วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร..พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร 
โดย....พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ
วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
***********
จิตของเราเป็นนักท่องเที่ยว มันออกเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คือกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยมีใจเป็นผู้เสวยอารมณ์ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่เที่ยงเป็นโทษ ต้องดิ้นรนกวัดแกว่งแสวงหาและมีภัยรอบด้าน มีความสุขอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีโทษ ไม่มีภัย มีความสุขอย่างเดียว แต่เรายังไม่ได้รับความสุขชนิดนั้น ซึ่งเป็นความสุขที่จิตมีได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร และบุคคลใดเลย แต่การที่จะได้ความสุขชนิดนั้นทำได้โดยยาก ถ้ามีความเพียรทำบ่อยๆ จิตก็จะค่อยๆสงบ แล้วจะพบเห็นความสุขชนิดนั้น และเราจะเอาความสุขแบบนี้(นิพพาน) มาล้างความสุขจากกาม ตอนเริ่มทำใหม่ๆความสุขที่ได้จากความสงบยังมีกำลังน้อยกว่าความสุขจากกาม และยังขาดความมั่นคง ทำให้สู้กามคุณ ๕ ไม่ไหว ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอยู่มาก
ฉะนั้น เราต้องศึกษาให้รู้จักจิตก่อน จิตที่เกิดกิเลส มันชอบคิดโน่นคิดนี่ เช่น คิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนชอบ ทีแรกก็รู้สึกเฉยๆ ถ้ารักษาอารมณ์นั้นไว้ ปรารภอารมณ์นั้นให้มากขึ้นๆราคะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เกิดมากยิ่งขึ้น ทำให้เราอยากไปหาคนๆนั้น โทสะก็เหมือนกันถ้าเราคิดถึงคนที่เราไม่ชอบหรือเป็นศัตรูกัน โทสะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เกิดเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เราโกรธคิดแก้แค้น คิดโต้ตอบ  เราจะเอาชนะเรื่องเหล่านั้นได้ ต้องเปลี่ยนเอาจิตมาพิจารณาร่างกาย จิตถึงจะสงบหนีการปรุงแต่งไปได้ ทำอย่างไรจะชนะ ชนะอย่างชนิดที่ว่าเข้าสมาธิก็สงบ ออกจากสมาธิก็สงบ เราต้องพาจิตเดินทางเส้นทางสายใหม่ การใช้ขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นเครื่องเดินทาง หรือพิจารณาขันธ์ ๕  เราก็ทำมาแล้ว ยังหาจุดจบไม่ได้ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ และถึงทางตัน 
เราก็มาเดินทางในเส้นทางใหม่ คือเอาจิตย้อนเข้ามาหาตัว เพราะเห็นโทษของอารมณ์ที่เราเคยเดินอยู่ก่อน เราต้องพลิกผันชีวิตไปอีกทางหนึ่ง อะไรที่โลกนี้มีอยู่คืออารมณ์ของโลก เราจะเอาออกไปให้หมด จึงต้องเอาจิตเดินเส้นทางตรงกันข้าม คือมรรคมีองค์ ๘ ต่อไป จะไม่ปล่อยใจไปข้างนอกอีกแล้ว จิตนิ่งสงบถาวรไม่ได้ เราจะเอาจิตมาพิจารณาร่างกาย ระวังความคิดพิจารณาเราต้องแก่ เจ็บ ตาย อวัยวะน้อยใหญ่ทั้ง ๓๒ ประการ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง  ว่าเป็นอย่างไร เพื่อถ่วงดุลอำนาจ เพื่อคานอำนาจ มันปรุงแต่งไปก็น้อมกลับมาที่ร่างกาย เอาจิตใส่ใจในอารมณ์ โยนิโสมนสิการ ต้องพิจารณาให้เห็น ถ้าไม่เห็นให้สมมุติขึ้นมาก่อน ทำทั้งกลางวันกลางคืน เพราะจิตมันไม่หยุดปรุงแต่งไม่ว่ากลางวันกลางคืน เราจึงจำเป็นต้องทำทั้งกลางวันกลางคืน
ให้นึกถึงร่างกายเป็นธาตุ เป็นปฏิกูล ความตาย ราคะไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป โทสะไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป โมหะไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไป เราต้องพาจิตท่องเที่ยวไปในกายด้วยความอดทน จึงจะสามารถเอาชนะอารมณ์ได้ โดยสร้างอารมณ์ฝ่ายตรงกันข้ามมาลบล้าง ทำบ่อยๆต่อเนื่องตลอดเวลา จิตจะเริ่มเห็นตัวเอาเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ เพราะของเดิมมันหนาแน่นมาก ต้องทำความเพียรมากๆ จนเห็นแจ้งเป็นพยานว่า ตัวเราไม่เที่ยง ไม่มีสาระแก่นสารจริงๆ เมื่อก่อนจิตไม่เห็น จึงถ่ายถอนกิเลสออกไม่ได้ ต้องทำสติปัฏฐาน ๔ กายคตาสติให้แจ้ง เป็นแรงหักล้างกัน ขณะเดียวกันกระแสจิตที่ไวต่ออารมณ์ จะลดกระแสลง จนไม่มีกระแส โลกนี้คงจะวุ่นวายมาก ถ้าเราพาจิตให้พ้นจากอารมณ์ไม่ได้
ทีนี้เราจะตั้งจิตอย่างไรในท่ามกลางกระแสอารมณ์ที่รุนแรง เหมือนเราจุดเทียนเล่มเล็กๆท่ามกลางกระแสลมแรง การทำสมาธิท่ามกลางกระอารมณ์ที่รุนแรงมาก เราจะทำอย่างไร เราต้องพาจิตไป ถ้าอารมณ์มีความเร็วและรุนแรงมาก เช่นมีราคะให้น้อมไปทางอสุภะ(ไม่งาม น่าเกลียด เป็นซากศพ) มีโทสะน้อมจิตไปในทางเมตตาพรหมวิหาร๔ มีโมหะก็น้อมมนสิการ(ทำไว้ในใจ ใส่ใจ)โดยแยบคาย เราพาจิตให้วิ่งเข้าหาตัวของเราตลอด ธรรมะของพระพุทธเจ้าพิสูจน์ได้ในอัตภาพนี้ ถ้ายังตัดกิเลสไม่ได้ก็เป็นอุปนิสัย สร้างสมบารมีไปในภพชาติต่อไป ต้องสู้ไม่ถอย กัดไม่ปล่อย
กิเลส คืออะไร กิเลสก็คือการปรุงแต่งหรือสังขารทุกชนิด เอาชนะกิเลส ก็คือการเอาชนะการปรุงแต่งนั่นเอง จิตนี้มันตายไม่เป็น อารมณ์ในจิตมันจะตายก็เมื่อนิพพาน อารมณ์นี้มันร้ายกาจมาก มันจะฆ่าเราให้ได้ มันเป็นที่อยู่ของสัตว์ผู้ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะ ถ้าตามใจมันจะวุ่นวายมาก น่ากลัวที่สุดคือจิตเราเอง กลัวจะห้ามมันไม่ได้ เราอยากเป็นคนดี แต่ยากเหลือเกิน เราจึงจำเป็นต้องเอาชนะอารมณ์ให้ได้ ขึ้นชื่อว่า “อารมณ์เป็นที่เกิดทั้งหมด” ถ้าไม่ต้องการเกิดต้องทิ้งอารมณ์ทั้งสอง คือดี ชั่ว บุญบาป ดำริเข้าหาตัว ต้องน้อมจิตเข้าหาตัว ถ้าตายก็ตายพร้อมขันธ์ ๕ การเกิดการตายไม่มีอีก พระอรหันต์นั้นท่านหาอารมณ์ไม่ได้ แม้จิตดวงนี้ก็ไม่ใช่เรา ร่างกายก็ไม่ใช่เรา จิตคลายความยินดี จนราคะ โทสะหมดไป แต่โมหะนี้เห็นยากหน่อย ต้องเห็นจิตไม่ใช่ของเรา ไม่อยากพูดเรื่องนี้ แต่เมื่อปฏิบัติถึงจะรู้เอง จะยึดจิตเป็นเราก็ไม่ได้ ยึดร่างกายเป็นเราก็ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ในความเป็นจริงของที่สุดแล้ว จิตไม่ใช่เรา ร่างกายก็ไม่ใช่เรา ดังบทสวดพระอภิธรรมที่ว่า เมื่อค้นหาตัวตน และคติแห่งตัวตนโดยปรมัตถ์แล้วไม่มี
การเกิดของเรานั้นถูกยัดเยียดให้เกิด แต่สามารถแก้ได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยว่า สิ่งวุ่นวายในโลกสามารถสะสางได้ ลำพังความรู้ของเรา ไม่อาจรู้ได้ ไม่ใช่วิสัยที่จะรู้ได้ ถ้าไม่เจอคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีทางที่จะรู้เองได้เลย ชาตินั้นก็จะอาภัพมาก ดังนั้นเมื่อเกิดมาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ควรละเลย จำเป็นต้องศึกษา ละทิ้งไม่ได้ ความเพียรนี้อย่าท้อแท้ แม้แต่หลับก็ให้ตามดูจิตดวงนี้ ตื่นมาก็ให้จิตตามดูร่างกายจนจิตอ่อนล้า ไม่ใช่ตั้งสมาธิในกระแสอารมณ์ที่รุนแรง ต้องตั้งใน “สติปัฏฐาน ๔”  อุปมาเขาให้ถือส้ม ๖ ลูก แล้วให้เราทำงานไปด้วย เราก็ต้องระวังไม่ให้ส้มหล่นด้วย เหมือนเราทำสมาธิเพื่อให้จิตเป็นหนึ่ง แล้วทำงานไปด้วย เราจะเหนื่อยมาก แต่ถ้าเราเอาส้มมากินเสีย แล้วทำงานไปด้วย ก็ไม่ต้องระวังอะไร เพราะส้มอยู่ในท้องของเราแล้ว ไม่ต้องประคอง เปรียบจิตเหมือนของเหลวเป็นน้ำ ถ้าพิจารณาเหมือนส้มที่กินไปแล้วอยู่ในทุกสัดส่วนของร่างกาย ไม่ยุ่งกับอะไรข้างนอกด้วย มันไม่เล็ดลอดออกไปข้างนอกได้ ระวังกั้นไว้ จิตไม่หลุดออกไปภายนอก จิตกับร่างกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ไม่ใช่อยากได้แต่ความขี้เกียจมีมาก มันก็ไม่อาจสำเร็จประโยชน์ตามต้องการได้ เมื่อทำสมาธิแล้ว ไม่ให้คิดอยากเห็นโน่น เห็นนี่ ได้ยินเสียงนั่น เสียงนี่ เป็นเรื่องที่น่ารำคาญ วุ่นวาย และไม่ให้ติดในความนิ่ง การน้อมจิตเข้ามาดูตัว มาเห็นตัว จะไม่มีการเห็นนิมิตภายนอก กายและจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ เปรียบความยากที่เอาจิตมาพิจารณากาย อุปมาดังเอาหินมาใส่ในแก้ว แล้วเอาน้ำรดลงไป  รดไม่หยุด เป็นเดือน เป็นปี น้ำจะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อหินทีละนิดๆจาก ๕% เป็น ๑๐%  เป็น ๒๐%  เป็น ๓๐% เป็น ๔๐% เป็น ๕๐% จนถึง ๑๐๐% จนหินอิ่มไปด้วยน้ำ มันต้องใช้เวลานานแค่ไหน เหมือนกับการเห็นแจ้งในร่างกาย เมื่อทำไม่ปล่อยไม่ทิ้ง ก็จะเห็นชัดขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย จนเห็นชัดแจ้งทั่วทั้งร่าง  และ "เอาร่างกายเป็นเครื่องอยู่ของจิต ระวังจิตไม่ให้หลุดออกไปภายนอก" ไปเห็นรูป ได้ยินเสียงที่พอใจเกิดความยินดี ไม่พอใจเกิดความยินร้าย หรือไม่ยินดียินร้าย ความยินดีทำให้เกิดราคะ ความยินร้ายทำให้เกิดโทสะ ความไม่ยินดีหรือยินร้ายทำให้เกิดโมหะ เกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมาอีก ดังนั้นจงทำจิตกับร่างกายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดเวลา กิเลส(อารมณ์)ก็เข้าครอบงำไม่ได้
ก่อนตายถ้าจิตไปคว้าอารมณ์อะไรไว้ อารมณ์นั้นจะเป็นที่เกิดของจิตในภพต่อไป ดี ชั่ว ให้ตัดออกหมด ปฏิบัติให้เกิดการเห็นแจ้ง จนจิตคลายการยึดมั่นร่างกายหรือขันธ์ ๕ ได้ขาดจริงๆ ให้เหลือแต่จิตดวงเดียว เป็น "กายหนึ่ง จิตหนึ่ง เมื่อสามารถเข้าถึงได้แล้ว จะเกิดความอัศจรรย์ใจว่า พระพุทธเจ้าทรงรู้ได้อย่างไร ธรรมะของพระองค์ลึกซื้งมากเหลือเกิน พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกจริงๆ เมื่อเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นต้องศึกษา และต้องมาทำกิจนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นภารกิจที่จำเป็นมากๆสำหรับทุกๆคน พระพุทธองค์ทรงสร้างพระบารมีมามากมาย ก็เพราะต้องการช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ และเมื่อเราปฏิบัติตามก็พ้นทุกข์ได้จริงๆ ถือว่าเป็นอุดมมงคลอันประเสริฐของการเกิดเป็นมนุษย์ของเราแล้ว
 เพราะฉะนั้น เราต้องมีความเพียรแบบสู้ไม่ถอย กัดไม่ปล่อย คือสัมมัปปธาน ๔  ในสติปัฏฐาน ๔ กายคตาสติ สติสัมโพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ด้วยอิทธิบาท ๔ พละ ๕ และอินทรีย์ ๕ ธรรมทั้งหมดนี้แม้จะมีมากข้อก็จริง แต่เมื่อปฏิบัติหมวดใดหมวดหนึ่งแล้ว ธรรมแต่ละหมวดจะเข้ามาประสานส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในที่สุดการ ทำที่สุดแห่งทุกข์ก็จะเป็นของเราแน่นอน ในภพนี้และในชาตินี้ ไม่ใช่รอชาติหน้าหรือชาติต่อไป คิดหรือว่าเราจะเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วมาพบพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอีก เพราะฉะนั้นสาธุชนทั้งหลายจงอย่าประมาทในชีวิต จงอาศัยอุดมมงคลที่ได้พบพระพุทธศาสนานี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเองให้ได้
***********


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น