วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ทางดับกิเลส...พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



ทางดับกิเลส

โดย....พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

***********

การดับอารมณ์นี้เราต้องรู้อริยสัจ ๔ คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้นิโรธ รู้ปฏิปทาหรือแนวทางการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์ และอารมณ์ต้องตัดให้ขาด ถ้าตัดไม่ขาดมันจะโผล่มายิบๆ ยับๆ น่ารำคาญ มรรคมีองค์ ๘ ที่เราได้ศึกษาและอ่านมา ก็รู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ทำไมเรายังมีอารมณ์เหมือนเดิม เพราะเรายังไม่ได้เดินทาง หรือเดินทางไปยังไม่ถึง จึงไม่อาจรู้แจ้งเห็นแจ้งได้ ต้องมาวิเคราะห์ว่า จิตปรุงแต่ง(สังขาร)มีอะไรเป็นมูลเหตุ ทางที่เราเดินอยู่เป็นทางที่เราเดินมานานแล้ว ไม่มีอะไรดีเลยมีแต่การคิดปรุงแต่ง และเป็นการปรุงแต่งที่มีโทษ เมื่อเห็นโทษของการปรุงแต่ก็ดำริออก เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริออกจากกาม ดำริออกจากความพยาบาท ดำริออกจากการเบียดเบียน

กิเลส ๓ ตัว คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดจากการคิดปรุงแต่งทั้งหมด เป็นการปรุงแต่งที่มีโทษ มีพิษ มีภัย ความสุขที่ได้จากกิเลสก็เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย แต่มีความทุกข์ตามมามากกว่า และเป็นความสุขที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ส่วนความสุขที่ไม่มีโทษ ไม่มีภัย คือความสุขจากจิตสงบ จากการทำสมาธิ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยอะไรเลย แต่ก็สงบยาก งอกงามขึ้นยาก ถ้าพยายามทำบ่อยๆก็จะได้ความสุขที่เราต้องการนี้ขึ้นมา เพื่อนำมาลบล้างความสุขจากกามออกเสีย การอบรมจิตเราต้องรู้พฤติกรรมของกิเลส เกิดขึ้นโดยใจเราเป็นผู้แสวงหา ดิ้นรน กวัดแกว่ง เรานึกถึงภาพหรืออารมณ์ข้างนอกที่ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ  

ก่อนอื่นเราต้องเห็นโทษของกิเลสก่อน คือความปรุงแต่งทั้งหมด มีรัก มีชัง มีเฉยๆ มีเวทนาสุข ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ๓ อย่างนี้ ชื่อว่า ราคะ โทสะ โมหะ ราคะคือความยินดีทั้งหมด คือยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเพศตรงข้าม พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษ เห็นคุณหรือประโยชน์ของกาม และหาทางออกหาทางทำลาย โทษของกามคืออะไร คุณหรือประโยขน์ของกามคืออะไร ต้องศึกษาค้นคว้าก่อน ถ้าดีก็ไม่จำเป็นต้องแก้อะไร ถ้าไม่ดี ไม่ดีอย่างไร จะแก้อย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูกราคานุสัย คือกิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ ราคะได้แก่ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ครอบงำ เมื่อราคะเกิดขึ้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง พูดง่ายๆ คือความยินดีในหญิงในชายนั่นเอง ก็หมายถึงกามคุณทั้ง ๕ นั่นเอง

ผู้ใดเมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูก ปฎิฆานุสัย คือ กิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ ปฏิฆะ ได้แก่ ความโกรธ ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ครอบงำ

       ผู้ใดเมื่อมีอทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูก อวิชชานุสัย คือกิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ อวิชชา ได้แก่ ความหลง ความไม่รู้อริยสัจธรรม ๔ ครอบงำ

อารมณ์ของเรานี้มันสั่งสมไว้มาก และสั่งสมมานาน มันพัวพันกันยุ่งเหยิงเหมือนเส้นด้ายพันกันเป็นปมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ยากที่จะสะสางคลี่คลายให้มันแยกออกจากกันได้ การปฏิบัติธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่จะคลีคลายอารมณ์ออกจากจิตใจได้ เราจำเป็นต้องหาเงื่อนต้นของมันให้เจอก่อน เพื่อจะได้เริ่มต้นแก้เงื่อนนั้นปมนั้น ทีละเงื่อน ทีละปม ให้คลี่คลายออกจากกัน คือการสาวไปหาเหตุ หรือเงื่อนต้นตอของมันนั่นเอง เงื่อนต้นของปัญหาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ก็คือ อวิชชาคือความไม่รู้หรือความหลง แล้วก็สาวไปว่า

อะไรหนอเป็นอาหารของอวิชชา อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ ๕, พยาบาท คือการป้องร้าย, ถิ่นมิทธะ คือความง่วง ความเบื่อ เซง ซึมเซา, อุทธัจจกุกกุจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน และวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ) 

 อะไรหนอเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕  อาหารของนิวรณ์ ๕ คือ ทุจริต ๓ (การกระทำชั่วทางกาย วาจา ใจ คือกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓)  

อะไรหนอเป็นอาหารของทุจริต ๓  อาหารของทุจริต ๓ คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)  

       อะไรหนอเป็นอาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์ อาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้, ความรู้ตัวทั่วพร้อม)  

       อะไรหนอเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ อาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ คือ การมนสิการโดยไม่แยบคาย (การกําหนดไว้ในใจโดยแยบคาย) 

       อะไรหนอเป็นอาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย อาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย คือ ความไม่มีศรัทธา(ความเชื่อ) 

       อะไรหนอเป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา อาหารของความไม่มีศรัทธา คือ การไม่ฟังสัทธรรม(ธรรมของสัตบุรุษ คือพระพุทธพจน์ ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) 

อะไรหนอเป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม อาหารของการไม่ฟังสัทธรรม คือ การไม่คบสัตบุรุษ (อริยบุคคล, ผู้เป็นสัมมาทิฐิ)

ดังนั้น การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์  การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีศรัทธาบริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การมนสิการโดยไม่แยบคายบริบูรณ์ การมนสิการโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์ ความไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ทุจริต ๓ บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมทำให้นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์ นิวรณ์ ๕  ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้อวิชชาบริบูรณ์ อวิชชามีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

แล้วก็อะไรหนอเป็นอาหารของวิชชา และวิมุตติ  อาหารของวิชชา และวิมุตติ คือ โพชฌงค์ ๗

อะไรหนอเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ อาหารของโพชฌงค์ ๗ คือ สติปัฏฐาน ๔

อะไรหนอเป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ อาหารของสติปัฏฐาน ๔ คือ สุจริต ๓

อะไรหนอเป็นอาหารของสุจริต ๓ อาหารของสุจริต ๓ คือ ความสำรวมอินทรีย์

อะไรหนอเป็นอาหารของความสำรวมอินทรีย์ อาหารของความสำรวมอินทรีย์ คือ สติสัมปชัญญะ

อะไรหนอเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ อาหารของสติสัมปชัญญะ คือ การมนสิการโดยแยบคาย

อะไรหนอเป็นอาหารของการมนสิการโดยแยบคาย อาหารของการมนสิการโดยแยบคาย คือ ศรัทธา

อะไรหนอเป็นอาหารของศรัทธา อาหารของศรัทธา คือ การฟังสัทธรรม

อะไรหนอเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม อาหารของการฟังสัทธรรม คือ การคบสัตบุรุษ



ดังนั้น การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์  การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์  ศรัทธาที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์  การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์ ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สุจริต ๓ บริบูรณ์  สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์  โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์  วิชชา และวิมุตติมีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

เมื่อเปรียบชีวิตของเราเหมือนเรือลำน้อยล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร หาฝั่งไม่เจอคือนิพพาน ถูกกระแสลมพายุแรงกล้าพัดกระหน่ำและคลื่นใหญ่ซัดไปซัดมา พร้อมที่จะจมลงสู่ท้องมหาสมุทรตลอดเวลา เราต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า และเกาะร่างกายอันเป็นซากผีดิบนี้เข้าหาฝั่ง ขึ้นฝั่งให้ได้ ไม่ให้จิตหลุดออกไปจากร่างกาย หรือจมอยู่ในกระแสโลกหรืออารมณ์(กิเลส)อีกต่อไป ไม่ใช่เกิดมาแล้วรอวันตาย เมื่อตายแล้วให้เขานำไปเผาทิ้งไป โดยไม่ได้ใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์อะไรแก่ตนเอง

กรรมฐาน ๕ คือสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติ และโพชฌงค์ ๗ นี้ จะเป็นเส้นทางนำเราให้เห็นแจ้งในร่างกายหรือขันธ์ ๕ จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกายนี้ จนสามารถดับอารมณ์หรือการคิดปรุงแต่ง(สังขาร)ได้ เกิดวิชชาและวิมุตติ ยุติการท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดได้ในที่สุด


 (กรรมฐาน ๕ หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต ๕ ประการ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) และตโจ(หนัง)

สติปัฏฐาน ๔ หมายถึง ที่ตั้งแห่งการทำงานของสติ ๔ ประการ ได้แก่ มีสติระลึกรู้กายในกาย  เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

กายคตาสติ  หมายถึง สติที่เป็นไปในกาย  ท่องเที่ยวในกาย ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง

โพชฌงค์ ๗ หมายถึง ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้  ๗ ประการ ได้แก่ สติ คือความระลึกได้,  ธัมมวิจยะ คือการเฟ้นธรรม,  วิริยะ คือความเพียร,  ปีติ คือความอิ่มใจ, ปัสสัทธิ คือความสงบกาย สงบใจ,  สมาธิ คือความตั้งจิตมั่น, อุเบกขา คือความมีใจเป็นกลาง)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น