วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา..พระธรรมปิฎก



หลักการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม
พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)


พระพุทธศาสนา แบ่งจริยธรรม หรือหลักการประพฤติปฏิบัติไว้ ๓ ระดับ คือ

๑. จริยธรรมเบื้องต้น ได้แก่ เบญจศีล และเบญจธรรม
๑.๑ เบญจศีล คือ สอนให้เว้นการทำความชั่ว ๕ ประการ ได้แก่
๑.๑.๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์
๑.๑.๒ เว้นจากการลักทรัพย์
๑.๑.๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑.๑.๔ เว้นจากการพูดเท็จ
๑.๑.๕ เว้นจากการดื่มสุรา และของมืนเมา

๑.๒ เบญจธรรม คือ สอนเน้นให้ทำความดี ๕ ประการ ได้แก่
๑.๒.๑ มีเมตตา กรุณา
๑.๒.๒ มีอาชีพสุจริต
๑.๒.๓ มีความสำรวมในกาม
๑.๒.๔ มีสัจจะ
๑.๒.๕ มีสติสัมปชัญญะ


๒. จริยธรรมขั้นกลาง คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ได้แก่ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

๒.๑ กายกรรม ๓ คือ การกระทำทางกาย ๓ ประการ ได้แก่
๒.๑.๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์
๒.๑.๒ เว้นจากการลักทรัพย์
๒.๑.๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๒.๒ วจีกรรม ๔ คือ การกระทำทางวาจา ๔ ประการ ได้แก่
๒.๒.๑ เว้นจากการพูดปด ให้พูดความจริง
๒.๒.๒ เว้นจากการพูดส่อเสียด ให้พูดสมานสามัคคี
๒.๒.๓ เว้นจากการพูดหยาบคาย ให้พูดไพเราะอ่อนหวาน
๒.๒.๔ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ให้พูดเรื่องที่มีสาระประโยชน์

๒.๓ มโนกรรม ๓ คือ การกระทำทางใจ ๓ ประการ ได้แก่
๒.๓.๑ ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น มาเป็นของตน
๒.๓.๒ ไม่มีจิตคิดร้ายพยาบาทจองเวร คิดปรารถนาแต่ว่าขอให้ สัตว์ทั้งหลายไม่มีเวร ไม่เบียดเบียน ไม่มีทุกข์ ครองตนอยู่เป็นสุขเถิด
๒.๓.๓. มีความเห็นชอบ เช่น ทานมีผล การบูชามีผล ผลของกรรมดี กรรมชั่วมี


๓. จริยธรรมขั้นสูงสุด คือ การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ ได้แก่

๓.๑ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) คือมีความคิดเห็นตามความเป็นจริง ตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) อกุศล และอกุศลมูล กุศล และกุศลมูล ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

๓.๒ สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) คือ การคิดออกจากกาม การคิดออกจากความพยาบาท และการคิดออกจากความเบียดเบียน

๓.๓ สัมมาวาจา (วาจาชอบ) คือ วจีสุจริต ๔ ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด การไม่เว้นจากการพูดจาหยาบคาย และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๓.๔ สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๓.๕ สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) คือเว้นจากมิจฉาชีพ คืออาชีพที่ผิดศีลธรรม

๓.๖ สัมมาวายามะ (เพียรชอบ) คือ ไม่ทำบาปอกุศล ละบาปอกุศลที่เคยทำมาแล้ว การทำความดี หรือกุศลธรรม การรักษาความดีหรือกุศลธรรมให้คงอยู่

๓.๗ สัมมาสติ (ตั้งสติชอบ) ในสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และธรรม

๓.๘ สัมมาสมาธิ (ตั้งใจมั่นชอบ) คือการตั้งจิตมั่นชอบ จนกระทั่งได้ฌาน ๔


มรรคมีองค์ ๘ สังเคราะห์เป็น หลักไตรสิกขาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา จำแนกได้ ดังนี้

๑. หมวดศีล ได้แก่
๑.๑ วาจาชอบ คือ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด การไม่เว้นจากการพูดจาหยาบคาย และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๑.๒ กระทำชอบ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑.๓ อาชีพชอบ คือ ไม่ประกอบอาชีพผิดศีลธรรม และกฎหมายบ้านเมือง หรือมิจฉาชีพ

๒. หมวดสมาธิ ได้แก่
๒.๑ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่ว เพียรไม่ทำชั่ว เพียรทำความดี และเพียรรักษาความดี
๒.๒ ระลึกชอบ คือ การมีสติอยู่ที่กาย ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก พิจารณาเห็นความจริงของกายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สกปรกเน่าเหม็น แยกกายออกเป็นส่วน ๆ ๓๒ ประการ และมีสติในอิริยบถต่าง ๆ
      ๒.๓ สมาธิชอบ คือ การทำจิตตั้งมั่นอยู่ในกรรมฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง จนได้ฌาน ๔

๓. หมวดปัญญา ได้แก่
๓.๑ ความเห็นชอบ คือ การมีความเห็นตรงตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์ และปฏิจจสมุปบาท เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยของกาม ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ ไม่ปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของกิเลสมาร
๓.๒ ความคิดชอบ คือ มีความคิดออกจากกาม คิดออกจากเหตุแห่งทุกข์ โดยการละชั่ว ทำความดี และทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ว่างจากกิเลสตัณหา อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทั้งปวง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น