วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทุกข์ และการแก้ทุกข์ ...หลวงปู่ชา สุภัทโท

ทุกข์ และการแก้ทุกข์

(หลวงปู่ชา สุภัทโท  วัดหนองป่าพง  จ.อุบลราชธานี)


          เรื่องของจิตนี้ เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เมื่อพูดตามความรู้สึกของคน จิตที่มันรู้  จิตที่มันไม่รู้ มันสลับซับซ้อน  เรื่องจิตนี้ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็มีแต่ว่า เรื่องที่มันเกิดทุกข์ กับเรื่องที่มันดับทุกข์ เท่านั้นเอง

        จิตนี้ตามธรรมชาติแท้ของมันไม่มีอะไร  ถ้าหากว่ามันเข้าใจในตัวของมันเอง  มันเข้าใจในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของมันแล้ว ก็ไม่มีอะไร  มันก็มีแต่เรื่องเกิดแล้วดับไป  เรื่องทั้งหลายซึ่งมันจะสำคัญมั่นหมายนั้น  คล้ายกับก้อนหินก้อนหนึ่งที่มันวางอยู่ข้างหน้าเรา  มันจะหนักเป็นตันก็ช่างมันเถิด  แม้น้ำหนักมันมี  แต่เมื่อเราไม่ไปยกมัน  ก็ไม่หนัก จะหนักก็หนักเฉพาะมัน  

          เรื่องทุกอย่าง อารมณ์ทุกอย่าง มันก็เหมือนกัน ดีหรือชั่วก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน มันไม่รู้เรื่องของมัน เหมือนกับก้อนหินที่มันหนัก มันจะหนักกี่ตันกี่กิโลกรัมก็ช่างมัน  ถ้าเราไม่ไปยกมันก็ไม่หนัก  แต่ว่ามันยังมีน้ำหนักของมันอยู่  แต่มันไม่ทำให้มนุษย์หนักอารมณ์ทั้งหลาย  นี้ก็เหมือนกันฉันนั้นแหละ

          มันเป็นอย่างเดียวเท่านั้น คือเป็นอารมณ์เท่านั้น  มันจะดีหรือชั่วมานั้น  ก็เพราะเราเข้าไปหมายมั่น  ถ้าเราเข้าไปหมายมั่นว่า มันดีมันชั่ว ก็เท่ากับไปแบกมัน  เมื่อไปแบกมัน  มันก็หนัก  ถ้าปล่อยวางมัน  มันก็ไม่หนัก  ความจริงเป็นอย่างนั้น  มันมีความสำคัญมั่นหมายเฉพาะเรา  อารมณ์ต่างๆ มันเป็นอยู่อย่างนั้น  เป็นธรรมชาติของมัน  เกิดแล้วก็ดับไป  ไม่มีดีมีชั่ว

          โลกนี้ก็สม่ำเสมอดีอยู่หรอก  ที่มันไม่สม่ำเสมอนั่น  เพราะจิตของเราหลงไปอุปาทานมั่นหมายมัน  เครื่องใช้ไม่สอยต่างๆ ก็เป็นของสมมุติก็เช่นกัน  เอามาใช้แล้วก็วางไว้  ท่านให้วาง  ลาภก็ดี  ยศก็ดี  สรรเสริญก็ดี  สุขก็ดี  มีอยู่  แต่ท่านให้วาง  เอามาใช้เป็นเวลาแล้วก็วางไว้  ถ้าทำถูกเรื่องดังนี้  ก็ไม่มีอะไร

          ถ้าเราไม่รู้จักโลก เราก็ทุกข์  ถ้าเรารู้จักโลก  แจ้งโลกแล้ว ก็ไม่มีอะไร  ไม่ให้ไปรู้ธรรมะที่ไหน  แต่ให้รู้ว่าโลกที่เราอยู่นี่  มันคืออะไร  สมมุตินี้ มันก็อยู่ที่สมมุตินี้  แต่เรารู้จักสมมุตินี้  ให้มันเป็นวิมุตติ  ถ้ามีสมมุติ ก็มีวิมุตติอยู่ในโลกอันนี้ อย่างให้รู้เท่าทัน

          ถึงแม้โลกมันจะวุ่นวายก็ยิ่งได้ศึกษามาก  เมื่อมีความทุกข์ขึ้นมานั่นแหละ  ได้ศึกษาอารมณ์อยู่  กำลังศึกษาธรรมะอยู่ เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่  มันต้องให้คิด  เมื่อคิดมันก็เกิดปัญญา  รู้จักแก้ปัญหาในอารมณ์อันนั้นได้  สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกว่า ทุกขสัจจ์ ทุกข์เป็นสัจธรรมอันหนึ่งเหมือนกัน  ท่านจึงสอนมนุษย์ให้รู้จักทุกข์  ถ้าไม่รู้จักทุกข์  มันก็ทุกข์   ถ้ารู้จักทุกข์  มันก็ไม่ทุกข์

          พระพุทธเจ้าทรงสอนเราไม่ให้หลบหลีกเหตุการณ์  ถ้าทุกข์แสดงให้เราพิจารณา  ก็เอาทุกข์นั้นมาศึกษา  ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะอยู่  มีความรู้ตัวอยู่เสมอแล้ว  ก็คือเราได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ควรคิดว่าธรรมะอยู่ที่ไกล ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านี้ สักแต่ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เท่านี้ ปัญญามันก็เกิดขึ้น ถ้าอารมณ์สุขขึ้นมา ทุกข์ขึ้นมา ชอบใจขึ้นมา ไม่ชอบใจขึ้นมา เรานึกเห็นมันทุกอย่างว่า มันก็เท่านั้นแหละ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น