายที่ได้มาจากพ่อแม่ก็ให้เบื่อเสียด้วยวิราคธรรม คือคลายความยินดี อย่าไปหลงของๆเขาเลย อย่ากอดไว้เลย อย่ายินดีเลย มันเป็นของมาร จิตที่ชอบวิ่งออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไปหากามคุณ ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็คลายความยินดีเสีย ให้เบื่อเสีย อย่าเอาของเขามาใช้  ถ้าเรากินเหยื่อเขาเราก็อยู่ใต้อิทธิพลของเขา เราได้อะไรมาก็คลายความยินดีให้หมดด้วยวิราคธรรม เขาให้อะไรเรามาก็ให้เบื่อเสียให้หมด  ไม่ใช่นำของเขามาใช้เสียแหลกราน หลงอยู่ในกับดักของเขา ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเขาหมด 

เวลาทำสมาธิ เราสอนใจว่า ตอนนี้เราจะทำสมาธิ เจ้าอย่าคิดนั่นคิดนี่นะ แต่จิตไม่ฟังเราเลย จิตมันไม่ยอมสงบ ทั้งๆที่เราต้องการความสงบ เราทำสมาธิได้ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะจิตอยู่ใต้อำนาจของมาร เขาเชื่อฟังมาร หลงเชื่อมารอย่างสนิทว่ามารเป็นของดิบของดี ถ้าเราคลายความยินดีในขันธ์ ๕ ได้ จิตจะเชื่อเราหมด จิตจะน่ารักมาก เพราะเขาพ้นจากอำนาจของมารแล้ว  เราต้องทำสงครามกับกิเลสมารมากมาย กว่าจะเอาชนะได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญ ในที่สุดเราก็พ้นได้ ชนะได้ หลังจากนั้นจิตจะอยู่ในอำนาจของเรา จิตจะน่ารักที่สุด ว่านอนสอนง่าย บอกอย่างไรก็ทำอย่างนั้น อยู่ในอำนาจของเราหมดไม่คิดเลยว่า จิตจะน่ารักอย่างนั้น ก่อนปฏิบัติจิตอยู่ภาวะหนึ่งภายใต้อำนาจของมาร เขาไม่เชื่อเราเลย เขาเชื่อฟังมาร เขาอยู่ใต้อิทธิพลของมาร น่าเบื่อหน่ายที่สุด และน่ารังเกียจที่สุด  เมื่อรู้แจ้งชัดในขันธ์ ๕ ได้แล้ว เขาจึงมาอยู่ในอำนาจของเรา ถ้าสาธุชนประพฤติปฏิบัติตามมรรคานี้ แล้วก็จะสามารถเอาชนะมารได้แน่นอน

 จิตที่อบรมมรรคาที่ถูกต้องแล้ว จิตจะอยู่ใต้อำนาจของเรา ไม่อยู่ใต้อำนาจของมารอีกต่อไป เราก็จะถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ เห็นสิ่งทั้งหลายเป็นของมารไม่ใช่ของเรา มารทั้ง ๕ ก็ทำอะไรเราไม่ได้  การฝึกปฏิบัติของเรานั้นจะถูกขัดขวางจากมารทั้ง ๕ นี้อย่างสุดๆ และอย่างหนักหน่วง เราต้องเอาชนะตอนเป็นๆ ไม่ใช่ชนะตอนตาย ตอนเป็นๆนี้ต้องเอาชนะให้ได้ เมื่อชนะแล้ว จิตจะขึ้นตรงต่อเราคนเดียว เขาไม่ขึ้นกับใคร เมื่อก่อนเขาหาเรื่องหาราว(อารมณ์)ให้เราตลอด เราจะอัศจรรย์ใจว่า หลังจากฝึกอบรมมาดีแล้ว เขาจะเชื่อฟังเรา อยู่ใต้อำนาจของเรา มารสั่งอย่างไรเขาไม่ทำตาม แต่เราสั่งอย่างไรเขาจะทำตามเราหมด ก่อนฝึกเป็นอย่างหนึ่ง ฝึกแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง จิตที่อบรมมาดีแล้ว เขาจะเชื่อฟังเราโดยตลอด เรากู้สถานการณ์กลับมาเอาชนะมารได้ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจมารอีกต่อไป โดยมรรคมีองค์ ๘ นี้เอง จึงเอาชนะมารทั้ง ๕ ได้

พระพุทธเจ้าทรงพิชิตได้ไปก่อนแล้ว ตำราพิชัยสงคราม ท่านสอนไว้หมดแล้วทุกอย่าง เพื่อให้เราเดินตามท่านไป เพื่อเอาชนะมารอย่างที่ท่านชนะมาแล้ว ท่านพิชิตมารได้ฉันใด เราต้องชนะมารให้ได้ฉันนั้น มารนี้ไม่ใช่ยิ่งใหญ่เสียจนหาทางออกจากเขาไม่ได้  เราเป็นผู้โชคดีมากที่มาเจอพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรามีครูดีคือพระบรมศาสดา เมื่อเราปฏิบัติตาม ในที่สุดเราจะเป็นผู้ชนะ และเมื่อนั้นมารทั้ง ๕ คือ กิเลสมารก็ดี ขันธมารก็ดี อภิสังขารมารก็ดี มัจจุมารก็ดี และเทวบุตรมารก็ดี ก็ถึงคราวที่จะทำอะไรเราไม่ได้  มรรคาที่จะเดินทางให้พ้นจากมาร ที่จะใช้ห้ำหั่นกับมาร คือมรรคมีองค์ ๘ เป็นเส้นทางเดินไปสู่จุดหมายสูงสุดคือพระนิพพาน พระพุทธองค์ทรงเอาชนะมารได้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ชนะต่อไป


คำอธิบายเพิ่มเติม เรื่อง “มาร ๕”

มาร  คือ สิ่งที่มาขัดขวาง ครอบงำ ฆ่า ล้างผลาญ ทำลาย ให้ตายจากคุณงามความดี ปิดกั้นมิให้บรรลุผลสำเร็จในหนทางแห่งความพ้นทุกข์ มี ๕ ประเภท ได้แก่  

๑. กิเลสมาร  มารคือกิเลส แปลว่า เครื่องเศร้าหมองจิต อันได้แก่ กิเลสกองราคะหรือโลภะ โทสะ และโมหะเป็นต้น บรรดาธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหมด ทั้งที่เป็นกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด  กิเลสทั้งหมดเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัด และขัดขวางการบำเพ็ญความดี ทำให้เราประสบความพินาศทั้งในปัจจุบัน และอนาคต 

๒. ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์  หรือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงก็เป็นนามขันธ์ รูปขันธ์ หรือที่เรียกว่า นามรูป กล่าวโดยย่อก็คือกายใจ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันมีปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไป เพราะชรา พยาธิ เป็นต้น ล้วนตัดรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มความปรารถนา อย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง   

๓. อภิสังขารมาร  มารคืออภิสังขาร  อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม คือเจตนาความจงใจต่างๆ ได้แก่ การปรุงแต่งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม  ทั้งฝ่ายบุญ บาป และเป็นกลางๆ  ซึ่งนำให้เกิดชาติ ชรา มรณะ ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังขารทุกข์

๔. มัจจุมาร  มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะความตายทำลายทุกสิ่งในชีวิต เป็นตัวการตัดโอกาส ในการบำเพ็ญคุณความดีทั้งหลาย  เช่น บางคนไม่เคยสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย พอหันมาสนใจก็มีเหตุให้ต้องตายไปเสียก่อนที่จะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามที่ตั้งใจไว้ ความตายจึงเป็นมาร

๕. เทวปุตตมาร  มารคือเทพบุตร  เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่ามาร เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงในกามสุขไม่หาญ เสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดียิ่งใหญ่ได้ คอยขัดขวางคนทั้งหลายไม่ให้ทำความดี โดยเฉพาะความดีขั้นสูงสุด คือมรรคผลนิพพาน   
พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสรู้พระธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้โดยง่ายดาย และแม้เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็มิใช่ว่าจะทรงดำรงอยู่โดยง่ายดาย จะทรงประกาศพระพุทธศาสนาโดยง่ายดาย เพราะมีสิ่งขัดขวาง หรือผู้ขัดขวางมาโดยลำดับ ก็คือพญามาร เป็นหัวหน้าเทพบุตรในชั้นปรนิมมิตวสวตี คือสวรรค์ชั้นที่ ๖ มีชื่อเรียกว่า ท้าววสวัตตีมาร เป็นผู้ที่ตามผจญพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงผจญมาร ทรงชนะมาร ธิดามารคือนางตัณหา นางอรดี นางราคา อาสามาช่วยร่ายรำยั่วยุให้พระองค์ทรงมายินดีในกามคุณ แต่ก็พ่ายแพ้กลับไป

แม้มารพ่ายแพ้ขัดขวางการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ได้ ก็ยังไม่หมดความพยายาม ยังได้ทูลขอให้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน แต่พระองค์ก็มิได้รับคำทูลของมาร เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อโลก ทรงตั้งพระทัยประกาศพระศาสนา ประดิษฐานพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้พระสัทธรรมตั้งมั่นลงในโลก ในระหว่างนี้มารก็ได้เข้ามาทำการขัดขวางต่างๆ หรือว่าทูลส่งเสริมไปในทางผิดต่างๆ อีกหลายครั้งหลายคราว และทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมีพระชนม์พรรษา ๘๐ พรรษา

แต่มารที่กล่าวมานี้มิได้เที่ยวทำบาปทำกรรมอะไรแก่ใคร มุ่งที่จะป้องกันมิให้พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ให้พระโพธิสัตว์พ้นไปจากอำนาจของตน ถ้าไม่ตรัสรู้พระองค์ก็ต้องอยู่ในอำนาจของมาร แต่เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงพ้นจากอำนาจของมาร มารทำอะไรไม่ได้  เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วยังทรงแสดงธรรมสั่งสอน โปรดให้เวไนยสัตว์ตลอดถึงเทพพรหมบรรลุมรรคผลนิพพานตามเป็นจำนวนมาก  ผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็พ้นไปจากอำนาจของมาร  มารจึงขวนขวายขัดขวางป้องกัน มิให้ใครๆ พ้นไปจากอำนาจของมารเท่านั้น  ก็คือพ้นไปจากอำนาจของโลก พ้นไปจากอำนาจของกิเลส
(เทวปุตตมาร ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา อยู่กามาวจรสวรรค์ชั้นที่ ๖ ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเทวดากับฝ่ายมาร โดยมีเขตแดนกั้นกันไว้ แต่ละฝ่ายไม่สามารถไปมาหาสู่กันหรือรบกวนกันได้
ฝ่ายเทวดา มีเทวาธิราช นามว่า ท้าวปรนิมมิตเทวาธิราช เป็นผู้ปกครองเทพเจ้าทั้งหลาย ให้ได้รับความรื่นเริงสำราญทั่วหน้ากัน
ฝ่ายมาร มีหมู่มาร ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เสวยทิพย์สมบัติอยู่ด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช เป็นผู้ปกครองหมู่มารทั้งหลาย และเป็นพระโพธิสัตว์ เคยถวายทานแบบสละชีวิตกับพระพุทธกัสสปะ ได้รับพระพุทธยากรณ์จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เป็นองค์ที่ ๔ ต่อจากพระศรีอริยเมตไตรย มีนามว่า พระพุทธธรรมสามีและเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวในกัปนั้น ที่เข้าไปขัดขวางการตรัสรู้ของพระโคดมพุทธเจ้า ด้วยมีจิตริษยาว่า ได้บำเพ็ญบารมีมามากพอสมควรเหมือนกัน แต่เสด็จมาตรัสรู้ก่อนตน)

******




วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รู้แจ้งขันธ์ ๕ พาสิ้นทุกข์..พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ






รู้แจ้งขันธ์ ๕ พาสิ้นทุกข์
พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
*******

การปฏิบัติธรรมมี ๒ แนวทางใหญ่ๆ  แนวที่หนึ่งเป็นแนวอบรมมรรคจริงๆ จะใช้ปัญญานำหน้าตลอด มีการวิเคราะห์ การพิจารณา ให้รู้ตามความเป็นจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าปัญญานำหน้า แล้วสมาธิจะตามมาทีหลัง วิธีนี้จะช้าแต่แตกฉาน กว้างขวาง ลุ่มลึก  ส่วนวิธีที่สองเป็นแนวสมาธินำหน้าปัญญาตามหลัง ถ้าใช้สมาธินำหน้าปัญญาตามหลัง จะไม่มีการวิเคราะห์ ไม่มีการพิจารณาแบบนี้ เอาจิตเป็นสมาธิอย่างเดียวแล้วเอาสมาธิพิจารณาตัวเลย หลังจากที่เราเก่งสมาธิแล้ว ก็หันมาพิจารณาตัวเราให้แจ้ง ก็รู้แจ้งขันธ์ ๕ เหมือนกัน อย่างนั้นจะเร็ว แต่ข้อเสียก็คือว่าไม่แตกฉาน ไม่รอบรู้กว้างขวาง ไม่ละเอียดพอ แต่ก็พ้นทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น กรรมฐานสองแบบ  จึงดีคนละแง่ เสียคนละแง่  แต่ถ้าว่าตามองค์มรรคจริงๆแล้ว จะเป็นปัญญานำหน้าคือสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) และผลของการฝึกปฏิบัติที่มีปัญญานำหน้าจะละเอียดกว่า ปราณีตกว่า และมีผลสมบูรณ์แบบกว่า ทุกคนที่ปฏิบัติในกรรมฐานทุกจริต ทุกแนวทาง จะต้องมารู้แจ้งขันธ์ ๕ ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่รู้แจ้งขันธ์ ๕ เป็นไปไม่ได้เลยว่าคนนั้นจะพ้นทุกข์โดยชอบหรือจะเข้าถึงนิพพานได้

ขันธ์ ๕ เป็นตัวหลักของการเรียนรู้ การรู้แจ้ง แต่การรู้แจ้งของขันธ์ ๕ นี่มีองค์ประกอบปลีกย่อยเข้าไปอีก รู้แบบไหนที่ว่ารู้ถูก รู้แบบไหนที่ว่ายังไม่ค่อยถูก ที่ว่ารู้ถูกจริงๆ ด้วยปัญญาจริงๆ ก็คือรู้ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕  รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายออก รู้ปฏิปทาออก
รู้จักรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง
รู้ความเกิดของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง 
รู้ความดับของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง 
รู้คุณและโทษของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง    
รู้อุบายออกจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง 
รู้ปฏิปทาออกจากรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง

กรรมฐานใดก็แล้วแต่ถ้าออกนอกตัวหรือไม่เห็นตัวแล้ว กรรมฐานนั้นถือว่าเป็นวิปัสสนู ผิด ! กรรมฐานใดที่เห็นตัวเองถือว่าเป็นวิปัสสนาได้ เห็นแจ้งตัวเราเอง คือ เห็นอาการ ๓๒ ซึ่งเห็นยากเหลือเกิน ไม่ใช่เห็นได้ง่ายๆ ลองไปทำดูเถอะ ยากเย็นแสนเข็ญ เห็นยากจริงๆ ตัวเราเนี้ยะ เราต้องทำตัวเราให้แจ้งชัดขึ้นมา เราก็จะเห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ ตามนั้น 

สมมุติว่าเรานึกเห็นตัวเองจากจุดใดจุดหนึ่ง จากที่ไม่เห็นหรือที่มืดๆอยู่ เมื่อเรานึกไปเรื่อยๆๆ ทำไปเรื่อยๆๆ ก็จะเริ่มเห็นลางๆ เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่หยุด เราก็จะเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆๆๆๆ การเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆๆๆๆ จนกระทั่งการเห็นลุกลามไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย แล้วก็เห็นร่างกายตามเป็นจริงตั้ง แต่ศรีษะถึงปลายเท้า ความเห็นตรงนี้ จะแจ้งทั้งกลางวันทั้งกลางคืน แจ้งหมดเลยตั้งแต่ศรีษะถึงปลายเท้า สว่างไสวชัดเจน ชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ จิตก็จะสว่างมากขึ้นๆ อย่าลืมว่าคนที่เห็นแจ้งคือเห็นแจ้งตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไม่ใช่นั่งตรงนี้แจ้งแล้ว  แล้วก็หายไป  ไปแจ้งวันใหม่นั้น ไม่ใช่ ! ไม่ใช่อย่างนั้น แจ้งแล้วแจ้งเลย แล้วการแจ้งนั้นเห็นตลอดเวลา เขาจะไม่มีการดับของการเห็นเลยตลอดชีวิต หมายถึงเมื่อเขาเห็นตัวเองแล้ว ก็จะเอาความเห็นแจ้งนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต เมื่อเป็นเครื่องอยู่ ก็แสดงว่าจิตอยู่ในตัวตลอดเวลา แล้วจะไม่มีการหวนกลับไปอยู่ข้างนอกอีกต่อไป ทำให้จิตคนนั้นขาดออกจากภายนอกได้ เพราะจิตไปตั้งอยู่ภายในร่างกายเสียแล้ว

ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งชัดขึ้นมาแล้ว ก็อาศัยความแจ้งนั้นเป็นเหตุ เป็นสักขีพยาน เห็นตัวเองตามความเป็นจริง รู้แจ้งว่าตัวเราทั้งหมดประกอบด้วยกายกับใจ ไม่มีอะไร ที่มีสาระแก่นสาร เมื่อก่อนเรารู้ เราเข้าใจแต่มันไม่ได้เห็น คือไม่เห็นตรงนี้หมายถึงไม่ได้เห็นทางจิต อย่างที่บอกว่าหลับตาดูสิว่าเห็นหน้าตัวเองรึเปล่า มืดตึ๊บ นั่นคือการเข้าใจเฉยๆ แต่จิตมันไม่เห็น เมื่อไม่เห็น จิตไม่มีคำตอบออกมามันก็ไม่ยอมรับ ในชีวิตของเรามีกายกับใจ เรารู้ว่าเราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรารู้ว่ากายต้องตายในวันข้างหน้า เรารู้ การรู้การเข้าใจตรงนี้ มันเป็นแค่สัญญา แต่จิตมันไม่ได้เห็น จิตนี้ยังมีปลีกย่อยอีกเยอะมาก
คำว่า ธาตุรู้ของจิต แบ่งส่วนรับผิดชอบหน้าที่ออกไปอีก ๔ อย่าง จะเริ่มเห็นด้วยตาในของเรา เห็นกายกับใจเรานี่แหล่ะแบ่งออกเป็นขันธ์ ๕ กาย ๑ ใจแบ่งเป็น ๔ รวมเป็น ๕ พอดี เราเข้าใจว่ากายเราประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เราเข้าใจ แต่ว่าจิตมันไม่ได้เห็น แต่บัดนี้เห็นแล้ว แจ้งเพราะบำเพ็ญมา อบรมมา ก็มาเห็นความจริงทั้งหมดว่า ตัวเรามีอะไรเป็นอะไรอยู่ เมื่อเห็นความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ก็มาเห็นความเป็นจริงของขันธ์ทั้ง ๕ ตามเป็นจริง คือเรามีอยู่สองร่างนะ ร่างนี้คือรูปหยาบประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เขาเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ แต่ตัวเรายังมีร่างละเอียดซ้อนอยู่ในนั้น เขาเรียกว่า อุปาทายรูปหรือกายทิพย์ สองอย่างรวมเป็นหนึ่ง เขาเรียกว่ารูปนั่นเอง ฝ่ายของใจแบ่งเป็น ๔ อย่าง เรียกว่า นาม  การรู้แจ้งนั้น รู้แจ้งอะไร ก็รู้แจ้งในกายใจเรานี่เอง กายนี้ ตาในเราเห็นหรือยัง เมื่อตาในเริ่มเห็นตัวเองขึ้นมา เราก็จะเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามเป็นจริง ย่อมเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ว่าตัวเราทั้งหมดไม่มีอะไร เพราะจิตเป็นตัวเห็น เขาก็จะได้คำตอบมาว่า ตัวเราทั้งหมดตั้งแต่ศรีษะถึงปลายเท้าปรากฏว่าเป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่เรา ไม่ได้เป็นของเรา เราหลงเพราะเราไม่รู้เรื่องของขันธ์ ๕ พอเราเห็นความเป็นจริงตรงนั้น หาได้มีเราในที่นั้นไม่ จึงเกิดการพลิกผันของจิตว่า ความเห็นของจิตว่านั่นเป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เป็นความเข้าใจผิดของจิตเอง ขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า  การเห็นแจ้งในร่างกายนั้นเป็นพยานแก่จิตเอง เพราะจิตเป็นตัวเห็นเอง จิตเริ่มจะจำนนต่อหลักฐาน และละสักกายทิฏฐิที่ตรงนี้ ดังนั้น ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นแหล่งกำเนิดของความคิด เคยถามตัวเองไหมว่า ความคิดตัวเองมาจากไหน มันเกิดตรงไหน เกิดที่จิตนั้นมันเป็นปลายเหตุ อะไรเป็นต้นเหตุ มันเกิดที่ตรงไหน แต่ตอนนี้เราได้คำตอบแล้ว เมื่อเราเห็นตัวเองแจ้ง คือแจ้งในขันธ์ ๕  และรู้ว่า อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ การที่จิตรู้ตรงนี้เขาเรียกว่า  รู้อริยสัจ ๔  

อ๋อ ! ข้ารู้แล้วว่านี่แหล่ะเป็นเหตุของทุกข์ ทุกข์ทั้งมวลที่จิตคิดไปทั้งหมด นำมาซึ่งความทุกข์มากมาย และเหตุของมันอยู่ตรงนี้เอง การดับทุกข์ก็ดับตรงนี้เอง การกำจัดความยินดีในตัวเองนั้นออกเสีย คือการดับทุกข์(นิโรธ) ฉะนั้นการดับทุกข์หรือหนทางการดับทุกข์ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เราได้คำตอบนี้ เมื่อเห็นตัวเองแจ้งขึ้นมา ซึ่งคำตอบตรงนี้จิตเองเป็นผู้ได้คำตอบเอง จิตเริ่มเห็นโทษในตัวเอง เขาเห็นความหลงของเขา และก็สมัครใจที่จะหยุดเอง คนนั้นแทงอริยสัจ ๔ ได้ คนนี้ถึงจะหยั่งเข้าสู่กระแสพระอริยเจ้า คือจะเริ่มเป็นพระโสดาบันได้

อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยว่าบุคคลนี้เป็น  พระโสดาบัน หนึ่งการเห็นแจ้งตัวตนนั้นปรากฏขึ้น เขาเรียกว่า ดวงตาได้เกิดขึ้นแล้ว  เราลองทดลองว่าเราได้หรือยัง เราลองหลับตาดูซิ เราเห็นตัวเองแจ้งไหม ถ้ามืดตึ๊ดตื๋อ ยังไม่ได้ ! พิสูจน์ง่ายนิดเดียว  บอกว่าไม่ได้อย่างไร เข้าวัดมานานแล้ว เป็นสิบๆ ปีแล้ว น่าจะได้ ไม่รู้แหล่ะ ดูนี่ว่าแจ้งรึเปล่า ถ้าไม่ คนนั้นยังไม่ได้ !    ตาในมันบอด ดวงตายังไม่เกิด ยังไม่เปิด ที่บอกว่าดวงตาเห็นธรรมก็คือเห็นแจ้งขันธ์ ๕    ต้องเห็นตัวเองแจ้ง ให้ค้นหาในความแจ้งนั้นว่า เราอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าเขาเห็นจริงว่า ไม่มีเราในนั้น ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ คนนั้นแหล่ะ เขาเรียกว่า ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาที่สามเกิดขึ้นแล้ว จักขุได้เกิดขึ้น แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว ก็คือความหมายของคำว่า ตาในนี่เอง ฉะนั้นในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เกี่ยวกับว่าจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระอัญญาโกณฑัญญะก็คือเห็นแจ้งตรงนี้ ขันธ์ ๕ นี้เอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เห็นแจ้งขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง   เห็นตามจริงขึ้นมาแล้ว ก็เข้าใจเลยว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕  มันต้องมีการเห็นขึ้นมาก่อน  ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าใจเอา เราจะคาดเอา เราจะเดาเอา ไม่ใช่ ! ปัญญาไม่ใช่เข้าใจอย่างเดียว มันต้องแจ้งออกมาด้วย ! เพราะฉะนั้นการแจ้งตรงนั้นเองจะเป็นสักขีพยาน เมื่อแจ้งแล้วจะแจ้งเลย แจ้งตลอดเวลา แล้วจะไม่เสื่อมด้วย บุคคลนั้นก็จะเป็นการทำสมาธิที่ไม่เสื่อม มีสมาธิอยู่ตลอดเวลา แล้วก็สมาธิที่ว่าเห็นแจ้งอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา แจ้งอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดจนวันตาย  จะไม่มีการดับเลย ถ้าดวงตาดวงนั้นเปิดขึ้นแล้ว จะไม่มีดับตลอดไป การปฏิบัติถึงจะยากอย่างไร ก็จะต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ บุคคลนั้นเมื่อเห็นตัวเองแจ้งขึ้นไปๆๆๆๆ ไม่ว่าหลับตาลืมตา อยู่ในที่มืดที่สว่าง ไม่มีความหมายอะไรเลย เวลาหลับตาเห็นเท่ากับเราลืมตา กลางคืนเห็นเท่ากับกลางวัน  กลางวันก็เห็นเท่ากับกลางคืน ตาในเปิดแล้ว ตานอกไม่สนใจเลยว่า จะลืมตาหรือหลับตา ไม่เกี่ยว สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา นั่นคือตาในมันเปิด !  ตาในนี้เห็นอยู่ตลอดเวลา คงที่ อันนั้นเขาเรียกว่าตาในมันเปิด ไม่เหมือนเราตานอกเปิดอย่างเดียว ตาในมืด เวลาหลับตาก็มืดมองไม่เห็น ลืมตาก็เห็นตัวเอง แต่หลับตา ตาในตาใจของเรามองตัวเองไม่ได้  มองไม่เห็นเลยนั้น เพราะไม่ได้อบรมมรรคนั่นเอง เมื่ออบรมมรรคแล้วจะแจ้งสว่างไสว และความเห็นตรงนั้นจะเป็นสักขีพยานให้เรา เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งอย่างนั้น ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และก็เกิดการเข้าใจขึ้นมาจึงรู้อริยสัจ ๔ ได้  ดังนั้นอริยสัจ ๔ จึงรู้ได้ยาก เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้ง รู้เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ได้ ก็รู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ อุบายออก ปฏิปทาออก ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ได้ จึงสามารถจะเข้าใจในระบบว่า ทุกข์ เหตุของทุกข์ การดับทุกข์ ปฏิปทาที่นำมาสู่การดับทุกข์  หยั่งสู่กระแสพระอริยเจ้า  มีสติปัญญาเห็นตัวเองแจ้ง สว่างไสวอยู่เสมอ เกิดญาณ เขาเรียกว่า ญาณทัสสนะ

ฉะนั้น ญาณทัสสนะก็คือสมาธิชนิดหนึ่ง แต่เป็นสมาธิที่ตื้นๆ แต่ยิ่งใหญ่กว่า และเป็นสมาธิที่คงทนถาวร และไม่เสื่อม ต่างจากสมาธินิ่งที่เราทำครั้งแรก การเอาจิตนิ่งอยู่ในจิตเองเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง การเอาจิตที่มาเห็นกายและแจ้งขึ้นมา แล้วก็อาศัยการเห็นนั้น มาตั้งไว้เป็นเครื่องอยู่ของจิตเป็นสมาธิอีกชนิดหนึ่ง  ฉะนั้น ชนิดหลังนี้เป็นสมาธิในอริยมรรค  ชนิดแรกเป็นสมาธิในโลกีย์  สมาธิทั้งสองเกิดขึ้นแก่เราทั้งหมดเลย  แต่ว่าเราเน้นญาณทัสสนะนี้ก่อน  ดังนั้นญาณทัสสนะตัวนี้จะเป็นตัวรู้เห็น  ทำให้เราเห็นแจ้งขันธ์ ๕ และความเห็นแจ้งตรงนี้ จะสว่างไสวทำให้เรารู้ความเป็นจริงว่าตัวเรามีองค์ประกอบอย่างไร  อันนี้แหล่ะสาธุชนทั้งหลายว่าการทำที่สุดของทุกข์จะทำในลักษณะนี้ 

ยังไม่แค่จบลงตรงนี้ จากที่ดวงตาเปิดขึ้นแล้ว เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งขึ้นไปๆๆๆ มากขึ้นๆๆๆ และก็เห็นตัวเองมากขึ้นตามลำดับอีก ก็จะทวีคูณขึ้นไปอีก คนนั้นก็จะชัดขึ้นไปๆๆๆ เห็นตัวเราทั้งหมดทั้งข้างนอกข้างใน เห็นข้างนอกยังไม่พอ ต้องไปเห็นข้างใน เห็นตับ ไต ไส้ พุง น้ำเลือด น้ำเหลือง อุจจาระ ปัสสาวะ เห็นชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ จนปรากฏว่าเห็นตัวเองเหมือนซากศพผีดิบ ซากศพเคลื่อนที่ว่างั้นเถอะ เมื่อเราเห็นสรีระของเราทั้งหมดตามเป็นจริงขึ้นมา ก็ย่อมเบื่อหน่าย เหมือนซากสุนัขเน่าๆ นั่นเอง เห็นไปๆๆๆ ชักจะเบื่อตัวเอง เพราะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่เน่าเหม็น ตั้งแต่ยังไม่ตายก็ปรากฏเป็นของปฏิกูลอยู่เนืองนิตย์ ถ้าทุกคนไม่เห็นอย่างนี้ ไม่มีทางออก คือ กิเลสออกไม่ได้ การที่จะให้จิตคลายกิเลส ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ไม่มีอำนาจพอที่เขาจะคลายได้ ฉะนั้น ก็เบื่อเห็นตัวเอง เมื่อกักจิตไว้ภายในร่างกายตลอดเวลา ก็เกิดการเบื่อหน่าย เหมือนแบกศพตัวเองอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน ทำให้เราเห็นตามจริงขึ้นมา การให้ค่าว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีแล้ว ความเป็นหญิงเป็นชายก็สิ้นไป ราคะ โทสะดับสนิทถาวร สิ้นไปแล้วการหวนกลับ จะไม่มีอีกเลย เพราะความรู้โดยชอบ บุคคลนั้นรู้ความจริงเห็นแจ้ง จากการค้นหาความเป็นแก่นสารของขันธ์ ๕ และเห็นว่าเราไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร  เมื่อบุคคลนั้นเห็นว่าสาระแก่นสารไม่มีในที่นี้  ที่นี้ไม่มีสาระแก่นสาร ก็เกิดการเบื่อหน่ายตัวเองทั้งหมด เพราะประกอบด้วยสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ก็เกิดการเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายตัวเองเท่าใด ก็คลายความยินดีตัวเองเท่านั้น คลายความยินดีตัวเองได้เท่าใด นั่นหมายถึงจิตคายความเป็นโลกได้เท่านั้น เพียงแค่คลายความยินดีในตัวเองเท่านั้นเอง อย่างอื่นจะคายไปเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย มันเป็นผลพลอยได้ จากการเบื่อหน่ายตนเองเท่านั้นเอง ขอให้เห็นแจ้งก่อน ความเบื่อหน่ายจะปรากฏขึ้นมาเอง ขอให้แจ้งอย่างเดียว

มันมีปัญหาตรงที่ไม่แจ้งนี่แหล่ะ  ถ้าแจ้งขึ้นมาแล้ว กลายเป็นว่าจิตเราเห็นตัวเองแจ้งขึ้นมาๆๆๆๆ  แล้วก็เปลี่ยนความเห็น เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปตามลำดับ ในที่สุดก็สรุปได้ว่า เราไม่เห็นตัวเรามีอะไรดีเลย เมื่อเราไม่มีอะไรดี ความยินดีในโลกเราก็ไม่ควรจะมีแก่เรา ทีนี้เมื่อเห็นตัวเองมากขึ้นๆๆๆๆ ความเห็นตรงนี้แก่กล้าจนถึงขีดสุด เราก็จะเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้  ก็เกิดการเบื่อหน่ายตัวเองได้ขึ้นมาๆ เห็นแล้วยังไม่พอ ต้องเบื่อหน่ายด้วย เบื่อหน่ายตัวเองยังไม่พอ ให้คลายความยินดีในตัวเองออก จิตก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองมาทางที่ถูกแล้ว คือว่าเราไม่ควรไปไหนอีกแล้ว วางโลกเสียเถอะ บัดนี้เราอบรมมรรคมาแล้ว จิตเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง เห็นว่าเราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เลยเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ว่าต่อไปนี้ อุบายออกก็คือว่าเราจะอำลาโลกแล้ว อำลาในที่นี้หมายถึงว่า เราจะอำลาอารมณ์ของโลกทั้งหมด ว่าเราไม่ควรไปคลุกคลีกับอารมณ์ของโลกนี้อีกเลย จิตก็จะคลายอารมณ์ออกๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของจิต ทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป

จนในที่สุดจิตก็ยุติตัวเองว่า บัดนี้ข้าเบื่อร่างกายตัวเองเหลือเกิน เมื่อก่อนข้าไม่เห็นตัวเองว่า ตัวเองมีอะไร บัดนี้มาเห็นแล้วก็ค้นหาความเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ ข้าก็เลยเบื่อ จิตก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้น ข้าขออำลาแล้ว ข้าเห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า โลกนี้ไม่น่ารื่นรมย์อะไร เมื่อก่อนข้ารื่นรมย์เพราะข้าไม่เข้าใจ บัดนี้เข้าใจแล้วว่าโลกไม่มีอะไร มันเป็นเกมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ที่หลอกล่อคนเขลาให้ติดอยู่ แต่ผู้รู้หาได้ข้องไม่ บัดนี้เราเข้าใจโลกดีว่า โลกทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าอย่างนั้นเราเลิกพฤติกรรมทางจิตออก จิตเริ่มปิดตัวเองลงว่า ข้าขอเลิกแล้วกับโลกนี้ เพราะรู้โลกโดยความเป็นโลก ปิดตัวเอง คืออายตนะ ๖ ทำงานไป แต่จิตไม่ได้ร่วมไปด้วย การคิดปรุงแต่ง(สังขาร)ปิดฉากลง เชื้อของความคิดหมดแล้ว ความสิ้นสุดของความคิด ทำให้จิตนั้นจะไม่มีการไป ไม่มีการมาแล้ว จิตดับสนิทต่อการผูกโยงกับโลกนี้ต่อไป เป็นอันว่าคนๆนี้ที่อยู่ในโลกนี้ จิตของเขาจะไม่มีการล่องลอยออกไปให้ปรากฏอีกเลย คนนั้นที่เห็นตัวเองแจ้งแล้วก็หยุดสนิทเลยนี้ คนนั้นก็เรียกว่าเป็น พระอนาคามีบุคคล พ้นระดับหนึ่ง หลังจากนั้นการพิจารณาตัวก็จบลงไป ไม่มีการทำอีกแล้ว เพราะแจ้งแล้ว และแจ้งตัวนี้ ก็จะไม่ดับไปอีกเลย แจ้งสว่างไสวอย่างนั้นตลอดเวลา จนถึงวันตาย 

แต่ยังไม่จบกิจ ยังมีอีกเยอะ ดูสิ ยากขนาดไหน จิตนี้ไม่มีไปทางหู ทางตา ทางอายตนะ ๖ คือดับกิเลสประเภทชั้นต้นได้แล้ว กิเลสแบ่งประเภทเป็นชั้นต้นกับชั้นปลาย เขาเรียกว่าสังโยชน์เบื้องต่ำกับสังโยชน์เบื้องสูง

แล้วทำยังไงต่อ ? เราเอาสมาธิทีแรกที่นิ่งอยู่ในจิต เอามาทำต่อ ผู้ที่ได้พระอนาคามีจะไม่พิจารณาตัวแล้ว เพราะแจ้งในขันธ์ แล้ว เขาจะเริ่มเดินสมาธิอย่างเดียว เดินไปจนถึงอรูปฌาน แล้วเอาจิตน้อมถึงภพชาติ น้อมไปทางระลึกชาติ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้ได้  รู้ภพชาติคนอื่นได้(จุตูปปาตญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้รู้ภพชาติของผู้อื่น เพราะอำนาจของจิตที่รู้แจ้งขันธ์ ๕ ยังไม่มีอำนาจพอที่จะทำให้รู้แจ้งภพชาติได้ เพราะการรู้ภพชาติต้องใช้ฌาน การรู้แจ้งขันธ์ ๕ นั้นเป็นญาณ  ญาณกับฌานต่างกันไป ฉะนั้นเมื่อทำฌานขึ้นมา ถึงจะรู้ภพชาติตัวเอง รู้ภพชาติคนอื่นได้ แล้วสรุปผลของการรู้ภพชาติตัวเองและผู้อื่นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ละชาติเกิดเพราะกิเลสของเรานั่นเอง ได้เหตุผลตรงนั้น มาสรุปอีกทีหนึ่ง จึงจะทำให้รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง แล้วถึงจะหมดอาสวะ(อาสวักขยญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้สิ้นกิเลส บรรลุเป็น พระอรหันต์ แล้วการประพฤติปฏิบัติถึงจะจบลง  หลังจากเป็นพระอรหันต์แล้ว จะได้ของแถม เขาเรียกว่าคุณวิเศษ ได้แก่ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ ปฏิสัมภิทา ๔ ก็จะเกิดตามเป็นผลพลอยได้ พระประเภทนี้จะมีครบหมดทุกอย่าง และสมบูรณ์แบบ  ได้ทั้งปัญญาวิมุตติ และเจโตวิมุตติ หลุดพ้นโดยชอบ บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการฝึกทั้งหมด  เป็นผู้ฝึกตรงมรรคมีองค์ ๘ ตรงอย่างสมบูรณ์แบบ อันนี้เขาเรียกว่า  ปฏิบัติถูกต้อง


******