วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สนทนาภาษาธรรม ตอน ๒ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล



สนทนาภาษาธรรม ตอน ๒
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล(พระราชวุฒาจารย์)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์)


พระลูกศิษย์เล่าถวายหลวงปู่ว่า :  ได้สมาทานไม่พูดจากันตลอดพรรษา ไม่ให้มีเสียงเป็นคำพูดออกมาจากปากใครเลย ยกเว้นการสวดมนต์ ทำวัตร หรือสวดปาติโมกข์เท่านั้น
หลวงปู่ : ดี เหมือนกัน เมื่อไม่พูดก็ไม่มีโทษทางวาจา แต่ที่ว่าหยุดพูดได้นั้นเป็นไปไม่ได้หรอก นอกจากพระอริยบุคคลผู้เข้านิโรธสมาบัติชั้นละเอียดดับสัญญาเวทนาเท่านั้น แหละที่ไม่พูด นอกนั้นพูดทั้งวันทั้งคืน ยิ่งพวกที่ตั้งปฏิญาณว่าจะไม่พูดนั่นแหละ ยิ่งพูดมากกว่าคนอื่น เพียงแต่ไม่ออกเสียงให้คนอื่นได้ยินเท่านั้น

พระลูกศิษย์กราบเรียน : หลวงปู่ครับ หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้วครับ
หลวงปู่ : เออ ! ท่านอาจารย์ขาว ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขาร ต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ เราไม่มีวิบากของสังขาร เรื่องวิบากของสังขารนี้ แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่ตามปรกติสภาวะของจิตนั้น มันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้ว เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นย่อมละ และระงับได้เร็ว ไม่กังวล ไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้อง กับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง
ถาม : เมื่อลงมือนั่งภาวนา ก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกได้หมด จิตหมดความวุ่นวาย จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งลงสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้ นานเท่าไรก็ได้
หลวงปู่ : เออ !  ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรค ที่จะตัดภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ ๕  ให้แจ่มแจ้งต่อไป
ถาม  :  ทำอย่างไร ? จึงจะตัดความโกรธ ให้ขาดได้
หลวงปู่ : ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง
ถาม หลวงปู่ยังมีโกรธอยู่ไหมครับ ?
หลวงปู่ :  มี แต่ไม่เอา
ถาม : หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลา ได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลใหญ่โตทีเดียว
หลวงปู่ : ที่เราสร้างนี่ ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม  ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญ เราจะเอาบุญอะไรอย่างนี้
ถาม :  คำกล่าวหรือการเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็น หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหล่าง และฮวงโป เป็นต้น
หลวงปู่ : สัจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้น นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้น ที่ตนเองไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้อง และสมบูรณ์ที่สุด นำเผยแผ่ออกไปอีก โดยไม่คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติด ในอักขระพยัญชนะตัวใดเลย แม้แต่น้อยนิดเดียว
ถาม : พุทโธเป็นอย่างไร ? ครับหลวงปู่
หลวงปู่ :  เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆ เข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆให้มันออกมาจากจิตของเรา ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกมาจากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรม พุทโธ พุทโธ อยู่นั่นแหละ แล้วเราจะได้รู้จักว่าพุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็รู้เองเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย.
หลวงพ่อเบธ : กระผมได้บำเพ็ญสมาธิภาวนามานาน จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานานๆ ครั้นถอยจากสมาธิออกมา บางทีก็เกิดความรู้สึกเอิบอิ่มอยู่เป็นเวลานาน บางทีเกิดความสว่างไสว เข้าใจสรรพางค์กายได้อย่างครบถ้วน แล้วมีอะไร? ที่ต้องปฏิบัติต่อไปอีกครับ
หลวงปู่ : อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละ มาตรวจสอบจิต แล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมด อย่าให้เหลืออยู่
หลวงพ่อเบธ : การปล่อยวางอารมณ์นั้น ทำได้เพียงชั่วครั้ง ชั่วคราว หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจให้อยู่ได้เป็นเวลานานได้
หลวงปู่ :  แม้ที่ว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจิตไม่ดีหรือสติไม่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่า ละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียดก็ได้ จึงต้องหยุดความคิดทั้งปวงเสีย แล้วปล่อยจิตให้ตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรเลย
ถาม จิตปรุงกิเลส หรือว่ากิเลสปรุงจิต ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร ?
หลวงปู่ :  จิตปรุงกิเลส คิอ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบาก แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเรา ของเขา
กิเลสปรุงจิต คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามา ทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมัน แล้วยึดว่ามีตัว มีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่รํ่าไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น