วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เซ็น...คำสอนฮวงโป ตอน ๒..พุทธทาสภิกขุ



 เซ็น...คำสอนฮวงโป ตอน ๒
(พุทธทาสภิกขุ)

เซ็นเป็นของสำหรับคนที่มี "จิตว่างจากปัญญาและความโง่" มันโชติช่วงอยู่ที่หน้าผากตลอดเวลา เพียงแต่ใช้กระจกมองดูมันเท่านั้น
ธรรมะอย่างเซ็นนี้ ปลุกจิตให้ตื่นออกมา ไม่เคยสอนให้แสวงหาด้วยการศึกษา หรือใช้ความคิดในรูปต่างๆ คำพูดที่ว่า การศึกษาเรื่องหนทาง ทางโน้นนั้น เป็นเพียงโวหารกล่าวทางบุคคลาธิษฐานเท่านั้น เพื่อเร้าความสนใจของบุคคลในขั้นแรกเริ่ม ของการดำเนินตามทางธรรมดาของเขาเท่านั้น
เมื่อแสวงหาความรู้จากคัมภีร์จนท่วมหัว และการปฏิบัติธรรม ยิ่งมีมากก็จะยิ่งสุมกองเป็นสิ่งกีดขวางให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าความรู้และสติปัญญาอันเฉลียฉลาดชนิดนั้น เกิดย่อยไม่ได้ขึ้นมา เหมือนกับเด็กทำตนให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย เพราะสวาปามกินเต้าหู้เข้าไปมากเกินไป มันก็กลับกลายเป็นพิษขึ้นมาได้ มันเป็นเครือเดียวกันกับสังสารวัฏ ความจริงมีเพียงอย่างเดียว คือความจริงที่ไม่ต้องรู้ หรือต้องลุถึง
พวกที่เว้นขาดจากร่องรอยของการปฏิบัติอย่างคว้าไปคว้ามา  เพราะติดแน่นอยู่กับความรู้ของตนทุกอย่างทุกชนิดเสียได้ และเว้นขาดจากการหวังพึ่งสิ่งใดๆ ทั้งหมดแล้วเท่านั้น  ที่จะสามารถเป็นผู้สงบจนถึงที่สุดได้
เรายังทำแบบเคว้งคว้างอยู่ตรงกลางระหว่างอย่างธรรมดา และอย่างตรัสรู้แล้ว ไม่กระโดดแผล็บเดียวให้ถึงพุทธเกษตร  มัวดันทุรังไปในทางที่จะเรียนให้ทั่ว จนถึงวิธีการต่างๆ ที่พวกคนโบราณตั้งไว้ เพื่อการมีความรู้อยู่ในระดับของการคิดปรุงแต่ง
ความปราศจากความคิดต่างๆ อย่างเด็ดขาดเรียกว่า ปรีชาของความมีจิตปกติ นักศึกษาเซ็นต้องไม่เอนเอียงไปในทางยึดถือเสียง และรูปทุกชนิด
ก่อนที่จะเกิดสิ่งทั้งปวง ก่อนที่จะเกิดสังสารวัฏ และนิพพาน  จิตหนึ่งนี้มีอยู่แล้ว คำว่า มี คือมีโดยไม่ต้องมี  "โพธิ" หมายถึง ความไม่มีแห่งความคิดว่า มีอยู่ หรือมิได้มีอยู่
พระพุทธเจ้าทรงมอบธรรมะแห่งจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่อาจแตกแขนงได้นี้แก่ พระมหากาศยปะ(พระมหากัสสปะ) เป็นพิเศษ มาจนกระทั่งทุกวันนี้ จิตได้ถูกถ่ายทอดด้วยจิตตลอดมา และจิตเหล่านี้ล้วนเป็นจิตๆ เดียวกัน การถ่ายทอดความว่างให้กัน ไม่สามารถทำได้โดยทางคำพูด ไม่มีธรรมที่ต้องอธิบายโดยคำพูดนั่นแหละ คือการเผยแพร่ธรรม
พระโพธิธรรมปรมาจารย์มาจากอินเดีย ท่านได้เผยแพร่ธรรม พูดถึงจิตหนึ่งนี้เท่านั้น คำว่าจิตหนึ่ง ธรรมหนึ่ง ธาตุหนึ่ง พุทธะหนึ่ง หรืออะไรๆ ก็หนึ่ง คืออย่างเดียวกันเท่านั้น
เมื่อใดความรู้สึกทางอายตนะเกิดขึ้น ก็จะพลัดตกไปสู่คติทวินิยม(ธรรมคู่) เมื่อนั้นปัญญาจะถูกปิดกั้นทันที จงสังเกตให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นอยู่จริง และอย่าไปสนใจกับคนอื่น ที่บางคนเหมือนสุนัขบ้าแท้ๆ มันเห่าทุกอย่างที่เคลื่อนไหว เห่ากระทั่งใบหญ้าใบไม้ที่กระดุกกระดิก เพราะถูกลมพัด
ธรรมกายที่แท้จริงของพุทธะ คือความว่าง เมืองแห่งธรรม(นิพพาน) ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยปัญญาหรือความรู้ อธิบายไม่ได้ด้วยคำพูด สัมผัสไม่ได้อย่างวัตถุ หรือมิอาจบรรลุถึงได้ด้วยบุญกุศลใดๆ  ไม่อาจใช้จิตแสวงหาจิต  ใช้พุทธะแสวงหาพุทธะ ใช้ธรรมแสวงหาธรรม  เมื่อใดรูปบัญญัติถูกเพิกถอนไปแล้วทั้งหมด นั่นแหละ ! คือพุทธะ และพุทธะก็คือธรรม
จิตเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการกระทำทั้งปวง  ปรากฏการณ์ทุกอย่างที่ปรากฏ เป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นของความคิด  เมื่อทำจิตให้ว่าง  ก็จะพบความจริงว่า ทุกสิ่งทั้งหมดเป็นของว่างจริงๆ
ความมี ความเป็น นานาชนิดที่ปรากให้เห็นว่ามันเป็นต่างๆ กัน  มันเป็นเพราะความสำคัญมั่นหมายของเราเอง  ไปทำให้รู้สึกต่อสิ่งภายนอกว่าต่างกัน ทำนองเดียวกันกับสีสันต่างๆ
สิ่งใดเป็นรูป สิ่งนั้นเป็นมายา การสำคัญว่าตัวตนมีอยู่ในสสาร เป็นผู้เดินทางผิด  ระวังการเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทางวัตถุ มีอยู่เพื่อจิต และเมื่อนั้นก็เท่ากับเข้าใจว่า "โจรเป็นลูกของตน"
ทำจิตให้ว่างจากความคิดเรื่องความมีอยู่ และความไม่มีอยู่ เกี่ยวกับทุกสิ่งๆ จริงๆ ได้เท่านั้น  ก็จะลุถึงธรรมตัวจริงได้  เมื่อเข้าหา สิ่งๆนี้ (จิตหนึ่ง) ด้วยใจแล้ว ก็จะได้ขึ้นราชรถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทางก็คือสิ่งนี้ พุทธะคือสิ่งนี้ จิตหนึ่งก็คือสิ่งนี้
        จิตหนึ่งนี้ ปราศจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปราศจากความแตกต่างกัน ปราศจากความเป็นเหตุเป็นผลกัน 
มีหนทางเดียวสำหรับพวกเอกยาน(จิตหนึ่ง)เท่านั้น  ส่วนทางหลายๆ ทาง เป็นอุบายล้วนๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ เพื่อปลดเปลื้องสัตว์ ทียังจมอยู่กับความหลงผิดเต็มที่เท่านั้น
พระพุทธวจนะทั้งหลาย เป็นเครื่องล่อ เป็นสิ่งจูงใจคนออกมาเสียจากความมืดของอวิชชาอันเลวร้ายเท่านั้น  ทุกๆ อาณาจักรของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นของว่างโดยเสมอกัน
จงถอนกรรมเก่าที่สะสมไว้ในปางก่อนให้น้อยลงไป  จงหลีกเลี่ยงการสร้างกรรมใหม่ๆ ที่จะกลับมาสนองตอบอย่างเด็ดขาด จิตย่อมเต็มไปด้วยความใสกระจ่างอย่างปภัสสร  ย่อมขจัดเสียซึ่งความมืดแห่งความคิดดั้งเดิมทั้งหลาย
ชั่วกระพริบตาเดียวที่เห็นว่า "ผู้กระทำ และสิ่งที่ถูกกระทำ (จิต และวัตถุ) เป็นสิ่งๆเดียวกัน" นั่นแหละ ! จะลืมตาเห็นสัจจะ
การนำความคิดออกมาเสียจากใจให้หมดสิ้น  แม้กระทั่งหลักที่เกิดแห่งการประกอบกรรมต่างๆ นั่นแหละ คือคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ส่วนเรื่องของคติทวินิยม  เป็นเรื่องในวงหมู่มาร(กิเลสมาร)
เมื่อหยุดการคิดปรุงแต่งเสีย ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่ ก็จะกลายเป็นของว่างเปล่า และความคิดก็จะสิ้นสุดลง  การไม่หยุดคิดปรุงแต่ง ก็จะเป็นการเพิ่มกำลังให้สิ่งแวดล้อมรบกวนหนักขึ้น
ธรรมชาติของจิตมีลักษณะเป็นความว่าง ไม่มีทั้งอวิชชา และสัมมาทิฏฐิ อารมณ์ต่างๆ ที่จิตสร้างขึ้น จะเป็นสิ่งที่อยู่นอกของความว่างนั้น ได้อย่างไรเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น