วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สุดยอดของกรรมฐานทั้งปวง 20...พระจรัญ ทักขญาโณ



สุดยอดของกรรมฐานทั้งปวง
พิสูจน์ได้ในภพนี้ชาตินี้
โดย ...พระอธิการจรัญ  ทกฺขญาโณ
วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี)
หมู่ที่ ๗ ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
เทศน์งานประชุมพระกลางพรรษา คืนวันที่ ๑๐ กันยายน  ๒๕๕๔ 
คัดลอกจาก You Tube
*****
การประพฤติปฏิบัติธรรม มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะเปลื้องจิตออกจากอารมณ์ของโลกให้ได้ อารมณ์ของโลกคือกิเลส หรือการคิดปรุงแต่งทั้งหมดทั้งดีและชั่ว เนื่องจากจิตของเราผูกพันกับโลกนี้มาโดยตลอดและมานาน นานแค่ไหน แค่เราจำได้ตรงนี้ก็พอว่า เราลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ คนแรกๆ ที่รู้จักคือแม่ พ่อ พี่ น้อง ญาติ เพื่อนฝูง ตลอดไปถึงสังคมในโลกกว้างที่เราโลดแล่นอยู่ในขณะนี้ จนถึงวันนี้ เท่ากับจิตเราถูกโยงกับโลกนี้มาตลอด อาการผูกโยงกับโลกนี้  ทำให้จิตของเรานี้ถูกตรึงไว้อยู่กับโลก และมันไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อร่างกายนี้ตายไปแล้ว จิตของเราไปอยู่ที่ไหน จิตจะเป็นเมล็ดพืชเพาะพันธุ์ใหม่ขึ้นมา แล้วเกิดขึ้นมาอีก ซึ่งไม่ต่างจากต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ที่มีการสืบเผ่าพันธุ์มีลูกมีหลานของตัวเอง และเกิดเป็นภพชาติต่อไป เอื้ออำนวยให้คนที่จะเกิดก็มาเกิดกับเรา เราตายแล้วก็ไปเกิดกับคนอื่น เอื้ออำนวยซึ่งกันและกันไป  จึงเป็นที่มาของการเวียนว่ายตายเกิด
ฉะนั้น ทุกข์ทั้งหมดมันไม่ได้หมายถึง ความโยงใยของจิตแค่ที่มันโยงใย ถ้าจิตนี้ถูกโลกพันธนาการไว้ ถ้าตายแล้วก็แล้วกันไป เราไม่ต้องแก้ไขอะไร ก็อดทนหน่อย รอวันตายเท่านั้นเอง ตายแล้วก็จบกันไป แต่มันไม่ได้จบแค่นี้ ละครโรงนี้ ยังไม่จบแค่นั้น แต่ว่าเราจะต้องแสดงละครตัวต่อไปอีก คนๆเดียวกันนั่นเอง เปลี่ยนชุดละครเท่านั้นเองว่า เราจะแสดงบทอะไรต่อไป
ฉะนั้น ความลับอันนี้ จึงเป็นความลับที่โยงใยกันระหว่างชาตินี้กับชาติต่อไปอีกมากมาย  ทำให้เราไม่สามารถที่จะรู้ทีเดียวว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังคืออะไร แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้หมายถึงว่า ให้เราต้องรู้สิ่งเหล่านั้นก่อน ท่านบอกให้รู้ปัจจุบันก่อน แม้สิ่งเหล่านั้นจะโยงใยถึงอดีตอนาคตปัจจุบันก็ช่างเถอะ แต่ให้รู้ปัจจุบันก่อนว่า  จิตเราถูกตรึงกับโลกนี้ มันทุกข์มาก คือเราไม่มีความเป็นอิสรภาพ ถ้าเกิดว่าจิตดวงนี้พ้นจากความตรึงตรงนั้นได้ คนนั้นคือหลุดพ้น ที่เราเคยได้ยินคำว่า หลุดพ้น
หลุดพ้นนี้ คือหลุดพ้นจากอารมณ์ของโลก(คือสังขารหรือการคิดปรุงแต่ง ได้แก่กิเลส) ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมทั้งหมดต้องมีจุดหมายปลายทางเดียวกันว่า ทำอย่างไรจิตของเราจะหลุดพ้นออกจากโลกใบนี้ หลุดออกจากอารมณ์อันนี้  หลุดจากอารมณ์ของโลกทั้งหมด แล้วมันจะหลุดพ้นได้หรือ หลุดได้ ! ไม่ใช่หลุดไม่ได้ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายท่านหลุดพ้นไปก่อนหน้าแล้ว และเราเองเป็นผู้ที่จะเดินทางตามต่อไป
       ความหลุดพ้นตรงนี้ จึงเป็นการหลุดพ้นแล้วไม่หวนกลับมาสู่การมีอีก เมื่อไม่หวนกลับมามีการมีอีก คนนั้นก็เป็นชาติสุดท้าย เหมือนเมล็ดข้าวเมื่อกระเทาะเปลือกออกไปแล้วก็เป็นข้าวสาร เมล็ดข้าวสารนั้นก็ไม่สามารถสืบเป็นต้นกล้าใหม่ต่อไปอีก เปลือกที่หุ้มเมล็ดอยู่นี้เองทำให้เกิดเป็นกล้าใหม่ขึ้นมาได้ ฉันใด อารมณ์ของโลกก็เป็นเปลือกของจิตที่ห่อหุ้มตัวจิตไว้ ถ้าเรากระเทาะเปลือกทิ้งเสีย เปรียบดังข้าวสารไม่สามารถงอกเป็นกล้าใหม่ได้ จิตก็ไม่มีภพใหม่ชาติใหม่ได้ ฉันนั้น
ฉะนั้น เราจึงเห็นว่า ความลับนี้จึงเป็นความลับที่เรายังไม่มีความกระจ่างออกมา  ยังไม่แจ้งออกมา ก่อนที่เราจะมารู้สิ่งเหล่านี้ เบื้องต้นต้องหัดทำสมาธิก่อน คือหัดทำจิตที่ผูกพันกับโลกนี้ ให้หลุดออกมาจากอารมณ์ของโลก ชั่วขณะหนึ่งก่อน  ใช้คำว่า ชั่วขณะหนึ่งก่อน หมายความว่าเรายังไม่หลุดพ้นจริงๆ เราจะให้จิตของเราหลุดพ้น ชั่วขณะหนึ่งก่อน ก็ยังดีกว่ายังไม่หลุดพ้นเสียเลย การทำสมาธินี้ เราจะต้องทำให้จิตแยกจากอารมณ์แล้วให้มันนิ่งอยู่ ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของการทำสมาธิ  มีเปิดสอนกันหลายสำนัก และมีอุบายการสอนหลากหลายวิธี แต่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือทำอย่างไรจะให้จิตแยกตัวมันเองออกจากอารมณ์เหล่านี้ กว่าจะทำได้ก็ยากเย็นลำบาก แต่ถ้าทำได้ เรารู้สึกเลยว่า จิตของเราสบาย สงบระงับนิ่ง และมีความสุขมาก
สมาธิคืออะไร สมาธิ คือการแยกความรู้สึกของจิตออกจากอารมณ์ แล้วให้มันนิ่งอยู่กับตัวของมันเอง ฉะนั้น ถ้าบุคคลนั้นทำขึ้นมาได้ เราจะเห็นความเป็นอิสรภาพของจิต แล้วก็มีความสุขมาเป็นผล เราจะเห็นชัดเจนว่ามีความสุขจริงๆ ถ้าจิตนี้ไม่ผูกพันกับอารมณ์แล้ว จิตนี้จะมีความสุขมาก ทำให้คนๆนั้นเห็นคุณค่าของความสงบนั้นว่า นำมาซึ่งความสุข
แต่หลังจากนั้นแล้ว จิตยังไม่ถูกเคลียร์ด้วยปัญหาต่างๆ ไม่ได้สะสางให้ขาด หมายถึงว่า จิตนั้นเราเพียงแต่ดึงมาให้สงบได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ความผูกโยงระหว่างจิตกับอารมณ์ มันยังมีอะไรอีกมากมายที่ไม่ได้สะสางให้เรียบร้อย มันก็เลยหวนกลับไปไปสู่การมีอารมณ์อีก นี้คือปัญหา หลังจากเราออกจากสมาธิแล้ว จิตก็ผูกโยงกับอารมณ์โลกอีกต่อไป เราก็พยายามดึงเข้ามาอีก หลังจากนั้นมันก็กลับไปผูกโยงกับอารมณ์โลกต่อไปอีก มันก็ไปๆ มาๆ บางครั้งก็ทำสมาธิได้ บางครั้งก็ทำสมาธิไม่ได้ บางครั้งก็พอจะทำจิตให้สงบได้  บางครั้งเอาไม่อยู่เสียเลย ยามใดมีกระแสอารมณ์ที่แรงๆ เราก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ยามใดมีกระแสอารมณ์เบาๆ ก็พอจะตะล่อมให้เป็นสมาธิได้ บางครั้งก็เอาไม่อยู่เสียเลย
อันนี้แหละนักปฏิบัติ จะมาถึงตรงนี้แล้ว ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีสมาธิ แต่มีปัญหาว่า จิตนี้ไม่ถอนตนออกจากอารมณ์โดยเด็ดขาดถาวร  เป็นเพียงแต่ว่าถอนออกมาชั่วขณะ ชั่วคราวเท่านั้น ถึงแม้จะเป็นการชั่วคราว ชั่วขณะหนึ่งของจิต เราก็ได้รับความสุขไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วก็เป็นความสุขที่น่าพึงปรารถนา เป็นความสุขสงบระงับ ที่ไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า เกิดมานี้เราไม่เคยเห็นความสุขอะไร จะเทียมเท่ากับความสงบของจิตใจดวงนี้ แต่จิตดวงนี้สงบและมีความสุขเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น เมื่อถอยออกมาจากสมาธิแล้ว ทำไมจิตนี้กลับถูกโยงกับโลกต่อไปอีก จึงเป็นปัญหาของนักปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายและหลากหลาย ในระหว่างนี้ 
นักปฏิบัติประเภทที่ ๑ มองว่าในเมื่อจิตมันยังผูกโยงกับโลกอยู่ เราดึงเอามาให้สงบอยู่ เดี๋ยวมันก็ไปอีก หลังจากสงบแล้ว มันก็ไปผูกต่ออีก เมื่อสงบแล้วไปผูกต่ออารมณ์เหล่านั้นอีก ดังนั้น ถ้ามันจะคิดอะไร ให้เราตั้งความเป็นกลางไว้ เมื่อก่อนเราดีใจเสียใจ  แต่ตอนนี้พยายามประคองไว้ อย่าดีใจเสียใจกับมัน แต่จะให้มันหยุดจริงๆ มันหยุดไม่ได้หรอก แต่เมื่อมันไม่หยุด ก็ให้รักษาความเป็นกลางไว้
อันนี้ก็คือว่าหลังจากที่เราทำจิตให้ความสงบแล้ว ก็พยายามหาทางออกว่าต่อนี้ไป จะทำอะไรดีที่สุด ก็คือหาหยุดยืนของตัวเอง ในเมื่อจิตนี้ยังไม่ขาดจากโลกนี้ เพียงแต่เราทำให้สงบได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่ทำอย่างไรเราจะให้จิตของเราขาดจากโลกทั้งหมดนี้ มันก็ทำไม่ได้ มันได้เฉพาะชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะรักษาจุดยืนอะไรเล่า ที่เป็นหยุดยืนที่ดีที่สุด ก็มีมุมมองต่างกันไปว่า
คนอีกประเภท คือประเภทที่ ๒ มองว่าถ้าอย่างนั้นแล้ว เรารักษาความเป็นกลางไว้ หลังจากคิดดีไม่ดี พยายามอย่าโอนเอนกับมัน ฉะนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คนกลุ่มนี้ก็เคยมีความคิดว่า เขาเรียกว่า รู้เฉยไว้ มีอะไร ก็รู้เฉยไว้ เฉยไว้ๆ เราจะเห็นว่าการเฉยของเรานั้น จะมีอยู่ ๓ อย่าง
หนึ่ง ตัวนิ่ง   ตัวที่นิ่งนั้นเราพอประคองได้อยู่ เราสังเกตว่าเราจับที่ตัวนิ่งนั้น
สอง ตัวที่ไป  ตัวไปนั้นเป็นนิมิต (นิมิตเป็นอารมณ์ของสมาธิ)
สาม ตัวควบคุม  ตัวที่ควบคุมการไปการมาของจิต แล้วก็พยายามตั้งความเป็นกลางไว้  ตัวนี้ เขาเรียกว่า “สติ”  

สรุปได้ว่า ตัวหนึ่งนิ่งอยู่ ตัวหนึ่งไปอยู่ ตัวหนึ่งควบคุมอยู่ ตัวที่ไปนั้นคือจิตบางส่วนที่แบ่งส่วนไป จิต ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไปข้างนอก ๕๐ นิ่งอยู่ ๕๐ คืออยู่ข้างใน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ตัวที่คุมอยู่คือตัวสติ ตัวสติพยายามคุม ๕๐ นั้นไว้ คนเหล่านี้ก็พยามยามจะวางกฎเกณฑ์ว่า จะหาจุดยืนของตนเองว่าทำอย่างไร เราจะหาจุดยืนในสิ่งเหล่านี้ เมื่อจิตยังมีการผูกโยงกับโลก พยายามวางความเป็นกลางเอาไว้ บางครั้งก็คิดว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เดินทางสายกลาง ก็คิดว่าตรงนี้คือทางสายกลางแล้ว เป็นมรรคมีองค์ ๘ แล้ว คนนี้ ก็อีกประเภทหนึ่ง ความจริงไม่ใช่ แต่เขาเข้าใจไปตามนั้น ก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ตรงนี้ ไม่ใช่ทางสายกลางตรงนี้ ไม่ใช่เลย แต่ความเข้าใจของเขา เขาจะเข้าใจอย่างนั้น อันนี้ ก็คือคนกลุ่มนี้ ที่เข้าใจอย่างนั้น
คนอีกประเภทหนึ่ง เขารักษาตัวนิ่งอย่างเดียว ตัวไปนี้พยายามอย่าสนใจ แต่เราต้องมองนานๆ มองนานๆ ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น สมมุติว่าจิต ๕๐ เปอร์เซ็นต์นิ่งอยู่ อีก ๕๐ ไป แต่ส่วนหนึ่งสตินั้นเป็นตัวคุมเอาไว้ แล้วก็เมื่อเคลียร์ปัญหาตรงฝ่ายไปไม่ได้ ก็เคลียร์ปัญหาตัวที่นิ่งอยู่ รักษาตัวนิ่งเอาไว้ เพราะตัวนิ่งน่ารักกว่า แต่ตัวไปน่าชังมากกว่า เลยไม่สนใจตัวไปนั้นว่า จะสุขจะทุกข์อะไร  แล้วก็รักษาตัวนิ่งเอาไว้ เพราะตัวนิ่งนั้นเขาเรียกว่าน่ารักกว่า นำความสุขมาให้  ถ้าเราสังเกตนานๆนะ มันไม่ใช่ ๕๐: ๕๐ แล้ว มันจะ ๕๐: ๕๐ เป็นบางครั้งเท่านั้นเอง ถ้าเกิดว่าขณะนี้ ๕๐ อยู่ อีก ๕๐ ไป แต่ถ้าเกิดวันไหน เวลาไหน กระแสอารมณ์ของโลกนี้มากขึ้น จิตจะไปผูกพันมากขึ้น ด้วยขณะนั้นๆ อารมณ์นั้นถูกใจก็ดี ไม่ถูกใจก็ดี อารมณ์ของจิตก็จะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ออกไปมากขึ้นอีก จากข้างใน ๕๐  ข้างนอก ๕๐  อาจเป็นข้างนอก ๘๐ ข้างในเหลือ ๒๐ แล้วก็ขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งแรงมากกว่านั้นนะ หลุดไปเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เราก็พยายามควบคุมเกณฑ์ใหม่ จัดระเบียบใหม่ บางครั้งดึงเข้ามาได้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ บางครั้งอยู่ข้างในมากขึ้นอีกจนถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ข้างนอกแค่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์  บางครั้งอยู่ข้างใน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นิ่งสงบมาก อยู่ข้างนอกไม่มีเลย แต่บางขณะออกข้างนอกมากอีก ถ่ายเทโอนย้าย ถ่ายเทกันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย  ไอ้ตัวนิ่งอยู่ก็ไว้ใจไม่ได้ ไอ้ตัวไปก็ไม่ใช่ว่าน่าชังแล้ว และคิดว่ามันจะมีพรรคพวกแค่นั้น
สมมุติว่า ขณะนั้นจิตอยู่ข้างนอก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ข้างใน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เผอิญ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ไปเจออารมณ์ที่ถูกใจขึ้นมาหน่อย หรืออารมณ์ไม่ถูกใจขึ้นมา มันก็เรียกพรรคพวกของมันว่า อีก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มาช่วยด้วย มาช่วยกันหน่อย เราถูกรุมแล้ว จิตที่อยู่ข้างในก็เลยเฮกันไป ไปช่วย ๒๐ เปอร์เซ็นต์นั้น เพิ่มจำนวนขึ้นไปกลายเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อยู่ข้างใน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ บางครั้งหลุดไปเลยเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย เชื่อไหมว่า เพราะตัวนิ่งกับตัวไปเป็นเพื่อนกัน ยามนิ่งก็ดูเหมือนน่ารัก แต่ยามไปเหมือนกับเขาเป็นผู้ร้ายดีๆนี้เอง
ฉะนั้น ตัวนิ่งกับตัวที่ไป มันเป็นเพื่อนกัน ยามนิ่งก็ดูเหมือนน่ารัก แต่ยามไปมันเหมือนผู้ร้ายดีๆนี้เอง เพราะฉะนั้นตัวนิ่งกับตัวไปนี้ สรุปแล้วไว้ใจไม่ได้สักอย่าง เพราะมันเป็นเพื่อนกัน มันไปด้วยกัน แต่ที่มันไปนั้น อาจจะไปบางส่วนก่อน เดี๋ยวมันจะมาเรียกเพื่อนไป เราจะเห็นว่ามันน่ารักตรงนั้น  ยามน่ารักก็น่ารัก ยามน่าชังก็น่าชัง ฉะนั้นคนๆ นี้หาหยุดยืนอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ตลอดเลย จะไม่เห็นความที่สุดของมันเลยว่า จะทำอย่างไรต่อไป อันนี้คือคนทำกรรมฐานประเภทหนึ่ง ที่คนทำสมาธิแล้วมีอาการมาอยู่ตรงนี้
คนอีกประเภทหนึ่ง คือประเภทที่ ๒ มีแนวความเห็นว่า เราไม่ต้องควบคุมที่ตัวจิตนี้เพียงอย่างเดียว  เวลาจิตสงบแล้วมันไป ให้ตามดูตามรู้มันไป ตามดูตามรู้ๆมันไป มันคิดอะไร มองอะไร ทำอะไร ตามดู ตามรู้มันไป  อันนี้ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง นักปฏิบัติแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มมากเลยที่ทำสมาธิ ที่นี้เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ฝ่ายนี้เขาบอกว่า ตามดู ตามรู้จิต ถามว่าเขาตามไปแล้ว จะพบจุดจบไหม เพราะประเภทแรกหาที่จบไม่ลงเลย  ไอ้ตัวนิ่ง ตัวไปตัวเดียวกันเลย ยามนิ่งก็น่ารัก ยามไปมันก็ไปด้วยกันหมดเลย เราคิดว่าฝ่ายที่นิ่งแล้วนิ่งเลย ไม่ไปร่วมกับฝ่ายนั้น เออ ! มันก็แล้วกัน มันก็แยกประเภทไป มันไม่ไปร่วมแล้ว มันก็ขาดได้ในที่สุด แต่นี้มันไปร่วมกันเลย มันไปมันร่วมกัน ยามแยกมันก็แยกกัน ยามไม่แยก มันก็ไปร่วมกัน ประเภทที่ ๒  ตามดู ตามรู้จิต ประเภทนี้ก็มีมาก เมื่อถามว่าปฏิบัติอย่างไร เขาก็จะตอบว่า ตามดู ตามรู้จิต มันคิดอะไรก็รู้ พอรู้ก็ดับมันเสีย
จิตนี้ ก็เป็นธรรมชาติที่แปลก ถ้ามันคิดอะไร ถ้าเราไปจ้องมัน จ้องตัวคิด มันก็ดับไปแล้ว มันคิดอะไร ถ้าเราจ้องตัวคิด มันจะดับเลย ถ้าเรามองมันไม่ไป มันจะไม่ไป ถ้ามองมันอยู่ ขณะที่เรามองมันไม่ไป มันจะนิ่ง... พอคล้อยสายตาหน่อยไปแล้ว เมื่อไปแล้ว ดูมันอีก บางคนบอกว่า ดูการเกิดดับของมัน แล้วอะไรเกิด อะไรดับ ถามว่า อะไรเกิด อะไรดับ ก็อารมณ์หนึ่งเกิด อารมณ์หนึ่งดับไปถ้าคำว่าอารมณ์อย่างที่บอกว่า เราจะเปลื้องจิตออกจากอารมณ์ทั้งหมดของโลกใบนี้ออก คนๆนี้ ก็เปลื้องไม่ได้ เพียงแต่ไปดูอาการของมันว่า มันคว้าอารมณ์มาอย่างไร ปล่อยอารมณ์อย่างไร คว้าอย่างไร  ปล่อยอย่างไรเท่านั้น  
ไอ้ความเกิดดับ ถ้าพูดง่ายๆ ไม่อยากพูดคำนี้ว่า เกิดดับ อยากจะพูดว่า เหมือนลิงห้อยโหนอยู่บนกิ่งไม้ มันคว้ากิ่งไม้นี้ แล้วปล่อยกิ่งไม้นี้ ไปคว้ากิ่งไม้โน้นต่อ เมื่อปล่อยกิ่งไม้นี้แล้ว  ไปคว้ากิ่งไม้โน้นต่อไปเรื่อยๆ อยากพูดว่า เปลี่ยนอารมณ์ ดีกว่า คือเปลี่ยนจากอารมณ์นี้ ไปหาอารมณ์นี้ เปลี่ยนอารมณ์นี้ ไปหาอารมณ์นี้ คือเปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์หนึ่ง อารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์หนึ่ง เชื่อไหมว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ดู มันก็ไปอย่างที่เราเห็นนั่นแหละ แต่ขณะนี้เราไปดูมัน มันก็ไปอย่างที่เมื่อก่อนที่เราไม่ดูมันนั้นเอง มันไม่ต่างกันเลย ต่างกันตรงที่ว่า ดูหรือไม่ดูเท่านั้นเอง เมื่อเขาตามดู ตามรู้ไป เขาจะหาจุดจบที่ไหนของการทำได้  ไม่มีๆจุดจบของการกระทำ
ฉะนั้น คนประเภทนี้ ก็ไม่สามารถจะหาทางหลุดพ้นออกจากโลกใบนี้ได้ ไม่ได้ เพราะมันมีอารมณ์อยู่ คำว่าเมื่อไม่ให้มีอารมณ์ เขาก็จะมองและบอกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว ก็เอาการรวมจิตให้เป็นสมาธิลึกๆ ไปเลย นั่นมันไม่มีอารมณ์ ถ้าทำสมาธิลึกๆเข้าไปนี่ มันไม่มีอารมณ์จริงๆ  แต่ว่าตรงนั้น เราไม่ได้อยู่ตลอดวันตลอดเวลา สมมุติว่าเราทำสมาธิดิ่งๆนิ่ง..ลึกเข้าไปนี้ เมื่อจิตนิ่งมันไม่มีอารมณ์ มันนิ่งมีความเป็นหนึ่งของจิต แต่ว่าธรรมชาติที่เราอยู่อย่างนั้น มันอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง มันไม่สามารถจะอยู่ตลอดทั้งชีวิตได้ เพียงแต่เข้าไปสงบระดับหนึ่ง เข้าไประยะหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ตรงนั้นไม่ต้องแก้อะไร เพราะมันสงบดีแล้ว แต่ชีวิตประจำวันของเรา จะทำอย่างไร ไม่ให้จิตของเราไปผูกพันกับอารมณ์ของโลกอีก ก็เลยมีปัญหาว่า หาจุดยืนของตนเองใหม่ ข้างในนิ่งดี ข้างนอกหาหยุดยืนใหม่ ก็คือเอา ๒ ประเภทนี้ขึ้นมา
ประเภทที่ ๑  คือ พยายามจะรักษาความเป็นกลางไว้
ประเภทที่ ๒  คือ พยายามจะตามดู ตามรู้มันไป
ทั้งสองประเภทนี้ หาที่ลงไม่ได้เลย ไม่ได้...ไม่สามารถที่หาทางออกจากโลกนี้ไปได้เลย เพราะว่าการที่จะมีมุมมองอย่างไร ตนเองก็ไม่สามารถจะเปลื้องจิตจากอารมณ์ของโลกได้ ก็ยังมีการผูกพันกันต่อไป
ยังมีคนประเภทที่ ๓ อีก ประเภทนี้ มีความเห็นว่าถ้าอย่างนั้น รักษาความเป็นกลางก็ไม่เอา ไม่รักษา จะตามดูจิตก็ไม่เอา แต่เขาจะทำจิตให้ว่าง และอาศัยความว่างเป็นอารมณ์ของจิต คนๆนั้นขณะที่เข้าสมาธิจิตมันนิ่งดี ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเคลียร์ปัญหาอะไร แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จิตก็ไปสู่อารมณ์อีก คนๆนี้เคยทำจิตให้นิ่งมามาก ทำสมาธิมานาน ทำบ่อยๆ  ก็จะเห็นความว่างของจิตอยู่ในสมาธินั้น แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ต้องรักษาความว่างนั้นให้อยู่ในปัจจุบันอีกทีหนึ่ง  แล้วอาศัยความว่างเป็นอารมณ์ ฉะนั้น ความว่างตรงนั้น เป็นสมาธิ เป็นหนึ่งของจิตเหมือนกัน  เขาจะดูความว่าง ความนิ่งตรงนั้นให้ลึกๆแล้วจะมีแต่ความว่าง  เขาก็เลยเห็นว่า  ความว่างนั่นแหละเป็นเครื่องอยู่ของจิต เวลาทำอะไร  ดูความว่างเป็นเครื่องวัดของอารมณ์ เอาความว่างเป็นเครื่องอยู่
คนประเภทนี้ คล้ายคนประเภทแรก รักษาความเป็นกลาง แต่ก็ไปไม่รอดๆ ฉะนั้น คนประเภทที่ ๓ นี้ เขาจะอาศัยความว่างเป็นอารมณ์ เขามองว่างเหมือนอากาศ เหมือนเรามองบนท้องฟ้าบรรยากาศที่ว่าไม่มีอะไร เขาก็เลยเอาความว่างนั้นเป็นเครื่องวัดว่า ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่มีอะไรอยู่ในนี้ เราเอาความว่างเป็นเครื่องอยู่เถิด เพราะความว่างนี้แหละ คือความปล่อยวางทุกอย่าง ไม่ต้องคิดโน้น ไม่ต้องคิดนี่ ไม่ต้องปล่อยจิตไปนั้น ไปนี่ ไม่ต้องไปอะไร ไม่ต้องไปตามดู ไม่ต้องแบ่งส่วน แบ่งสัด แบ่งสัน แบ่งส่วน เฮกันไป เฮกันมา ไม่ต้องไป เหลือแต่ความว่างอย่างเดียว  ว่าง...แล้วก็รักษาความว่างไว้ เอาว่างเป็นอารมณ์ เอาว่างเป็นเครื่องอยู่ ถ้าเราทำว่างบ่อยๆ ทำมากๆ แล้วมันจะสว่าง ถ้าทำน้อยจะไม่สว่าง แต่จะรู้แต่ว่าว่างๆ แต่ถ้าทำมากแล้วจะสว่างด้วย อาจจะสว่างที่ทรวงอก เหมือนอยู่กึ่งๆในกายก็ได้ ที่ท้องก็ได้ ที่หน้าผากก็ได้ ที่ปลายจมูกก็มี แล้วอาศัยความว่างเป็นเครื่องวัดของความมีกิเลส แต่เมื่อมองดูเนื้อหาในความว่างนั้น เราจะไม่เห็นอะไรซ่อนอยู่ในนั้นเลย มีแต่ความว่างเปล่า เหมือนสุญญากาศ คนนี้จะมุ่งโฟกัสตรงที่ความว่าง ก็เลยถือว่า ความว่างนี้เท่านั้น คือนิพพาน คิดว่าเรารักษาความว่างจนตลอดชีวิต คนเหล่านี้จะรักษาความว่างทั้งวันทั้งคืนเลย ความว่างตัวนี้ เขาไม่ปล่อย แล้วคิดว่าความว่างนี้แหละ คือที่พึ่งของเรา  
ถ้าจิตเราว่างๆ ถ้าเราตายในขณะนั้น หรือเราไม่ตายก็รักษาไป เวลาตายก็ตรงนี้เป็นเครื่องอยู่นั่นเอง ก็คิดว่าถ้าเราทำอย่างนี้คือนิพพานนั่นเอง เขาคิดอย่างนั้น นี้ก็มุมมองของคนกลุ่มหนึ่งที่คิดอย่างนี้ แล้วก็เมื่อว่างมากๆ จิตมีพลังมาก มีพลัง สามารถที่จะไปรู้เห็นสิ่งลี้ลับซับซ้อนได้ เพราะการนิ่งมากๆ คือตัวสมาธินั่นเอง จะพูดไปแล้ว ก็คือฌานนั่นเอง แต่ถ้านิ่งแบบตื้น ก็เป็นแบบตื้นไป ถ้านิ่งแบบลึก ก็คือฌานนั่นเอง และคนพวกนี้ ถ้าเกิดว่ามีเรื่องที่จะผูกพันกับอะไรขึ้นมา เขาจะเหนื่อยมาก เพราะเขาต้องควบคุมจิตตัวนี้ด้วย และพยายามรักษาจิตที่ใช้งานด้วย เขาต้องควบคุมไม่ให้มันวุ่นด้วย เวลาทำอะไรมากๆ จะเหนื่อยมาก แต่ถ้าไม่มีอะไร ก็พอจะประทังได้ เพราะเลี้ยงตัวว่างอย่างเดียว ตัวว่างตัวนี้ ถ้ารักษาไว้ไม่มีงานอื่นเกี่ยวข้อง ก็มีความสุขดีเหมือนกัน แต่ถ้าเกิดว่ามีเรื่องอื่นมายุ่งแล้ว เขาต้องพยายามประคองจิตไว้ให้ได้ ไม่ให้เป๋ไปทางไหน ให้รักษาความว่างเอาไว้ เขาจะเหนื่อยมาก เขาคุม ๒ อย่าง คือ คุมจิตให้ว่างอยู่ และต้องผูกพันกับสิ่งที่ต้องกระทำ คนเหล่านี้จะเหนื่อยต่อการกระทำ เพราะเหนื่อยต่อการควบคุมนั่นเอง เขาเห็นว่าอารมณ์ของจิตจะไปอย่างไร  เขาไม่สนใจ ไม่สน แต่เมื่อจิตจะไปอะไร เขาไม่สนใจ เขาสนใจแต่การรักษาว่างอย่างเดียว เขาไม่ตามดูจิตจะเฮกันไป เฮกันมา เขารักษาความว่างอย่างเดียว
ถามว่าคนประเภทที่ ๓ นี้ถูกต้องไหม หลังจากประเภทที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ถูกแล้ว ประเภทที่ ๓ นี้ก็ ไม่ถูกๆ  และเขามีมุมมองว่า เมื่อว่างแล้ว โลกนี้ก็คืออนัตตา เมื่อเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็ไม่ต้องผูกพันกับอะไร เอาความว่างเป็นอารมณ์ ก็คือ สุญญตารมณ์  มหาสุญญตารมณ์นั่นเอง คิดว่าคนๆนี้ถูกไหม ไม่ถูก ไม่จริง แต่ไม่ใช่ว่าไม่จริงนะ จริงที่เขามีอยู่ก็จริง แต่เป็นของปลอม เขามองว่างก็จริง แต่เขาไม่สามารถจะมองว่า ความว่างนั้น ยังซ่อนอยู่ในความไม่ว่าง ความไม่ว่างนั้นซ่อนอยู่ในความว่างนั้นอีก เขามองไม่เห็น  คนที่มีปัญญาสังเกตได้เลยว่า ความว่างนั้นมีความวุ่นแฝงอยู่ สังเกตอย่างไร สังเกตได้ว่า ถ้าจิตเรามองโดยความเป็นเนื้อหาตรงนั้น มันจะว่างแต่หลังจากว่างนานๆ เราสังเกตนานๆ แล้วมันมีอารมณ์นิดๆ เล็ดลอดออกมาจากความว่างนั้น เหมือนอยู่ใต้ว่างนั้น เล็ดลอดออกมา แต่เรามองก็ไม่เห็นอะไร มีแต่ความว่าง แต่มันมีอารมณ์ออกมาจากความว่างนั้น
คนเหล่านี้แสดงพฤติกรรมตนเองออกมา ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งโกรธ ออกมาไม่รู้สึกตัวเลย มองก็ไม่เห็น แต่รู้สึกอาการมันออก คนพวกนี้ก็คือมีกิเลสเหมือนเดิม แต่ไม่เห็นกิเลสตน เห็นแต่ความว่าง ความว่างนี้ไปทับซ้อนความไม่ว่างเอาไว้  เขารู้ไม่ถึง คนๆนี้ ก็คือนิพพานปลอม ปลอมแน่นอน วิปัสสนูแน่นอน ไปไม่ถูก ถ้าว่างถูกมันไม่เป็นอย่างนั้น นิพพานจริงๆที่ถูกต้อง คือ ว่างในสิ่งที่มีอยู่ กับไม่มี มันพูดกลับไปกลับมา  แต่นิพพานปลอมนั้น ว่างในสิ่งที่ไม่มี แต่มันมีอยู่
ถ้าคนๆนี้คิดว่า ความว่างนั้นคือความไม่มีอะไร ความว่างอันนั้น ก็เหมือนกับอากาศเราชี้ไป บอกว่าตรงนี้ไม่มีอะไร เชื่อไหมว่า มันมีอะไรอยู่  วิทยาศาสตร์สมัยนี้ ก็บอกว่ามีคลื่นต่างๆมากมายอยู่ในบรรยายกาศนั้น แม้แต่ในที่นี้ ที่ว่างๆนี้ มีหมด ถึงบอกว่า ไม่มีนั้น มันมีอยู่  มันมีอะไรต่างๆ อยู่ในบรรยากาศมากมาย แต่เรามองไม่เห็น แต่มันมีอยู่  ก็เหมือนกับว่า จิตเราว่าง แต่มันมีกิเลสอยู่ในความว่างนั้น”   
ดังนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมจึงมักจะมีการปฏิบัติผิดๆมาก่อน แล้วสุดท้ายเราจะพบวิธีที่ถูกว่าทำอย่างไง และผลของเขาจะสวยงามขนาดไหน และเป็นอย่างไง ที่พูดมาหลากหลายนี้  เพราะวงการนักปฏิบัติธรรมมีมากมายหลากหลายวิธี เราจะหาจุดยืนอย่างไง และพิจารณาว่าอันไหนถูกที่สุด เพราะจิตนี้ร้ายกาจ และเจ้าเล่ห์มาก เรารู้ไม่ถึง และคาดไม่ถึงว่ามันมีอยู่
      คนประเภทที่ ๓ นี้ ที่เขาบอกว่าว่างนั้น แต่มันมีกิเลสอยู่ในความว่างอีก เขามองไม่เห็น คนเหล่านี้น่าสงสารมากกว่า เขามองไม่เห็นจริงๆ  ฉะนั้น ว่างแต่มันมีอยู่ แต่เขาไม่เห็นสิ่งที่มีอยู่นั้น เราจะเห็นพฤติกรรมของคนเหล่านี้ชัดเจน แต่ตัวเขาเองไม่เห็นตนเอง  แสดงออกมาทั้งรัก โลภ โกรธ หลง มีอาการเหมือนคนไม่มีกรรมฐาน โกรธก็โกรธออกมาเลย รักก็รัก ชังก็ชัง ว่าก็ว่า ด่าก็ด่าเลย คนประเภทนี้ มองจิตตนเองว่าว่าง แต่ทำไมด่าคนได้ ว่าคนได้ ทำไมเขาไม่เอะใจว่า อารมณ์ของตนมาจากไหน ทั้งๆที่มองจิตว่าว่างๆ ขณะปากพูดไป ด่าคนไป จิตก็ยังว่างอยู่ คนเหล่านี้ไม่เห็นเลย เขามองความว่างเป็นบรรทัดฐานของการมอง เป็นที่ตั้งของการมอง และเป็นข้อสรุปของการเข้าใจว่า ว่างก็คือว่าง เขาไม่รู้ว่าว่างนั้น มันวุ่นแทรกอยู่ในนั้น อาการของตนเองมันจะแสดงออกมาว่า "มันไม่ใช่ว่างธรรมดา ว่างมีกิเลส กิเลสมันเหนือชั้นกว่าเรา มองไม่เห็นหรอก เหมือนเรามองอากาศก็ไม่เห็น ว่ามีคลื่นอะไรอยู่บ้าง ซึ่งมีคลื่นวิทยุคลื่นทีวีเต็มไปหมดในชั้นบรรยากาศ เหมือนคนเหล่านี้ไม่เห็นจิตใจตนเองนั่นเอง เห็นแต่ความว่างกลบเกลื่อนไปหมด และความว่างนั้นมันไม่ว่าง แต่เขาก็ไม่เห็นความไม่ว่างอันนั้น เห็นแต่ว่างเสีย นี้ก็คือประเภทที่ ๓   
คนทั้ง ๓ ประเภทนี้ ปฏิบัติไม่ถูก อย่างไรๆ ก็ไม่ได้ๆ  ไม่ใช่การปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างแท้จริง เพราะไม่มีการพิจารณาสังขารร่างกายเลย มีแต่การทำสมาธิล้วนๆ ด้านจิตอย่างเดียว แก้ที่จิตอย่างเดียว จึงไม่สามารถที่จะหาทางออกจากทุกข์ที่ถูกต้องได้
ส่วนคนประเภทที่ ๔ คือ คนทำสมาธิ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ แต่ออกมาจิตคิดก็รู้ว่าคิด แต่เขาก็มาเอาจิตพิจารณาสังขารร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าขึ้นมา คนเหล่านี้พิจารณา เพราะว่าครูบาอาจารย์บางองค์ท่านก็สอนให้พิจารณาตรงนี้ เมื่อทำสมาธิได้ถึงอัปปนาสมาธิแล้ว ก็ให้ถอนมาอุปจารสมาธิแล้ว พิจารณาสังขารร่างกาย ไม่สนใจจิตไปโน่นไปนี่ ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร  แต่ให้ความสำคัญในการพิจารณาสังขารร่างกาย หมายถึง การมองเห็นตัวเอง  ถ้าจิตมีสมาธิก็จะเห็นร่างกายได้เหมือนกัน เห็นได้ แต่กว่าจะเห็นได้ก็ยาก เพราะจิตไม่ค่อยยอม แต่เมื่อคนนั้นทำบ่อยๆ ก็เห็นขึ้นได้ เมื่อเห็นร่างกายนี้ขึ้นมาได้แล้ว เขาก็พิจารณาถึงความไม่เที่ยงว่า ตัวเราทั้งหมด เป็นของไม่จีรังยั่งยืน ประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นของที่จะต้องผุพัง เขาเห็นร่างกายตนเอง ก็สังเวชตนเองว่าไม่มีอะไร
อ้าว ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ดีขึ้นมาหน่อยๆ  เห็นตัวเองว่าไม่มีอะไร พิจารณาเข้าใจแล้ว และเห็นร่างกายตนเอง เห็นตับ ไต ไส้พุง เห็นน้ำเลือด น้ำเหลือง เห็นตัวเองเน่าเปื่อยผุพัง แล้วก็เข้าใจว่าร่างกายตนเองไม่เป็นแก่นสารอะไร แต่หลังจากจิตเข้าใจแล้ว จิตก็ถอยออกมาจากการพิจารณา ขณะที่ถอยออกจากพิจารณาแล้ว ภาพนั้นก็หายไป ขณะจิตพิจารณาอยู่จิตเข้าใจ แต่ขณะที่จิตถอยออกมาแล้ว ภาพอันนั้นก็หายไปแล้ว เขาก็ไม่มีจุดยืนของตนเองอีก ไม่มีจุดยืนตรงไหน ตรงที่เข้าใจว่าโลกนี้ไม่มีอะไร ตัวเราไม่มีอะไร เข้าใจแต่ในวันนั้น สมมุติว่าเมื่อวาน เราพิจารณาสังขารร่างกายเข้าใจแล้ว แต่มาวันนี้ ภาพนั้นหายไป การหายของภาพที่เราพิจาณาขณะนั้น หายไปแล้ว ทิ้งไปแล้ว วางไปแล้ว เหลือแต่ตัวรู้อยู่ 
เชื่อไหมว่าจิตดวงนี้ กลับไปยินดียินร้ายกับโลกอีก แต่เมื่อวานนี้มันยอมรับว่า ตัวเราไม่มีอะไร แล้วก็รักษาความยินดียินร้ายไว้ได้ เออ ! ต่อไปไม่มีอะไร เราจะไม่ยินดียินร้ายอะไร เพราะโลกไม่เที่ยง ตัวเราไม่เที่ยง แต่ขณะที่เราทิ้งภาพนั้นไปแล้ว เหลือแต่ความเป็นตัวรู้อยู่ รู้อยู่ เห็นอยู่ จิตมันก็กลับไปผูกโยงกับธรรมชาติของโลกอีก มันก็ลืมเรื่องที่ว่าเห็นตัวเองเมื่อวานนี้เสียแล้ว ส่วนเห็นเมื่อวาน เห็นแล้ว เคลียร์กันแล้วแต่เมื่อวานนี้  แต่วันนี้จิตมันผูกพันกับอารมณ์ทั้งรักทั้งชังที่มีอยู่ในสังคมของมนุษย์ในโลกนี้อีก มันยังยินดียินร้ายอีก เราจะเอาคำพูดหรือความเห็นเมื่อวานมาเคลียร์วันนี้  มันคนละวันกันแล้ว มันคนละวันกัน ทำให้เราต้องมาอบรมจิตใหม่อีก 
เอ้า ! เมื่อวานนี้เจ้าก็ยอมรับไม่ใช่หรือ เราไม่เที่ยง โลกไม่เที่ยง วางโลกเสียเถิด อย่ายินดียินร้ายอีกเลย เจ้าก็เข้าใจแล้วไม่ใช่หรือ วันนี้ทำไมเจ้าเอาอีกแล้ว  ยินดียินร้ายอีกแล้ว จิตก็บอกตัวเองว่า ก็ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน ข้าลืมไป ลืมไปว่า เมื่อวานเข้าใจแล้ว  แต่วันนี้ลืมเสียแล้ว  ธรรมที่เข้าใจนั้น มันลืมไปแล้ว
คำว่ามาตรฐานตรงนี้ไม่มีขึ้นมา เหมือนกับว่าเมื่อวานเราหิวข้าว เราทานข้าวอิ่มแล้ว แต่มาวันนี้หิวใหม่ แล้วเราก็บอกตัวเองว่า อ้าว! ก็เมื่อวานอิ่มแล้วไง ทำไมอิ่มเมื่อวาน วันนี้ทำไมหิวอีกล่ะ เอาอิ่มเมื่อวานมาแทนวันนี้ได้ไหม บอกไม่ได้ วันนี้หิวใหม่ก็ต้องทานใหม่ ของวันไหนก็วันนั้น  เวลาไหนก็เวลานั้น  มันก็แทนกันไม่ได้ ฉะนั้น มาตรฐานการเห็นตัวเองในวันนั้น มาแทนวันนี้ก็ไม่ได้อีก เพราะมันเป็นคนละเนื้อหาของเวลาที่ต่างกัน
ฉะนั้น วันนี้ก็ต้องมาเคลียร์เรื่องอารมณ์อีกว่า ห้ามยึดนะมันไม่เที่ยง ก็ต้องมาพิจารณาสังขารร่างกายใหม่ แล้วเวลาพิจารณาใหม่ วางไปแล้ว เวลาเกิดใหม่ เอ้า ! ยินดียินร้ายอีกแล้ว ซึ่งเหมือนกับเราหิวข้าว เวลาหิวก็ทานแก้การหิวกันไป เวลาหิวใหม่ก็ทานใหม่ ซึ่งเขาจะต้องมาพิจารณาสังขารร่างกายมาเคลียร์ตรงนี้ ประจำๆ เลยหรือ ซึ่งความไร้มาตรฐานวันนั้นทำให้เลื่อนลอย  เราเคยสังเกตไหมว่า เราอบรมจิต มีบางครั้งจิตยอมรับ  เอ้า ! เจ้าอย่าดื้อนะ เจ้าจะเห็นว่า ไม่มีอะไรจริงๆ เราไม่มี อะไรๆไม่มีในโลก เราเห็นจิตยอมรับตัวเอง จิตบอกว่า ยอมรับได้ๆ ใช่ๆ  เชื่อไหมว่าบางครั้งจิตยอมรับตัวเองจริงๆ  แต่มันยอมรับเวลานั้นเท่านั้น หลังจากนั้นแล้ว  วันหลัง เอ้า ! เอาอีกแล้ว เราจับพิรุธมันได้ว่า วันนั้นเคลียร์แล้วไงว่า เจ้าอย่ายินดี ยินร้ายกับอะไร แต่ทำไมวันนี้เจ้าคึกคะนองเหลือเกิน  จิตมันก็บอกไม่ถูกว่า ข้าก็ไม่รู้เหมือนกัน ข้าก็ไปตามอารมณ์ของข้า  เอ้า ! มาตรฐานที่เราคุยกันมันไม่มีหรือ มันไม่มี ซึ่งเราจะเห็นว่าการเคลียร์จิต เคลียร์แล้วเคลียร์อีกๆๆ แต่ไร้มาตรฐาน  
ก็มีคำถามต่อมาว่า จะทำอย่างไรดี เมื่อเราเคลียร์กับจิตแล้ว มันจะรักษามาตรฐานนั้นไว้ ไม่ต้องหวนกลับมาสอนใหม่กันอีก และมาตรฐานนั้น เราจะหาได้จากที่ไหนหนอ เอาละสิ คนประเภทที่ ๔ นี้ดีหน่อย แต่หามาตรฐานไม่ค่อยได้ เชื่อไหมว่า จิตนี้เมื่ออบรมแล้ว สอนแล้วสอนอีกๆ แต่ก็ยังดื้ออยู่นั้นเอง สอนแล้วจิต ก็ยอมรับเสียดิบดี ยอมรับอย่างนั้นอย่างนี้ว่า ข้าจะทำตาม แต่เวลาต่อมา เอาอีกแล้ว หาเรื่องหาราวให้เราเดือนร้อนวุ่นวายใจอีกแล้ว ซึ่งเขาไม่สามารถจะหาความเป็นมาตรฐานในตัวเองได้เลย นี่คือปัญหา ทำให้เราสอนจิตจนเหนื่อยอ่อน และต้องเหนื่อยตาย  การสอนของเราคงจะหาที่สิ้นสุดของการสอนไม่ได้เสียแล้ว เพราะจิตนี้สอนเวลาไหนหยุดเวลานั้น เวลาใหม่ดื้ออีกแล้ว การพิจาณาสังขารร่างกายนั้น จิตก็เข้าใจว่ามันไม่เที่ยง พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ จิตก็ยังไม่มีมาตรฐานอะไร ที่จะเป็นอะไรอีก ฉะนั้น มาตรฐานเหล่านั้นอยู่ที่ไหนหนอ เราจะทำอย่างไรให้จิตมีมาตรฐาน แล้วเราจะได้ไม่เหนื่อยกับการสอนแล้วสอนเล่านี้อีกต่อไป
มีคำถามตามมาอีกแล้วว่า ทำอย่างไรหนอเราจึงจะหาความมาตรฐาน ซึ่งเราเคยได้ยินว่าพระอรหันต์เป็นผู้ไม่หวั่นไหวกับอะไรเลย จบแล้วจบเลย  ท่านไม่หวนมามีการทำอีก  ทำไมเราทำจบแล้ว สอนกันจบแล้ว  กลับมาทำใหม่อยู่เรื่อยๆ จบแล้วไม่จบๆๆๆ แล้วก็หาที่จบไม่ลงเลย แล้วเราจะหาที่ไหนหนอมาตรฐานอันนั้น  แสดงว่าที่เราทำอยู่นี้ไม่ใช่อย่างที่พระอรหันต์ท่านทำ เพราะถ้าทำอย่างเดียวกัน พระอรหันต์จะไม่หวนกลับมามีการทำอีก พระอรหันต์ไม่มีการทำย้อนไปย้อนมาอย่างนั้น  ถ้าเป็นอย่างนั้นพระอรหันต์ก็เรรวนหมดล่ะสิ
นี้คือคนประเภทที่ ๔ เอาแน่นอนไม่ได้ เหมือนกัน แต่ดีกว่าประเภทที่ ๑ ๒ ๓ นักปฏิบัติทั้งหลายมีหลายกลุ่ม ได้แจกแจงแต่ละกลุ่มให้เห็นว่า เขาทำกันอย่างไร ถูกไหม  ทั้ง ๔ ประเภทนี้ ยังเลื่อนลอยอยู่ ยังเลื่อนลอยอยู่เลยว่า ยังหาที่ลงไม่เจอ  สามประเภทแรก ไม่มาพิจารณาสังขารร่างกายเลย ประเภทที่ ๔ นี้ พิจารณาสังขารร่างกายบ้างแต่ก็ยังลอยตัวอยู่ ลอยตัว หมายถึงว่า  “ยังหามาตรฐานไม่ได้
ทีนี้ จะกล่าวถึงคนที่ทำถูกต้องที่สุด ก็คือคนประเภทที่ ๕ เขาทำอย่างไร และนิพพานเขาเป็นอย่างไร เพราะ๔ ประเภทนั้น ไร้มาตรฐานๆ คือ มาตรฐานของการที่จะพ้นทุกข์ ลอยตัวหมด หาจุดจบไม่ได้
คนประเภทที่ ๕ นี้ ผ่านประสบการณ์มาทั้งประเภทที่ ๑ ๒ ๓ ๔ มาก่อน ได้ทดลองทำมาหมดแล้ว แต่คนประเภทที่ ๕ นี้  “มีปัญญามาก เขาไม่ยอมสยบอยู่เพียงเท่านั้น หรือยุติเพียงแค่นั้น เพราะเขาคิดวิเคราะห์ว่ามันยังไม่ใช่   มันจะต้องมีอะไรสักอย่างที่ดีกว่านี้ เพราะเขามองว่าการปฏิบัติทั้งสี่ประเภทนั้นยังไม่ดีพอ  เขามองว่าความเป็นมาตรฐานอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรเราจะรักษามาตรฐานของจิตนี้ อบรมแล้วจบแล้วจบเลย เราจะได้ไม่เหนื่อย เหนื่อยทีเดียวแล้วจบเลย การสอนจิตก็ไม่ต้องสอนต่อไป เราจะทำอย่างไร 
ประเภทที่ ๕ นี้ มาวิเคราะห์การปฏิบัติของคนประเภทที่ ๔ ที่พิจารณาสังขารร่างกายเห็นตนเองขึ้นมา แต่เมื่อเห็นก็เห็น ขณะที่ปล่อยก็ปล่อยไป แต่ขณะใดที่เห็นตนเองได้ ขณะนั้นจิตยอมรับๆ ว่าเราไม่เที่ยง เราไม่มีอะไร จิตยอมรับ ขณะที่ปล่อยไป จิตลืมไปเสียแล้วๆ มันก็เลยไม่มีมาตรฐาน ถ้าจะให้มีมาตรฐาน ก็คือ ต่อนี้ไปเราจะต้องรักษาการเห็นนั้นไว้ เพราะเห็นครั้งใดมีมาตรฐานเมื่อนั้น แต่หลุดการเห็นเมื่อใด ไร้มาตรฐานเมื่อนั้น”  ฉะนั้น เราจะมีมาตรฐานก็คือรักษาเป็นเครื่องอยู่
  เอ้า ! คนนี้ คิดว่า เมื่อเห็นเมื่อใดมาตรฐานมีเมื่อนั้น แต่หลุดความเห็นเมื่อใด ก็ไม่มีมาตรฐานแล้ว ถ้าจะให้มีมาตรฐาน ก็คือรักษาเป็นเครื่องอยู่เลย รักษาเอาไว้  คนประเภทนี้ จึงรักษาความเห็นร่างกายเอาไว้ ให้เห็นตนเองอยู่ตลอดเวลา  ทุกเวลานาทีจนเป็นเครื่องอยู่ของจิต
แต่ทีนี้ การเห็นตัวเองนั้น มันมีปัญหาตรงที่ว่า เห็นเฉยๆ ไม่ได้ การเห็นตัวเอง เราจะต้องน้อมไปทาง วิราคธรรม คือน้อมไปลักษณะที่ไม่ยินดีด้วย เราอย่าเห็นร่างกายนี้เฉยๆ เราจะต้องมีการน้อมใจไม่ยินดี ทำลายความยินดีของมันด้วย  ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคธรรมเป็นธรรมที่ใหญ่ที่สุด บรรดาบททั้งหลายอริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลายวิราคธรรมประเสริฐที่สุด บรรดาทางทั้งหลายมรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด ท่านจะกล่าวถึงความเป็นสุดๆของที่สุดไว้
และทำไมวิราคธรรมนี้ จึงนำมาใช้ในที่นี้  วิราคธรรมนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ทีนี้ว่าคนๆนี้ เขาผ่านประสบการณ์ทั้ง ๔ ประเภทมาแล้ว เขาก็เลยหาจุดยืนใหม่เป็นประเภทที่ ๕ ขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นการเห็นตนเองต้องมีมาตรฐาน และการเห็นตนเองต้องน้อมไปทางวิราคธรรม น้อมไปในลักษณะที่ทำลายความยินดีด้วย เราอย่าเห็นตัวเองเฉยๆ ให้น้อมลักษณะกำจัดความยินดี เขาเรียกว่า กำจัดฉันทราคะ (ฉันทะ แปลว่าพอใจ)  ฉันทราคะ คือพอใจ และยินดีนั่นเอง วิราคธรรมและกำจัดฉันทราคะนี้ เป็นอันเดียวกัน แต่พูดสองนัย ฉะนั้น ตัวของเรานี้เอง เราจะต้องกำจัดความยินดีในความเป็นตัวของเราให้ได้ จึงเกิดการคิดปรุงแต่งขึ้นมา
อ้า ! เขาเรียกว่า เกิดการคิดปรุงแต่งขึ้นมา เพราะว่าเราจะต้องกำจัดความยินดีของร่างกายอันนี้ เราจะต้องกำจัดฉันทราคะ เราจะต้องมีการปรุงแต่งขึ้นมาอีก ทำไมเราต้องการสงบไม่ใช่หรือ ทำไมต้องมาปรุงแต่งขึ้นมาอีก ทั้งๆที่การปรุงแต่งนั้น เรารังเกียจอยู่แล้ว เพราะว่ามันไม่สงบ แต่ทำไมเมื่อสงบแล้ว ทำไมต้องมาปรุงแต่งอีก คำพูดอันนี้อาจจะมีการสงสัยกัน หลายๆคนจะสงสัยว่า ทำไมต้องปรุงแต่ง เพราะคนมีความเป็นสมาธิแล้ว เขาเกลียดการปรุงแต่งอยู่แล้ว เขาจะไม่ยอมให้จิตปรุงแต่งอะไร เพราะปรุงแต่งเมื่อไหร่ เขาก็ทุกข์เมื่อนั้น เขาจะไม่ยอมปรุงแต่งอะไรเลย และเขาจะไม่ยอมปรุงแต่งด้วย
เมื่อหลักความจริงเขาให้ปรุงแต่ง เราจะต้องปรุงแต่งตาม ที่นี้ความปรุงแต่งนี้ เราจะต้องปรุงแต่งไปทำไม ในเมื่อเราอยากสงบ แต่ทำไมต้องสร้างความปรุงแต่งขึ้นมาอีก ปรุงแต่งที่ตรงนี้ เขาเรียกว่า ปรุงแต่งในตัวเราเอง ไม่เป็นไร แต่เขาห้ามปรุงแต่งนอกตัว การส่งจิตไปปรุงแต่งเรื่องอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ ไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เขาห้าม แต่เขาให้เอาจิตมาปรุงแต่งตัวเรานี้ว่า มีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร ตัวเราตายแล้วขึ้นอืด ขึ้นพองเป็นอย่างไร ตายแล้ววันหนึ่ง สองวันเป็นอย่างไร นี้ก็คือปรุงแต่งเหมือนกัน แต่เขาให้ทำมากๆ เขาให้ทำตรงนี้มากๆ  ฉะนั้น นี้ก็เป็นจุดอ่อนอันหนึ่งที่นักปฏิบัติธรรมที่ผ่านการทำสมาธิมา เขาจะรังเกียจการปรุงแต่งอยู่แล้ว เขาจะไม่เอาๆ เมื่อไม่เอาแล้วไปไม่ได้ หาจุดจบไม่ลง
 วิราคะธรรมนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า บรรดาธรรมในความปรุงแต่งทั้งหลาย วิราคธรรมนี้ประเสริฐสุด ให้เราปรุงแต่งตรงนี้ แต่ห้ามปรุงแต่งผู้อื่นเท่านั้นเอง แต่ปรุงแต่งตัวเราเองได้ เชื่อไหมว่า ความปรุงแต่งของจิต ถ้าเราส่งจิตไปภายนอกทางหู ทางตาฯ  ยิ่งปรุงแต่งยิ่งฟุ้งๆๆๆ เมื่อนั้น ยิ่งปรุงแต่งยิ่งมากด้วยอารมณ์ๆๆ อันนั้นเขาไม่ให้ปรุงแต่ง แต่ถ้าเราเอาจิตมาปรุงแต่งตัวเราเอง ปรุงแต่งเท่าไรยิ่งสงบๆๆๆ เมื่อนั้น  ยิ่งมากยิ่งสงบๆๆ ข้างนอกยิ่งปรุงแต่งยิ่งฟุ้งๆๆๆ  ตรงนี้เองทำให้นักปฏิบัติหลายคนไม่เข้าใจ และไม่อยากปรุงแต่ง อยากจะมองเฉยๆ นี้จะเป็นข้อเสียของคนทำสมาธิ  ไม่อยากเอาการปรุงแต่ง เขาจะไปไม่ได้เลย การปรุงแต่งของจิต เขาจะรังเกียจ เขาไม่เอา เขามองตัวเขาจะมองเฉยๆ ถ้าอย่างนั้นเขาไปไม่ได้เลย เพราะการปรุงแต่งในตัวเรานี้ เขาปรุงแต่งในเชิงวิราคธรรม คือปรุงแต่งในลักษณะไม่ยินดี แสดงว่าตัวเรายินดีตัวเรามากมาย เขาเรียกว่าการยินดีตรงนี้เป็นอุปาทาน ฉะนั้น เราจะแก้อุปาทานเหล่านี้ เราต้องปรุงแต่งขึ้นมา อันนี้นักปฏิบัติหลายคนไม่รู้จักตรงนี้เลย ถ้าไม่รู้จักตรงนี้เลย ถ้าไม่ทำตรงนี้ นิพพานจริงไม่ได้เลย
มีปัญหาเท่าที่เคยสอนมา คือการทำตรงนี้คนเขาไม่ค่อยเอากัน แล้วมันไปไม่ได้ ไม่เอา ก็ไปไม่ได้ ทีนี้ว่าการปรุงแต่งในตัวเรา เขาไม่ห้ามเขาให้ทำมากๆ ด้วยซ้ำ การปรุงแต่งภายนอกเขาห้าม เขาไม่ให้ไป เขาให้หยุดเสีย ปรุงแต่งในตัวเอง  ปรุงแต่งตัวเองเน่าเปื่อย นึกถึงตัวเองเน่าพอง นึกถึงตัวเองเป็นอสุภะ คืออสุภะ ๑๐ นั่นแหละ อันนี้เป็นลักษณะอุบายกำจัดความยินดีในร่างกายตนเอง
ตั้งแต่เราเกิดมา เราเอาจิตของเราเก็บเกี่ยวอารมณ์ของโลกเข้ามาอยู่ในตัวมันเองมากมาย  แต่ครั้นมาทำสมาธิ  เรายังไม่ได้เอาออกเลย เราเกิดมาหลายภพหลายชาติ  เราเก็บเกี่ยวอารมณ์มาอยู่ในจิตนี้ทุกภพทุกชาติ ฉะนั้น เมื่อเอาเข้ามาแล้ว เราก็ต้องเอาออกไป อะไรที่เข้ามา ราคะ โทสะ โมหะ ฉะนั้น เราจะเอาราคะ โทสะ โมหะออกไปได้ โดยอาศัย อารมณ์วิราคธรรม นี้เอง คือเอาอารมณ์มาล้างอารมณ์ เมื่อก่อนเราสร้างอารมณ์ฝ่ายหนึ่งขึ้นมา แต่เมื่อเราจะเอาอารมณ์ฝ่ายนั้นออกไป เราต้องสร้างอารมณ์อีกฝ่ายหนึ่งมาล้างกัน ส่วนมากนักปฏิบัติจะไม่เข้าใจตรงนี้ เขาไม่เข้าใจ
จิตของเรานั้นไปไขว่คว้าอารมณ์ต่างๆมาสั่งสมไว้ในจิตมากมาย  แล้วเราจะทำสมาธิคือเอาความสงบมาทับตัวมันเอง ทับกิเลส มันก็เลยเหมือนคน ๔ ประเภทที่ผ่านมานั้นเอง จะเอาสมาธิมาตั้งในท่ามกลางที่ตนเองมีกิเลสอยู่  กิเลสก็คลื่นใต้น้ำ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถที่จะหาจุดจบเหมือนคน ๔ ประเภทนั้นเลย เพราะอะไร  ทำไมจิตมันออกไปท่องเที่ยว เดี๋ยวไป เดี๋ยวมา เดี๋ยวหยุด เดี๋ยวไป เดี๋ยวมา เพราะอะไร เพราะมันมีอารมณ์ภายในอยู่ แม้จะเอาความว่างเป็นอารมณ์ก็จริง แต่ความว่างนั้น ก็มีความไม่ว่างอยู่ในนั้น เขาจะไม่เห็นอารมณ์ของเขาเลย ฉะนั้น อารมณ์เหล่านี้ ยังถูกกักขังอยู่ในจิตของเรายังไม่ได้ถ่ายเทออก เรายังไม่ชำระสะสางเลย แล้วจะเอาสมาธิมาตั้งเลย มันไม่ได้ มันยาก
เหมือนกับตัวเราสกปรกมอมแมม  ยังไม่ได้อาบน้ำ แต่เราเอาเสื้อผ้าอาภรณ์ใหม่สะอาดมาสวมใส่เลย ข้างในมันเน่าเหม็น ข้างในมันเปรอะเปื้อน มันไม่ได้ๆ ดูข้างนอกเหมือนสดใส แต่ข้างในเปรอะเปื้อน ก็เท่ากับว่า เราจะต้องอาบน้ำภายในก่อน ฉะนั้น ตัวเราไปคลุกเคล้ากับสิ่งสกปรกมา แต่เวลาชำระล้าง ก็ต้องคลุกเคล้ากับสิ่งสะอาดต่อไป มือนั่นแหละที่ไปคลุกเคล้ากับสิ่งอะไรที่เปรอะเปื้อน และก็มือนั่นแหละล้างมือด้วยมือนั้น  สิ่งเปรอะเปื้อนถึงจะออก ฉะนั้น การคลุกเคล้ากับอารมณ์ที่ทำให้เราเปรอะเปื้อน เราก็ต้องคลุกเคล้าด้วยอารมณ์อีกประเภทหนึ่งเข้าไปล้างกัน มันจะล้างอารมณ์ด้วยอารมณ์ต่ออารมณ์ แล้วมันจะหมดกันไป
นักปฏิบัติธรรมจะไม่ค่อยทราบตรงนี้เลย เป็นเรื่องแปลกที่เขาไม่ทราบจริงๆ เขาจะเอานิ่งอย่างเดียว นิ่งอย่างเดียว ไปไม่รอดๆ ไปไม่ได้  ฉะนั้น เวลาเราทำสมาธินี้ ปัญญาต้องมาก เพราะอารมณ์ทั้งหมด คือ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ที่อยู่ในตัวเรา จะเอาออกได้ จะต้องน้อมไปในความไม่เที่ยงอย่างเดียว ต้องปรุงแต่งอย่างเดียวมันถึงจะหมด  คนประเภทที่ ๕ นี้ผ่านการปฏิบัติแบบ ๔ ประเภทมาแล้ว ลองทำมาหมด ลองทำทุกอย่างๆ แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ และในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าต่อนี้ไป จิตเราจะไม่ให้ส่งออกนอก  เมื่อพิจารณาสังขารร่างกายแล้ว เห็นแล้วก็ปล่อยไปเสีย มันก็เลยลอยตัว ไม่มีมาตรฐาน ต่อนี้ไป เราจะพิจารณาสังขารร่างกายแล้ว  ก็รักษาความเห็นนั้นไว้ เป็นเครื่องอยู่ แล้วก็น้อมจิตไปในการปรุงแต่ง
ปรุงแต่งนั้นขนาดไหน ปรุงแต่งในความไม่เที่ยงของร่างกาย  ปรุงแต่งชำแหละอกดู  ชำแหละท้องออกดูอวัยวะน้อยใหญ่ว่า ตัวเรามีอะไรอยู่ข้างใน เห็นตับ ไต ไส้ พุง น้ำเลือด น้ำเหลือง อุจจาระ ปัสสาวะ แล้วก็นึกถึงตัวเองตายแล้วเน่าเปื่อยดู เน่าหนึ่งวันเป็นอย่างไร สองวันเป็นอย่างไร สามวันเป็นอย่างไร อันนี้เป็นการปรุงแต่งทั้งหมด เชื่อไหมว่าการปรุงแต่งตนเองนี้ ปรุงแต่งภายในร่างกาย ยิ่งปรุงแต่งยิ่งสงบๆๆ ยิ่งปรุงแต่งยิ่งสว่างไสวๆๆ แต่ปรุงแต่งข้างนอกนี้ไม่ได้ เป็นสมุทัย เป็นเหตุแห่งทุกข์ ปรุงแต่งภายนอกนี่รับไม่ได้เลย ปรุงแต่งผู้อื่นเราไม่เอา เราจะปรุงแต่งภายในตัวเรานี้ และก็มีข้อเสียตรงที่ว่า คนที่ผ่านสมาธิมาแล้ว เขาจะไม่ค่อยยอมปรุงแต่ง ให้ปรุงแต่งนี่เขาไม่ค่อยเอา เขาไม่เอา ถ้าไม่เอานี่ เขาก็ไปไม่ได้เลย เป็นนิพพานปลอมหมดเลย และมันจะต้องปรุงแต่งขึ้นมาอีก
ฉะนั้น การอบรมสมาธินี่ คือการปรุงแต่งภายในตัวเรา ปรุงแต่งให้มันแจ้งออกมา จนกว่ามันไม่มีอะไรปรุงแต่ง เราจึงจะหยุด การปรุงแต่งนี้ ไม่ใช่ปรุงแต่งต่อไปเรื่อยๆๆ ไม่มีวันจบนี้ไม่ใช่ มันต้องมีวันจบของมัน แต่ถ้าปรุงแต่งข้างนอกไม่มีวันจบเลย อันนั้นห้าม ฉะนั้น การที่น้อมจิตพิจาณาร่างกายให้เห็นแจ้ง แล้วก็รักษาความเห็นนี้เอาไว้ เพราะเราเห็นว่าขณะใดที่ เราเห็นตัวเราเมื่อใด มาตรฐานก็มีเมื่อนั้น แต่หลุดไปเมื่อใด ไร้มาตรฐานก็เกิดขึ้น  แต่ถ้าต้องการให้มีมาตรฐาน ก็รักษามาตรฐานนั้นไว้ ความเพียรอันนี้ จึงเป็น ความเพียรที่มีระบบขึ้นมา เขาเรียกว่า เพียรสร้างภาพตนเองขึ้นมา ให้เห็นตามจริงขึ้นมา แล้วน้อมไปทางวิราคะ(คลายความกำหนัดยินดี)น้อมไปทางความไม่เที่ยง ต้องน้อม และก็ใส่อารมณ์ไปด้วย แล้วก็ปรุงแต่งไปด้วย ปรุงแต่งทั้งวัน แต่ปรุงแต่งเรื่องตัวเอง คิดเห็นตัวเองเน่าไปบ้าง เห็นตัวเองเป็นซากศพเคลื่อนที่ไปบ้าง พิจารณาอย่างนี้อยู่เนืองๆ และก็ให้เป็นเครื่องอยู่ของชีวิตประจำวันเลย รับรองได้ว่า ทำอย่างนี้จิตมีมาตรฐานแน่นอน 
สมมุติว่า เมื่อคนนั้นทำความเพียรนี้แล้ว คือวันๆหนึ่งพิจารณาร่างกายตัวเอง พิจารณามองไปมองมาให้เห็นตนเอง ที่แรกมองไม่เห็น ก็พยายามจินตนาการไปก่อนว่า ตัวเรามีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร นึกถึงคนตายว่า ตัวเองก็ต้องตายอย่างนั้น นึกถึงคนผ่าท้อง ผ่าศพ เราก็นึกผ่าท้องตนเองชำแหละดู ทำบ่อยๆ ทำไปๆ เห็นตัวเองเห็นภาพเช่นนั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ทำแล้วเหนื่อยก็พักอยู่ตรงนั้น  ไม่เหนื่อยก็ทำอยู่ตรงนั้น ให้เห็นตัวเองค้างคาไว้ เป็นเครื่องอยู่ของจิตทุกเวลานาที
ดูซิว่ามันจะมีมาตรฐานไหม  เมื่อเห็นตรงไหนตรงหนึ่ง ให้รักษาความเห็นนั้นไว้ แล้วก็ปรุงแต่งต่อไป ปรุงแต่งตรงไหน ปรุงแต่งตับ ไต ไส้ พุง น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองของเราว่ามีอะไร และเป็นอย่างไร  พูดง่ายๆ ก็คือการปรุงแต่งนั้นแหละ เชื่อไหมว่าปรุงแต่งเท่าไหร่จิตก็จะสงบขึ้นไปๆๆ จิตจะสว่างขึ้นไปๆๆ เราจะเห็นตัวเองตลอดทั้งหมดเลย ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า แจ้งขึ้นไปๆๆๆ จากจุดใดจุดหนึ่ง ก็ลุกลามต่อไปทั่วตัว เห็นทั้งวัน เห็นทั้งคืน เห็นตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชีวิต เอาเป็นเครื่องอยู่เลย เชื่อแน่เลยว่า จิตมีมาตรฐานเลย เหมือนกับเราเห็นศพตัวเองเคลื่อนที่ตลอดเวลา และความเห็นนี้ไม่หายไปไหน เราจะให้เป็นเครื่องอยู่ของชีวิตเลย ดูซิว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าทำอย่างนี้ เขาเรียกว่า  อบรมมรรค หรืออบรมสติปัฏฐาน ๔ หรืออบรมกายคตาสติ อันเดียวกันๆ ตรงนี้เขาเรียกว่า สติ เขาไม่เรียก สมาธิ เขาเรียก สติสัมโพชฌงค์ สติปัฏฐาน ๔ กายคตาสติ
ที่เราทำจิตนิ่งลึกเข้าไปนั้น เขาเรียกว่าสมาธิ ตรงนั้นมันลึกไปหน่อย แต่ตื้นไปหน่อยเขาเรียกว่า สติ เพราะจะเรียกสมาธิก็ยังเข้าไม่ถึง แต่เชื่อไหมว่า เราคิดว่าทำแค่สตินี่หรือ มันไม่น้อยไปหรือ น่าจะมีสมาธิมากกว่านั้น สมาธิมากๆ คงจะมีกำลังมากกว่านั้น ไม่ได้ๆ ความจริงบางคนคิดว่าสติเป็นของน้อย สมาธิเป็นของใหญ่ ส่วนมากจะคิดอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ สตินี่ใหญ่  ใหญ่กว่าสมาธิ ถ้าสติตัวนี้บอบบาง ไม่ใหญ่ สมาธิตั้งตัวไม่ได้ ตั้งแล้วก็ล้มไป
ที่เขาเปรียบกันว่า สตินี้เป็นพี่เลี้ยง สมาธิเหมือนเด็กอ่อนเด็กน้อย ถ้าเราให้เด็กน้อยตรงนี้ แข็งแกร่ง ปลอดภัย  ไม่มีพิษมีภัยอะไร  เราต้องเน้นที่พี่เลี้ยง ไม่ใช่เด็ก เน้นกำชับพี่เลี้ยงว่า ดูแลเด็กดีๆนะ อย่าให้คลาดสายตานะ แล้วก็รักษาเด็กทุกเวลาอย่าให้เด็กมีพิษมีภัย เราเน้นพี่เลี้ยงให้แข็งแกร่ง แล้วก็ให้ตรวจตราอย่างถี่ถ้วน เด็กจะปลอดภัย แต่จุดประสงค์ของเราไม่ใช่อยู่ที่พี่เลี้ยง ไม่ใช่ เราต้องการเด็กนั่นแหละ แต่ต้องเน้นพี่เลี้ยง จุดประสงค์ของเราอยากให้เด็กคนนี้ปลอดภัย ไม่ให้ถูกรถชน หยิบอะไรใส่ปาก ไม่ให้ซน ตกหลุม ตกร่อง ตกกระไดบ้าน ซุกซนไปเรื่อย เพราะเด็กไร้เดียงสา การจะให้เด็กปลอดภัย  เราเน้นที่ตัวเด็กอย่างนั้นหรือ ไม่ใช่ เราต้องเน้นพี่เลี้ยงให้ดีๆ เวลาเด็กทำอะไรไม่ดี เราดุพี่เลี้ยงโน้นนั่นแหละว่า ไม่ดูให้ดี
พี่เลี้ยงเหมือนสติ เด็กเหมือนจิตที่เป็นสมาธิ ถึงบอกว่า ถ้าพี่เลี้ยงดีมาก แข็งแกร่ง ดูแลเด็กอย่างดี เด็กก็ปลอยภัย เด็กเจริญเติบโตแน่ ปลอดภัยจากทุกเภทภัย ที่ปลอดภัยเพราะพี่เลี้ยงดี แข็งแกร่ง แต่ถ้าเราเน้นที่ตัวเด็กอย่างเดียว ไม่เน้นพี่เลี้ยง ไม่สนใจพี่เลี้ยง  ดีไม่ดีเด็กตกหลุมตกร่องตายไปเลย เพราะอะไร เพราะไม่ใส่ใจพี่เลี้ยง เพราะฉะนั้น เราต้องดูว่า การที่เราไม่มีสมาธิ เพราะสติของเราไม่ใหญ่ สติเราไม่พอ แต่ถ้าเกิดว่าเราเน้นที่สติ สมาธิไม่ต้องเน้น เดี๋ยวสมาธิมาเอง สมาธิจะใหญ่ด้วย คนไม่มองมุมนี้ เขาไม่มองในมุมแบบนี้ 
ฉะนั้น การเห็นตนเองแจ้งขึ้นมานี้ เขาเรียกว่า กายคตาสติ ถ้าเขาทำอย่างนี้ สมาธิไม่ต้องพูดเลยใหญ่มาก สมาธิเป็นผลของสติเอง อันนี้นัยหนึ่ง ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับว่า สมาธินี้เหมือนผลไม้ แต่สติเหมือนต้นไม้ ต้นมัน สติเหมือนต้น สมาธิเหมือนผล เราบอกว่าเราต้องการผลไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด มีผลที่มีความหอมหวานสมบูรณ์สุด  เราต้องการผลไม้ เราจะดูแลที่ไหน เราต้องการผล แต่ต้องดูแลที่ต้น มีบางคนบอกว่า เอ้า ! ต้นเราไม่ต้องการ มันกินไม่ได้ ต้นน่ะ เราต้องการผล เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องดูแลที่ต้น ดูแลแต่ผลอย่างเดียว ถ้าคนนั้นพูดอย่างนี้ จะถูกไหม  ไม่ต้องดูแลก็ได้ที่ต้น เพราะเราไม่ต้องการต้น เราต้องการผล ถ้าเขาพูดอย่างนี้จะถูกไหม
       จริงอยู่ต้นเราไม่ต้องการกิน  เราจะกินผลมัน แต่ต้องดูแลที่ต้น เพราะต้นเป็นเหตุของผล เข้าใจไหม เราต้องการสมาธินั่นแหละ แต่ทำไมต้องไปเจริญกายคตาสติโน่น มันไม่เกี่ยวกันมั่ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เนื้อ เส้นเอ็น ไม่เกี่ยว เราต้องการจิตให้เป็นสมาธิ ทำไมต้องไปยุ่งยากกับผม ขน เล็บ ฟัน หนังเหล่านั้น ทำไมต้องไปดูตับ ไต ไส้ พุงนั้น เพราะเขาไม่รู้ว่า ตับ ไต ไส้ พุงนี้ มันเปรียบดังต้นของผลไม้นั้น สมาธิที่เราหวังซึ่งมันเป็นผลของเขา เราต้องทำตรงนี้ มันจะได้ตรงโน้นด้วย มันก็เป็นเสียอย่างนี้อีก จริงอยู่เราไม่กินต้นมัน  แต่จะกินผลมัน  แต่ต้องดูแลต้นให้ดี ให้งามอย่างเดียว วันนี้ยังไม่ออกลูก ปีนี้ยังไม่ออกลูก ไม่เป็นไร ดูไปก่อนๆ ถึงเวลามันจะออกให้ ผลของมันก็ซ่อนอยู่ที่ต้นมันนั้นเอง แต่ขณะนี้มันยังไม่มีวี่แววออกดอกขึ้นมา มันก็ซ่อนตัวอยู่ที่ต้นมันนั่นแหละ แต่ถึงเวลามันก็เริ่มจะออกช่อมาแล้ว  อ้า ! ออกมาแล้ว ก็มีดอกมีผลขึ้นมา แล้วเราก็จะสมหวัง
        ฉะนั้น สมาธิเราไม่ต้องเน้นอะไร เน้นที่สติอย่างเดียว เน้นที่กายคตาสติ ก็คือเราต้องเน้นตัวเราให้เห็นแจ้งออกมา เชื่อไหมว่าเราจะได้สมาธิอย่างใหญ่โตมโหฬาร และเป็นสมาธิที่มาตรฐานด้วย นักปฏิบัติส่วนมากจะไม่ใส่ใจตรงนี้ เพราะปัญญาเขาไม่ถึง เขาจะเน้นแต่สมาธิด้านเดียว เน้นตะพึดด้านเดียว สมาธิด้านเดียว ก็คือเน้นที่ผลไม้อย่างเดียว ไม่สนใจต้นกล้า ข้าไม่สนใจทั้งนั้น จะเอาผลอย่างเดียว คนนั้นไม่สำเร็จแน่นอน ผลมันยังไม่ออก เพราะต้นยังไม่ได้ปลูกเลย จะไปเอาผลที่ไหน มันก็เลยเคว้งคว้างล่ะทีนี้
ทีนี้เราพิจารณาร่างกาย พิจารณาสังขารร่างกายของเรา พิจารณาธาตุขันธ์ แล้วน้อมไปทางวิราคะ ก็คือดูแลต้นนั่นเอง แล้วมันจะเป็นผลออกมา เป็นผลอย่างไร สมมุติว่า คนนี้จะเริ่มทำความเพียร  พิจารณาร่างกายของตนพิจารณาตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า พิจารณาเป็นปฏิกูล
พิจารณาปรุงแต่งตัวเราตายแล้วขึ้นอืด ขึ้นพองอย่างไร แหวะท้อง แหวะศพดูว่าเป็นอย่างไร ดูอวัยวะน้อยใหญ่ในตัวเรา ตับ ไต หัวใจ ไส้ ปอด น้ำเลือด น้ำเหลือง นึกถึงไม่เห็นก็ช่าง สร้างภาพขึ้นมาให้เห็น เมื่อคนๆนี้ ทำไปๆๆ ตอนแรกนึกถึงตนเองไม่ออก ก็ไปเอารูปศพบ้าง รูปคนตายบ้าง รูปโครงกระดูกบ้าง(อสุภสัญญา) ที่เขามีอยู่แล้วเอามานึกให้เห็นเป็นตนเองว่า เป็นอย่างไร ตอนแรกก็ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ทำไป ทำมา ทำมา ทำไป  เริ่มคล่องแล้ว เริ่มชำนาญ เริ่มเป็นขึ้นมาๆๆ ทีแรกอาจจะวุ่นวายหน่อย เพราะของใหม่ นานเข้าไปๆ เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้นๆ จากจุดใดจุดหนึ่ง ก็ลุกลามไปๆๆๆ ทั่วสรรพางค์กาย ทำไปๆๆ เราเห็นตนเองชัดตั้งแต่หัวถึงเท้า เมื่อเห็นตัวเองแล้ว เอาความเห็นตัวเองเป็นเครื่องอยู่ของจิต เชื่อไหมว่าการเห็นตัวเอง จิตจะสว่างขึ้นๆๆๆ สงบขึ้นๆๆ สงบมากๆๆ ยิ่งปรุงแต่งยิ่งสงบๆๆ  ยิ่งปรุงแต่งยิ่งสว่างไสวๆๆ จิตจะเป็นสมาธิ
สมาธินี้เป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นสตินั่นแหละ แต่สติมันใหญ่ก็เลยเหมือนเป็นสมาธิในตัวมันเอง แล้วสมาธิประเภทนี้เขาไม่รู้จักกันหรอก เขาไม่ค่อยรู้จักกันหรอก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เขาจะเห็นตนเองแจ้งขึ้นๆ จากจุดใดจุดหนึ่งแล้วก็ลุกลามไปทั่วสรรพางค์กาย จนเห็นตัวเองทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าๆ เมื่อเห็นตนเองอย่างนี้แล้ว ก็เห็นตัวเองเป็นศพเคลื่อนที่ตลอดเวลา ดูซิมันจะมีมาตรฐานไหม เพราะความเห็นตรงนี้ ที่บอกว่าให้เห็นเป็นเครื่องอยู่ของจิต ให้เป็นเครื่องอยู่ของจิตเลย ถ้าเราอยู่ตรงนั้นแล้ว อารมณ์เข้ายาก  เราสามารถทำให้ตัวเองหลุดออกมาจากอารมณ์ได้อย่างสบายๆ  แล้วก็เอาจิตมาอยู่กับตัวเราเป็นเครื่องอยู่แทนอารมณ์นั้น จิตของเราจะขาดออกจากโลกๆ กลายเป็นว่าตัวเราเป็นแท่งของสมาธิทั้งแท่งเลย เมื่อก่อนสมาธิของเรา เอาแต่จิตดวงเดียว เอาจิตเป็นความว่างอย่างเดียว แต่ตรงนี้ไม่ใช่ว่างอย่างนั้น เห็นตัวเองเป็นซากศพ และเอาความเห็นตรงนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต
เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว และอาศัยความเห็นนั้น เป็นสักขีพยานให้จิตรู้ว่าเรามีอะไร จิตก็สำรวจตรวจตราร่างกายตัวเองตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าตามความเป็นจริงว่า เรามีอะไรดีบ้าง มีอะไรเป็นสาระแก่นสารบ้าง  จิตก็ค้นไป ค้นมา ค้นมา ค้นไป ก็ปรากฏว่าหาสาระแก่นสารไม่ได้
เมื่อก่อนเราพิจารณาร่างกาย พิจารณาเพียงเข้าใจแต่มองไม่เห็น หรือเห็นนิดๆหน่อยๆ แต่ตอนนี้เราเห็นจริงๆ ขึ้นมา ด้วยอุบายของเรา และความเห็นของเราไม่หายไปไหนเลย เพราะเราเอาเป็นเครื่องอยู่เสียแล้ว แล้วเราก็ค้นหาสาระแก่นสารของ คำว่า เรา เมื่อก่อนเขาว่า นี่บ้านของเรา ลูกของเรา สามีภรรยาของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา คำว่าเราในที่นี้อยู่ที่ตรงไหนของร่างกายนี้ ก็อาศัยความเห็นตรงนั้นก็ตรวจตราดูว่า เราอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าหาที่ลงไม่ได้เลยในร่างนี้ จิตก็เลยเข้าใจว่า โอ้ ! เราเข้าใจผิดแล้ว เราเข้าใจว่าเรามีอยู่ในร่างกายอันนี้ส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่บัดนี้ เราเห็นหมดแล้ว เราไม่เห็นว่าส่วนไหนเป็นเราเลย
คำว่าเรานี้ เป็นสมมุติขึ้นมาของความเข้าใจของจิตเอง คำว่าเราในที่นี้ เราให้ค่ามันเองว่าเป็นเรา แต่แท้จริงเราในที่นี้ ก็ไม่มีที่ตั้งของมันเองว่ามันอยู่ตรงไหนในร่างกายนี้  จิตก็เลยได้คำตอบว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว การเข้าใจอย่างนี้ เป็นความเข้าใจของจิตที่ผิดพลาดมาก  และจิตก็เข้าใจอย่างนี้มานานแล้วว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเรา เป็นของเรา เราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเรา แท้จริงมาเห็นวันนี้เองว่า เราไม่มีในที่นี้ ที่นี้ไม่มีเรา จิตก็ร้องโอ ! ขึ้นมาว่า โอถ้าอย่างนั้นแล้ว เราเข้าใจผิด การเข้าใจผิดของเรานี้เอง ทำให้จิตเราถึงได้ผูกพันกับโลกนี้ เอาล่ะสิจิตรู้ไปถึงโน้นว่า เราเข้าใจแล้วว่า จิตเราผูกพันกับโลกนี้ ด้วยอารมณ์ต่างๆ เพราะเราเข้าใจว่า เรามีร่างกายนี้ ร่างกายนี้เป็นเรา เรามีในร่างกายนี้ เมื่อก่อนเราก็เข้าใจว่า เราก็ไม่มี  เพียงแต่เราไม่เห็นจึงหาอุบายออกไม่ได้ 
แต่บัดนี้เราเห็นแจ้งขึ้นมาแล้วนี้ อาศัยความเห็นเป็นสักขีพยาน ก็เลยได้คำตอบนี้ออกมา  ก็เลยรู้จักอุบายออกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว  ถ้าเราไม่มีในที่นี้ ควรหรือที่เราจะเอาจิตไปผูกพันกับโลกต่อไป  จิตก็ได้คำตอบว่า ไม่ควร  ถ้าไปผูกพันก็เท่ากับเราโง่เท่านั้นเอง  และจิตมันจะเข้าใจของมันว่า ทางที่ถูกควรทำอย่างไง ทางที่ถูกคือ ต่อนี้ไปจิตเราจะเลิกการผูกพันกับโลกใบนี้ การผูกพันกับโลกนี้ไม่ควรแก่เราเสียแล้ว เพราะเราก็ไม่มีในที่นี้ เมื่อก่อนทำไมคิดล่ะ ที่คิดก็เพื่อเรา เพื่อลูกเรา เพื่อสามีภรรยาเรา แต่บัดนี้ เราไม่มี เราจะคิดเพื่อใคร ใครคนนั้นก็ไม่มี
จิตก็เลยร้องอ๋อ ! ขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรคิดเลย เพราะเราก็ไม่มีในที่นี้ อุบายออกต่อไปก็คือต่อไปนี้ เราไม่ควรส่งจิตออกนอก มันแก้ไปจนถึงขนาดโน้น ตรงประเด็นทีเดียวว่า ไอ้จิตที่ส่งนอกที่ผูกพันกับโลกนี้ ทำให้เรานี้มาแก้ไขกัน ได้คำตอบตรงนี้เองว่า โอ ! ถ้าอย่างนั้นแล้ว จิตกับโลกนี้ไม่ควรผูกพันกันต่อไป จิตเห็นตรงนี้แล้ว เริ่มละสักกายทิฏฐิขึ้นมา คนนี้จะก้าวสู่กระแสพระอริยเจ้า จะเป็นพระโสดาบันขึ้นมา
เอาล่ะสิ สมาธิยังไม่ได้ทำเลย พิจารณาร่างกายเห็นแจ้ง เอาเป็นเครื่องอยู่เท่านั้น จะเข้าสู่กระแสพระอริยเจ้าแล้ว เขาเรียกว่า ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา(สงสัย) ไม่สงสัย อันนั้นถูก อันนั้นผิด เมื่อก่อนไปสำนักนั้น  ไปสำนักนี้  สำนักนี้ก็ไป สำนักโน้นก็ไป ไปทั่ว แล้วก็มั่วไปหมด แล้วก็หาจุดยืนไม่ได้ บัดนี้ หายสงสัยแล้วว่า วิธีนี้เท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด ไม่สงสัยในปฏิปทาว่าอันไหนจะถูกผิดอีกแล้ว
วิธีนี้ หนทางนี้ เป็นทางที่ประเสริฐที่สุด เราเข้าใจหมดแล้วว่า ทางนี้ถูกต้องแน่นอน แต่ยังไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่เราจับหลักได้แล้วว่า ทางนี้ถูกต้อง หลังจากลองมา ๔ อย่างแล้ว มาเจอประเภทที่ ๕ นี้ยิ่งใหญ่ที่สุด มองเห็นได้เลยว่า ต่อไปในอนาคตถ้าเราทำไม่หยุด จิตเรากับโลกนี้ขาดจากกันแน่นอน ขาดแล้วจะไม่หวนกลับมาสู่การมีอีก เราจะสอนจิตครั้งเดียวจบเลย จบแล้วเป็นจบ มาตรฐานมีแน่นอนว่า จะไม่หวนกลับมาสู่การมีอีก อันนี้ก็มีมาตรฐานขึ้นมา ถึงได้บอกว่ามาตรฐานนั้นมีอยู่ ความถูกต้องนั้นมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว จิตนี้ก็มั่นใจตนเองว่า ที่ดำเนินมาตรงนี้ ถือว่าเราปฏิบัติถูกต้องแล้ว
เราจะเห็นว่า จิตเราที่พิจารณาสังขารร่างกายนี้ เท่ากับว่าเบื่อตนเองได้เท่าใด ก็เบื่อหน่ายโลกเท่านั้น เบื่อโลกเท่าใด ก็คายความเป็นโลกเท่านั้น คายความเป็นโลกเท่าใด ก็คลายอารมณ์ของโลกเท่านั้น คนนั้นคายไปๆๆ จนสุดท้ายคายจนหมดเกลี้ยงเลย อารมณ์ถึงจะไม่มี แล้วจะหยุดการปรุงแต่ง การปรุงแต่งจะหยุดเมื่อทุกอย่างจบลง  การปรุงแต่งแบบนี้ปรุงแต่งถูก เรียกว่า วิราคธรรม  คือ บรรดาธรรมที่มีการปรุงแต่งทั้งหลาย วิราคธรรมเป็นธรรมที่ประเสริฐที่สุด และประเสริฐตรงนี้เอง
    บุคคลนั้นจะเห็นตัวเองตลอดวันตลอดคืนทั้งหลับทั้งตื่น เห็นตลอดชีวิตไม่เคยหาย เห็นหายก็ไร้มาตรฐาน เห็นไม่หายมาตรฐานถึงมี ต้องรักษามาตรฐานการเห็นตัวเองอยู่ตลอดเวลา เห็นในที่นี้ก็คือตาในเป็นผู้เห็น เห็นด้วยจิตเท่านั้น ไม่ได้เห็นด้วยตาเนื้อ ฉะนั้น เวลาหลับตาลงไปกับลืมตาไม่มีค่าอะไรแตกต่างกันเลย ความเห็นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน จะเห็นทะลุปรุโปร่งไปหมด ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน ความเห็นนั้นสว่างไสวทะลุไปหมด และความเห็นนั้นไม่หาย แม้แต่นาทีหนึ่ง วินาทีหนึ่งก็ไม่หายไปไหน เพราะเราต้องการไม่ให้หายอยู่แล้ว ต้องการให้เป็นเครื่องอยู่ของจิตอยู่แล้ว คนนี้สำเร็จ และคนนี้นิพพานแท้แน่นอน” 
เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว เขาก็เริ่มจับหลักได้ว่า อ้อ ! “เรามายึดตัวเราเป็นเรานี้เอง ถึงได้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆขึ้นมา” เราเข้าใจแล้วว่า อุบายออกก็คือต่อนี้ไป จิตเราไม่ควรเข้าไปผูกพันอะไรกับโลกนี้  จิตเราต้องหลุดพ้นจากโลกนี้แน่นอน  มั่นใจได้เลยว่า ทางนี้สำเร็จได้ คนนั้นก็มาถึงตรงนี้ จับหลักได้แล้วก็เริ่มเข้าสู่กระแสพระอริยเจ้าคือพระโสดาบันขึ้นไป “ละสักกายทิฏฐิได้” คือ ละความเห็นว่า เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเรานี้เอง การเห็นตัวตรงนั้นเขาเรียกว่า ญาณทัสสนะ" เมื่อก่อนไม่เห็นมืดตื้อ ลองหลับตาแล้วนึกถึงตัวเองดู มันมืดไปหมด ไม่เห็น ไม่เห็นนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นต่อไป เห็น ! ถ้าเราอบรม แต่ถ้าเราไม่อบรม อบรมไม่พอ จะไม่เห็นมืดหมด ทุกคนจะผ่านการมืดมาก่อนทั้งนั้น แม้แต่คนที่เห็นแจ้งนี้ ก็มืดมาก่อนเหมือนกัน เพียงแต่คนนั้นอบรมขึ้นมา ก็จะสว่างไสว
ฉะนั้น การเห็นตัวเองแจ้งขึ้นมาๆๆๆ ทุกขณะ แล้วก็เห็นตัวเองมากขึ้นๆๆๆ จากจุดใดจุดหนึ่งจะลุกลามไปทั่วสรรพางค์กาย ทั่วไปหมดตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า  อ้า ! แล้วก็เกิดการเบื่อหน่ายขึ้นมามากมาย เห็นสรีระตนเหมือนกับซากผีดิบ ซากผีดิบดีๆ นี้เอง เชื่อไหมความเห็นอย่างนี้  เห็นตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเดือน ตลอดปี จนถึงวันตายเลย มันเห็นมาก เห็นมากๆๆ ก็เกิดการเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนร่างกายตัวเองว่า โอ้ ! เราไม่มีอะไรดีจริงๆ มีแต่เน่าเหม็นหมดตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า ก็เกิดความเบื่อหน่ายก็คลายความยินดีในตัวเองออก
ความเบื่อหน่ายนี้ เราเบื่อหน่ายแทนจิตมิได้ เราเป็นผู้พาจิตไป แต่การเบื่อหน่าย หรือไม่เบื่อหน่าย ให้เขาเกิดอาการของเขาเองๆ เราเป็นผู้พาจิตไป แต่อาการเหล่านี้ฝากให้เขาออกอาการเอง เราจะทำแทนไม่ได้ เบื่อหน่ายแทนไม่ได้
จิตเห็นดังนั้นแล้ว ก็เกิดความเบื่อหน่ายตนเองมากๆๆๆ เบื่อหน่ายตนเองมากขึ้นๆๆๆ  เบื่อหน่ายตนเองได้เท่าใด ก็เบื่อหน่ายโลกเท่านั้น เบื่อหน่ายโลกเท่าใด ก็คายความเป็นโลกเท่านั้น คายความเป็นโลกเท่าใด ก็คลายอารมณ์ของโลกเท่านั้น คลายออกไปๆๆ อารมณ์ที่เราเคยคว้าเข้ามาๆๆๆ ตั้งแต่เกิดมาที่เราคว้าอารมณ์เข้ามาใส่จิต  ตอนนี้ก็คลายออกไปๆๆๆ คลายความยินดีในตัวเองมากเท่าใด ก็คลายความเป็นหญิงเป็นชายเท่านั้นด้วย เชื่อไหมว่าความเป็นหญิงเป็นชายนี้ลดลงๆๆ และก็รู้ว่า สักวันหนึ่ง ต้องไม่เหลือแน่นอนในจิตเรา จะไม่เหลือแน่นอน เรารู้เลยว่าเราต้องละราคะได้ ละโทสะได้ ละโมหะได้ มันอยู่ตรงนี้เองกิเลส แล้วการละของเรา ละแล้วจะไม่หวนกลับการมีขึ้นมาอีก มันมีระบบของมันที่มีมาตรฐานนั้นเอง คือ ความเห็นไม่หายนั้นเอง คือมาตรฐานของเขา เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว มันก็รักษามาตรฐาน “ไม่ละบีบให้ละ” เมื่อละแล้วมาตรฐานตรึงไว้เสมอ ไม่หวนกลับสู่มามีการมีอีก อันนี้แหละเรียกว่า หาความเป็นมาตรฐานของจิตได้
เชื่อไหมว่าเราเห็นตัวเองมากขึ้นๆๆๆ ความเป็นหญิงเป็นชายนี้ลดลงๆๆ แล้วบอกได้เลยว่าหมดแน่ๆ ตาลืมๆนี้แหละ อันนี้ไม่ได้ทำสมาธิ  ยืนเดินนั่งนอนทำหมด ทำตลอดเวลาทุกอิริยาบทเลย ตาลืมๆนี้แหละสามารถจะละกิเลสได้ ทีนี้ราคะจะบางลงไปๆๆ เบาลงไปๆๆ โทสะก็จะบางลงไปๆๆ เบาลงไปๆๆ โมหะคือความหลงต่างๆ ก็จะบางลงไปๆๆ เบาลงไปๆๆ จนสุดท้ายนี้ ราคะกับโทสะนั้นดับไป
ถ้าเราเห็นตัวเองแจ้งถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรจะแจ้งกว่านั้นแล้ว เชื่อไหมว่า ตาเนื้อของเราสู้ไม่ได้เลย ความชัดของมัน ชัดมากๆเลย จิตดวงนี้ ไม่เคยเห็นว่า จิตจะชัดขนาดนี้  เมื่อก่อนมืดตึดตื๋อ มองไม่เห็นเลย  เวลาเห็นตัวเองนี้ ชัดมากๆ มันชัดยิ่งกว่าตาเนื้อเสียอีก แล้วมันไม่ใช่เห็นแต่เนื้อหนัง เห็นหมดเลยตับไตไส้พุง มันไม่เบื่อได้อย่างไร กิเลสอะไรจะทนอยู่ได้ ลองคิดดู เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว อะไรจะทนอยู่ได้ เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็เบื่อหน่ายตัวเองมากที่สุด ถึงขีดสุดจนเต็มร้อย เมื่อเต็มร้อยแล้ว จิตก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพอกันที่ ข้าพอแล้ว เบื่อเต็มที่แล้ว ปิดตัวเองแล้ว ต่อนี้ไปข้าไม่เที่ยวอีกแล้ว ถึงเที่ยวไป ข้าไม่มีแก่ใจจะเที่ยวแล้ว เพราะมันเบื่อไปหมดเลย
อันนี้เบื่อจริงๆ เบื่อแล้วก็เลยบอกว่า ต่อนี้ไปข้าเลิกกับโลกแล้ว เพราะเข้าใจโลกดีว่า โลกนี้ว่างเปล่าๆ ว่างเปล่าอย่างไร ว่างเปล่าในขณะนั้น เห็นตัวเองเหมือนซากผีดิบอยู่ แล้วก็ชี้ไปที่ร่างตัวเองว่า ที่ตัวเองเห็นคือว่างเปล่าในสิ่งที่มีอยู่ การเห็นความว่างเปล่าแบบนี้ เป็นนิพพาน  นิพพานแท้ๆนั้น ว่างเปล่าในสิ่งที่มีอยู่  ส่วนนิพพานหลอกหรือนิพพานปลอมนั้น ว่างเปล่าในสิ่งที่ไม่มี  ไม่มีนั้นมันมีอยู่ แต่ที่มีอยู่นั้นมันไม่มี  ก็ได้คำตอบตรงนี้ว่า ถ้าเราว่างเหมือนอากาศซึ่งดูแล้วว่างไปหมด เหมือนไม่มีอะไรเลย แต่มันมีอยู่ เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้น ถ้าบอกว่าอากาศว่าง แต่ความจริงอากาศมีคลื่นทีวี คลื่นวิทยุ คลื่นอะไรไม่รู้เต็มไปหมด แต่เรามองไม่เห็น ว่างอย่างนี้เรียกว่า ว่างแต่มันมีอยู่
แต่ถ้าเราเห็นตัวเองเหมือนซากผีดิบอยู่ แล้วชี้ไปที่ร่างผีดิบนั้นว่า นี้แหละว่างเปล่า ถามว่าว่างอย่างไรมันเป็นซากผีดิบ ว่างอย่างไร เออ ! เป็นผีดิบนั่นแหละ แต่ว่ามันว่างเปล่า ว่างอย่างนี้เขาเรียกว่า ว่างแต่สิ่งนั้นไม่ว่าง แต่มันว่าง เหมือนคนชี้ไปที่ถังขยะและบอกว่า ถังขยะใบนี้มันว่างเปล่า  มีอีกคนหนึ่งบอกว่า ว่างเปล่าอย่างไร ขยะเต็มไปหมด ว่างเปล่าอะไร ว่างเปล่าจากสาระแก่นสารเข้าใจไหม  ถึงขยะจะเต็มก็ช่างเถอะ แต่มันว่างเปล่า ถ้าว่างเปล่าแบบนี้ ก็ว่างเปล่าในสิ่งที่มีอยู่ แต่สิ่งที่มีอยู่เป็นปรากฏตัวของความว่างเปล่าจากสาระแก่นสาร  ว่างอย่างนี้คือว่างแบบนิพพานแท้ 
ฉะนั้น ความว่างนี้ต่างกัน ถ้าว่างเหมือนอากาศนี้ไม่ใช่ ว่างหลอก จำให้ดีปฏิบัติว่างเหมือนอากาศนี้ คือว่างไม่มีอะไรเลย แต่มันมีอยู่ สังเกตดูจะมีอารมณ์ผุดออกมาไหลออกมาจากความว่างนั้นตลอดเวลา แต่มองไม่เห็น มองเห็นเมื่อไหร่เป็นอารมณ์แล้ว แต่ความว่างนั้นมองไม่เห็น อันนี้ว่างหลอก นิพพานหลอก แต่ถ้าว่างเห็นตัวเองเป็นซากศพผีดิบอยู่  อันนั้นว่างถูก คือว่าง ในสิ่งที่มีอยู่   ถ้าว่างในสิ่งที่ไม่มีนั้น แต่มันไม่ว่าง อันนั้นว่างผิด เป็นวิปัสสนู แต่ที่พิจารณาเห็นร่างกายเป็นวิปัสสนา นักปฏิบัติธรรมไขว้เขวไปหมด และมีเป็นจำนวนมาก เพราะมีความเข้าใจในลักษณะต่างๆ ต่างกันไป
เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว จิตคนนั้นก็เห็นว่า เบื่อตัวเองได้เท่าไหร่ก็เบื่อโลกเท่านั้น เบื่อโลกเท่าไหร่ก็คายความเป็นโลกเท่านั้น คายความเป็นโลกเท่าไหร่ก็คลายความเป็นหญิงเป็นชายเท่านั้น เชื่อไหมว่าความเป็นหญิงเป็นชายที่เรามีอยู่ สุดท้ายแล้วหายหมดเลย แล้วก็จะไม่มีการหวนกลับมาอีกเลยตลอดชีวิต จะไม่มีการหวนกลับมามีอีก เบื่ออย่างนี้แหละ คายอย่างนี้แหละ มาตรฐานเขามี  ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อน บอกว่าพิจารณาร่างกายเข้าใจแล้ว เมื่อวานพิจารณาบอกว่าเข้าใจแล้ว วันนี้เอาอีกแล้ว จิตเอาอีกแล้วๆ ทำไมเมื่อวานมันมีมาตรฐาน ก็บอกว่าเมื่อวานก็ก็เป็นเรื่องของเมื่อวาน วันนี้ก็เป็นเรื่องของวันนี้ มันคนละวันกัน ซึ่งมันไม่มีมาตรฐาน แต่เราจะหามาตรฐาน ก็คือต้องเอาความเห็นร่างกายเป็นเครื่องอยู่ มาตรฐานมันมี และเมื่อมีแล้วจะเป็นมาตรฐานเดียว “คือมีกายเดียว จิตเดียว” เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะไม่มีการหวนกลับมาอีก
เชื่อไหมว่า สิ่งที่เราละไปแล้ว มันจะไม่มีการหวนกลับมามีขึ้นมาอีก มันมีไม่ได้เลย ความเป็นหญิงเป็นชายหายไปแล้ว มันจะไม่มีการกลับมาอีก พร้อมกับเราจิตเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสบาย  “จิตเป็นหนึ่งเดียว” และก็ไม่มีอารมณ์อะไรอยู่ในนั้นเลย เราต้องการจิตหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีองค์ประกอบที่เห็นตนเองเป็นซากผีดิบขึ้นมา คิดดูเถอะว่า มันจะไม่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อย่างที่บอกว่าเราต้องการผล แต่ต้องดูแลที่ต้นนั้นถูก ดูแลต้นให้ดี หมั่นรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ย แล้วเราจะได้ผลที่ดี
เราต้องการจิตที่เป็นหนึ่ง แต่ต้องทำลายความเป็นหญิงเป็นชายร่างผีดิบนี้ก่อน เราต้องเห็นแจ้งก่อน แล้วก็ทำลายความเป็นผีดิบ ลำลายความเป็นเรานี้ก่อนว่า เราไม่มีในร่างผีดิบนี้  ที่นี้ไม่มีเรา เท่านั้นเอง เราจะได้ความเป็นหนึ่งของจิตมาเอง อันนี้ถูกต้อง ความเป็นหนึ่งตรงนี้ มันจะเป็นหนึ่งตลอดเวลา แล้วเราไม่ต้องคุมมัน มันจะเป็นหนึ่งด้วยการยอมรับของมันเอง การเป็นหนึ่งของจิตนี้ มันเป็นหนึ่ง ๒ แบบ  
แบบที่ ๑  หนึ่งแบบบังคับ คือ จิตเป็นหนึ่งแบบที่เราประคองบังคับให้จิตเป็นหนึ่ง แล้วเราต้องประกบมันเสมอ แต่เผลอไม่ได้ เผลอเมื่อไหร่มันไปทันที  ถ้าเผลอปุบมันไปเลย ไปทันทีเลย แล้วเราก็ดึงมันกลับมาอีก อันนั้นเขาเรียกว่า หนึ่งแบบบังคับ แบบนี้เราจะเหนื่อยมาก เหนื่อยตายเลย และเหนื่อยแล้วก็ไม่จบ
แบบที่ ๒  หนึ่งแบบยอมรับ คือ จิตเป็นหนึ่งแบบเห็นตัวเองเป็นซากศพผีดิบ ยอมรับอย่างไร ยอมรับเพราะจิตเห็นตัวเองแล้วเบื่อหน่ายตัวเอง เมื่อเบื่อหน่ายตัวเอง ก็เบื่อหน่ายโลก เมื่อเบื่อหน่ายโลก จิตก็บอกว่า ต่อไปนี้ข้าเบื่อแล้ว เบื่ออะไร  เบื่อที่จะไปคิดโน้น คิดนี้แล้ว ข้าวางโลกไปแล้ว เมื่อตัวมันเองเบื่อตัวมันเอง เบื่อการกระทำของตัวมันเอง มันก็เลยปิดการกระทำของตัวเอง ล้มด้วยตัวของมันเอง ถึงเราจะไล่ให้มันไปข้างนอกบ้างสิ ไปบ้างสิ มันก็ไม่ไป เพราะมันเบื่อ เบื่ออย่างนี้ หยุดอย่างนี้แหละ เราก็สบาย ในเมื่อจิตไม่อยากไปแล้ว มันหยุดด้วยตัวของมันเอง เราจะคุมมันไปทำไม เพราะจะคุมหรือไม่คุมก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมันไม่ไปเสียแล้ว ความเป็นหนึ่งของจิตก็เลยเกิดขึ้น เมื่อเกิดแบบนี้ เขาเรียกว่าเป็นหนึ่งแบบยอมรับ เราก็ไม่เหนื่อยแล้ว ไม่คุมด้วย ไม่ไปด้วย  เออ ! อย่างนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ไม่ไปต่างหาก ไม่คุมต่างหาก มันก็อยู่กันได้สบายๆ ไล่ไปก็ไม่ไป มันบอกว่า เบื่อแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าถอนทั้งรากเลย ถอนกิเลสตัณหาถึงรากเหง้าเลย
แต่ที่เราเคยทำๆ กันมา พอเผลอปุบไปทันที อันนั้นไม่ได้ถอนเลย เพียงแต่เบรกมันไว้ๆเท่านั้นเอง เบรกมันไว้ เผลอเมื่อไหร่ไปทันที กว่าจะดึงกลับก็ยากเย็น มันไม่ได้ถอนที่รากเหง้า เพราะเราทำไม่ถูกๆ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง ต้องทำตรงนี้ ถ้าทำตรงนี้ได้ นี้คือนิพพานแท้  นิพพานแท้ตรงนี้ จิตจะหลุดออกจากโลก  จิตจะบอกกับตัวเองว่า พอกันที่สำหรับโลกใบนี้ ที่จะผูกพันกันต่อไป เพราะข้าเข้าใจแล้วว่า โลกนี้เหมือนซากผีดิบทั้งโลกเลย ไม่มีอะไรเป็นใครเลย หญิงและชายก็เท่านั้นเอง จิตขอยอมหยุดตัวเองลง ไม่อยากจะคึกคะนองต่อไป เห็นตนเองเป็นซากผีดิบ หมดความคะนองของตัวมันเอง  และต่อไปข้าขอสงบตัวเอง จิตจะสงบมาก และสงบถาวรเลยทีนี้ สงบถาวรแน่นอน
นี้คือ นิพพานแท้จะถาวรอย่างนี้ และการที่ว่าเป็นหนึ่งเดียวของจิต เป็นตลอดชีวิตเลย ไม่ใช่ว่าเราจะมานั่งแล้วเป็นหนึ่งเดียว ไม่นั่งก็หนึ่ง นั่งก็หนึ่ง ไม่นั่งก็หนึ่ง หนึ่งเดียววันยังค่ำ จิตก็ไม่ต้องประคอง เพราะเราอบรมมาดีแล้ว แต่ระหว่างจะมาถึงตรงนี้ต้องประคองตลอด  เพราะว่ามันยังดื้ออยู่ แต่พอถึงตรงนี้แล้วหายดื้อ หายดื้อ  ถ้าอย่างแล้วการกระทำของเรา ถึงวันหนึ่งต้องจบกันไป ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่จบ เหมือน ๔ ประเภทที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีวี่แววจะจบลงได้เลย จบตรงไหนไม่มี มีแต่คุมทั้งวัน เหนื่อยตายอย่างนั้น มันไม่ใช่ ของแท้ไม่เป็นอย่างนั้น มันจะเหนื่อยต้องเหนื่อยครั้งเดียว แล้วการเหนื่อยต้องมีวันจบ ฉะนั้น การจบของการกระทำย่อมมี เราจะทำอะไรเราต้องคิดถึงการจบของเขาว่า ต้องมีที่ใดที่หนึ่งที่จบลงได้ เพราะฉะนั้นของที่จบลงได้ถือว่าเป็นของแท้ แล้วจิตนี้อบรมครั้งเดียวจบ แล้วไม่ต้องอบรมอีก จิตก็ไม่มีการแปรเปลี่ยน  ถ้าเราไม่อบรมแล้วแปรเปลี่ยนทันที ขณะอบรมอยู่มันยังไปเลย มันไม่ได้ มันทำไม่ถูก ที่ทำถูกแท้มันไม่ใช่อย่างนั้น เราพาเขาไปผิด เพราะไม่เข้าใจในทางๆ(มรรค)
       ฉะนั้น เบื่อตนเองได้เมื่อไร เห็นตนเองแจ้งเมื่อไหร่ เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นตัวเองตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า นั่นแหละสุดยอด  สุดยอดของการเห็น สุดยอดของความสงบ ไม่มีอะไรจะสงบยิ่งกว่านี้อีกแล้ว สงบแล้วสงบขาดจากโลก ทำให้จิตเราคนๆนี้ วันๆ หนึ่ง ไม่รั่วออกไปจากตัวเลย เมื่อเห็นตัวเองก็เห็นตา เมื่อเห็นตัวเองก็เห็นหู เห็นจมูก เห็นลิ้น เห็นกายว่า เมื่อตัวทั้งตัวไม่เที่ยง ตาหูเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ตา หูเมื่อไม่เที่ยง จิตก็ได้คำตอบว่า เราควรหรือจะเอาจิตออกทางตา ออกทางหูเหล่านั้น ปรากฏจิตก็ได้คำตอบว่า ไม่ควร  ถ้าเราไม่เที่ยงเป็นซากผีดิบ ตาหู จะมีประโยชน์อะไร  สุขทุกข์อันใดที่อาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย จะมีประโยชน์อะไรเล่า ถ้าอย่างนั้น ข้าขอเลิกไปทางตา ทางหู  เชื่อไหมว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายทำงานอยู่ แต่ใจไม่ได้ไป ใจไม่ได้ไปด้วย แยกทางกันเลย ตาหูทำงานไป แต่ข้าไม่ร่วมด้วย ไปคนละทิศละทางว่า ตาหูทำงานไป แต่ใจไม่ร่วมด้วย ฉะนั้น วันๆหนึ่ง คนนั้นก็ใช้ตาดูใช้หูฟัง แต่จิตไม่เพ่นพ่านในหู ในตานั้นเลย ตาหูก็โมฆะ จิตนั้นเลยไม่รั่วไหลออกทั้ง ๖ ประตู ไม่มีการรั่วไหล เพราะจิตเบื่อเสียแล้ว
บ้านหลังหนึ่ง คนในบ้านหลังนั้นเป็นผู้อาศัยคือ “จิตดวงนี้” บ้านหลังนี้คือ “ร่างกายอันนี้”  บ้านหลังนี้มีประตูอยู่ ๖ บาน คือตา หู  จมูก ลิ้น กาย คนในบ้านนี้ชอบออกจากบ้านทางประตูทั้ง ๖ นี้ตลอดเวลา แต่บัดนี้ คนในบ้านคนนี้ บอกว่าข้าเบื่อแล้ว ข้าจะอยู่กับบ้านแล้ว อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนแล้ว ข้าจะไม่เที่ยวอีกต่อไป เมื่อคนในบ้านไม่เที่ยว ประตูทั้ง ๖ บาน ก็เป็นประตูว่างๆอยู่  ไม่มีความหมายอะไร ถึงแม้เขาจะไม่ปิดประตู  ประตูก็หาเรื่องหาราวอะไรให้ไม่ได้ ฉะนั้น คนๆนั้น เป็นอันว่าเมื่อหยุดแล้ว ประตูก็ไม่มีความหมายอะไร เพียงแต่ใช้ตา ใช้หูไป แต่จิตมิได้ออกทางตาหูนั้นเลย
พระพุทธองค์ตรัสว่า   ภิกษุนั้นครอบงำตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ แต่อายตนะเหล่านั้น ก็ไม่สามารถครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้ คนนั้นก็หลุดโลก หลุดโลกหมายถึงว่า หลุดออกจากอารมณ์ของโลก แล้วก็ดึงตัวมันเองอยู่กับตัว เพราะฉะนั้น วันๆหนึ่ง คนๆนี้ เมื่ออบรมถึงตรงนี้ จะไม่มีจิตรั่วไหลออกจากตัวเขาเลย แม้แต่นิดเดียวเลย เป็นอันว่าคนๆนี้ ขาดสูญไปจากอารมณ์ของโลก ทั้งๆที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้
ความสงบนี้ใหญ่ถึงขนาดว่า ๒๔ ชั่วโมง เป็นเนื้อของสมาธิหมดเลย อันนี้แหละคือของแท้ แล้วก็ไม่มีการเสื่อม ไม่มีการเลื่อนไหลของจิตไปทางไหนมาทางไหนอีก  หนึ่งเดียว อันนี้แหละของแท้ คนนั้นจะนั่งสมาธิ หรือไม่นั่งสมาธิก็ไม่มีปัญหา ไม่เกี่ยวเลยว่าจะนั่งหรือไม่นั่ง แต่จิตนั้นหนึ่งเดี่ยว และหนึ่งเดียวของจิต เป็นหนึ่งเดียวแบบยอมรับของมันเองด้วยว่า ข้าเบื่อแล้ว ข้าไม่ไปแล้ว เราจะให้คำตอบแก่เขาอย่างนี้ได้  เราต้องเห็นแจ้งตัวเรานี้ให้ได้ก่อน
เราจะเห็นคุณค่าของการทำอย่างนี้ว่า “เป็นหนทางอันถูกต้องแน่นอน ถ้าไม่ถูกต้องแล้ว ราคะ โทสะ จะหมดได้อย่างไร” ความเป็นหญิงเป็นชายนี้หมดเกลี้ยงเลย  ไม่มีเหลือในที่นั้นเลย ตาลืมๆนี้แหละ ไม่เกี่ยวกับวัย ไม่เกี่ยวกับหนุ่มสาว ไม่เกี่ยว วัยหนุ่มๆสาวๆ ไม่เกี่ยว  เกี่ยวกับระบบของจิตมันทำลายได้หมด ถ้าไปเห็นแล้วไม่มีเหลือๆ เพราะอะไร เพราะมันเบื่อ เบื่ออะไร เบื่อสรีระตัวเองนั่นเอง แล้วมันก็พาลเบื่อไปหมดเลยทั้งโลก  มันคายออกหมดเลย    
ทีนี้ การปฏิบัติธรรมตรงนี้ถือว่าถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องแล้วมันจะมีผลนี้ได้อย่างไร  เราจะพยากรณ์ตัวเองได้เลยว่า การปฏิบัติของเราถูกต้องแน่นอน ทั้งสงบระงับ สงบแบบขาดเลย ถาวรเลย ไม่ใช่วันๆ หนึ่งต้องมาไล่จับจิต จับจนเหนื่อยก็ไม่อยู่ พรุ่งนี้ต้องมาไล่จับใหม่ บางครั้งก็อยู่ บางครั้งก็ไม่อยู่  โอย ! เหนื่อยตาย เหนื่อยแน่ๆ เหนื่อยแล้วไม่จบด้วย จบแล้วจบเลย มันไม่ใช่ว่าเราจะมาทำซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น  ทำซ้ำซากเมื่อมันยังไม่จบ ก็ต้องทำอยู่  เมื่อจบแล้วก็ไม่มีการทำ นอนตีพุงได้เลยว่า โอ้ ! สบาย โลกนี้ ชาตินี้เราสบายแล้ว ไม่มีการหวนกลับของจิตอีกแล้ว ต่อให้นอนวันยังค่ำก็ช่างเถอะ ไม่มีการรั่วไหลของจิตเลย ไล่มันก็ไม่ไป ถามมันว่าทำไมไม่ไปเที่ยวล่ะ มันบอก ข้าเบื่อมันมีวันนั้นให้ได้เหมือนกัน มีคำตอบนี้ให้ได้เหมือนกัน เมื่อก่อนไม่มีคำตอบให้เลย จิตดวงนี้จะไปเที่ยวตะพึด
อื้อ ! ไม่น่าเชื่อว่าคนๆนั้นทำได้ ทางที่ถูกมันอยู่ตรงนี้เอง ถูกหรือไม่ถูกเราดูที่จิต  จิตยังไปอยู่ถือว่า ใช้ไม่ได้ๆ   และนี้ก็ไม่ได้เข้าสมาธิลึกอะไร อยู่อย่างธรรมดาๆ อยู่เหมือนคนธรรมดาๆนี้เอง ไม่ได้เข้าสมาธิอะไรเลย แต่จิตก็ไม่ได้ไป ไม่ไป และก็ไม่ได้เข้าด้วย คนอย่างนี้เขาเรียกว่า นิพพานแท้ๆ อยู่รอวันตายเท่านั้นเองว่า วันไหนจะเป็นวันตายของเรา เราจะขาดกันตรงนั้น จิตใจตรงนี้กับร่างกายนี้ขาดกันตรงนั้น แต่ทุกวันนี้อยู่เพื่อรอวันตาย แต่ก็ไม่ได้ทำลายร่างกายนี้ให้มันพังไป ให้มันเป็นไปตามอายุขัยของมัน และคนนั้นก็สงบระงับแล้ว
หลังจากพิจารณาร่างกายตัวจบแจ้งแล้ว จนไม่มีอะไรเหลือแล้ว จิตดับสนิทเลย ไม่มีไป ไม่มีมาอีกแล้ว ถามว่าจบเลยไหม ตอบว่ายัง ยังเป็นพระอนาคามีอยู่ “ทีแรกเริ่มเข้าสู่พระโสดาบัน ละสักกายทิฎฐิ ตอนนี้มาเป็นพระอนาคามีแล้ว เป็นแล้วเป็นเลย ไม่มีการหวนกลับ ไม่มีการกลับกลอก” ไม่ใช่ว่าเมื่อวานนี้หมด วันนี้มีอีกแล้ว  โอย ไม่ใช่ของเทียมอันนั้น และนี่มันไม่มีอีกเลยตลอดชีวิตนี้เลย มันมีไม่ได้หรอก เพราะมันแจ้งไปหมด มันแจ้งสว่างไสวไปหมด ตัวเรามันแสงออกทั้งตัวเลย สว่างไสวไปหมด อบรมตัวนี่แหละ หัวถึงเท้าเลย สว่างไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืน สว่างไสวหมด สว่างนี้เป็นอมตะ ตลอดชีวิตเลย สว่างอันนี้ เพราะจิตมันแจ้งมาก จิตมันอบรมมาดีแล้ว อบรมตลอด ๒๔ ชั่วโมง แล้วผลของเขาก็ออกมา ๒๔ ชั่วโมง
ฉะนั้น ผลอันนี้เป็นผลอันใหญ่หลวง ที่ทำให้เราเห็นความเป็นจริงของโลกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน  เห็นเรานั่นแหละจึงเห็นโลก  ถ้าไม่เห็นร่างกายอันนี้ ก็เห็นโลกไม่ได้   ไม่มีใครแจ้งมาแต่กำเนิด แต่เขาอบรม แจ้งเพราะอบรมขึ้นมานั่นเอง ทีแรกก็มองไม่เห็น ตัวเรามองไม่ออกนึกไม่ได้ แต่อบรมไปๆๆ มันก็แจ้งขึ้นๆๆ โอ้โห ! ตอนนี้แจ้งสว่างไสวหมด จนจิตของเราขาดจากโลกเลย ไม่อยู่ในโลกใบนี้แล้ว อยู่แต่ร่างอันนี้อย่างเดียว แล้วรอร่างอันนี้ตายเท่านั้นเอง ถ้าร่างนี้ตายก็คือจบกันไป รอวันตายน่ะ จิตจะไปเที่ยวเหมือนเมื่อก่อนไม่มี เลิกกันไป เชื่อไหมจิตดวงนี้เลิกได้จริงๆ เลิกขาดเลย และไม่หวนกลับ ไม่มีการหวนกลับของจิตอีกเลย 
โอ้โห ! มาตรฐานสุดยอด เราไม่เคยเห็นมาตรฐานอะไร จะเป็นมาตรฐานขนาดนี้  และจิตเองเป็นธรรมชาติอย่างกับลิงน่ะ เราจะหาความมาตรฐานอะไรได้กับมัน แต่มาหาได้ตรงนี้เองว่า เอ้อ..มาตรฐานของเขามี  ไม่น่าเชื่อเลยว่าจิตนี้มีมาตรฐาน มันเลื่อนไหลเสียจนเราจะหาความมีมาตรฐานของมันว่าจะมีได้อย่างไร แต่สุดท้ายมันก็มีจริงๆในที่ของเขา แสดงว่าพระอรหันต์ท่านอยู่อย่างนี้เอง และมีความมาตรฐาน  ตั้งแต่วันที่อบรมได้ จนถึงวันตายไม่ต้องทำความเพียรอีก แล้วไม่มีปัญหาอะไรอีกเลย จิตนี้ไม่มีการกระดิกเลย เลิกกันขาดเลย และมาตรฐานนี้ เป็นหนึ่งเดียวเลย
เอ้อ ! สะใจจริงๆ ไม่น่าเชื่อเลยว่า เราจะหาความมาตรฐานของธรรมชาติที่กลับกลอกนี้ได้ ถ้าไม่ใช่ของแท้เป็นไม่ได้ ของแท้เป็นได้ แสดงว่าเราเดินทางมาถูกต้องแน่นอน พยากรณ์ได้เลยว่าถูกแน่นอน โดยเฉพาะมนุษย์เราที่เกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เขาเรียกว่า กามภพ โดยเฉพาะความเป็นหญิงเป็นชายไม่เหลือเลย แล้วก็จะไม่การกลับมามีการมีอีกเลย “สะใจว่าสุดยอด และจิตนั้นหนึ่งเดียวเสมอ หนึ่งเดียวโดยที่ไม่ต้องเข้าสมาธิอะไรเลย” หนึ่งเดียวเพราะการเลิกราของมันนั่นเอง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ไม่มีความหมายๆ ของการไปของจิตเลย จิตเลิกแยกทางไปเลยว่า ข้าไม่ร่วมด้วย ตาหูทำงานเปล่าๆ ไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง  เดินไปไม่ตกหลุมตกร่อง ไม่เดินไปชนใครก็แล้วกัน พอแล้ว จิตมองด้วยหางตาไปเท่านั้นเอง แต่จิตไม่ได้ไปด้วยเลย ใช้ตาหูทำงานเปล่าๆไป เขาเรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ เห็นสักแต่ว่าเห็น แต่ไม่มีการผูกโยงอะไรกับอะไรกับจิตดวงนั้น จิตดวงนั้นหลุดโลกแล้ว จะเห็นว่าคนๆ นี้ เมื่อก่อนจิตของเขาก็ผูกโยงกับโลกอย่างแน่นหนาไปหมด 
แต่บัดนี้ชีวิตเดียวกัน แต่เขาอยู่อีกธรรมชาติหนึ่งแล้ว เขาจะเห็นว่าเมื่อก่อนเขาเป็นคนอีกคนหนึ่ง แต่บัดนี้ เขาปฏิบัติไปแล้ว เขากลับไปเหมือนกับคนอีกคนหนึ่ง แต่ชีวิตเดียวกัน ซึ่งเป็นความสะใจเหลือเกินกับชีวิตว่า "ชีวิตเดียวกันนี้เอง เรามีสองระบบขึ้นมา" เมื่อก่อนเราไม่ได้ปฏิบัติ เราอยู่กับระบบเดิมๆของเรา แต่บัดนี้เราอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเปลี่ยนระบบของเดิมของเราไปสู่อีกระบบหนึ่งได้สำเร็จ  ถือว่าคนนั้นหาค่าไม่ได้เลยกับชีวิต จะมีความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสูงสุด และไม่มีที่สิ้นสุด  ด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ตน ถ้าลำพังความสามารถของเราแล้ว คงจะไม่มีวันนี้ได้แน่นอน เพราะเราไม่มีวิสัยที่จะรู้ได้ถึงขนาดนี้ แต่เราอาศัยคำสอนของพระองค์นั่นเอง กราบอย่างสนิทใจ ด้วยเห็นว่าพระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์โลกนี้ บุญคุณของพระองค์ใหญ่หลวงเกินกว่าที่จะประมาณได้  การที่ตัวเองเข้ามายืนอยู่ตรงนั้นได้ ที่เขาเรียกว่า เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างสุดซึ้ง และกว่าจะรู้แจ้งพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ได้ก็ยากเหลือเกิน และสลับซับซ้อนเหลือเกิน
เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของชีวิตของเรานั้น มีขึ้นได้โดยทางจิตนี้เอง แต่ร่างเดียวกัน ร่างเดียวกันนั่นเอง แต่เปลี่ยนที่ ระบบของจิต คนนั้นจะไปสู่อีกระบบหนึ่ง ทำให้เรากับโลกนี้ขาดกัน ด้วยการผูกพันด้วยอารมณ์ คนนั้นจะเป็นชาติสุดท้าย ชาติสุดท้ายแล้วว่า บารมีที่สร้างสมมาจบกันตรงนั้นเลยว่า บารมีสูงสุดแล้ว ความเพียรเท่านั้น  ที่จะทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นได้  ไม่ใช่ใครบันดาลให้ใคร เพราะความเพียรตรงนี้ ทุ่มเทอย่างมหาศาล ทุ่มเทลงไปอย่างมากมายก็คือตรงนี้ และตรงนี้เองจะทำให้เราหลุดออกมา จะเห็นคุณค่าของการหลุดพ้นตรงนี้ว่า มีมากเกินกว่าที่จะนับได้ คนนั้นก็เข้าถึง บรมสุข สุขที่จิตปราศจากอารมณ์ทุกอย่างในโลกนี้ ที่จะผูกโยงกับจิตดวงนี้ 
จิตดวงนี้จะไม่มีอำนาจอะไร จะมากระชากตัวมันเองออกไปข้างนอกได้ ไม่มีเลย คนนั้นยิ่งใหญ่ที่สุด ชนะโลกแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ในขณะนั้น จิตเห็นว่าตัวเองเห็นแจ้งไปหมด มันจะเป็นพระอนาคามี จิตมันไม่ไปไหนแล้ว ไม่ไปไหน ไม่มาไหน หลังจากนั้นพิจารณาดูร่างกายแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว “แต่ก็ยังเป็นพระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์ หลุดพ้น แต่หลุดพ้นระดับหนึ่ง” เห็นแล้ว จบแล้ว อิ่มแล้ว เบื่อหน่ายแล้ว ถึงที่สุดแล้ว จิตก็ละวางโลกแล้ว ไม่มีการหวนกลับไปสู่การมีอีก
หลังจากนั้นให้ทำสมาธิใหม่ อันนี้ เอาจิตดูจิตเอง กลับมาทำอีก ทีแรก เราเอาจิตดูกายให้แจ้งขึ้นมาจนถึงพระอนาคามี แต่การที่จะเอาจิตมาดูจิตนี้ เรายังไม่ดูจริงจังอะไร  เอาจิตดูกายเป็น ญาณทัสสนะ แต่เอาจิตมาดูตัวจิตเอง ให้นิ่งในตัวจิตเองให้นิ่งลึกลงไป อันนี้ เป็น ฌาน ฌานยังไม่ได้ทำ เมื่อคนนี้สิ้นไปแล้วจากสังโยชน์ ๕  เขาเรียกว่า สิ้นไปแล้ว สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลกรรมทั้งหลาย ยังปฐมฌานให้เกิดเถิด นี้ทำสมาธิด้านเดียว ตอนนี้ต้องนั่งอย่างเดียวแล้ว เข้าสมาธิด้านเดียว เจริญสติจะทำทั้งสี่อิริยาบทอันนี้ สมัยพุทธกาลทำอย่างนี้กัน สมัยนี้เน้นนั่งเลยจึงไปไม่รอด เขาจะนั่งทำสมาธิตอนสุดท้าย นั่งแล้วไม่หวนกลับมาพิจารณากายอีก เขาทำอย่างนั้น
สมัยพุทธกาล เขานั่งสมาธิเพื่อให้จิตดิ่งเข้าลึกเลย ถึงรูปฌาน อรูปฌานโน้น ลึกอย่างเดียว ตัวร่างกายเนื้อหนังไม่ต้องมอง ไม่ต้องมอง เพราะมันแจ้งแล้ว มันแจ้งหมดแล้ว ทีนี้ยังสมาธิให้เกิดขึ้นมา เป็น มรรคข้อ ๘ คือสัมมาสมาธิ คือภิกษุสงัดแล้วจากกาม กามก็ไม่เหลือแล้ว สงัดแล้วจากอกุศลกรรมทั้งหลาย อกุศลกรรมก็ไม่มีเหลือแล้ว ยังปฐมฌานให้เกิดเถิด ก็ทำจิตให้รวมอยู่ในสมาธิดิ่งลึกๆไปเลย จนไปถึงโน้นรูปฌาน อรูปฌาน จนถึงลมหายใจก็ไม่มี นั้นเข้าจริงๆ เข้าสมาธิจริงๆ ขนาดไม่ได้เข้า  ยังไม่มีจิตออกเลย เขาทำฌานขึ้นมาแล้ว ทำให้ชำนาญ เข้าๆออกๆให้ชำนาญ จนเข้าไปแล้วลมหายใจก็ไม่มี ตัวก็แข็งทื่อเหมือนตอไม้นั่นแหละ พวกนี้เวลาเข้าสมาธิแล้วจะนั่งมาก นั่งทั้งวันทั้งคืนเลย นั่งแล้วไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย เพราะจิตมันลึกมาก ไม่รับรู้อะไรพวกนี้เลย
ทำให้ชำนาญ แล้วก็น้อมไปใน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(การระลึกชาติ) น้อมไปว่าร่างกายของเราในปัจจุบันเราก็เห็นแล้ว แจ้งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่อยากรู้ว่าอดีตเรามีร่างกายอีกไหม อยากจะรู้ ผูกคำถามแล้วก็อธิษฐานไป เจตนาไป เขาจะเปิดให้เราเห็นภพชาติของเราเมื่อก่อน โอ้โห ! เป็นร้อยๆ เป็นล้านๆชาติ  เห็นภพชาติของตนเองเขาเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ด้วยอำนาจของฌานนั่นเอง ไม่มีอำนาจฌานแล้วรู้ไม่ได้” คนๆนี้ มีหมดเลยทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ที่สุดของที่สุดมีหมด รู้ถึงว่าอดีตชาติของเราหลายชาติว่าเคยเกิดเป็นอะไรมา วางจิตอย่างงี้ ถึงจะไปเกิดอย่างนี้ๆ วางจิตอย่างนั้น ถึงจะไปเกิดอย่างนั้นๆ ขณะนี้เราเข้าใจแล้วว่า จิตอยู่ตรงไหนเกิดทั้งนั้นเลย บัดนี้เราสิ้นการเกิดแล้ว เป็นชาติสุดท้ายแล้ว เห็นภพชาติของตนเองมากมาย แล้วก็เห็นภพชาติของผู้อื่นด้วย ว่าคนอื่นที่เกิดๆ ตายๆ จะเห็นด้วยตาทิพย์หูทิพย์ของตัวเองนั่นเอง อันนี้จะเป็นเรื่องฌานโดยตรงเลย
ภิกษุนั้นก็จะเห็นภพชาติตนเอง เห็นภพชาติผู้อื่น แล้วก็รวบรวมทั้งหมดว่า ทั้งหมดที่เกิดๆตายๆ เพราะอารมณ์ของโลกที่จิตไปผูกพันกับโลกนี้เองเป็นเหตุ ถึงแม้ว่าเราจะทำจิตให้ว่างๆเอาความว่างเป็นเครื่องอยู่ ความว่างนั้นก็เป็นภพชาติเหมือนกัน จิตไปก็เป็นภพชาติ จิตอยู่นิ่งก็เป็นภพชาติ จิตไม่หลุดพ้น ไม่ทำลายกิเลสนี่เป็นภพชาติหมดเลย  จิตอยู่ในความว่างก็เป็นภพชาติ เราก็จะเห็นภพชาติเหล่านั้นว่า ซ่อนอยู่ทั่วทุกที่ทุกมุมของโลกนี้
       ถึงแม้จิตจะนิ่งอยู่ จิตนิ่งก็เป็นภพชาติ ถ้าไม่รู้จัก ถ้ารู้จักก็ทำลายได้ ถ้าไม่รู้จักก็หลงเข้าไปในธรรมชาติของความนิ่งนั่นเอง คนนั้นก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ทั้งตนเองผู้อื่น แล้วก็เห็นร่างปัจจุบัน เห็นร่างในอดีต และเห็นร่างของผู้อื่นในอดีตด้วย แล้วรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ขึ้นสู่ศาลสูงสุดฎีกาตัดสินเสียทีว่า เราจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต สุดท้ายก็ฟันธงเลยว่า พอกันทีสำหรับการเวียนว่ายตายเกิด เขาเรียกว่า อาสวักขยญาณ คนนั้นเขาเรียกว่าจบ วิชชา ๓  วิชชา ๓ ก็หมายถึง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ รู้ภพชาติตนเอง ภพชาติผู้อื่นแล้วรวบรวมหลักฐาน หมดอาสวะ พอกันทีสำหรับการเกิดการตาย คนนั้นถึงจะเป็นพระอรหันต์ หลังเป็นพระอรหันต์แล้ว มีของแถมขึ้นมาอีก ก็คือ อภิญญา ๖ วิโมกข์ ๘ ปฏิสัมภิทา ๔” คนนั้นจะมีอภิญญามากมายมหาศาล เพราะจิตนี้สุดยอดของการอบรม มีทั้งหมดทั้งในด้านของ “ปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติ ในคนๆเดียวกัน มีสองแบบอยู่ในคนเดียวกันเขาเรียกว่าเต็มภูมิเลยของความรู้ คนๆนี้ ทำอย่างนี้จบแล้วจบเลยๆ ไม่ต้องทำซ้ำอะไรอีก ถึงจะเป็นที่สุดของที่สุดของการปฏิบัติ อันนี้แหละที่ว่าการประพฤติปฏิบัติที่ว่า นำไปสู่เพื่อการพ้นทุกข์ ก็คือแบบประเภทที่ ๕ นี้เอง
คนเราที่จะไปสู่การพ้นทุกข์ได้ ก็คือคนประเภทที่ ๕ นี้เอง อย่างนี้จบแน่นอน ที่ชี้ให้เห็นว่าประเภทที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มคน ๔ ประเภทว่า งมอยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหนเลย ไปไม่ได้ หลงอยู่ตรงนั้นที่เดิมนั้นแหละ วนไปวนมาๆ แต่ประเภทที่ ๕ นี้ ถึงเส้นชัยแล้ว จบกันเลย เป็นอย่างนี้แหละ และก็ดับสนิท รอวันตายเท่านั้นเอง รอวันตาย ตายก็ไม่ว่า ไม่ตายก็ไม่ว่า เพราะโลกมีแค่นี้ เราเข้าใจว่าโลกนี้ว่าคืออะไร คนนั้นก็ถึงทึ่สุดของทุกข์แล้ว จิตดวงนี้ไม่มีการไปแล้ว ไม่มี มีไม่ได้ๆ เพราะว่าจิตของเรากับโลกนี้เลิกกันแล้ว  เลิกกันนี้จะไม่หวนไปผูกโยงกันต่อไป ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ให้ได้  รับรองไม่พ้นทุกข์แน่นอน  
บางคนคิดว่าเวลาเราตายปุบ ทำจิตให้นิ่งอย่างเช่นเคยฝึกมา แล้วเอาความนิ่งเป็นอารมณ์ จะเป็นนิพพานไหม ไม่มีทางเป็น ไม่เป็น เพราะข้างในนิ่งยังมีอะไรเยอะแยะที่ไม่ได้สะสางเลย ไม่ได้หรอก แต่ว่ามันก็เกือบดีนะ ดีหน่อย ภพชาติดีหน่อย เป็นสมาธิ แต่ไม่มีทางไปนิพพานได้
และถ้าบุคคลนั้นตายปุบฝึกเอาความว่างเป็นอารมณ์ พ้นภพชาติไหม ไม่มีทาง ความว่างนั่นแหละคือภพชาติ ความว่างนั้นเป็นภพชาติอันหนึ่ง ความว่างนั่นแหละมีภพชาติซ่อนอยู่ เหมือนเรามีความว่างก็ยังมีอารมณ์ซ่อนอยู่ในความว่างเท่าไร ความว่างนั้นก็ภพชาติก็ซ่อนอยู่ตรงนั้น อารมณ์นั่นแหละเป็นภพชาติ เราจะเห็นว่า ว่างแต่มันยังมีการไหลของอารมณ์อยู่ แน่นอนภพชาติแน่นอน
ฉะนั้น ภพชาติรู้ได้ยากเห็นยาก จะต้องไม่มีอารมณ์เลย จะต้องไม่มีการไปของจิตเลย จิตจะต้องไม่มีการไป ไม่ไปเพราะต้องเบื่อด้วย ต้องเบื่อถึงจะขาด ถ้าไม่เบื่อนี้ไม่ขาด แล้วคนๆนั้นจิตจะมีสมาธิตลอดเวลาไม่ว่านั่ง ไม่ว่ายืน ไม่ว่านอน การไปของจิตไม่มีๆ คนนั้นถือว่าของแท้ แล้วก็ไม่เสื่อม ไม่หาย  ไม่แปรสภาพๆ เป็นอย่างอื่นเลย คนนั้นก็ถือว่าถึงที่สุดของทุกข์แล้ว อันนี้แหละ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ถ้าเราทำจริงๆแล้ว เราก็ทำในแนวนี้ ถ้าไม่รู้แจ้งตัวเราก่อนนี้ไม่ได้ มันไปสูงไม่ได้ เราต้องรู้แจ้งตัวก่อน การรู้แจ้งตัวต้องปรุงแต่งด้วย ต้องถอนออกจากสมาธิทั้งหมด อยู่แค่สติเอง
แต่มันมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งว่าคนมีสมาธิ เคยผ่านการมีสมาธิมาแล้ว ให้ถอยอยู่แค่สติเขาไม่ยอมทำกัน  เขาถือว่าต่ำ อย่าลืมนะต่ำนะมันจะสูงนะ สูงนะมันจะต่ำนะ  อย่างที่บอกว่า เราถอยมาแค่สติมันต่ำกว่าสมาธิ ถ้ามันถอยจนหมดจะเป็นแค่สติ ถ้าเราขึ้นไปหน่อยมันจะเป็นสมาธิ  ถามว่าสติกับสมาธิอันไหนใหญ่ สมาธินั่นแหละใหญ่  เราต้องการสมาธิ แต่เราต้องเน้นที่สติ ถ้าสติใหญ่สมาธิก็ใหญ่ด้วย ถ้าสติน้อยสมาธิก็อ่อน อย่างเช่นเราต้องการผลไม้ แต่เราต้องดูแลต้น เราต้องการสมาธิก็ต้องดูแลที่สติ
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดสมาธิให้อยู่แค่สติ มีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือคนมีสมาธิแล้ว เขาไม่ค่อยลดกัน ลดก็ลดไม่สุด การอยู่แค่สติมันเหมือนคนธรรมดาแล้ว เขาไม่ยอม เมื่อไม่ยอมก็ไปไม่ได้ ปัญหาการไปไม่ได้ของเขานี้คืออุปสรรค เพราะว่ามีสมาธิแล้วมาลดเกรดของตัวเองให้ต่ำลงนี้ เขาไม่ยอม เหมือนคนที่พกอาวุธประจำตัว บอกให้เอาอาวุธออก เขาจะกลัว เขาไม่ค่อยไว้ใจ มันก็เลยเป็นกับดัก ทำให้คนนั้นจะไปไม่ได้ แต่คนมีปัญญาเขามองออกว่า มันต้องมีลูกล่อลูกชน การรบกับศัตรูไม่ใช่ว่าเราต้องรบด้วยอาวุธอย่างเดียว เราต้องรบด้วยปัญญาด้วย เวลาใช้ปัญญาเราต้องวางอาวุธก่อน เราใช้อาวุธทางปัญญาอย่างเดียว เราจะเข้าหาข้าศึกถึงตัวได้ แต่เราพกอาวุธไป เขาจะไม่ไว้ใจเราเลย ดีไม่ดีฆ่าเราก่อน เพราะเราถืออาวุธไป เขาก็เห็นแล้ว เขาไม่ไว้ใจเราแล้ว แต่ถ้าเราไม่มีอาวุธเข้าไปนี่ เขาเลยคิดว่าเราไม่มีพิษมีภัยอะไร แต่ที่ไหนได้เป็นพิษสงกับเขามากเลยล่ะ 
เราเข้าหาตัวข้าศึกโดยที่ไม่ต้องใช้อาวุธ แต่เราใช้ปัญญาวุธ ที่จะต้องล้มข้าศึกให้ได้ แต่ไม่ต้องถืออาวุธไป เราถือว่าปัญญาของเรานั้นแหละคืออาวุธ ที่จะเข้าไปหาข้าศึก ไปล้วงความลับ ไปรู้จุดอ่อนจุดแข็งให้ได้ เพื่อเผด็จศึกนั่นเอง ฉะนั้นพวกที่เขาเป็นสายลับ เข้าไปในกลุ่มข้าศึก เขาจะไม่เอาอาวุธไปด้วย ถ้าเอาไปเขาก็รู้ว่าเราเป็นข้าศึก ต้องปลอมตัวเข้าไป เพื่อไปหาความลับอะไรที่เขามีอยู่ เพื่อจะรวบรวมหลักฐานแล้วเอาชนะข้าศึกให้ได้
ฉะนั้น เวลาคนที่มีสมาธิจะมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่ง ให้ลดมาที่สติเขาจะไม่ยอม เมื่อไม่ยอม เขาไปไม่ได้ เราต้องสู้ทุกรูปแบบ สู้ทั้งที่มีอาวุธ และไม่มีอาวุธ  เวลาคนมีสมาธิฝึกสมาธิมามาก ให้เขาปรุงแต่งเขาไม่ยอม ก็มีปัญหาอีกว่า ปรุงแต่งอะไร ปรุงแต่งวิราคธรรม ปรุงแต่งว่า เราไม่เที่ยงอย่างนั้น  ไม่เที่ยงอย่างนี้  เป็นอสุภะอย่างนั้น เป็นอสุภังอย่างนี้ เขาก็ไม่ยอม เพราะว่าเขาไม่ชอบ ไม่ชอบปรุงแต่ง อยากจะให้นิ่งอย่างเดียว เพราะสบายดี เขาถือความสบายเป็นเกณฑ์  เขาไม่รู้ว่า ไอ้การปรุงแต่งนั้น มันจะนำมาซึ่งที่สุดของการไม่ปรุงแต่ง การที่เขาไม่ยอมปรุงแต่งนั้น เขาจะนำมาซึ่งความปรุงแต่ง มันก็เลยกลับกัน ไม่ปรุงแต่งแต่มันจะปรุงแต่ง แต่ที่ปรุงแต่งมากๆมันจะไม่ปรุงแต่ง เขาไม่เข้าใจตรงนั้น เพราะอะไร เพราะปัญญาแทงอริยสัจไม่ได้ การที่แทงอริยสัจไม่ได้ ทำให้เขาไม่สามารถจะเข้าถึงการพ้นทุกข์ได้
อริยสัจ ๔ ก็คือไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุของทุกข์(สมุทัย) ไม่รู้จักการดับทุกข์(นิโรธ) ไม่รู้หนทางให้ถึงซึ่งการดับทุกข์(มรรคมีองค์ ๘) เขาไม่รู้ตรงนี้จึงยาก ที่จะเข้าใจลูกล่อลูกชนเหล่านี้ ฉะนั้น การไม่รู้ตรงนี้ การที่จะเป็นพระอริยบุคคลนี้ยาก เป็นไม่ได้ ปลอมหมด การเป็นพระอริยบุคคลนี้มีหลักตายตัวเลยว่า ต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ และจะต้องเป็นอย่างนั้น 
       การเห็นว่า การยึดมั่นตัวเราทั้งหมดนั่นแหละ ทำให้ตัวเราคิดว่า เรามีอยู่ เราคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นเรา  เมื่อเราเข้าใจว่าเรามีอยู่อย่างนั้นแล้ว จิตถึงได้ซ่านไปสู่อารมณ์ภายนอก การที่จิตซ่านไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็นำมาซึ่งความเป็นทุกข์ การซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่นั่นเอง เหตุของมันก็คือว่า เราจะต้องทำลายอุปาทานตรงนี้  การเข้าใจอย่างนี้ว่า ทุกข์อย่างนี้ เหตุของความปรุงแต่งทั้งหมดที่เป็นทุกข์ มาจากการยึดมั่นตัวเรานี้เป็นตัวตน การยึดมั่นตัวเราเป็นตัวตนนี้ เป็นเหตุของความทุกข์นี้ มีตรงนี้ถึงได้มีตรงโน้น มีอารมณ์โน้น ถ้าไม่มีตรงนี้อารมณ์โน้นก็ไม่มี เขาเรียกว่า มีอหังการ มมังการก็มี มีมมังการ มานานุสัยก็ปรากฏหมายถึงว่า มีเราก็มีของเรา มมังการก็คือของเรา มีอหังการก็คือเรา เมื่อมีแล้วมานานุสัยก็คือที่จิตซ่านไป คือจิตที่ไหลไปสู่อารมณ์ก็ย่อมปรากฏ
เพราะฉะนั้น เหตุของการไปทั้งหมดก็มาจากอุปาทานตรงนี้ ถ้าคนนั้นตีแตกตรงนี้ได้ เข้าใจตรงนี้ได้แล้ว คนนั้นชื่อว่ารู้แจ้งในอริยสัจ ๔ เป็น “มรรคข้อ ๑ คือ สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ)”  ความเห็นชอบนี้ เห็นอะไร เห็นทุกข์ เห็นเหตุของทุกข์ เห็นการดับทุกข์  เห็นปฏิปทาไปสู่การดับทุกข์ เห็นอริยสัจ ๔ แค่เห็นอริยสัจ ๔ นี้ก็ยากแล้ว ฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ข้อ ๑ ข้อแรกนี้สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่เห็นข้อ ๑ ข้ออื่นก็ไม่เห็น เมื่อเห็นข้อ ๑ ข้ออื่นก็เห็นตามมา
อันนี้ก็จะเป็นลักษณะที่ว่า ข้อ ๑ ก็เกิดขึ้น และก็การที่ว่า เมื่อเข้าใจข้อ ๑ ได้เห็นทุกข์อย่างนี้ เห็นเหตุของทุกข์อย่างนี้ เห็นการดับทุกข์อย่างนี้ เห็นปฏิปทาไปสู่การดับทุกข์อย่างนี้แล้วนี้ ก็ ดำริออกจากจิตที่ไขว่คว้าอารมณ์ต่างๆเข้ามาในจิตเองก็คือ คว้าทางกาม คว้าทางพยาบาท คว้าทางเบียดเบียน คือวิตกทั้ง ๓  ราคะ โทสะ โมหะนั้นเอง
ฉะนั้น จิตคว้าไปอย่างนั้น ถึงได้เกิดเป็นกิเลสขึ้นมาทั้ง ๓ ตัวนี้ ถ้าเราจะเอากิเลสทั้ง ๓ ตัวนั้นออกไป ก็ต้องคว้าเอาอารมณ์อื่นมาล้าง กามก็เอาเนกขัมมะมาล้าง พยาบาทก็เอาอพยาบาทมาล้าง เบียดเบียนก็เอาความไม่เบียดเบียนมาล้าง(อวิหิงสา) กามวิตกก็คือเนกขัมมวิตกมาล้าง  พยาบาทวิตกก็คืออพยาบาทวิตกมาล้าง  วิหิงสาวิตกก็คืออวิหิงสาวิตกมาล้าง  คิดง่ายๆ ก็คือว่าส่งจิตออกนอก เป็นราคะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่เอาจิตพิจารณาร่างกายตัวเอง เป็นการล้างราคะ โทสะ โมหะนั้น และการปรุงแต่งอย่างนี้ ทำให้เราล้างกิเลสของเราออก จนกว่าเราจะหมดความเป็นหญิงชาย เห็นตัวเองก็เบื่อตัวเอง เมื่อเบื่อตัวเองก็เบื่อโลก เมื่อเบื่อโลกก็เบื่อหญิงเบื่อชาย เมื่อเบื่อความเป็นหญิงชาย ก็คายธรรมชาติเป็นหญิงเป็นชายนี้ออก และในที่สุด ก็คายได้หมดจริงๆ คายด้วยความปรุงแต่งนั่นเอง คายด้วยความปรุงแต่งว่า ตัวเราไม่เที่ยง เป็นอสุภะอย่างนั้น เป็นอสุภะอย่างนี้ ทำให้เราเห็นแจ้งตรงนี้แล้วก็คายธรรมชาตินี้ออกมา จนในที่สุดนี้เราคายได้สำเร็จๆ จิตเราถึงจะได้ความสงบอย่างถาวร อันนี้ก็เป็น “มรรคข้อ ๒ คือสัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ)
 แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น คือการพิจารณาตัวเมื่อใด จิตปรุงแต่งตัวเองอยู่ตรงไหนหรือที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย อันดับแรกที่จะเกิดก็คือ ปีติ เมื่อปีติเกิด ปราโมทย์ก็เกิด เมื่อปราโมทย์เกิดขึ้นมา ใจก็สงบกายก็สงบ เมื่อกายสงบใจสงบ  ก็มีความสุขเป็นผล เมื่อความสุขเป็นผล ธรรม ๒ อย่าง ก็ย่อมปรากฏก็คือหิริโอตตัปปะ หิริโอตตัปปะเกิดขึ้นมาก็ย่อมชำระบาปอกุศล (หิริคือความละอายบาป โอตตัปปะคือความสะดุ้งกลัวต่อบาปทั้งหลาย) เพราะเห็นว่าบาปกรรมทั้งหลาย หรือความชั่วต่างๆที่เรามีอยู่ ไม่ควรแก่เรา
เพราะการทำลายฉันทราคะตรงนั้น ทำให้เราคลายความเป็นตัวตนออก เมื่อคลายความเป็นตัวตนออกได้เท่าใด ก็คายอกุศลธรรมออกเท่านั้น เมื่อคายอกุศลธรรมออกได้เมื่อใด หิริโอตตัปปะก็เกิดเมื่อนั้น เมื่อหิริโอตตัปปะเกิด ก็ไปขัดเกลากายวาจาของเราให้สะอาดขึ้น เมื่อขัดเกลากายวาจาของเราให้สะอาดขึ้น เขาเรียกว่า วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ ก็เกิดขึ้น อันนี้เป็น มรรคข้อ ๓ สัมมาวาจา ข้อ ๔ สัมมากัมมันตะ และข้อ ๕ สัมมาอาชีวะ” แล้ว 
อ้า ! เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ความเพียรของเรามีระบบ ส่วนการพิจารณาตัวพิจารณาแล้วหายไปทิ้งไป แล้วพิจารณาใหม่แล้วหายไปทิ้งไป มันไม่มีมาตรฐาน  เขาก็จัดให้มีมาตรฐานขึ้นมา เรียกว่า ความเพียรมีระบบ เช่นว่าคนนั้นพิจารณาร่างกาย  พิจารณาขึ้นมาไม่เห็น ยังให้เห็นขึ้นมา เขาเรียกว่า ภาวนาปธาน พิจารณาตัวเราไม่เห็นแจ้ง พยายามให้เห็นแจ้งขึ้นมา ด้วยการพิจารณาซ้ำๆซากๆ ทำอยู่บ่อยๆด้วยอุบายใด อุบายหนึ่ง พิจารณาปรุงแต่งนั้นเอง ปรุงแต่งพิจารณาตัวเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งให้เราเห็นตัวเองขึ้นมา ด้วยอุบายเหล่านั้น อย่างนั้น เขาเรียกว่า ปรุงแต่งให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก ตรงที่ไม่เห็นยังให้เห็นขึ้นมาๆ เขาเรียกว่า ภาวนาปธาน
ที่เห็นขึ้นมาบ้างแล้วรักษาไว้ เรียกว่า อนุรักขนาปธาน คือเห็นตัวให้รักษาความเห็นไว้ให้เป็นเครื่องอยู่ เรียกว่า อนุรักขนาปธาน แล้วก็ระวังจิต อย่าให้มันแอบหนีออกไปคิดภายนอก เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองแอบไปคิดภายนอกแล้ว ให้ตัดเสีย ให้ทำลายเสีย ตัดอารมณ์นั้นทิ้งไปเสีย เขาเรียกว่า ปหานปธาน แล้วก็พยายามปหานเสีย แล้วก็พยายามดึงจิตกลับมา แล้วระวังจิตมันจะแอบหนีไปหาอารมณ์อีกรอบหนึ่ง รอบหนึ่ง รอบสอง รอบสาม มันจะไปอีก แอบไปอีก ระวังไว้เขาเรียกว่า สังวรปธาน คือการสำรวมระวัง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เขาเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ นี้เป็น  “มรรคข้อ ๖ คือ สัมมาวายามะ(ความเพียรชอบ)”
ต่อไปเป็น “มรรคข้อ ๗ คือ สัมมาสติ(สติชอบ)” เราพิจารณาตัวเราทั้งระบบให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ทั้งหมดกระบวนของการทำที่ให้แจ้งขึ้นมาจนถึงพระอนาคามีนี้ เขาเรียกว่า สติชอบ จะไปถึงพระอนาคามี มีสติอบรม กายคตาสติ จนเห็นตัวเองแจ้งแล้ว เห็นแจ้งจนไม่มีอะไรจะเห็นแจ้งแล้ว  เต็มแล้ว บริบูรณ์แล้ว เป็นสติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์แบบ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จะอยู่ในที่เดียวกันหมด ก็คือเห็นตัวเองแจ้งนั่นเอง คนนั้นจะเป็นถึงพระอนาคามี  เมื่อเป็นพระอนาคามีแล้ว ๗ ข้อนี้สมบูรณ์ และ ๗ ข้อนี้ จะเป็นบริวารข้อ ๘ อีกทีหนึ่ง
เราก็มาทำข้อ ๘ เป็นข้อสุดท้าย ก็คือ ทำฌานให้เกิดขึ้น ข้อ ๘ คือสัมมาสมาธิ(สมาธิชอบ) จะกล่าวไว้เลยว่า ภิกษุสงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว ยังปฐมฌานให้เกิดเถิด เมื่อปฐมฌานเกิดแล้ว ก็ทำทุติยฌาน ตติยฌาน จนถึงจตุตถาฌาน แล้วก็น้อมไปใน “วิชชา ๓” รู้ภพชาติตนเอง รู้ภพชาติผู้อื่น จนถึงหมดอาสวะ ก็คือ อาสวักขยญาณ นี้เรียกว่าเป็นข้อ ๘ เป็นสัมมาสมาธิ  สัมมาสมาธิจะเป็นแบบนี้และทำแบบนี้ แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้ เขาเรียกว่า มิจฉาสมาธิ
ฉะนั้น สมาธิแบบนี้ เป็นสมาธิที่มีบริวาร ๗ ข้อ ล้อมรอบอยู่ คือข้อ ๘ ข้อเดียวจะมีข้อ ๑-๗ ห้อมล้อมอยู่ เหมือนดาวล้อมเดือนเลย ฉะนั้น เขาเรียกว่า สมาธิที่มีบริวาร เวลาเราออกจากสมาธิหรือถอยออกจากสมาธิ  ความเห็นร่างกายมารองรับทันที มันจะคุ้มกันไว้เลย  สังเกตเวลาทำสมาธิ ทำแล้วนิ่ง... แต่ออกมาไม่เห็นตัวเองเลย จิตก็หลุดไปหมด หลุดออกไปสู่อารมณ์ของโลก คือราคะ โทสะ และโมหะเหมือนเดิม เพราะจิตไม่มีที่ตั้ง ไม่มีบริวารล้อมไว้ ไม่มี มันก็เลยถูกอารมณ์ยื้อแย่งลากแข้งลากขาไป ก็กลายเป็นว่าหลุดไปเลย เราเข้าไปนิ่ง แต่ออกมาไม่มีบริวารคุ้มกัน อารมณ์ก็ดึงไปหมด
อันนั้น เขาเรียกว่า สมาธิไม่ชอบ ไม่ได้อบรมมรรค ถ้าอบรมมรรคแล้วไม่เป็น จะไม่เป็นอย่างนั้น เวลาเข้าสมาธิ เข้านิ่ง...แต่ออกมา ความเห็นกายมารองรับแล้ว มันจะไม่หลุดออกจากตัวเลย มีแต่อยู่ในตัว กับเข้าลึก เข้าลึกแล้ว ก็ออกมาอยู่แค่ตัว อยู่แค่ตัวแล้วเข้าลึก นอกนั้นไม่มีการไป หูตาไม่มีการรั่วเลย อันนี้เป็นสมาธิชอบ ที่อบรมมรรคเขาจะเป็นอย่างนั้น ไม่มีการรั่วเลย ไม่เข้าสมาธิก็ไม่รั่ว เข้าไปก็ไม่รั่ว ออกมาก็ไม่รั่ว คำว่ารั่วไม่มี เพราะเขามีบริวารคุ้มครองอยู่ คือ ข้อ ๑-๗ คุ้มครองข้อ ๘ ไว้ เราต้องการข้อ ๘ นั่นแหละ แต่ต้องมีข้อ ๑-๗ เป็นบริวารคุ้มกันอีกทีหนึ่ง ถ้าจัดระบบอย่างนี้ และการฝึกแบบนี้แล้ว เขาเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘  ซึ่งจะเป็นสมาธิที่มาตรฐานมาก แล้วก็ไม่เสื่อมเสื่อมไม่ได้ มันเป็น โลกุตตรสมาธิ  ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เสื่อมหมด เสื่อมหาย และอารมณ์ก็แปรปรวนไปหมดเลย พวกนั้นเป็นโลกีย์
       โลกุตตระไม่เป็น หนึ่งเดียว หนึ่งเดียวตลอดชีวิต เข้าสมาธิก็หนึ่งเดียว ออกมาก็หนึ่งเดียว หนึ่งเดียวตลอด เข้าไม่เข้าสมาธิไม่มีปัญหา หนึ่งเดียวทุกเวลา อย่างนี้เป็นมาตรฐานเลย คำว่า จิตหลุดออกนอกไม่มี อย่างนี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องที่สุด และไม่มีอะไรจะงามมากไปกว่านี้แล้ว ไม่มี อันนี้ถือว่างามที่สุด สุดยอดที่สุด และไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้ว คือประเภทที่ ๕ นี้เอง
การปฏิบัติสมาธินี้มีหลากหลายวิธี ไม่ใช่ปฏิบัติแบบใดวิธีใด ก็ถูกหมดๆ  ไม่ใช่ใครจะทำถูกง่ายๆนา และไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปเดี๋ยวมันก็ได้เอง ไม่ใช่ได้เองนา มันอยู่เจตนาของเราทั้งหมด อยู่ที่เราจะหักพวงมาลัยไปทางไหน เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา อยู่ที่เราควบคุมหมด อยู่ที่ความเห็นของเรา ว่าเราจะเห็นทางไหนถูก ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยสะเปะสะปะ บางคนเข้าวัดมานาน ยังไม่ได้อะไรเลย ที่ไม่ได้เพราะทำไม่ถูก คนที่ถูกไม่เป็นแบบนี้
ทำให้ถูก ผลของเขาสวยงาม ไม่มีการไปตลอดเวลา ไม่ต้องคุมด้วย อิสรภาพ หมายถึงโลกใบนี้ ไม่มีอะไรเป็นทุกข์กับอะไรเลย ทุกข์แต่ร่างกาย เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหิวกระหาย อันนี้ทุกข์ของร่างกายอันนั้นมีอยู่ เพราะว่าร่างกายนี้ มันเป็นธรรมชาติของเขาจะต้องเจ็บ ต้องปวด ต้องเมื่อย ต้องหิว ต้องกระหาย ร่างกายนี้ก็เหมือนเป็นร่างผีดิบนี้ ก็อยู่ไปเป็นวันๆหนึ่ง ประคับประคองมันไป รอวันตายเท่านั้นเอง ซากผีดิบอันนี้ก็รอวันตายเสีย แต่เราก็ไม่ทำลายมันหรอก ให้มันทำลายตัวมันเองเมื่อถึงวาระมันก็เท่านั้นเอง แต่ทุกข์นั้นมีอยู่ ทุกข์ตามธรรมชาติของกายธาตุขันธ์ แต่ทุกข์ทางใจดับหมดแล้ว
ฉะนั้น ขันธ์ ๕ คือ รูปนี้ ดับที่ความยึดมั่น ทำลายความยึดมั่น ทำลายด้วยการเบื่อหน่าย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดับสนิท ดับที่ผัสสะ ดับที่การไปของจิตที่กระทบกับอารมณ์ ดับสนิทเลย ไม่มีนามธรรม นามธรรมไม่มี  จิตไม่มีการกระทบเลยกับอารมณ์ อารมณ์กับจิต ขาดกัน การกระทบสัมผัสไม่มี เวทนาก็ดับ สัญญาดับ สังขารดับ วิญญาณดับหมด
ฉะนั้น คนๆนั้นก็รู้แจ้งแท้ในศาสนานี้ แล้วก็เป็นผู้รอวันตาย เป็นชาติสุดท้ายแล้ว คนนั้นจะหาทุกข์ไม่ได้เลย มีแต่บรมสุข จบแล้วจบเลย ไม่ต้องมีการปฏิบัติต่อไปอีก ผลอันนั้นก็ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยน... เปลี่ยนไม่ได้ของแท้ ของแท้นี้รอดแน่ ดุจดังทองแท้ไม่มีการลอก  จิตที่นิ่งจิตที่สว่างไสว ไม่มีการแปรปรวนอะไร จะเป็นหนึ่งของมันเองโดยอัตโนมัติ สติไม่มีการเผลอแม้แต่นาทีเดียว ไม่มีเผลอเลย เป็นมหาสติแน่นอน เผลอไม่มีเลย เผลอสักวินาทีหนึ่งมีไหม เคยมีไหม ไม่มีเลย แม้แต่ วินาทีเดียว  ฝึกจนขนาดที่ว่า เผลอก็ยังไม่มี และคุมตลอดเวลาไหม ไม่ได้คุม มันเป็นอัตโนมัติเลย
ฝึกชนิดว่าเป็นอัตโนมัติ คิดดูเถิดว่าเขาฝึกมาขนาดไหน สติตื่นตัวตลอดวันตลอดคืน แต่มิได้กำหนดสติเลย สติมันเป็นโดยตัวของมันเอง เพราะเราฝึกมามาก มากเสียจนเป็นเอง  แล้วสตินี้ไม่มีเผลอ แม้อารมณ์เท่าเส้นผมก็ไม่มีการเล็ดลอดเข้าไปได้เลย จึงมีประสิทธิภาพสูงมาก และคนๆนั้นจะหาทุกข์ได้จากที่ไหน  
อ้า ! นาทีสุดท้ายพอดี ตีระฆังแล้ว ก็ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ รู้แจ้งเห็นธรรมในคำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกคน ทุกท่านเทอญ...
 *********

1 ความคิดเห็น: