วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เซ็น...คำสอนฮวงโป ตอน ๑ ...พุทธทาสภิกขุ



เซ็น...จากคำสอนฮวงโป ตอน ๑
(พุทธทาสภิกขุ)

เซ็น ได้จัดตัวเองไว้วงนอกมหายาน เพราะสอนไม่เหมือนมหายานต่างๆ ที่มีอยู่ก่อน และมีลักษณะขัดแย้ง ล้อเลียนอยู่ในตัว แต่โดยปกติถูกจัดอยู่ฝ่ายมหายาน เพราะมุ่งหมายพาคนทั้งหมดไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งแตกต่างไปจากเถรวาท แต่ก็ขนสัตว์ข้ามฝั่งไปได้น้อยกว่าหินยานหรือเถรวาท
เรียกว่า เซ็น ตามสำเนียงญี่ปุ่น เรียกว่า ฌาน  ตามสำเนียงจีน  และเรียกว่า ธฺยาน ตามสำเนียงสันสกฤต
เซ็น แปลว่า เพ่ง แต่มิได้หมายถึงการเพ่งอารมณ์ให้เกิดสมาธิแบบสมถะ และมิได้เพ่งลักษณะให้เกิดญาณแบบวิปัสสนาญาณอีกด้วย ทั้งนี้ เพียงต้องการให้จิตเข้าถึงธรรมชาติ ตามธรรมชาติเดิมของมันเท่านั้น
โดยที่จิตชนิดนี้ จะหยุด จะว่าง จะสงบ จะไม่ทุกข์ และอะไรอื่นๆ ทุกอย่าง ตามธรรมชาติเดิมของมัน  การเพ่งแบบนี้จึงเป็นเพียงการแทรกตัวเข้าไปในธรรมชาติ ตามวิธีของธรรมชาติล้วนๆ  โดยการช่วยเหลือหรือบันดาลจากธรรมชาติ  ไม่ใช่ด้วยปัญญาของมนุษย์ที่แสนจะเพ้อเจ้อนั้นแต่อย่างใด
เลิกเป็นคนโง่ และคนฉลาดเสียเท่านั้น เซ็น ก็จะโพล่งออกมาจากหน้าผากของผู้นั้น  ธรรมชาติอันบริสุทธิ์นี้  มิใช่เป็นของคนโง่หรือคนฉลาด เช่นเดียวกับความว่างนั้นเหมือนกัน  แม้ผู้บรรลุธรรมนี้แล้ว  ก็ไม่รู้สึกตัวว่า เป็นคนโง่หรือคนฉลาดเลย เขาไม่รู้สึกว่าเป็นอะไร  หรือไม่มีอะไรนอกจากความว่าง ที่ปรากฏอยู่ตลอดอนันตกาล
ว่างจากปัญญาและความโง่  ว่างจนไม่มีชื่อจะเรียกอะไร คือว่าง จากความว่างอีกต่อหนึ่ง (ตรงกับ อนัตตา สุญญตา ของเถรวาท)
ก่อนเกิดมีสิ่งทั้งปวง ก่อนเกิดสังสารวัฏ และนิพพาน จิตหนึ่งนี้ (คือจิตเดิมแท้, พุทธะ) มีอยู่แล้ว อยู่ที่หน้าผากของเราเอง ผู้ไม่เคยส่องกระจก แล้วไปค้นหาที่อื่น และทำการปฏิบัติแบบอื่นๆ อีกมากมาย เป็นความบ้าหลังเปล่าๆ  นี้คือใจความสำคัญว่า การตรัสรู้ฉับพลัน หรือการเดินทางลัด
จิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง ธาตุหนึ่ง พุทธะหนึ่ง หรืออะไรหนึ่งๆ คืออย่างเดียวทั้งนั้น สัตว์ทั้งหลาย ถูกกิเลสห่อหุ้มปรุงแต่ง จิตเดิมแท้หรือจิตหนึ่ง จึงไม่ปรากฏแก่เขา ทั้ง ๆ ที่กิเลสก็เป็นสิ่งเดียวกับจิตเดิมแท้ (จิตหนึ่ง)
สัตว์ทั้งหลาย เป็นสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่เป็น จิตหนึ่ง หรือเป็น พุทธะ(ผู้รู้)อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอะไรอีก นอกจากเห็นตนเป็นพุทธะอยู่แล้ว และหาพุทธะให้พบ  เหมือนหาของที่ติดอยู่ที่หน้าผากตนเอง
พุทธะ และสิ่งทั้งปวง คือจิตหนึ่ง หรือออกมาจากจิตหนึ่ง และจิตหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่พุทธะ และมิใช่สัตว์ทั้งหลาย  ถ้าจิตผู้ปฏิบัติตกไปในฝ่ายรูปธรรม หรือยึดรูปธรรมเป็นหลักแล้ว ทางของพุทธะก็เป็นอันตราย เท่ากับทางของมารโดยเท่ากัน เพราะฉะนั้นพุทธะกับมารย่อมเป็นของเท่ากัน หรือสิ่งเดียวกัน  ถ้าเข้าถึงความจริงแท้แล้ว พุทธะก็ไม่มี มารก็ไม่มี
ถ้าไม่คิดปรุงแต่งที่หลงผิด เนื่องจากหลงต่อคติทวินิยมแล้ว  จะไม่เห็นว่ามีอะไรเป็นคู่เลย และเห็น "จิตหนึ่ง" นั้นทันที
สิ่งคู่ทั้งหลาย เช่น ดี-ชั่ว, สุข-ทุกข์, บุญ-บาป, ดำ-ขาว, หญิง-ชาย, มี-จน ฯลฯ ถ้ามองให้ลึกถึงความจริงแล้ว  มันเป็นเพียงสังขารธรรมหรือมายา  เมื่อไม่รู้สึกเป็นคู่ ก็ไม่รู้สึกรักทางหนึ่ง และเกลียดในทางตรงกันข้าม  ความคิดปรุงแต่งก็ไม่มี  จิตก็เข้าถึงความว่าง หรือเข้าถึงจิตเดิมแท้ หรือจิตหนึ่งนั่นเอง
ความคิดปรุงแต่งนั้น เจือด้วยอุปาทาน หรือความยึดถือในของคู่ๆ หรือคติทวินิยมนั่นเอง  ถ้าไม่หลงในของคู่ อุปาทานก็ไม่เกิด คือกิเลสตัณหาไม่เกิดนั่นเอง สภาพของจิตเดิมแท้ จะปรากฏออกมาเป็นความว่างจากกิเลส หรืออุปาทานโดยประการทั้งปวง
จิตที่คิดปรุงแต่งนั้น ไม่ใช่จิตแท้ มันเป็นมายาเท่ากับสิ่งทั้งปวง  เมื่อจิตที่คิดปรุงแต่งกำลังมีอยู่ หรือทำหน้าที่อยู่ จิตหนึ่ง(จิตเดิมแท้) จะไม่ปรากฏเลย เมื่อใดไม่มีความคิดปรุงแต่ง จิตหนึ่งก็จะปรากฏทันที  เรียกว่า จิตเข้าหาความว่าง ตัวเองหาย กลายเป็นความว่าง เป็นจิตหนึ่งไป
สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง หรือจิตเดิมแท้ก็ตาม หาใช่จิตไม่ เป็นเพียงธรรมชาติเดิมแท้ของสิ่งทั้งปวง แต่ก่อนจะมีสิ่งทั้งปวง แล้วยังคงมีตลอดเวลา พร้อมกับสิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นเพียงมายาของจิตหนึ่งเท่านั้น มีความหมายเท่ากับความว่างจากสิ่งทั้งปวงอีกต่อหนึ่ง
สรุปได้ว่า การปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงสิ่งสูงสุด(นิพพาน)นี้  คือไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะมันอยู่ที่หน้าผากของตัวเราเอง หรืออยู่กับเนื้อกับตัวแล้วตลอดเวลา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น