วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปัญญาอบรมสมาธิ...หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน



ปัญญาอบรมสมาธิ
(หลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปันโน)

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล เป็นรั้วกั้นความคะนองทางกาย วาจา ศีลเป็นธรรมคุ้มครองโลก ให้อยู่เย็นเป็นสุข  
สมาธิ คือ ความสงบ หรือความตั้งมั่นของใจ จึงเป็นข้าศึกต่อความคะนองของใจ ที่ไม่อยากรับ ยา คือ กรรมฐาน เข้ามากำกับใจ 
กรรมฐาน มี ๔๐ ห้อง ตามจริตนิสัยของบรรดาสัตว์ ไม่เหมือนกัน มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัตถาน ๑ และอรูป ๔
ที่ใช้กันโดยมาก และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นที่พึงพอใจ คือ "อาการของกาย ๓๒" กรรมฐาน ๕  มีเกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทนฺตา (ฟัน) ตโจ(หนัง) หรือพุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ฯลฯ หรืออานาปานสติ(ระลึกลมหายใจเข้าออก) บทใดก็ได้ ตามแต่จริตชอบ เพราะนิสัยไม่เหมือนกัน จะใช้กรรมฐานอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นการขัดต่อจริต ไม่ได้ผลเท่าที่ควร  
เมื่อปฏิบัติในกรรมฐานบทใดแล้ว อย่าพะวักพะวนในกรรมฐานบทอื่นๆ จะเป็นความลังเลสงสัย และเป็นอุปสรรค จงตั้งใจทำ ด้วยความมีสติจริง ๆ อย่าเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้นอกไปจากใจ เพราะกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อยู่ที่ใจ ใครไม่ได้เรียงรายเขา เมื่อคิดไปทางผิด มันก็เกิดกิเลสขึ้นมาที่ใจดวงนั้น กิเลสตัวไหนจะมาก่อนมาหลังเป็นไม่เสียผล ทำให้เกิดความร้อนได้ทั้งนั้น วิธีการแก้กิเลสอย่าคอยให้ศีลไปก่อน สมาธิมาที่สอง ปัญญามาที่สาม นี่เรียกว่า ทำสมาธิเรียงแบบ เป็นอดีต อนาคตเสมอไป  หาความสงบสุขไม่ได้ตลอดกาล
ปัญญา(วิปัสสนา) นำมาใช้ในทางที่ถูก และราบรื่นของผู้ปฏิบัติ ก็คือเมื่อจิตได้รับความสงบพอเห็นทางแล้ว ต้องฝึกหัดจิตให้คิดค้นในอาการ ๓๒ ของกาย จะเป็นอาการเดียว หรือมากอาการก็ตาม ด้วยปัญญาคลี่คลายดูกายของตน เริ่มตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า ๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ตามปกติ เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดตลอดเวลา ไม่มีอวัยวะส่วนใด จะสวยงามตามโมหนิยม มีชีวิตอยู่ก็เป็นสิ่งปฏิกูล ตายแล้วยิ่งเป็นมากขึ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล หญิง ชาย มีความเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ในโลกนี้เต็มไปด้วยของอย่างนี้ หาสิ่งที่แปลกกว่านี้ไม่
   อนิจฺจํ ไม่เที่ยงก็กายอันนี้ ทุกฺขํ ความลำบากก็กายอันนี้ อนตฺตา ปฏิเสธความประสงค์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็กายอันนี้  สิ่งที่ไม่สมหวังทั้งหมด  ก็อยู่ที่กายอันนี้
เรื่องในโลกทั้งหมด เป็นเรื่องเพื่อกายอันเดียวนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณากายพร้อมทั้งเรื่องของกายให้แจ้งประจักษ์กับใจ ด้วยปัญญาอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันหยุดยั้ง กิเลสจะยกกองพลมาจากไหน ใจจึงจะสงบลงไม่ได้ เมื่อปัญญาอ่านประกาศความจริงให้ใจฟังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจจะฝืนความจริงจากปัญญาไปไหน เพราะกิเลสก็เกิดจากใจ  ปัญญาก็เกิดจากใจ  เราก็คือใจจะแก้กิเลสด้วยปัญญาของเรา จะไม่ได้อย่างไร ? เมื่อปัญญาเป็นไปในกายอยู่อย่างนี้  จะไม่เห็นแจ้งในกายอย่างไรเล่า ?
การที่จิตใช้กล้องคือ ปัญญา ท่องเที่ยวในเมือง กายนคร ย่อมเห็น กายนคร ของตน ของคน และสัตว์ทั่วไปได้ชัด ตลอดจนทางสามแพร่ง คือ ไตรลักษณ์  อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  และทางสี่แพร่ง คือ ธาตุสี่  ดิน น้ำ  ลม ไฟ ทั่วทั้งตรอกของทางสายต่าง ๆ คือ อาการของกายทุกส่วน พร้อมทั้งห้องน้ำ ครัวไฟ (ส่วนข้างในของร่างกาย)แห่งเมืองกายนคร จัดเป็น โลกวิทู ความเห็นแจ้งในกายนคร ทั่วทั้งไตรโลกธาตุก็ได้ด้วย ยถาภูตญาณทัสสนะ ความเห็นตามเป็นจริง ในกายทุกส่วนหมดความสงสัย ในเรื่องของกายที่เรียกว่า รูปธรรม
ส่วน นามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า แต่ละเอียดไปกว่ารูปขันธ์ คือกาย  ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่รู้ได้ทางใจ ได้แก่ 
เวทนา คือ สิ่งที่จะต้องเสวยทางใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉย ๆ บ้าง
สัญญา คือ ความจำ เช่น จำชื่อ จำเสียง จำวัตถุสิ่งของ จำบาลีคาถา เป็นต้น
สังขาร คือความคิด ความปรุง เช่น คิดดี คิดชั่ว คิดกลาง ๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว หรือ ปรุงอดีต อนาคต เป็นต้น  
วิญญาณ ความรับรู้ คือ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น  รส เครื่องสัมผัส และธรรมารมณ์ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นอาการของใจ ออกมาจากใจ รู้ได้ที่ใจ และเป็นมายาของใจด้วย ถ้าใจยังไม่รอบคอบ จึงจัดว่าเป็นเครื่องปกปิดความจริงได้ด้วย การพิจารณานามธรรมทั้งสี่ ต้องพิจารณาด้วยปัญญา โดยทางไตรลักษณ์ล้วน ๆ เพราะขันธ์เหล่านี้  มีไตรลักษณ์ประจำตน  ทุกอาการที่เคลื่อนไหว  
ขันธ์ และไตรลักษณ์หนึ่ง ๆ เป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงกัน จะพิจารณาเพียงขันธ์ หรือไตรลักษณ์เดียว ก็เป็นเหตุให้ความเข้าใจหยั่งทราบไปในขันธ์ และไตรลักษณ์อื่น ๆ ได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพิจารณาไปพร้อมๆ กัน เพราะขันธ์ และไตรลักษณ์เหล่านี้ มีอริยสัจเป็นรั้วกั้นเขตแดนรับรองไว้แล้ว เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารลงในที่แห่งเดียว ย่อมซึมซาบไปทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่รับรองไว้แล้ว ฉะนั้น ธรรมเหล่านี้ไม่มีเจ้าของ ประกาศตนอยู่อย่างอิสระเสรีตลอดกาล
อย่าได้ประมาทนอนใจ ธรรมเทศนาที่แสดงขึ้นจากขันธ์ เมื่อสภาวธรรมประจักษ์ใจขึ้นมาด้วยปัญญาว่า แม้ขันธ์ทั้งมวล และสภาวธรรมทั่วไป ตลอดไตรโลกธาตุ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของเขาอย่างนั้น ไม่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นกิเลสตัณหา  ตามโมหนิยมแต่อย่างใด
ขันธ์ และสภาวธรรมทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ไม่มีความผิด และไม่ได้เป็นกิเลสบาปธรรมแต่อย่างใด แต่พลอยเป็นเรื่องไปด้วย เพราะ จิตผู้ฝังอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ไม่รู้ตัวว่า อวิชชา คือ ใคร ? อวิชชากับจิต จึงกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เป็นจิตหลงไปทั้งดวง เที่ยวก่อเรื่องรัก เรื่องชัง ฝังไว้ตามธาตุขันธ์ คือ ตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตามตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ และฝังรัก ฝังชัง ไว้ตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดไตรโลกธาตุ
เมื่อสติปัญญาที่ได้ฝึกซ้อมเป็นเวลานาน จนมีความสามารถเต็มที่ ได้แผ่วงล้อม และฟาดฟันเข้าไปตรงจุดใหญ่ คือ ผู้รู้ที่เต็มไปด้วยอวิชชาอย่างไม่รีรอ เมื่ออวิชชาเจ้าผู้ปกครองนครวัฏฏะตายไปแล้ว ก็ไม่มีอะไร
อวิชชา คือความรู้โกหกดับอันเดียวเท่านั้น โลก คือสภาวะทั่วๆ ไปก็กลายเป็นปกติธรรมดา ไม่มีใครจะไปตำหนิติชมให้เขาเป็นอย่างไร ต่อไปได้อีกแล้ว ใจมีอิสระเสรีในการนึกคิดไตร่ตรอง  รู้เห็นในสภาวธรรมที่เกี่ยวกับใจได้อย่างสมบูรณ์ ตา หู จมูก ฯลฯ และรูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ก็กลายเป็นอิสระเสรีในสภาพของเขาไปตามๆ กัน ไม่ถูกกดขี่บังคับหรือส่งเสริมใดๆ จากใจอีกเช่นเคยเป็นมา  
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าสอนให้ "โอปนยิกะ" คือ น้อมเข้ามาสู่ตัวทั้งนั้น และอย่าพึงเห็นว่า ศาสนธรรมเป็นอดีต อนาคต ไปอยู่กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว และไปอยู่กับคนที่ยังไม่เกิด  พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนตายแล้ว และไม่สอนคนที่ยังไม่เกิด จงเห็นว่า พระองค์สอนคนเป็น คือ ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พวกเราทั้งหลาย สมกับพระพุทธศาสนาเป็นปัจจุบัน ทันสมัยตลอดกาล






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น