วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

บ้านที่แท้จริง..หลวงพ่อชา สุภัทโท



บ้านที่แท้จริง
(หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)


          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร คำว่า "ปลง" นี้  ก็คือ ให้ปล่อยวาง อย่าไปหอบไว้ อย่าไปหิ้วไป อย่าไปแบกไว้ พระพุทธองค์ท่านสอนว่า เมื่อเราถูกคุมขังในตารางก็ดี  ก็ให้ถูกกุมขังเฉพาะกายเท่านั้น แต่ใจอย่าให้ถูกขัง เมื่อร่างกายมันทรุดโทรมไปตามวัย ให้ยอมรับเสีย

            เรื่องจิตใจนั้นเป็นคนละอย่างกัน ทำจิตให้มีกำลัง  ให้มีพลัง เพราะเราเข้าไปเห็นธรรม ว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นของมันอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็แก่ มันก็เจ็บ มันก็ตาย
          ไฟมันจะไหม้บ้าน น้ำจะท่วมบ้าน หรือภัยต่างๆ มันจะมาเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนของเราก็ตาม ก็ให้มันเป็นเฉพาะบ้าน เฉพาะเรือน ถ้าไฟไหม้ก็ให้มันไหม้แต่บ้าน อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา ถ้าน้ำจะท่วมบ้าน ก็ให้มันท่วมแต่บ้าน อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา ส่วนจิตใจของเรานั้น ให้มันมีการปล่อยวาง
          พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราพิจารณาดูสกลกาย  ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาถึงศีรษะ  ตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงปลายเท้า  มีอะไรสะอาด  มีอะไรเป็นแก่นสาร มันทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ท่านสอนให้เห็นว่าสังขารไม่ใช่ของเรา  มันก็เป็นอย่างนี้  ถ้าเรามีทุกข์เพราะสังขารไม่เป็นอย่างที่เราต้องการ  ก็เพราะเราคิดผิด ความเห็นผิดนั้น มันก็ขวางใจของเรา
          การเข้าถึงพระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็คือ ความรู้อันสว่าง ไสว เบิกบาน ฉะนั้น ให้วาง วางให้หมด เหลือแต่ความรู้อันเดียวเท่านั้น แต่อย่าไปหลงนะ อย่าลืม ถ้ารูปเสียงหรืออะไรๆ เข้ามา ก็ให้ปล่อยวางให้หมด ไม่เอาอะไรทั้งนั้น เอาแต่ความรู้สึกอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ห่วงข้างหน้า ไม่ห่วงข้างหลัง  หยุดอยู่กับที่ จะว่าเดินก็ไม่ใช่ ถอยกลับก็ไม่ใช่  หยุดอยู่ก็ไม่ใช่  ไม่มีที่ยึด ไม่มีที่หมาย เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเรา และไม่มีของเรา ... หมด
          บ้านในโลกที่เราสร้างเป็นที่อยู่อาศัยใหญ่โตสวยงาม  มันป็นบ้านข้างนอก มันไม่ใช่บ้านที่แท้จริง มันเป็นบ้านโดยสมมุติ  ใครๆ ก็สร้างกันได้ทั้งนั้น ร่างกายที่เห็นว่าเป็นตัวตนเราเขา อันนี้ก็เป็นบ้านของโลก พระพุทธเจ้าสอนให้เราสร้างบ้านที่แท้จริง คือ ความรู้สึกที่มันสงบ
          โลกนี้ มันเป็นเรื่องของความไม่สงบทั้งนั้น  ถึงแม้จะร่ำรวยก็ไม่สงบ จนก็ไม่สงบ เป็นเด็กก็ไม่สงบ เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่สงบ มีความรู้น้อยก็ไม่สงบ มีความรู้มากก็ไม่สงบ ความไม่สงบนั้นเป็นความทุกข์ เป็นคนรวยก็เป็นทุกข์อย่างคนรวย เป็นคนจนก็เป็นทุกข์อย่างคนจน เป็นเด็กก็เป็นทุกข์อย่างเด็ก เป็นผู้ใหญ่ก็เป็นทุกข์อย่างผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ก็เป็นทุกข์อย่างคนแก่
          บางคนปฏิบัติธรรมะ แต่ไม่เห็นธรรมะ บางคนรู้ธรรมะ เรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ แต่ก็ยังไม่เห็นธรรมะ ให้เรารู้ว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ มันน่าเบื่อหน่าย คำว่าเบื่อหน่ายมิใช่รังเกียจนะ เบื่อหน่าย คือใจมันสว่าง ใจมันเห็นความจริง มันไม่มีทางจะแก้ไขอะไรแล้ว มันเป็นอย่างนี้ เมื่อรู้มันเป็นอย่างนี้แล้ว ก็เลยปล่อยวางมัน ปล่อยโดยความไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ปล่อยไปตามเรื่องของสังขาร เห็นสังขารมันไม่เที่ยง ด้วยปัญญาของเรา การเห็นอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงนั่นแหละ คือตัวพระพุทธเจ้าล่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น