วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่...หลวงปู่ดูลย์ อตุโล





อุบายธรรมคำสอน
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
 
อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่ ๑

ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือมีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีล ที่มีอยู่ในพระคำภีร์ว่า ตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่ ๒

 บุคคลไม่ควรเศร้าโศกอาลัยถึงสิ่งนอกกายทั้งหลาย(ความตายของบุคคลผู้เป็นที่รัก) ที่มันผ่านพ้นไปแล้ว มันหมดไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้น มันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้อง โดยสมบูรณ์ที่สุดแล้ว

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่  

เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็จะหมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น
จิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดก็หลง หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกาย และทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกาย อาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง
ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นจากโทษทั้งสองทาง ความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่  

ให้ทำความเข้าใจกับสภาวะธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง สลายไป อย่าทุกข์โศก เพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่ ๕

 บุคคลเมื่อปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้ว และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกตํ่าทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่นเหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ควรเรียกได้ว่า "เป็นภิกษุแท้"

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่ ๖ 

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฎฐิ และเมื่อมีทิฎฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน เมื่อไม่เห็นตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่รํ่าไป สำหรับพระอริยเจ้าผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรสำหรับมาโต้แย้งกับใคร ใครมีทิฎฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป  

อุบายธรรมคำสอนหลวงปู่ ๗

   ขอให้ท่านทั้งหลาย ผู้มาปฏิบัติธรรมที่ยังเสียดายในความสุขสนุกเพลิดเพลินทางโลก  จงสำรวจดูความสุขว่า ตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต
ครั้นสำรวจดูแล้ว มันก็แค่นั้นแหละ ! แค่ที่เราเคยพบมาแล้วนั่นเอง  ทำไม ? จึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มีในโลกนี้ มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซํ้าๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่รํ่าไป
มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัย หาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย


ธรรมโอวาทสอนคณะพระธรรมทูต
     
ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมศาสนา และทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้ เพราะองค์พระธรรมทูตนั่นแหละ ! ตัวสำคัญ คือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตรงดงามตามสมณวิสัย ผู้ที่ได้พบเห็นหากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีก
ส่วนองค์ที่มีความประพฤติ และวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลยก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีก จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้ และความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้น ให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น