สู่อสังขตะ
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
ผู้ที่เรียนธรรม รู้ธรรม บรรยายธรรม แต่ว่าใจจะเป็นธรรมนั้นหายาก เพราะมิได้พิจารณาธรรมอย่างแจ่มแจ้ง จึงไม่เข้าใจธรรม การฟังธรรมให้เข้าใจธรรม เมื่อเข้าใจธรรมแล้ว จะทำลายทุกข์ให้หายไปได้ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานี้ เพราะเราไม่รู้ทันมัน พระพุทธเจ้าสอนให้รู้เท่าทัน มันจึงก็จะดับทุกข์ได้เท่าทัน เมื่อทำความรู้ ความเห็นให้ชัดเจนเข้าไป รู้ตามความเป็นจริงของมัน ทุกข์นั้นก็หายไป เพราะมารู้เหตุของมันไม่ให้เหตุมันเกิด ทุกข์เหล่านั้นก็ดับไปเอง
นี้คือการปฏิบัติ แต่บุคคลที่รู้ธรรม เรียนธรรม ปฏิบัติธรรมแต่ไม่เป็นธรรม ไม่ระงับเหตุแห่งความชั่วออกจากจิตใจ ไม่ระงับเหตุแห่งความเดือดร้อนออกจากจิตใจ เมื่อเหตุร้อนทั้งหลายมันเป็นเหตุติดต่ออยู่ในใจของเราอย่างนี้แล้ว เราจะห้ามความร้อนไม่ให้เกิดขึ้นนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เราจะห้ามความกระวนกระวายไม่ให้เกิดขึ้นในใจนั้นมันเป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะมันเกิดอยู่ตรงนี้ เหตุเกิดของมันอยู่ที่นี่ ถ้าเราไม่ระงับที่เกิดของมัน มันก็จะเกิดเรื่อยไป แต่มันเกิดแล้วมันก็ต้องตาย เมื่อได้แล้วก็ต้องเสีย เมื่อเสียก็ต้องได้ มันหมุนเวียนตามธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้
จุดที่ศาสนาท่านสอนให้เรียนธรรม ประพฤติปฏิบัติธรรม ให้รู้ธรรม ให้เห็นธรรม ทั้งให้เป็นธรรมอีกด้วย ให้ใจเป็นธรรม เมื่อใจเป็นธรรมมันจึงจะถึงสุข คือให้พ้นทุกข์ กายมันไม่พ้นหรอก เกิดมาแล้ว ต้องแก่ เจ็บ ตาย ให้ใจเป็นผู้พ้น พ้นจากความยึดความมั่นหมายในสังขารที่มีใจครองทั้งหลาย คือสิ่งที่จิตมนุษย์เข้าไปพัวพันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อะไรๆ ที่ไม่มีใจครองนั้นไม่มีเลย ถ้ามีตัณหาอยู่ในใจ ของทั้งหลายมีใจครองหมดทุกอย่าง เช่น โต๊ะ เตียง ตู้ บ้าน ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ
ถ้าเอาจิตไปยึดครองสมบัติพัสถานเข้าของ หรือสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ถ้ามันเกิดแตกถูกทำลายเสียหายขึ้นมา เราก็เจ็บ เพราะเอาใจไปครองมัน ดังนั้นธรรมชาติทั้งหลายจึงมีใจครองทั้งหมด ถ้าเราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าเลยสอนว่า “ไม่ให้เอาใจเข้าไปครองสิ่งเหล่านั้น” สังขารธรรม(ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง) อสังขารธรรม (ธรรมอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง)
สังขารธรรม(ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง) จะเป็นรูป เป็นนาม เมื่อจิตมีโมหะแล้ว ต้องเข้าไปปรุงไปแต่งทุกสิ่งทุกอย่างว่า อันนั้นดี อันนั้นร้าย อันนั้นสั้น อันนั้นยาว อันนั้นเลว อันนั้นเลิศ อันนั้นประเสริฐ เพราะไม่รู้สมมุติ ไม่รู้สังขาร การไม่รู้สมมุติ ไม่รู้สังขาร ก็คือ ไม่รู้ธรรมนั่นเอง เมื่อไม่รู้ก็ติดอยู่ในอุปาทาน เมื่อติดอยู่ก็ไม่มีความหลุดพ้น เมื่อไม่หลุดพ้นก็วุ่ยวายอยู่อย่างนี้ ก่อชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ให้เกิดขึ้นมาอีก
อสังขารธรรม(ธรรมอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง) เกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ เมื่อเข้าไปเห็นธรรม คือ ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิใช่ตัว มิใช่เรา มิใช่เขา เป็นของสมมุติ และก็เป็นสังขาร เมื่อเรามารู้สังขาร มารู้สมมุติ ก็เหมือนกับเรามารู้ธรรม มารู้สังขารเหล่านั้นมิใช่เรา มิใช่ของเราแล้ว มันก็ปล่อยสมมุติ ปล่อยสังขารเหล่านั้น เมื่อปล่อยสมมุติ ปล่อยสังขารได้แล้ว ก็บรรลุธรรม รู้แจ้งว่านี้สังขาร นี้สมมุติ นี้มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล มิใช่ตัวตน มิใช่เรา มิใช่เขา เมื่อเห็นอย่างนี้จิตก็หลุดพ้น มิใช่สิ่งอื่นหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว อสังขารธรรมก็เกิดขึ้น หมดเหตุหมดปัจจัยปรุงแต่ง จิตนั้นก็เลยเป็นเสรี
พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นเจ้าของ แม้จะอยู่ในรู ก็เห็นเจ้าของอยู่ในรู จิตบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็รู้ สงบก็รู้ ทุกข์ก็รู้ พ้นก็รู้ ไม่พ้นก็รู้ ดังนั้น ถ้าทำถ้าปฏิบัติ ก็ต้องรู้จัก ท่านสอนให้รักษาจิต ผู้ใดก็ตามรักษาจิตตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงมาร สิ่งทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันมิได้ให้ทุกข์กับเรา เช่นเดียวกับหนามแหลมๆ มันเป็นหนามอยู่อย่างนั้น มิได้ให้ทุกข์กับผู้ใด แต่ถ้าเราไปเหยียบมันก็เจ็บ เป็นทุกข์ขึ้นทันที รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เช่นกัน ในสกลโลกนี้ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราไปชกมันเข้า มันก็ชกกลับคืน ถ้าเรามาสงบสังขาร เห็นสมมุติสังขารว่ามิใช่ตัว มิใช่ตน มิใช่เรา มิใช่เขา มันเป็นสักกายทิฏฐิแล้วนั่น มันก็สงบ
ถ้าเข้าใจว่าเราดี เราชั่ว เราเลิศ เราประเสริฐ มันก็เป็นพิษ เมื่อเข้าใจว่าเป็นสมมุติ เป็นสังขาร เขาจะดี จะชั่วก็ปล่อยเขาไป ถ้ายังเข้าใจว่ามีกู ว่ามีมึงอยู่นี่ มันก็แตนสามรังนั้นแหละ มันก็ต่อยคืน เพราะมันห่วงหวงของไม่น่ากิน หวงของต่ำๆ เมื่อพิจารณาสมมุติสังขารเหล่านี้ ตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่มีการถือเนื้อถือตัว เห็นความสุข ความทุกข์ ของหมู่มนุษย์ ของสัตว์ต่างๆ เหมือนกันหมด
อันนี้แหละเป็นข้อปฏิบัติ จงพากันพิจารณา ส่งถึงหนทางแล้ว ใครจะไปก็ไป ใครจะอยู่ก็อยู่ ใครไม่อยู่ก็ไป ใครจะทำอย่างไรก็ทำ พระพุทธเจ้าก็ส่งแค่ปากตรอกนี้แหละ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น