วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

อุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น .. พระหลวงตามหาบัว



อุบายธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น
(จากหนังสือพ่อแม่ครูอาจารย์บัว  ญาณสัมปันโน)

แม้พระหลวงตาจะมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างเต็มหัวใจมากเพียงไร  ท่านก็ยังมีความลังเลสงสัยว่า “เวลานี้มรรคผลนิพพาน  จะมีอยู่เหมือนสมัยพุทธกาลหรือไม่ ?”  ทำให้ท่านมีความสนใจ และมุ่งที่จะไปพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  พระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงมานานในสมัยนั้น  เพราะเชื่อว่าจะเป็นผู้ให้ความกระจ่างแก่ท่านได้

วันแรกที่ท่านได้พบท่านพระอาจารย์มั่น  ดูเหมือนท่านพระอาจารย์มั่นจะล่วงรู้วาระจิตของท่านทุกอย่าง ได้พูดจี้เอาตรงๆ ในคืนวันนั้นเลยว่า 

 “ท่านมาหามรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ลมเป็นลม ไฟเป็นไฟ ฟ้าอากาศเป็นฟ้าอากาศ  แร่ธาตุต่างๆ เป็นของของเขาเอง  เขาไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน  เขาไม่ได้เป็นกิเลส 

กิเลสจริงๆ มรรคผลนิพพานจริงๆ อยู่ที่หัวใจ ขอให้ท่านกำหนดจิต จ่อด้วยสติที่หัวใจ ท่านจะเห็นความเคลื่อนไหวของทั้งธรรม ทั้งของกิเลส อยู่ภายในใจ แล้วในขณะเดียวกัน ท่านก็จะเห็นมรรคผลนิพพานโดยลำดับลำดา”

คำเทศนาดังกล่าวทำให้ท่านหายสงสัย มีความเชื่อมั่นในมรรคผลนิพพาน และเชื่อมั่นในความรู้ความเห็นของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างถึงใจ  ท่านพระอาจารย์มั่นเตือนท่านต่อไปว่า  

 .... เวลานี้ธรรมที่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนมา ได้มากได้น้อย ยังไม่เอื้อประโยชน์... อย่าเข้าใจว่าผมประมาทธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ....ให้ยกบูชาไว้ก่อน อย่าได้เอาธรรมที่เรียนมาเทียบเคียง ในขณะที่ทำใจให้สงบ จะกลายเป็นสัญญาอารมณ์ 

ต่อเมื่อถึงกาลที่ธรรมที่เรียนมา จะมาเข้าสนับสนุนให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ธรรมที่เรียนมาทั้งหมด  จะวิ่งเข้ามาประสานกันกับด้านปฏิบัติ และกลมกลืนกันได้อย่างสนิท” 

 “...อย่างไรจิตสงบลงได้ หรือจะใช้สติปัญญาค้นคิดในขันธ์  ขอให้ท่านทำในวงกายนี้ก่อน  เพราะธรรมในตำรา ท่านก็ชี้ลงในขันธ์ทั้งนั้น”

ขณะอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น หลวงตาได้เร่งทำความเพียรอย่างเต็มที่ นั่งสมาธิโต้รุ่งหลายคืนติดต่อกัน จนก้นแตก เกิดทุกขเวทนาแสนสาหัส  และทุกคืนจะเห็นความอัศจรรย์เกิดขึ้นเสมอ 

หลวงตาปฏิบัติแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่า ไม่สนใจเรื่องถ่ายหนัก ถ่ายเบา  ได้อดอาหารติดต่อกันหลายวัน  ด้วยหวังจะเอาชนะกิเลส  และถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด  ในข้อฉันอาหารที่ได้มาโดยบิณฑบาตรเท่านั้น
     
เมื่อท่านพระอาจารย์มั่น รู้ถึงข้อวัตรปฏิบัติของหลวงตาที่ได้เล่าถวาย ให้ท่านฟัง ท่านจึงได้ตักเตือนว่า “กิเลสมันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายนะ  มันอยู่กับจิต” และได้ยกเอาเรื่องการฝึกม้าในพระบาลี มาเตือนสติท่าน

ในพรรษาที่ ๑๐  สมาธิธรรมของท่านมีความหนาแน่นมั่นคงมาก  จะนั่งสักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ และมีความสุขอย่างยิ่ง  เพราะจิตไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ  จนท่านหลงเข้าใจว่าเป็น "นิพพาน" 

ท่านติดสมาธิธรรมอยู่ เป็นเวลาถึง ๕ ปี ไม่ยอมเข้าสู่ขั้นปัญญา เพื่อถอดถอนกิเลสออกมาให้สิ้นซาก  จนท่านพระอาจารย์มั่นต้องฉุดลากออกมา  โดยพูดเตือนสติท่านว่า  

 “ท่านจะนอนตายอยู่อย่างนั้นหรือ ท่านรู้ไหม ? สุขจากสมาธินั้น มันเหมือนเนื้อติดฟัน มันสุขขนาดไหน  เนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ? ท่านรู้ไหม ? ว่าสมาธิทั้งแท่งนั้นล่ะ คือตัวสมุทัยทั้งแท่ง  ท่านรู้ไหม นี่ ! เอาสมาธิเป็นนิพพาน  มันบ้าสมาธินี่ !

เมื่อท่านออกจากสมาธิ  ด้วยอำนาจธรรมอันเผ็ดร้อนของท่านพระอาจารย์มั่นเข่นเอาอย่างหนัก จึงออกพิจารณา  พอออกพิจารณาทางด้านปัญญาก็เป็นไปอย่างคล่องตัวรวดเร็ว  เพราะสมาธิพร้อมอยู่แล้ว 

ทำให้รู้เรื่องรู้ราว ฆ่ากิเลส ตัดกิเลสตัวนั้น ตัวนี้ ได้โดยลำดับๆ ก็เร่งทางปัญญาใหญ่  ทั้งกลางวันกลางคืน หมุนติ้วๆ ไม่ได้หลับ ไม่ได้นอน  ไม่มีการห้ามล้อเลย  และมาคิดตำหนิสมาธิว่า “นี่ ! มานอนตายอยู่เปล่า ๆ”  กี่ปีกี่เดือนแล้ว ที่จริงสมาธินั้นมีประโยชน์ คือเป็นเครื่องพักจิตให้มีกำลังทำงานต่อไป 

เมื่อท่านไปเล่าถวายให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟังว่า ได้พิจารณาธรรมทั้งวันทั้งคืน  ไม่หลับไม่นอน  ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพูดว่า

 “นั่นละ !  มันหลงสังขาร  มันบ้าสังขาร”  คือ ใช้สังขารจนเลยเถิด เกินประมาณ มันเป็นสมุทัย ให้ใช้พอเหมาะพอดี  จึงจะเป็นมรรคฆ่ากิเลส 

นี่ ! ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่รู้ จึงต้องเบรกอย่างแรง เพราะสติปัญญามันทำงานไม่ถอย  ต้องรั้งเอาไว้  บังคับให้จิตเข้าสู่สมาธิ เพื่อความสงบ พักงาน เอา “พุทโธ” มาเป็นคำบริกรรม ให้จิตสงบอยู่กับพุทโธ 

เมื่อจิตสงบลงแล้ว เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนาม สงบเย็น มีกำลังวังชาออกทำงาน ใช้สติปัญญาพิจารณา ฆ่ากิเลส ตัดกิเลส ต่อไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น