วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อภิมหาบารมีวิสุทธิ ...พระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส


อภิมหาบารมีวิสุทธิ
(โดยพระอาจารย์นพพร อาทิจฺจวํโส อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่)

สรุปสาระธรรม เรื่อง อภิมหาบารมีวิสุทธิ อบรมพุทธศาสนิกชนรุ่นที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๒-๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา

คำว่า อภิมหาบารมีวิสุทธิ หมายถึง บารมีที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เพื่อเข้าสู่ความว่างบริสุทธิ์ เข้าถึงอมตธาตุ คือพระนิพพาน ตามรอยพระบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามแนว "สุญญตสมาธิ" เพื่อล้างอารมณ์ ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐ (คือ กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้กับภพ หรือการเวียนว่ายตายเกิด) ให้หมดไป สิ้นไป โดยการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ด้วยตั้งใจกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ดังนี้

๑. ทานบารมีวิสุทธิ (ทาน แปลว่า การให้ การเสียสละ) ปฏิบัติด้วยการให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง  ออกไปจากจิตใจ จนหมดสิ้น ใจก็จะว่าง บริสุทธิ์  ผ่องใส

๒. ศีลบารมีวิสุทธิ (ศีล แปลว่า การละเว้น) ปฏิบัติด้วยการละเว้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง ทั้งกาย วาจา ใจ เพื่อทำจิตใจให้ว่าง  บริสุทธิ์  ผ่องใส

๓. เนกขัมมบารมีวิสุทธิ (เนกขัมมะ แปลว่า การออกบวช  การปลีกตัวปลีกใจออกจากกาม ) ปฏิบัติด้วยการแยกกาย และใจ ออกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ทั้งปวง  ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตใจ  ทำให้จิตใจขุ่นมัว เศร้าหมองได้ เพื่อทำจิตใจ ให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส

๔. ปัญญาบารมีวิสุทธิ (ปัญญา แปลว่า ความรู้รอบ หยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง) ปฏิบัติด้วยการกำหนดรู้อยู่เสมอว่า รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ (สัมผัส) และธรรมารมณ์ เป็นเหตุแห่งทุกข์  เป็นที่เกิดที่อาศัยของตัณหา  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตนแล้ว ละ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ออกไป จากจิตใจจนหมดสิ้น ทุกข์ก็ดับไป ใจก็ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส

๔. วิริยบารมีวิสุทธิ (วิริยะ แปลว่า ความเพียร  แกล้วกล้า  ไม่เกรงกลัว อุปสรรค  มีอุตสาหะ  ไม่ทอดทิ้งธุระ) ปฏิบัติด้วยการเพียรบำเพ็ญทานบารมี  ศีลบารมี  เนกขัมมบารมี  ปัญญาบารมี  ขันติบารมี  สัจจบารมี  อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี  อย่างไม่ท้อถอย ทอดทิ้งธุระ เพื่อทำจิตใจ  ให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส

๖. ขันติบารมีวิสุทธิ (ขันติ แปลว่า ความอดทน  สามารถควบคุมจิตใจให้เป็นไปตามจุดหมายที่ตั้งไว้) อดทนต่ออำนาจของกิเลส ไม่ให้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งหลาย เข้ามาครอบงำจิตใจได้ อดทนบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อทำจิตใจ ให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส

๗. สัจจบารมีวิสุทธิ (สัจจะ แปลว่า ความจริง) ปฏิบัติด้วยการทำจริง มีความจริงใจ ต่อการบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี  สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อทำจิตใจให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส 

๘. อธิษฐานบารมีวิสุทธิ (อธิษฐาน แปลว่า ความตั้งใจมั่น  เด็ดเดี่ยว  แน่วแน่ มั่นคงในจุดหมาย) มีจิตใจมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยว มั่นคง ในการบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี  เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อเข้าสู่เป้าหมาย สูงสุดในพระพุทธศาสนา คือพระนิพพานให้ได้

๙. เมตตาบารมีวิสุทธิ (เมตตา แปลว่า ความรักใคร่) ปฏิบัติด้วยการมีความรัก ในการบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี และอุเบกขาบารมี เพื่อทำจิตใจให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส และมีความรักสูงสุด คือพระนิพพาน

๑๐. อุเบกขาบารมีวิสุทธิ (อุเบกขา แปลว่า การวางใจเป็นกลาง  ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดี  ยินร้าย  หรือชอบชัง ) ปฏิบัติด้วยการวางเฉยในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์  วางเฉยในโลกธรรม ๘ ไม่ว่าจะมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ  มีสรรเสริญ  นินทา  มีสุข มีทุกข์ เพื่อทำจิตใจให้ว่าง บริสุทธิ์ ผ่องใส

ผู้ตั้งใจบำเพ็ญบารมี ๑๐ ได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว  มรรคผลนิพพาน ย่อมปรากฏแก่ผู้นั้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย  ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า  “ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติตนตามพระธรรมวินัย (มรรคมีองค์ ๘) โลกนี้  ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น