วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระพุทธศาสนาในสายตาภิกษุชาวอังกฤษ...พระชยสาโร(ภิกษุชาวอังกฤษ)


พระพุทธศาสนา
ในสายตาภิกษุชาวอังกฤษ
(พระชยสาโร วัดป่านานาชาติ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี)


เมืองไทยยังไม่ได้เป็นเมืองพุทธ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รักษาศีล ๕ แต่มีศักยภาพที่จะเป็นเมืองพุทธได้ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ครบ

    เอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ที่ไม่เหมือนศาสนาอื่น คือ เป็นศาสนามนุษยนิยม  ไม่ใช่เทวนิยม  ไม่เป็นระบบความเชื่อ แต่เป็นระบบศึกษา หรือการพัฒนาตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ศาสนาอื่นเป็นศาสนาประเภทเทวนิยม เน้นหลักศรัทธา คือ ความเชื่อ จะสงสัยไม่ได้ ถ้าสงสัยถือว่าเป็นบาป และเชื่อว่าคนที่นับถือศาสนาอื่น นอกจากศาสนาของเขา จะไปสู่ความมืด คือนรก

  ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้  จึงมีความขัดแย้งกันอยู่  เพราะถือว่าความจริงมีอันเดียว  ต่างถือว่าศาสนาของตนสอนถูกต้อง ตามความเป็นจริง  ส่วนศาสนาอื่นสอนผิด จึงเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดสงครามศาสนาขึ้น

  ดังนั้น ศาสนาแทนที่จะนำสันติภาพมาสู่โลก แต่กลับนำความหายนะมาสู่โลก ทำให้คนรุ่นใหม่ในอังกฤษ  เบื่อหน่ายศาสนาไม่ต้องการมีศาสนา  คิดว่า แค่เป็นคนดีก็พอแล้ว

ส่วนในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ไม่ส่งเสริม หรือสนับสนุนให้มีสงคราม หรือความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าในกรณีใดๆ  ดังปรากฏในโอวาทปาฏิโมกข์  ซึ่งแสดงแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ในวันมาฆบูชา

   พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส  ด้านการเผยแผ่พระศาสนาทรงตรัสสอนพระสาวก ให้มีความอดทนต่อการกล่าวร้ายต่างๆ ไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น  ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น และไม่ทำร้ายผู้อื่น
สัตว์เดรัจฉานเป็นทาสของสัญชาติญาณ หรือเรียกว่า “กรรมเก่า” แต่มนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาตน ให้อยู่เหนือสัญชาติญาณ (กรรมเก่า) หรืออยู่เหนือดวงได้ การพัฒนาตนในพระพุทธศาสนา คือ การศึกษาธรรมะ หรือการศึกษาตนเอง ได้แก่ รูป และนาม คือร่างกาย และจิตใจนั่นเอง

พระธรรมในพระไตรปิฎก ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ล้วนเป็นเรื่องของทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ ไม่มีคำสอนแม้แต่ข้อเดียว ที่เลื่อยลอย หรือไม่เป็นความจริง พุทธศาสนิกชนผู้หมั่นศึกษา และมีความไม่ประมาท จึงสามารถ “แก้ดวง” ของตนเองได้ นั่นคือ “ดวงใจ” นั่นเอง 

  ดวงใจที่ไม่มีทานก็แก้ให้มีทาน  ดวงใจที่ไม่มีศีลก็แก้ให้มีศีล ดวงใจไม่มีสมาธิก็แก้ให้มีสมาธิ  ดวงใจไม่มีปัญญาก็แก้ให้มีปัญญา  จนรู้แจ้งเห็นจริงในพระสัจธรรม สามารถสละ ละ วาง การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ (รูป และนาม) ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน และในสิ่งทั้งปวงได้ เมื่อนั้นทุกข์ก็จะดับไป  

คำสอนในพระพุทธศาสนา ล้วนเป็นเครื่องมือให้เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง ทำลายความคิดผิด ความเห็นผิด ที่เอาตัวตนเป็นที่ตั้ง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ทุกสรรพสิ่งเป็นของโลก ตกอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ คือไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน)

   ดังนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อชีวิตที่ถูกต้อง ดีงาม สดใส เป็นอิสระ และเป็นสุข อย่างแท้จริง

มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้พ้นจากความทุกข์ได้ จึงเป็นความอัศจรรย์ที่น่าภูมิใจมาก เกิดเป็นมนุษย์แล้วมาพบพระพุทธศาสนา ถือเป็นโอกาสทองของชีวิต จึงไม่ควรปล่อย ชีวิตให้เป็นโมฆะ ด้วยความลุ่มหลง มัวเมากับสิ่งที่ไร้สาระ

ด้วยการพัฒนาตนเอง ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จนเห็นความไม่มีอัตตา ตัวตน ก็จะพบกับความสุข ปราศจากทุกข์ และเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง ได้อย่างไม่มีข้อสงสัย  “กรรมเก่า” ก็ไม่สามารถให้ผลเป็นทุกข์ ทางด้านจิตใจของผู้นั้นได้ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอิริยาบท และทุกกาลเวลา จนเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดที่ว่า “ไม่มีเวลา ที่จะปฏิบัติธรรม” ให้หมดไปได้ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น