วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กฎไตรลักษณ์ .. พระธรรมปิฎก



 กฎไตรลักษณ์
(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)
  
กฎไตรลักษณ์ คือ กฎธรรมดาโลก ได้แก่  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ทุกสรรพสิ่งไม่ว่า เป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของกฎไตรลักษณ์หมด คือ ไม่เที่ยง(เปลี่ยนแปลง) เป็นทุกข์ (ทนได้ยาก) ไม่มีตัวตน(อนัตตา-ว่างเปล่า) ไม่มีอะไรที่จะยึดถือเอาเป็นเรา เป็นของของเรา

การยอมรับความจริงตามกฎไตรลักษณ์ หรือกฎธรรมดาโลกนี้ ด้วยปัญญา เพราะความรู้แจ้ง เห็นจริงแล้ว ก็สามารถปล่อย ละ วาง การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ ทุกข์ก็ดับไป  ไม่มีสิ่งใดเข้ามาครอบงำจิตใจให้เป็นทุกข์ได้





นิวรณ์ ๕ .. พระธรรมปิฎก



นิวรณ์
(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) 

นิวรณ์ คือ ธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุความดี  หรือสิ่งกีดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม ในการปฏิบัติธรรม  นิวรณ์เป็นอกุศลธรรม (เป็นกิเลส)  ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง และทำปัญญาให้อ่อนกำลัง  มี ๕ ประการ คือ 

          ๑. กามฉันทะ คือ พอใจ ความต้องการในกามคุณได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนา
          ๒. พยาบาท คือ คิดร้ายผู้อื่น ความขัดเคืองแค้นใจ เกลียดชัง มองผู้อื่นเป็นศัตรู
          ๓. ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ซึมเซา เซง ท้อแท้ โงกง่วง ง่วงเหงา หาวนอน
          ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน ร้อนใจ รำคาญใจ กระวนกระวาย กลุ้มกังวลใจ
          ๕. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจในคุณพระรัตนตรัย







พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ..พระธรรมปิฎก



พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา 
(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)


พระพุทธองค์ตรัสแก่เหล่าพระสาวกว่า ศาสนาใดไม่มีหลักคำสอนอันประกอบด้วย มรรคมีองค์แปด ศาสนานั้นจะไม่มีอริยบุคคล ๔ จำพวกนี้ ได้แก่
๑. พระโสดาบัน แปลว่า ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่พระนิพพาน สามารถตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ได้ ๓ ข้อ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส  สำหรับฆราวาส จะรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ มีความเคารพพระรัตนตรัยมั่นคงไม่หวั่นไหว และมีใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ มี ๓ ระดับ คือ
๑.๑ พระโสดาบันเอกพิชี   จะเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งเดียวก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
๑.๒ พระโสดาบันโกลังโกละ  จะเวียนว่ายตายเกิดระหว่างเทวโลก และมนุสสโลก อีก ๓ ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์
        ๑.๓ พระโสดาบันสัตตักขัตตุงปรมะ   จะเวียนว่ายตายเกิดระหว่างเทวโลก และมนุสสโลก อีก ๗ ชาติ ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

๒. พระสกทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว สามารถตัดสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๓ ข้อ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่มีกิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะ เบาบางกว่าพระโสดาบัน เกิดในมนุสสโลกหรือเทวโลกอีกชาติเดียวก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

๓. พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่เวียนกลับมาสู่โลกนี้อีก เมื่อละสังขารแล้วก็จะไปจุติที่พรหมโลก และเข้าสู่พระนิพพานที่พรหมโลก พระอนาคามีละสังโยชน์เบื้องต่ำได้หมดทั้ง ๕ ข้อ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ พระอนาคามีแบ่งเป็น ๕ ระดับ ตามกำลังของอินทรีย์ ๕ ได้แก่
๓.๑ พระอนาคามีผู้มี “ศรัทธา” แก่กล้า - เมื่อสิ้นชีวิตจะไปจุติในพรหมโลกชั้นอวิหา บำเพ็ญเพียรต่อ เลื่อนขั้นไปสู่พรหมโลกชั้นต่อไปจนถึงอกนิฏฐาพรหมนิพพานชั้นนี้
๓.๒ พระอนาคามีผู้มี “วิริยะ” แก่กล้า  เมื่อสิ้นชีวิตจะไปจุติในพรหมโลก ชั้นอตัปปา และนิพพานในชั้นนี้
๓.๓ พระอนาคามีผู้มี “สติ” แก่กล้า   เมื่อสิ้นชีวิตจะไปจุติในพรหมโลกชั้นสุทัสสา และนิพพานในชั้นนี้
๓.๔ พระอนาคามีผู้มี “สมาธิ” แก่กล้า   เมื่อสิ้นชีวิตจะไปจุติในพรหมโลก ชั้นสุทัสสี และนิพพานในชั้นนี้
๓.๕ พระอนาคามีผู้มี “ปัญญา” แก่กล้า  เมื่อสิ้นชีวิตจะไปจุติในพรหมโลกชั้น ๑๖ คือ อกนิษฐาพรหม และนิพพานในชั้นนี้

๔. พระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคลในระดับสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ดับเพลิงกิเลส ซึ่งเป็นเชื้อแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้หมดโดยสิ้นเชิง เมื่อละสังขารแล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน พระอรหันต์สามารถละสังโยชน์เบื้องสูงได้ทั้งหมด ๑๐ ข้อ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

พระอรหันต์แบ่งตามความรู้ ความสามารถ ได้ ๔ ประเภท คือ
๔.๑ พระสุขวิปัสสก  ผู้บรรลุพระอรหันต์จากการเจริญวิปัสสานาล้วนๆ ไม่มีฤทธิ์มีเดชใดๆ มีแต่ความรู้ละกิเลส คือ อาสวขยญาณ

๔.๒ พระเตวิชชะ (ได้วิชาสาม) มีคุณลักษณะดังนี้
๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ  มีความรู้ทำให้ ระลึกชาติได้
๒) จุตูปปาตญาณ  มีความรู้การจุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๓) อาสวขยญาณ  มีความรู้ที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

๔.๓ พระฉฬภิญญะ(ผู้ได้อภิญญา ๖) มีคุณลักษณะดังนี้
๑) อิทธิวิธี  มีความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒) ทิพโสต   มีญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
๓) เจโตปริยญาณ   มีญาณที่ทำให้กำหนดรู้ใจคนอื่นได้
๔) ปุพเพนิวาสานุสติ   มีญาณทำให้ ระลึกชาติได้
๕) ทิพพจักษุ  มีญาณทำให้มีตาทิพย์
๖) อาสวขยญาณ  มีญาณที่ทำให้อาสวะกิเลสสิ้นไป

๔.๔ พระปฏิสัมภิทัปปัตตะ   ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ มีคุณลักษณะดังนี้

๑) อัตถปฏิสัมภิทา   แตกฉานในอรรถ ในธรรม เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายได้อย่างพิสดาร และเชื่อมโยงต่อออกไป จนล่วงรู้ถึงเหตุผล
๒) ธัมมปฏิสัมภิทา   มีปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก อธิบายได้อย่างพิสดาร สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้ หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่งสามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้
๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา  มีปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่าง ๆ เข้าใจ ใช้คำพูดให้ผู้อื่นเข้าใจ และเห็นตามได้
๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  มีปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ ซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงสร้างความคิด และเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณี เข้ากับเหตุการณ์