สรุปพระพุทธพจน์
จากหนังสือ “พระอานนท์พุทธอนุชา”
เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ของอาจารย์วศิน อินทสระ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
๑. “เราประกาศพระศาสนา เพื่อผลประโยชน์ คือ
ลาภสักการะก็หาไม่ เพื่อให้ชาวโลกนับถือก็หาไม่ เพื่อยกตนข่มผู้อื่นก็หาไม่
เพื่อแก้คำสอนของเจ้าลัทธิอื่นก็หาไม่ แต่เราประกาศพระศาสนา
เพื่อให้ชาวโลกหลุดพ้นจากความทุกข์ ถึงความดับกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์”
๓. “ภิกษุหรือใคร ๆ ก็ตาม พึงอยู่โดยชอบ
ปฏิบัติดำเนินตามมรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์แปด โลกนี้ก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์”
๔. “บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์แปด ประเสริฐที่สุด
เป็นทางที่ทำให้มารหลง ติดตามไม่ได้ จงตั้งใจปฏิบัติ เพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป
ด้วยความเพียรของตนเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”
๕. “ความสุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี ความสุขชนิดนี้ ! หาได้ในตัวของเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากภายนอก
ตราบนั้น ! เขาจะไม่พบกับความสุขที่แท้จริงเลย”
๖. “ความเมาในอำนาจ
เป็นแรงผลักดันที่มีพลังมากพอให้คนทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้มีอำนาจยิ่งขึ้น
และยิ่งขึ้น พร้อมๆ กันนั้น มันทำให้เขาลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แยแส ต่อเสียงเรียกร้องของศีลธรรม
หรือมโนธรรมใดๆ”
๗. “ศีลธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนสังคม และคุ้มครองโลก
แต่บุคคลที่รับรู้ และพยายามประคับประคองศีลธรรมมีน้อยเกินไป
สังคมมนุษย์จึงวุ่นวาย และกรอบเกรียมอย่างน่าวิตก”
๘. “ร่างกายนี้ !
มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาด แต่เพียงผิวหนังเท่านั้น
ดุจดังความงามของหีบศพอันวิจิตรตระการตา ผู้รู้หาได้ยินดีพอใจไม่
เพราะทราบว่าภายในหีบอันสวยงามนั้น มีแต่สิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจ”
๙. “ร่างกายนี้ !
ไม่นานก็ถึงกาลแห่งการแตกสลาย จงมีธรรมเป็นที่เกาะที่พึ่งเถิด อย่าคิดเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”
๑๐.
ปฐพีนี้ ! เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ที่ตายแล้วตายเล่า
ทับถมกันอยู่ ทุกย่างก้าวของมนุษย์ และสัตว์ล้วนเหยียบบนกองกระดูก นอนบนกองกระดูก
นั่งอยู่บนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น”
๑๑. “กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นกำลังพลแห่งมาร
จงขยี้พวงดอกไม้แห่งมาร และทำลายกำลังพลแห่งมารเสีย”
๑๒. “ดูก่อนกาม ! เราเห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดจากความคิดคำนึงถึงนั่นเอง
เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก ด้วยประการฉะนี้ กามเอ๋ย ! เจ้าจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้”
๑๓.
"จิตนี้ ! คอยจะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณ ๕
เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำ ถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำ
ก็คอยแต่จะดิ้นรนไปอยู่ในน้ำเสมอ ผู้มีปัญญาพึงพยายามยกจิตขึ้น จากกามคุณ ๕
ให้ละบ่วงแห่งมารเสีย”
๑๔.“ชีวิตนี้ ! เริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าละอาย
ทรงตัวอยู่ด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสน
และจบลงด้วยความเศร้า”
๑๕. “ชีวิตนี้ ! เหมือนเกลียวคลื่น
ก่อตัวขึ้นแล้วม้วนเข้าหาฝั่ง และแตกสลายเป็นฟองฝอย หายไปในที่สุด”
๑๖. “การเสียสละ เป็นการได้มาซึ่งผลอันเลิศในปั้นปลาย
ผู้ไม่เสียสละอะไร ย่อมไม่ได้อะไร เปรียบดังมนุษย์รดน้ำต้นไม้ที่โคน
แต่ให้ผลที่ปลายฉันนั้น”
๑๗. “หยาดน้ำทีละหยด ทำให้ตุ่มน้ำเต็มได้ฉันใด
การสั่งสมบุญหรือบาป แม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ผู้สั่งสมบุญ ย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ
ผู้สั่งสมบาป ย่อมเพียบแปล้ ไปด้วยบาป”
๑๘. “จิตนี้ ! เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส
มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้
จึงเศร้าหมองเหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง”
๑๙.
อานนท์เอย ! พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า
ธรรมวินัยอันใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ขอให้พระธรรมวินัยอันนั้น
จงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลาย จงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่งเถิด
อย่าได้มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”
๒๐. “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลาย
จำให้มั่นว่าสิ่งทั้งปวง มีความเสื่อม และสิ้นไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
๒๑. “พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดี
และเกียรติคุณของพระองค์ ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใด ไม่อาจกำหนดได้
ความดีนี่เอง ! ที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต”
๒๒. “สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุ
เมื่อเหตุดับ สิ่งนั้นย่อมดับไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้นในเบื้องต้น
ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น