วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อริยสัจธรรมนำพ้นทุกข์...พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ




อริยสัจธรรมนำพ้นทุกข์

พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
 


        (นโม ๓ จบ)  ขอกราบนมัสการนอบน้อมต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง และกราบคาราวะครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ เจริญสุขญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

วันนี้จะมาแสดงในสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ เราเคยอ่านเคยศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ทางนี้แลเป็นทางสายเอก ที่หมู่สัตว์ทั้งหลายที่จะข้ามห้วงวัฏวน ห้วงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้ ก็คือ “มรรคมีองค์ ๘” เราอ่านและเข้าใจแล้ว แต่ก็เดินไม่ได้  อ่านทุกตัวอักษร และเข้าใจด้วยว่า ความหมายคือ อะไร? แต่ไม่เป็นรูปธรรมขึ้นมาว่า ทำไมไม่ข้ามไปล่ะ ! แล้วมรรคมีองค์ ๘ เราจะทำอย่างไร? 

มรรคมีองค์ ๘ นั้นเมื่อมองอีกนัยหนึ่ง สรุปเป็นหลักใหญ่ๆ เป็นแง่ของความเป็นเหตุเป็นผลในหลักอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ รู้ทุกข์  รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้การดับทุกข์  รู้ปฏิปทาที่นำไปสู่การดับทุกข์ (ทุกข์ สมุทัย  นิโรธ มรรค)ซึ่งมีความวกวนสับสนลึกลับซับซ้อน เป็นเหตุเป็นปัจจัยปิดบังอำพรางจักขุของเราไม่ให้รู้เห็นได้โดยง่าย ยากต่อการรู้ ทั้งที่ตัวเราก็มีสติปัญญาฉลาดคนหนึ่ง แต่ความฉลาดของเราก็ยังยากที่จะรู้ได้  จะต้องมีความฉลาดในการเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ต้องอาศัยการประพฤติปฏิบัติอย่างจริง  ลำพังสติปัญญาที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะอุบัติสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ 
       คำสอนของพระพุทธองค์จึงเป็นสิ่งรู้ได้ยาก เรียนได้ยาก “ทำอย่างไรจิตเราจึงจะหยุดนิ่ง นี่คือ เป้าหมายที่ทุกคนตั้งไว้ ทำอย่างไรจิตเราจึงจะนิ่ง  ถ้าจิตนิ่งได้เราคงจะมีความสุขมหาศาล หากทำสมาธิจะรู้ได้ว่า จิตที่นิ่งลงไป เราจะสัมผัสรู้ว่ามีความสุข  ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่มีอรรถรส เป็นความสุขอันเกิดจากตัวของตนอยู่ในตัวจิตนั่นเอง  ความทุกข์อยู่ที่จิต  ความสุขก็อยู่ที่จิต  ลักษณะหนึ่ง คือ จิตที่ปรุงแต่งกลับกลายเป็นความทุกข์ และจิตนั่นเองที่คลายความปรุงแต่งออกก็กลับกลายเป็นความสุข

ทั้งที่รู้ว่าการคลายความปรุงแต่งออกเป็นความสุข แต่ทำไมจิตจึงไม่คลายจากความปรุงแต่ง คลายได้ยากเพราะจิตชำนิชำนาญในการคลุกเคล้ากับอารมณ์ตลอดเวลา  จึงเป็นสาเหตุที่เรารู้ได้ยาก  ความปรุงแต่งของจิตปรุงแต่งเท่าไรเท่ากับปกปิดเท่านั้น ความปกปิดเหล่านี้เกิดจากความปรุงแต่งเป็นเหตุ เราจะเห็นว่าเรามานั่งสมาธิปรุงแต่งมากเท่าไรก็ปกปิดเท่านั้น  ความปกปิดเหล่านี้เกิดจากความปรุงแต่งเป็นเหตุ จึงเป็นเหตุที่เรายิ่งไม่รู้ใหญ่ เพราะว่าความไม่รู้เหล่านั้นเกิดจากความปรุงแต่งเป็นเหตุ เหมือนเราส่องกระจกบานหนึ่งที่วางไว้ มือหนึ่งกำฝุ่นไว้อีกในมือแล้วโรยฝุ่นลงบนกระจก อีกมือหนึ่งก็ปัดออก  ทั้งโรยทั้งปัด แล้วเราจะเห็นเงาได้อย่างไร? อุปมาอุปไมยว่าความปรุงแต่งนี้มีอยู่ เราพยายามจะมองให้เห็นความจริงในความปรุงแต่งมองไม่ได้ ยิ่งคิดเท่าไรก็ไม่รู้ ความปรุงแต่งยิ่งมากยิ่งรู้ไม่ได้เลย  เมื่อรู้ไม่ได้ความปรุงแต่งนี้บล็อกตัวเองอยู่ ทำให้ตัวเองหลุดจากภาวะนั้นไม่ได้ ก็ยิ่งไม่รู้ใหญ่  อยากจะรู้ก็อยากจะรู้ แต่ความปรุงแต่งก็กีดกันไม่ให้รู้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งอันนำมาซึ่งความยากเย็นสับสนที่จะรู้ตรงนี้ได้
       ดังนั้น การประพฤติปฏิบัติเราจะต้องเข้าใจในหลักโครงสร้างใหญ่ๆ เมื่อเราต้องการให้จิตนิ่งอยู่ให้นานที่สุด นิ่งอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน เราคงจะมีความสุขมาก ถ้าคนไหนที่คิดอย่างนี้คนนั้นคิดถูกต้อง ตรงเป้าหมาย แต่รู้ไหมว่า ความคิดที่จะให้จิตสงบเช่นนั้น  เราจะต้องสละบางสิ่งบางอย่างออก คือ อารมณ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในจิต อารมณ์ของจิตเกิดจากการดำริทางที่ผิด ก็หมุนจิตไปทางผิด ไม่ใช่ทางอะไร คือ ทางผิดและทางนั้นไม่ใช่ทางให้จิตหยุดนิ่ง เป็นทางเดินเก่าที่เราเดินอยู่นั่นเอง  

ทางเดินเก่าตรงนี้มีตรงไหน? ล่ะ  มีตรงที่เมื่อก่อนจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จิตเราเดินทางอยู่ตรงไหนเล่า? ก็เดินอยู่ตำแหน่งจุดนั้นนั่นแหละ  ถ้าจุดนั้นเป็นไปเพื่อความดี ความเจริญแล้ว ก็คงเจริญมานานแล้ว เพราะตรงนั้นเราเดินมานานแล้ว จุดนั้นนำมาซึ่งความทุกข์มีประการต่างๆ สิ่งเลวร้ายต่างๆอยู่ในจิตใจนั้นตลอดมา เพราะว่าตรงนั้นเป็นเหตุ  เราจะต้องเห็นโทษตรงนั้นว่า ตรงนี้ไม่ควรจะเดิน ใจเดิน ณ ที่เดิมเป็นของโลกนี้  โลกเดินทางอยู่ตรงนี้ คือ เดินอยู่ในอารมณ์ต่างๆ มานมนานแล้ว เราจะต้องมองเห็นโทษของเส้นทางนี้ว่า “ทางเส้นนี้นำมาซึ่งความไม่สงบ  ความเป็นผู้มีอารมณ์น้อยใหญ่ทั้งหลายปรุงแต่งตลอดเวลา  ไม่สามารถที่จะสงบระงับได้”  เราจะต้องดำริออกมาจากทางเหล่านั้น แล้วพาจิตเดินทางเส้นใหม่  ทางเส้นนี้เป็นทางที่เราต้องสร้างขึ้นโดยเหตุที่ว่า  มองถึงหลักความเป็นจริง เป็นใหญ่  ว่า ทางเส้นนั้นเราจะถึงจุดจบ เพราะความสิ้นอารมณ์นั้นได้อย่างไร ?  ทางเส้นใหม่เป็นทางที่เข้าไปสู่ความสงบระงับ เดินทางตรงไหนล่ะ ก็คือ การน้อมจิตพิจารณาอาการ ๓๒ ของเรานี้เนืองๆ เราอย่าทำสมาธิอย่างเดียว  แต่เราจะต้องทำสมาธิด้วยไม่ใช่ว่าไม่ทำ เพียงแต่ว่าอย่าทำสมาธิอย่างเดียว 

คำว่าสมาธินี้คือ อะไร? สมาธิมีกี่อย่าง ? สมาธิ คือ การทำให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว  การทำให้จิตหยุดนิ่งนี้ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นก็มีมา การบังคับให้จิตนิ่งจะพบเห็นได้จากฤาษีชีไพรต่างๆ ที่ทำอุบายเพ่งไฟบ้าง  น้ำบ้าง  ลมบ้าง  ส่วนมากก็เพ่งกองไฟเรียกว่า บูชาไฟ  เพื่อให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวคือ ไฟ  เรียกว่า เพ่งกสิณนั่นเอง  ทำยังไงถึงจะทำอุบายให้จิตหยุดนิ่งลง  แต่การหยุดลักษณะนี้ เป็นการบังคับให้จิตนี้หยุด แล้วจิตคงจะเหือดแห้งต่ออารมณ์ในที่สุด แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  อุปมาดังต้นไม้ต้นหนึ่งหรือกอหญ้าเมื่อโตขึ้นมา เราก็ตัดยอดให้ได้ระดับความสูงต่ำตามที่เราต้องการ  สนามหญ้าที่เราต้องคอยตัดแต่งอยู่เสมอ แต่เมื่อหยุดตัด หญ้าก็ขึ้นมาอีก เพราะรากเหง้ากอหญ้ายังมีอยู่  เราจะบังคับให้จิตนิ่งลงก็ไม่อยู่ได้นาน เพราะจะมีจุดอิ่มแล้วคลายจากสมาธิออกมา  เหมือนเรานอนหลับถึงที่สุดแล้วก็ต้องตื่น มีขีดจำกัดว่าความพอเพียงแค่ไหนที่เราจะนอนอยู่ตรงนั้น  ความพอดีอยู่ตรงไหน ?  และเมื่อคลายตัวเองออกมาแล้ว อารมณ์ก็มีเหมือนเดิมอีก ให้จิตสงบลงไปมากๆ เท่าไรเมื่อคลายตัวออกก็มีอารมณ์อีกแล้ว  อารมณ์อย่างเดิมที่เรามีอยู่ทั้งที่เราไม่อยากจะให้มีอารมณ์แต่ก็เป็นไปได้ยาก  เพราะว่าเราบังคับปลายเหตุ  ก็คือเราไม่ต้องคิดสั้นคิดยาว คิดเพียงว่าให้จิตนิ่งอยู่ตรงนั้น เป็นการตัดปัญหาทุกอย่างไม่สาวหาอะไร  แต่บังคับให้หยุดอยู่ตรงนั้นเลย ยิ่งบังคับมากๆ จิตก็นิ่งได้ นิ่งลงไปๆๆ ในจิตเราจะเป็นสมาธิ และตรงนี้ เราควรจะรู้และควรปฏิบัติด้วย อย่างน้อยก็จะเป็นการเรียนรู้และศึกษาค้นคว้าว่า จิตมีอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง  และจะมีผลเป็นอย่างไร? นี่เป็นความรู้อันหนึ่งที่เราจะต้องค้นคว้าตรงนี้ด้วย และหลายๆอย่างที่เราจะต้องค้นคว้าตรงนี้  สมาธิตรงนี้จะเป็นสมาธิจิตที่นิ่งลงไป เมื่อคลายตัวออกมาก็จิตก็คิดอีกแล้ว  ตัวเองก็ไม่ชอบว่าปรุงแต่งเป็นทุกข์กลัวอารมณ์มาก เพราะอารมณ์ทำให้ตัวเองอยู่ไม่ได้ ทำให้เซกวัดแกว่ง เพราะว่าระหว่างที่จิตสงบลงไปเป็นลักษณะอาการข่มขี่บังคับประคับประคองให้จิตสงบลงไป การที่จิตสงบจริงๆ ทำอย่างไร? ให้จิตสงบทั้งในสมาธิและเมื่อคลายจากสมาธิแล้ว จิตยังคงสงบอยู่เป็นเช่นนี้จักมีไหม? ตอบได้ว่า มีอยู่ เราจะต้องค้นคว้าลึกเข้าไปอีกด้วยเห็นว่า การบังคับให้สงบไม่พอเสียแล้ว    

 การทำสมาธิเมื่อจิตสงบลงไปๆๆ แล้วจิตกับตัวแยกความรู้สึก บางครั้งตัวของเราไม่รับรู้เหลือแต่จิตดวงเดียว  เมื่อจิตนิ่งลงมากๆๆ ตัวของเราจะสั่งงานอะไรไม่ได้ ขยับมือขยับแขนขากระดิกแข้งขาทำไม่ได้เพราะจิตขาดการสืบต่อ ขาดความสัมพันธ์กับร่างกาย ถ้าจิตดิ่งลึกเข้าไปอีกจะเหลือแต่จิตดวงเดียว ตัวเราไม่รับรู้เลย  นั่งสมาธิยาวนานเป็นวันเป็นคืนได้ เพราะไม่รับรู้เรื่องตัว แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่ง สมาธิจะอิ่มแล้วคลายออกมาสู่ภาวะเดิม แล้วความปรุงแต่งก็มีเหมือนเดิมเหมือนเก่าก่อน  จิตไปแค่ไหนก็ออกมาอยู่แค่นั้น  นี่คือสมาธิปกติทั่วไป ไม่ได้เป็นสมาธิที่อยู่ในอริยมรรค อริยผล แต่เป็นสมาธิที่มีอยู่ประจำโลกนี้ เป็นสมาธิแบบโลกีย์  แล้วเขาก็เพียรพยายามหาวิธีต่างๆที่จะให้จิตสงบ เมื่อคลายจากสมาธิแล้วจิตยังคงสงบ ความปรุงแต่งจะต้องไม่มี หาอย่างไรๆก็ไม่เจอ ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาลมาแล้วที่มีการค้นคว้าเรื่องนี้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงค้นคว้าเรื่องนี้มาก่อน  พระพุทธองค์ทรงออกผนวชแล้วก็ไปเรียนจากอาฬารดาบสและอุทกดาบสได้สอนเรื่องฌานและอรูปฌาน  คือ การทำสมาธิแบบโลกีย์ เป็นสมาธิที่จิตนิ่งดิ่งลงลึกมากๆ จนจิตเข้าสู่ฌานและอรูปฌานกายไม่รับรู้แล้ว เหลือแต่จิตดวงเดียวที่สว่างไสวอยู่  ครั้นเมื่อคลายจากสมาธิความคิดก็เริ่มทำงานอีกกลับสู่ภาวะเดิม  การปรุงแต่งก็เริ่มมีอีก พระพุทธองค์ทรงมองว่า ทางนี้ไม่ใช่ทางแห่งการพ้นทุกข์เสียแล้ว  แล้วทางไหนเล่าจะใช่ทาง  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะเป็นทางไหน ?  บางคนทำสมาธิแล้วจิตจะอยู่ตรงนี้เรื่อยๆ ไม่รู้จะทำใจอย่างไร? ทำอย่างไร?    เพราะว่าทำไปก็แค่นั้น ทำไปก็อยู่แค่นั้น  นี่สำหรับคนที่มีสมาธิ  ส่วนคนที่ไม่มีสมาธิก็ยังไม่ต้องพูดถึงตรงนี้ เพราะยังเข้าใจไม่ได้ก็ไม่เป็นไร  ค่อยๆ เรียนรู้ให้พอกพูนไป  ที่กล่าวมานี้ คือ สมาธิประเภทที่หนึ่ง  เมื่อจิตมารับรู้เรื่องกายหยาบแล้ว จะรู้ตัวทั่วพร้อมอายตนะทั้ง ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานดึงไปคนละทิศเลย จิตจะแส่ส่าย เราจะประคองให้จิตนิ่งปิดหูปิดตา  แล้วเขาจะวนอยู่อย่างนี้ หาทางไปไม่ได้ ตันอยู่ตรงนั้น
       ส่วนสมาธิอีกแบบหนึ่ง เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ เขารู้ว่าสมาธิแบบโลกีย์แก้อะไรไม่ได้ เขาจะต้องค้นหาสมมุติฐานของความปรุงแต่งของจิตว่า   จิตที่ปรุงแต่งตลอดเวลาเหมือนน้ำผุดไหลออกอยู่ตลอดเวลา แหล่งกำเนิดต้นเหง้าเค้ามูลของเขาอยู่ตรงไหน ?  ดังพระอัสสะชิ  ได้แสดงธรรมแก่พระสารีบุตรไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ  แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเหตุและความดับของธรรมนั้น”  เราต้องสาวหาเหตุหาผล ความคิดความปรุงแต่งเหล่านี้ต้องมีรากเหง้าที่มา  แต่ทำอย่างไรจะค้นเจอว่ารากเหง้าเค้ามูลของเขาอยู่ตรงไหน ?  เราจะได้ไปดับตรงนั้นให้เหือดแห้งเสียที นี่คือ สิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าหมายเอาไว้  แต่ยังมืดมนสับสนสำหรับคนที่ยังไม่รู้  ความคิดความปรุงแต่งมาจากไหน ? แหล่งกำเนิดอยู่ที่ไหน ? เราต้องทำลายแหล่งกำเนิดนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องมาคิด  ความคิดจะได้ไม่ต้องมายุ่งกับเรา คือ ต้องดับสนิทตรงนี้  ใหม่ๆ เราจะไม่เข้าใจตรงนี้ เพราะยังไม่แจ้งแก่เรา ถ้าเรามายืนจุดนี้ได้แล้วต้องทำ เพื่อจะเป็นการไต่เต้าไปสู่สมาธิอีกประเภทหนึ่ง เมื่อทำสมาธิแล้วจะเห็นว่าจิตสงบและมีความสุข สุขจริงๆ สุขเพราะจิตไม่คิดอะไร  “แท้จริงความสุขอยู่ที่การวางของจิต คือ จิตปล่อยวางอารมณ์นั่นเอง”  เมื่อมีอารมณ์อยู่จิตก็รู้ว่าทุกข์ แต่ทำไมจิตไม่ค่อยจะปล่อยวางอารมณ์  เหมือนกับเราหยิบถ่านไฟรู้ว่าร้อนแต่ไม่ค่อยจะวางมือ ตัวเองก็เกิดการเผาไหม้ทำให้ร้อนรุ่มเร่าร้อนไปตลอด  รู้ทั้งรู้ว่าจิตคิดไปเป็นทุกข์ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ลึกๆ แล้วจิตก็ไม่ชอบด้วย แต่ทำไมไปคิดละในเมื่อไม่ชอบ  เราเองก็อยากจะละแต่ก็ละไม่ได้ เพราะว่าตรงนี้ยังมืดมนสับสน เรายังตีปัญหาไม่แตกไม่เป็นไรทำไปก่อน  อันไหนรู้ก็รู้ไป อันไหนที่ไม่รู้ก็เก็บไว้ก่อนค้นไปเรื่อยๆ  เดี๋ยวก็จะรู้เอง คนศึกษาก็ต้องศึกษาทั้งระบบ  “มีตัวละครอยู่ในจิตที่มีบทบาทต่างๆตรงนี้คือเรา สามารถจะแยกแยะระหว่างจิตที่สงบกับไม่สงบออกว่า เวลาที่จิตสงบมีความสุขมาก แต่เวลาที่จิตไม่สงบเป็นทุกข์มาก” หาความแตกต่างระหว่างจิตสองอย่างนี้ เพื่อเลือกข้างใดข้างหนึ่งที่เห็นว่าดี  แน่นอนดีตรงที่สงบนั่นแหละ  เลือกตรงนั้นเพราะว่าจิตสงบดี  เมื่อเลือกแล้วเราจะเห็นสิ่งตรงข้าม เห็นความไม่สงบเป็นศัตรู  เป็นอุปสรรคขวากหนามที่เราไม่ต้องการ 

ถ้าคนมายืนอยู่จุดนี้แล้วคนๆนั้นเริ่มรู้ว่า ความปรุงแต่ง คือ ความทุกข์ เพราะการเดินทางเหล่านี้ จะต้องรู้อริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การประพฤติปฏิบัติที่นำไปสู่ทางดับ  ทุกข์จะต้องรู้ตรงนี้  แต่ว่าเรารู้ทีเดียวไม่ได้  รวมทั้งหมดของความทุกข์เกิดจากความปรุงแต่งของจิต  เมื่อเราสงบลงไปจะเห็นข้อแตกต่างของจิตสงบ คือ เป็นสุข  จิตที่ไม่สงบเป็นทุกข์  ถ้าบุคคลนั้นเริ่มแยกแยะได้ว่าตัวละครตัวไหนเป็นตัวที่ไม่ดี  ธรรมชาติของคนเราต้องการความสุขอันเป็นที่ต้องการของทุกคนที่มีชีวิตอยู่ รวมทั้งสรรพสัตว์ด้วย  เราก็เห็นศัตรู คือ ความไม่สงบนั้นเป็นโทษทุกข์  คนนี้รู้ทุกข์แล้ว แต่ยังรู้ลึกกว่านั้นอีกว่า เมื่อรู้ว่าความปรุงแต่งเป็นทุกข์  แล้วความปรุงแต่งจะดับได้อย่างไร ให้ขาดไปได้อย่างไร  แหล่งผลิตความปรุงแต่งให้ออกมาอยู่ตรงไหน? ต้นเหง้าเค้ามูลอยู่ตรงไหน? ดับเสียที่ต้นเหตุ  เพราะการจะให้หยุดอย่างเดียวโดยไม่ดับที่ต้นเหตุคงไม่สำเร็จประโยชน์     
       อริยสัจ ๔ เรารู้ข้อแรกก่อน คือ “ทุกข์” อีกสามข้อยังไม่รู้  ทุกข์ คือ ความปรุงแต่งทุกอย่างเป็นทุกข์ทั้งหมด  เริ่มรู้ทุกข์ เหตุของความปรุงแต่ง แต่เราไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน?ไม่เป็นไร แล้วการดับความปรุงแต่งจะดับอย่างไร  เราไม่รู้ไม่เป็นไร  จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะดับความปรุงแต่งได้ไม่รู้ และวิธีเดินก็ไม่รู้  ไปถามผู้รู้อีกทีว่า จะทำอย่างไรตรงนี้  อริยสัจ ๔  ข้อ  เรารู้เพียงข้อเดียว อีกสามข้อไม่รู้ เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยสักข้อไม่แย่กว่านี้หรือ? 
       อริยสัจธรรมทั้ง ๔ เป็นหัวใจของการเรียนรู้พระพุทธศาสนาทั้งหมด  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เราและเธอทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานเพราะไม่รู้ในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ นี้เอง เมื่อรู้แล้วเราและเธอทั้งหลายจะพ้นจากทุกข์ได้  ก็ด้วยอาศัยความรู้ในอริยสัจธรรมทั้ง  ๔ นี้ แสดงว่า อริยสัจธรรมทั้ง  ๔ เป็นหัวใจอันสำคัญที่เป็นโครงสร้างลักษณะของการรู้สิ่งลึกลับซับซ้อนต่างๆตามความเป็นจริง 

พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์ให้กัมมัฏฐาน ๕ แก่ผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ แปลว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง รู้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่ให้เจริญกัมมัฏฐาน ๕ ซึ่งดูๆไปแล้วเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไร  สิ่งเหล่านี้เราก็รู้จัก แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องมาเรียนรู้เรื่องลึกลับซับซ้อนจากสิ่งเหล่านี้ได้  เราไม่อยากจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เพราะจุดประสงค์ของเราอยากจะดับความปรุงแต่ง  ทำไมจึงต้องมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วย เกี่ยวข้องอะไรกับผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เหมือนกับว่าต้องการสิ่งหนึ่งแต่ไปบอกให้ทำอีกอย่างหนึ่ง  ต้องการดอกแต่ไปบอกต้น  ต้องการต้นแต่ไปบอกราก  ความจริงแล้วเป็นอันเดียวกัน แต่เราไม่เข้าใจ

       เราต้องการให้จิตหยุดความปรุงแต่งเท่านั้นก็พอใจแล้ว  ทำไมต้องไปเกี่ยวกับผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เสมือนกับว่าไม่ตรงประเด็นไม่ตรงเป้าหมายที่เราต้องการ  ความจริงเป็นอันเดียวกัน แต่เราไม่เข้าใจ  อันนี้ไม่เป็นไร  ทำไปก่อน เอาจิตมาเดินทางดูสิ่งเหล่านี้ให้เห็นทำให้แจ้ง แสดงว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของมืดสำหรับเรา ลองหลับตาดูนึกถึงรูปพรรณสัณฐานของเรา ตั้งแต่ศีรษะ  คิ้ว  คาง  หน้า  ตา  มีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร  นึกให้ออก  มองให้เห็น เราไม่ได้ใช้ตาเนื้อ  แต่ใช้ตาใน(จิต)  จิตของเรานึกอย่างอื่นเห็นได้หมด  เราก็นึกมองตัวเองด้วยตาในให้เห็น  ถ้านึกไม่ออก มองตนเองไม่เห็น เราก็นึกถึงคนอื่นไม่ได้ด้วยสิ  แต่เมื่อลองเอาจิตนึกเห็นคนอื่นดู สิวเม็ดหนึ่งยังนึกได้เลย เห็นแจ้งหมด เห็นได้อย่างไร? ตาเราหลับแต่ยังนึกเห็น หลับตาก็ยังเห็น เห็นด้วยตาใน คือ จิตคนเราเห็นข้างนอกหมด หลับตาก็ยังเห็น เห็นด้วยตาใน แต่ไม่เห็นอย่างเดียว คือ ตัวเรา ซึ่งเป็นที่ตั้งของผม ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง นั่นเอง
       แปลกไหม? นึกเห็นคนอื่นได้ เราก็นึกเห็นเราได้ด้วยสิ ไม่ยุติธรรมเลย ทำไมอันนั้นต้องปิดไว้ อันนี้ให้เห็น หยุดจิตไม่อยู่ จิตไม่สงบ เห็นไปทั่วนึกไปทั่ว แต่ทำไมนึกเห็นตัวเองไม่ได้ของใกล้กลับไกล ของไกลกลับใกล้  แค่นี้เราก็เห็นความแตกต่างระหว่างจิตที่อยู่คนละสถานะต่างกันลิบลับ ทำไมเห็นที่หนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง แล้วเห็นอีกทีหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ  เรารู้ข้อหนึ่งก่อน อีกสามข้อยังไม่รู้ เก็บไว้ก่อน ไม่เป็นไร  ให้ทำตรงนี้ก่อนคือ  กัมมัฏฐาน ๕ แต่ไม่ใช่จะบังคับให้จิตนิ่งอย่างเดียว  เริ่มเปลี่ยนแปลงแผนการแล้ว  กลยุทธ์เดิมไปไม่รอด ทำสงครามแล้วสู้ไม่ได้  เริ่มปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ ไม่เน้นสมาธิที่ทำให้นิ่งอย่างเดียว  เราเอาจิตมาดู
ร่างกายเป็นหลักเกณฑ์จะทำอย่างไร?  เราจะเดินทางอย่างไร ?         
       ข้อแรก
  เราจะต้องปิดทางเส้นเดิมก่อน  ถ้าเราพิจารณาเห็นตัวเองบ้าง ส่งจิตไปข้างนอกบ้าง ก็เหมือนเราพายเรือทวนน้ำ พายบ้างแล้วปล่อยให้เรือไหลตามน้ำบ้างก็มีค่าเท่าเดิม แล้วจะเป็นยังไง เพราะกระแสน้ำไหลไปเอง  แต่เราต้องพายเรือทวนกระแสน้ำ  เวลาจิตคิดก็จะไหลเอง แต่เวลาจะให้หยุดต้องบังคับให้ไปสวนกระแสกัน  ฉะนั้น เราจะต้องเห็นว่าถ้าปล่อยให้ไหลเองตลอด เราไม่เห็นหรอก อยู่ตรงนี้แต่จิตไหลไปตรงโน้น เป้าอยู่ซ้ายมือแต่เราไปทางขวามือ  เราอยากจะมองเห็นตัวเอง แต่ส่งจิตออกข้างนอก  เป็นคนละทิศกันแล้วจะทำอย่างไร  ก็มองทิศเดียวสิ  มองนานๆ  เมื่อทิศโน้นไปไม่สิ้นสุด เราก็มองทิศนี้ให้สิ้นสุด  ทิศข้างนอกเป็นจิตปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา แล้วจุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหนไม่มี  เวิ้งว้างกว้างไกลหาขอบเขตไม่ได้ ขอบเขตของจิตข้างนอกไม่มี ขีดจำกัดของขอบเขตแน่ชัด  คือขอบเขตของตัวเรา เราจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ คือ ให้จิตวิ่งมาทางนี้  แล้วหยุดข้างโน้นเสีย เริ่มเป็นแผนใหม่ไม่ใช่เป็นการทำจิตให้นิ่งเพียงอย่างเดียว เป็นคนละอย่างกันแล้ว  
       เราจะเห็นความแตกต่างของการ
กระทำสองอย่างนี้ต่างกัน ทำไปแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ? อริยสัจธรรมทั้ง ๔  เรารู้เพียงข้อเดียว อีกสามข้อเรายังไม่รู้  ผลการประพฤติปฏิบัติจะเปิดให้เห็นเอง คำถามใดมีอยู่คำตอบนั้นเราจะตอบได้เอง  คำถามนั้นเราถามแล้ว เราเป็นผู้ตอบเอง เมื่อถึงเวลาก็จะคลายปัญหาได้ บอกสอนอะไรไปให้ทำไปก่อน  พิจารณากัมมัฏฐาน ๕ ทำไปก่อน  การค้นคว้าศึกษาและทำจิตเช่นนี้เรียกว่า  “วิปัสสนา” ส่วนแบบแรก การข่มจิตให้สงบนั้นเรียกว่า “สมถะ”  ดูอาการก็ต่างกัน เราควรจะเรียนรู้ทั้งระบบแล้วค่อยแยกแยะอีกทีหนึ่ง  เวลาทำเราต้องปิดกั้นกระแสทางเดินของจิตที่เคยเดิน เดินข้างนอกปิดไว้เหมือนนายทวารจะออกเมื่อไรดักไว้ ไม่ให้ออก  เมื่อก่อนเราไม่เคยดักเลย  ไม่ได้ปิดทวารเลย ปล่อยออกอย่างเดียว  ปล่อยออกนอกประตูเลยไปกันใหญ่ ไปอย่างสบายเลย ตอนนี้เราจะเริ่มกักแล้ว  จะออกหรือหยุดไว้ก่อน ตีต้อนเข้ามา  นำจิตดวงนี้พิจารณาร่างกายมองที่มืดตรงที่มองไม่เห็นตรงนั้นแหละ  มืดตรงไหนมองตรงนั้น แล้วจะแจ้งตรงที่มืดนั้น  นำจิตดวงนี้พิจารณาร่างกาย มองที่มืดที่มองไม่เห็นให้เห็นขึ้นมา  เอาจิตอบรมอยู่ในตัวของเรามองดูอาการ ๓๒  โน้มเอียงไปในลักษณะตามความเป็นจริงของสกนธ์กายด้วยว่า ต่อไปเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย สมมุติความเป็นไปต่างๆ เหล่านั้นมาปรากฏในดวงจิตนั้นด้วย  เรียกว่า “สัญญา” นึกถึงความไม่เที่ยงเรียกว่า  “อนัตตสัญญา”  นึกถึงความตายเรียกว่า “มรณสัญญา”

       อนัตตสัญญา  นึกถึงความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา  พิจารณาตามความเป็นจริงที่จะเป็นไปในอนาคต  เอาอารมณ์เหล่านั้นปรารภแล้วมองให้เห็นด้วย เพราะว่าการมองเฉยๆจิตไม่อ่อนโยน เหมือนกับเราทำกับข้าวไม่มีเครื่องปรุงก็จืดชืดทำนองนั้น การที่โน้มจิตอย่างนั้นแล้วก็นึกอยู่ในสัญญา  อาทิ  อสุภสัญญา  อนัตตสัญญา  มรณสัญญา  อทินนาวสัญญา  เห็นโทษเห็นภัย  พิจารณาความไม่เที่ยงตลอดเวลา  เพื่อให้ได้อรรถรสของการโน้มจิตไปอีกลักษณะหนึ่ง  เป็นของกลางๆ อยู่ข้างนอกก็เป็นอารมณ์อยู่ข้างในก็เป็นอารมณ์เกี่ยวกับความเป็นจริงของร่างกายอันนี้ ข้างนอกเป็นอารมณ์ที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ไม่รู้ว่าอารมณ์อะไรเต็มไปหมด  ปรารภให้อารมณ์ภายในให้คลุกเคล้ากับความเป็นจริงของร่างกายให้คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา 

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญการเจริญสัญญาให้เรานึกอยู่บ่อยๆ ทำอยู่บ่อยๆ การทำเช่นนี้เรียกว่า  “โยนิโสมนสิการ”  แปลว่า การใส่ใจในอุบายที่แยบคาย อุบายเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของสิ่งที่จะเป็นไป คือ จะต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย  ทำเลที่นึกนั้นเอาตัวเราจริง ๆ อย่าไปนึกอยู่ข้างนอก เรานั่งอยู่ตรงไหนอิริยาบถใดก็เอาความเป็นจริงนั้นเป็นสนามการต่อสู้  พิจารณาตามจริงแล้วโน้มจิตไปเราแก่แล้ว ต้องเจ็บ  ต้องตาย  นึกว่าเราเข้าโรงพยาบาลผ่าท้องผ่าไส้ดู เอาสติปัญญานึกไปอย่างนั้น ตัวเราไม่เห็นไม่เป็นไร สมมุติภาพขึ้นมาตามจริงเป็นการสมมุติการเห็นภาพ เพื่อให้จิตสร้างที่อยู่ใหม่ อารมณ์ใหม่ให้กายเป็นที่อยู่ของจิต ที่ไม่ใช่อารมณ์เดิมที่อยู่ข้างนอก  เราจะเปลี่ยนที่ตั้งใหม่ฐานใหม่สร้างที่ตั้งใหม่  สร้างตำแหน่งใหม่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนตำแหน่งข้างนอกที่เราสลัดออกไป เพราะธรรมชาติของจิตจะอยู่โดดเดี่ยวไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยไม่ได้  เหมือนน้ำที่เราต้องการนำมาใช้ ก็ต้องหาภาชนะมาใส่ น้ำจะตั้งอยู่โดยไม่มีภาชนะเป็นเครื่องอยู่ไม่ได้ เพราะจะไหลออกฉันใดก็เหมือนกัน  จิตก็เหมือนน้ำจะให้จิตนิ่งอย่างเดียวอยู่โดดๆไม่ได้  ต้องมีที่อาศัยอันเป็นเครื่องอยู่ของจิต   เดิมจิตไม่มีเครื่องอยู่หรือ? มีแต่เครื่องอยู่นั้นเป็นเครื่องอยู่ข้างนอกกาย กลายเป็นว่าเครื่องอยู่นั้นคืออารมณ์ เครื่องอยู่ภายในก็คือ เนื้อหนังของเรานี่เองปรารภอารมณ์เหมือนกัน ตามความเป็นจริงของร่างกายอันนี้เป็นอารมณ์ และเป็นเนื้อหนังอาการ ๓๒ ของเราเป็นที่อยู่ใหม่  บุกเบิกทางเส้นใหม่ที่จิตของเราไม่เคยเดินมาก่อน การทำอย่างนี้เราไม่เคยทำ เพิ่งจะมาศึกษาตรงนี้แหละ เรารู้อะไรไม่ได้ มองไม่เห็น เพราะเดินทางเส้นเดิมมานานแล้ว  ตำแหน่งของการกระทำไม่ใช่ทางอันเดิม เราจะต้องโอนย้ายจิตจากภาวะเดิมที่มีอยู่ ไปอีกภาวะหนึ่งที่เราไม่เคยอยู่มาก่อน ต้องเปลี่ยนระบบทั้งหมดไม่ตั้งอยู่ตรงเดิมนั้น เราพิจารณาอาการ ๓๒  แล้วโน้มเอียงตามลักษณะความเป็นจริงของอาการ ๓๒  ตลอดเวลา เพื่อให้จิตปรารภสิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์เดียว  อารมณ์อันเดียวนี้คือตัวเราทั้งหมด  เพื่อทดแทนอารมณ์ข้างนอกที่ไม่ให้มีขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้น แล้วกั้นเอาไว้  อารมณ์จะออกก็กั้นไว้อย่างเดียว เพราะยังไม่รู้จักโทษอะไร  จิตก็ไม่รู้ เราเองก็ไม่รู้ ต่างคนต่างไม่รู้เป็นเพื่อนร่วมทางกัน  ทำตามคำสอนอย่างเดียว ทำอย่างไรมาก็ทำอย่างนั้นไปก่อน  พอเข้าใจแล้วก็ร้อง อ๋อ ! ทีหลัง    

       ต่างคนต่างหลงทางเพราะไม่เคยเดิน เราก็ไม่รู้ จิตก็ไม่รู้ ดูๆแล้ว เหมือนคนสองคน สังเกตดูอีกตัวหนึ่งอยากให้คิด  อีกตัวหนึ่งอยากให้หยุด  ตัวหนึ่งจะคิดไม่ดี  อีกตัวหนึ่งก็อยากให้คิดดี  เคยเถียงกับตัวเองไหม?  อยู่คนเดียวระวังความคิด  อยู่กับมิตรระวังวาจา  อยู่คนเดียวยังไม่พ้นเลย จิตยังทะเลาะกันถกเถียงกันเลย  อันนี้คือ ความเป็นไปต่างๆ ของความเป็นจริงที่จิตมีอยู่  แล้วบำเพ็ญตรงนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา ทำให้มากเจริญให้มาก ทำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน  แล้วจะเป็นที่อยู่ใหม่ของจิต  ถ้ายังไม่เห็นสมมุติภาพขึ้นมาก่อน เนื้อหนังมังสาของเราตรงนี้ เล็บเป็นอย่างไร มีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร สมมุติภาพตามจริงมาก่อน แล้วเอาจิตกำหนดรู้ บริเวณนั้นจริงๆ จิตก็อยู่ตรงนั้น  ความรู้ก็อยู่ตรงนั้น  ความเห็นก็อยู่ตรงนั้น  เน้นเห็น อย่าไปเน้นรู้ ตัวเห็นสำคัญ  มีรู้กับเห็น แต่เราเอาเห็นเป็นตัวเดิน เพราะว่าข้างนอกเป็นอารมณ์ก็เห็น แต่ข้างในก็ต้องนึกเห็น อย่าไปนึกรู้ เพราะว่ารู้ยังสำเร็จประโยชน์ไม่ได้ นึกเห็นตัวเองอยู่ประจำนานเข้าๆ เริ่มเห็นเป็นจริงขึ้นมา  เพราะการกระทำบ่อยๆ

จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งถ้าอยู่ข้างนอกไม่นิ่ง  เมื่ออยู่กับตัวเองมากเข้าๆจะเริ่มนิ่ง เป็นการนิ่งด้วยพิจารณาได้ด้วย ท่ามกลางความนิ่งอันนั้น จะว่านิ่งก็ไม่เชิง จะว่าพิจารณาก็ไม่ใช่ ดูเหมือนว่าเป็นอารมณ์พิจารณา  อารมณ์พิจารณาไม่ใช่จิตอยู่ข้างนอก  เป็นจิตอยู่ข้างในทั้งหมด จิตที่อยู่นอกตัวไม่ใช่เลย ทำบ่อยเข้าๆๆ ไม่เห็นไม่ยอม มองไปพิจารณาไป สมมุติภาพขึ้นมาเรื่อยๆในตัวเรา  อย่าไปส่งจิตออกข้างนอก  ถ้านั่งตรงนี้เห็นตัวเองลอยอยู่ตรงโน้นก็ไม่ใช่  การเห็นอย่างนั้นเป็นการส่งจิตออกนอก  เอาตัวเองเป็นเกณฑ์ว่า เรานั่งอยู่ตรงไหน  เอาตัวเองเป็นเกณฑ์หมดไม่ให้จิตส่งออกไปจากตัวนี้เลย  ให้จิตวนอยู่ในสรีระอันนี้  ทำตรงนี้บ่อยเข้าๆๆ เราจะเริ่มเห็นตามจริงที่เราสมมุติขึ้นมา สิ่งที่เราสมมุติขึ้นว่ารูปพรรณสัณฐานอย่างนั้นอย่างนี้เป็นการจินตนาการไปก่อน  แล้วจะเริ่มเห็นเป็นจริงขึ้นมาอีกทีหนึ่ง  เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว อาศัยความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตเลย เป็นเครื่องอยู่ใหม่ จิตนี้ต้องมีเครื่องอยู่แทนที่เครื่องอยู่เก่า อุปมาเหมือนน้ำ ถ้าไม่มีภาชนะอยู่ไม่ได้  จึงต้องมีภาชนะรองรับ  ฉะนั้น เมื่อจิตย้ายเข้ามาก็ต้องมีที่อยู่ของจิตในอาการ ๓๒ จิตอยู่ในอาการ ๓๒  เป็นการอยู่ของจิตอย่างมั่นคง  จะก่อตัวเป็นสมาธิขึ้นมา  การกระทำตรงนี้นานเข้าๆ  จิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เราปรารภอยู่ในตัวมากๆแล้ว จะเริ่มสว่างขึ้นมา  ใหม่ๆจะเป็นแสงระยิบระยับเหมือนกับแสงหิ่งห้อย แล้วก็จะโตเท่าดวงดาว ดวงเดือน ผลที่สุดสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ สว่างไสวขึ้นมาเรื่อยๆ นั้น  เรียกว่า ทำให้แจ้ง ทั้งแจ้งของตัวความสว่างของจิตนั้นด้วย และแจ้งในความรู้เห็นในตัวของเรานั้นด้วยควบคู่กันไป    

       แต่ความแจ้งจะมีอีกอย่างหนึ่ง  เป็นการทำสมาธิแบบสมถะธรรมดา  แบบมองไม่เห็นตัว แต่เน้นให้จิตเป็นสมาธิก็สว่างจ้า แต่มองไม่เห็นตัว  อุปมาเหมือนการเปิดไฟฉายแล้วส่องหน้าตัวเอง แสงสว่างเต็มหน้าแต่มองไม่เห็นตัวเอง  แทนที่จะส่องทางกลับส่องหน้าตัวเอง  หรือเราเดินถนนแล้วมีรถสวนมาเปิดไฟสูง เรามองถนนจะไม่เห็นเลย เพราะแสงสว่างเต็มตาไปหมด  แทนที่แสงสว่างนั้นจะเห็นแต่กลับมองไม่เห็นตัวเอง  การสว่างแบบนี้ ไม่ใช่สมาธิแบบโลกุตตระที่เน้นการเจริญญาณเพื่อความรู้แจ้ง  แต่เป็นสมาธิแบบโลกีย์ แสงสว่างเช่นนี้ยังไม่ใช่ ยังเป็นของหลอกอยู่  จิตที่เป็นสมาธิจะมีแสงสว่างหมด แต่สว่างแบบนี้ยังไม่ใช่เพื่อการรู้แจ้ง 

       จิตที่เป็นสมาธิจะสว่างขึ้นๆ สว่างจ้า แต่เราไม่ต้องสนใจ เราสนใจที่มองเห็นตัวเองอย่างเดียว เมื่อเราเน้นการเห็น ความสว่างจะมากขึ้นเอง  มากขึ้นๆนั้นเป็นผลพลอยได้  เกิดเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วงอกงามในที่นั้น กลายเป็นสมาธิแบบใหม่ขึ้นมาอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ตรงนี้เองเป็นสมาธิในศาสนาพุทธโดยตรง เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ ลักษณะสมาธิแบบโลกุตตระนี้บำเพ็ญมากๆ จะไม่เสื่อมเลย ส่วนสมาธิแบบโลกีย์นั้นเสื่อมได้  มีได้เกิดได้เลอะเลือนได้  แต่สมาธิแบบโลกุตตระเกิดขึ้นยาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายไปไหน  อัศจรรย์ ! สมาธิแบบนี้ไม่มีในศาสนาอื่น  ใครจะมารู้โดยไม่มีสาเหตุที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะรู้ได้ นอกจากคนที่ปฏิญาณเป็นพุทธมามกะหรือยึดไตรสรณคมณ์เป็นที่พึงถึงจะรู้ได้  ไม่ใช่ธรรมดาเลยตรงนี้    

       การที่เรามารับศีล สวดมนต์ รับไตรสรณคมน์  พุทธัง  สรณัง  คัจฉามิ ธัมมัง  สรณัง  คัจฉามิ  สังฆัง  สรณัง  คัจฉามิ  ยังไม่พอ  ยังต้องสวดมนต์ย้ำว่า  ทุติยัมปิ  แม้วาระที่สอง  และตติยัมปิ  แม้วาระที่สาม เพื่อเป็นพยานให้แน่นหนาว่าเราปฏิญาณตนว่า พระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นที่พึ่งที่ระลึก ที่จะขอเป็นที่พึ่งของเรา  ถ้าเราปฏิญาณตนดังนี้แล้ว  ถ้อยคำสวดมนต์นี้จะเปิดให้คนๆ นั้นเข้าไปรู้เห็นได้ เท่านั้นจึงจะรู้เห็นได้  

       ฉะนั้น สมณะ ๔ นอกพระพุทธศาสนาไม่มีเลย  สมณะนอกศาสนาจะเป็นสมณะที่ไม่อยู่ตรงนี้  การเข้าไปรู้แจ้งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  นอกจากพุทธสาวกหรือเป็นผู้ที่ปฏิญาณตนเข้าสู่พระพุทธศาสนานี้เท่านั้น  ประตูจะเปิดให้เลย อยู่ที่เราจะเดินเข้าไปหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการเดินมากน้อยแค่ไหน? เรายังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ  การไม่เข้าใจจึงเป็นที่มาของการฟังธรรม     

       ความลึกลับซับซ้อนเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติยังทำให้เราหลง ไม่น่าเชื่อว่าหลอกมนุษย์ได้ หลอกให้วนอยู่นั่นมันซิกแซก ตามแก้นี่ยากเหลือเกิน แต่ไม่เป็นไรยึดเอาคำสอนพุทธเจ้าไว้ก่อน เดี๋ยวรู้ เราพิจารณาตัวเข้าไป ทำให้มากเข้าๆ จะแจ้งขึ้นมาๆ จิตจะเริ่มสว่างขึ้น จากยิบๆ แยบๆสว่างมากขึ้นจนถึงสว่างเหมือนดวงจันทร์ ถึงดวงอาทิตย์นั่นแหละ เท่ากับรู้เห็นตัวของเราขึ้นมาตลอด  จากจุดใดจุดหนึ่งจะลุกลามไปทั่ว สรรพางค์กาย  แล้วเอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต  ให้จิตเห็นจริงๆ ว่า นี่จิต ! เรามีแค่นี้นะ  ความเห็นนั้นถูกสร้างขึ้นโดยเราเอง ทำตรงที่มืดๆ นั้นแหละ  แต่ทำให้แจ้ง  ทำอยู่ตรงนั้น แล้วการกระทำตรงนั้นนานเข้าๆ ก็จะแจ้ง  จิตจะเห็นว่าร่างเราเป็นอย่างนี้หรือ? มีอย่างนี้หรือ? ทีแรกเราก็รู้ว่า เราไม่มีอะไรเลย  แล้วเข้าใจด้วยว่า เราจะต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย จะว่าเราไม่เข้าใจเลยก็ไม่ไช่ จริงๆแล้วเราเข้าใจ ทุกคนเข้าใจว่าเราจะต้องตาย แม้เราก็เข้าใจว่าเราจะตาย ทำไมพระพุทธเจ้าเน้นแล้วเน้นอีกว่า  ต้องมาพิจารณาสิ่งเหล่านี้  ทั้งๆที่ความรู้เหล่านี้เราก็เข้าใจ ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะเราเข้าใจ แต่จิตไม่เห็น เป็นคนละเรื่องกัน เข้าใจอยู่แต่ไม่แจ้งจนทำให้จิตยอมรับ         

       เราก็เคยเห็นคนแก่ คนตาย แล้วเราก็เข้าใจว่า เราจะต้องเป็นอย่างนั้น  แต่จิตไม่เห็นไม่เข้าใจด้วย ก็เลยขัดแย้งกันกับความเป็นจริง ทั้งที่เราก็รู้ว่าเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เด็กๆก็รู้ แต่ความรู้เหล่านั้นไม่มีประสิทธิภาพอันใดที่จะให้จิตละวางได้เลยหรือ? จิตละไม่ได้ ดูเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสสิ ไม่งั้นหมอก็ละกิเลสได้หมด แหวะท้องแหวะไส้คนป่วยอยู่ตลอดเวลา  หมอก็ยังมีกิเลสเยอะอยู่ แย่งกันไป แย่งกันมา ทั้งที่มนุษย์จะมีอะไรในสรีระอันนี้ แต่ก็อดทำตามเกมของธรรมชาติไม่ได้ มันเป็นเกมอันหนึ่ง  ทั้งที่เห็นอยู่กับตาว่า ผ่าท้อง ผ่าไส้มีแค่นี้ แต่ก็อดยินดีกันไม่ได้   

       ที่เห็นอย่างนี้แล้ว ทำไม? จึงไม่มีอำนาจอะไรเลย ที่จะเอาชนะกิเลสได้  เป็นเพราะอำนาจของกิเลสแรงกว่า เราถึงหยุดไม่ได้ มีอย่างนี้ก็จะเอาอย่างนี้ ก็เลยหาทางออกไม่ได้  แต่กลับกันตรงที่ว่าเอาจิตเราไปเห็นตัวเราเสีย เราไม่เคยทำ เมื่อทำไปแล้วผลออกมาไม่เหมือนที่ตาเราเห็น ระหว่างจิตที่เห็นอยู่กับตาที่เราเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราส่องกระจกก็มองเห็น หรือมองเห็นอวัยวะอื่นๆ เช่น มือ ขา แข้ง  ส่วนที่พอจะมองเห็นเราก็เห็น  แต่เห็นแล้วทำไมละกิเลสไม่ได้  ถ้าผ่านตาไปแล้วถูกฉาบทาไว้อีกชั้นหนึ่งจึงรู้ไม่ได้  ดูกิเลสสิ  ถ้างั้นก็ละได้สิ  มีการเขียนคิ้วแต่งหน้าทาปากก็ยังแต่งกันใหญ่  ทั้งที่รู้ว่ามนุษย์เราก็ไม่มีอะไร  ความลึกลับหลอกเราทั้งๆ ที่เราเห็นอยู่ก็หลอกได้  แตกต่างกับจิตเราไปเห็นตัวเรานี่อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ตาเห็นอย่างหนึ่งจิตเห็นอีกอย่างหนึ่ง

       ถ้าจิตดวงนี้เข้าไปรู้เห็นสกนธ์กายของเรา ก็รู้เห็นสกนธ์กายตามที่ตาเราเห็นนั่นแหละ ถ้าเห็นชัดจริงๆ ชัดยิ่งกว่าตาเห็น ตาเนื้อสู้ไม่ได้ แล้วก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง  อย่างตาเนื้อเรามองฝ่ามือก็ไม่เห็นหลังมือ มองหลังมือก็ไม่เห็นฝ่ามือ เพราะมันบังเอาไว้ แต่ตาจิตมองไม่มีข้างนอก ไม่มีข้างใน ไม่มีข้างหลังข้างหน้าทะลุกันหมด  แปลกมั๊ย !  อุปมาเหมือนกล่องกระดาษทิชชู  ถ้าเปิดออกมาให้เห็นกระดาษทิชชูแล้วเอาฝาครอบลงไป ลองหลับตานึกดูสิว่า กล่องภายนอกเป็นอย่างไร และกระดาษที่อยู่ข้างในกล่องนั้นด้วย ก็จะนึกออกหมดเลย พร้อมทั้งข้างนอกข้างใน  เรายังนึกกล่องกระดาษได้เลยว่า ข้างนอกเป็นอย่างไร ข้างในเป็นอย่างไร นึกพร้อมกันเลย เหมือนกระเป๋าเราที่ถือมาว่าเราเอาอะไรใส่ไว้แล้วรูดซิบเสีย แล้วนึกดู จะนึกเห็นของที่อยู่ข้างในทั้งหมด  ยังนึกได้พร้อมกันด้วย เปิดซิบเข้าไปดูหรือ? เปล่า ! ปิดอยู่ ไม่ได้ดู รู้ได้ไง  

ฉันใดก็เหมือนกัน ตาจิตเมื่อเข้าไปเห็นตัวแล้วไม่มีข้างนอกข้างใน  ไม่มีข้างหน้าไม่มีข้างหลัง  ไม่มีที่บังและไม่มีที่ปิด  การเห็นก็จะทะลุทะลวงไปเลย เห็นข้างนอกอย่างไร การเห็นข้างในก็อย่างนั้น  เพราะเป็นตาใจไม่ใช่ตาเนื้อ อุปมาให้ฟังและยกตัวอย่างให้รู้ว่า เออ ! จิตเป็นอย่างนี้หรือ? ก็ศึกษาในตัวของมันเองว่ามีหน้าตาอย่างไร  แล้วเอาจิตดวงนี้มามองตัวให้มากๆจากจุดใดจุดหนึ่ง มองไปเรื่อยๆ พิจารณาถึงไตรลักษณ์ไว้ตลอด อย่าลืม...โน้มจิตไปในทางไม่เที่ยง อย่าลืมนึกถึงสัญญา ๑๐ ประการ เช่น อนิจจสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา มรณสัญญา (อาหาเร ปฏิกูลสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา  สัพพโลเก อนภิรตสัญญา  และนิโรธสัญญา)

นึกถึงความไม่เที่ยงไม่มีตัวตนในที่นี่ให้นึกอยู่เสมอ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ ต้องนึกเอาความตายเป็นอารมณ์ด้วย เพราะที่สุดของกายนี้คือ ความตาย  เอาที่สุดของกายมาปรารภให้เป็นมรณนุสสติ เรียกว่า  โยนิโสมนสิการ ความใส่ใจในอุบายที่แยบคายตามความเป็นจริง เป็นจริงหรือเปล่าที่จะต้องตาย เป็นจริง  แต่จะเป็นจริงวันไหนยังไม่รู้

          ฉะนั้น  ร่างกายนี้ก่อนที่จะเป็นอะไรไป ให้เอาความจริงเหล่านั้นมาปรารภก่อน ลักษณะนี้ คือ ใส่ใจในอุบายอันแยบคายตามเป็นจริง  เพื่อให้จิตไม่ตั้งตัวเองอยู่ข้างนอก  แล้วสร้างที่อยู่ใหม่ของจิตขึ้นมา โดยปรารภความเป็นจริงนั้นเป็นเกณฑ์ของการตัดสิน แล้วเป็นอารมณ์ที่จะต้องโน้มเอาไว้ ดึงจิตจากข้างนอกมาแล้ว ต้องโน้มไว้ ชวนเอาไว้ ชวนจิตปรารภอยู่ตรงนี้เรื่อย จิตที่คิดอยู่ไม่คิด ออกไปข้างนอก  จิตที่คิดออกไปข้างนอกแล้วถูกตัดทอนให้สั้น  เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจิตที่รั่วไหลออกไปข้างนอก เริ่มไม่ได้ช่องถูกลิดรอนให้สั้นลง  
       กระแสของจิตที่เดินอย่างมีความชำนาญเหมือนน้ำที่เชี่ยว ก็จะชะลอตัวลง เพราะทางเส้นเดิมนั้นเราอุดเอาไว้  จึงเกิดการชะลอตัวลงลดกระแสลง จะเป็นระบบที่ลบล้างระบบเดิมออก นานเข้าๆจิตก็ค่อยๆ ลดฐานะช้าลงๆๆ เพราะเราอุดเอาไว้  แถมยังสร้างที่ใหม่ให้จิตอยู่  เราจะทำอย่างไรให้จิตนี้อยู่กับตัวเราเรียกว่า “กายเดียวจิตเดียว” ขั้นต้นต้องทำอย่างนี้ก่อน เพื่อให้จิตเป็นสมาธิอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพราะกายมีกายอันเดียว ก็ต้องให้จิตมีดวงเดียวอยู่กับตัวอยู่กับกายนี้ ก็เป็นอารมณ์อันเดียว การเดินทางของจิตเราจะต้องถ่ายเทความรู้สึกของจิตทั้งหมดไม่ให้อยู่จุดนั้น หนีออกจากโลกนี้โดยการหนีออกจากอารมณ์ทั้งหมด  แล้วจิตจะออกจากอารมณ์ทั้งหมดไปอยู่ในตัวของเราเอง ไปอยู่ที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  เราจะต้องถ่ายโอนอำนาจ ถ่ายโอนกระแสจิต ไปสู่ภาวะอีกภาวะหนึ่งที่ไม่ใช่ตรงนี้ แล้วอบรมจิตให้อยู่ข้างในกาย พิจารณาอาการ  ๓๒  พิจารณาผม  ขน เล็บ  ฟัน หนัง พิจารณาสกนธ์กายเป็นการพิจารณาขันธ์ ๕ นั่นเอง ให้แจ้งออกมา   
       การพิจารณาใหม่ๆเรามองไม่เห็น ไม่เป็นไร เราสร้างความเห็นขึ้นมาก่อน เราพยายามนึกถึงตัวเองว่ามีรูปพรรณสัณฐานอย่างไร นึกไปก่อน  นึกไม่ออกสมมุติภาพขึ้นมา ความจริงเป็นการสมมุติภาพขึ้นมา  แต่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง  เพราะการที่เห็นตัวเองเป็นการนึกออกมาให้เห็น โดยการสร้างภาพขึ้นมา โดยเอาความจริงของเราเป็นสมมุติฐาน เป็นบรรทัดฐานในการเห็นอันนั้น นึกไปเรื่อยๆ วันหนึ่งๆ ให้จิตวนอยู่ในอาการ ๓๒ ตลอดเวลา เผลอตัวคิดไปดึงกลับเลย  คิดไปดึงกลับๆ ทำสงครามอยู่อย่างนี้  จิตก็จะไป เราก็จะดึงกลับมา  อบรมอยู่อย่างนี้ทั้งกลางคืนกลางวัน อบรมให้มากทำให้มากวันหนึ่งคืนหนึ่ง เราหยุดไม่ได้เลย  เวลาทำมากๆก็จะเหนื่อยมาก เหนื่อยทั้งออกแรง ทั้งจิตเองก็ไม่ได้พัก

       เมื่อพิจารณานานเข้าๆๆ ถ้าจิตเหนื่อยจะทำอย่างไร  เพราะเป็นงานของจิตที่เราจะต้องพาจิตทำตรงนี้ การอบรมมากๆถึงที่สุดแล้ว จิตจะเหนื่อย  เหนื่อยก็ให้พักอยู่ตรงนั้น สมมุติว่าเห็นผมที่พักก็อยู่ที่ผม  ถ้าจิตเหนื่อยจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าจิตเหนื่อยจะพิจารณาไม่ได้จิตจะฟุ้งเลย  ถ้าไม่พิจารณาจิตจะสงบ แต่ถ้าจิตไม่เหนื่อยเมื่อพิจารณาแล้วจะทำไปได้เรื่อยๆ พิจารณาได้ตลอด  บรรยากาศของการอบรมจะเป็นอย่างนั้น
       เราตั้งปณิธานว่า ต่อนี้ไปเราจะไม่เอาจิตสู่ทางเส้นเดิม เส้นนั้น แล้ว เอาจิตอบรมอย่างนี้ แล้วดูว่าจะเป็นอะไร ลองพิสูจน์ดู ทำให้กิเลสเก่าก่อนที่มีอยู่ไม่ถูกเติมเชื้อเข้าไปอีก อบรมทั้งหมดตรงนี้ให้จิตเดินทางอีกเส้นหนึ่ง ที่คนในโลกนี้ไม่เดินกัน  เอาจิตมาลองอบรมดู  “การอบรมทั้งหมด คือ “อบรมมรรคองค์ ๘” เดินอยู่อย่างนี้   อบรมอยู่ตลอดเวลา จิตของคนนั้นก็สว่างขึ้นๆเจิดจ้า เป็นที่อัศจรรย์ว่า จิตเราเป็นอย่างนี้หรือ? จิตจะสว่างไสวพร้อมกับความสงบนั้นมากขึ้นๆๆ ขณะเดียวกันเราจะเริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆ ตามที่เราอบรมเอาไว้  เราจะเห็นการคืบคลานของการพัฒนาจิต ไปสู่อีกระบบหนึ่งที่ไม่เคยเดินทางนี้มาก่อน เป็นทางเส้นใหม่ขึ้นมา คิดอยู่ในขอบเขตของตัวเรา  เหนื่อยก็อยู่ตรงนั้น  พิจารณาได้ก็พิจารณาตรงนั้นอยู่ตลอดเวลา  จิตจะวิวัฒนาการไปสู่การอบรมที่ไปสู่ระบบแห่งการเข้าสู่จุดหมายปลายทางของการค้นพบได้              
       เจริญสมาธิตามมรรคมีองค์ ๘ ไปเรื่อยๆๆ จิตที่อบรมแล้วจะเข้าสู่ภาวะแห่งความสงบ  ความสงัดก็เกิดขึ้น  จะเป็นสมาธิอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน แล้วก็เป็นสมาธิแนบแน่นแตกต่างจากสมาธิ
แบบสมถะ ที่เอาจิตนิ่งลงในตัวมันเอง(แบบโลกีย์)  สมาธิที่เกิดจากการอบรมให้เห็นตัวเองเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นสมาธิด้วยและมีความรู้เห็นด้วยในตัวเอง(แบบโลกุตตระ) เป็นสมาธิที่เริ่มก่อตัวขึ้นมา เป็นสมาธิที่ยิ่งใหญ่มากตามลำดับความโตขึ้นมาจากการอบรม  ผลที่สุดสมาธิประเภทนี้ จะเป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมในตัวมันเอง  ถ้าแก่ขึ้นมาระดับหนึ่งของการอบรมนั้นๆ จะเป็น “สัมมาสมาธิ” ขณะเดียวกันการที่หมุนจิตไปอย่างนั้น  ราคะก็ดี  โทสะก็ดี  โมหะก็ดี  ไม่ถูกเติมเชื้อเข้าไป นึกเมื่อไหร่ตัดทันที  ความอยากจะไปในสิ่งเหล่านั้นจะมีได้อย่างไร  ที่จิตออกไปเพราะคิดไม่หยุดนั่นเอง  ความคิดมันไปแล้ว ถ้าอบรมอย่างนี้จะไม่เปิดโอกาสให้จิตออกไป การไม่ไปต้องไม่ไปทางจิตก่อน ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่รอด
! รอดยากเพราะว่าทำยาก 

อย่างนี้เรียกว่า “ดำริออกจากกาม  ดำริออกจากพยาบาท  ดำริออกจากการเบียดเบียน” ดำริออกจากการปรุงแต่งจากข้างนอก ลิดรอนอำนาจของกิเลสไปตามลำดับ  การลิดรอน  การบรรเทา  การจางคลายของกิเลสทั้งหลายก็จะบางลงๆ ความคิดบางกับกิเลสบางเป็นอันเดียวกัน ฉะนั้น กิเลสจะเริ่มบางตั้งแต่การอบรมครั้งแรกๆแล้ว จะเป็นไปเรื่อยๆ คนๆนี้ อบรมจิตทั้งกลางวันกลางคืน จากคืนเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็นอีกหลายๆ ปี  จะเป็นอะไร ?      
       สุดท้ายแล้ว  การจบสิ้นต้องมีแน่นอน ฉายแววออกมาแล้วกำหนดรู้ได้เลยว่า อนาคตกิเลสหมดแน่ๆ ยิ่งรู้ว่าสิ่งเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่ตัวเองจะทำได้ ยิ่งมีกำลังใจขึ้นว่างานนี้สงสัยจะต้องชนะแน่ งานนี้มีลุ้น  อย่างนี้ก็มีกำลังใจนะสิ หากเราจับต้นชนปลายไม่ถูก มองตัวเองไม่เห็นก็ท้อไม่มีกำลังใจ  จิตมุ่งเอาอิทธิบาททั้ง ๔ เข้าต่อสู้ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา  เริ่มบดขยี้ เพราะเกมส์นี้ดูแล้ว เริ่มเห็นแววว่าจะได้ชัยชนะ  ด้วยการย้ายจิตไม่อยู่ที่ตั้งเดิม  แล้วไปตั้งทำเลใหม่เพื่อต่อสู้กับกิเลส  
       คำถามที่ว่า ความคิดมาจากไหน ? เมื่ออบรมตามนี้แล้วคำตอบจะออกมาเอง  อริยสัจ ๔ จะเปิดทั้ง    ข้อให้เห็นชัดแจ้ง  เมื่อรู้อริยสัจ ก็คือ ตาในเปิดให้เห็นแจ้งจึงได้รู้  รู้อริยสัจตรงนี้เท่ากับว่าดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแล้ว อันเดียวกัน  
       “คนเราจะทุกข์ก็เพราะความคิด  การคิดที่ไม่หยุด ก็เพราะไม่ฉลาดในความคิด  ไม่ฉลาดเพราะไม่รู้ทาง  ไม่รู้ทางเพราะไม่ได้เข้าใกล้ผู้รู้  ไม่ได้เข้าใกล้ผู้รู้เพราะไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เงี่ยหูฟังเพราะไม่ใคร่ครวญในคำสอนอันนั้น

ฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นที่มาของความมืดมน ความวุ่นวายต่างๆ เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่จบ การแก้ปัญหา จะต้องแก้โดยการเข้าไปค้นคว้าในองค์มรรค และทำองค์มรรคให้เกิดขึ้น แล้วจะเกิดการหยุดคิดปรุงแต่งได้ การเอาจิตอยู่อย่างนี้  ความคิดเราไม่เติมเข้าไป ไม่เพิ่มสิ่งที่เป็นอารมณ์อยู่แล้วให้เป็นอารมณ์ ไม่ต้องตามความคิด  ไม่ต้องเติมเชื้อ คิดไปตัดเลย  เชื้อเพลิงคือ อาหารของเพลิง  ความคิดที่มีการคิดอยู่แล้ว ไปเติมความคิดเป็นอาหารที่เลี้ยงให้เกิดอารมณ์เพิ่มขึ้นได้   
       การที่จิตคิดไม่หยุด คือ เราไม่ฉลาดในอุบาย และไม่เข้าใจในโครงสร้าง(อริยสัจ ๔) ความคิดของคนเรานั้นคิดมานานแล้ว แต่เราปฏิบัติโดยตัดตอน ที่เรารู้ขึ้นมาว่า นี่เราเป็นอย่างนี้หรือ? แล้วเริ่มทำตรงนั้น พอเริ่มคิดไปก็ตัดเลย เป็นการตัดผลเพิ่มไม่ให้เพิ่ม  แล้วจะลดลงในตัวของมันเอง  เราไปเพิ่มส่วนที่ยังไม่มีให้มีขึ้นมา เปิดเส้นทางใหม่แล้วอบรมจิตให้เห็นผม  ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นตรงนี้  เพื่อจะแก้ปัญหาตรงนั้น คือ การคิดไม่หยุด  มีปัญญาไปรู้ว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง  จิตเห็นอยู่ว่าไม่เที่ยง เมื่อก่อนยังไม่เห็นตัวก็รู้ว่าไม่เที่ยง  แต่ความรู้ของเราช่วยอะไรไม่ได้  เอาจิตไปเห็นแล้วรักษาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต อยู่กับความเห็นตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืนก็ให้เห็นตัวเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนซากศพเห็นข้างนอกข้างใน  เห็นไม่มีคำว่าว่างแม้แต่นิดหนึ่ง  เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว สติปัญญาก็จะแทงตลอดว่ากายนี้ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงแล้ว จิตที่คิดอยู่ข้างนอกก็ไม่ควรแก่เรา เพราะเมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงแล้ว ก็ไม่ควรจะเอาอะไร      
       เมื่อจิตคิดอย่างนี้ จิตเห็นความถูกต้องของธรรมชาติ จึงเกิดปัญญาว่า เมื่อตัวของเราไม่เที่ยง
ทุกอย่างก็ไม่เที่ยงทั้งหมด  เมื่อไม่เที่ยงแล้ว เราก็ไม่สมควรจะคิดอะไรเป็นอารมณ์ในโลกนี้  พราะคิดไปก็ไม่เที่ยง จะได้อะไรมีแต่ทุกข์  แถมไม่เที่ยงอีกต่างหาก  จิตที่เห็นและเข้าใจอย่างนี้ จึงดับตัวปรุงแต่งให้สนิทลงไป  ไม่ให้มีความปรุงแต่งเกิดขึ้นอีกต่อไป  อบรมแล้วอบรมเล่าๆ จนจิตถ่ายถอนตัวเองออกจากอารมณ์มากขึ้นๆๆ  กลายเป็นว่า “พ้นจากความปรุงแต่งได้”  หมายถึง ในชีวิตของคนๆนั้น ความปรุงแต่งไม่มีเลย  จิตที่จะคิดปรุงแต่งก็ถึงอวสาน คือ ดับลงไปๆๆ ทีแรกดับด้วยการข่ม คิดไปประคองไว้ ผลที่สุดดับได้สนิท ทางเส้นเดิมนี้เลิกกันที ไม่เดินต่อไปแล้ว

       เมื่อจิตไม่มีความปรุงแต่งก็อยู่กับความว่าง  โลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเอา  ความที่ไม่มีอะไรจะเอา เพราะความเห็นตัวเองเป็นพยานว่า  ตัวเราไม่มีตัวตนที่แท้จริง  สิ่งทั้งหลายก็ไม่ใช่ของเราทั้งหมด ไม่ใช่อะไรที่เราจะไปเอา เพราะจิตเห็นตัวอยู่ตลอดเวลา  ความเห็นตรงนี้เป็นพยานแก่จิตว่า ตัวของเราเป็นซากศพอยู่ตลอดเวลา  อย่างนี้แล้วจะเอาอะไร  กิเลสที่เกิดจากความปรุงแต่งก็ถึงคราวมอดไหม้ลงไปๆ เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว จิตที่เกิดจากกิเลสทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ ถูกอบรมจนเบาบาง บางลงไปๆ ไม่มีเหลือ จะเหลืออะไร เพราะจิตเห็นและยอมรับแล้ว อย่างเช่น ความเป็นหญิงเป็นชาย เมื่อจิตเห็นตัวเองจริงๆแล้ว  จิตถูกอบรมจะเห็นความปฏิกูลในร่างกาย  จิตไปเห็นมากขึ้นๆ ย่อมเบื่อหน่าย  มีแต่ความปฏิกูล เห็นน้ำเลือด น้ำเหลือง เห็นข้างนอกข้างในอยู่ตลอดเวลา  ทำให้ราคะที่มีอยู่ถูกแผดเผา บางลงไปๆๆ ผลที่สุดก็ไม่เหลือ เพราะว่าเห็นความปฏิกูลมากล้น เห็นทั้งวันทั้งคืนเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีว่างจากการเห็น ความเห็นอันนี้จะกันไว้อีกทีว่าจิตเราออกไปไม่ได้  จิตจะเกาะอยู่กับความเห็นนั้นจนวันตาย  อาศัยความเห็นของจิตที่อยู่กับตัว เราก็รบกับอารมณ์ชนะแล้ว  เราสามารถย้ายจิตที่อยู่ข้างนอกมาอยู่ข้างในได้ทั้งหมด ทางออกดังที่อธิบายมาแล้วนี้ จึงพ้นจากทุกข์  ยุติ เอวํ

       ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ทำตนของตนให้พ้นทุกข์  ด้วยความเพียร มีความสำเร็จ ความเจริญ รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จนถึงที่สุด  และสิ้นอาสวะทั้งหลายในอนาคตกาลทุกคนทุกท่านเทอญ....

 **********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น