พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตผู้ทรงคุณอันบริสุทธิ์
(บันทึกโดย ... หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร)
• “ท่านอาจารย์มั่น เป็นคนเด็ดเดี่ยว สละชีวิตถึงตาย สลบไป ๓ คราว
และท่านต้องการคนใจเด็ดเป็นสานุศิษยฯ”
• “ท่านภาวนาสถานที่เป็นมงคล
มีเทวดามานมัสการตั้งหมื่น ท่านรู้ได้ด้วยภาวนาขั้นละเอียดฯ อมนุษย์ท่านก็รู้ได้”
• “ท่านทำตัวของท่านใหม่อยู่ในตระกูลทั้งหลาย
ไม่ทำตัวของท่านให้คุ้นเคยในตระกูลเลย การไปมาของท่านไปโดยสะดวก มาโดยสะดวกไม่ขัดข้องในตระกูล”
• “เป็นคนมักน้อยชอบใช้บริขารของเก่าๆ ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น ข้อวัตรหมดจดดี สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ เป็นผู้ไม่ละกาลวาจาพูดก็ดี
เทศน์ก็ดี ไม่อิงอามิส ลาภ สรรเสริญ วาจาตรงตามอริยสัจ ตามความรู้ความเห็น อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนยล้วน”
• “ท่านประพฤติตนเป็นคนขวนขวายน้อยในอามิส
หมดจดในข้อวัตร และหมดจดในธรรมะ พ้นวิสัยเทวดา และมนุษย์ที่จะติเตียนได้ ไม่เป็นข้อล่อแหลมในศาสนา ท่านได้วัตถุสิ่งใดมา ท่านสละทันที สงเคราะห์หมู่พรหมจรรย์ ฯ”
• “สิ่งของอันใดท่านอยู่ที่ไหน
เขาถวาย ท่านก็เอาไว้ให้พระเณรใช้ ณ ที่นั้น ท่านไม่ได้เอาไปด้วย ฯ”
• “มีคนไปหาท่านอาจารย์มั่น
ท่านไม่ดูคน ท่านดูจิตของท่านเสียก่อน จึงแสดงออกไปต้อนรับแขกผู้มาถึงถิ่น อนึ่ง ท่านหันข้าง และหันหลังใส่แขก ท่านพิจารณาจิตของท่านก่อน
แล้วพิจารณานิสัยของผู้อื่น นี้เป็นข้อลี้ลับมาก ต่อนั้นถ้าจะเอาจริงจังต้องประชันต่อหน้ากัน
จึงเห็นความจริงฯ”
• “จิตของท่านผ่าอันตรายลงไปถึงฐานของธรรมะนี้
มีราคามาก บ่งความเห็นว่าเป็นอาชาไนยโดยแท้”
• “ปฏิบัติธรรมท่านพูดทรมานใครแล้ว ย่อมได้ดีทุกๆ คน ถ้าหมิ่นประมาทแล้วย่อมเกิดวิบัติใหญ่โต”
• “ท่านมีนิสัยปลอบโยน
เพื่อคัดเลือกคนดีหรือไม่ดี ในขณะท่านพูดเช่นนั้น
ท่านหันกลับเอาความจริง เพราะกลัวศิษย์จะเพลิน ฯ”
• “นิสัยท่านเป็นคนใจเดียว
ไม่เห็นแก่หน้าบุคคล ในเวลาถึงคราวเด็ดเดี่ยวต่อธรรมะวินัยจริงๆ ฯ”
• “ท่านเป็นคนไม่อวดรู้
แต่ธรรมะของท่านบอกเหตุผลไปต่างหาก นี้เป็นข้อพึงวินิจฉัย”
• “หาบุคคลที่จะดูจริตของท่านรู้ได้ยาก
เพราะท่านเป็นคนนิสัยลึกลับ จะรู้นิสัยได้ ต่อเมื่อบุคคลที่มีภูมิจิตส่วนเดียว ฯ”
• “ท่านผู้มีอำนาจในทางธรรมะ
ทำอะไร ? ได้ไม่ครั่นคร้าม ชี้เด็ดขาดลงไป
ไม่มีใครคัดค้าน นี่
เป็นอัศจรรย์มาก ฯ”
• “ท่านถือข้างใน
ปฏิปทาความรู้ความเห็นของท่าน เกิดจากสันตุฎฐี ความสันโดษของท่าน ท่านมีนิสัยไม่เป็นคนเกียจคร้าน ขยันตามสมณกิจวิสัย
หวังประโยชน์ใหญ่ในศาสนา ฯ”
• “ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้ที่สะอาด
ไตรจีวร และเครื่องอุปโภคของท่าน ไม่ให้มีกลิ่นเลย
ถูกย้อมบ่อยๆ”
• “ท่านบวชในสำนักพระอรหันต์
๓ องค์ แต่เมื่อชาติก่อนๆ โน้น”
• “ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใครๆ
เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันอย่างเดียว
นิสัยท่านชอบเก็บเอาเครื่องบริขารของเก่าไว้ใช้ เพราะมันภาวนาดี
เช่นจีวรเก่าเป็นต้น ฯ”
• “ท่านไม่ติดอามิส
ติดบุคคล ติดลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านถือธรรมะเป็นใหญ่ ไปตามธรรมะ
อยู่ตามธรรมะฯ”
• “ท่านพูดธรรมะไม่เกรงใจใคร
ท่านกล้าหาญ ท่านรับรองความรู้ของท่าน
ฉะนั้น ท่านจึงพูดถึงพริกถึงขิง ตรงอริยสัจ พูดดังด้วย พูดมีปาฏิหาริย์ด้วย
เป็นวาจาที่บุคคลจะให้สิ้นทุกข์ได้จริงๆ เป็นวาจาที่สมถะวิปัสสนาพอ
ไม่บกพร่อง
กำหนดรู้ตามในขณะกาย
วาจา จิตวิกาลตรงกับไตรทวาร สามัคคีเป็นวาจาที่เด็ดเดี่ยว ขลังดีเข้มแข็งดี เป็นอาชาไนยล้วน วาจาไม่มีโลกธรรมติด เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์
พระเณรอยู่ในอาวาสท่านได้สติมาก เพราะบารมีของท่าน ถ้าขืนประมาทท่านเกิดวิบัติ ฯ”
• “ท่านอาจารย์มั่น
เทวดาและอมนุษย์ไปนมัสการท่าน เท่าไรพันหรือหมื่นท่านกำหนดได้”
• “ท่านรักษาระวังเทวดามนุษย์ประมาทท่าน
เช่น เยี่ยงท่านก็มีระเบียบ แม้กิจเล็กๆ น้อยๆ เป็นระเบียบหมด ฯ”
• “ท่านอาจารย์ท่านพูดโน้น
คำนี้อยู่เสมอ เพื่อจะให้สานุศิษย์หลง
เพื่อละอุปาทานถือในสิ่งนั้น ๆ ท่านทำสิ่งที่บุคคลไม่ดำริไว้ สิ่งใดดำริไว้ท่านไม่ทำ นี้ส่อให้เห็นท่านไม่ทำตามตัณหาของบุคคลที่ดำริไว้
ฯ”
• “จิตของท่านอาจารย์มั่นผ่าอันตรายลงไป ตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม บริบูรณ์ด้วยมหาสติ มหาปัญญา
มีไตรทวารรู้รอบ มิได้กระทำความชั่วในที่ลับ
และที่แจ้ง และมีญาณแจ่มแจ้ง รู้ทั้งเหตุผลพร้อมกัน
เพราะฉะนั้นแสดงธรรมมีน้ำหนักมาก
พ้นวิสัยคนที่จะรู้ตามเห็นตาม เว้นแต่บุคคลบริบูรณ์ด้วยศีล และสมาธิมาแล้ว อาจที่ฟังเทศนาท่านเข้าใจแจ่มแจ้งดี
และบุคคลนั้นทำปัญญาสืบสมาธิต่อ ฯ”
• “จิตท่านอาจารย์มั่นตื่นเต้นอยู่ด้วยความรู้
ไม่หยุดนิ่งได้ มีสติรอบเสมอ
ไม่เผลอทั้งกาย และวาจา เป็นผู้มีอริยธรรมฝังมั่นอยู่ในสันดาน
ไม่หวั่นไหว ตอนนี้ไม่มีใครที่จะค้านธรรมเทศนาของท่านได้
เพราะวาจาเป็นอาชาไนย และมีไหวพริบแก้ปฤษณาธรรมกายได้
ฯ”
• “ธาตุของท่านอาจารย์เป็นธาตุนักรู้ เป็นธาตุที่ตื่นเต้นในทางธรรมะ เป็นผู้ที่รู้ยิ่งเห็นจริงในอริยสัจธรรม ท่านดัดแปลงนิสัยให้เป็นบรรพชิต ไม่ให้มีนิสัยติดเพศติดสันดาน
ท่านประพฤติตนของท่านให้เทวดา และมนุษย์เคารพ และท่านไม่ประมาทในข้อวัตรน้อยใหญ่
ฯ”
• “ท่านไม่ให้จิตของท่านนอนนิ่งอยู่อารมณ์อันเดียว
ท่านกระตุกจิต จิตของท่านค้นคว้าหาเหตุหาผลของธรรมะอยู่เสมอ ท่านหัดสติให้รอบรู้ในอารมณ์และสังขารทั้งปวงฯ”
• “ท่านอาจารย์มั่น
ท่านเก่งทางวิปัสสนา ท่านเทศน์ให้บริษัทฟัง สัญญา มานะเขาลด เจตสิกเขาไม่เกาะ เมื่อไม่เกาะเช่นนั้น ยิ่งทำความรู้เท่าเฉพาะในจิต
ตรวจตราในดวงจิต
ขณะที่นั่งฟัง ต่อนั้นจะเห็นอานิสงส์ทีเดียว ไม่ทำเช่นนั้นหาอานิสงส์การฟังธรรมมิได้ ถ้าประมาทแล้ว จะเกิดวิบัติ เพราะราคะ มานะ ทิฐิของตน วินิจฉัยธรรมมิได้”
• “ท่านเทศน์อ้างอิงตำรา
และแก้ไขตำรา ดุจของจริงทีเดียว เพราะท่านบริบูรณ์วิปัสสนา
และสมถะพอ และท่านยกบาลีเป็นตัวเหตุผลแจ่มแจ้ง”
• “อุบายจิตของท่านอาจารย์มั่น ท่านพอทุกอย่าง ไม่บกพร่อง คือพอทั้งสมถะ พอทั้งวิปัสสนาทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านเทศนาจิตของผู้ฟังหด
และสงบ และกลัวอำนาจ เพราะนิสัยคนอื่นไม่มีปัญญาที่จะชอนเข็มโต้ถามได้
ตรงกับคำว่าพอทั้งปัญญา พอทั้งสติ
ทุกอย่างเป็นอาชาไนยล้วน รวบรัดจิต
เจตสิกของคนอื่นๆ มิอาจจะโต้แย้งได้”
• “ท่านว่าแต่ก่อนท่านเป็นคน
'โกง' คน 'ซน'
คน 'มานะกล้า' แต่ท่านมีธุดงค์ข้อวัตรทุกอย่างเป็นยอด
ทำความรู้เท่าทันกิเลสเหล่านั้น เดี๋ยวนี้
นิสัยก่อนนั้นกลายเป็นธรรมล้วน เช่น 'โกงสติ' 'ซนสติ' 'มานะสติ'
เป็นคุณสมบัติสำหรับตัวของท่าน
ความรู้ความฉลาดของท่าน ไปตามธรรมคืออริยสัจ ใช้ไหวพริบทุกอย่าง
ตรงตามอริยสัจ ตรงกับคำว่าใช้ธรรมเป็นอำนาจ คณาจารย์บางองค์ถืออริยสัจก็จริง แต่มีโกงนอกอริยสัจ เป็นอำนาจบ้างแฝง แฝงอริยสัจ ตรงกับคำที่ว่า ใช้อำนาจเป็นธรรมแฝงกับความจริง”
• “ท่านอาจารย์เป็นนักปราชญ์แปดเหลี่ยมคม
คมยิ่งนัก ธรรมชาติจิตของท่านที่บริสุทธิ์นั้น กลิ้งไปได้ทุกอย่าง
และไม่ติดในสิ่งนั้นด้วย ดุจน้ำอยู่ในใบบัว
กลิ้งไปไม่ติดกับสิ่งอื่นๆ เพราะฉะนั้นจิตของท่านถึงผลที่สุดแล้ว
มิอาจจะกระทำความชั่วในที่ลับ และที่แจ้ง เพราะสติกับปัญญา รัดจิตบริสุทธิ์ให้มั่นคง ใช้ไหวพริบเป็นอาชาไนยอยู่เนืองนิตย์”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น