วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ทางพ้นทุกข์...หลวงพ่อชา สุภัทโท


ทางพ้นทุกข์
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)


        ความทุกข์ ความสุขอยู่ที่ไหน ? ธรรมะเกิดที่ตรงนั้นแหละ ถ้าเรารู้จักทุกข์  รู้จักเหตุของทุกข์  รู้จักความดับทุกข์  รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  มันก็แก้ปัญหาได้
        ถ้าเราไม่เห็นสังขารที่มันหมุนเวียนตามธรรมชาติของมันแล้ว  มันก็จะเกิดทุกข์ขึ้นมา เช่น หายใจเข้าแล้วก็หายใจออกมันก็สบาย  ถ้าหายใจเข้าแล้วไม่ออก หายใจออกแล้วไม่เข้า  จะอยู่ได้ไหม ? การเห็นสังขารที่มันหมุนเวียนตามธรรมชาติของมัน คือ การเห็นอนิจจัง นั่นแหละ คือ การเห็นธรรมะ
        คนเราเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา คิดแต่ว่าจะต้องหาย   ไม่ต้องตายอย่างนี้  เป็นเรื่องของจิตไม่รู้จักสังขาร  ต้องเปลี่ยนมาคิดให้ถูก คือหายก็เอา  ไม่หายก็เอา ตายก็เอา  เป็นก็เอา  ถูกทั้งสองอย่าง  สบาย ไม่ตกใจ  ไม่ร้องไห้  ไม่เศร้าโศก  ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังใหม่เอี่ยมอยู่เสมอ  ไม่ล้าสมัย  ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เสื่อม  ทุกวันนี้ยังเป็นความจริงอยู่อย่างนั้น     
สังขารมันเกิดขึ้นแล้ว  ก็ดับไปเป็นธรรมดา  ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมะ  เราจะมีความทุกข์ตลอดไป เช่น เมื่อเห็นเป็ดแล้วอยากให้มันเป็นไก่  เห็นไก่แล้วอยากให้มันเป็นเป็ด มันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดอยากให้มันเป็นอย่างนี้ไม่หยุด มันก็ต้องเป็นทุกข์ เช่นเดียวกับอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง  อยากจะให้มันเที่ยง  มันก็ไม่เที่ยง  เมื่อมันไม่เที่ยงเมื่อไร  ก็เสียใจ  ทุกข์ใจเมื่อนั้น  ถ้าเห็นว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยงอย่างนั้น  ก็สบายไม่มีปัญหา
          เมื่ออยากรู้ธรรมะก็ดูที่กาย และใจของเรานี่แหละ  รูปธรรมมองเห็นด้วยตา นามธรรมมองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ  แต่มองเห็นด้วยตาใน คือตาใจ  มองดูในใจถึงจะเห็นนามธรรม แล้วเอานามธรรม คือตัววิญญาณธาตุ ดูกายนี้  ไปดูที่อื่นไม่พบ เพราะความสุข  ความทุกข์เกิดที่นี่  ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ
        ฉะนั้น จงทำปัญญาให้เกิดขึ้นในจิตของเรา  เมื่อปัญญาเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว  จะมองไปทางไหนจะมีแต่ธรรมะทั้งนั้น เห็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตาตลอดเวลา อนิจจังเป็นของไม่เที่ยง ทุกขังถ้าไปยึดก็เป็นทุกข์  อันนั้นไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว  แต่เราไม่เห็น  กลับเห็นเป็นตัวเป็นตนเสมอ  เห็นว่าเป็นของของตนตลอดเวลา คือเราไม่เห็นสมมุติ  จงรู้จักสมมุติ  และประโยชน์ที่จะได้รับจากของสมมุติทั้งหลายเหล่านั้น
        เมื่อรู้จักทุกข์ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ทิ้งทุกข์  รู้จักเหตุแห่งทุกข์  ที่ไหนทุกข์จะเกิด ก็ไม่ทำ  จะปฏิบัติ  มันก็ดับทุกข์  ที่ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อันนี้  ก็ไม่ใช่ตัวมิใช่ตน  ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เห็นเช่นนี้ทุกข์ก็ดับ เหมือนคนเดินทาง เดินไปถึงที่หมายแล้วก็หยุดอยู่ มันดับ นั่นใกล้ต่อพระนิพพานง่ายๆ เดินไปก็เป็นทุกข์  ถอยกลับก็เป็นทุกข์  หยุดอยู่ก็เป็นทุกข์ เดินไปก็ไม่เดิน ถอยกลับก็ไม่ถอย หยุดอยู่ก็ไม่หยุด  มีอะไรเหลือไหม ?
        ดับ ! รูปมันดับ  นามมันดับ  นี้เรียกว่าดับทุกข์ ฟังยากสักหน่อยนะ  แต่ถ้าพิจารณาภาวนาไปเรื่อย ๆ มันจะพ้นขึ้นมา  แล้วจะรู้จัก  มันจะดับของมันอย่างนั้น  ที่สุดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนั้น หมดล่ะ ไม่เป็นอะไร ละหมด พระพุทธเจ้า สอนจบตรงนี้   ละหมด....จบลงที่นี่









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น