วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ธัมมธโรวาท....หลวงปู่ลี ธมฺมธโร



ธัมมธโรวาท
(หลวงปู่ลี ธมฺมธโร  วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความจริง ถ้าใครไม่จริงต่อพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ย่อมไม่จริงสำหรับผู้นั้น

พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องของการอ้อนวอน ร้องขอ หรือให้กันได้ ทุกคนจะต้องทำด้วยตนเองตนเอง จึงจะได้รับผล

สิ่งใดไม่ประกอบด้วยเหตุและผลแล้ว  สิ่งนั้นมิใช่พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามุ่งให้ปฏิบัติทางจิตใจเป็นข้อใหญ่  ใครไม่ปฏิบัติตาม เรียกว่า "ไม่รัก ไม่เคารพพระพุทธเจ้า" คือ พ่อของเราเลย

คนที่มีทาน มีศีล แต่ไม่ภาวนา ก็เท่ากับนับถือพระพุทธศาสนาเพียงครึ่งเดียว

สละกายบูชาพระพุทธเจ้า  สละวาจาบูชาพระธรรม  สละใจบูชาพระสงฆ์  เรียกว่า "ปฏิบัติบูชา"

โลกธรรม ๘ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นฝ่ายดี  กับเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว ทั้งหมดนี้ บุคคลใดติดตามอยู่ก็เท่ากับผู้นั้น ถูกเขาจองจำไว้

สุตมยปัญญา เปรียบเหมือนคนที่ตื่นจากหลับแล้ว  แต่ยังไม่ได้ลืมตา  จินตามยปัญญา เปรียบเหมือนคนที่ตื่นนอนแล้ว  แต่ยังไม่ได้ออกจากมุ้ง  ภาวนามยปัญญา เปรียบเหมือนคนที่ตื่นออกจากมุ้งล้างหน้าล้างตาสว่างแจ่มใสแล้ว  สามารถมองเห็นอะไรๆ ได้ชัดเจน 

โลกเอาสุขทางกายเป็นใหญ่ จิตใจจะทุกข์อย่างไรก็ช่างมัน  แต่ธรรมเอาสุขทางใจเป็นใหญ่  เพราะถือว่าใจเป็นส่วนสำคัญยิ่ง

มติทางโลกเขาว่า จะดีหรือไม่ดีก็ช่าง ให้มีเงินมากๆ แล้วเป็นดี  ส่วนมติทางธรรมว่า จะมีหรือจนก็ช่างเถอะ ขอให้เป็นคนดีก็แล้วกัน

สุขในอัตภาพร่างกาย เป็นความสุขทางโลก สุขชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ปรวนแปรไป เหมือนข้าวสุก พอข้ามวันก็เหม็นบูด ส่วนความสุขทางธรรมนั้น สุขเหมือนดาวบนท้องฟ้า เป็นสุขที่สว่างไสวตลอดกาลนาน

กินข้าวมาก ฟืนมันสด แสงไม่เกิด กินข้าวน้อย ฟืนมันแห้ง แสงมันเกิด

ศีลก็เกิดที่จิต สมาธิก็เกิดที่จิต ปัญญาก็เกิดที่จิต บุญก็เกิดที่จิต บาปก็เกิดที่จิต จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

การที่บุคคลจะทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ จะต้องคลายความยึดถือในตัวตน ในรูปนาม และในอารมณ์ทั้งหลาย ที่ผ่านมาทางอายนตะ ๖  ทำจิตให้ตั้งมั่นในสมาธิ  ให้เป็นหนึ่งอยู่เสมอ  อย่าให้กลายเป็นเลข ๒ ๔ ฯลฯ ไปได้

การยกจิตออกไปรับอารมณ์ภายนอก นั่นไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้องของการทำสมาธิ

อารมณ์ภายนอกต่างๆ ที่เราเก็บมายึดถือไว้ ก็เปรียบเหมือนเราเอาหาบของหนักๆ มาวางไว้บนบ่า  ถ้าเราปลดปล่อยเสียแล้ว  ก็เท่ากับเราวางหาบนั้นลง

จิตที่อบรมอยู่เสมอ ย่อมจะสูงขึ้นๆ ทุกที เป็นลำดับ  เหมือนผลไม้ที่แก่จัด เมื่อสุกงอมแล้ว ก็ย่อมหล่นจากขั้วของมันในที่สุด

"สติ" เป็นชีวิตของใจ "ลม" เป็นชีวิตของกาย ถ้าลมหายใจของเรานี้อ่อนลง สติก็จะอ่อนตามไปด้วย

"สติ" คือเชือก "จิต"เหมือนลูกโค ลมเป็นหลัก ต้องเอาสติผูกจิตไว้กับลม จิตจึงจะไม่หนีไปได้

ถ้าจิตของเราตั้งตรงเป็นหลักอยู่กับที่มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่เสมอแล้ว นิวรณ์ และกิเลสทั้งหลายก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

ร่างกายเป็นผู้ไม่รับทุกข์ รับสุขอะไรกับเราด้วยเลย  ตัวจิตผู้เดียวเป็นผู้รับ

"สุขกาย" ระงับเวทนา  "ใจสุข" ระงับนิวรณ์

กายเป็นของสูญ เปื่อยเน่า  จิตเป็นของไม่สูญ ไม่ตาย

จิตที่ดับจากกายย่อมหายไป  เหมือนกับไฟที่ดับไปจากเทียน  ไม่มีรูปร่างลักษณะให้ตาเนื้อของเราแลเห็น  แต่ไฟนั้นก็มิได้สูญหายไปจากโลก

ดวงจิตนั้นต้องเลี้ยงด้วยบุญกุศล ต้องให้บริโภคบุญกุศลให้มากๆ มันจึงจะอ้วนพี ถ้าบุญน้อยมันก็ผอม

เราควรรู้ว่าร่างกายนั้นเขาวางเรา และหนีเราไปทุกวัน  แต่เราสิไม่เคยหนีเขา ไม่ยอมวางเขาเลยสักที

เมื่อเรามากำหนดนึกอยู่ในลมหายใจ ด้วยความมีสติสัมปชัญญะเช่นนี้  ก็จะเป็นทั้งพุทธานุสสติ  ธรรมานุสสติ  นอกจากนี้ยังเป็น กายคตานุสสติ  อานาปานสติ  และมรณานุสสติ  อีกด้วย

การที่เรามานั่งภาวนาอยู่นี้  เปรียบเหมือนกับเรามาขัดสีข้าวเปลือกในยุ้งของเราให้เป็นข้าวสาร

ถ้าเราปรารถนาจะได้รับความสุข อันเป็นยอดของมหาสมบัติทั้งปวง ก็ต้องกระทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศล คือทาน ศีล ภาวนา  ให้พร้อมบริบูรณ์

บ้านเรือนที่สกปรก  ก็ยังไม่ร้ายเท่ากับจิตใจที่สกปรก

ดีชั่วออกจากใคร  ย่อมกลับไปหาเขาเอง

ตัวเราเปรียบเสมือนแผ่นเสียง  ที่อัดเอาไว้ทั้งเสียงดี  เสียงชั่ว  เมื่อเราทำความดี ก็อัดเข้าไว้ในตัว  เมื่อเราทำความชั่ว ก็อัดเข้าไว้ในตัว  เราทำกรรมใดไว้  กรรมนั้นย่อมมีอยู่ในตัวทุกอย่าง ไม่หายไปไหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น