วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รู้แจ้งขันธ์ ๕ พาสิ้นทุกข์..พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ






รู้แจ้งขันธ์ ๕ พาสิ้นทุกข์
พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
*******

การปฏิบัติธรรมมี ๒ แนวทางใหญ่ๆ  แนวที่หนึ่งเป็นแนวอบรมมรรคจริงๆ จะใช้ปัญญานำหน้าตลอด มีการวิเคราะห์ การพิจารณา ให้รู้ตามความเป็นจริงในคำสอนของพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าปัญญานำหน้า แล้วสมาธิจะตามมาทีหลัง วิธีนี้จะช้าแต่แตกฉาน กว้างขวาง ลุ่มลึก  ส่วนวิธีที่สองเป็นแนวสมาธินำหน้าปัญญาตามหลัง ถ้าใช้สมาธินำหน้าปัญญาตามหลัง จะไม่มีการวิเคราะห์ ไม่มีการพิจารณาแบบนี้ เอาจิตเป็นสมาธิอย่างเดียวแล้วเอาสมาธิพิจารณาตัวเลย หลังจากที่เราเก่งสมาธิแล้ว ก็หันมาพิจารณาตัวเราให้แจ้ง ก็รู้แจ้งขันธ์ ๕ เหมือนกัน อย่างนั้นจะเร็ว แต่ข้อเสียก็คือว่าไม่แตกฉาน ไม่รอบรู้กว้างขวาง ไม่ละเอียดพอ แต่ก็พ้นทุกข์ได้
เพราะฉะนั้น กรรมฐานสองแบบ  จึงดีคนละแง่ เสียคนละแง่  แต่ถ้าว่าตามองค์มรรคจริงๆแล้ว จะเป็นปัญญานำหน้าคือสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) และผลของการฝึกปฏิบัติที่มีปัญญานำหน้าจะละเอียดกว่า ปราณีตกว่า และมีผลสมบูรณ์แบบกว่า ทุกคนที่ปฏิบัติในกรรมฐานทุกจริต ทุกแนวทาง จะต้องมารู้แจ้งขันธ์ ๕ ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่รู้แจ้งขันธ์ ๕ เป็นไปไม่ได้เลยว่าคนนั้นจะพ้นทุกข์โดยชอบหรือจะเข้าถึงนิพพานได้

ขันธ์ ๕ เป็นตัวหลักของการเรียนรู้ การรู้แจ้ง แต่การรู้แจ้งของขันธ์ ๕ นี่มีองค์ประกอบปลีกย่อยเข้าไปอีก รู้แบบไหนที่ว่ารู้ถูก รู้แบบไหนที่ว่ายังไม่ค่อยถูก ที่ว่ารู้ถูกจริงๆ ด้วยปัญญาจริงๆ ก็คือรู้ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕  รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายออก รู้ปฏิปทาออก
รู้จักรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง
รู้ความเกิดของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง 
รู้ความดับของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง 
รู้คุณและโทษของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานตามความเป็นจริง    
รู้อุบายออกจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง 
รู้ปฏิปทาออกจากรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตามความเป็นจริง

กรรมฐานใดก็แล้วแต่ถ้าออกนอกตัวหรือไม่เห็นตัวแล้ว กรรมฐานนั้นถือว่าเป็นวิปัสสนู ผิด ! กรรมฐานใดที่เห็นตัวเองถือว่าเป็นวิปัสสนาได้ เห็นแจ้งตัวเราเอง คือ เห็นอาการ ๓๒ ซึ่งเห็นยากเหลือเกิน ไม่ใช่เห็นได้ง่ายๆ ลองไปทำดูเถอะ ยากเย็นแสนเข็ญ เห็นยากจริงๆ ตัวเราเนี้ยะ เราต้องทำตัวเราให้แจ้งชัดขึ้นมา เราก็จะเห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ ตามนั้น 

สมมุติว่าเรานึกเห็นตัวเองจากจุดใดจุดหนึ่ง จากที่ไม่เห็นหรือที่มืดๆอยู่ เมื่อเรานึกไปเรื่อยๆๆ ทำไปเรื่อยๆๆ ก็จะเริ่มเห็นลางๆ เราก็ทำต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่หยุด เราก็จะเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆๆๆๆ การเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆๆๆๆ จนกระทั่งการเห็นลุกลามไปทั่วสรรพางค์ร่างกาย แล้วก็เห็นร่างกายตามเป็นจริงตั้ง แต่ศรีษะถึงปลายเท้า ความเห็นตรงนี้ จะแจ้งทั้งกลางวันทั้งกลางคืน แจ้งหมดเลยตั้งแต่ศรีษะถึงปลายเท้า สว่างไสวชัดเจน ชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ จิตก็จะสว่างมากขึ้นๆ อย่าลืมว่าคนที่เห็นแจ้งคือเห็นแจ้งตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไม่ใช่นั่งตรงนี้แจ้งแล้ว  แล้วก็หายไป  ไปแจ้งวันใหม่นั้น ไม่ใช่ ! ไม่ใช่อย่างนั้น แจ้งแล้วแจ้งเลย แล้วการแจ้งนั้นเห็นตลอดเวลา เขาจะไม่มีการดับของการเห็นเลยตลอดชีวิต หมายถึงเมื่อเขาเห็นตัวเองแล้ว ก็จะเอาความเห็นแจ้งนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต เมื่อเป็นเครื่องอยู่ ก็แสดงว่าจิตอยู่ในตัวตลอดเวลา แล้วจะไม่มีการหวนกลับไปอยู่ข้างนอกอีกต่อไป ทำให้จิตคนนั้นขาดออกจากภายนอกได้ เพราะจิตไปตั้งอยู่ภายในร่างกายเสียแล้ว

ฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งชัดขึ้นมาแล้ว ก็อาศัยความแจ้งนั้นเป็นเหตุ เป็นสักขีพยาน เห็นตัวเองตามความเป็นจริง รู้แจ้งว่าตัวเราทั้งหมดประกอบด้วยกายกับใจ ไม่มีอะไร ที่มีสาระแก่นสาร เมื่อก่อนเรารู้ เราเข้าใจแต่มันไม่ได้เห็น คือไม่เห็นตรงนี้หมายถึงไม่ได้เห็นทางจิต อย่างที่บอกว่าหลับตาดูสิว่าเห็นหน้าตัวเองรึเปล่า มืดตึ๊บ นั่นคือการเข้าใจเฉยๆ แต่จิตมันไม่เห็น เมื่อไม่เห็น จิตไม่มีคำตอบออกมามันก็ไม่ยอมรับ ในชีวิตของเรามีกายกับใจ เรารู้ว่าเราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เรารู้ว่ากายต้องตายในวันข้างหน้า เรารู้ การรู้การเข้าใจตรงนี้ มันเป็นแค่สัญญา แต่จิตมันไม่ได้เห็น จิตนี้ยังมีปลีกย่อยอีกเยอะมาก
คำว่า ธาตุรู้ของจิต แบ่งส่วนรับผิดชอบหน้าที่ออกไปอีก ๔ อย่าง จะเริ่มเห็นด้วยตาในของเรา เห็นกายกับใจเรานี่แหล่ะแบ่งออกเป็นขันธ์ ๕ กาย ๑ ใจแบ่งเป็น ๔ รวมเป็น ๕ พอดี เราเข้าใจว่ากายเราประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เราเข้าใจ แต่ว่าจิตมันไม่ได้เห็น แต่บัดนี้เห็นแล้ว แจ้งเพราะบำเพ็ญมา อบรมมา ก็มาเห็นความจริงทั้งหมดว่า ตัวเรามีอะไรเป็นอะไรอยู่ เมื่อเห็นความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ก็มาเห็นความเป็นจริงของขันธ์ทั้ง ๕ ตามเป็นจริง คือเรามีอยู่สองร่างนะ ร่างนี้คือรูปหยาบประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เขาเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ แต่ตัวเรายังมีร่างละเอียดซ้อนอยู่ในนั้น เขาเรียกว่า อุปาทายรูปหรือกายทิพย์ สองอย่างรวมเป็นหนึ่ง เขาเรียกว่ารูปนั่นเอง ฝ่ายของใจแบ่งเป็น ๔ อย่าง เรียกว่า นาม  การรู้แจ้งนั้น รู้แจ้งอะไร ก็รู้แจ้งในกายใจเรานี่เอง กายนี้ ตาในเราเห็นหรือยัง เมื่อตาในเริ่มเห็นตัวเองขึ้นมา เราก็จะเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามเป็นจริง ย่อมเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ว่าตัวเราทั้งหมดไม่มีอะไร เพราะจิตเป็นตัวเห็น เขาก็จะได้คำตอบมาว่า ตัวเราทั้งหมดตั้งแต่ศรีษะถึงปลายเท้าปรากฏว่าเป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่เรา ไม่ได้เป็นของเรา เราหลงเพราะเราไม่รู้เรื่องของขันธ์ ๕ พอเราเห็นความเป็นจริงตรงนั้น หาได้มีเราในที่นั้นไม่ จึงเกิดการพลิกผันของจิตว่า ความเห็นของจิตว่านั่นเป็นเรา เราเป็นขันธ์ ๕ แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย เป็นความเข้าใจผิดของจิตเอง ขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า  การเห็นแจ้งในร่างกายนั้นเป็นพยานแก่จิตเอง เพราะจิตเป็นตัวเห็นเอง จิตเริ่มจะจำนนต่อหลักฐาน และละสักกายทิฏฐิที่ตรงนี้ ดังนั้น ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เป็นแหล่งกำเนิดของความคิด เคยถามตัวเองไหมว่า ความคิดตัวเองมาจากไหน มันเกิดตรงไหน เกิดที่จิตนั้นมันเป็นปลายเหตุ อะไรเป็นต้นเหตุ มันเกิดที่ตรงไหน แต่ตอนนี้เราได้คำตอบแล้ว เมื่อเราเห็นตัวเองแจ้ง คือแจ้งในขันธ์ ๕  และรู้ว่า อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ การที่จิตรู้ตรงนี้เขาเรียกว่า  รู้อริยสัจ ๔  

อ๋อ ! ข้ารู้แล้วว่านี่แหล่ะเป็นเหตุของทุกข์ ทุกข์ทั้งมวลที่จิตคิดไปทั้งหมด นำมาซึ่งความทุกข์มากมาย และเหตุของมันอยู่ตรงนี้เอง การดับทุกข์ก็ดับตรงนี้เอง การกำจัดความยินดีในตัวเองนั้นออกเสีย คือการดับทุกข์(นิโรธ) ฉะนั้นการดับทุกข์หรือหนทางการดับทุกข์ก็คือมรรคมีองค์ ๘ เราได้คำตอบนี้ เมื่อเห็นตัวเองแจ้งขึ้นมา ซึ่งคำตอบตรงนี้จิตเองเป็นผู้ได้คำตอบเอง จิตเริ่มเห็นโทษในตัวเอง เขาเห็นความหลงของเขา และก็สมัครใจที่จะหยุดเอง คนนั้นแทงอริยสัจ ๔ ได้ คนนี้ถึงจะหยั่งเข้าสู่กระแสพระอริยเจ้า คือจะเริ่มเป็นพระโสดาบันได้

อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยว่าบุคคลนี้เป็น  พระโสดาบัน หนึ่งการเห็นแจ้งตัวตนนั้นปรากฏขึ้น เขาเรียกว่า ดวงตาได้เกิดขึ้นแล้ว  เราลองทดลองว่าเราได้หรือยัง เราลองหลับตาดูซิ เราเห็นตัวเองแจ้งไหม ถ้ามืดตึ๊ดตื๋อ ยังไม่ได้ ! พิสูจน์ง่ายนิดเดียว  บอกว่าไม่ได้อย่างไร เข้าวัดมานานแล้ว เป็นสิบๆ ปีแล้ว น่าจะได้ ไม่รู้แหล่ะ ดูนี่ว่าแจ้งรึเปล่า ถ้าไม่ คนนั้นยังไม่ได้ !    ตาในมันบอด ดวงตายังไม่เกิด ยังไม่เปิด ที่บอกว่าดวงตาเห็นธรรมก็คือเห็นแจ้งขันธ์ ๕    ต้องเห็นตัวเองแจ้ง ให้ค้นหาในความแจ้งนั้นว่า เราอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าเขาเห็นจริงว่า ไม่มีเราในนั้น ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ คนนั้นแหล่ะ เขาเรียกว่า ดวงตาเห็นธรรม ดวงตาที่สามเกิดขึ้นแล้ว จักขุได้เกิดขึ้น แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว ก็คือความหมายของคำว่า ตาในนี่เอง ฉะนั้นในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เกี่ยวกับว่าจักขุได้เกิดขึ้นแล้ว แก่พระอัญญาโกณฑัญญะก็คือเห็นแจ้งตรงนี้ ขันธ์ ๕ นี้เอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน เห็นแจ้งขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง   เห็นตามจริงขึ้นมาแล้ว ก็เข้าใจเลยว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕  มันต้องมีการเห็นขึ้นมาก่อน  ไม่ใช่ว่าเราจะเข้าใจเอา เราจะคาดเอา เราจะเดาเอา ไม่ใช่ ! ปัญญาไม่ใช่เข้าใจอย่างเดียว มันต้องแจ้งออกมาด้วย ! เพราะฉะนั้นการแจ้งตรงนั้นเองจะเป็นสักขีพยาน เมื่อแจ้งแล้วจะแจ้งเลย แจ้งตลอดเวลา แล้วจะไม่เสื่อมด้วย บุคคลนั้นก็จะเป็นการทำสมาธิที่ไม่เสื่อม มีสมาธิอยู่ตลอดเวลา แล้วก็สมาธิที่ว่าเห็นแจ้งอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา แจ้งอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดจนวันตาย  จะไม่มีการดับเลย ถ้าดวงตาดวงนั้นเปิดขึ้นแล้ว จะไม่มีดับตลอดไป การปฏิบัติถึงจะยากอย่างไร ก็จะต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ บุคคลนั้นเมื่อเห็นตัวเองแจ้งขึ้นไปๆๆๆๆ ไม่ว่าหลับตาลืมตา อยู่ในที่มืดที่สว่าง ไม่มีความหมายอะไรเลย เวลาหลับตาเห็นเท่ากับเราลืมตา กลางคืนเห็นเท่ากับกลางวัน  กลางวันก็เห็นเท่ากับกลางคืน ตาในเปิดแล้ว ตานอกไม่สนใจเลยว่า จะลืมตาหรือหลับตา ไม่เกี่ยว สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา นั่นคือตาในมันเปิด !  ตาในนี้เห็นอยู่ตลอดเวลา คงที่ อันนั้นเขาเรียกว่าตาในมันเปิด ไม่เหมือนเราตานอกเปิดอย่างเดียว ตาในมืด เวลาหลับตาก็มืดมองไม่เห็น ลืมตาก็เห็นตัวเอง แต่หลับตา ตาในตาใจของเรามองตัวเองไม่ได้  มองไม่เห็นเลยนั้น เพราะไม่ได้อบรมมรรคนั่นเอง เมื่ออบรมมรรคแล้วจะแจ้งสว่างไสว และความเห็นตรงนั้นจะเป็นสักขีพยานให้เรา เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งอย่างนั้น ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และก็เกิดการเข้าใจขึ้นมาจึงรู้อริยสัจ ๔ ได้  ดังนั้นอริยสัจ ๔ จึงรู้ได้ยาก เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้ง รู้เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ได้ ก็รู้ความเกิด ความดับ คุณโทษ อุบายออก ปฏิปทาออก ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ได้ จึงสามารถจะเข้าใจในระบบว่า ทุกข์ เหตุของทุกข์ การดับทุกข์ ปฏิปทาที่นำมาสู่การดับทุกข์  หยั่งสู่กระแสพระอริยเจ้า  มีสติปัญญาเห็นตัวเองแจ้ง สว่างไสวอยู่เสมอ เกิดญาณ เขาเรียกว่า ญาณทัสสนะ

ฉะนั้น ญาณทัสสนะก็คือสมาธิชนิดหนึ่ง แต่เป็นสมาธิที่ตื้นๆ แต่ยิ่งใหญ่กว่า และเป็นสมาธิที่คงทนถาวร และไม่เสื่อม ต่างจากสมาธินิ่งที่เราทำครั้งแรก การเอาจิตนิ่งอยู่ในจิตเองเป็นสมาธิชนิดหนึ่ง การเอาจิตที่มาเห็นกายและแจ้งขึ้นมา แล้วก็อาศัยการเห็นนั้น มาตั้งไว้เป็นเครื่องอยู่ของจิตเป็นสมาธิอีกชนิดหนึ่ง  ฉะนั้น ชนิดหลังนี้เป็นสมาธิในอริยมรรค  ชนิดแรกเป็นสมาธิในโลกีย์  สมาธิทั้งสองเกิดขึ้นแก่เราทั้งหมดเลย  แต่ว่าเราเน้นญาณทัสสนะนี้ก่อน  ดังนั้นญาณทัสสนะตัวนี้จะเป็นตัวรู้เห็น  ทำให้เราเห็นแจ้งขันธ์ ๕ และความเห็นแจ้งตรงนี้ จะสว่างไสวทำให้เรารู้ความเป็นจริงว่าตัวเรามีองค์ประกอบอย่างไร  อันนี้แหล่ะสาธุชนทั้งหลายว่าการทำที่สุดของทุกข์จะทำในลักษณะนี้ 

ยังไม่แค่จบลงตรงนี้ จากที่ดวงตาเปิดขึ้นแล้ว เมื่อบุคคลนั้นเห็นตัวเองแจ้งขึ้นไปๆๆๆ มากขึ้นๆๆๆ และก็เห็นตัวเองมากขึ้นตามลำดับอีก ก็จะทวีคูณขึ้นไปอีก คนนั้นก็จะชัดขึ้นไปๆๆๆ เห็นตัวเราทั้งหมดทั้งข้างนอกข้างใน เห็นข้างนอกยังไม่พอ ต้องไปเห็นข้างใน เห็นตับ ไต ไส้ พุง น้ำเลือด น้ำเหลือง อุจจาระ ปัสสาวะ เห็นชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ จนปรากฏว่าเห็นตัวเองเหมือนซากศพผีดิบ ซากศพเคลื่อนที่ว่างั้นเถอะ เมื่อเราเห็นสรีระของเราทั้งหมดตามเป็นจริงขึ้นมา ก็ย่อมเบื่อหน่าย เหมือนซากสุนัขเน่าๆ นั่นเอง เห็นไปๆๆๆ ชักจะเบื่อตัวเอง เพราะเห็นว่า ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่เน่าเหม็น ตั้งแต่ยังไม่ตายก็ปรากฏเป็นของปฏิกูลอยู่เนืองนิตย์ ถ้าทุกคนไม่เห็นอย่างนี้ ไม่มีทางออก คือ กิเลสออกไม่ได้ การที่จะให้จิตคลายกิเลส ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ไม่มีอำนาจพอที่เขาจะคลายได้ ฉะนั้น ก็เบื่อเห็นตัวเอง เมื่อกักจิตไว้ภายในร่างกายตลอดเวลา ก็เกิดการเบื่อหน่าย เหมือนแบกศพตัวเองอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน ทำให้เราเห็นตามจริงขึ้นมา การให้ค่าว่าตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่มีแล้ว ความเป็นหญิงเป็นชายก็สิ้นไป ราคะ โทสะดับสนิทถาวร สิ้นไปแล้วการหวนกลับ จะไม่มีอีกเลย เพราะความรู้โดยชอบ บุคคลนั้นรู้ความจริงเห็นแจ้ง จากการค้นหาความเป็นแก่นสารของขันธ์ ๕ และเห็นว่าเราไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร  เมื่อบุคคลนั้นเห็นว่าสาระแก่นสารไม่มีในที่นี้  ที่นี้ไม่มีสาระแก่นสาร ก็เกิดการเบื่อหน่ายตัวเองทั้งหมด เพราะประกอบด้วยสิ่งที่ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ก็เกิดการเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายตัวเองเท่าใด ก็คลายความยินดีตัวเองเท่านั้น คลายความยินดีตัวเองได้เท่าใด นั่นหมายถึงจิตคายความเป็นโลกได้เท่านั้น เพียงแค่คลายความยินดีในตัวเองเท่านั้นเอง อย่างอื่นจะคายไปเอง โดยไม่ต้องทำอะไรเลย มันเป็นผลพลอยได้ จากการเบื่อหน่ายตนเองเท่านั้นเอง ขอให้เห็นแจ้งก่อน ความเบื่อหน่ายจะปรากฏขึ้นมาเอง ขอให้แจ้งอย่างเดียว

มันมีปัญหาตรงที่ไม่แจ้งนี่แหล่ะ  ถ้าแจ้งขึ้นมาแล้ว กลายเป็นว่าจิตเราเห็นตัวเองแจ้งขึ้นมาๆๆๆๆ  แล้วก็เปลี่ยนความเห็น เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปตามลำดับ ในที่สุดก็สรุปได้ว่า เราไม่เห็นตัวเรามีอะไรดีเลย เมื่อเราไม่มีอะไรดี ความยินดีในโลกเราก็ไม่ควรจะมีแก่เรา ทีนี้เมื่อเห็นตัวเองมากขึ้นๆๆๆๆ ความเห็นตรงนี้แก่กล้าจนถึงขีดสุด เราก็จะเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้  ก็เกิดการเบื่อหน่ายตัวเองได้ขึ้นมาๆ เห็นแล้วยังไม่พอ ต้องเบื่อหน่ายด้วย เบื่อหน่ายตัวเองยังไม่พอ ให้คลายความยินดีในตัวเองออก จิตก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองมาทางที่ถูกแล้ว คือว่าเราไม่ควรไปไหนอีกแล้ว วางโลกเสียเถอะ บัดนี้เราอบรมมรรคมาแล้ว จิตเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง เห็นว่าเราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เลยเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ว่าต่อไปนี้ อุบายออกก็คือว่าเราจะอำลาโลกแล้ว อำลาในที่นี้หมายถึงว่า เราจะอำลาอารมณ์ของโลกทั้งหมด ว่าเราไม่ควรไปคลุกคลีกับอารมณ์ของโลกนี้อีกเลย จิตก็จะคลายอารมณ์ออกๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของจิต ทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป

จนในที่สุดจิตก็ยุติตัวเองว่า บัดนี้ข้าเบื่อร่างกายตัวเองเหลือเกิน เมื่อก่อนข้าไม่เห็นตัวเองว่า ตัวเองมีอะไร บัดนี้มาเห็นแล้วก็ค้นหาความเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ ข้าก็เลยเบื่อ จิตก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้น ข้าขออำลาแล้ว ข้าเห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า โลกนี้ไม่น่ารื่นรมย์อะไร เมื่อก่อนข้ารื่นรมย์เพราะข้าไม่เข้าใจ บัดนี้เข้าใจแล้วว่าโลกไม่มีอะไร มันเป็นเกมอันหนึ่งเท่านั้นเอง ที่หลอกล่อคนเขลาให้ติดอยู่ แต่ผู้รู้หาได้ข้องไม่ บัดนี้เราเข้าใจโลกดีว่า โลกทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้าอย่างนั้นเราเลิกพฤติกรรมทางจิตออก จิตเริ่มปิดตัวเองลงว่า ข้าขอเลิกแล้วกับโลกนี้ เพราะรู้โลกโดยความเป็นโลก ปิดตัวเอง คืออายตนะ ๖ ทำงานไป แต่จิตไม่ได้ร่วมไปด้วย การคิดปรุงแต่ง(สังขาร)ปิดฉากลง เชื้อของความคิดหมดแล้ว ความสิ้นสุดของความคิด ทำให้จิตนั้นจะไม่มีการไป ไม่มีการมาแล้ว จิตดับสนิทต่อการผูกโยงกับโลกนี้ต่อไป เป็นอันว่าคนๆนี้ที่อยู่ในโลกนี้ จิตของเขาจะไม่มีการล่องลอยออกไปให้ปรากฏอีกเลย คนนั้นที่เห็นตัวเองแจ้งแล้วก็หยุดสนิทเลยนี้ คนนั้นก็เรียกว่าเป็น พระอนาคามีบุคคล พ้นระดับหนึ่ง หลังจากนั้นการพิจารณาตัวก็จบลงไป ไม่มีการทำอีกแล้ว เพราะแจ้งแล้ว และแจ้งตัวนี้ ก็จะไม่ดับไปอีกเลย แจ้งสว่างไสวอย่างนั้นตลอดเวลา จนถึงวันตาย 

แต่ยังไม่จบกิจ ยังมีอีกเยอะ ดูสิ ยากขนาดไหน จิตนี้ไม่มีไปทางหู ทางตา ทางอายตนะ ๖ คือดับกิเลสประเภทชั้นต้นได้แล้ว กิเลสแบ่งประเภทเป็นชั้นต้นกับชั้นปลาย เขาเรียกว่าสังโยชน์เบื้องต่ำกับสังโยชน์เบื้องสูง

แล้วทำยังไงต่อ ? เราเอาสมาธิทีแรกที่นิ่งอยู่ในจิต เอามาทำต่อ ผู้ที่ได้พระอนาคามีจะไม่พิจารณาตัวแล้ว เพราะแจ้งในขันธ์ แล้ว เขาจะเริ่มเดินสมาธิอย่างเดียว เดินไปจนถึงอรูปฌาน แล้วเอาจิตน้อมถึงภพชาติ น้อมไปทางระลึกชาติ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้ได้  รู้ภพชาติคนอื่นได้(จุตูปปาตญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้รู้ภพชาติของผู้อื่น เพราะอำนาจของจิตที่รู้แจ้งขันธ์ ๕ ยังไม่มีอำนาจพอที่จะทำให้รู้แจ้งภพชาติได้ เพราะการรู้ภพชาติต้องใช้ฌาน การรู้แจ้งขันธ์ ๕ นั้นเป็นญาณ  ญาณกับฌานต่างกันไป ฉะนั้นเมื่อทำฌานขึ้นมา ถึงจะรู้ภพชาติตัวเอง รู้ภพชาติคนอื่นได้ แล้วสรุปผลของการรู้ภพชาติตัวเองและผู้อื่นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่ละชาติเกิดเพราะกิเลสของเรานั่นเอง ได้เหตุผลตรงนั้น มาสรุปอีกทีหนึ่ง จึงจะทำให้รู้แจ้งทะลุปรุโปร่ง แล้วถึงจะหมดอาสวะ(อาสวักขยญาณ) ความรู้(ญาณ)ทำให้สิ้นกิเลส บรรลุเป็น พระอรหันต์ แล้วการประพฤติปฏิบัติถึงจะจบลง  หลังจากเป็นพระอรหันต์แล้ว จะได้ของแถม เขาเรียกว่าคุณวิเศษ ได้แก่ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ ปฏิสัมภิทา ๔ ก็จะเกิดตามเป็นผลพลอยได้ พระประเภทนี้จะมีครบหมดทุกอย่าง และสมบูรณ์แบบ  ได้ทั้งปัญญาวิมุตติ และเจโตวิมุตติ หลุดพ้นโดยชอบ บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของการฝึกทั้งหมด  เป็นผู้ฝึกตรงมรรคมีองค์ ๘ ตรงอย่างสมบูรณ์แบบ อันนี้เขาเรียกว่า  ปฏิบัติถูกต้อง


******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น