ทางดับทุกข์พิสูจน์ได้
พระอธิการจรัญ
ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน
จ.นนทบุรี) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
*****
(นโม ๓ จบ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก และหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ กราบคารวะครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ เจริญสุขญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม
วันนี้
มาศึกษาแนวทางประพฤติปฏิบัติธรรมกัน ทำไมต้องฟังธรรม ครูบาอาจารย์ได้นำพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาแสดงไว้
และยังมีการเขียนเป็นหนังสือออกมามากมาย เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบทาง ทั้งๆ ที่ทางนั้นมีอยู่
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีในพระไตรปิฎกทุกอย่าง
แต่เป็นของรู้ได้ยาก เข้าใจได้ยาก เราต้องศึกษาค้นคว้า และประพฤติปฏิบัติไปด้วย
ฟังธรรมไปด้วยจะได้มีความรู้ความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร
แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติก็รู้ตามได้ยาก
ก่อนอื่นเราต้องทำสมาธิให้จิตนิ่งก่อน
การฝึกจิตให้สงบนิ่งท่ามกลางอารมณ์(กิเลส)มากมายนั้น มันอาจจะยาก
ยากตรงที่มีอารมณ์มากนั่นเอง แต่มิใช่ว่าจะฝึกไม่ได้ การฝึกท่ามกลางอารมณ์นั้น
ต้องทำบ่อยๆ จิตก็จะเปิดโอกาสให้เราทำได้บ้าง ไม่ใช่จะไม่สงบเสียเลย ทั้งนี้ จะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า จิตสงบแล้วมีความสุขอย่างไร
ยิ่งสงบมากก็ยิ่งมีความสุขมาก จึงเป็นเครื่องล่อให้เราอยากได้
เมื่อก่อนจะเห็นว่าเราไปเสพอารมณ์ข้างนอกแล้วมีความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส คือสุขจากกามคุณ ๕ เป็นความสุขที่ต้องอาศัยคนอื่น สิ่งอื่นนอกตัว ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน
และทำให้รู้ว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจของธรรมชาติบางสิ่งบางอย่าง
และเป็นทาสรับใช้เขามาตลอด และเราจะเอาชนะได้อย่างไร แต่ก็เกิดความสับสน วกวน
เพราะแนวการปฏิบัติธรรมที่มีการสอนกันอยู่ก็มีมากมายหลากหลายวิธี ทั้งสมถะ
และวิปัสสนา ทำให้เราไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไร เลือกแนวทางไหนดีและถูกต้องที่สุด
เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องรู้จักโครงสร้างใหญ่ของพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา
คือ อริยสัจธรรม ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก่อนที่เราจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง
เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดตามที่ต้องการ
ทำไมเราต้องศึกษาพระธรรมและต้องทำกรรมฐานด้วย เพราะมีคนเป็นจำนวนมากไม่ได้สนใจ
หรือไม่ได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้เลย เป็นเพราะคนเราที่เกิดมาในโลกนี้ที่มองเห็นว่าโลกเป็นทุกข์จริงๆมีน้อย
นอกจากคนที่ได้สร้างสมบุญบารมีมาก่อนเท่านั้น เพราะโลกนี้ไม่ได้มีทุกข์อย่างเดียว
ความสุขก็มี ทำให้ไม่เห็นทุกข์ เขาถูกความสุขจากกามคุณ ๕ ประกบไว้ ถ้าเปรียบกามคุณ
๕ ในโลกนี้ ก็เหมือนกับดอกไม้มีสีสันสวยสดงดงามวิจิตรตระการตา ในเกสรดอกไม้ก็มีน้ำหวานมีกลิ่นหอม
แมลงภู่และผึ้งต่างโบยบินมาชื่นชมเชยชม
ดูดกินน้ำหวานของดอกไม้เหล่านั้นด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ
จิตเราก็เปรียบเหมือนกับผึ้งหรือแมลงภู่หลงเพลิดเพลินชื่นชมเชยชมอยู่ในกามคุณ ๕
ยากที่จะถอนตนออกจากอารมณ์ของโลกได้ เพราะเป็นความเคยชินที่เคยสั่งสมมายาวนาน
ความสุขทางโลกนี้เองทำให้คนจมอยู่ตรงนั้น
มีคนจำนวนน้อยที่คิดจะออกจากความสุขแบบโลกๆ ที่มัดเขาไว้อย่างหนาแน่น
การที่จิตยินดีอยู่ในกามคุณ
๕ นี้เอง ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งต่างๆเหล่านั้น มาสนองความต้องการของตน
และเนื่องจากความสุขในกามคุณ ๕ นั้นก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยง
ทำให้มีความทุกข์ตามมามากมาย ทั้งๆที่รู้ แต่ก็อดที่ตามใจกิเลสไม่ได้
และแท้จริงแล้วความสุขจากกามคุณ ๕ นั้น เป็นความสุขเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่มีความทุกข์มากกว่า ดังท่านพระมหากัสสปเถระกล่าวว่า ความสุขทางโลกนั้น เมื่อเทียบกับความสุขทางธรรมแล้ว
มีไม่ถึง ๑ ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ส่วน
พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าเกิด
แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ เราก็รู้และเข้าใจตามสัญญา แต่กิเลสน้อยใหญ่ก็ยังคงมีอยู่ในใจของเรามากมาย
และทั้งๆที่รู้ก็หยุดความโลภ โกรธ หลง หรือสังขารความคิดปรุงแต่งไม่ได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่รู้จบ
ความรู้ที่มีนั้นจึงเป็นความรู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผลอะไรเลย
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมาศึกษาเรียนรู้
โครงสร้างของการปฏิบัติกรรมฐานที่ถูกต้องว่า มีแนวการปฏิบัติอย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
นั่นคือ อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ นิวรณ์ ๕ ไตรลักษณ์ และปฏิจจสมุปบาท
เมื่อรู้และเข้าใจแล้วต้องปฏิบัติแบบสู้ไม่ถอย กัดไม่ปล่อย
ถ้าจะตายก็ให้ตายแบบนักรบในสนามรบ จนกว่าจิตจะหยุดท่องเที่ยวคือนิพพานเท่านั้น การทำสมาธินั้นก็เหมือนกับทหารจะเข้าสู่สนามรบ
ไปสู้กับข้าศึกคือกิเลส แต่เรายังไม่รู้จักข้าศึก ซึ่งเป็นศัตรูภายในใจของเรา
เราจะไปสู้กับอะไร จะสู้เขาอย่างไร แต่เมื่อเราศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราก็รู้ว่าเราจะสู้กับกิเลส
โดยอาศัยอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
คนที่ไม่เคยฝึกสมาธิทำให้จิตสงบมาก่อน จะไม่มีข้อเปรียบเทียบระหว่างความสุขชั่วขณะเพียงเล็กน้อยที่ได้จากการทำสมาธิที่เกิดจากความสงบ
กับความสุขที่ได้จากกามคุณ ๕ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
และแบบไหนมีความสุขมากกว่ากัน ประณีตกว่ากัน
และเมื่อพบกับความสุขจากจิตสงบเพราะทำสมาธิ
ซึ่งเป็นความสุขที่มีมากพอที่ความสุขแบบโลกๆเข้าไม่ถึง
ทำให้เราพึงพอใจและอยากได้ความสุขชนิดนี้มาครองตลอดไป
เพราะเห็นว่าเป็นความสุขที่ไม่มีอะไรยิ่งกว่า เป็นความสุขที่ปราศจากอารมณ์แบบโลกๆ
เมื่อเราต้องการความสุขแบบนี้ต้องอดใจรอ ต้องเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าก่อน ดังพระอรหันต์ทั้งหลายท่านทิ้งการทางเดินแบบเก่าๆที่ตนเคยเป็นเคยมีเคยได้แล้ว
เลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ คือ มรรคมีองค์ ๘ ด้วยความเพียร
ด้วยความอดทน เป็นการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
เราต้องมาพิจารณาดูว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตเราไม่สงบ ความไม่สงบของจิตทำให้เราเป็นทุกข์
เราไม่ต้องการ และเราก็มารู้ว่า ความปรุงแต่งทั้งหมด(สังขาร)เป็นสาเหตุ
และเป็นศัตรูของเรา แต่เราไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งคนที่ไม่เคยทำสมาธิให้จิตสงบมาก่อนจะรู้ได้ยาก
คนที่เคยมีจิตสงบจากการทำสมาธิมาบ้างแล้ว จะทราบได้ว่าความปรุงแต่งเป็นสาเหตุของความไม่สงบและเป็นเหตุแห่งทุกข์
แต่ก็ไม่รู้ว่าจะบังคับจิตให้หยุดปรุงแต่งได้อย่างไร และจะไปทางไหนทำให้เราสับสนวกวน
จึงจำเป็นต้องศึกษาให้รู้ยิ่งๆขึ้น เพื่อหยุดการปรุงแต่งให้ได้
ที่นี้เราก็มาทราบจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า การปรุงแต่งทั้งหมดเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี้เป็นตนเป็นของตน
ตามบทสวดมนต์ทำวัตรเช้ามีกล่าวไว้ว่า “ว่าโดยย่อ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์”
ซึ่งมันมีมานานแล้ว
แต่เราไม่รู้มาก่อน การปรุงแต่งในปัจจุบันก็เป็นในสังขารปัจจุบัน การปรุงแต่งอดีตก็เป็นสังขารในอดีต การปรุงแต่งอนาคตก็เป็นสังขารในอนาคต
การปรุงแต่งของจิตก็ปรุงแต่งในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส(กามคุณ
๕) แล้วเกิดความยินดี ยินร้ายขึ้นมา ความยินดีเป็นราคะ ความยินร้ายเป็นโทสะ ความรู้สึกเฉยๆไม่ใช่ความยินดียินร้ายก็เป็นโมหะ
ล้วนเป็นอารมณ์ของกิเลส ซึ่งเราเก็บเข้ามาๆ เก็บใส่เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ
โดยไม่ได้นำออกไป เปรียบเหมือนเก็บของใส่กระสอบของเก่าไม่นำออก
แต่เก็บของใหม่เข้าเรื่อยๆ โดยไม่นำออก มันก็อัดแน่นอยู่ในกระสอบแล้วก็แบกกระสอบไป ปากก็บ่นว่าหนักเหลือเกินๆ ทุกข์เหลือเกิน
แต่ก็ยังคว้าเก็บเอาใส่เข้าไปอีก ถ้าเป็นจิตมันก็มากด้วยอารมณ์ การทำจิตนิ่งก็เหมือนคนแบกกระสอบไปทั้งหนักและเหนื่อยก็นั่งพักเอาแรง
เอากระสอบวางไว้ข้างๆ พอพักเสร็จหายเหนื่อยแล้วก็แบกกระสอบต่อไป
แล้วก็คว้าเก็บใส่เพิ่มเข้าไปอีก ทีนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อที่จะสะสางอารมณ์ เอาอารมณ์เหล่านั้นออกไป
การที่เราจะนำอารมณ์ออก
ต้องนำออกโดยการคิดปรุงแต่งในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามมาล้าง เช่นภาพใดเป็นที่ตั้งของอารมณ์ รัก โลภ โกรธ
หลง เราต้องสร้างภาพอีกภาพหนึ่งขึ้นมาล้าง
อย่างเช่นเราคิดถึงคนใดคนหนึ่งที่เรามีจิตปฏิพัทธ์เขาอยู่
เราต้องสร้างภาพของตนเองขึ้นมา ภาพเขาก็จะหายไป
หรือถ้ามีอารมณ์ราคะเกิดขึ้นก็นำเอาอสุภะ(ภาพที่ไม่งาม)มาล้าง
มีอารมณ์โทสะก็เอาเมตตาพรหมวิหาร ๔ มาล้าง มีโมหะก็เอาวิชชามาล้าง ดังนั้นเราต้องทำวิชชาให้แจ้ง
ก็คือให้แจ้งในร่างกายของเรา ปฏิบัติโดยน้อมนำเอากรรมฐาน ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นะขา(เล็บ)
ทันตา(ฟัน) ตะโจ(หนัง) ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้าที่เราหลงยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน
เป็นของตน มาพิจารณาให้เกิดการรู้แจ้ง เห็นแจ้งปรากฏขึ้นเท่านั้น
อารมณ์ที่ทำให้จิตเป็นทุกข์ถึงจะดับไป การทำให้แจ้งนี้ เรียกว่า วิปัสสนา การทำสมาธินิ่งอย่างเดียว
ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไปไม่รอด ถ้าเปลี่ยนธรรมชาตินี้ได้อารมณ์ทุกอย่างจะดับสนิท โดยการเปลี่ยนทางเดินของจิตจากระบบเก่ามาเป็นระบบใหม่
สร้างขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม เราจะพบทางที่หมดจดถูกต้อง เส้นทางสายเก่า(คือสายกามคุณ
๕)เป็นเส้นทางไปสู่อารมณ์ ไปสู่กิเลสต่างๆ
เราจะไม่หวนไปสู่เส้นทางสายเก่าที่ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์ของกิเลสต่อไป
เราต้องทำลายอารมณ์ ล้างอารมณ์ให้สิ้นไป
จิตเดินทางออกทางตา
หู จมูก ลิ้น กาย ใจทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้เราตามมามากมาย
เราต้องทำลายการทำงานของเขา ไม่ให้มีในใจของเราอีกต่อไป
แม้เราจะทำสมาธิเหมือนเราหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำ ทำให้กิเลสสามตัว คือ ราคะ โทสะ
โมหะหยุดทำงานไปชั่วขณะหนึ่ง แต่เมื่อเราออกจากสมาธิ
กิเลสสามตัวนี้ก็รออยู่หน้าถ้ำกลับมาทำงานต่ออีก เดินเครื่องเหมือนเดิม ทำให้เราหนีจากอารมณ์ของจิตไปไม่ได้
เราต้องทำลายระบบการเดินของจิตให้สิ้นไป แล้วมาเดินระบบใหม่
แล้วปรุงแต่งนึกคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ เพื่อแก้การนึกคิดข้างนอก
นึกเป็นโยนิโสมนสิการ(การทำในใจโดยแยบคาย) ในวิราคธรรม คือ การคลายความกำหนัดยินดีในกามคุณ
๕ ให้เห็นโทษเห็นทุกข์เห็นภัยของมัน
ต้องน้อมวิราคธรรมเข้ามาในจิตเราอยู่เสมอๆ และปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์
๘ นี้เข้าใจยาก ไม่ใช่จะเข้าใจง่ายๆ เป็นทางเดินของพระอริยเจ้า การทำสมาธิในพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่เน้นให้จิตสงบนิ่งอย่างเดียว
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง
ต้องพิจารณาร่างกายของเรา
และตั้งปณิธานว่า ต่อไปเราจะไม่คิดถึงใคร ไม่คิดถึงอะไรอีก
เพราะจะทำให้เรามากด้วยอารมณ์คือกิเลส มิใช่ให้จิตนิ่งอย่างเดียวจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ต้องเอาจิตมาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย คือ ผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ
เอ็น กระดูก
เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง ให้รู้แจ้ง แจ้งอย่างไร?
แจ้งอย่างที่เราคิดถึงคนอื่น เราเห็นคนอื่นเป็นอย่างไรก็เห็นตัวเองอย่างนั้น แล้วจะเห็นว่าเราเห็นคนอื่นได้แต่ทำไมเห็นตนเองไม่ได้ การไม่เห็นตนเองนึกอย่างไรก็ไม่ออก แสดงว่ามีสิ่งปกปิดอยู่
สิ่งใดถูกปกปิดแสดงว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดอยู่ตรงนั้น
การไม่เห็นตัวเองให้แจ้งชัด แสดงว่าของดีอยู่ตรงนั้น เราต้องทำให้กระจ่างแจ้ง
แล้วจะพบเพ็ชรเม็ดงามอยู่ตรงนั้น ด้วยการขุดคุ้ยตรงนั้น เมื่อการเห็นแจ้งตัวเองได้
ก็เท่ากับเห็นแจ้งคนอื่นด้วย แล้วก็จะพบนิพพานตรงนั้น
การทำให้เห็นแจ้งต้องหาต้นตอให้ถูกต้องเกาให้ถูกที่คัน
ถ้าไม่รู้จักปมต้องหาปมนั้น เพื่อแก้ปัญหา การเห็นแจ้งตัวเองได้ปัญหาก็จบสิ้น
วิธีตรงนี้ก็คืออบรมมรรคนั่นเอง วงการกรรมฐานไม่ค่อยเข้าใจตรงนี้ เราต้องทำขึ้นมา
เพื่อสุ่มหาทางการกระทำที่ถูกต้องให้ได้ ต้องทดลอง ใครว่าดีไม่ดีอย่างไร เราต้องพิสูจน์ว่า มีผลเช่นไร
ถ้าปฏิบัติแล้วจะได้อะไร
ต้องสมมุติขึ้นมาก่อน สมมุติว่าตรงนี้คันที่สุดเป็นปมที่เราจะต้องค้นหา
เหมือนหาขุมทรัพย์ เพ็ชร พลอย น้ำมัน น่าจะอยู่ตรงนี้ รู้แหล่งแล้วเพียงแต่จะขุดเจาะว่า
จะเจออย่างที่คาดคิดหรือไม่ สุดท้ายเราต้องเห็นแจ้งตนเอง แล้วเริ่มลงมือทำ
หลังจากเราทำสมาธิมานานทำแล้ววนไปวนมาๆ
ถึงทางตัน หาทางออกไม่เจอ หาจุดจบไม่ได้ ก็ตั้งกติกาขึ้นใหม่ว่า ต่อไปนี้
๑.
เราจะไม่ไปเดินทางเส้นเก่า คือ การเป็นทาสของกามคุณ ๕
เพื่อตัดตอนกำลังของกิเลส คือ ราคะ โทสะ และโมหะ
๒.
เราจะไม่ทำจิตให้สงบนิ่งเพียงอย่างเดียว เพราะทำลายกิเลสไม่ได้
๓.
เราจะเอาจิตมาพิจารณาร่างกายให้เห็นแจ้งขึ้นมา
เพื่อแก้ความคิดผิด ความหลงผิด
การเห็นผู้อื่นชัดแจ้งทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมา
แจ้งเขาทำให้เราเกิดกิเลส แจ้งเราพ้นกิเลส ก็ลองนึกถึงตัวเองขึ้นมา ทำอย่างไรจะให้เห็นขึ้นมาว่า
เรามีหน้าตารูปพรรณสัณฐานอย่างไร นึกเห็นไม่ใช่นึกรู้ มันรู้ได้แต่เห็นไม่ได้
ใหม่ๆ มันไม่เห็นแต่ก็นึกได้ ทำอย่างไรจะให้เห็น ต้องค้นหา อุบายให้นึกถึงเรื่องที่เราเคยผ่านพบมา
เช่น เห็นคนตาย เห็นคนผ่าท้อง ผ่าไส้ ผ่าศพ ภาพที่เราจำได้นำมาเป็นอุบาย อสุภสัญญา
มรณสัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้
โดยอาศัยสัญญาความจำได้หมายรู้นั้นมาพิจารณาตนเอง นึกถึงตนเองตายนอนอยู่ในโลงศพ
เปื่อยเน่า ขึ้นอืด ขึ้นพอง มีหนอนชอนไช เหลือแต่กระดูก เขานำไปเผา
ก็นึกถึงการเผาศพตนเอง เป็นอุบายเป็นเครื่องนำทางปูทางไปสู่การเห็นแจ้ง
เรานึกอย่างไรใจก็เห็นอย่างนั้น เราใช้อุบายนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต
และไม่ควรไปคิดถึงศพคนอื่นที่ขึ้นอืดขึ้นพองเน่าเปื่อยอย่างไรนั้น ไม่ควร
ให้น้อมศพนั้นมาเป็นศพตัวเอง ให้เกิดความสลดสังเวชใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายตัวเอง
จิตเราจะเริ่มเสวยผล จิตจะแสดงความอัศจรรย์ มีความสว่างเรืองแสง
เป็นธรรมชาติของมัน มันใสๆ สว่างๆ จิตเริ่มพัฒนาจากระบบใหม่
เราก็ตามดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น จิตจะสว่างขึ้นๆเห็นตนเองง่ายๆด้วยอุบายเหล่านี้
แล้วก็เกิดความชำนาญขึ้นๆ ด้วยความพากเพียรของเรา เมื่อทำมากขึ้นๆ
จิตสว่างไสวขึ้นเรื่อยๆ จิตสงบขึ้นๆๆ ยิ่งคิดยิ่งสงบๆๆ
เราจะเอาความคิดชนิดนี้
ไปล้างความคิดข้างนอกให้สิ้นไป
เมื่อจิตสว่างจะเห็นตนเองอยู่ในความสว่างนั้น
เมื่อก่อนมืด เมื่ออบรมด้วยอุบายนั้นเป็นประจำ ความสว่างจึงเกิดขึ้นตามมา
แต่อย่าหลงในความสว่างนั้น ให้พิจารณาเนืองๆ อย่าหลงจะเสียเวลา
ดีไม่ดีทุนหายกำไรหด สูญสิ้นไปหมด เราจะเคว้งคว้างทันที
เพราะสิ่งที่ได้มายังไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อย่าหยุด ! มันกำลังเริ่มก่อตัว ความสงบของจิตถึงจะมากก็หยุดไม่ได้
กิเลสยังมีอยู่มาก ทางที่ดีอย่าแช่อยู่ในความสงบและความสว่างนั้น
อย่าแวะจะทำให้ชักช้าเสียเวลา
สมาธิที่เราเคยทำให้นิ่งมันจะตามมาราวีอีก
มันจะมากันใหญ่ มามากกว่าเดิมหลายเท่า เดิมทำได้ยากเราต้องวิ่งไล่จับมัน บัดนี้ เราหันหลังให้มันกลับมาตื้อเราเสียแล้ว
และมันประณีตกว่าเดิม มันมาเชื้อเชิญเราให้เข้าไปอีก อย่าคิดว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก
สาเหตุที่มันเกิดขึ้นมาอีก เพราะเราเอาจิตพิจารณาตัวคือร่างกายตลอดเวลาเป็นตัวหลัก
การเกิดของสมาธิเป็นรอง เราอย่าตายใจอย่าหลงเข้าไปในสมาธินั้นอีกต่อไป
ในที่สุดแล้วทางนี้เป็นทางที่เราพิสูจน์ให้รู้ได้ด้วยตนเอง เรายังจะต้องทำอีกมากมาย
เรื่องความสงบเราเอาไว้ทำทีหลังอย่าแวะข้างทาง อย่างที่มีการพูดกันในหมู่นักปฏิบัติว่า
ทำสมาธิแล้วอย่าติดสมาธิ
การปฏิบัติต้องอาศัยเหตุผลและความเข้าใจ
เป็นปัญญาที่จะต้องใช้ทุกสถานการณ์ เข้าถึง เข้าใจ การวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหาให้ตรงจุด
ผลจะเกิดขึ้นตามลำดับ ทางเส้นนี้เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
เราเอาอุบายมาพิจารณาตัวเองขึ้นอืด ขึ้นพอง ถูกนำไปเผามอดไหม้เหลือแต่กระดูก และกระดูกก็ถูกเผาไหม้ไปหมด
ไม่เหลืออะไรเลย เหลือแต่ความว่าง ถ้าจิตว่าง
อย่าวางตน เราจะได้ไม่ลอยตัว ไม่เคว้งคว้าง และความว่างนี้ ก็เป็นตัวอันตรายเช่นกัน
ความว่างนี้เมื่อว่างแล้วมีความสุขมาก ระวังอย่าติดความว่าง
ให้มันว่างแป๊บเดียว แล้วให้กลับมาอยู่ที่ตัว ความว่างแบบนั้น
มันว่างชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะอุบายที่เรานำมากล่อมเกลามัน ถ้ามันว่างอิ่มตัวแล้ว มันจะกลายเป็นวุ่น
คว้าเอาอารมณ์ของโลกมาเป็นอารมณ์อีก เพราะมันยังมีตา มีหู
ความว่างก็จะอันตรธานหายไป ความว่างยังว่างไม่จริง จะพบหนทางตัน
ว่างอย่างนี้อันตราย ถ้าจิตว่างให้ว่างนิดว่างหน่อย
สุดท้ายแล้วให้หันกลับมาร่างปกติตามเดิมเป็นวิธีแก้ อันนั้นเป็นร่างอุบาย ปัจจุบันชีวิตจริงร่างเป็นๆยังมีอยู่
ต้องเคลื่อนไหว ต้องคิดต้องทำอะไรต่อไป อย่าลืมร่างเดิม ลืมไม่ได้
ต้องดูร่างเดิมให้เห็นตามความเป็นจริงของชีวิตแท้ๆ
เพื่อไม่ให้จิตลอยตัวออกไปภายนอก ถ้าความว่างอิ่มตัวคลายตัวแล้ว
มันจะวุ่นต่อไป มันเป็นว่างหลอก เป็นว่างชั่วขณะ
ถ้าเห็นตัวเองเป็นอสุภะ
๑๐ บ้าง เป็นปกติบ้าง ก็จะพัฒนาต่อไปได้ และต้องไปอีกไกลมาก สุดท้ายถ้าไม่กลับเป็นร่างปัจจุบันก็ให้เป็นอสุภะได้
แล้วก็ให้กลับมาเป็นร่างเดิม เป็นภาพอสุภะก็ได้เป็นร่างเดิมก็ได้ กรณีที่อบรมด้วยอุบายมาโดยตลอดให้รักษาอุบายไปเรื่อยๆเมื่อถึงเวลามันจะทิ้งของมันเอง
เราก็เอาร่างปกติให้เห็นแจ้งไปเรื่อยๆทั้งกลางวันกลางคืน ให้รักษาความเห็นไว้เสมอเห็นตัวเองแจ้งขึ้นๆ
ตอนแรกเหมือนแสงหิ่งห้อยระยิบๆ ระยับๆ ก็เฉยๆ ไว้ ทำให้แจ้งแล้วมันจะมีขึ้นมาใหญ่ขึ้นๆๆ
จากหิ่งห้อยเป็นดวงดาว จากดวงดาวเป็นดวงเดือน จากดวงเดือนก็จะเป็นดวงตะวัน แสงสว่างจะพุ่งเข้าเต็มหน้าผาก
จนเกิดความอัศจรรย์ใจ แต่อย่าติดตรงนั้น เราก็เดินหน้าต่อไป ผลเป็นรอง อย่าทิ้งหลัก แสงสว่างจะมาก เต็มหน้าไปหมด
มากจนแทบเดินขึ้นบันไดลงบันไดไม่ได้ และแสงสว่างนั้นไม่รู้จะไปไหน มันก็กลืนตัวเรา
ตัวเราจะเรืองแสงไปหมดแล้วแสงจะอ่อนลงไป เพราะมันกระจายไปทั่วตัวเหมือนแสงนีออน
เดิมตัวเรามืดตืดตื๋อ เราก็อบรมต่อไปอีกอย่าหยุด แสงสว่างจะจ้าขึ้นๆๆ ไปอีก
ถ้าแสงกระจุกจะแจ้งมาก ถ้ากระจายแสงก็จะอ่อนลง
ต่อไปเป็นร่างจริงไม่เป็นร่างอุบายแล้ว แสงสว่างในตัวก็จะสว่างมากๆๆ
ในที่สุดร่างกายของเราก็กลายเป็นแท่งสมาธิไป การทำอย่างนี้คือมรรคมีองค์ ๘
ว่าด้วยสติก็คือสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติ และสติสัมโพชฌงค์ ๗ เมื่อรู้แจ้งตน(ขันธ์
๕) ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ
การปฏิบัติแบบนี้
ทำให้เราหนีออกจากระบบเดิมๆมาได้ เราจะมีที่อยู่ใหม่
ธรรมชาติคือตัวเรานี้เป็นเครื่องอยู่ใหม่ของจิต การปฏิบัติแบบนี้จะทำให้เราเห็นว่า
น่าจะทำให้เราเลิกรากับอารมณ์ของโลกได้จริงๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางหนทางพ้นทุกข์ที่เราจะพิสูจน์
โดยการลงมือทำ อย่างไรก็ดี เมื่อ จิตอยู่ในที่แคบคือร่างกาย
กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้ ทำให้จิตสงบได้อย่างถาวรแน่นอน
เราจะเห็นว่าพ้นทุกข์ได้จริง กำลังใจก็เกิดขึ้น คนที่อบรมมาก่อนได้ผลมาแล้ว ถ้าผลการพิสูจน์ไม่มี คงไม่มีการนำมาสอนในที่นี้
คนที่พิสูจน์มาก่อนเดินทางไปก่อนแล้วได้ผลจริงๆ เราก็พิสูจน์ด้วยการปฏิบัติตาม
ไม่ต้องเสียเวลาแสวงหาเส้นทางใหม่ มีหน้าที่ให้จิตเราเข้าไปสู่ตรงจุดนั้นให้ได้
เราฝึกไประดับหนึ่งก็เห็นผลของการกระทำได้ว่า เป็นทางพิสูจน์ไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ได้จริง
การปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส
เราต้องค้นหาตัวละครว่า มีตัวใดบ้างที่มีบทบาทสำคัญแสดงอยู่ในใจของเราก็พบตัวละครสำคัญมี
๓ ตัว คือ จิต ตาหู และอารมณ์
ส่วนใหญ่มักจะไปโทษอารมณ์(กิเลส)ว่าเป็นตัวการทำให้จิตเราไม่สงบ
เมื่อพิจารณาดูให้ดีลึกๆแล้ว อารมณ์ไม่มีปัญหา บางครั้งคิดว่าอารมณ์มาหาจิต
แต่ดูดีๆแล้วจิตไปหาอารมณ์ ไม่ใช่อารมณ์ไปหาจิต ถ้าอารมณ์ไปหาจิต
ถ้าเราไปหาพระอรหันต์อารมณ์ของเราคงจะไหลเข้าไปหาท่านเสียมากมาย
และถ้าอารมณ์ไปหาจิตจริงพระอรหันต์ก็คงมีในโลกนี้ไม่ได้ พระอรหันต์มีได้เพราะจิตไปหาอารมณ์
ถ้าจิตไม่ไปหาอารมณ์ก็จบกัน ดังนั้น จึงต้องจับสามตัวนี้มาสอบสวน อย่างที่เปรียบเทียบไว้ว่า
อารมณ์ของโลกเหมือนดอกไม้ที่มีสีสันสวยสดงดงามวิจิตรตระการตา มีน้ำในเกสรหอมหวานให้ดูดดื่มกิน
จิตเราก็เหมือนแมลงภู่และผึ้ง ถ้าดอกไม้มี
แต่ผึ้งหรือแมลงภู่ไม่ไปหาดอกไม้ ดอกไม้ก็ไม่ได้สร้างปัญหาอะไร ความผิดจึงอยู่ที่จิตเราไปหาอารมณ์
แล้วหลงเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้น และที่จิตไม่สงบเพราะหู ตา
นี่แหละเป็นตัวปัญหา ทำให้เราไม่สงบ หูตาก็บอกว่า ข้าไม่มีปัญหานะ ข้าก็เป็นของข้า
กลางคืนดึกๆข้าก็ปิด ที่ข้าเปิดประตูไว้เพื่อเอื้ออำนวยให้เจ้าไป
เจ้าจะไปหรือไม่ไปเป็นเรื่องของเจ้า ข้าไม่เกี่ยว เมื่อประตูเปิดแต่จิตไม่ออกจากบ้าน
ประตูจะมีปัญหาไหม? ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย
ใจมีปัญหา คนประพฤติพรหมจรรย์เป็นพระอรหันต์ไม่มีแน่นอน เมื่อสอบสวนแล้ว ตาหูไม่ใช่ตัวปัญหา
ดังนั้น
๓ นี้ ตัวที่มีปัญหามากที่สุดก็คือจิตนั่นเอง ตัวการใหญ่ที่สำคัญก็คือจิต
เมื่อจับตัวการใหญ่ได้ ข้าศึกคือกิเลสก็จะเร่าร้อน ปัญญานี้เป็นปัญญาเจตสิก
จะกลายเป็นปัญญาญาณ จิตนี้เป็นตัวการที่ร้ายกาจที่สุด เราก็จับจิตมาสอบสวนว่า
จิตเอ๋ย ! ทำไมเจ้าถึงไปล่ะ
การคิดปรุงแต่งมันวุ่นวาย ทำไมเจ้าชอบไปนัก ทั้งๆที่มันเป็นทุกข์ จิตสารภาพว่า ข้าอยากไป ข้าเคยไปอย่างนี้ ข้าชอบของข้าอย่างนี้
มันเป็นความเคยชินของข้า ข้าก็ไปล่ะสิ เพราะจิตก็เปรียบเหมือนแมลงภู่และผึ้ง
ได้ดูดดื่มเพลิดเพลินชื่นชมเชยชมน้ำหวานของดอกไม้นานาพันธุ์มีสีสันสวยสดงดงามและมีรสอร่อยหอมหวาน
มันก็อยากไปเช่นนั้นอีกตามความเคยชินของมัน แล้วเราจะพรากเขาออกเขาไม่อยากออก
เพราะเขาเคยชินกับความสุขเช่นนั้น ภาษาธรรมเรียกว่า “ตัณหา” คือ ความทะยานอยาก
ที่นี้เราก็รู้ว่า อะไรอยู่เบื้องหลัง อะไรเป็นไอ้โม่ง ! ฉะนั้นการสู้กับกิเลสต้องสู้แบบมีชั้นเชิง
สู้แบบผู้มีปัญญา มีปัญหาก็เอาอริยสัจ ๔ เป็นเกณฑ์วัด วิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุของปัญหา เพื่อดับปัญหา
และหาแนวทางแก้ปัญหา เมื่อรู้ว่าความทะยานอยากหรือตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์
ก็ทำลายความทะยานอยากเสียก็ถึงความดับทุกข์คือนิโรธ
หนทางการดับทุกข์ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เราต้องสาวหาสาเหตุว่า จิตสงบเพราะอะไร
ไม่สงบเพราะอะไร ทำอย่างไรจิตจะสงบตลอดเวลาได้ และเราก็ได้คำตอบว่า
ความทะยานอยากนั่นเองเป็นต้นเหตุการไปของจิต และอะไรเป็นเหตุการไปของจิต
อะไรทำให้ความทะยานอยากสิ้นไป เราต้องหาข้อปฏิบัติที่มีแต้มเหนือกว่าข้าศึกอยู่เสมอ
นั่นก็คือมรรคมีองค์ ๘
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ศาสนาใดไม่มีมรรคมีองค์ ๘
ศาสนานั้นไม่มีสมณะ ๔ คือพระอริยบุคคล ๔ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี
พระอานาคามี และพระอรหันต์ มรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ
ที่จะเป็นตัวทำลายความทะยานอยากให้สิ้นไป แกะปมปริศนาได้ตามลำดับ ถ้าจิตหมดความทะยานอยากแล้ว
จิตจะเลิกราโลกไปเอง เมื่อจิตเบื่อโลกแล้ว ดอกไม้ก็ไม่มีปัญหา(อารมณ์ของโลก)
การแก้ปัญหาแก้ที่จิตดวงเดียว คนมีปัญญาไม่ต้องใช้กำลังมาก
บรรดามรรคมีองค์
๘ มรรคข้อ ๑ มีความสำคัญมากที่สุด คือ
สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ เมื่อมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกต้อง
การปฏิบัติก็ถูกต้อง ถ้าความเห็นไม่ถูกต้องการปฏิบัติก็ไม่ถูกต้อง ชีวิตของเราเหมือนเรือลำน้อยล่องลอยอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรที่มีกระแสลมพายุแรงกล้าท่ามกลางฟ้าฝน
และคลื่นซัดกระหน่ำอยู่ตลอดเวลา ถูกลมพายุคลื่นซัดพลิกคว่ำพลิกหงาย คลื่นซัดหัวเรือท้ายเรือหันไปหันมา
ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทรหาฝั่งไม่เจอ คนฉลาดต้องตั้งข้อสังเกตและหาองค์ประกอบประเมินว่า
ฝั่งน่าอยู่ทางด้านใด และด้านไหนใกล้ที่สุด เช่น สังเกตลมบ้าง นกบ้าง ดวงดาวบ้าง
เพื่อที่จะหาทางขึ้นฝั่งให้ได้ นั่นคือนิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“การไม่รู้แจ้งในธรรม ๔ ประการ เป็นเหตุให้เราและเธอทั้งหลาย
ต้องเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลอันยาวนานอย่างนี้ ก็คือ การไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยศีล ไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสมาธิ ไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยปัญญา และไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยวิมุตติ”
นั่นเอง
ทรงตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า “เมื่อใดความรู้เห็นตามความเป็นจริงของเราในอริยสัจ
๔ เหล่านี้ ๓ รอบ ๑๒ อาการอย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีตราบใดเราก็ยังไม่ยืนยันว่า
เป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดแก่เราว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กำเริบ
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
ดังนั้น
ถ้าเราต้องการเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่ต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
เราจำเป็นต้องศึกษาอริยสัจธรรม ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์(อุปาทานขันธ์ ๕) สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์ คือความทะยานอยาก) นิโรธ
(การดับทุกข์) มรรค(ปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)
เมื่อรู้และเข้าใจดีแล้ว ก็น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม
ให้เกิดการรู้แจ้งเห็นแจ้งขึ้นมา จนสามารถล้างอารมณ์ของกิเลสให้หมดสิ้นไปได้ เหตุแห่งทุกข์ คือความทะยานอยากได้ในกาม
ภาษาธรรมเรียกว่า “กามตัณหา”
ได้แก่ ความทะยานอยากในรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส จิตมันจะทะยานออกหรือวิ่งออกไปหาทางประตูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก
ลิ้น กาย ใจ ส่วนจิตเป็นผู้เสวยอารมณ์ ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่ ที่เรียกว่า “ภวตัณหา” หมายถึง ความทะยานอยากในภพ(กามภพ รูปภพ และอรูปภพ)
หรือลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ที่เรียกว่า “วิภวตัณหา”
คือทะยานอยากพ้นจากกามภพ รูปภพ และอรูปภพ
หรือพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ เช่น ความเจ็บป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ความพิการ
ความยากจนเข็ญใจ ความไม่อยากพบ ไม่อยากทำงานร่วมกับคนที่เราไม่ชอบ
หรือคนที่เป็นศัตรูกับเรา เป็นต้น
ดังนั้น
ตัณหา คือ ความทะยานอยาก จึงเป็นสาเหตุการไปหรือการท่องเที่ยวของจิต
และเป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสังขารหรือการคิดปรุงแต่ง เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเห็น การคิดปรุงแต่งหรือสังขารเป็นทุกข์
แล้วแสดงว่าพบเงื่อนต้นแล้ว เพื่อจะได้แก้เงื่อนปมต่อๆไป
เหมือนเส้นด้ายที่พันกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เมื่อพบเงื่อนใดเงื่อนหนึ่งแล้วเราก็สาวออกให้มันคลี่คลายออกจากกันได้
และไม่เอาเงื่อนต้นที่พบแล้ว กลับมาพันกับปมที่พันกันยุ่งเหยิงนั้นต่อไปอีก และเราก็พยายามแก้เงื่อนปมที่มีอยู่ต่อไปเรื่อยๆไม่ยอมหยุด
จนสามารถคลี่คลายปมของปัญหาได้ทั้งหมด
ผู้เป็นสารถีฝึกบุคคลผู้สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมแก่ท่านพระสารีบุตรว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น เมื่อท่านพระสารีบุตรผู้มีปัญญามากได้ฟังธรรมจบก็มีความเข้าใจพระธรรมเทศนาโดยย่อนั้นอย่างแจ่มแจ้ง
และบรรลุเป็นพระโสดาบันทันที
อุบายที่พระพุทธองค์ทรงสอนผู้ที่เข้ามาบวชในศาสนาของพระองค์ คือ กรรมฐาน ๕ ซึ่งเป็นมูลกรรมฐานหรือรากเหง้าของกรรมฐานทั้งปวง
ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นะขา(เล็บ)
ทันตา(ฟัน) ตะโจ(หนัง) ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ให้กรรมฐาน ๕ นี้แก่ผู้บวชในวันอุปสมบทถือว่าเป็นการทำลายอุปนิสัยความเป็นพระอรหันต์ของบุคคลนั้นได้
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บวชใช้เป็นหลักพิจารณาร่างกายตนเองให้เห็นแจ้ง
จนคลายความกำหนัดยินดีในขันธ์ ๕ หรือร่างกายที่เคยเห็นว่าเป็นของสวยของงาม และหลงยึดถือว่าเป็นตัว
เป็นตน เป็นของตน เพื่อถอนตนออกจากกามคุณ ๕ เพราะฉะนั้น กรรมฐาน ๕
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้นี้
ควรน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่จำเป็นต้องไปตัดแปลงอะไรอีก
ท่านชตุกัณณิมาณพได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า
เรื่อง กาม และการออกจากกามว่าควรปฏิบัติอย่างไร พระพุทธองค์ทรงตอบว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขาร(การคิดปรุงแต่ง) ในส่วนเบื้องต้น(สังขารในอดีต)ให้เหือดแห้งไป เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง(สังขารในอนาคต)อย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลาง(ขันธ์ 5)ไว้ ก็จักเป็นผู้สงบเที่ยวไป
แต่เนื่องจากเราไม่มีเครื่องรู้เห็น
จึงไม่สามารถหยุดสังขารได้ ยังมีการยึดมั่นถือมั่นร่างกายหรือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเราเป็นของเราอยู่
ทางรู้แจ้งคือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเราอ่านมาแล้ว แต่ทำไมยังรู้ไม่ได้เข้าไม่ถึง
มันมีอะไรเป็นมูลเหตุ ทำให้เราต้องเดินทางไม่รู้จักจบสิ้น ก็เพราะยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของร่างกาย(ขันธ์๕)
คือ สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) จึงไม่มีสัมมาสังกัปปะ(การดำริชอบ)
ดำริหรือคิดออกจากอารมณ์ คือ กิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ และโมหะ
อะไรเอ่ย
! ที่ทำให้ราคะไม่เกิด
ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญไพบูลย์
อะไรเอ่ย
! ที่ทำให้โทสะไม่เกิด
ย่อมเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญไพบูลย์
อะไรเอ่ย
! ที่ทำให้โมหะไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญไพบูลย์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
สุภนิมิต(นิมิตที่งาม)เมื่อมนสิการ(ทำไว้ในใจ)ไม่แยบคาย ราคะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วก็ยิ่งเจริญไพบูลย์ อสุภนิมิต(นิมิตที่ไม่งาม)เมื่อมนสิการโดยแยบคาย
ราคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ละได้
ปฏิฆนิมิต(นิมิตความกระทบกระทั่งใจ)เมื่อมนสิการไม่แยบคาย
โทสะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ยิ่งเจริญไพบูลย์ เมตตาเจโตวิมุตติ เมื่อมนสิการโดยแยบคาย
โทสะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ละได้
อโยนิโสมนสิการ เมื่อมนสิการไม่แยบคาย
โมหะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ยิ่งเจริญไพบูลย์ โยนิโสมนสิการ(การทำในใจให้แยบคาย)
เมื่อมนสิการโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็ละได้
เราจะเอาชนะสิ่งเหล่านี้
คือ ราคะ โทสะ โมหะได้ โดยการตัดการคิดปรุงแต่งออก น้อมจิตพิจารณาร่างกาย เกสา
โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ไม่ใช่ทำจิตให้สงบนิ่งหนีการคิดปรุงแต่ง
พอออกจากสมาธิก็มาปรุงแต่งอีกแล้ว ให้น้อมจิตเข้ามาหาตัว สละอารมณ์ภายนอกเสีย
คิดจะทำลายกิเลสต้องทำอย่างนี้ ต้องทำนานๆตลอดเวลา
เพื่อไม่เปิดทางให้อารมณ์ภายนอกเข้ามาครอบงำได้ ราคะ โทสะ โมหะ ที่เคยมีก็ไม่เพิ่ม
เราต้องสร้างอารมณ์ตรงกันข้ามเข้ามาให้มากๆ กระแสของอารมณ์ของโลกก็จะลดลงๆๆ
เปรียบดังเราจุดเทียนท่ามกลางกระแสลมแรง เทียนเล่มน้อยก็ไม่สามารถติดไฟได้
เราต้องแก้ปัญหาเรื่องลมให้สิ้นไปก่อน จึงเป็นฐานะที่ไฟจะติดได้ ถามว่าเราต้องการไฟทำไมต้องไปแก้ที่ลม
ก็เพราะลมแรง ไฟจึงติดไม่ได้ พอไฟจะติดก็ดับไปๆ จึงต้องแก้ที่ลมก่อน
การจะทำจิตให้สงบนานๆ ก็ต้องลดกระแสอารมณ์เช่นกัน
ธรรมชาติของจิตนี้อยู่ในกายก็ได้
ไม่อยู่ในกายก็ได้ ไปลำพังก็ได้ มันไม่รู้จักตาย ถ้าจะให้ตายก็คือนิพพาน ถ้าเราจะตายก็ให้ตายแบบนักรบในสงคราม
การทำจิตให้แจ้งต้องทำสงครามกับอารมณ์(กิเลส) โดยอาศัยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ คือ
ความเห็นชอบเป็นประธาน มีสัมมาสังกัปปะ คือ การดำริออกจากกาม ความพยาบาท
และการเบียดเบียน ด้วยการเจริญสติในกรรมฐาน ๕ ก็หรือกายคตาสติ สติปัฏฐาน ๔
สติสัมโพชฌงค์ ๗ คือมรรคข้อ ๗ คือ สัมมาสติ (สติชอบ)เราจะเห็นการปรุงแต่งน้อยลงๆ
ในที่สุดก็หมดไป ถ้ายินดีอะไร ความรู้แจ้งนี้จะไปสอนจิต
จิตก็จะถอนตัวออกจากความยินดีทั้งหลายเหล่านั้น ทำให้เราสำรอกความยินดีออกได้
ทั้งนี้ต้องเห็นแจ้งด้วยตาใน ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ อย่างเช่นหมอ พยาบาลเห็นคนไข้
รวมทั้งสัปเหร่อล้วนเห็นคนตายมามากมายก็ยังมีราคะมีความยินดีในกามอยู่
เพราะเห็นข้างนอกไม่เห็นข้างใน ธรรมชาตินี้ปกปิดไว้มิดชิดมาก
แต่เมื่อจิตเห็นตนเองเท่านั้นชนะได้ ทั้งๆที่ตาลืมๆนี้แหละ เพราะเห็นโทษ
ราคะมีก็มีอารมณ์
ราคะไม่มีอารมณ์ก็ไม่มี ความพ้นทุกข์ตรงนี้ มันเกี่ยวโยงกับอะไรมากมาย เช่น
ปฏิจจสมุปบาท(การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น) การเวียนว่ายตายเกิด
ล้วนเกิดจากการปรุงแต่งทั้งหมด เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป
คนไม่มีอารมณ์นั้นมีอยู่ บุคคลทำได้มีในโลกนี้มีอยู่
ข้อวัตรปฏิบัติที่มีอยู่ในโลกนี้ พิสูจน์ได้เลยในปัจจุบันนี้แหละให้รู้ไปเลย
ไม่ต้องรอชาติหน้า จะรู้เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี
ความสงบมีทั้งกลางวันกลางคืน การทำความเพียรต้องทำให้มากทำตลอดเวลา ไม่ใช่เห็นแจ้งในร่างกายหรือขันธ์
๕ แล้วหาย ความเห็นหายลืมเลือนไม่ได้ เช่น เห็นศพคนตายข้างถนนก็เกิดสลดสังเวชใจ
แต่พอไม่นานเห็นคนสวยคนหล่อก็กลับไปยินดีอีก
เราต้องเอาภาพศพคนตายที่เห็นมาประกบแจที่จิตตลอดเวลา เอามาไว้ที่ตัวเอง และให้เห็นเป็นศพตัวเอง
เหมือนเห็นซากผีดิบในตน เหมือนซากหมาเน่าในตน
ถ้าเห็นแล้วหายก็จะไม่มีกำลังพอให้จิตหยุดปรุงแต่งได้ เห็นคนสวยคนหล่อย้อนมาดูตัวเป็นซากผีดิบ
แล้วสอนตนเองว่า จะไปยินดีอะไรเล่า ! ดูร่างกายของตัวเองซิเป็นอย่างไร?
การทำสมาธิแบบนี้มีกำลังมหาศาลมาก
อารมณ์(กิเลส)ไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้อีก
เหมือนกับเราตัดหญ้าแล้วนำมาตากให้แห้งสนิท แล้วนำมาสับๆแล้วนำไปเผาไฟจนกลายเป็นผุยผงไปหมด
มันจะงอกขึ้นมาอีกได้อย่างไร ถ้าเห็นแล้วมีอารมณ์อยู่อย่างนั้นไม่ใช่
จิตมันยังท่องเที่ยวอยู่ ต้องเอาตัวเราเป็นเครื่องอยู่
จิตนี้มีดวงเดียวถ้าเห็นข้างนอก ตัวเราก็ไม่เห็น ถ้าเห็นตัวเราข้างนอกก็ไม่เห็น
เหมือนเก้าอี้มีอยู่ตัวเดียวถ้าคนอื่นนั่งเราก็ไม่ได้นั่ง
จิตเราอยู่ข้างนอกคิดข้างนอกไม่ดูตัวเองมันจะคิดไม่หยุด เพราะยังยึดมั่นร่างกายเป็นตัวเป็นตนเป็นของเราโดยสัญชาติญาณ
มันคิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้
การมีอุปาทานยึดมั่นในตัวตน
อย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ตัวกู ของกู” ที่จริง ร่างกายทั้งร่างเป็นของว่างเปล่า
รู้แจ้งขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ขันธ์ ๕ เป็นเหมือนต้นกล้วยไม่มีแก่นสาร เหมือนพยับแดด
เหมือนฟองน้ำ และเป็นของหลอกลวง ซึ่งเราสำคัญผิดว่าเป็นตัวตนเป็นของตน
ความยึดมั่นของเรามีเมื่อไหร่ของๆเราก็มีเมื่อนั้น มานานุสัยก็ซ่านไปในโลก ทำลายตัวเราเสียก็ไม่มีของๆเรา นี่คือการดับระงับตรงนี้
สมาธิที่ไม่ตั้งมั่นก็จะตั้งมั่น ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าเรายึดเนื้อหนังเป็นของเรา
เมื่อเรารู้เห็นแบบแจ้งชัดในตัวเราแล้ว ก็จะรู้จักคนทั้งโลก ทีนี้จิตก็จะว่านอนสอนง่าย
จะคล้อยตามเราหมด เราเป็นนายของจิตแล้วทีนี้ เวลาจิตจะคิดอะไร เราต้องสั่ง และต้องขออนุญาตก่อน
ไม่ให้แล่นออกไปข้างนอกมันก็ไม่ไป บอกไปเที่ยวบ้างสิ มันก็ไม่ไปเพราะมันเห็นแจ้งในร่างกาย
จิตก็จะเบื่อหน่ายตัวเอง เมื่อเบื่อหน่ายตัวเองก็จะเกิดเบื่อหน่ายโลก
เมื่อเบื่อหน่ายโลกก็จะคลายความกำหนัดยินดีในโลก เมื่อคลายความกำหนัดยินดีในโลกก็จะคลายอารมณ์ของโลก
เมื่อคลายอารมณ์ของโลกได้แล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอารมณ์ของโลก(กิเลสตัณหา)
เพราะเห็นโลกนี้ไม่มีอะไรมีสาระแก่นสาร เมื่อก่อนจิตมันจะคิดจะไปตะพึด บอกหยุดๆ ห้ามมันก็ไม่หยุด หัวเราะใส่ด้วย เยาะเย้ยด้วย
เมื่อเราเอาชนะตนเองได้แล้ว จิตก็เป็นหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวตลอดกาล ไม่มีการกลับกลอก
ไม่มีการไป ไม่มีการมาอีก
เราก็สบายแล้วทีนี้
เพราะเราเอาชนะอารมณ์ได้แล้ว ......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น