อานาปานสติ
(หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต วัดบรรพพตคีรี
(ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร)
ผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ
ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมแล้ว จะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อาลัย ไม่รัก ไม่ปฏิบัติเนืองๆ ยิ่งๆ
ในพระอานาปานสติ ลมหายใจเข้าออกแล้ว
นั่งคอยนอนคอยปรารถนาอยู่เฉยๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก
ลมออกลมเข้ายาว หรือสั้นจะไม่ใช่กายอย่างไร ก็คือ กายานุปัสสนา นั่นเอง และก็ธาตุดิน
น้ำ ไฟ ลม ที่สมดุลกันอยู่นั้นเอง จึงพอหายใจเข้าหายใจออกได้
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก บางที่เสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อุเบกขาบ้าง ก็เป็น เวทนานุปัสสนา นั่นเอง
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นจิตเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว หรือกลางๆ
ก็เป็น จิตตานุปัสสนา
นั่นเอง
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายสังขาร
จิตตสังขาร ก็เป็น ธรรมานุปัสสนา นั้นเอง
แล้วกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี
ยกขึ้นสู่เมืองขึ้นของ
"ไตรลักษณ์" ให้กลมกลืนกันเป็นเชือกสามเกลียว เป็นเป้าอันเดียวกันไม่ต้องแยก ไม่ต้องเรียง ไม่ต้องขยาย
เห็นอยู่ ณ ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญาพร้อมกับลมเข้าออก ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง ติดต่ออยู่
พิจารณาอยู่ไม่ขาดสาย
ความเพลิดเพลิน
ความเมา ความดิ้นรนในโลกทั้งปวง ทั้งอดีต อนาคต
มันจะมารวมพลมาจากประตูใด เพราะปัจจุบันมีอำนาจเหนืออดีต เหนืออนาคตแล้ว มิหนำซ้ำจะได้โต้ตอบกับปัจจุบันว่า ปัจจุบันเป็นเมืองขึ้นของใคร และใครมายึดถือเอาเป็นเจ้าของ จะได้ตะลุมบอนหั่นแหลกกันในปัจจุบันนั้น
ลมออกเป็นชาติหนึ่ง
ลมเข้าเป็นชาติหนึ่งๆ ของกายสังขาร
ส่วนจิตสังขารนั้นเป็นชาติอันละเอียดเร็วนัก เกิดดับติดต่อกันเร็วนัก
อนิจจาอันละเอียดมีมากมายแท้ๆ เมื่ออนิจจาละเอียดเข้าสักเพียงใรก็ดี ทุกขาอนัตตาก็ละเอียดเข้าเป้าเดียวกัน ขณะเดียวกัน
แต่อย่าลืมลมเข้าออก เพราะลมเข้าออกเป็นแม่เหล็กอาจารย์เดิม ลมจะละเอียดสักเพียงใด อย่าได้ลืมเลย เพราะจิตจะฟุ้งซ่าน เป็นว่าวเชือกขาด จะเป็นช่างเหล็กที่ตีเหล็กไม่ถูกทั่ง เหล็กจะกระเด็นใส่หน้า ข้อนี้สำคัญมากนักหนา ผู้ทิ้งกรรมฐานเดิมที่ตนตั้งไว้ ย่อมไปตามนิมิตภายนอกต่างๆ นานา
อานาปานสติ
เป็นกรรมฐานชั้นที่หนึ่ง ในพระพุทธศาสนา
เป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งปวง ผู้เจริญชำนาญแล้ว จะดึงกรรมฐาน
และวิปัสสนาภาวนาปัญญามารวมเข้ากันได้ ไม่ขัดแย้ง ไม่แสลงกันเลย เช่น นิโรธความดับตัณหา เป็นธรรมอันละเอียด จะดึงเข้ามาพร้อมกับลมเข้าออกก็ได้ทั้งนั้น
ยาขนานเดียวแก้โรคได้เป็นล้านๆ อย่าง
ก็คืออานาปานสตินี้
สามารถบรรเทา และแก้สรรพกิเลส สรรพตัณหาได้ ตามเหตุตามผลของท่านผู้เจริญน้อย หรือมาก ได้โดยตรงๆ ไม่อ้อมค้อมเลย ขอแต่ทุ่มเท
ศรัทธา วิริยะ สติ
สมาธิ ปัญญา ลงให้สมดุลกัน
ติดต่อกันไม่ขาดสาย นิพพิทา
คลายเมาในความหลงอันดองขันธสันดานมานมนาน ก็จะปรากฏเป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณโดยแท้ ไม่ต้องสงสัยเลย
อย่าตีตนก่อนไข้ก็แล้วกัน อย่ามุ่งกล่าวตู่พระพุทธศาสนา
และอย่ากล่าวตู่ว่ามรรคผลนิพพานหมดไปแล้ว
ผู้ไม่แยบคายในอานาปานสติ ไฉนจะเห็นเจตสิก ที่เกิดดับได้ง่ายๆ เล่า เพราะตามลมเข้าออกไม่ถึงจิต และเจตสิก เมื่อไม่เห็นการเกิดดับได้ละเอียด ไฉนจะเห็นไตรลักษณ์ละเอียด ให้ปรากฏแก่ตาปัญญาญาณเล่า พระบรมศาสดาทรงเน้นหนักลงใน "ไตรลักษณ์" มากกว่าพระพุทธภาษิตอื่นๆ เพราะเป็นธรรมนำไปสู่การหลุดพ้นได้ง่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น