สนทนาภาษาธรรม ตอน ๓
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์)
วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์)
หลวงตาพลอย
: กระผมบวชมานานพอสมควรแล้ว
ยังไม่อาจตัดห่วงอาลัยในอดีตได้ แม้ตั้งใจอย่างไรก็ยังเผลอจนได้
ขอทราบอุบายวิธีอย่างอื่น จากหลวงปู่ เพื่อเป็นแนวการปฏิบัติต่อไป
หลวงปู่
: อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ถ้าเผลอ
เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา อย่าปล่อยให้มันรู้อารมณ์ดีชั่ว สุขหรือทุกข์
ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ
ถาม
: ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ
ที่กระผมจำจากตำรา และฟังครูสอนนั้น
จะตรงกับเนื้อหาตามที่หลวงปู่เข้าใจหรือไม่ครับ
หลวงปู่
: ศีล คือ ปรกติจิตที่อยู่อย่างปราศจากโทษ
เป็นจิตที่มีเกราะกำบังป้องกันการกระทำชั่วทุกอย่าง สมาธิ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรักษาศีล คือ จิตที่มีความมั่นคง
มีความสงบเป็นพลังที่จะส่งต่อไปอีก ปัญญา ผู้รู้ คือ จิตที่ว่างเบาสบาย
รู้แจ้งแทงตลอดตามความเป็นจริงอย่างไร วิมุตติ คือ
จิตที่เข้าถึงความว่าง ความว่าง
คือ ละความสบาย เหลือแต่ความไม่มี ไม่เป็น ไม่มีความคิดเหลืออยู่เลย
ถาม
: พยายามหยุดคิดหยุดนึกตามที่หลวงปู่สอน
แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ซํ้ายังเกิดความอึดอัด แน่นใจ สมองมึนงง
แต่ก็ยังศรัทธาในคำของหลวงปู่สอนย่อมไม่ผิดพลาดแน่นอน
ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วยครับ
หลวงปู่
: ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว
เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิด ที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดคิด
จะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้น
เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสีย ก็สิ้นเรื่อง
ถาม
: การศึกษา และข้อวัตรปฏิบัติธรรม
หลวงปู่
: การศึกษาธรรม ด้วยการอ่านการฟัง
สิ่งที่ได้ก็คือ สัญญา การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ
สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือ ภูมิธรรม
ถาม
: ทำสมาธิภาวนามานานแล้ว
แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้
หลวงปู่
: ถึงจิตจะไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล
ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา
หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็จะเกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา
ความหน่าย คลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน
ถาม
: นั่งภาวนาแล้วเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้
แต่บางคนไม่เห็นอะไรเลย บางคนก็ภาวนา
เพื่อจะได้เห็นสิ่งที่ต้องการ
หลวงปู่
: การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด
เพราะการภาวนานั้น เพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมอย่างแท้จริง หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือจิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว
นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม
ถาม : ปรกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์
โดยลักษณาการอย่างไร ?
หลวงปู่
: การไม่กังวล การไม่ยึดถือ
นั่นแหละวิหารธรรมของนักปฏิบัติ
ถาม : แนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด
เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก
หลวงปู่
: ให้ดูจิต ดูที่จิต
ถาม : วิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ
ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด
หลวงปู่
: อย่าส่งจิตออกนอก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น