วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สุญญตสูตร จากพระไตรปิฎก...หลวงพ่อสุมโนดาบส



สุญญตสูตร จากพระไตรปิฎก

(หลวงพ่อสุมโนดาบส อาศรมเวฬุวัน ไร่บุญรอด เชียงราย)




     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส เรื่อง สุญญตะ กับท่านพระอานนท์ว่า  ดูกรอานนท์ ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ เราอยู่มากด้วยธรรม คือความว่างเปล่า เปรียบเหมือนปราสาทของมิคารมารดาหลังนี้ ว่างเปล่าจากช้าง โค ม้า และลา ว่างเปล่าจากทอง และเงิน ว่างจากการชุมนุมของสตรี และบุรุษ มีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว ก็คือ เฉพาะภิกษุสงฆ์เท่านั้น ฉันใด

๑. ดูกรอานนท์ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ใส่ใจจำหมายว่าบ้าน  ไม่ใส่ใจจำหมายว่ามนุษย์  ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะจำหมายว่าป่า จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใสตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าป่า

เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่าป่านี้  ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยจำหมายว่าบ้าน และชนิดที่อาศัยจำหมายว่ามนุษย์เลย  มีอยู่สิ่งเดียวก็เพียงความกระวนกระวาย เฉพาะความจำหมายว่าป่าเท่านั้น

เธอรู้ชัดว่า ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าบ้าน ความหมายอันนี้ว่างจากความจำหมายว่ามนุษย์ และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว ก็คือ ความจำหมายว่าป่าเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ

เธอจึงมองเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ ในความจำหมายนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในความจำหมายอันมีอยู่ ว่ายังมีอยู่

ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ของภิกษุนั้นฯ

๒. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่ามนุษย์  ไม่ใส่ใจจำหมายว่าป่า ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะจำหมายว่าแผ่นดิน  จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่นและนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าแผ่นดิน  อันเป็นดังหนังโคที่เขาขึงดีแล้ว ปราศจากความย่น

 เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่าแผ่นดินนี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยจำหมายว่ามนุษย์ และชนิดที่อาศัยจำหมายว่าป่าเลย  มีอยู่สิ่งเดียวก็เพียงความกระวนกระวายใจ เฉพาะความจำหมายว่าแผ่นดินเท่านั้น

เธอรู้ชัดว่าความจำหมายอันนี้  ว่างจากความจำหมายว่ามนุษย์ ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าป่า และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว ก็คือความจำหมายว่าแผ่นดินเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ  เธอจึงมองเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่อยู่ในความจำหมายนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหมืออยู่ในความจำหมายอันมีอยู่

ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริงไม่เคลื่อนคลาดบริสุทธิ์ของภิกษุนั้นฯ
        ๓. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่าป่า  ไม่ใส่ใจจำหมายว่าแผ่นดิน ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด  จิตของเธอย่อมแล่นไปเลื่อมใส ตั้งมั่นและนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด

เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดอาศัยความจำหมายว่าป่า และชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าแผ่นดินเลย  มีอยู่สิ่งเดียว ก็เพียงความกระวนกระวายเฉพาะความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่า ไม่มีที่สุดเท่านั้น

เธอรู้ชัดว่าความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าป่า ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าแผ่นดิน และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว ก็คือความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุดเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนี้ด้วยสิ่งที่ไม่มีความจำหมายนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ในความจำหมายอันมีอยู่ ว่ายังมีอยู่

ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริงไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้นฯ
        ๔. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่าแผ่นดิน ไม่ใส่ใจจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด

เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าแผ่นดิน และชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุดเลย มีอยู่สิ่งเดียว ก็เพียงความกระวนกระวายเฉพาะความจำหมายว่า วิญญาณไม่มีที่สุดเท่านั้น

เธอรู้ชัดว่า ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าแผ่นดิน ความจำหมายอันนี้ว่างจากความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียวก็คือความจำหมายว่าวิญญาณไม่ที่สุดเท่านั้น  ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความจำหมายอันนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ในความจำหมายอันมีอยู่ว่ายังมีอยู่

ดูกรอานนท์แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริงไม่เคลื่อนคลาดบริสุทธิ์ของภิกษุนั้น

๕. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่จำหมายว่าหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด ไม่ใส่ใจจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ใส่ใจแต่สิ่งเดียว เฉพาะจำหมายว่าอะไรๆนิดหนึ่งก็ไม่มี จิตของเธอย่อมแล่นไปเลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด และชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น
เธอรู้ชัดว่าความจำหมายอันนี้ว่างจากความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น เธอรู้ชัดว่า ความจำหมายอันนี้ว่างจากความจำหมายว่าอะไรๆนิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น
เธอรู้ชัดว่าความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าอากาศว่างเปล่าไม่มีที่สุด ความจำหมายอันนี้ว่างจากความจำหมายว่า วิญญาณไม่มีที่สุด และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว ก็คือความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีเท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่อยู่ในความหมายนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ในความจำหมายอันมีอยู่ ว่ายังมีอยู่
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้นฯ
๖. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ไม่ใส่ใจจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะจำหมายว่าความจำหมายมีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่ จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่แต่ในความจำหมายว่าความหมายมีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ในความจำหมายว่า ความจำหมายมีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่นี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด และชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีเลย  มีอยู่สิ่งเดียวก็เพียงความกระวนกระวายเฉพาะความจำหมายว่ามีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่เท่านั้น
เธอรู้ชัดว่า ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าวิญญาณไม่มีที่สุด ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี และรู้ชัดว่า ที่ไม่ว่างอยู่สิ่งเดียวก็คือความจำหมายว่ามีอยู่ก็ใช่ ไม่มีก็ใช่เท่านั้น ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในความจำหมายนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ในความจำหมายอันมีอยู่ว่ายังมีอยู่
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริงไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้นฯ
        ๗. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี ไม่ใส่ใจจำหมายว่าความจำหมายมีอยู่ก็ใช่ไม่มีอยู่ก็ใช่ ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะความว่างเปล่าไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำในใจถึงนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่นและนึกน้อมอยู่แต่ความว่างเปล่าไม่มีนิมิต
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความว่างเปล่าไม่มีนิมิตนี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี และชนิดที่อาศัยความจำหมายว่ามีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่เลย มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นเหตุ
เธอรู้ชัดว่า สมาธิอันไม่มีนิมิตนี้ ว่างจากความจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี สมาธิอันไม่มีนิมิตนี้ ว่างจากความจำหมายว่ามีอยู่ก็ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นเหตุ ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสมาธิอันไม่มีนิมิตนั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ ว่ายังมีอยู่
ดูกรอานนท์ แม้อย่างนี้ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริงไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ของภิกษุนั้นฯ
๘. ดูกรอานนท์ ประการอื่นยังมีอีก ภิกษุไม่ใส่ใจจำหมายว่าอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี ไม่ใส่ใจจำหมายว่ามีอยู่ก็ใช่ ใส่ใจแต่สิ่งเดียวเฉพาะความว่างเปล่าไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำในใจถึงนิมิต จิตของเธอย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่แต่ความว่างเปล่าไม่มีนิมิต 
เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า สมาธิอันไม่มีนิมิตนี้แล ยังมีเหตุปรุงแต่ง จูงใจได้ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่มีเหตุปรุงแต่งจูงใจได้นั้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ (จิตของเธอย่อมถอนอุปาทานไม่เข้าไปยึดถือแม้ใดๆ ทั้งฝั่ง) ย่อมหลุดพ้นแม้จากเครื่องหมักหมม คือกาม แม้จากเครื่องหมักหมม คือภพ แม้จากเครื่องหมักหมม คืออวิชชา
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ รู้ว่าหลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก เธอจึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าญาณนี้ ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยความหมักหมม คือกามชนิดที่อาศัยความหมักหมม คือภพ ชนิดที่อาศัยความหมักหมม คือ อวิชชา
มีอยู่ก็แต่เพียง ความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นเหตุ เธอรู้ชัดว่า ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความหมักหมม คือกาม ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความหมักหมมคือภพ ความจำหมายอันนี้ ว่างจากความหมักหมม คืออวิชชา และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่ก็คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เอง เพราะชีวิตเป็นเหตุ ด้วยอาการนี้แหละ เธอจึงมองเห็นความว่างนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ว่า ยังมีอยู่
ดูกรอานนท์แม้อย่างนี้ ก็เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ ของภิกษุนั้นฯ
        ดูกรอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล ไม่ว่าพวกใดๆที่จักบรรลุสมาบัติคือ ความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ทั้งหมดนั้น ก็ได้บรรลุสมาบัติคือความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในอนาคตกาล ไม่ว่าพวกใดๆ ที่จักบรรลุสมาบัติ คือ ความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดนี้เองอยู่ สมณะหรือพราหมณ์ในบัดนี้ ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสมาบัติ คือความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสมาบัติคือ ความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสมาบัติคือ ความว่างอันเป็นบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสมาบัติคือ ความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ ทั้งหมดนั้น ย่อมบรรลุสมาบัติคือ ความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดนี้เองอยู่
ดูกรอานนท์ เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้เถิดว่าเราจักบรรลุสมาบัติ คือความว่างอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่ฯ


ข้อความอธิบายสุญญตสูตร 
(โดยหลวงพ่อสุมโนดาบส)
 

ความแห่งสุญญตสูตรนี้  ชี้ให้มองเห็นความว่าง และไม่ว่างแห่งจิตได้ชัดเจนเป็นอย่างดี เพราะท่านเทียบเคียงให้เห็น ให้รู้สึกในความว่าง และไม่ว่างแต่ข้อต้น แต่หยาบสืบเลื่อนเข้าไปหาประณีตตามลำดับเป็นทอดๆ จนถึงขั้นสุดท้ายจิตว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย และในที่สุดแม้อาสวะกิเลสก็ว่างเปล่าไปด้วย
พระสูตรๆ นี้ยังชี้ให้เห็นผลจริงก่อนจะเริ่มลงมือปฏิบัติอีกด้วย นักเรียนที่จะเรียนหนังสือ เริ่มจำ แต่ ก ข ก กา ยังเป็นการเริ่มที่ยากกว่าเสียอีก และเมื่อผู้ปฏิบัติลงมือปฏิบัติไปก็สะดวกสบาย เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกันไปตามลำดับเป็นทอดๆเหมือนเดินทางราบ ในที่สว่างเส้นเดียวมีระยะสืบต่อๆ กันไป หรือเหมือนชาวบ้านผู้นอนหลับอยู่ในเรือน พอรู้สึกตัวตื่นเปิดตาขึ้นก็เห็นมุ้ง เปิดมุ้งก็เห็นฝาเห็นหลังคา เปิดฝาเปิดหลังคาก็เห็นฟ้า
ข้อ ๑. ท่านสอนว่าไม่ให้ใส่ใจว่ามนุษย์ ให้ใส่ใจหมายรู้แต่สิ่งเดียวว่าป่านี้ ก็ชี้สิ่งที่ไม่มีอันมีอยู่แล้วบ้านว่างภิกษุ เพียงแต่ไม่ให้ใส่ใจหรือทำในใจเท่านั้น และที่ให้ใส่ใจก็ให้ใส่ใจสิ่งที่มีอยู่แล้วเหมือนกัน จึงสะดวกแก่ภิกษุที่ไม่ต้องหนักใจทำอะไรขึ้นใหม่ เพียงแต่ให้สำนึก รู้เท่านั้น บ้านและหมู่มนุษย์เป็นเรื่องพลุกพล่านชุลมุนวุ่นวาย เป็นเรื่องยุ่งเรื่องหนักร้อยแปดพันประการ ไม่สุดสิ้น ในเมื่อภิกษุไม่ใส่ใจสิ่งนั้น จิตย่อมว่างเปล่าตามความเป็นจริง ความว่างเปล่านี้แล เป็นผลบริสุทธิ์ขั้นแรกก่อนลงมือปฏิบัติของท่านสำหรับผู้เป็นคนบ้าน แม้จะนั่งอยู่ในเรื่องเกี่ยวพันกับหมู่มนุษย์ แต่หากตนไม่นึกถึงหรือไม่ใส่ใจ ก็ปรากฏเหมือนอยู่ป่าเช่นนั้น
ข้อ ๒. ท่านสอนไม่ให้ใส่ใจป่า ให้ใส่ใจแต่สิ่งเดียวว่าแผ่นดิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้จิตของเราละเอียด หรือเลื่อนระดับเข้าชั้นสูงกว่าเพราะป่าแม้จะเลิศกว่าบ้าน และหมู่มนุษย์ ป่าก็ยังมีอะไรๆ หลายอย่าง เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า ก็ยังมีส่วนต่างๆ ไม่เสมอกัน ไม่เป็นอันเดียวกัน จิตจึงยังไม่เป็นหนึ่งแน่  ท่านจึงไม่ให้ใส่ใจ แม้ป่าจะมีอยู่ ในเมื่อไม่นึก ไม่ใส่ใจก็เท่ากับไม่มี
ข้อ ๓. ท่านสอนไม่ให้ใส่ใจแผ่นดิน ให้ใส่ใจหมายรู้แต่สิ่งเดียวคืออากาศว่างไม่มีที่สุด นี้ก็เช่นกัน เพื่อให้จิตเลื่อมระดับละเอียดกว่าสูงกว่าแผ่นดิน แม้จะเลิศกว่าแผ่นดิน กว่าป่า แผ่นดินก็ยังมีรูปร่างและสีต่างๆ แผ่กว้างไป ท่านจึงสอนไม่ให้ใส่ใจแผ่นดิน แม้จะมีอยู่ก็เท่ากับไม่มี
ข้อ ๔. ท่านสอนไม่ให้ใส่ใจอากาศว่างไม่มีที่สุด ให้ใส่ใจหมายรู้แต่วิญญาณไม่มีที่สุดแต่อย่างเดียว นี้ก็เช่นกันเพื่อให้จิต เลื่อนระดับละเอียดสูงกว่า อากาศแม้จะเลิศกว่าแผ่นดิน อากาศก็ยังเป็นสิ่งภายนอกออกไป ท่านจึงไม่ให้ใส่ใจ เมื่อไม่นึกไม่ใส่ใจอากาศก็เท่ากับไม่มี หรืออารมณ์นั้นไม่มี
ข้อ ๕. ท่านสอนไม่ให้ใส่ใจวิญญาณไม่มีที่สุด ให้ใส่ใจหมายรู้แต่อย่างเดียว คือความรู้สึกว่าไม่มีอะไรแม้นิดหนึ่ง นี้ก็เช่นกัน เพื่อให้จิตเลื่อนระดับละเอียดสูงกว่าวิญญาณแม้จะเลิศกว่าอากาศ  วิญญาณก็ยังมีอาการ แผ่กว้างไปและมีส่วนที่จะต้องรับหน้าที่ เป็นผู้รู้อารมณ์ ท่านจึงไม่ให้ใส่ใจ เมื่อไม่นึก ไม่ใส่ใจ ความรู้สึกเป็นผู้รู้ ผู้มี ก็สูญเปล่าไป
ข้อ ๖. ท่านสอนไม่ให้ใส่ใจว่า ไม่มีอะไรแม้นิดหนึ่ง ให้ใส่ใจหมายรู้แต่สิ่งเดียวว่ามีอะไรก็เหมือนไม่มี ข้อนี้ก็เช่นกับข้างต้น เพื่อให้จิตเลื่อนระดับละเอียดกว่าสูงกว่า เมื่อจิตไม่นึกไม่ใส่ใจ ความหมายรู้ว่ามีอะไรๆ นิดหนึ่งก็ไม่มีก็สูญหายไป
ข้อ ๗. ท่านสอนให้ทำใจให้ว่างเปล่าจากนิมิต ข้อนี้เป็นข้อที่มิได้สืบทอดมาจากข้อที่ ๖ โดยตรงนัก จัดว่าเป็นข้อพิเศษเป็นการที่ไม่ทำความหมายรู้ในอารมณ์เหมือนข้อต้นๆ แต่เป็นการแหวกตัวเพิกถอนนิมิตทั้งสิ้น โดยการสลัดหน้าสลัดหลัง เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็ก้าวแล่นไป แล้วก็สิ้นสุดลงเพียงนี้  แปรเป็นความว่างไม่มีนิมิตไป
ข้อ ๘. ก็เป็นข้อพิเศษอีกข้อหนึ่ง ที่มีข้อความมิได้สืบสายมาจากข้อต้น แต่เป็นข้อที่ทำอาสวะให้สูญหายว่างเปล่าไปเหมือนข้อต้นๆที่ทำอย่างอื่นให้ว่าง สรุปแล้วทั้ง ๘ ข้อนั้นต่างกันก็โดยวัตถุและอารมณ์ที่ทำให้ว่างเหมือนกัน ก็โดยที่ทำให้ว่างไปเช่นเดียวกัน
ท้ายของข้อที่ ๗ และ ๘ ตอนที่ว่า มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวายคือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เองเพราะชีวิตเป็นเหตุ นี้ต้องเข้าใจว่า อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็นส่วนเหลือของกรรมเก่า แม้ผู้สิ้นอาสวะกิเลสแล้ว ก็ยังมีความเป็นไปคล้ายปุถุชนทั้งหลาย คือต้องเยียวยา กิน ดื่ม ถ่าย นั่ง นอน ยืน เดิน พักผ่อน รักษาโรค ฯ
ชื่อว่าความกระวนกระวายยังมีอยู่ตาม ๒ ข้อนี้ ชอบแท้ที่ท่านเปรียบเทียบปราสาทแห่งนางวิสาขาซึ่งว่างจากสิ่งต่างๆ ทั้ง ๘ หากแต่ที่คงอยู่ไม่ว่าง ก็คือภิกษุสงฆ์เท่านั้น 
นัยแห่งข้อ ๗ นั้น ต้องเข้าใจว่า เป็นชั้นที่บริสุทธิ์ท่านเรียกว่าเจโตวิมุตติ การหลุดพ้นเช่นนี้ เป็นการหลุดพ้นด้วยอำนาจใจ แต่มิได้เป็นการหลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา จึงมีโอกาสที่จะเสื่อมลงได้ การหลุดพ้นด้วยอำนาจใจข้อนี้ แม้จะยังมีอาสวะกิเลสอยู่ แต่ก็เหมือนไม่มี จัดเป็นสมาธิที่เยี่ยม และได้รับสันติสุขจากสันติธรรมอันสมบูรณ์ เทียบกับความสว่างแล้ว ก็เหมือนบุคคลได้รับความสว่างจากพระอาทิตย์บนท้องฟ้า อันปราศจากเมฆฟ้าและเงาในเวลาเที่ยงวัน (๑๒ นาฬิกา) ย่อมมีความสว่างรอบทั้ง ๙ ทิศ เว้นทิศที่ ๑๐ คือเบื้องล้างเท่านั้น ผู้ที่ปฏิบัติถึงความว่าง
ข้อต้น ก็เหมือนได้รับความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๖ นาฬิกา ถึงความว่าง
ข้อที่ ๒ ก็เหมือนได้รับความสว่างของพระอาทิตย์ ในเวลา ๗ นาฬิกา ถึงความว่าง
ข้อที่ ๓ ก็เหมือนได้รับความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๘ นาฬิกาถึงความว่าง
ข้อที่ ๔ ก็เหมือนความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๙ นาฬิกา ถึงความว่าง
ข้อที่ ๕ ก็เหมือนได้รับความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๑๐ นาฬิกา ถึงความว่าง
ข้อที่ ๖ ก็เหมือนความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๑๑ นาฬิกา ถึงความว่าง
ข้อที่ ๗ ก็เหมือนความสว่างของพระอาทิตย์ในเวลา ๑๒ นาฬิกา
หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้ปฏิบัติถึงความว่างขั้นแรกก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๘ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๒ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๙ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๓ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๔ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๑๑ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๕ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๑๒ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๖ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงความว่างข้อที่ ๗ ก็เหมือนดวงจันทร์ในดิถีขึ้น ๑๔ ค่ำ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น