วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สติ-สัมปชัญญะ...พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



สติ-สัมปชัญญะ
อุ้มชูจิตทำให้รู้เห็นแจ้ง ละสักกายทิฐิได้ เบญจขันธ์จึงว่างเปล่า 
พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ
วัดหลวงขุนวิน  ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่  

(นโม ๓ จบ)  ขอกราบนมัสการนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลสพระองค์นั้น และกราบคารวะครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ จะกล่าวถึงการประพฤติปฏิบัติกันต่อไป
       การฝึกจิตนั้น เราสามารถฝึกจิตให้เป็นจิตที่ดีได้ จิตเป็นผู้นำชีวิตเป็นผู้นำทุกอย่างเริ่มจากจิตใจ "จิตเป็นผู้สร้าง" จิตใจที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมก็ยังเป็นจิตที่ดีไม่ได้ สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงฝึกจิตใจของมนุษย์และเทวดา  ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่สูงมากๆ จนเราแทบไม่รู้ จิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้ ถ้าไม่ฝึกจิต จิตก็จะนำทุกข์มาให้ถ่ายเดียว เพราะมีกิเลสสิงสู่จึงเป็นหนอนชอนไชทำลายให้ผิดเพี้ยนแปรสภาพให้ไม่ดีประการต่างๆ ถ้าเป็นธรรมชาติที่ดีก็ไม่ต้องแก้ไขอะไร  จิตใจไม่ได้อยู่ในศีลธรรม  หากเราสังเกตดูจะเห็นความไม่ดีมากมายในใจของเรา ซึ่งเราไม่ชื่นชอบแต่ก็ยังเป็นไป  กิเลสมาจากไหนไม่ทราบ แต่พาให้เราทำตามนั้น  พาให้เป็นทุกข์เป็นโทษนำความเดือดร้อนมาสู่ตน  ใจคนเราเป็นเรื่องแปลก !  มีแนวโน้มไปสู่เรื่องต่ำ ถ้าไม่ประพฤติธรรมก็ไม่สามารถแก้ไขได้  "จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความเจริญมาสู่ชีวิต"  คนเราเกิดมามีกิเลส ๓ ตัว คือ โลภะ  โทสะ  โมหะ  ทำให้เดือดร้อน เราต้องกำจัดกิเลสทั้งสามนั้นออกไป  เราต้องสละทั้งหมดออกเสียจิตของเรา จึงจะเป็นจิตที่ดีได้
       กำจัดอารมณ์ทั้งหมดทุกประเภท เพราะอารมณ์เป็นกิเลส  ต้องกำจัดออกให้หมดไม่ต้องเสียดาย มีความดีแต่ไม่ต้องคิด "คิดในความดี คือ ยังท่องเที่ยวอยู่ในความดี"  ถ้าจิตใจคิดในทางชอบราคานุสัยก็ตามนอนเนื่อง  ถ้าไม่ชอบปฏิฆานุสัยก็ตามต่อเนื่อง ถ้าคิดเฉยๆอวิชชานุสัยก็ตามนอนเนื่อง วันๆ หนึ่งจะคิด  ๓ อย่าง  คือ ความไม่ชอบ  ความชอบ  คิดกลางๆ  เป็นคิดทางทุกข์  ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ กลางๆ "ต้องกำจัดความคิดทั้งหมด  ต้องไม่คิดทั้งหมดเพราะกิเลส คือ ความคิดทั้งหมด"
       นิพพาน คือ ละทิ้งบุญและบาป ละทิ้งอารมณ์ทั้งหมด กำจัดกิเลส คือ อารมณ์ต่างๆต้องไม่มี จึงทำให้ถึงมรรคผลนิพพาน  จิตไม่มีอดีต  อนาคต  ตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน ความคิดทั้งมวลเป็นของคนในโลกนี้  คนที่จะไปสู่มรรคผลนิพพาน คือ พ้นจากความปรุงแต่ง  จิตปรุงแต่ง คือ จิตที่เดินทางอยู่  คนเราเดินทางข้างนอกกับข้างใน  เดินทางข้างนอกจิตอยู่ข้างนอก เดินทางบนอากาศ เดินทางบนผืนดิน ตัวของเราเดินอยู่ไปมาขึ้นเหนือล่องใต้  แต่จิตคิดไปทางอากาศตลอดเวลา "การคิด" คือ การเดินทางตลอด เราเดินทางอยู่ถือว่าเดินทางในวัฏสงสาร เดินทางอยู่กับความปรุงแต่งไม่รู้จักจบสิ้น
       สิ้นภพสิ้นชาติ คือ ดับความปรุงแต่งทั้งหมด  ทำลายภพชาติ คือ หยุดการส่งจิตทางอากาศ หยุดเดินทางจะเป็นชาติสุดท้าย  ถ้าจิตคิดในอารมณ์ต่างๆ ภพชาติไม่สิ้น การจบไม่มี นอกจากนิพพานเท่านั้น  กิเลสทำให้เราเวียนเกิดเวียนตาย  ตัวเราตายแล้วแต่จิตเดินทางไปต่อ  การเดินทางที่ร่างกายแตกดับไม่ถือว่าเป็นการยุติ แต่ข้อสำคัญของการเดินทาง คือใจ  จิตต้องหยุดเดินทางก่อน ร่างกายหยุดทีหลัง  จิตต้องหยุดก่อน  ไม่เช่นนั้นเมื่อตายแล้ว จิตจะเดินทางไปหาภพชาติใหม่ เดินทางต่อไปอันไหนก็อันนั้นเป็นในภพภูมินั้น  จิตสามารถจะฝังตัวเองในวัตถุทุกอย่างได้  จิตเข้ามาจับจองอาศัยคูหา คือร่างกายอันนี้ ประจักษ์ว่ามีทุกข์  จึงแสวงหาทางดับทุกข์  ทุกข์กำหนดรู้ได้ยาก ไม่ใช่กำหนดรู้ได้ง่าย สภาพที่อยู่บนพื้นฐานเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป  ถ้าไม่เกิดแล้วความตายจะมีได้อย่างไร  คนเราเกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี  ไม่พ้นจากพญามัจจุราช พระพุทธองค์ก็ไม่พ้นลาลับดับสังขารขันธปรินิพพาน แก้ไขตรงตายแล้วไม่ให้เกิด  เพราะความตายมาจากความคิด ชาติเป็นเบื้องต้น ชรามรณะเป็นเบื้องปลาย เบื้องต้นไม่มีแล้วเบื้องปลายจะมีได้อย่างไร? ความตายมาจากความเกิด  แก่  เจ็บ ตาย  เป็นทุกข์ 
       "ความทุกข์มาจากความคิด"  มาจากจิตที่คิด  เลิกคิดก็เลิกเกิด เดินทางอยู่ก็เกิดอยู่ร่ำไป เป็นที่มาของทุกข์ทั้งหมด  "ความคิด คือ ความเกิด"  เกิดมาก็คิดต่อ  ตายก็คิดต่ออีกเหมือน การสืบทอดของตนเองต่อไป สืบต่อภพชาติของมนุษย์ยังมีอยู่  แม้เราตายแล้วก็ยังสืบต่อเผ่าพันธุ์ของเราได้อีก คือ  อารมณ์นั่นเอง  อวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ไม่รู้ปฏิปทาอันออกจากทุกข์  ความปรุงแต่ง คือ ความคิดก่อให้เกิดวิญญาณ   จักขุวิญญาณ  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ถ้าตายแล้วดับวิญญาณ  "เราต้องทำลายวิญญาณที่เป็นตัวสืบต่อ อันมาจากความปรุงแต่งจากอวิชชา" ก่อให้เกิดวิญญาณ  วิญญาณก่อให้เกิดนามรูป ทางอายตนะ คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ปรากฏเป็นเครื่องสัมผัสโลกนี้ เกิดอายตนะมีจิตสัมผัสกับอารมณ์ คือ ผัสสะกระทบจิตก่อให้เกิดเวทนายินดียินร้าย เกิดตัณหา(ความทะยานอยาก) ความรัก  ความชัง ก่อเกิดอุปาทาน ชาติ ชรา มรณะ เท่ากับจิตที่คิดอยู่เป็นภพ ชาติ คือ ปัญหา  ปฏิบัติจนไม่เหลือ คนๆนั้น ไม่คิดต่อ  พระอรหันต์มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหว  "จิตต้องหยุดเดินทางจึงจะสิ้นภพชาติ"
       การศึกษาพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องลึกซึ้ง  คนเราที่ใจคิดในอารมณ์ต่างๆ เราจะต้องแก้ไขทำลายอารมณ์ที่เป็นอวิชชา แล้วสังขารจะดับด้วยความรู้แจ้ง  ความคิดจะหยุด วิญญาณดับ  ดับความปรุงแต่ง เป็นความรู้สูง เป็นเครื่องดับการปรุงแต่งของจิต เป็นเครื่องวัด  จิตไม่เดินทางมีความมั่นคงเป็นสมาธิทั้งวันทั้งคืน การเห็นกายของตนตลอดเวลา จิตเลิกคิด เลิกเที่ยว คนๆนั้นทำนายตัวเองได้ว่า เป็นชาติสุดท้ายแล้ว จะทำได้ไหม? เป็นสิ่งที่ไม่เกินวิสัยที่จะทำได้ แต่ทำได้ยากพอสมควร  ผู้ปฏิบัติจึงต้องไม่แสวงหาอารมณ์  จิตนี้เดินทาง เป็นสิ่งแก้ไขได้ คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเดินทาง คือ ให้จิตนิ่ง การบังคับจิตให้นิ่งยังไม่พ้นทุกข์ จิตที่ฝึกดีแล้วจะนิ่งไม่ต้องบังคับ หยุดการเดินทางได้ 
       คนเราจิตที่ฝึกกับไม่ฝึกนั้นต่างกัน  จิตที่ฝึกแล้วเป็นคนละคนไม่เหมือนกัน  เป็นเรื่องแปลกธรรมชาติเป็นของแก้ได้ เป็นสิ่งแก้ไขได้  คำสอนพระพุทธเจ้าสามารถแก้ไขธรรมชาตินี้ได้ จิตจะยุติทั้งหมดทำลายอารมณ์ออกด้วย หญิงไม่มี  ชายไม่มี มีแต่รูป จิตจึงเป็นหนึ่งได้  หมดความมีกิเลส  มุนีไม่ละกามทั้งหลายแล้ว จะเป็นผู้มีจิตหนึ่งเดียวในโลกนี้ไม่ได้  ละกามได้ จิตจึงมีแต่ความว่างเปล่า  ทั้งหญิง-ชาย มีกิเลสตัวเดียวกัน  เหมือนสินค้าจากโรงงานที่มีสินค้าอย่างเดียวกัน เราจะทำลายทั้งหมดจนเหลือร่างกายเปล่าๆ ต้องโละอารมณ์ออกจากโลก อารมณ์ทั้งหมดยัดเยียดตามที่มีมาแล้ว เราเดินตามทางที่เขาวางไว้  เหมือนต้นไม้มีกิ่งก้าน ดอก เกสร ตัวผู้ตัวเมียสืบต่อไป  ธรรมชาติสร้างมา มนุษย์เป็นสัตว์ฉลาด แต่ก็ไปในวงจรธรรมชาติเป็นระบบอันเดียวกัน เหมือนเบอร์โทรศัพท์ที่อยู่ในซิมการ์ดข้อมูลถูกบันทึกไว้แล้ว เราจึงวิ่งตามข้อมูล ถ้าเราไม่อยากวิ่งก็ลบข้อมูลทิ้ง เหลือซิมเปล่าเหมือนแผ่นเทปซีดีเปล่าๆ  ถึงจะมีข้อมูลมาแล้วก็ลบออก คนนั้นจะถึงแล้วซึ่งความว่างเปล่า ทั้งความเป็นหญิง เป็นชาย ลบออกให้หมด มีใจเด็ดเดี่ยว ต้องทำลายอารมณ์  จิตเป็นหนึ่งได้แค่ระยะหนึ่งได้ แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น
       จิตเป็นหนึ่งถาวรได้ต้องละให้หมด กำจัดราคะ โทสะ โมหะ  จึงจะเป็นหนึ่งเดียวได้ เป็นพระอรหันต์ได้ บุคคลเหล่านั้นมาจากปุถุชนนี้เอง แต่สามารถทำความเพียรให้พ้นจนเหลือแต่ร่างเปล่าๆ บุคคลนั้นถ้าทำได้เท่ากับรู้ตัวเองมี  ๒ ระบบในชีวิตอันเดียวกัน  เราเกิดมาปัจจุบันเราอยู่ระบบเดียว  คนประพฤติมาศึกษาให้รู้จักทุกข์โทษ เป็นผู้พ้นทุกข์ได้  เปรียบเทียบได้ว่าอย่างไหนมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส  จิตเบื่อหน่ายเป็นทุกข์โทษ จิตนิ่งเป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา  ไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ว่า จะหยุดได้  จิตคนเราหยุดได้ เลิกคิด เลิกนึกมีจริง  บุคคลนั้นทำได้ รับรองว่ามีแน่นอนมี    ระบบ เป็นผู้เกิดมาแล้วสามารถจะรู้คำสอนพระพุทธเจ้าได้  พระพุทธองค์ทรงสอนว่า คนเราเกิดมามีทุกข์และหาวิธีแก้ให้  ความรู้นี้จึงสูงส่ง เป็นสิ่งมีอยู่แล้วในโลก  พระพุทธองค์ทรงค้นพบได้ทรงให้ละ แต่กิเลสมนุษย์มากขึ้น เมินเฉยคำสอนพระพุทธเจ้าทำให้เราเดินห่างออกไปเอง จนในที่สุดความรู้ไม่สามารถรู้ได้  ความรู้หายไปจากมนุษย์ มองไม่เห็นค่า จนไม่รู้ค่าของตัวเอง สับสน หลงรูป รส กลิ่น เสียง สมบัติพัสถาน จนโลกปั่นป่วน  ไม่ว่าชาติใด ศาสนาใดเป็นอย่างเดียวกัน ความเห็นความเชื่อของบุคคลนั้นๆต่างกันไป ความเห็นแตกแยกกันไปหมด  ศาสนาต่างๆ ก็สอนไป แล้วแต่ศาสนานั้นจะรู้มากน้อยแค่ไหน  
       คำสอนพระพุทธเจ้าพิสูจน์ได้  การจะเชื่อสนิท เห็นธรรมก่อนเป็นที่สุดจึงยอมเชื่อสนิทใจ เนื่องจากเชื่อได้ยาก เพราะจิตเราเข้าไม่ถึง  การปฏิบัติจริงจังทำให้เข้าถึงได้แน่นอน พระพุทธเจ้าสอนให้ทำอย่างไร? หนทางสู่การปฏิบัติจะทำอย่างไร ?
       คนเราเกิดมามัวแต่ใช้จิตวิ่งตามอารมณ์มาตลอด เปรียบเทียบกับคนเราคือ ไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกนอกบ้านตลอด  จนไม่รู้ว่าบ้านของเราเป็นอย่างไร? มัวแต่เที่ยวจนเห็นว่าเป็นธรรมชาติมีอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา  แต่ความจริงเป็นอย่างอื่นได้ จิตท่องเที่ยวในอารมณ์น้อยใหญ่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าสอนว่าถ้าเอาจิตไว้อย่างนั้นตลอดเวลา ให้เอาจิตมาน้อมดูตัวเป็นโอปนยิโก  ดูร่างกายของเรา จิตไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว  ธรรมะคำสอนจะย้อนกระแส  ถ้ามัวแต่เที่ยวก็จะไม่เห็นความจริง เอาจิตมาอยู่กับเนื้อกับตัวของตนดูว่า ร่างกายของเราประกอบไปด้วยอะไร  ไม่ให้จิตเดินทางเส้นเดิม เป็นทางไม่จบสิ้น ให้หยุดทางเส้นนั้น แล้วเอาจิตพิจารณาอาการ ๓๒ ดูว่าตัวเรามีอะไร? ผู้ปฏิบัติต้องควบคุมทั้งกลางคืนกลางวัน 
       น้อมจิตมาพิจารณาเห็นตัวเองตลอดเวลา  นึกเห็นหน้าตาของเรา  รูปพรรณสัณฐานของเราดูอาการ ๓๒  เป็นสิ่งที่เรารู้ แต่ไม่เคยดู ตาข้างในเหลียวออกไปข้างนอก ไม่เคยเห็นข้างในตัวเอง  จึงเป็นสิ่งมืดมิดสำหรับตาข้างใน  เพราะจิตมีความชำนิชำนาญในการมองข้างนอก  นึกถึงข้างนอกซ้ำซากจนหยุดไม่ได้  คิดวนมาวนไปต้องทำลายให้ดับเสีย จิตจะได้ไม่ท่องเที่ยว ถ้าเรามองเห็นตัวเองก็จะดับกิเลสได้ มองตัวเองอย่างเดียว ถ้าปล่อยจิตไปข้างนอกจิตจะไปสู่โลกที่เวิ้งว้างกว้างไกล พบที่หยุดไม่ได้ เราคิดข้างในอยู่ในวงจำกัด คิดในตัวของเราเอง คือ อวัยวะทั้งนอกทั้งในร่างกาย คิดหรือไม่คิดก็อยู่ตรงนี้  ให้แจ้งออกมาให้ได้  แล้วเราจะพบความจริงที่แก้ไขได้  เอาจิตเดินทางเส้นใหม่พิจารณาอาการ ๓๒ กายคตาสติ  มีสติไปในกายทุกอย่างทุกเมื่อ จงมีสติไปในกายท่องเที่ยวอยู่ในตัวเรา จนกว่าจะเห็นตัวเราแจ้งออกมา  การคิดข้างนอกตัวเราจะมืด แต่ถ้ามองตัวเราแจ้งแล้ว ข้างนอกจะมืด ประพฤติปฏิบัติย้อนกระแสก็จะออกจากโลกได้  โดยการน้อมจิตเข้ามาหาตัว ไม่เช่นนั้นไปไม่ได้ก็ออกจากระบบของโลกไม่ได้ 
       เราจะหนีโลกด้วยวิธีนี้ เอาจิตออกจากระบบเดิมทั้งกลางคืนกลางวัน มีอินทรีย์สังวรน้อมจิตเข้าดูตัว น้อมจิตไปในทางไตรลักษณ์ ความคิดเกิดปุ๊บตัดเลยทันที  ควบคุมจิตน้อมมาอยู่ข้างในเสีย แล้วคุมให้อยู่ข้างใน ค้นดูว่ามีอะไร?  เราตัดถอนกิเลสและอารมณ์ไม่ให้งอกงาม  ไม่เห็นไม่เป็นไร  เมื่อจิตเป็นสมาธิมากๆ จะเห็นได้เอง  ขณะนี้ตาของเรายังไม่เปิด จักขุ (ตาใน) ยังมืดอยู่   การสนใจข้างนอกจึงมองตัวเองไม่เห็น  ตาปัญญายังไม่เปิด เวลาสงบก็อยู่ภายในกายเราในอาการ ๓๒  ตลอดเวลา  นานเข้าการรู้อย่างนี้จึงจะจบได้  ไม่ใช่พุทโธเพียงอย่างเดียว  การบังคับจิตให้นิ่งหยุดได้แป๊บเดียว นิ่งได้ไม่นาอึดอัดใจจะขาดจิตจะไปแล้ว เป็นที่หนักใจคิดมากแก้ไขได้ เอาจิตพิจารณาอาการ ๓๒ จิตจะมั่นคงเกิดการยอมรับเอง จึงเป็นจิตที่อบรมแล้วเป็นสมาธิที่มั่นคงอยู่ได้นาน เป็นข้อสังเกตว่าคนเราเป็นไปได้  การประพฤติปฏิบัติเราจะต้องอบรมอย่างนี้ให้มาก นานเข้าๆสังเกตจิตเราจะเริ่มสว่างขึ้น  สว่างมากขึ้นๆ ทีแรกเหมือนหิ่งห้อยแว๊บๆ  จิตวนในตัวเรามากๆ  จะเป็นจิตมีพลังสงบแล้วสว่างออกมาเจิดจ้าขึ้นเรื่อยๆ จากหิ่งห้อยเป็นดวงดาว จากดวงดาวเป็นดวงเดือน จากดวงเดือนเป็นแสงอาทิตย์ สว่างไสว ต้องนึกให้มากไม่ใช่ง่ายๆ จิตสว่างไสวเป็นธรรมชาติแปลกๆ ความสว่างเริ่มใกล้เข้ามา ห่างจากหน้าเราวาสองวา  นานเข้าแสงจะใกล้เข้ามา ดูในตัวเราทั้งตัวจะสว่างไสว เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้นๆสว่างมีแสงรอบตัวเรา ยิ่งกลางคืนชัดเจนมากเพราะความสว่างไสวในความมืด เริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้นเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง จิตเป็นหนึ่งนิ่งอยู่เป็นสมาธิสว่างไสว ที่เห็นตัวเองชัดแจ๋วขึ้นมา  จักขุเกิดขึ้นแล้ว  ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว  ทำมากขึ้นจะเห็นตัวเองชัด  จะเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า ร่างกายตนเองเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น?
       การประพฤติปฏิบัติทำน้อยไม่ได้ในระหว่างที่ยังไม่พ้น  หากทำน้อยจะมีโอกาสที่จิตไหลออก กระชากจิตออกไปเหมือนกระป๋องมีรอยรั่วน้ำจะไหลออก  สมาธิเป็นของเสื่อมได้ถ้าไม่รักษารอยรั่ว สมาธินี้จะเสื่อมเมื่อเริ่มก่อตัวความพร่องความรั่วไหลของจิต เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ต่อเนื่อง  ความเพียรต้องทำต่อเนื่องมาก ไม่ให้รั่วถ้าทำอย่างนั้น  หวังได้เลยว่า จะเป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม มีความยั่งยืนถาวรได้ เท่ากับเราสร้างสมาธิที่ยังไม่เกิดให้เกิด และรักษาไม่ให้เสื่อม มีระบบผลิตมีความเพียรเป็นเครื่องป้องกัน ที่ยังไม่เห็นให้เกิดเห็น เมื่อเห็นแล้วรักษาไว้ไม่ให้เสื่อมไป คนนั้นจะเป็นระบบพร้อมมูล จิตอบรมแล้วนี้จะชัดสว่างไสวระดับหนึ่ง 
       ที่รู้เห็นว่าเบญจขันธ์เป็นของไม่เที่ยง  หาตัวตนไม่ได้  การเห็นตัวเอง ๕๐ ๖๐ %  ยังไม่ถึงที่สุดของความเห็น จะทำให้ละสักกายทิฏฐิได้  กายไม่เพียงแต่เป็นของไม่ใช่ตัวตน ตัวตนของเราไม่มี พระโสดาบันจะละทิ้งสังโยชน์ตาในต้องเปิด  ทำสมาธิให้ตั้งมั่น  ทำให้ตาในเปิดจิตตั้งมั่นด้วย เห็นด้วย ตั้งมั่นรู้เห็นขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ทำให้แจ้งออกมา  มีคำตอบในตัวเองว่า ขันธ์ ๕  ไม่ใช่เรา เป็นคำตอบที่เข้าใจได้ถูกต้องแล้ว เห็นชัดเจนถูกต้อง  ความรู้เหล่านั้นเห็นแจ้ง เกิดความมั่นใจในการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง  ไม่สงสัยคำสอน  ความสงสัยทำให้เขวแล้วเลิกทำ  หันไปทำอย่างอื่นจะทำให้ไม่รู้เห็น คนที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องธรรมะ ความสงสัยถึงจุดหนึ่งจะมีคำตอบในตัวเอง  การที่เราประพฤติปฏิบัติไปสู่ความถูกต้อง  ต้องเข้าใจเป็นเหตุเป็นผลที่มั่นใจในปฏิปทา  สักกายทิฏฐิจะเห็นตนตลอดเวลา จนเป็นการที่เห็นทั้งวันทั้งคืน เห็นตลอดเวลา ความรู้ความเห็นเป็นสมาธิ เป็นความสว่างเจิดจ้า สมาธิมีมากขึ้นๆ ถึงขีดที่จะเป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  ทรงตัวในสมาธิได้เป็นสมาธิที่ยั่งยืน เป็นสมาธิโดยอัตโนมัติที่ผ่านการฝึกทำความเพียรมากแล้ว มีแววที่จะชนะกิเลสและอารมณ์น้อยใหญ่ได้ กิเลสเดิมไม่มีโอกาสเกิดถูกลิดรอนอำนาจให้หมดไป ไม่เติมเชื้อไฟก็มอดลงเรื่อยๆ การน้อมดูตัวทำให้จิตจางคลาย นานเข้าอารมณ์ต่างๆ บางเบาจนเหลือน้อยลง  เราสังเกตว่าตัวเบา มองดูรู้ว่าละได้เท่าไร เหลืออีกเท่าไร พิจารณาร่างกายไปเรื่อยจนให้แจ้ง เป็นธรรมชาติแปลกใหม่ จิตจะฝังตัวลงในอาการ ๓๒ เข้าเนื้อเข้าหนัง จิตซึมแทรกทุกขุมขน พิจารณานานเข้าๆ จิตอยู่โดยอัตโนมัติเพราะเราทำซ้ำซากจะเป็น สติ-สัมปชัญญะ เป็นมหาสติ" ต้องฝึกอย่างนี้เท่านั้น 
       การมองเห็นตัวเราเป็นวิปัสสนาญาณ  ประคองจิตสู่มหาสติเป็นพลังอำนาจที่ไม่หลงแม้วินาทีเดียวก็ไม่เป็น  การคิดนานจนลืมตัว กว่าจะรู้ตัวครึ่งชั่วโมงแล้ว  สติลอยเผลอง่าย กว่าจะรู้ตัวนาน ไม่มีวี่แววจะจบเหมือนไม้หลักไม้เลน  การเห็นตัวเองจะเป็นหลักตอกเสาเข็ม เป็นมหาสติ เป็นอัตโนมัติ  ถ้าฝึกใหม่ๆมีสติไม่พอก็เหนื่อยกับการคิด เป็นความทุกข์ที่ไม่มีประโยชน์ไร้สาระเหนื่อยพอกัน แต่ทุกข์ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัตินั้น เป็นทุกข์แบบนี้มีประโยชน์
       เราต้องพิจารณาให้แจ้งขึ้นไปเรื่อยๆ พิจารณาจนจิตซึมแทรกอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายและใช้เป็นเครื่องอยู่ จิตก็เริ่มชินกับเครื่องอยู่ก็ไม่หลุดไม่ร่วงง่าย  เป็นของมั่นคงทำให้รักษาสิ่งนั้นไปได้ อาศัยตัวเราทั้งหมดพยุงจิตเป็นจิตมั่นขึ้นมาเอง   สัมปชัญญะปัญญาอุ้มชูจิตให้เรามีสมาธิมากขึ้น เป็นแรงช่วยสติ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องอุปการะ ทำให้การประคองจิตง่ายขึ้นไม่ต้องคอยประคองต่อไป  เป็นผลให้สมาธิมั่นเอง เราเบาภาระลงกลายเป็นมหาสติด้วยแนวทางนี้เท่านั้น  ถ้าจิตอบรมอย่างนี้มั่นใจได้เลยว่า มีสิทธิ์จะชนะแน่  อบรมไปเรื่อย ๆ จะเห็นลุกลามจนทั่วตัว  เห็นชัดยิ่งกว่าตาเนื้ออีก  นานเข้าจะเปิดชัดเจนขึ้นมา  ตาใจใสแจ๋วชัดเจนมาก ไม่ว่าคนหนุ่มคนสาวคนเฒ่าคนแก่ชัดมาก จนตานอกสู้ไม่ได้ เห็นชัดมากจนทั่วตัว แม้ขนเส้นเดียวก็ไม่เว้น  ทำไปเรื่อยๆ ทำมากเข้าๆ ตาในเปิด จะเห็นทั้งวันทั้งคืน  ถ้าเปิดอย่างนั้นสมาธิเริ่มมั่นมาก
       พระอริยบุคคลสมาธิไม่เสื่อม สมาธิรักษาไว้แน่นหนา มีขอบเขตระบบชัดเจน ตัวของเรา แก่นแท้ของเราอยู่ตรงไหน?  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร วิญญาณอยู่ตรงไหน? ตัวตนของเรา เราคิดว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น  เมื่อเปิดออกดูไม่มี  เข้าใจมานานว่าตัวเราอยู่ในกายของเรา เมื่อเห็นแจ้งแล้ว ค้นไปค้นมาไม่มี  ความไม่มีทำให้จิตทบทวนบทบาทของตัวเองอย่างใหญ่โต เราคิดว่าตัวเราอยู่ในนั้น แต่ความจริงไม่มีก็เอะใจว่า เรานึกไม่ถึงว่าเราไม่มีอะไร ร่างกายเป็นของว่างเปล่า เพราะหาได้มีตัวตนที่แท้จริงในตัวเราไม่  จิตเริ่มเข้าใจตัวเองใหม่ หายสงสัยแล้วว่าตัวเราไม่มี  เราจะท่องเที่ยวเพื่อใคร?  เพื่ออะไร?  ที่จิตเห็นว่าเป็นเรา ที่จริงแล้วกลับไม่มี  จิตเข้าใจผิดมานาน เห็นผิดก็ย่อมเห็นถูกขึ้นมา ญาณเกิดขึ้นเกี่ยวโยงระบบชีวิตว่า ร่างกายว่างเปล่าเราจะแสวงหาเพื่อใคร? จิตเรามีการท่องเที่ยว เป็นความผิดของตนเอง คือ หลงเข้าใจผิด  วิชชาเกิดขึ้นแล้ว  สังขารดับแล้ว  คนเราโง่มาก่อน เราคิดว่าเราฉลาด ธรรมชาติหลอกเราได้  ฉลาดอย่างไรก็ไล่ถึงได้ 
       อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอก  เราเองรู้ไม่ได้  ถ้าอย่างนั้นเราจะเดินทางแสวงหาเพื่ออะไร? เมื่อเราเองไม่มี เป็นของว่างเปล่า  จิตเห็นการท่องเที่ยวไปอย่างเก่าก่อนเป็นความผิดของตนเอง จิตตั้งปณิธานไว้ได้ เมื่อจิตเห็นแล้วเหมือนผู้ร้ายเริ่มกลับใจ แต่ก่อนจิตไม่ยอมเลิกรากลับใจ เพราะยังมีความเห็นผิดฝังอยู่ในสันดาน เมื่อเห็นจริง จิตก็เริ่มเลิกรา จิตก็จะเบาลงๆ    การกระทำบ่งชัดเจนถึงความเข้าใจได้ก็ไม่ทุกข์ สติปัญญาของเราเกินที่จะรู้ได้ เมื่อรู้เห็นแจ้งแล้วน้ำตาจะไหล  ซึ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า  เข้าถึงพระรัตนตรัย ไม่คลอนแคลนในพระรัตนตรัย  ญาณเกิดขึ้นแล้วเป็นพยานเชื่อสนิทใจในพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  ซึ้งในพระคุณที่รักษาตาอันมืดบอดมานานของเรา  ผู้ให้ความรู้คือ พระพุทธเจ้าทั้งที่ไม่ได้พบพระพุทธเจ้า  การแจ้งในคำสอนทำให้เกิดความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ น้ำตาไหลอยู่ในป่าคนเดียว      
       ผู้ใดอยู่ในธรรมผู้นั้นอยู่ใกล้ตถาคตเป็นจริงดังนั้น  มีกำลังใจหึกเหิมที่จะเอาชนะกิเลสอย่างมุ่งมั่นด้วยความเพียร ขยันมาก ธรรมชาติของจิตเปลี่ยนแปลงความตลบตะแลง  เมื่อพิจารณาอย่างแยบคาย เห็นแจ้งแล้วเกิดความเบื่อหน่าย  เห็นเป็นภัยอันใหญ่หลวง  จิตจะไม่พลิกผัน สมาธิไม่เสื่อม  จิตยอมรับความจริง อันนี้เป็นระบบ เห็นแจ้งมีดวงตาญาณเปิดรักษามาตรฐานแน่นอน ตั้งแต่เข้าใจแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลง และรู้มากขึ้นอีก  พระอรหันต์จะไม่พลิกผันเป็นมาตรฐานการเห็นที่มั่นคง อัศจรรย์จริง ! เป็นมาตรฐานตลอดเวลา มีขอบเขตชัดเจน รักษาตามภูมิ ตามระดับอินทรีย์ที่ทำได้ พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี จะเป็นไปในทางสูงขึ้นโดยไม่ตกต่ำลง
       สิ่งเหล่านี้ ความเพียรต้องมาก  แทบจะไม่ได้หลับได้นอน แลดูจิตตลอดแม้ยามหลับ เปรียบดังวัวควายแม่ลูกอ่อน  จะกินหญ้า ทำมาหากินอะไร? แลดูลูกตลอดไม่ให้ห่างหาย ไม่ให้คาดสายตา ภาระของเราขนาดนั้นจะอยู่ก็ทุกข์ จะถอยก็ทุกข์ ไปข้างหน้าก็ทุกข์ ทุกข์ก็ต้องทำ ไม่ทำก็ทุกข์ ทำดีกว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ถึงที่สุดจิตเป็นหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง แล้วจะสบายเมื่อจบกิจ แล้วมาตรฐานมีอยู่ และจิตหยุดได้ 
       เมื่อเป็นอย่างนั้นก็มีกำลังใจ  การค้นหาเบญจขันธ์เหมือนการค้นกระเป๋า เราเห็นความไม่มี ทั้งหญิงและชายก็เป็นความว่างเปล่า ที่คิดว่ามีอยู่เป็นอำนาจของกิเลส ลึกๆในความเป็นหญิงเป็นชายเป็นของว่างเปล่า การเห็นสรีระ  เห็นซากศพของตัวเอง เป็นปฏิกูล เป็นของว่างเปล่าในความเป็นหญิงเป็นชาย ความรู้นี้จะฆ่ากิเลสราคะ โทสะออกพร้อมกัน  เริ่มมั่นใจได้ว่ามีแวว เริ่มภูมิใจส่งคืนธรรมชาติเหลือแต่ร่างเปล่าๆ ฉายแววว่ารู้ได้เลย ว่าอริยบุคคลเบื้องต้นเข้าใจความเป็นพระอรหันต์ มะม่วงลูกหนึ่งเอากล้าไปปลูกแล้ว จะได้มะม่วงไว้รับประทาน ลองทำตามคำสอน เริ่มด้วยวิธีการปลูก เมื่อต้นมะม่วงโตขึ้นมา ก็เริ่มออกดอกบำรุงรักษาให้ดี  พรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ความสงสัยก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่หยุดยอมทำตามคำสอน เมื่อมะม่วงมีดอกแล้ว มีผลเล็กๆ เป็นตุ่มๆ ค่อยๆ โตขึ้นมา ความสงสัยลิดรอนออก จนผลมะม่วงเริ่มโตและห่ามวันต่อไปก็ต้องสุก  ประเมินได้ว่าผลมะม่วงต้องสุกแน่ๆไม่ต้องสงสัย  พระโสดาบันเหมือนมะม่วงห่ามแล้ว ต้องสุกในที่สุด จะสุกงอมหลุดร่วง การหมดกิเลสก็ร่วงหล่นลงดั่งนั้น  บัดนี้ สิ้นสงสัยว่าวิธีไหนถูกหรือผิด และเข้าใจว่า หมดทุกข์ได้อย่างไร ตัวตนว่างเปล่า ความเป็นหญิงเป็นชายก็ว่างเปล่า  เบญจขันธ์ว่างเปล่า  กามคุณว่างเปล่า  ควรหรือจะหมายมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา ดวงตาภายในเปิดขึ้นแล้ว ตอบได้ว่าทั้งหมดเป็นของว่างเปล่า เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนพระอัญญาโกณฑัณญะ เมื่อรู้ว่าไม่ควรหมายมั่นว่า เป็นตัวตนของเราก็สลัดออก  ความเบื่อหน่ายย่อมปรากฏ สังขาราอนิจจัง  รูปังอนัตตา  มรรคมีองค์ ๘  เป็นหนทางอันประเสริฐ ตาไม่เปิดจะไม่เห็นเพราะยังไม่ถูกอบรม ต้องอบรมธรรมก็จะรู้ ดีกว่าไม่รู้ เราจะได้เอาไปพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่เราได้     
       ปฏิบัติให้มาก ฟังมากแล้ว ทำความเพียรให้มาก  "การฟังแล้วไม่ปฏิบัติก็เข้าไม่ถึง ฟังธรรมแล้วไม่บรรลุ เพราะจิตไม่ไป"  ต้องการกินมะม่วง ก็ต้องปลูกมะม่วง จึงจะได้ผลมะม่วงเป็นการตอบแทน ต้องขยัน มีความเพียร มีความหมั่น ต้องลงมือปฏิบัติ  จึงจะเป็นพยานเกิดขึ้น แจ้งสว่างจ้าอยู่ตรงที่มืดนั้น กลางคืนเท่ากับกลางวัน ความสว่างจะคงที่  สว่างอยู่อย่างนั้นหลับตาลืมตาก็ไม่เสื่อม  ไม่มีความเป็นหญิงเป็นชาย  เห็นโทษภัยในตัวตนที่ตรงรูป โดยอาศัยความสุขในกามคุณเป็นเครื่องหลอกล่อ เป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกเสีย เป็นสิ่งที่ไม่ควรแก่เรา 
       จิตเห็นความถูกต้องจิตจึงละได้ จิตเริ่มไม่เถียง เริ่มเข้าใจอกุศล และเริ่มคายออก  กุศลเป็นสิ่งที่ควรประพฤติ จิตที่คิดไม่ดีมากๆ เริ่มสลายตัว  จิตดวงเดิมแก้ได้  ทำโจรให้เป็นพระ  ทำผู้ร้ายให้เป็นคนดี  เราก็สบายนำสุขมาให้เรา  สมาธิมั่นคงมากไม่อยากคิดให้เหนื่อย ไม่คิดอะไร?  จิตสงบระงับก็มีความสุขแล้ว พยายามให้คนหลุดพ้น อยากจะใคร่พ้นเร็วๆ ต้องขยันหมั่นเพียรให้มาก  ทำแล้วเห็นผลเป็นเครื่องชโลมใจ  ได้กำลังใจมาก ความขี้เกียจน้อยกว่าความขยัน  ความเพียรมีรสชาติ  ไม่ได้บีบคั้นจนเกินไป  มีแรงบันดาลใจมากและกำลังใจมีมาก  จะทุกข์กายแต่กำลังใจมีมากมาหล่อเลี้ยง  ทำต่อไปสงครามฉายแววชนะ เราก็พยายามชิงอำนาจให้ได้ชัยชนะ  เมื่อพบว่าญาณรู้ในความไม่แปรเปลี่ยน สมาธิมั่นคงมาก  ชีวิตเริ่มเป็นสมาธิตั้งแต่ดวงตาเริ่มเปิดแล้ว เป็นสมาธิประมาณ ๖๐% อีก ๓๐% ยังไม่เป็นสมาธิ  และ ๑๐% ยังมีความปรุงแต่งเจืออยู่ เอาสติกั้นไว้ให้เป็นสมาธิ เรายึดสถานการณ์ได้แล้ว เปิดความเห็นแจ้งด้วยวิธีวิปัสสนา มีญาณเป็นตัวรู้ฝังแน่นในอาการ ๓๒  เป็นเครื่องอยู่ของจิต  จึงเห็นชัดแจ้งได้
        ยุติเพียงแค่นี้ ขอให้ทุกคนรู้แจ้งมรรคผลนิพพานในคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกคนทุกท่านเทอญ .....

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น