วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

อมตธรรมคำสอน...หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน


อมตธรรมคำสอน

(หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

            ๑. กิเลสเกิดที่จิต นิพพานก็เกิดที่จิต กิเลสเป็นอกาลิโก  ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นอกาลิโกเช่นกัน กิเลสไม่ตาย เราตาย   
         ผลงานของกิเลสก็คือความทุกข์ มรดกของกิเลสก็คือความทุกข์ อยู่กับกิเลสอย่างหยาบเหมือนถูกภูเขาทับ อยู่กับกิเลสอย่างกลางเหมือนถูกเสี้ยนหนามตำ อยู่กับกิเลสอย่างละเอียดเหมือนผงเข้าตา 

            ๒. ธรรมเป็นของจริง กิเลสเป็นของปลอม สังขารเกิดเพราะมีอวิชชาหนุน อวิชชาเป็นรากเหง้าต้นตอของกิเลส  ซึ่งละเอียดลออมาก แบบมองไม่เห็น คิดไม่ถึง ดูก็ไม่รู้ 

            ๓. กิเลสมันจรมาเคลือบจิต แฝงอยู่ในจิต เป็นของปลอม เป็นสิ่งหลอกลวง กิเลสทุกประเภทไม่อาจอยู่เหนือสติปัญญา กิเลสผาดโผนต้องใช้สติปัญญาผาดโผน 
          กิเลสทันสมัย ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ทันสมัยเช่นกัน เพราะเกิดได้ทุกกาลเวลา

            ๔. ขันธ์ ๕ เป็นเครื่องใช้ของกิเลส เราต้องเปลี่ยนเอามาเป็นเครื่องมือปราบกิเลส  
          สังขาร เป็นทั้งสมุทัย(ปรุงแต่งเหตุแห่งทุกข์) เป็นทั้งมรรค (คือเครื่องมือประหัตประหารกิเลส) สัญญาละเอียดกว่าสังขารมาก เป็นเครื่องมือของกิเลส

            ๕. อย่าปล่อยให้กิเลสมาเหยียบพระนิพพานให้จมหายไป และอย่าให้กิเลสสลัดธรรมออกไป เหมือนสาดน้ำใส่หลังหมา หรือหมาโดนฝน มันจะสลัดน้ำออกจากขนของมันทันที และอย่าเอากิเลสมาเป็นอารมณ์  
         จงเอาใจเราคืนมาจากกิเลส อย่าปล่อยให้ใจเป็นบัลลังก์หนังหมาเน่า ให้กิเลสนั่งบัญชาการต่อไป   
          เอาใจของเราเป็นบัลลังก์แก้ว รองรับคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์ ก็จะพบกับอมตธาตุ อมตธรรม

           ๖. ปริยัติเปรียบดังแบบแปลนสร้างบ้าน  ปฏิบัติเปรียบดังการลงมือสร้างบ้าน ปฏิเวธเปรียบดังการเข้าไปอยู่ในบ้านเรียบร้อยแล้ว

            ๗. จิตไม่เสื่อมเป็นผลของการภาวนา  บุญทุกอย่างที่สร้างไว้ทุกภพทุกชาติ มารวมตัวอยู่ที่การภาวนา  เห็นได้จากการภาวนา  
          จิตนี้ไม่มีตาย เชื้อของภพชาติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ อวิชชาเป็นรากฐานสำคัญ
 
            ๘. การมองเห็นร่างกายเป็นสุภะ(งาม) หรืออสุภะ(ไม่งาม) คือการหลอกลวงของจิต จิตหลอกจิตของตนให้หลง เป็นอวิชชา

            ๙. เรามองเห็นโลกว่างไปหมด แต่ตัวเรายังไม่ว่าง ยังมีตัวมีตนอยู่ แล้วจะว่างจริงๆ ได้อย่างไร   
          เราคิดว่าจิตของเราว่างแล้ว เหมือนเราเข้าไปอยู่ห้องว่างนั่นแหละ เห็นห้องว่าง แต่ตัวเราไปขวางอยู่ในห้องนั้น จะว่างได้อย่างไร อวิชชายังมีอยู่เต็มหัวใจ  
          อวิชชาเป็นจอมกษัตริย์ครองไตรภพ จิตที่บริสุทธิ์แล้ว แม้แต่เงาของสมมุติก็ไม่ปรากฏ

            ๑๐. อัตตาตัวตนมี โลกจึงมี ถอนอัตตาตัวตนออกเสีย โลกก็ว่างไม่มี  
          ดังพระพุทธเจ้าตรัสสอนพระโมฆราชว่า "ดูก่อนโมฆราช ! เธอจงมีสติมองเห็นโลกนี้เป็นของว่างทุกเมื่อ แล้วถอนอัตตาตัวตนเราเขาออกเสีย เมื่อนั้นมัจจุราชก็มองไม่เห็นเธอ"  
         ดังนั้น จงปล่อยทั้งภายใน ปล่อยทั้งภายนอก วางทั้งภายใน วางทั้งภายนอก ว่างทั้งภายใน ว่างทั้งภายนอก เข้าสู่ธรรมธาตุ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม พ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง
 
          ๑๑. สมาธิเป็นเครื่องสงบใจ ส่วนเรื่องการปล่อยวาง เป็นเรื่องของปัญญา ละกามราคะได้ เป็นพระอนาคามี ละอวิชชาได้ เป็นพระอรหันต์


            ๑๒. จิตที่ตั้งไว้ผิด จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรายิ่งกว่าศัตรูคู่เวร ไม่มีใครทำร้ายเราได้มากเท่ากับเราทำร้ายตนเอง  ไม่มีใครต้มตุ๋นเราเท่ากับเราต้มตุ๋นตนเอง  ไม่มีใครหลอกลวงเราเท่ากับเราหลอกลวงตนเอง ก็คือกิเลสหลอกจิตนั่นเอง 
          จิตถูกครอบงำด้วยอวิชชา ต้องใช้สติปัญญากำจัด เพราะอวิชชาเป็นกิเลสที่ละเอียด และแหลมคมมาก ต้องใช้สติปัญญาคอยปกปักรักษาตลอดเวลา
 
            ๑๓. อวิชชาเปรียบเสมือนโจร และเป็นหัวหน้าโจรแอบซ่อนอยู่ภายในจิต และคอยปล้นจิตอยู่ตลอดเวลา ต้องใช้สติปัญญาเป็นองครักษ์พิทักษ์รักษาจิต


        ๑๔. การพิจารณาปฎิจจสมุปบาท เป็นอุบายให้เกิดปัญญา เห็นสังขารปรุงแต่ง เพราะอวิชชาความไม่รู้ทุกสรรพสิ่งที่อยู่รอบล้อมตัวเรา เมื่อรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงแล้ว(คือ อนิจจจัง ทุกขัง อนัตตา) ก็หยุดการคิดปรุงแต่ง (สังขาร) จิตก็ว่าง... เพราะหมดงานทำแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป (ไม่มีกิจอื่นต้องทำอีก)..... 



            ๑๕. อดีตก็รู้เท่า อนาคตก็รู้ทัน ปัจจุบันก็ไม่ยึดติด ในสิ่งที่เราได้  สิ่งที่เรามี  สิ่งที่เราเป็นนั้น ซึ่งเป็นผลงานของจิตสร้างสรรค์ปั้นแต่งขึ้นด้วยอำนาจของกรรมดี หรือกรรมชั่ว บุญหรือบาป  จึงมีผลเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง 
        ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง เมื่อมีฐานแห่งธรรมเป็นเครื่องรองรับภายในใจอยู่แล้ว



            ๑๖. ทุกอย่างเกิดที่จิต และดับที่จิต ไม่มีอะไรจริงเท่ากับจิต ไม่มีอะไรปลอมยิ่งกว่าจิต ไม่มีอะไรดีเท่ากับจิต ไม่มีอะไรเลวยิ่งกว่าจิต ไม่มีอะไรละเอียดเท่ากับจิต ไม่มีอะไรร้อนเท่ากับจิต และไม่มีอะไรเย็นยิ่งกว่าจิต และไม่มีอะไรวิจิตรพิสดารเท่ากับจิต
 


            ๑๗. อานิสงส์ของการฟังธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ได้ยินได้ฟังสิ่ง ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เข้าใจสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วชัดเจนดียิ่งขึ้น บรรเทาความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ถูกต้อง และจิตผู้ฟังย่อมสงบผ่องใส เมื่อจิตสงบผ่องใส รสของธรรมก็จะปรากฏขึ้นที่ใจ นักปฏิบัติธรรมนั้น จึงมีการฟังธรรมเป็นสำคัญ 



            ๑๘. ให้มีสติรักษาธรรม ให้ธรรมรักษาใจ กิเลสกลัวธรรม ถ้าธรรมมากิเลสหมอบ แต่ถ้าธรรมไม่มีกำลังจะฆ่ากิเลสไม่ได้ ธรรมต้องมีกำลังเหนือกิเลส จึงจะฆ่ากิเลสได้ 


            ๑๙. อยากให้กิเลสหลุดลอยไป ต้องบวชใจตนเองโดยการละเว้นสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อจิตใจ มีอารมณ์เป็นสำคัญ สมุทัยก็ไม่ใช้อารมณ์ทางใจที่แสดงออกมา ตัวสมุทัยคืออวิชชา กิริยาที่แสดงออกมา ก็แสดงออกมาโดยทางอารมณ์


            ๒๐. การพิจารณาอสุภะ อสุภังนี้ เป็นไปโดยลำดับ จนกระทั่งถึง อนัจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งส่วนหยาบ ส่วนกลาง ส่วนละเอียด ปัญญาจะเดินตลอดทั่วถึงไปหมด เช่นรูปขันธ์ ที่เคยเห็นว่าสวยงามน่ารักใคร่ ชอบใจ กำหนัดยินดี ตามที่กิเลสมันเสี้ยมสอนมา ตั้งแต่กาลไหนๆ ทำสัตว์โลก ให้หลง ให้ตื่นไม่มีวันอิ่มพอ..ใช้ปัญญาสอดแทรกเข้าไปตรงนั้น จนพิจารณาหาความสวยความงามไม่ปรากฏ มีแต่อสุภะอสุภัง เต็มเนื้อเต็มตัว จนกระทั่งว่าราคะนี้ไม่ปรากฏค่อยๆ หมดไปๆ 


            ๒๑. ค้นหาความตาย "จิตเป็นอมตัง"(อมตะ คือไม่ตาย) ทั้งที่มีกิเลส และสิ้นกิเลสแล้ว ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไม่ตาย เมื่อหมดลมหายใจ ดินก็กลับไปเป็นธาตุดินตามเดิม น้ำก็กลับไปเป็นธาตุน้ำตามเดิม ลมก็กลับไปเป็นธาตุลมตามเดิม  ไฟก็กลับไปเป็นธาตุไฟตามเดิม
          
         

คุณของพระพุทธศาสนาที่คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่รู้จัก

คุณของพระพุทธศาสนา
ที่คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่รู้จัก
(โดย..ธรรมทายาท)


พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย อันเป็นเอกลักษณ์ และมรดกของชาติ ที่บรรพบุรุษของเรา ได้ช่วยกันทะนุบำรุงรักษาไว้ ให้เป็นหลักยึดเหนี่ยว ที่ดีงามทางด้านจิตใจ มาเป็นระยะเวลาอันยาวนานร่วมพันปี

วัฒนธรรมไทยที่มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนา ทั้งรูปธรรม และนามธรรมนั้น ล้วนเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ ได้บ่งบอกถึงการเป็นชนชาติที่เจริญ มีวัฒนธรรมที่ดีงาม มาช้านาน ทำให้ต่างชาติ ไม่คิดดูถูก ดูหมิ่น ได้ว่าชนชาติไทยไม่มีอะไรดี หรือไม่มีดีอะไร ที่จะมอบให้เป็นมรดกแก่ชาวโลก

หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระศาสดาที่ทรงความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจนั้น ล้วนเป็นความจริงอันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุดที่จะช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้จริง และยังนำสันติภาพมาสู่สังคมมวลมนุษยชาตินี้เอง ที่ปวงชนชาวไทย ได้ช่วยกันพิทักษ์รักษา อุปถัมภ์ค้ำชูไว้ มอบให้เป็นมรดกโลก ด้วยความภาคภูมิใจ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลก ที่เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก จากหนังสือ “ไอน์สไตน์ ในพุทธปรัชญา” ของธนู แก้วโอภาส กล่าวถึง ไอน์สไตน์ ได้กล่าวยกย่องพระพุทธศาสนาไว้ว่า “เป็นศาสนาที่พัฒนาก้าวพ้นไปจากความกลัวในยุคแรก และเป็นศาสนาของศีลธรรมในยุคต่อมา มาเป็นศาสนาสูงสุด เป็นศาสนาสากลจักรวาล (Cosmic Religious Feeling )

เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุ และผล ปลดปล่อยให้มนุษย์เป็นอิสระจากความทุกข์ เป็นศาสนาที่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นระเบียบ สอนให้มนุษย์ มีประสบการณ์จริง สูงสุดของเอกภพ

และยังกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ความรู้สึกทางศาสนาสากลจักรวาลนี้เอง เป็นแรงจูงใจที่แข็งแกร่งที่สุด และประเสริฐที่สุด สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์” ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสสาร และพลังงาน การกำเนิดเอกภพ และจักรวาลที่เราอาศัยอยู่ ได้รับแนวคิด และอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

พระพรหมคุณาภรณ์( ป.อ. ประยุทธ์ ปยุตฺโต)พระภิกษุผู้รอบรู้พระไตรปิฏก ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความงามทั้งภายใน และภายนอก ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่ามากมาย ได้รับนิมนต์ไปแสดงปาฐกถาธรรม ตามหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับของนานาชาติจนได้รับยกย่อง “เป็นปราชญ์แห่งสยาม” ท่านได้รับรางวัล บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา และสันติภาพ” จากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (Unesco ) ในปีพ.ศ. 2537 นับว่าเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลนี้ จึงเป็นการสร้างเกียรติประวัติให้แก่พระพุทธศาสนา และประเทศไทยเป็นอย่างมาก นำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทั้งชาติ

องค์การสหประชาชาติได้ตระหนัก และเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมคำสอนมุ่งให้มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าชาติศาสนาใด ตลอดไปถึงสรรพสัตว์ทั้งปวงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงได้มีมติประกาศให้วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นวันสำคัญสากลของโลก นับเป็นศาสดาองค์เดียวในโลก ที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้ ทั้งๆที่ สมาชิกขององค์การสหประชาชาติส่วนใหญ่ ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ได้ให้การยอมรับ และยกย่องพระพุทธศาสนา

 ปัจจุบันมีชาวตะวันตกจำนวนมาก ได้หันมาศึกษาพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรม ในสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมากมาย ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้จักคุณค่าของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะแก่นของพระพุทธศาสนา หลงยึดติดอยู่ในวัตถุนิยม ตามกระแสโลก จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย และน่าเศร้าใจเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระพุทธศาสนานั้นจะไม่เสื่อมเพราะการกระทำของศาสนาอื่น หรือคนภายนอกพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญสิ้นไป เพราะ พระพุทธศาสนิกชน คือ พุทธบริษัท 4 ได้แก่ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ไม่เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ตรัสสอนไว้”

  ดังนั้น พุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกคนควรร่วมแรง ร่วมใจกัน แสดงความกตัญญู รู้คุณบรรพบุรุษของชาติ ผู้มีความปัญญาฉลาดหลักแหลม ที่ได้คัดเลือกศาสนาที่ดีที่สุดไว้ให้แก่เรา โดยการพร้อมใจกันปฏิบัติบูชาคุณพระรัตนตรัย ด้วยการรักษาศีล เจริญสมาธิ และปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ และทรงยกย่องว่าเป็นการบูชาที่ประเสริฐสูงสุด เพราะพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาอย่างยิ่งยวด เป็นเวลาอันยาวนาน ด้วยปรารถนาช่วยทุกสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสาร ด้วยพระมหาเมตตา และพระมหากรุณาที่ยิ่งใหญ่ สุดที่จะประมาณได้ของพระพุทธองค์ ช่วยให้พระพุทธศาสนา มีความเจริญรุ่งเรือง ในผืนแผ่นดินไทย สืบไปยังชนรุ่นลูก รุ่นหลาน ตราบนานเท่านาน พุทธศาสนิกชนทุกคนจึงไม่ควรพากันละเลย เพิกเฉย ทอดทิ้งพระพุทธศาสนากันอีกต่อไป  ..…




วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้อคิดจากหลวงพ่อชา สุภัทโท ...www.watnongpahpong.org



ข้อคิดจากหลวงพ่อชา สุภัทโท

(พระโพธิญาณเถร )

ตอนที่ ๑  การสอนพระฝรั่ง


เรื่องที่มีญาติโยมสงสัยกันมากคือ เมื่อเข้ามาในวัดป่าพงจะเห็นพระฝรั่งเดินไปเดินมาอยู่ ในวัดจึงสงสัยว่า "หลวงพ่อสอนพระฝรั่งอย่างไร พระฝรั่งจะอยู่ร่วมกับพระไทยอย่างไร เพราะความเป็นอยู่คุ้นเคยมาต่างกัน" จนบางครั้งหลวงพ่อก็คลายสงสัยเขา โดยการถามเขาว่า "บ้านโยมเลี้ยงหมา แมวไหม"

เขาตอบว่า "เลี้ยงอยู่ครับ"

ท่านกล่าวว่า "โยมเลี้ยงหมาต้องพูดภาษาหมาไหมล่ะ ?  พระฝรั่งก็เช่นกันมิได้แตกต่างจากพระไทยเลย ท่านมาบวชเพื่อแสวงหาหนทางดับทุกข์เหมือนกัน  ใหม่ๆ ก็อาจมีความรู้สึกว่า ภาษาเป็นอุปสรรคกั้น อยู่ไปๆ ก็สบาย เช่น พระฝรั่งมาใหม่ๆ ฉันอาหารก็ไม่ลง อยู่ไปๆ บางองค์ฉันปลาร้าเก่งกว่าพระไทยอีก"




ตอนที่ ๒  การตอบปัญหา 


พวกเราเคยสงสัยว่า ทำไมหลวงพ่อตอบได้หลายปัญหา เช่น ครั้งหนึ่ง ท่านได้รับนิมนต์ให้ฉันภัตตาหารในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหลวงพ่อกลับมาเล่าให้ฟังว่า "มีพระ 9 รูป เป็นพระป่า 3 รูป หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวรถวายเทศน์แล้ว สมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถได้ถวายจตุปัจจัยองค์ละสองหมื่นห้าพันบาท ส่วนองค์เทศน์ถวายห้าหมื่นบาท"

ภายหลังเทศน์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงนิมนต์พระป่าเพื่อซักถามปัญหาส่วนพระองค์ ปีนั้นเป็นปีที่บ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย นักศึกษากำลังมีเรื่องประท้วงกับรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถามพระป่าทั้งสามรูปถึงปัญหาของบ้านเมือง และทรงถามความเห็นว่า "ท่านควรจะวางพระองค์อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้"  พระอีกสองรูปให้วางอุเบกขา แต่ไม่ได้อธิบายอะไรต่อ   
     ครั้นมาถึงหลวงพ่อ ท่านก็ตอบว่า "การวางเฉยนั้นต้องมีปัญญาเข้าประกอบด้วย การวางเฉยอย่างมีปัญญาจะต้องศึกษาว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร ควรใช้สติปัญญา พิจารณาถึงการควร การไม่ควร" ท่านเล่าว่าพอตอบเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล

การเล่าเรื่องต่างๆ นี้ หลวงพ่อไม่เคยปิดบัง พบเห็นอะไรมาก็นำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง ปกครองเหมือนพ่อกับลูก ดังนั้นเมื่อลูกศิษย์ถามว่า "ท่านใช้หลักใดตอบปัญหา" ท่านก็บอกว่า "ปัญหาก็คือปัญหา การตอบก็ไม่ได้ตั้งจิตว่า ต้องการเอาแพ้หรือเอาชนะ แต่ก็ใช้จิตหยั่งสภาวะดู แล้วใช้ปัญญาตอบไปโดยธรรม ให้ตั้งพรหมวิหารธรรมไว้ในใจอยู่เสมอ และสอดแทรกธรรมแห่ง การปฏิบัติลงไปเท่าที่จะเป็นได้"



ตอนที่ ๓ แลกทุกข์กันไหม


วันหนึ่ง ขณะที่ธุดงค์ไปพักที่วัดถ้ำแสงเพชร ซึ่งอยู่ไกลจากอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พอสมควร ปรากฏว่า มีโยมอุปัฏฐากที่เป็นผู้มีหน้ามีตาของอำเภอ และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติ มานั่งร้องไห้ต่อหน้าหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ยังคงนั่งเฉยอยู่ จนเมื่อโยมได้สร่างโศกลงบ้าง ท่านก็ถามว่า "เป็นอะไรล่ะ จึงนั่งร้องไห้" โยมผู้นั้นเล่าว่า รถที่เพิ่งซื้อมาใหม่ถูกขโมยไปแล้ว แต่หลวงพ่อก็นั่งเงียบ เผอิญก็มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมาพร้อมกับญาติ พอกราบหลวงพ่อเสร็จก็ร้องไห้ เป็นวรรคเป็นเวรเช่นกัน หลวงพ่อนั่งคอยจนเขาพอพูดได้ ก็ถามด้วยคำถามเดิมว่า "เป็นอะไรไปล่ะ"

เขาก็ตอบว่า "เมียตายสองคน ลูกตายสองคน" (เผอิญชายคนนี้มีภรรยาสองคนอยู่ในบ้าน เดียวกัน) หลวงพ่อก็ถามต่อว่า "เป็นอะไรตายล่ะ" โยมผู้ชายก็ตอบว่า "กินเห็ดเบื่อตาย"

หลวงพ่อหันไปถามโยมผู้หญิงที่ยังน้ำตาซึม แต่ก็นั่งเงียบฟังโยมผู้ชายเล่าอยู่ด้วยและพูดว่า "แลก กันไหมล่ะ ดูซิ ของเขาลูกเมียตายตั้งสี่คน ของโยมรถหายคันเดียว โลกนี้เป็นอย่างนี้ แหละ มีความปรารถนาอะไรแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่อยากให้รถหาย มันก็หาย ไม่ อยากให้ลูกเมียตาย ก็ตาย ใครจะห้ามได้ ชีวิตทุกชีวิตเป็นอย่างนี้แหละ ใครอยากล่ะ โยม อยากให้รถหายไหม โยมอยากให้ลูกเมียตายไหม"

ทั้งคู่ก็ตอบรับหลวงพ่อว่า "ไม่อยากค่ะ (ครับ)"

หลวงพ่อกล่าวต่อไปว่า "เป็นอย่างนี้แหละ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ให้เราพิจารณาดู ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราไม่หนีมัน มันก็หนีเรา คนก็เหมือนกัน เราไม่จากเขา เขาก็จากเรา มันอยู่ที่ ใครไปก่อนใครเท่านั้นเอง บางทีวัตถุก็ไปก่อนเรา บางทีเราก็ไปก่อนวัตถุ บางทีคนใกล้ชิดเราเขาก็ไปก่อน บางทีเราไปก่อนเขา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของกรรม" 
   ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เราย่อมมีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นผู้ติดตาม ให้ผล ไม่ว่าบุญหรือบาป ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องรับกรรมนั้นโดยแน่นอน

สำหรับโยมผู้ชายนั้นโยมผู้หญิงกับลูกเขาทำกรรมกับเรามาแค่นี้ เขาตายไปเขาก็ไม่ขอ อนุญาตเรา ไม่บอกเรา ไม่ได้เขียนใบลา เขาก็ตายไป โยมผู้หญิงก็เช่นกัน รถคันนี้มันทำกรรมกับโยมมาแค่นี้ รถมันก็ไม่บอกเราก่อนว่ามันจะถูกขโมยแล้วนะ อยู่ๆ มันก็หายไป ดังนั้นให้เราเห็นว่า เป็นธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่หนีมัน มันก็หนีเรา เราเกิดมาเป็นอะไร เกิดที่ไหน เกิดมากี่ครั้งๆ โลกก็เป็นเช่นนี้ เราเองต่างหากที่ไปอุปาทานว่า นี่รถของเรา นี่ลูก นี่เมียของเรา รถมันไม่เคย บอกนะว่ามันเป็นของเรา เราไปซื้อมันมาตกแต่ง มารักมันเอง ที่จริงรถมันไม่ได้เป็นของใคร

มันเป็นของธรรมชาติที่ไหลไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์ไปสมมุติขึ้นมา แล้วยึดว่าเราเป็นเจ้าของ  เมื่อมันหายไปให้เราคิดว่า นั่นเป็นการคืนกลับสู่ธรรมชาติ โยมผู้ชายก็เหมือนกัน ลูกเมียก็เสียไปแล้ว พิจารณามองให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่พอสร่างโศกก็ไปหามาใหม่ เป็นการเพิ่มทุกข์ขึ้นมาอีก เราควรทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ทำภาวนา แผ่ให้ผู้ตายบ้าง เราเองก็ต้องตาย ไม่แน่ว่าเมื่อไร ขอให้เข้าใจสัจธรรมของธรรมชาติ

หลวงพ่อกล่าวเป็นสังเขปพอให้โยมสร่างทุกข์ หน้าที่ของพระก็คือ แก้ไขทุกข์ โดยคิดว่า ทุกคนเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น เมื่อกล่าวไปแล้วก็ไม่ได้คิดปรุงว่า จะแก้ได้หรือไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีคำตอบอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ผู้มีปัญญาก็จะค้นหาคำตอบของปัญหาของเขาเองได้ในที่สุด

 

จากเว็บไซต์ของวัดหนองป่าพง www.watnongpahpong.org


วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

เครื่องมือเผากิเลส...ธรรมทายาท



เครื่องมือเผากิเลส

(ธรรมทายาท)


เราเกิดมาพร้อมกับโจร อยู่กับโจร โจรคือกิเลส หัวหน้าโจรคือ อวิชชา  อาวุธประหารโจร เผาโจรให้สิ้นซาก คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

ศีลเผากิเลสอย่างหยาบ(ที่ล้นออกมาทำให้กระทำความชั่วทางกาย และวาจา)  สมาธิเผากิเลสอย่างกลาง(ที่หมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องที่เป็นพิษเป็นภัยแก่จิตใจของตนเอง) ปัญญาเผากิเลสอย่างละเอียด(ความหลงหรือความไม่รู้แจ้งชัดในอริยสัจ ๔)

เมื่อมีสติกำกับกาย วาจา ใจอยู่เสมอ ย่อมเห็นโจร สกัดกั้นโจร  ประหารโจร  เผาทำลายโจรได้  ก่อนที่โจรจะทำร้ายเรา  ทำให้เราตายจากมรรคผลนิพพาน