สนทนาภาษาธรรม ตอน ๑
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์)
(ท่านมีอายุได้ ๙๐ ปี ขณะเข้าพักพระตำหนักทรงพรต
วัดบวรนิเวศน์ กรุงเทพมหานคร)
ถาม
:
พุทโธ เป็นอย่างไร ? ครับหลวงปู่
หลวงปู่
: เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลาย อย่าไปยึด
ความรู้ที่เราเรียนกับตำราหรือครูอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ ออกให้หมด
แล้วเวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานี่แหละ จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง
ต้องภาวนาให้มากๆ เข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง แล้วก็ความรู้อะไรๆ
ให้มันออกมาจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ
เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้จากจิตเองนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว แต่ก่อนภาวนา ก็อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต
และก็ให้จิตภาวนาเอาเอง ไม่ต้องบริกรรมทางปาก ให้จิตเป็นผู้บริกรรม พุทโธ พุทโธ
อยู่นั่นแหละ เกิดครั้งเดียวเท่านั้น และพุทโธ(ผู้รู้) นั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา
เราจะได้รู้จักว่าพุทโธนั้นเป็นอย่างไร
แล้วก็รู้เองเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย ภาวนาให้มากๆเข้า ในอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน อะไรๆ
ทำให้หมดเลย บริกรรมพุทโธ ให้จิตว่าเอาเอง ว่านานๆ ไป จิตของเราติดอยู่กับพุทโธนั้นแล้วไม่ลำบาก มันจะว่าเอาเอง ถ้ามันติดกับพุทโธแล้วนะ
นั่นแหละ มันใกล้จะเป็นสมาธิแล้ว
ถ้าเป็นสมาธิแล้ว
เราก็กำหนดสมาธิของเราอยู่นั่นแหละ เออ ! จิตมันเป็นสมาธิ มันเป็นอย่างนั้นๆ แล้วเราก็รู้เอง
เข้าไปรู้อยู่ในสมาธินั่น สมาธิสูงสุดอยู่ตรงนั้น คือจิตมีอารมณ์เดียว
จิตไม่ฟุ้งซ่าน ตัวจริงมันอยู่ตรงนั้น เรารู้อะไร เรารู้จากจิตของเราเอง
เรารู้ถึงความบริสุทธิ์ของเราเลย นอกจากนั้นไม่มีอะไร แต่เราต้องพยายามให้มากๆ เข้า
ก่อนจะนอนหรือลุกจากที่นอน
เราต้องทำเสียก่อน ทำแล้วก็นั่งให้นานๆ เวลามันจะเป็น มันจะรู้เองดอก
แต่ถ้ายังไม่เป็น บอกเท่าไร มันก็ไม่รู้ รู้จากจิตของเรานะ รู้ถึงความบริสุทธิ์ของเราเลย
รู้ถึงความเป็นจริงเท่านั้นเองไม่มีอะไรมากมาย มีเท่านั้น รู้จากจิตที่เป็นสมาธิ
รู้ถึงความเป็นจริงแล้ว
เราก็หมดความสงสัยในพระพุทธศาสนา รู้ไม่ถึงความเป็นจริง ก็ไม่หมดความสงสัยดอก
ศาสนาเป็นอย่างไร เรารู้ของเราเอง อย่าปล่อยให้มันปรุงแต่งมากนัก ข้อสำคัญให้รู้จักจิตของเราเท่านั้นเอง เพราะว่า "จิต คือตัวหลักธรรม(อริยสัจ๔)
นอกจากจิตแล้ว ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย"
ถาม : การภาวนาเข้าไปเห็นจิตผู้รู้นั้น
ทำอย่างไรครับ
หลวงปู่
: ทำให้มากๆ ทำให้บ่อยๆ
ถาม
: เห็นจิตครั้งเดียวนี้
ใช้ได้ไหมครับ
หลวงปู่
: เห็นครั้งเดียวถ้าชัดเจนแล้วไม่ลืม ทำให้ชำนาญ
เมื่อเกิดความสงบแล้ว ก็พิจารณาความสงบ หัดเข้า หัดออกให้ชำนาญ เมื่อเวลาภาวนา
จิตสงบแล้ว พิจารณารู้ว่าเป็นอย่างนี้ๆ เมื่อถึงเวลาคับขัน สิ่งที่พร้อมอยู่แล้ว
มันก็ย่อมเป็นไปเอง ก็มีเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากมาย
ถาม : ในเวลาคับขันเกิดจะตายขึ้นมากะทันหัน
และเราเข้าสมาธิไม่ทัน จะทำอย่างไรครับ
หลวงปู่
: นั่นแหละ ต้องหัดเข้าให้ชำนาญ
ถ้าชำนาญแล้วอะไรมาปิดบังไม่ได้หรอก
ถาม
: หลวงปู่ครับ
ความสงบนั้นเราจะทำอย่างไร ให้มีตลอดไป
หลวงปู่
: ความสงบรึ ? ภาวนานั่นเอง ภาวนาให้จิตเกิดความสงบ
ถาม
: การงดเว้นจากการทำภาวนา
จิตเราจะเสื่อมไหมครับ
หลวงปู่
: ถ้าหากเรารู้ถึงความเป็นจริงแล้ว ไม่เสื่อม
ถ้ารู้ไม่ถึงความเป็นจริง มักจะเสื่อม
ถาม
: คิดๆ ไป ทั้งที่คิดไปเห็น แต่กลับไม่เห็นอีก
หลวงปู่
: มันจะเห็นมาจากไหน ไปหาให้มันเห็น มันไม่เคยให้ใครเห็นหรอก
เลิกหา เลิกคิด ของเก่าที่เคยเห็น ทำเอาใหม่ ให้เลิกอยากรู้ อยากเห็นของเก่า
ทำใหม่อีก มันก็เกิดใหม่อีก อย่าไปยึดสิ่งที่เคยเป็นแล้ว เกิดใหม่อีก ทำใหม่อีก
ดูแต่จิตอย่างเดียว อะไรๆ ออกจากจิตอย่างเดียวเท่านั้น
ถาม : ดูจิตแล้วเห็นปรุงแต่งเรื่องราวมากมาย
ไม่ชนะ จะตามดับมัน
หลวงปู่
: ต้องลำบากไปตามดับมันทำไม ดูแต่จิตอย่างเดียว
มันก็ดับไปเอง มันออกไปปรุงแต่งข้างนอก มันเกิดจากต้นตอที่จิตทั้งนั้น
หาแต่ต้นตอให้พบ ก็จะรู้แจ้งหมด อะไรก็ไปจากนี้ อะไรๆ ก็มารวมอยู่ที่นี้ทั้งหมด (ท่านพูดพลางเอาหัวแม่มือชี้ที่หน้าอก)
สิ่งที่ได้รู้ได้เห็น แล้วอยากรู้อยากเห็นอีก นั่นแหละคือตัวกิเลส
ถาม
: เมื่อถึงโลกุตตระแล้ว
มีเมตตา กรุณาอะไร ? ไหมครับ
หลวงปู่
: ไม่มีหรอกความเมตตากรุณา จิตอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่ในโลกทั้งหมด จิตสูงสุดหลุดพ้น
อยู่เหนือโลกทั้งหมด
ถาม
: ไม่มีเมตตาหรือครับ
หลวงปู่
: มีก็ไม่ว่า ไม่มีก็ไม่ว่า เลิกพูด เลิกว่า
เลิกอะไรๆ ทั้งหมด มันเป็นเพียงคำพูดแท้ๆ ให้ดูจิตอย่างเดียวเท่านั้น
ความเป็นจริงแล้ว เป็นแต่เพียงคำพูด "สลัดทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นมายาออกเสีย ตัวผู้ที่รู้
และเข้าใจอันนี้แหละคือตัวพุทธะ" หมดภารกิจ หมดทุกอย่าง ที่จะทำอะไรต่อไปอีก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
รวมลงอยู่ที่นี่จบอยู่ที่นี่ ไม่มียาวต่อไปอีก ไม่มีเล็ก ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง
ไม่มีชาย ไม่มีคำพูด มีแต่ความว่างเปล่า ว่างเปล่า... และบริสุทธิ์
(เสียงระฆังวัดบวร
ฯ ทำวัตรเย็นดังขึ้น รับประโยคสุดท้ายของหลวงปู่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น