จิตคือผู้สร้างที่แท้จริง ๑
(ธรรมทายาท)
จาก สูตรเว่ยหล่าง ของพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึง จิตเดิมแท้ของเรา
ว่าเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ หรือทำลายให้สูญหายก็ไม่ได้ เป็นของบริสุทธิ์ ว่างเปล่า
เป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความเป็นอยู่ และความดับสูญ
เป็นสิ่งอยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง ใหญ่หลวงไม่มีขอบเขต จำกัด และว่างเหมือนกับอวกาศ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ล้วนไหลเทออกมาจากจิตเดิมแท้
ธรรมชาติของจิตเดิมแท้นั้น ไม่มีคู่ ไม่อาจเรียกเป็นชื่อใดๆ ได้ ของคู่ประเภทตรงกับข้ามกัน ๓๖ คู่ นั้นเป็นอาการไหวตัวของภาวะแห่งจิตเดิมแท้
ธรรมนั้นมีเพียงธรรมเดียว “เอตํ ธมฺมํ” จิตก็มีดวงเดียว “เอตํ จิตฺตํ” เมื่ออาการของจิตเริ่มขึ้น สิ่งต่าง ๆ ก็ปรากฏ
เมื่ออาการของจิตดับ สรรพสิ่งทั้งหลายก็ดับ
ในสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีอะไรเป็นความจริงแท้ “เราต้องทำจิต ให้เป็นอิสระจากเครื่องข้องทั้งหลาย
และอยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวง”
ปลดปล่อยตนเองออกจากกรงขัง แห่งความเห็นผิด
จิตชั่วของเราเปรียบดังเมฆ ความรู้แจ้งแทงตลอด และปัญญา
เปรียบดังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เมื่อเราพัวพันกับอารมณ์ภายนอก จิตเดิมแท้ของเราก็ถูกบดบังไว้ มิให้ส่องแสงออกมาภายนอกได้
ในพระสูตรกล่าวว่า “ธรรมชาติของจิตเดิมแท้ เป็นธรรมชาติของพุทธะ” เป็นสิ่งที่ไม่สงบนิ่ง และไม่เคลื่อนไหว ไม่เกิด ไม่ดับ
ไม่มา ไม่ไป ไม่รับ ไม่ปฏิเสธ ไม่คงอยู่ และไม่จากไป
ถ้าเรารู้แจ้งชัดในจิตเดิมแท้ของเราแล้ว เราก็ไม่เป็นทาสของวัตถุกามทั้ง ๕ อีกต่อไป แม้เพียงขณะจิตเดียว เมื่อนั้นเราก็รู้แจ้งในสัจจะ
ลุถึงพุทธภาวะได้ทุก ๆ คน และทันใดนั้น “เราก็จะตรัสรู้แจ่มแจ้ง
สว่างไสว และได้รับใจของเราคืนมา”
"โลก" แปลว่า
ต้องแตกสลาย ทั้งสามโลก ได้แก่ โลกนี้ คือโลกมนุษย์ และโลกอื่น คือนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน
และสวรรค์อีก ๖ ชั้น รูปพรหม(พรหมมีรูป ๑๖ชั้น) และอรูปพรหม(พรหมไม่มีรูป ๔
ชั้น) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่ท่องเที่ยวของสัตว์ทั้งหลาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ล้วนเกิดจากจิตเดิมแท้ จิตของเรานี่แหละเป็นผู้สร้างเอง
เป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นเอง
และหาได้เกิดจากเทพเจ้าองค์ใดไม่
พระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตเดิมแท้ของเรานั้นประภัสสร" คือ
สว่างไสว แต่มีความหลง(อวิชชา)จึงมีอุปกิเลสซึ่งเกิดขึ้นที่จิต คือสังขาร(คิดปรุงแต่ง) ทั้งกุศล อกุศล หรือดี ชั่ว บุญ บาป
หรือไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาป เข้าครอบงำ บดบังจิต ให้มืดมัว เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส
เหมือนหมอกเมฆ มาบดบังดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ให้อับแสงไป ฉันใด ก็ฉันนั้น
โลกทั้งสามที่เกิดจากจิตเดิมแท้นั้น ล้วนเป็นของสมมุติ และจิตก็มาหลงติดในสมมุติ ที่จิตสร้างขึ้น ปรุงแต่งขึ้น
ดุจดังแมงมุมชักใยดักจับกินแมลง แล้วก็ติดอยู่กับใยของมันเอง ฉันใด ก็ฉันนั้น
เมื่อจิตรู้ความเป็นจริงแท้ว่า สมมุติทั้งหลายนั้น เป็น "อนัตตา" คือ ว่างเปล่า ไม่ใช่อัตตาตัวตน ไม่ใช่ของของตน เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับสลายไป
จิตก็ละสมมุติได้ เป็นวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากความทุกข์
พระพุทธองค์ตรัสว่า "โลกนี้ไม่มีอะไร นอกจากทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป และทุกข์อื่นใดเสมอด้วยขันธ์ ๕ นั้นไม่มี"
ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ ร่างกาย และจิตใจ ของเรานั้น "เป็นมรดกของกิเลสตัณหา" เป็นกองทุกข์
ขันธ์ ๕
ไม่ว่าในอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายใน ภายนอก
ใกล้ ไกล ดี เลว หยาบ ประณีต เป็นของปลอม เป็นเท็จ เป็นความหลอกลวง
เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่อัตตาตัวตน มิใช่ของของตน เป็น "อนัตตา"
คือเป็นของที่ว่างเปล่าจากตัวตนนั่นเอง
พระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ให้เรายึดมั่นถือมั่นขันธ์ ๕
และทุกสรรพสิ่งที่เป็นของสมมุติทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟราคะ ร้อนเพราะไฟโทสะ ร้อนเพราะไฟโมหะ
ถ้าเรายึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก เมื่อสิ่งนั้นผันแปรไปเราก็จะทุกข์มาก ยึดถือน้อยทุกข์น้อย ไม่ยึดถืออะไรเลย ก็ไม่มีทุกข์เลย เหมือนเราแบกของหนักไว้บนบ่า
มันย่อมหนักเป็นธรรมดา พอวางลงมันก็เบา หรือเราจับไฟมันร้อน ถ้าไม่ปล่อย มันก็ไหม้มือเรา ฉันใด
ก็ฉันนั้น
ร่างกาย และจิตใจ นั้นเป็นเราเป็นของของเราโดยสมมุติเท่านั้น โดยปรมัตถสัจจะแล้ว
เป็นของว่างเปล่าจากตัวตน และเป็นของของตน
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านสอนว่าเมื่อเราอยู่กับสมมุติ ต้องทำความรู้จักสมมุติ เข้าใจสมมุติ ทำกับสมมุติให้ถูก ปฏิบัติต่อสมมุติให้เป็น
เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้สมมุติทั้งหลายเหล่านั้น และในขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดในสมมุตินั้น "เมื่อละสมมุติได้
ก็เป็นวิมุตติ คือหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง"
ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ว่างแล้ว สิ่งนั้นไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษนั้นไม่มี และภพชาติก็จะมีสืบต่อไปไม่รู้จบ “เกิดทุกชาติ ทุกข์ทุกชาติ” ความสุขที่ได้รับ ในแต่ละภพแต่ละชาตินั้น มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
และมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการ
พระพุทธเจ้าพระผู้รู้แจ้งโลก
ทรงสอนให้เรา ละความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เมื่อนั้นเราก็จะสามารถเข้าถึงจิตเดิมแท้
อันบริสุทธิ์ผ่องใส และกำจัดความหลง
อันเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของยากยิ่งนัก
โอกาสเกิดมาพบพระพุทธศาสนานั้นก็เป็นของยากมากเช่นกัน ผู้มีความศรัทธา
และน้อมนำเอาพระธรรมไปปฏิบัติตามเพื่อการพ้นทุกข์ ก็หาได้ยากมาก
และจะต้องเป็นผู้ที่ได้สั่งสมบุญวาสนาบารมีมาก่อนเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็จะกลายเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง
เช่นเชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ สร้างทุกสรรพสิ่งไป
ก็ไม่คิดช่วยตนเองปลดปล่อยตนเองให้พ้นทุกข์ เฝ้ารอแต่พระเจ้าจะดลบันดาลให้ หรืออ้อนวอนขอให้พระเจ้าช่วย
คนส่วนใหญ่ในโลก ต่างก็อ้อนวอนขอให้เทพเจ้า
หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ เมื่อมีปัญหาหรือมีความทุกข์เดือดร้อนใดๆ เกิดขึ้น แต่ทำไมบางคนจึงสำเร็จสมความปรารถนา แต่บางคนผิดหวัง
ไม่ได้รับสิ่งที่ตนปรารถนาต้องการ ก็เพราะบุคคลนั้น มิได้สร้างสมบุญกุศล
หรือสร้างบารมีไว้ก่อนนั่นเอง
เนื่องจากไม่รู้จัก ผู้สร้างที่แท้จริง
คือจิตของเรานั่นเอง
ทำให้ไม่สามารถหาทางออกจากทุกข์ในวัฏสงสารที่ถูกต้องได้ การเกิดในชาตินั้นก็กลายเป็นหมัน
หรือเป็นโมฆะไป ไม่ก่อประโยชน์สุขอันใดให้กับตน แม้จะเกิดมาพบพระพุทธศาสนา
ก็จะเหมือนกับ "วานรได้แก้ว ไก่ได้พลอย กบเฒ่าเฝ้ากอบัว" ไป ฉันใด ก็ฉันนั้น เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากพระพุทธศาสนาเลย น่าเสียดาย !!!....
สาธุ
ตอบลบ