วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

จิต...หลวงพ่อชา สุภัทโท



จิต
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)



จิตตัวเดียวนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ท่านจึงให้อบรมจิต  จิตก็เรียกว่าจิต จะเอาอะไรมาอบรมมันอีกล่ะ !  
     จิตนี้ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอแล้ว เราก็จะรู้จักจิต ผู้รู้อันนั้น คือรู้เหนือจิตขึ้นไปอีก คือ ผู้รู้สภาวะของจิต 

 จิตนี้ก็เป็นจิต ผู้ที่รู้ว่าจิตนี้สักแต่ว่าจิต นั่นแหละเรียกว่า "ผู้รู้"  ผู้รู้เหนือกว่าจิตของเราไปอีก จึงได้ตามรักษาจิตของตน

 จิตเป็นผู้ที่รับรู้อารมณ์  อารมณ์ก็เป็นอารมณ์  จิตนี้ก็เรียกว่าจิต  ผู้รู้ทั้งจิตและอารมณ์นั้น  เหนือกว่าจิต เหนือกว่าอารมณ์ไปอีก มันเป็นของมันอย่างนั้น แล้วมันก็มีสิ่งที่ซับซ้อนอยู่เสมอ ท่านเรียกว่า "สติ" 

สตินี้ก็มีกันทุกคน แมวมันก็มี เวลาตะครุบหนูกิน สุนัขมันก็มีสติเวลามันจะเห่าคน กัดคน อันนั้นก็เรียกว่าสติเหมือนกัน แต่มิใช่สติโดยธรรมะ 

ท่านสอนให้ใช้สติพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อละความหลง ละอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์นะ ตัวอุปาทานขันธ์ ๕ ยึดมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา นั่นแหละเป็นทุกข์


รู้แจ้งโลก...หลวงพ่อชา สุภัทโท


รู้แจ้งโลก
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)


      จะปฏิบัติธรรมอย่างไร คนเราไม่รู้จัก นึกว่าเดินจงกรมฟังธรรม นั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติ นั่นเป็นส่วนน้อยก็จริงอยู่ แต่มันเป็นเปลือกของมัน  
       การปฏิบัติจริงๆ นั้นปฏิบัติเมื่อประสบกับอารมณ์ เช่น มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้ามีคนพูดถูกใจก็เป็นสุข ตรงนี้แหละที่จะต้องปฏิบัติ  จะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ  ถ้าเราไปวิ่งกับสุข  ไปวิ่งกับทุกข์  วิ่งตลอดไปจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะ
        คนโดยมากได้ของไม่ชอบใจ ไม่อยากพิจารณา อย่างคนนินทาว่าเราไม่ดี นี่ควรฟัง เขาว่าถูกหรือว่าผิดอะไรหนอ ! ไม่ดีตรงไหน ควรรับฟัง ไม่ต้องปิดตนเอง ตรงนั้นแหละต้องปฏิบัติ บางทีเขาว่าถูกยังไปโทษเขาอีก ตรงไหนไม่ดีเราก็แก้ไขเขี่ยสิ่งที่ไม่ดีออกเสีย มันก็ดีขึ้น นี่คือคนมีปัญญา
 สิ่งที่วุ่นวาย  สิ่งที่ไม่สงบมันอยู่ตรงนั้นแหละ ! มันเป็นเหตุ  สิ่งที่สงบก็อยู่ตรงนั้นเอง  เราเอามันแทนที่เข้าไป ที่มันไม่สงบนั่นไง การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตเสมอกับลมหายใจ ให้ดูที่ความรู้สึกของเรา นี่มันเกิดมาจากเหตุใด ตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส  กายถูกต้องสัมผัสอะไร มันก็มารวมกันที่ผู้รู้ คือจิตนี้มีความรู้ขึ้น จิตเป็นผู้ที่รับรู้อารมณ์  ถ้ามันไม่ชอบใจ มันก็ไม่เอา มันเป็นทุกข์ ถ้ามันชอบใจมันก็เอาเป็นสุข เรื่องก็เท่านี้แหละ 
จะหาคนในโลกนี้มาพูดให้ถูกใจเราตลอดชีวิตจะได้ไหม ไม่ได้  ไม่ได้แล้วจะไปอยู่ที่ไหน  โลกนี้มันเป็นอย่างนี้  พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งโลก ท่านพิจารณาจนเบื่อ และเห็นโทษของมัน  ถ้าเราเข้าไปเห็นโทษของสิ่งเหล่านั้นแน่นอนแล้ว  เราก็วางมันได้เท่านั้นเอง
สมัยนี้ วุ่นวายกว่าแต่ก่อน เป็นทุกข์กว่าแต่ก่อน นักบวชเขาเรียนหนังสือกันเพื่ออาชีพ ไม่ได้เรียนเพื่อปฏิบัติธรรม  เพราะไม่รู้คุณค่าของธรรมะ ธรรมะตามตัวหนังสือ ตามตำรานั้นมันอยู่ข้างนอก มันไม่เห็นธรรมะที่อยู่ในจิตของตน  เมื่อเราดูจิตของตน ก็จะเห็น ก็เอามาสอนจิตของตน  เห็นความจริงอยู่อย่างนั้น ถ้าเอาความจริงมาพูดขึ้นมา มันก็เป็นความจริง มันก็จะตัดกระแสความไม่จริงออกทั้งหมดเลย
ความจริงอันนี้ใครสร้างขึ้นมา ก็ความจริงมันสร้างขึ้นมา  ไม่ใช่พระพุทธเจ้าสร้างหรือ ไม่ใช่ ท่านไปค้นพบว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ แล้วท่านก็เอามาสอนเป็นธรรมะเป็นอมตะนิยาม มิใช่ท่านแต่งขึ้นมา ธรรมะนี้ก็เป็นของเก่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่เกิดก็มีอยู่ ถึงเกิดมาก็มีอยู่ แม้คนไม่ปฏิบัติก็มีอยู่  ถึงจะมีคนปฏิบัติก็มีอยู่ 
การทำกรรมดี กรรมชั่วของเรานั้น ถ้าเราไม่หยุด มันก็ไม่หยุด ถ้าเราหยุดมันก็หยุด นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

 

ทางพ้นทุกข์...หลวงพ่อชา สุภัทโท


ทางพ้นทุกข์
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)


        ความทุกข์ ความสุขอยู่ที่ไหน ? ธรรมะเกิดที่ตรงนั้นแหละ ถ้าเรารู้จักทุกข์  รู้จักเหตุของทุกข์  รู้จักความดับทุกข์  รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  มันก็แก้ปัญหาได้
        ถ้าเราไม่เห็นสังขารที่มันหมุนเวียนตามธรรมชาติของมันแล้ว  มันก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมา เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออกมันก็สบาย  ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่ออก หายใจออกแล้วไม่เข้า  จะอยู่ได้ไหม ? การเห็นสังขารที่มันหมุนเวียนตามธรรมชาติของมัน คือ การเห็นอนิจจัง นั่นแหละ คือ การเห็นธรรมะ
        คนเราเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา คิดแต่ว่าจะต้องหาย   ไม่ต้องตายอย่างนี้  เป็นเรื่องของจิตไม่รู้จักสังขาร  ต้องเปลี่ยนมาคิดให้ถูก คือหายก็เอา  ไม่หายก็เอา ตายก็เอา  เป็นก็เอา  ถูกทั้งสองอย่าง  สบาย ไม่ตกใจ  ไม่ร้องไห้  ไม่เศร้าโศก  ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ  ไม่ล้าสมัย  ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เสื่อม  ทุกวันนี้ยังเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น     
สังขารมันเกิดขึ้นแล้ว  ก็ดับไปเป็นธรรมดา  ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ  เราจะมีความทุกข์ตลอดไป เช่น เมื่อเห็นเป็ดแล้วอยากให้มันเป็นไก่  เห็นไก่แล้วอยากให้มันเป็นเป็ด มันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดอยากให้มันเป็นอย่างนี้ไม่หยุด มันก็ต้องเป็นทุกข์ เช่นเดียวกับอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง  อยากจะให้มันเที่ยง  มันก็ไม่เที่ยง  เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร  ก็เสียใจ  ทุกข์ใจเมื่อนั้น  ถ้าเห็นว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น  ก็สบายไม่มีปัญหา
          เมื่ออยากรู้ธรรมะก็ดูที่กาย และใจของเรานี่แหละ  รูปธรรมมองเห็นด้วยตา นามธรรมมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ  แต่มองเห็นด้วยตาใน คือตาใจ  มองดูในใจถึงจะเห็นนามธรรม แล้วเอานามธรรม คือตัววิญญาณธาตุ ดูกายนี้  ไปดูที่อื่นไม่พบ เพราะความสุข  ความทุกข์เกิดที่นี่  ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ
        ฉะนั้น จงทำปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตของเรา  เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว  จะมองไปทางไหนจะมีแต่ธรรมะทั้งนั้น เห็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาตลอดเวลา อนิจจังเป็นของไม่เที่ยง ทุกขังถ้าไปยึดก็เป็นทุกข์  อันนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว  แต่เราไม่เห็น  กลับเห็นเป็นตัวเป็นตนเสมอ  เห็นว่าเป็นของของตนตลอดเวลา คือเราไม่เห็นสมมุติ  จงรู้จักสมมุติ  และประโยชน์ที่จะได้รับจากของสมมุติทั้งหลายเหล่านั้น
        เมื่อรู้จักทุกข์ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ทิ้งทุกข์  รู้จักเหตุแห่งทุกข์  ที่ไหนทุกข์จะเกิด ก็ไม่ทำ  จะปฏิบัติ  มันก็ดับทุกข์  ที่ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อันนี้  ก็ไม่ใช่ตัวมิใช่ตน  ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นเช่นนี้ทุกข์ก็ดับ เหมือนคนเดินทาง เดินไปถึงที่หมายแล้วก็หยุดอยู่ มันดับ นั่นใกล้ต่อพระนิพพานง่ายๆ เดินไปก็เป็นทุกข์  ถอยกลับก็เป็นทุกข์  หยุดอยู่ก็เป็นทุกข์ เดินไปก็ไม่เดิน ถอยกลับก็ไม่ถอย หยุดอยู่ก็ไม่หยุด  มีอะไรเหลือไหม ?
        ดับ ! รูปมันดับ  นามมันดับ  นี้เรียกว่าดับทุกข์ ฟังยากสักหน่อยนะ  แต่ถ้าพิจารณาภาวนาไปเรื่อย ๆ มันจะพ้นขึ้นมา  แล้วจะรู้จัก  มันจะดับของมันอย่างนั้น  ที่สุดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น หมดล่ะ ไม่เป็นอะไร ละหมด พระพุทธเจ้า สอนจบตรงนี้   ละหมด....จบลงที่นี่