อุบายแห่งวิปัสสนาถ่ายถอนกิเลส
(จากหนังสือ "มุตโตทัย" หลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต)
ธรรมชาติของดีทั้งหลาย
ย่อมเกิดมาจากของไม่ดี อุปมาดังดอกปทุมชาติอันสวยงาม
เกิดจากโคลนตมอันสกปรก
แต่เมื่อดอกบัวขึ้นพ้นจากโคลนตมแล้ว ย่อมเป็นสิ่งสะอาด
เป็นที่ทัดทรงของพระราชาอุปราชอำมาตย์ และมิกลับคืนไปยังโคลนตมอีกเลย
เปรียบเหมือนพระโยคาวจรเจ้า
ย่อมพิจารณาสิ่งสกปรกน่าเกลียด จึงจะพ้นจากสิ่งสกปรกน่าเกลียดได้ สิ่งสกปรกน่าเกลียดก็คือร่างกายของเรา
เป็นที่ประชุมของสิ่งโสโครก คืออุจจาระ ปัสสาวะ
สิ่งที่ออกมาจากผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เรียกว่า "ขี้หมด" ได้แก่ ขี้หัว ขี้เล็บ ขี้ฟัน ขี้ไคล เป็นต้น
ถ้าไม่ชำระขัดสีก็จะเหม็นสาบ เข้าใกล้ใครก็ไม่ได้ ของทั้งปวงมีผ้าแพรเครื่องใช้ต่าง
ๆ เมื่อนำมาสัมผัสถูกต้องกายแล้ว ก็เป็นของสกปรกไปหมด ต้องนำไปซักไปฟอก
มิเช่นนั้นจะเข้าใกล้ใครไม่ได้เลย
ร่างกายของเรานี้เป็นเรือนมูตร(ปัสสาวะ)
เรือนคูถ(อุจจาระ) เป็นอสุภะของไม่งามปฏิกูลน่ารังเกียจ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นถึงปานนี้ ยิ่งชีวิตหาไม่แล้ว ยิ่งจะสกปรกหาอะไรเปรียบมิได้เลย
เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาร่างกายอันนี้ ให้ชำนาญด้วยโยนิโสมนสิการ
ตั้งแต่ต้นมาเลยทีเดียว ถ้ายังเห็นไม่ชัดเจน ก็พิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
อันเป็นที่สบายแก่จริต จนกระทั่งเป็นอุคคหนิมิต คือปรากฏส่วนแห่งร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง
แล้วกำหนดส่วนนั้นให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มาก
ดุจชาวนาทำนาในแผ่นดิน
ไถที่แผ่นดิน ดำลงไปในนา เมื่อทำให้มากแล้ว เขาก็ได้ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉางเอง พระโยคาวจรก็ฉันนั้น คงพิจารณากายที่เคยพิจารณาอันถูกนิสัย
หรือที่ปรากฏมาครั้งแรก อย่าละทิ้งเลยเป็นอันขาด มีสติหรือพิจารณาในที่ทุกสถาน
ในกาลทุกเมื่อทั้งยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ คิด พูด
ให้มีสติรอบคอบในกายอยู่เสมอ
เมื่อพิจารณาในร่างกายจนชัดเจนแล้ว
ให้พิจารณาแยกออกเป็นส่วนๆ ตามโยนิโสมนสิการ กระจายออกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง อุบายตอนนี้ตามแต่ตนจะใคร่ครวญออกอุบาย
ตามที่ถูกจริตนิสัยของตน แต่อย่าทิ้งหลักเดิมที่ตนได้รู้ครั้งแรกนั่นเทียว
พระโยคาวจรเมื่อพิจารณาในที่นี้พึงเจริญให้มาก
ทำให้มาก อย่าพิจารณาเพียงครั้งเดียว แล้วปล่อยทิ้งตั้งครึ่งเดือน
ตั้งเดือน ให้พิจารณาก้าวเข้าไป ถอยออกมา เป็นอนุโลม
ปฏิโลม คือ เข้าไปสงบภายในจิตแล้ว
ถอยออกมาพิจารณากาย อย่าพิจารณากายอย่างเดียว หรือเข้าไปสงบภายในจิตอย่างเดียว
พระโยคาวจรเจ้าพิจารณาอย่างนี้จนชำนาญแล้ว
หรือชำนาญอย่างยิ่งแล้ว คราวนี้แล เป็นส่วนที่จะเป็นเอง คือจิตจะรวมใหญ่
เมื่อรวมพรึบลงย่อมปรากฏว่า ทุกสิ่งรวมเป็นอันเดียวกัน คือ หมดทั้งโลกย่อมเป็นธาตุทั้งสิ้น
นิมิตจะปรากฏขึ้นพร้อมกันว่า โลกนี้ราบเหมือนหน้ากลอง เพราะมีสภาพเป็นอันเดียวกัน พร้อมกับ “ญาณสัมปยุต” คือรู้ขึ้นมาพร้อมกันในที่นี้
ตัดความสนเท่ห์ในใจได้เลย จึงชื่อว่า “ยถาภูตญาณทัสสนวิปัสสนา" คือ
ทั้งรู้ทั้งเห็นตามความเป็นจริง
ขั้นนี้เป็นเบื้องต้นในอันที่จะดำเนินต่อไป
ไม่ใช่ที่สุด อัน
พระโยคาวจรจะพึงเจริญให้มาก ทำให้มาก จึงจะเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งอีกจนรอบ จนชำนาญ
เห็นแจ้งชัดว่า สังขารความปรุงแต่งอันเป็นความสมมุติว่า โน่น ! เป็นของเรา นั่น !
เป็นของเรา เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปาทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์
ธาตุทั้งหลาย เขามีความเป็นอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้นเสื่อมไปอยู่อย่างนี้มาก่อนเรา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ก็เป็นอยู่อย่างนี้
อาศัยอาการของจิตคือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไปปรุงแต่งสำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณ
มาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงตามสมมุติ ไม่ใช่สมมุติมาติดเอาเรา
ธรรมชาติ ทั้งหลายทั้งหมดในโลกนี้
จะเป็นของมีวิญญาณหรือไม่มีก็ตาม เมื่อว่าตามความจริงแล้ว เขาหากมี หากเป็น เกิดขึ้นเสื่อมไป มีอยู่อย่างนั้นทีเดียว
โดยไม่ต้องสงสัยเลย พระโยคาวจรเจ้าจึงมาพิจารณาโดยแยบคายลงไป ตามสภาพว่า "สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา”
สังขารความเข้าไปปรุงแต่ง
คือ อาการของจิตนั่นแลไม่เที่ยง สัตว์โลกเขาเที่ยง
คือมีอยู่ เป็นอยู่ อย่างนั้น ให้พิจารณาอริยสัจธรรมทั้ง ๔
เป็นเครื่องแก้อาการของจิต
จึงปรากฏเห็นจริงขึ้นว่า สังขารที่เที่ยงแท้ไม่มี สังขารเป็นอาการของจิตต่างหาก
เปรียบเหมือนพยับแดด เมื่อรู้เงื่อน ๒ ประการ
คือรู้ว่าสัตว์ก็มีอยู่อย่างนี้ สังขารเป็นอาการของจิต
เข้าไปสมมุติเขาเท่านั้น ธรรมดาหรือธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน
จะใช่ตนอย่างไร ? เขาหากเกิดมีอยู่อย่างนั้น
ท่านจึงว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตน จนทำให้รวมพรึบลงไปให้เห็นจริงแจ้งชัดตามนั้น
รวมทวนกระแส แก้อนุสัยสมมุติ เป็นวิมุตติ หรือรวมเป็น "ฐิติจิต" (จิตเดิมแท้ หรือจิตดั้งเดิม) อันมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น
รวมจนแจ้งประจักษ์ในที่นั่นด้วยญาณสัมปยุตต์ว่า
"ในที่นี้ไม่มีสมมุติ
ไม่ใช่ของแต่งเอา เดาเอา ไม่ใช่ของอันบุคคลพึงปรารถนาเอาเองได้" เป็นของที่เกิดขึ้นเอง เป็นเอง รู้เอง โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะด้วยการปฏิบัติเข้มแข็งไม่ท้อถอย
เปรียบดังคนปลูกข้าว ถ้าไม่บำรุงดูแลรักษาต้นมันให้ดี ผลคือรวงข้าว
ก็ไม่ใช่สิ่งที่บุคคลจะพึงปรารถนาเอาได้เลย วิมุตติธรรมก็ฉันนั้น
ถ้ามัวเกียจคร้านจนวันตาย จะประสบวิมุตติธรรมไม่ได้เลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น