ธรรมะ...หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ตอน ๑ ที่สุดแห่งสัจธรรม
เราเคยตั้งสัจจะ
จะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ในพรรษาปี ๒๔๙๕ เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดแห่งสัจธรรม หรือที่สุดของทุกข์นั้น
อยู่ตรงไหน พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร
ครั้นอ่านไป
ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ ก็ไม่เห็นตรงไหนที่สัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเราให้ตัดสินใจได้ว่า
นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งมรรคผลหรือที่เรียกว่า นิพพาน
มีอยู่ตอนหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ
พระพุทธเจ้าตรัสเชิงสนทนาธรรมว่า
“สารีบุตร
! สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก อะไร ? เป็นวิหารธรรมของเธอ”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า "ความว่างเปล่า
เป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์" (สุญฺญตา) พระพุทธเจ้าข้า
ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ
ที่มาสัมผัสจิตของเรา
ตอน ๒ ผู้ประมาทไม่ได้รับรสชาติศาสนา
ผู้จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว จำพระธรรมได้มากมาย พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง
มีคนเคารพนับถือมาก ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย
หรือสามารถอธิบายถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม
แต่ถ้ายังประมาทอยู่
ก็นับว่ายังไม่ได้รสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์
ก็เป็นประโยชน์ภายนอก คือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น
เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนวัตถุ
ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น คือ
ความพ้นทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ต่อเมื่อรู้ "จิตหนึ่ง"
ตอน ๓ รีบปฏิบัติให้ถูกทาง
คำสอนทั้ง
๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง
คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย ก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางดับทุกข์ได้มีทางเดียว
คือพระนิพพาน
การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป
เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ทันในชาตินี้ แล้วจะต้อง "หลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน" เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้
ดังนั้น
เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้พ้นเสีย มิฉะนั้น
จะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่า "เมื่อสัจธรรมถูกลืม
ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ ให้อยู่กองทุกข์สิ้นกาลนาน"
ตอน ๔ ปัญญาอริยมรรค
ปัญญาภายนอก คือปัญญาสมมติ ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้
ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรค จึงเข้าถึงพระนิพพานได้
ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ เช่น ไอสไตน์ มีความรู้มาก มีความสามารถมาก
แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว แต่ไอสไตน์ไม่รู้จักนิพพาน
จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้
จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้น จึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม
เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน
ตอน ๕ ธรรมทั้งหลายออกจากจิต
ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น ต้องมีความเพียรอย่างมาก และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการ "จบหลักสูตรฝ่ายปริยัติ และต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก"
ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น ต้องมีความเพียรอย่างมาก และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการ "จบหลักสูตรฝ่ายปริยัติ และต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก"
การสนใจทางปริยัติอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้
ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย
พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด
"ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต"
ตอน ๖ ปุถุชนกับมรรคผลนิพพาน
มรรคผลนิพพาน
เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ
รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง
หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่รํ่าไป
แม้จะมีผู้อธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่
สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน
ยกตัวอย่างเช่น
"เต่ากับปลา" เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในนํ้า ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือในนํ้า
ขืนมาบนบกก็ตายหมด
วันหนึ่ง
เต่าลงไปในนํ้าแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟังว่า มันมีแต่ความสุขสบาย
แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในนํ้า
ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ
และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า "บนบกลึกมากไหม"
? เต่าว่า
มันจะลึกอะไร ก็มันบก
เอ ! บนบกนั้น "มีคลื่นมากไหม ?" มันจะมีคลื่นอะไร ก็มันบก
เอ ! บนบก "มีเปือกตมมากไหม ?" มันจะมีเปือกตมอะไร ก็มันบก
ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม
เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในนํ้าถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ "จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน
ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา"
อุปนิสัยหรือคุณธรรม
ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง
แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี
แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมาก็ยากที่จะได้เห็นท่านแสดงอาการหมองคลํ้า หรืออิดโรย
หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดให้เห็น ท่านมีปรกติสงบเย็น เบิกบานอยู่เสมอ มีอาพาธน้อย
มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เผลอคล้อยตามไปตามคำสรรเสริญ
หรือคำตำหนิติเตียนใดๆ
ทางกาย มีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว
สมสัดส่วนสะอาดปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงนํ้าอุ่นวันละครั้งเท่านั้น
ทางวาจา เสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง
ปราศจากมายาทางคำพูด คือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด
ไม่พูดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดก
หรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น
ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว ต้องทำจนสำเร็จ
มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยมเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม
ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิด หรือรำคาญ
ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท
รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์
ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นใดครอบงำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น