พุทโธ ธัมโม สังโฆ
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
พวกชาวพุทธที่ไปเที่ยวต่างประเทศ เมื่อชาวต่างประเทศถามถึงหลักพระพุทธศาสนาก็ตอบเขาไม่ได้
กลายเป็นนั่งเฝ้าพระพุทธศาสนา
แต่ไม่รู้จักหลักพระพุทธศาสนา น่าอับอายขายหน้ามาก ดังนั้น
จึงอยากจะย้ำนักหนา ให้เข้าใจถึงหลักพระพุทธศาสนา จึงจะมีมั่นคงในพระพุทธศาสนา
เรียกว่าถึง "พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์" อย่างแท้จริง
ที่กล่าวว่าพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์นั้น เพียงกล่าวเป็นอาการ แท้จริงนั้นพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นี่แหละ
! อธิบายยาก เมื่อไม่เข้าถึงจุดอันหนึ่งนั้น
โดยตนเองแล้วพูดยาก "พุทโธ" คือ ความรู้สภาพความเป็นจริงของจิต เกิดจากการฝึกฝน แล้วเอาความรู้นั้นไปสอนคนอื่น เรียกว่า "ธรรม" ส่วน "สังโฆ" คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง
จึงจะเข้าถึงพุทโธ เรียกว่า สังโฆอยู่ในนั้น พุทโธ ธัมโม สังโฆ อยู่ในอันเดียวกันดังนี้ ที่ขยายออกไปกว้างขวาง เป็นการอธิบายตามตำรา ตามตัวหนังสือ
เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ถ้าหาไม่แล้ว
คนทั่วไปก็จะไม่รู้เรื่อง
แต่เมื่อปฏิบัติเข้าถึงหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว
เข้าถึงหลักของจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างที่อธิบายมาแล้วข้างต้น "พุทโธ" จะรู้ขึ้นมา เพราะเราคิดถูกต้อง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ พิจารณาชอบ เรียกว่า "สัมมาทิฎฐิ"
จึงได้เกิดความรู้ รู้ของจริง เลยกลายเป็นธรรมไปพร้อมกันในตัว ดังนั้นจึงว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ" จึงอยู่รวมอันเดียวกัน
เรากล่าวขอถึงพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์นั้น มันจะถึงอะไร ถึงตรงไหน พระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน พระองค์ปรินิพพานไปตั้งนานแล้ว ทำอย่างไรจะไปถึงท่าน นิพพานอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ จะไปถึงได้อย่างไร พระธรรมก็ไม่มีตัวตน
จะไปถึงได้อย่างไร พระอริยสงฆ์ก็นิพพานไปหมดแล้ว จะไปถึงได้อย่างไร แต่ถ้าปฏิบัติเข้าถึงใจอันเดียว พุทโธก็เกิดขึ้นที่นั่น เห็นพระพุทธเจ้า อ๋อ ! พระพุทธเจ้า คือ ความรู้อย่างนี้เอง เรียกว่า "พุทโธ" รู้อะไรก็รู้ความจริง
อ๋อ ! พระธรรมเป็นอย่างนี้เอง
เราทำถูกต้องขึ้นมา จึงเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเกิดความรู้ชัดขึ้นมาเรียกว่า เราถึงพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ในที่เดียว
เราเป็นชาวพุทธและเป็นผู้ปฏิบัติ อย่าไปศึกษาอะไรกว้างขวางออกไป จากหลักของพระพุทธศาสนาเลย การศึกษากว้างออกไปจากหลัก
จะเตลิดหลงทาง ตำรับตำราอธิบายตามภาษาหนังสือ
อาจารย์ต่างๆ อธิบายตามความเข้าใจ และสมาบัติของตน ผลที่สุดมันก็จุดเดียวกันนั่นแหละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น