การพิจารณาทุกขเวทนา
(หนังสือพ่อแม่ครูอาจารย์..บัว ญาณสัมปันโน)
การพิจารณาทุกขเวทนานี้สำคัญมาก ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้ว่า “มันทุกข์ที่ตรงไหน พิจารณาให้เห็นจริงของทุกข์ที่ตรงนั้น
จ้องอยู่ตรงนั้น อย่าถอย ถ้าถอยคือการเพิ่มทุกข์”
ความจริงเวทนามิได้เป็นข้าศึกต่อผู้ใด
ความรู้สึกของเขาไม่มี
เป็นเพียงความจริงอันหนึ่งเท่านั้น ทุกข์มากทุกข์น้อยไม่ต้องคิด
มันอยู่ที่ใจ “ใจมันโกหก” ใจไปให้สำคัญมั่นหมายไปต่างๆ ความโกหกกับความโง่ มันเชื่อกันง่ายๆ มันหลอกกันได้ง่ายๆ นี่ ! ความฉลาดของกิเลส
ทุกข์มาก
ทุกข์น้อย ให้พิจารณาอยู่ตรงนั้น จ้องอยู่ตรงนั้น ให้พิจารณาหาสาเหตุของมัน ค้นลงไปตรงนั้น จิตนี้เป็นผู้หลง ความอยากให้ทุกข์หายเป็นกิเลสอันหนึ่ง มาส่งเสริมให้ใจเป็นทุกข์มากขึ้น ทุกขเวทนาทางกายเป็นทุกข์
ทางใจก็กำเริบอีกด้วยความทุกข์
ให้พิจารณากายกับเวทนา
มันเป็นอันเดียวกันไหม ? ทุกข์เป็นความจริงอันหนึ่ง กายเป็นความจริงอันหนึ่ง จิตเป็นความจริงอันหนึ่ง ทุกขเวทนาทั้งปวงมันออกจากใจที่ไปหมาย
มันมีสายสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่โดยทางอุปาทานอย่างลึกลับ
เมื่อพิจารณาเห็นอย่างชัดเจนแล้ว ตามดูทุกขเวทนา รู้เข้ามาๆ เวทนาหดเข้ามาๆ ย่นเข้ามาๆ จนกระทั่งถึงใจ
ก็ทราบว่าใจนี้เองเป็นตัวไปก่ออุปาทานขึ้นมา แล้วให้จิตถือว่าเป็นตัวเป็นตน จึงเกิดความทุกข์ขึ้นมากมาย
พอทราบแล้วทุกข์ก็ระงับลงไป
อีกประการหนึ่ง
กำหนดรู้ทุกข์เป็นของจริงอันหนึ่ง เช่นเดียวกับขันธ์ แต่ใจไม่ไปยึด ถึงทุกข์จะไม่ดับก็ตาม เรื่องจิตก็เป็นจิต ไม่สืบต่อด้วยอุปาทาน ต่างอันต่างจริง นี่เรียกว่า “จิตเป็นตัวของตัว” มีความร่มเย็นเป็นสุข และรอบคอบอยู่ภายในตัว ในท่ามกลางความทุกข์ของขันธ์
ทุกขเวทนาอาการแห่งขันธ์แสดงขึ้นมาอย่างไร ก็ทราบตามหลักธรรมชาติ ขันธ์ก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดับไปตามธรรมชาติ
ตั้งอยู่ตามธรรมชาติ และดับไปตามธรรมชาติ จิตก็รู้ตามธรรมชาติของตน
โดยไม่ต้องบังคับบัญชากันแต่อย่างไร
“ทุกข์เป็นหินลับปัญญาได้ดี” การพิจารณาทางปัญญาจนเข้าใจจริงๆ ว่า ขันธ์แต่ละอย่าง สักแต่ว่าเท่านั้น เป็นความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่เท่านั้น
ใจย่อมเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ ทั้งขันธ์ ทั้งจิตต่างอันต่างจริง ไม่กระทบกระเทือนกัน
การใช้สติปัญญาพิจารณาทุกขเวทนาอย่างไม่ถอยหลัง จนเข้าใจดีแล้ว
แม้จะตายจริงๆ ก็ทราบว่า ทุกขเวทนานี้จะดับไปก่อน
แต่จิตจะไม่ดับ จะถอยตัวเข้ามา รู้ตัวอยู่ภายในตนโดยเฉพาะ
แล้วผ่านไปในขณะนั้น คำว่าเผลอสติไม่มี ไม่มีสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมขั้นนี้
การพิจารณาเพื่อรู้ขันธ์ตามความเป็นจริง จึงไม่ควรหักห้ามต้านทานความจริง เช่น
ร่างกายทนไม่ไหว ก็ปล่อยไป ไม่ควรหวงไว้ เวทนามันก็เป็นของมันเอง นี่เรียกว่า “สุคโต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น