วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จิตคือผู้สร้างที่แท้จริง ๒ ...ธรรมทายาท



จิตคือผู้สร้างที่แท้จริง ๒
(สรุปโดย...ธรรมทายาท)


          ความจริงแท้ในสามโลก คือ ความว่างเปล่า ได้แก่ โลกนี้ คือโลกมนุษย์ และโลกอื่น คือนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน  สวรรค์อีก ๖ ชั้น รูปพรหม คือพรหมมีรูป ๑๖ ชั้น อรูปพรหม คือพรหมไม่มีรูปอีก ๔ ชั้น รวม ๓๑ ภพภูมิ

ทุกสรรพสิ่งในสามโลก เกิดจากจิตเดิมแท้ พระพุทธองค์ตรัสว่า "จิตเดิมแท้ของเรานั้นประภัสสร" คือ สว่างไสว และว่างเปล่า แต่เป็นเพราะมีความหลง คือความไม่รู้(อวิชชา) อริยสัจ ๔ จึงมีอุปกิเลสจร เข้ามาครอบงำ บดบังให้มืดมัว เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เหมือนหมอกเมฆมาบดบังดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ให้อับแสงไป ฉันใด ก็ฉันนั้น

โลกทั้งสามนั้น เกิดจากจิตเดิมแท้  จิตเป็นผู้สร้าง  จิตเป็นผู้ปรุงแต่ง ทุกสรรพสิ่งเกิดที่จิต และดับที่จิต  ล้วนเป็นมายา เป็นของสมมุติ  และจิตก็มาหลงติดในสมมุติ  ที่จิตสร้างขึ้น  ปรุงแต่งขึ้น
เพราะความไม่รู้ในสัจธรรมว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏมีในสามโลกเหล่านั้น ไม่ใช่ความจริงแท้  เพราะมันมีสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์  และไม่มีตัวตน ไม่ใช่อัตตา ตัวตนเราเขา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  ตามสังขารตัวปรุงแต่ง ซึ่งไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ

เมื่อจิตก็มาหลงติดอยู่ในสมมุติ  ที่จิตสร้างขึ้นเอง ปรุงแต่งขึ้นเอง และหาทางออกไม่ได้ เหมือนมดแดงไต่วนเวียนอยู่บนขอบกระด้ง และดุจแมงมุมติดใยของตนเอง ฉันใด ก็ฉันนั้น

ตัวเรามีองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือ รูป และนาม  ได้แก่ ร่างกาย และจิตใจ หรือ "ขันธ์ ๕"  ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป (แปลว่า ต้องสลายไป) คือ ร่างกาย ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ หมุนเข้า หมุนออก หรือไหลเข้า ไหลออก เต็มไปด้วยของสกปรก เน่าเหม็น และผันแปรไปสู่ความดับสลาย เป็นที่เกิด ที่ตาย ที่อยู่ ที่อาศัยของเชื้อโรคนานาชนิด ถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อใดภูมิต้านทานโรคลดลง  เชื้อโรคก็มีกำลังทำลายร่างกายได้ และทุกคน ก็หนีความแก่ เจ็บ ตาย ไม่พ้น ตายได้ทุกเพศ ทุกวัย  และตายได้ทุกกาลเวลา

นาม (เป็นอาการของจิต มีชื่อเรียกว่า เจตสิก) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เวทนา  คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง  จมูกได้รับกลิ่น  ลิ้นได้รับรส กายสัมผัสร้อนเย็นอ่อนแข็ง ใจรับธรรมารมณ์  ถ้าเป็นเวทนาทางด้านจิตใจ เกิดจากอำนาจของกิเลสตัณหา 

สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ ในสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้แก่ รูป เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์  ซึ่งมีทั้งสิ่งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา น่าชื่นชม และไม่น่าชื่นชม  น่าเพลิดเพลิน และไม่น่าเพลิดเพลิน

สังขาร คือ การคิดปรุงแต่ง ตามสัญญาในรูป เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดในจิต) มีทั้งบุญ บาป ดี ไม่ดี และกลาง ๆ คือ ไม่ใช่บุญ  ไม่ใช่บาป

 วิญญาณ คือการรับรู้ รับทราบของจิต เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้รส กายสัมผัสร้อน เย็น อ่อน แข็ง ใจรับรู้ธรรมารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "ทุกข์อื่นใดเสมอด้วยขันธ์ ๕ นั้นไม่มี"

ขันธ์ ๕  นั้นเป็นมรดกของกิเลสตัณหา ไม่ว่าในอดีต  อนาคต  และปัจจุบัน  ไม่ว่าภายใน หรือภายนอก ไม่ว่าเลวหรือประณีต ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด ไม่ว่าใกล้หรือไกล ล้วนเป็นของปลอม เป็นเท็จ เป็นของหลอกลวง  เป็นของว่างเปล่า  ไม่ใช่ตัว  มิใช่ตน  มิใช่ของของตน

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเรายึดติด ไม่ยอมปล่อยวาง เมื่อมันไม่เป็นดังใจเราปรารถนาต้องการของเรา  มันก็เป็นทุกข์  ยึดมากทุกข์มาก  ยึดน้อยทุกข์น้อย  ไม่ยึดอะไรเลย  ก็ไม่มีทุกข์เลย  ก็เหมือนเราแบกของหนักไว้บนบ่ามันก็หนัก พอวางมันก็เบา หรือถ้าจับไฟ ธรรมชาติของไฟมันเป็นของร้อน  ถ้าเราไม่ปล่อย  มันก็ไหม้มือเราให้ร้อน และเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ฉันใด ก็ฉันนั้น

ความจริงแท้ ร่างกาย และจิตใจ นั้น "เป็นเรา เป็นของของเราโดยสมมุติ" เท่านั้น  โดยปรมัตถสัจจะแล้ว  ร่างกาย และจิตใจ เป็นของว่างเปล่าจากตัวตน  ถูกจิตปรุงแต่ง(สังขาร) ขึ้นด้วยอำนาจของอวิชชา คือ ความไม่รู้ในพระสัจธรรม คืออริยสัจ ๔ นั่นเอง

เมื่อเราอยู่กับสมมุติ ก็ต้องทำความรู้จักสมมุติ เข้าใจสมมุติ ทำกับสมมุติให้ถูก ปฏิบัติต่อสมมุติให้เป็น เพื่อจะได้รับประโยชน์สุงสุดจากการใช้สมมุติทั้งหลายเหล่านั้น และในขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดในสมมุตินั้น  เมื่อละสมมุติได้  ก็เป็นวิมุตติ คือ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

เพราะถ้าเรายึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ไม่ปล่อย  ไม่วางแล้ว สิ่งนั้นไม่ก่อทุกข์ ก่อโทษนั้นไม่มี และภพชาติ ก็จะมีสืบต่อไปไม่รู้จบ "เกิดทุกชาติ ทุกข์ทุกชาติ" ความสุขที่ได้รับนั้น มีเพียงเล็กน้อย และได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการของเรา

พระพุทธเจ้าพระผู้รู้แจ้งโลก ทรงตรัสสอนให้ ละความชั่วทั้งปวง  ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว คือ  "ทำจิตของตนให้เป็นอิสระจากเครื่องข้องทั้งหลาย  และอยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวง"  นั่นเอง และเมื่อนั้นเราก็จะสามารถเข้าถึงจิตเดิมแท้  และกำจัดความหลง  อันเป็นเหตุที่จะนำไปสู่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารได้

การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของยากมากยิ่งนัก โอกาสเกิดมาพบพระพุทธศาสนานั้นก็เป็นของยากมากเช่นกัน ผู้มีความศรัทธา และน้อมนำเอาพระธรรม ไปปฏิบัติตามเพื่อการพ้นทุกข์ นั้นก็หาได้ยากมาก  และจะต้องเป็นคนมีบุญวาสนาบารมีมาก่อนเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะกลายเป็น "พวกมิจฉาทิฏฐิ" คือมีความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เชื่อว่ามีพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ สร้างทุกสรรพสิ่งไป  

เพราะไม่รู้ความจริงว่า ผู้สร้างที่แท้จริง คือ จิตของเรานั่นเอง ทำให้ไม่สามารถหาทางออกจากทุกข์ในวัฏสงสารที่ถูกต้องได้ การเกิดในชาตินั้นก็เป็นหมัน หรือไปโมฆะไป ไม่ก่อประโยชน์สุขอันใดให้กับตน แม้จะเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ที่ได้ชี้ทางออกจากทุกข์ในวัฏสงสารให้ ก็จะเป็นเหมือนวานรได้แก้ว ไก่ได้พลอย กบเฒ่าเฝ้ากอบัวไป ฉันใด  ก็ฉันนั้น เพราะจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากพระพุทธศาสนาอย่างน่าเสียดายยิ่ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น