วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดับทุกข์หยุดคิดปรุงแต่ง..พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ




ดับทุกข์หยุดคิดปรุงแต่ง
พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ
วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน จ.นนทบุรี) อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
**********
คนเราทุกคนต้องการความสุข เกลียดทุกข์ และความสุขที่ต้องการนั้น ต้องเป็นความสุขที่ไม่มีโทษ ไม่มีภัย และความสุขนั้นก็คือความสุขจากการทำสมาธิ แต่เราก็สู้กับอารมณ์(กิเลส)ไม่ไหว จึงต้องอดทน อดกลั้นมาก และเราจะเห็นว่าการคิดปรุงแต่งเป็นศัตรูของความสุข แล้วเราจะเดินทางไหน เพื่อไปสู่จุดหมาย ซึ่งเราไม่รู้ คือ "อริยสัจธรรมทั้ง ๔ เราไม่รู้ทุกข์(ขันธ์ ๕) เพราะทุกข์เป็นของที่รู้ได้ยาก  ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์(ตัณหา ๓) ไม่รู้การดับทุกข์(นิโรธ) ไม่รู้ปฏิปทาเพื่อการดับทุกข์(มรรคมีองค์ ๘)"
คนทำสมาธิเคยทำจิตให้สงบมาบ้างแล้ว จะเห็นว่าการคิดปรุงแต่งเป็นทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าการคิดปรุงแต่งคืออะไร  เหตุเกิดการคิดปรุงแต่งคืออะไร  ดับการคิดปรุงแต่งได้อย่างไร และแนวทางการปฏิบัติเพื่อดับการคิดปรุงแต่งต้องทำอย่างไร เราต้องค้นหาให้รู้ยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งรู้ว่า การคิดปรุงแต่งเกิดจากการยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายหรือขันธ์ ๕ นี้ เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา เรามารู้เมื่อเรามาทำสมาธิมากขึ้นแล้วนี้เอง
คนทำสมาธิจนจิตว่างไม่มีอะไรปรากฏในจิตเลย ถ้าความว่างอิ่มตัวแล้ว มันก็คลายออก แล้วมันจะวุ่นต่อไป มันว่างหลอก ว่างชั่วขณะ ถ้าเห็นตนเองเป็นอสุภะบ้าง เป็นปกติบ้าง ก็จะพัฒนาต่อไปได้ และต้องไปอีกไกลมาก สุดท้ายถ้าไม่กลับเป็นร่างปัจจุบัน ก็เป็นอสุภะได้ ก็ให้กลับมาเป็นร่างเดิม เป็นภาพอสุภะก็ได้ เป็นร่างเดิมก็ได้ การทำอย่างนี้ว่าโดยทาง คือมรรคมีองค์ ๘ ว่าโดยสติ คือ สติปัฏฐาน ๔ และกายคตาสติ
เราทำลายข้าศึก ต้องตัดกำลังของข้าศึกลง อาศัยสติกั้นจิตไม่ให้ไปสู่อารมณ์ ตัดเส้นทางของอารมณ์ มันจะแอบไปเสมอ จิตมันไม่อยู่บ้าน(ร่างกาย)มันชอบท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ผ่านประตูทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  เพราะตาในของมันมืดบอด อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จะเป็นยารักษาอาการตาในบอดสนิทให้เห็นอะไรขึ้นมาบ้าง โดยการปฏิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ท่านนำพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาสอน โดยการทำสมาธิก่อน เพื่อเปิดตาในของเรา แม้จะไม่ชัดเจนนัก ก็พอจะเห็นจุดหมายปลายทางที่ควรเดินต่อไป ศึกษาต่อไป ปฏิบัติต่อไป จนเกิดการเห็นแจ้งชัดยิ่งขึ้น จะทำให้เราหนีออกจากระบบเดิมๆ ออกมาได้ เราจะมีที่อยู่ใหม่ ธรรมชาตินั้นก็คือตัวเรานี้เองเป็นที่อยู่ใหม่ของเรา การปฏิบัติอย่างนี้จะทำให้เราเห็นว่า น่าจะทำให้เราเลิกลาจากอารมณ์ของโลกได้จริงๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการคือนิพพาน เป็นการหาทางพ้นทุกข์ โดยการลงมือทำ อย่างไรจิตก็เดินอยู่ในที่แคบคือร่างกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้
เมื่อศึกษาธรรมชาติที่เป็นอยู่ เราเกิดมามีร่างกาย และใจ ใจเป็นผู้นึกคิดท่องเที่ยวอยู่ ไม่มีใจก็คือคนตาย ใจนี้เราต้องควบคุมให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ใจมีข้อขัดแย้งกับเราอยู่เรื่อยๆตลอดเวลานี้คือกิเลส  จิตอยู่ภายใต้อำนาจของบางสิ่งบางอย่างแทบไม่เป็นไท เราเป็นทาสผู้รับใช้ตลอดกาล จิตหลงระเริงอยู่ในโลกนี้ เราบังคับไม่ได้ บังคับได้นิดๆหน่อยๆ เป็นทาสเขา ๙๙ %  ตรงนี้เป็นที่มาของของความขัดแย้ง พื้นฐานของเราอยากเป็นคนดี อยากอยู่ในกรอบของความดี แต่ใจเรามันไม่ชอบ แต่ต้องฝืนใจ พยายามทำ ทำให้ได้  ผลักความไม่ดีออก ที่ทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจิตมันไม่ยอม เราต้องต่อสู่กับกิเลส
กิเลสคืออะไร กิเลสคือการคิดปรุงแต่งทั้งหมด การปรุงแต่งทั้งหมดเป็นความทุกข์ทั้งหมดเลย ถ้ามีความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นกระเพื่อมเพียงเล็กน้อย สำหรับคนที่มีจิตละเอียดแล้ว จะรู้สึกเหมือนกับถูกมีดเสียบแทง มันเจ็บปวดเหลือเกิน เมื่อก่อนเราอยู่กับความคิดปรุงแต่งตลอดเวลา แต่ไม่มีความรู้สึกอะไร แต่พอทำจิตสงบแล้ว จะเห็นว่าการคิดปรุงแต่งเป็นศัตรู เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ
เมื่อก่อนบวชเป็นพระไม่ค่อยคิดอะไรมาก  แต่พอบวชแล้วมาปฏิบัติกรรมฐานมันคิดมาก มีปัญหาต่างๆเข้ามาทำให้คิดมากมาย  ตั้งคำถามว่าคิดไปทำไม แล้วมันจะจบที่ตรงไหน เมื่อเข้าวัดแล้วต้องฉลาดสิ  ทั้งนี้ เพราะการทำสมาธิทำให้เรารู้ทุกข์ อยากได้ความสุข อยากมีความสุขความสงบนานๆ เรารู้แล้วว่า ความสุขอยู่ที่จิตไม่คิดนั่นเอง แต่เราทำไม่ได้ มันคิดบ้าง สงบบ้าง เป็นบางเวลา ความคิดปรุงแต่งมีอยู่เรื่อยๆ ไม่หายขาด ต้องใช้ปัญญาซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เหมือนเส้นด้ายที่มันพันกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่เราทำขึ้นมาเอง อาศัยคำสอนของผู้รู้ชี้ทางให้ ถ้าเรารู้ว่าการคิดปรุงแต่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราก็รู้เงื่อน จับเงื่อนได้แล้ว แล้วก็คิดว่าทำอย่างไรหนอ? เราจะหยุดการคิดปรุงแต่งนี้ให้ได้
จิตมันหลงโลก หลงสงสาร หลงอารมณ์นี้มานานเหลือเกิน เราต้องทำสมาธิก่อน บางคนทำได้ง่าย เพราะมีอุปนิสัยหรือวาสนาบารมีเคยทำมาก่อน บางคนทำได้ยาก ต้องทำบ่อยๆ อย่าท้อ แล้วจะค่อยๆสงบลงได้ เมื่อจิตนิ่ง เราจะเห็นความสุขที่มันหลั่งไหลออกมาจากตัวของจิตเอง  ซึ่งเป็นความสุขมากแล้วเราก็ชอบ  ถ้าหยุดการปรุงแต่งจิตจะสงบลง จะมีความสุขมากๆ ซึ่งความสุขนั้นมันมีอยู่ในตัวจิตเอง เราก็ยินดีในความสุขอันนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับใครๆ หรืออะไรเลย ความสุขนี้คงอยู่ไม่นาน พอสงบสักพักหนึ่ง ก็กลับมาปรุงแต่งต่อ เราจะเห็นว่าการปรุงแต่งนี้มันเป็นทุกข์  อ๋อ ! ทุกข์มีอยู่ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ 
เรารู้ทุกข์ แต่ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คืออริยสัจธรรม ๔ รู้อย่างเดียวคือทุกข์ แต่ไม่เป็นไร นั่นเป็นต้นเงื่อนหนทางแห่งการดับทุกข์ เป็นเรื่องญาณคือปัญญา สมถะทำจิตให้สงบได้ เราไม่รู้ว่าความคิดมาจากไหน จะดับอย่างไร ต้องใช้ปัญญา เรียกว่า วิปัสสนา ต้องทำให้แจ้ง แจ้งอย่างไร คือการดับทุกข์(นิโรธ)เป็นลักษณะอันเดียวกัน
เราตั้งคำถามที่ตอบตนเองไม่ได้ เราจะทำอย่างไรเพื่อเอาชนะการปรุงแต่งตรงนี้ให้ได้ ดับการปรุงแต่งให้ได้สนิท  ทำอย่างไรจะดับการปรุงแต่งให้ได้ แต่ยังไม่รู้ ต้องถามผู้รู้ พระพุทธเจ้าทรงให้พิจารณาอาการ ๓๒ คือร่างกายอันนี้ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ  ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเปลว มันสมอง น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร  ทำไมต้องมาดูกาย ทำไมมันเกี่ยวอะไร เราจะแก้เรื่องจิต ทำไมต้องมาดูกาย ให้ทำไปก่อน มันซับซ้อน เหมือนหญ้ามันงอกขึ้นมาแล้ว เราตัดออก แล้วมันก็งอกขึ้นมาใหม่ เพราะมันยังมีรากเหง้าอยู่ใต้ดิน เราต้องขุดรากออก รากนั่นแหละ ก็คืออารมณ์
ดังนั้น เราจึงมีสิทธิแจ้งได้ทุกคน คำว่าแจ้งมีธรรมชาติเป็นอย่างไร เรามีไหม?หน้าตาเป็นอย่างไร ที่จริงมีกันทุกคน แต่เราไม่สนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไร ก็คือจิตมันแจ้งชัดในสิ่งที่รู้ที่เห็น แต่มันแจ้งผิดที่ เช่นนึกถึงหน้าคนนั้นคนนี้ มันจะเห็นแจ้งชัด แม้จะเป็นเวลากลางคืนมืดๆ มันก็เห็นแจ้งได้ ทั้งกลางวันกลางคืน แต่จิตมันไปแจ้งข้างนอกหมด มันไม่แจ้งข้างในคือร่างกายของเราคือขันธ์ ๕ สิ่งที่เห็นเป็นสัญญาเกิดตลอดเวลา ความเห็นเป็นที่ท่องเที่ยวของจิต บ่งบอกถึงอารมณ์ของผู้นั้น ซึ่งนึกถึงสิ่งทั้งชอบ ไม่ชอบ จิตดวงเดียวเปลี่ยนอารมณ์ตลอดเวลา ซึ่งมันแจ้งนอกแจ้งผิดที่ แต่สิ่งเดียวที่แจ้งไม่ได้คือตัวเรา นึกไม่ออก นึกถึงใบหน้าตัวเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พอส่องกระจกเห็น แต่หลับตานึกไม่ออกแล้ว เพราะอวิชชามันปิดบังไว้ ทางเดินใหม่คือ มรรคมีองค์ ๘ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อสกัดกั้นความคิดที่มันจะส่งออกนอกให้หมดไป เช่น ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งทำให้จิตคิดปรุงแต่งไม่รู้จบ ให้พาจิตเข้ามาหาตัว ไม่ให้ออกไปข้างนอก เราเริ่มทำสงครามแล้ว จิตคิดไปน้อมเข้ามามองตนเองให้แจ้งให้ชัด  นึกให้เห็นตัวเองเป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอสุภะ ๑๐ เป็นภาพศพของตนเองทำบ่อยๆ เอาจิตอยู่ตรงนั้นบ่อยๆ มันคิดอะไรตัดออกเสียๆ น้อมจิตเข้ามา จนจิตไม่มีช่องทางไปคิดข้างนอกได้เลย
เรามองตนเองบ่อยเข้าๆ พิจารณากายคตาสติ มรณัสสติหรือความตาย เป็นอารมณ์ ตลอดเวลา เพื่อกลบเกลื่อนอารมณ์ของโลกทั้งหมด จนมันทนต่อการเพ่งมองของเราไม่ได้ มันก็จะมองเห็นชัดขึ้นๆ เอาเป็นเครื่องอยู่ของจิต ในที่สุดก็จะสามารถควบคุมจิต แล้วอยู่เหนือเขาได้ และรู้แจ้งอริยสัจธรรม ๔ สมาธินี้จะมีทั้งกลางวันกลางคืน เป็นเครื่องยืนยัน เป็นพยานแก่จิตว่า เรามีแค่นี้เอง เราอยู่ที่ไหน ตรงไหน ในร่างกายนี้ มองไป มองมา หาเราไม่ได้ มองโดยปรมัตถ์ว่า เราไม่มี ขันธ์ ๕ เป็นของว่างเปล่า ตัวตนของเราไม่มี  แล้วความนึกความคิดที่มีอยู่สมควรแก่เราหรือ? เห็นโลกเป็นอนัตตา กำลังความเห็นนี้เป็นปัญญา ไปดับความคิดปรุงแต่ง
ดังท่านอชิตมาณพ กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรหนอเป็นเครื่องกั้นกระแสโลก  
 พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า  กระแสเหล่าใดในโลก  สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้  เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย  ปัญญาปิดกั้นกระแสทั้งหลายเหล่านั้นได้
ดังนั้น เมื่อจิตมีกำลังสติปัญญาแก่กล้าแล้ว จะดับการปรุงแต่งได้อย่างสนิท และในที่สุดแล้ว จะไม่มีการหวนกลับมาปรุงแต่งอีกเลยตลอดชีวิต เราสามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากการปรุงแต่ง  ถ้าจิตยินดีอะไรในโลก ความรู้อันนี้จะเข้าไปสอน เมื่อจิตเห็นแจ้งแล้ว จะเห็นว่าไม่มีอะไรดี มีแต่สิ่งปฏิกูล ทำให้เราเบื่อหน่ายโลกนี้ ทำให้เราสำรอกกิเลสออก เพราะเห็นโทษ เห็นทุกข์ของราคะ โทสะ โมหะ ตามความเป็นจริง ในที่สุดก็ชนะหมด จิตมันเห็นหมด ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นด้วยตาใน ไม่เหมือนพวกหมอ พยาบาล สัปเหร่อ เห็นคนตายมามากมายก่ายกอง ก็ยังมีความยินดีในกามอยู่ เพราะเห็นด้วยตาเนื้อ ตาในมันไม่เห็น ธรรมชาติเขาปิดบังไว้มิดชิด จิตเห็นตนเอง มิได้เห็นศพอะไรเลย แต่ชนะได้ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่เทพบุตรเทพธิดาก็ไม่ยินดี เพราะมันเห็นโทษ ราคะมียังมีอารมณ์ พระบรมศาสดาตรัสไว้ว่า มุนีไม่วางกามทั้งหลายแล้ว จะเข้าตั้งมั่นแห่งจิตที่ถาวรไม่ได้เลย
จิตจะเข้าไปชำระอารมณ์ออกไปได้หมด มันเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท เกี่ยวกับภพชาติทั้งปวง ล้วนมาจากการคิดปรุงแต่ง(สังขาร) การเกิดก็มีอยู่ร่ำไป เราชนะการปรุงแต่งได้ การจุติจะไม่มีอีกเลย เราก็อยู่เหนือโลก เป็นอุดมมงคลที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราสามารถพิสูจน์ได้ รู้ได้ในปัจจุบันให้ปรากฏชัด ความรู้จะแน่นแฟ้นเป็นปัจจัตตัง เป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา เป็นหนึ่งเดียวแบบนี้ การที่รู้จักตนเองอย่างนี้ ทำให้เรารู้จักคนทั้งโลก ถ้าไม่รู้จักตนเองอย่างนี้ ทำให้เราไม่รู้จักคนทั้งโลก แล้วก็จะหลงโลก ติดอยู่ในอารมณ์ใดก็เป็นภพชาติต่อไป เอาชนะอารมณ์ได้ก็จะรู้เรื่องภพชาติต่อไป สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี สุขทั้งกลางวันกลางคืน เพราะเหตุทำทั้งกลางวันกลางคืน ความเพียรทำมากไม่ใช่ทำน้อย ไม่ใช่เห็นแล้วหายเพราะปล่อยไป เช่น เห็นคนตายข้างถนน ก็เกิดสลดสังเวชใจ ไม่นานก็หายไป พอไปเห็นคนสวยคนหล่อก็เกิดความยินดีอีกแล้ว เห็นตนเองทำไม่ได้ ต้องเห็นแบบประกบจิตไว้เลย เห็นศพก็เอาศพมาประกบตนเองเป็นศพตลอดเวลา ตัดกามได้ก็ไม่เป็นทาสเขาต่อไป เป็นมนุษย์มันก็ยังเดินทางอยู่ ตายแล้วมันก็เดินทางต่อ หลีกหนีก็ไม่ได้ หนีเข้าไปในถ้ำกิเลสมันก็ตามไปด้วย รออยู่ที่ปากถ้ำนั่นแหละ เต็มไปหมด เมื่อสมาธิมันอิ่มตัวแล้ว มันก็ถอนออกมา จิตก็รั่วไปตามอารมณ์อีกแล้ว ดังนั้นการทำสมาธินิ่งลึกอย่างเดียว จึงแก้กิเลสไม่ได้ มันเป็นเกณฑ์บังคับที่จะต้องสะสางชีวิตเสียแล้ว
ทีนี้ เรามีทำความรู้จักตัวเรา คือขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ท่านเปรียบดังฟองน้ำ พยับแดด ต้นกล้วย เป็นของหลอกลวง เป็นของไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของว่างเปล่า ความไม่รู้ทำให้เราหลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา อย่างที่ท่านพุทธทาสที่พูดไว้ว่า ตัวกูของกู ทั้งนี้เพราะไม่เห็นแจ้งในร่างกายหรือขันธ์ ๕ นี้เอง ทำให้ทำลายตัวตนไม่ได้ ถ้ารู้แจ้งแล้วตัวเราก็ไม่มี สงครามนี้ ถ้าชนะเราก็เป็นไท ถ้าไม่ชนะก็เป็นทาสเขาต่อไป ถ้าชนะแล้วจิตจะว่านอนสอนง่ายอย่างน่ารักเลย ไม่ดื้อ หายดื้อ จะทำอะไรตามที่เราสั่งให้ทำ บอกอย่างไรก็ทำอย่างนั้น บอกไม่ให้คิดมันก็ไม่คิด พ้นจากการปรุงแต่ง จิตนี้เราเป็นนายแล้ว อยู่ในอำนาจของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย บอกว่าอย่าไปน มันก็ไม่ไป อยู่นิ่งๆมันก็นิ่ง มันจะคิดอะไรต้องขออนุญาตก่อน บอกให้หยุดก็หยุด เมื่อก่อนบอกให้หยุด มันไม่ยอมหยุด มันจะไปตะพึด มันไม่สนเราเลย ไม่น่าเชื่อเลย จิตนี้ควบคุมยากมันยิ่งกว่าลิง เมื่อมันตั้งมั่นแล้ว มันมั่งคงยิ่งกว่าหินผาเสียอีก เราค้นหาให้พบในตัวของเรานี้เอง

ส่วนความสุขในกามคุณ ๕ นั้นเป็นเหยื่อล่อให้เราวิ่งเข้าหา เหมือนเบ็ดของมาร ธรรมชาติผลักดันไม่ให้เราสงบ ทำให้เราแสวงหาสามีภรรยา มีลูกมีหลานสืบต่อกัน เหมือนสัตว์ทั้งหลาย เหมือนต้นไม้มีการสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งไม่มีใครสอนเป็นอย่างเดียวกันหมด กามคุณ ๕ นั้นถ้าให้ความสุขอย่างเดียว หาความทุกข์ไม่ได้ ก็ไม่ต้องแสวงหาทางออกจากทุกข์ ถ้าโลกนี้มีทุกข์อย่างเดียว คนก็คงดิ้นรนแสวงหาทางพ้นทุกข์กัน ที่จริงสุขก็คือทุกข์แต่รู้ได้ยาก ต้องเป็นผู้มีปัญญาเท่านั้น
ก่อนตรัสรู้พระพุทธเจ้าทรงมีความคิดว่า อะไรหนอเป็นคุณของโลก อะไรหนอเป็นโทษของโลก  อะไรหนอเป็นเครื่องสลัดออกจากโลก  ก็ทรงรู้ว่า สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยโลก(กามคุณ ๕)เกิดขึ้นนี้ เป็นคุณของโลก  สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดานี้ เป็นโทษในโลก
ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะ  เป็นเครื่องสลัดออกไปจากโลก เมื่อสัตว์ทั้งหลายรู้ตาม  ย่อมออกไป  หลุดไป  พ้นไปจากโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก จากหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์  เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย  มีใจปราศจากขีดคั่นอยู่ได้
ดังนั้น กามสุขมีอยู่ แต่เป็นสุขเพียงเล็กน้อย มีความทุกข์มากกว่า เป็นธรรมชาติที่นำมาซึ่งชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงต้องแสวงหาความสุขอื่นมาทดแทน เช่นพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสุขอย่างยิ่งเป็นบรมสุข แต่การแสวงหาความสุขมาทดแทนความสุขจากกามคุณ ๕ นั้น ไม่ใช่จะแสวงหามาได้โดยง่าย และได้โดยเร็วดังใจปรารถนาต้องการ บางคนท้อถึงกับลาสิกขาออกจากเพศพรหมจรรย์ก็มีเป็นจำนวนมาก ใจของเรานั้น มันไม่มีขอบเขต ก่อทุกข์ ก่อโทษให้ตนเองมากมาย ธรรมชาติบีบคั้นทำให้ต้องแสวงหาคู่ เมื่อมีคู่แล้วบางคนก็ไม่ได้พอใจแต่เพียงคู่ของตนเท่านั้น ยังไปมีชู้เพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้มีการทะเลาะเบาะแว้งและฆ่าฟันกันล้มตายเข้าคุกเข้าตารางกันเป็นจำนวนมาก บางคู่ไม่ได้ทำผิดศีลผิดธรรมอะไรก็ดีกว่าคนไปมีชู้  แต่ก็มากด้วยอารมณ์ ต้องทุกข์กับการประคับประคองชีวิตคู่และเลี้ยงดูบุตรหลานที่เกิดตามมา บางคนไม่ต้องการมีชีวิตคู่อยู่เป็นโสด คิดว่าชีวิตโสดจะสงบ แต่ก็ไม่สงบ ใจมันก็ดิ้นรนอยากหาคู่อยู่นั่นเอง เพราะธรรมชาติบีบคั้นให้ไปตามกระแส หาความสงบยาก ดังนั้น เราต้องคิดละอารมณ์ทั้งหมดที่ธรรมชาติให้มา เพราะเราต้องการความสงบที่ถาวรบริบูรณ์ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าเราเออออตามอารมณ์ เราก็ตกเป็นทาสของเขาอยู่ร่ำไป เราเอาชนะไม่ได้แน่นอน ธรรมชาตินี้มันวางกับดักไว้ มันปิดบังเราไว้อย่างมิดชิด
ผู้รู้ทาง ชี้ทางออกให้เราคือพระพุทธเจ้า เราอาจเกิดมาเจอพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว แต่หล่นมาเรื่อยๆ ไม่รู้จะหล่นไปถึงไหน พระพุทธเจ้าท่านนำธรรมะมาสอนเราแค่ใบไม้กำมือเดียว ความจริงพระองค์ทรงรู้มากมายและไม่มีอะไรที่พระองค์ไม่รู้ แต่ทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ใช้ดับทุกข์ไม่ได้ จึงทรงนำมาสอนแค่ใบไม้กำมือเดียวนั้น คืออริยสัจธรรม ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมีองค์ ๘ นี้เอง
ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป บางคนไม่นำเรื่องราคะนี้มากล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เรื่องที่น่าอับอายนี้แหละ มันสร้างปัญหาให้เกิดความเดือดร้อนสับสนวุ่นวายให้กับโลกมากมายอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะไม่เอาธรรมชาติของความเป็นจริงมาเรียนรู้ เพื่อสะสางชำระล้างจิตใจ มันต้องมีวิธีดำเนินการชำระล้างให้ถึงจุดสูงสุดได้ เราต้องเรียนรู้ เราต้องตัดขาดธรรมชาติเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด เราอยากได้ความสงบถาวร กลายเป็นกิจที่จำเป็นในชีวิตที่จะต้องทำ ในเมื่อได้พบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเราไม่ทำเองแล้ว จะให้ใครทำให้ ชาติต่อไปเราจะมีโอกาสได้พบได้เจอศาสนาของพระพุทธเจ้าอีกหรือ ถ้าเรายังเป็นทาสของธรรมชาติที่มีอยู่ อารมณ์ต่างๆมันก็จะเพิ่มขึ้นๆเข้าสู่ยุคมิคสัญญีในที่สุด  ใจเราไม่ใช่จะดีไปทั้งหมด มีทั้งดี และไม่ดี มันจะนำเราไปสู่ความหายนะแน่นอน อนาคตของเราฝากไว้กับจิตเกเรดวงนี้หรือ?  เพราะมันไม่อยู่ในโอวาทของเราเลย เราอยากเป็นคนดี แต่จิตไม่ได้ตามใจเราเลย ทั้งๆที่เราเป็นเจ้าของชีวิต แต่ไม่สามารถจะบงการชีวิตของเราได้ ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่หรือตาย จิตมันก็ไปของมันอยู่แล้ว แต่เราก็พอมีแวว จัดการกับมันได้ เพราะจิตมันก็ไม่ได้ไปตลอด
เพราะฉะนั้นเราจะจับหลักก่อนแล้วเปลื้องออก หลักนั้นคือกรรมฐาน ๕ ที่พระอุปัชฌาย์สอนในวันอุปสมบท เมื่อบวชแล้ว ต้องเดินเส้นทางสายใหม่ ที่ไม่เคยเดิน คือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่กรรมฐาน ๕ นั่นเอง ดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไรเป็นพิเศษ หรือวิเศษ วิโสอะไร แต่ความจริงแล้ว เป็นอุบายที่สุดยอด ที่จะเปิดประตูให้เรารู้จักตนเองแจ้งชัด  ส่วนสมาธินิ่งก็เหมือนท่านอุทกดาบส และอาฬารดาบสท่านได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ สมาธิแบบนี้จะกลัวอารมณ์มาก เพราะจะแข็งแกร่งภายใน แต่เบาะบางภายนอก การเข้าสมาธิเหมือนหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำ กิเลสก็รอเต็มไปหมดที่หน้าปากถ้ำนั้นแหละ เมื่อจิตออกมาแล้วก็คลุกเคล้ากับอารมณ์ต่อไปอีก
ฉะนั้น ต้องแยกสมาธิแต่ละอย่างให้ถูกต้อง ความสงบที่เห็นแจ้งต้องเป็นหลัก สมาธินิ่งเฉยๆ ทำได้ง่ายกว่า แต่เห็นตัวยากเพราะมันลึกและหนาแน่น  การปฏิบัติของเราที่ผ่านมามัน สับสนเหมือนพายเรือในอ่าง พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงก็แล้ว กายไม่เที่ยงก็แล้ว ก็ยังตัดอารมณ์ไม่ขาด ต้องอบรมให้เห็นตนเองแจ้งขึ้นมา ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา ไม่ว่ากลางวันกลางคืน ให้รู้แจ้งตรงนี้ จิตจะไม่ดื้อด้านต่อไปอีกเลยตลอดกาล เมื่อก่อนมันดื้อกับเรา มันไม่เชื่อเรา มันเถียงเรา เพราะมันไม่รู้ มันก็หลงไปตามอารมณ์
พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตนี้คุมได้ยาก กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก เปลี่ยนแปลงง่าย ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ และดิ้นรนไปมาในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหมือนปลาที่ยกขึ้นจากน้ำ  โยนไปบนบก ฉะนั้น  เราต้องฝึกฝนอบรมจิต ให้เห็นแจ้งในตัวเอง ผลการเห็นแจ้งตัวเอง จิตหายดื้อ ว่านอนสอนง่ายอย่างน่ารักที่สุด อย่างไม่น่าเชื่อจากที่ดื้อๆ ต่อไปจิตจะไม่กลับกลอก ผลเป็นที่ประจักษ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่รอวันตาย ใครจะสอบผ่าน ใครจะมีความเพียร ทำจริง รู้จริง จะดับอารมณ์ได้ จะเป็นผู้ชนะ กรรมฐาน ๕ เป็นกุญแจดอกสำคัญ ต้องทำให้แจ้ง จะทำให้ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจจฉา สีลัพพตปรามาส จะเห็นว่าตัวเราไม่ใช่ของเรา จิตหยุดสนิทไม่อยู่ข้างนอกกาย อยู่ข้างนอกยังตกต่ำอยู่ กิเลสภายในยังมีอีก ต้องสู้ต่อไปอีก ดับการปรุงแต่งข้างนอกอย่างหยาบ ข้างในมีอยู่อย่างบางๆ ไม่ต้องคำนึงถึงอะไร ขอให้หมดอย่างเดียว จนหมดความสงสัย 
ดังท่านอชิตมาณพกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า  โลกถูกอะไรห่อหุ้มไว้  โลกไม่สดใสเพราะอะไร  อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้  อะไรเป็นภัยใหญ่หลวงของโลก
 พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ  วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา  สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
โลกถูกอวิชชาห่อหุ้มไว้ โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่ และความประมาท  เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่หลวงของโลก    
        กระแสเหล่าใดในโลก  สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้  เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย  ปัญญาปิดกั้นกระแสทั้งหลายเหล่านั้นได้
นามและรูปนั้น ดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด นามรูปนั้นก็ดับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณดับ
ดังนั้น การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราอ่านหนังสือ ๙๐% ปฏิบัติ ๑๐% ต้องปฏิบัติ ๙๐% อ่าน ๑๐% ปฏิบัติให้เห็นแจ้ง ถ้าไม่เห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ก็แสดงว่าเห็นทุกข์ยังไม่แจ้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางเดินของจิต เมื่อรู้แจ้งร่างกายตัวเอง ก็จะรู้อายตนะตามความจริง รู้คุณ รู้โทษของอายตนะ แล้วหาทางออก เปลื้องจิตออกได้    
       การทำสมาธินิ่งเป็นสมถะ กับสมาธิในกรรมฐาน ๕ มันตีคู่กันเลย และใช้คำเหมือนกัน รู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงไม่ดับ ไม่หาย ครูบาอาจารย์บางองค์ติดสมาธิเป็นสิบๆปี ถ้านิ่งอย่างเดียวไม่พิจารณาขันธ์ ๕  ต้องดูนานๆ จิตจะใสๆสว่างๆ  ใสเป็นเพชร เป็นแก้ว แต่มันมีกิเลสซ่อนอยู่ในความนิ่ง ความใส ความสว่างนั้น คิดว่าตนเองเห็นเป็นปัญญา บางครั้งเห็นเป็นรูปของนิมิต เช่น พระพุทธรูปบ้าง ต้นโพธิ์บ้าง ยังไม่เพียงพอ เพราะมันหายได้ ถ้ายังมีอารมณ์อยู่แสดงว่าจิตอยู่ข้างนอก ต้องเกิดใหม่อีก ถ้าไม่มีอารมณ์จึงจะไม่เกิดใหม่อีกต่อไป
พระอรหันต์ท่านไม่มีอารมณ์ เหลือแต่จิตดวงเดียว แม้แต่จิตก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่อยากพูดเรื่องนี้ โมหะยังลึกอยู่ เมื่อถึงตรงนั้นแล้วจะรู้เอง ทำไปทำมาไม่มีสักอย่าง เมื่อไม่มีอะไรแล้วทำไปทำไม?  เพราะว่ามันมีน่ะสิ ถึงต้องทำให้มี ผู้ใดไม่ทำตามไม่อาจจะรู้เห็นได้ เมื่อทำตามก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งโลกจริงๆ เราต้องศึกษา เพราะเราอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งที่น่ากลัวมาก นั่นคืออารมณ์ อย่าประมาทความคิดที่เล็ดลอดออกมาเพียงเล็กน้อย ถ้ามันคิดสืบต่อไปอีก มันจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ราคะไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้น โทสะไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้น โมหะไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญยิ่งขึ้น ก็เหมือนกับเราปล่อยลิงเข้าป่า ลิงมันคุ้นเคยกับป่า ชำนาญในการขึ้นต้นไม้ มันกระโดดห้อยโหนจับกิ่งไม้นี้ แล้วกระโดดไปจับกิ่งโน้น จับกิ่งไม้โน้น แล้วกระโดดไปจับกิ่งนี้ เรายืนดูอยู่ข้างล่าง จะไปจับมันไหวหรือ? และเราต้องเหน็ดเหนื่อยที่จะไล่จับมันอีก หรือเหมือนกับไล่จับหมากลางทุ่ง เหนื่อยตายแน่ๆ
ผู้ครองเรือนจมอยู่ในกาม เหมือนจมอยู่ในกองมูตร กองคูถหรือบ่อส้วม การที่จะล้างตัวเองให้สะอาดในบ่อส้วม ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้  ถ้าออกมายืนนอกส้วม ก็เป็นไปได้ที่จะชำระล้างร่างกายให้สะอาด และเป็นฐานะที่เป็นไปได้  เปรียบบุคคลครองเรือนจะเอานิพพานด้วย  ก็เปรียบดังไม้สดชุ่มด้วยยาง แล้วนำเอาไปแช่น้ำ เป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาสีกันให้ลุกเป็นไฟ หรือนำมาติดไฟให้ลุกขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้
บุคคลออกจากกามทางกาย แต่ใจยังหมกมุ่นอยู่ในกาม ยังคิดแบบคนโลกๆอยู่ ก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะเอานิพพานด้วย เปรียบดังไม้แห้ง แล้วนำเอาไปแช่น้ำ เป็นไปไม่ได้ที่จะนำมาสีกันให้ลุกเป็นไฟ หรือนำมาติดไฟให้ลุกขึ้นมาได้
ส่วนบุคคลที่ออกจากกามทางกายแล้ว ทางใจสะกัดกั้นไม่ให้จิตออกนอกกาย อบรมกรรมฐาน ๕ ให้รู้แจ้ง ไม่ปล่อยจิตให้ไปตามกระแสอารมณ์ เปรียบเหมือนไม้แห้ง แล้วนำไปวางไว้บนบกตากแดดให้แห้ง ก็จะสามารถนำมาสีไฟ ทำให้เกิดไฟได้โดยง่าย หรือนำมาติดไฟให้ลุกขึ้นนำมาใช้ประโยชน์ได้

ดังนั้น การปฏิบัติธรรมจึงต้องคำนึงว่า เรายืนอยู่ตรงจุดใดตำแหน่งใด เพราะจิตนี้มันจะเอาแต่ความเลวทรามต่ำช้า เราต้องทะเลาะกับจิตตลอดเวลา ขัดแย้งกันตลอดเวลา แต่เมื่อรู้แจ้งแล้ว จิตนี้จะว่านอนสอนง่าย จะไม่ดื้อกับเราอีก พื้นฐานจิตของคนเราคือความเลว ชอบหาเรื่องหาราวให้เราเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา เราอยากเป็นคนดี แต่จิตมันไม่ค่อยตามใจเราเลย มันดื้อ แต่จิตนี้ฝึกได้ อย่างไม่น่าเชื่อเลย และมันแข็งแกร่งยิ่งกว่าหินผา มีสมาธิทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องตั้งสมาธิ  สมาธิมีตลอดวันตลอดคืน ไม่มีรั่ว รั่วไม่ได้ หนึ่งเดียว จิตไม่มีอารมณ์ อารมณ์คือมายาเป็นความหลงที่จิตไม่รู้มาก่อน การเห็นตัวเองแจ้งชัด อารมณ์จะถูกทำลายไปหมด
สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือตัวของเรานี้เอง เพราะไม่เคยอบรมมัน จิตจึงไม่รู้ว่าตัวเราคืออะไร และการเห็นก็มีไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเอาชนะกิเลสได้ ให้นึกถึงตัวเอง ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย อยู่เนืองๆ ค้นคว้าแล้ว ค้นคว้าอีก จนถึงจุดๆหนึ่ง  จิตจะทนต่อการเห็นตัวเองแจ้งทั้งข้างนอกข้างในไม่ได้ และอย่าปล่อยจิตให้ออกไปข้างนอก ทำตลอดทั้งวันทั้งคืน เว้นแต่หลับ มิเช่นนั้นจะสู้กิเลสไม่ได้ ต้องมีความเพียรไม่ให้จิตส่งออกนอก จะเกิดการแย่งชิงระหว่างจิตกับอารมณ์ นั่นคือสงคราม ต้องใช้ความเพียรไม่ลดละ ตลอดเวลา ก็จะเอาชนะจิตดวงนี้ได้ กัดไม่ปล่อย ทำให้ต่อเนื่อง ไม่หยุด เป็นเดือน เป็นปี เราจะเห็นตัวเองชัดมากขึ้นๆๆ แล้วเอาเป็นเครื่องอยู่ จิตเห็นตัวเองตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ทั้งข้างนอกข้างใน แล้วในที่สุด จิตจะกลัวอารมณ์ รังเกียจอารมณ์ มันไม่เอาอารมณ์ เพราะเห็นว่าอารมณ์เป็นเหตุของทุกข์  ถ้ากลับไปเอาอารมณ์อีก จิตมันบอกกับตัวเองว่าก็โง่น่ะสิถ้าเราไม่เบื่อสังขารร่างกายนี้แล้ว จะไม่ให้มีอารมณ์นั้นไม่ได้เลย
การที่จะให้จิตเบื่อหน่ายสังขารร่างกายนี้ ต้องใช้กรรมฐาน ๕ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติ มาชำระล้างอารมณ์ และอย่าคิดว่า กรรมฐาน ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ(หนัง) ไม่วิเศษวิโสอะไร  พระพุทธองค์ทรงเห็นความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์สอนกรรมฐาน ๕ แก่ผู้บวช ในพิธีอุปสมบท เพื่อใช้เป็นอาวุธป้องกันพรหมจรรย์ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการตัดอุปนิสัยความเป็นพระอรหันต์ของผู้เข้ามาบวชได้ เพราะการบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เปรียบเหมือนกับการเข้าสู่สนามรบ เข้าสู่สงครามกับกิเลส ระหว่างความมืดกับความสว่าง ความรู้กับความหลง ผู้บวชใหม่จึงต้องมีอาวุธไว้ต่อสู้กับข้าศึกศัตรู เหมือนกับทหารที่จะเข้าสู่สนามรบ จะต้องมีอาวุธไว้ครบมือ เป็นอาวุธอันยอดเยี่ยม เพื่อกำจัดฉันทราคะ ราคะคือความกำหนัด ความยินดีในกาม ให้พิจารณาเห็นร่างกายนี้เป็นปฏิกูล สกปรก เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม  ไม่ให้จิตรุ่มร้อนจนครองเพศพรหมจรรย์สืบต่อไปไม่ได้   
กรรมฐาน ๕ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติ เป็นอริยมรรคข้อ ๗ คือสติชอบ การปฏิบัติกายคตาสตินี้ ไม่ใช่จะพบเห็นแจ้งได้โดยง่าย เปรียบเหมือนเราเอาเพชรฝังไว้ใต้ดิน แล้วเอาดินไปกลบไว้สูงเท่าภูเขา แล้วเอาจอบเอาเสียมไปขุดสองสามทีเพื่อจะเอาเพชรออกมา มันจะพบเพชรได้อย่างไร และเปรียบดังเราได้สร้างสมอารมณ์ไว้ในจิตมากมาย การที่จะเอาอารมณ์ออกให้หมด แล้วมันจะทำได้โดยง่ายได้อย่างไร ถ้าไม่พิจารณากายให้เห็นแจ้ง และเอากายเป็นเครื่องอยู่ จิตก็จะส่งออกนอกทางอายตนะ ๖ คือตา หู ฯ ตามความเคยชินของเขา เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงฯ ที่ชอบที่ถูกใจ มีความยินดี ราคะก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นรูป ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ มีความยินร้าย โทสะก็เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้สึกว่ายินดีหรือยินร้าย โมหะก็เกิดขึ้น ดังนั้น การที่จิตส่งออกนอกกายจึงเป็นสมุทัย เป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อไม่ต้องการความทุกข์ ต้องการดับทุกข์ ต้องไม่ส่งจิตออกนอกกาย ให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา ราคะ โทสะ โมหะ ก็ครอบงำจิตไม่ได้ ความคิดปรุงแต่งก็ดับไป ทุกข์ก็ดับไป และในที่สุดก็สามารถพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
       ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต  ซึ่งจะติดตัวเรา ถูกบันทึกไว้ในจิตใจตลอดไป เราก็จะไม่เป็นทาสของกิเลสต่อไป สามารถอยู่อย่างสงบสุขได้ แต่เราต้องสละความสุขข้างหนึ่งคือสุขจากกามคุณ ๕ (โลกียสุข) ถึงจะได้ความสุขความสงบอีกข้างหนึ่งได้ เป็นความสุขฝ่ายโลกุตตระ ซึ่งเป็นความสุขความสงบที่ถาวรยิ่งใหญ่มาก เป็นบรมสุข ไม่แปรสภาพเหมือนหินผา เพียงแต่ไม่ให้จิตมีอารมณ์เท่านั้น ถ้าจิตมีอารมณ์ภพชาติก็ยังมีอยู่ เมื่ออารมณ์ไม่มีภพชาติก็ไม่มี  ดังพระอรหันต์เป็นผู้ที่ไม่มีอารมณ์ ท่านจบกิจพรหมจรรย์แล้ว ไม่มีกิจอื่นที่ยิ่งกว่านี้ ที่จะต้องทำอีก

********

1 ความคิดเห็น:

  1. ญาติธรรมสามารถติดตามรับชม liveสดและข่าวสารต่างๆได้ที่
    เพจ facebook : หลวงพ่อจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวินและธรรมสถานเดือนเต็มดวง
    https://www.facebook.com/LuangPhorJarun/
    สาธุครับบบบ

    ตอบลบ