วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รู้แจ้งแทงอริยสัจ... พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



รู้แจ้งแทงอริยสัจ
พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

*********


          วันนี้ก็เป็นวันที่พวกเรามาประพฤติปฏิบัติกันอีกวันหนึ่ง  ก่อนอื่นเราจะต้องศึกษาโครงสร้างใหญ่ๆเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติเพื่อสู้กับกิเลสให้เข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะว่าอยู่ๆจะให้ทำสมาธิเลยก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร  การที่ไม่รู้จักว่าตัวกิเลสคืออะไร  เหมือนกับว่าจะให้เราไปสู้กับข้าศึก แต่ยังไม่รู้ว่าข้าศึกอยู่ตรงไหน  หน้าตาเป็นอย่างไร  เรานั่งสมาธิทางที่ดีคือไม่พูด หรือพูดให้น้อยที่สุดจึงจะดี ถ้าพูดไปด้วย มัวฟังไปด้วยก็ทำใจให้สงบได้ยาก และบางคนก็ชอบบางคนก็ไม่ชอบ เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสมาธิให้เป็นพื้นฐานให้มาก เรามาประพฤติปฏิบัติก็ด้วยหวังผล เราจะต่อสู้กับข้าศึกศัตรูของจิตใจคือกิเลสภายใน

          ก่อนอื่นเราควรรู้ระบบพื้นฐานจิตใจของมนุษย์เราว่าเป็นอย่างไร ศึกษาธรรมชาติที่มีอยู่นี้ให้เป็นไปตามลำดับ  เมื่อเราเกิดมาเรามีกายกับใจ เราจำความได้ว่าใจนี่แหละเป็นผู้คิดนึกท่องเที่ยวอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีใจก็คือตายนั่นเอง ใจเป็นสิ่งมีอิทธิพลมากที่สุด เราจะต้องควบคุมใจให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ว่าใจดวงนี้ ทั้งๆ ที่เป็นใจเรา แต่ทำไม? ดูเหมือนว่าจะมีความรู้สึกขัดแย้งกับเรา  ขัดแย้งอยู่เรื่อย บางครั้งความเห็นของใจไม่ตรงกับความเห็นของเรา  อันนี้เป็นสาเหตุของความขัดแย้งกับใจตัวเอง  นี่คือที่มาของกิเลส  เราเกิดมาเป็นมนุษย์เราอยู่ภายใต้อำนาจของบางสิ่งบางอย่างแทบไม่เป็นตัวของตัวเอง ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งเราไม่สามารถจะครอบงำธรรมชาติอันนั้นได้  ธรรมชาตินั้นกลับครอบงำเรา  เราจึงเป็นทาสผู้รับใช้ตลอดกาล  วันแรกที่เราเกิดมาในโลกนี้คือวันเดินทางของร่างกายอันนี้  เด็กเกิดมาร้องไห้รู้จักเจ็บปวด และร่างกายก็มีการแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จากวัยทารก เข้าสู่วัยเด็ก จากวัยเด็กเติบโตขึ้นวัยหนุ่มสาวเป็นวัยอันน่ารื่นรมย์ แล้วก็ก้าวไปสู่วัยชราร่างกายก็ร่วงโรย และสุดท้ายก็คือความตาย เราไม่สามารถที่จะบังคับควบคุมร่างกายให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้เลย แม้แต่การเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เราพอจะรักษาอาการให้ทุเลาได้ในบางครั้ง  และบางครั้งก็หาย แต่บางคราวก็ไม่หายได้และต้องตายในที่สุด  ซึ่งเราจึงไม่อยากจะให้เป็นเช่นนั้น เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ  ไม่อยากตาย  อยากให้อัตภาพนี้ดูสดสวยอยู่ตลอดเวลา  แต่ร่างกายไม่ได้เชื่อฟังเรา ไม่อยู่ใต้อำนาจของเราเลย เราไม่มีอิทธิพลครอบงำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะเรา เป็นทาส นั่นเอง       
            ใจของเรานี้เหมือนกับมีความนึกคิดสารพัดสารพันปัญหามีอารมณ์ต่างๆหลงระเริงอยู่กับอารมณ์ในโลกนี้มากมายก่ายกองจนหยุดไม่ได้  เรามานั่งทำสมาธิตรงนี้เพื่อต่อสู้กับสิ่งนี้ แต่จิตของเราแท้ๆเรากลับไม่มีอำนาจในที่นี้เลย  บางครั้งเวลาที่เรานั่งทำสมาธิแล้ว ให้จิตหยุด  เราบอกจิตว่าอย่าคิดนะ  จิตไม่เชื่อเราเลย ไม่ยอมเราเลย มันจะไปทั้งๆที่เป็นจิตของเรา แต่เราบังคับไม่ได้  บังคับได้บางสิ่งบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ อย่างทุลักทุเลดูเหมือนเราเป็นทาสเขาถึง ๙๙
%  มีเปอร์เซ็นต์เป็นของตัวเองประมาณ ๑ %  จะครอบคลุมทั้งหมดก็ไม่ใช่หมายถึงว่าเรามีบางสิ่งบางอย่างในจิตนั้น ถ้าไม่มีเลยจิตก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการทำอะไรได้  ตรงนี้เองเป็นที่มาของความขัดแย้ง จิต โดยพื้นฐานอยากให้ตัวเองเป็นคนดีคนหนึ่ง  อยากดำเนินตัวเองให้อยู่ในกรอบ แต่ดูเหมือนว่าความดีนี่ใจเราไม่ชอบเลย  จะเป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงกับใจเรา ทั้งที่เรามาบวชหรือมาทำสมาธิฝืนใจข่มใจไม่ใช่เป็นของที่น่ารื่นรมย์อะไร แต่ก็พยายามทำเพราะว่าอยากจะดี  จึงเป็นการฝืนใจเป็นอันมาก  เป็นเหตุให้เราไม่สามารถที่จะดำรงความดีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะภายในไม่ยอม สภาวะพื้นฐานจิตใจของคนเราเป็นอย่างนั้น  ไม่ว่าจะเป็นพระหรือโยมหรือใครๆทั้งหมด  เมื่อใจของเราไม่ยอมเราก็ต้องต่อสู้กับความไม่ยอมของจิต  ความไม่ยอมนี้เองเป็นที่มาของกิเลส คำว่า “กิเลส” คือ ความไม่ยอม นั่นแหละ
          การที่จิตไม่เชื่อไม่อยู่ในอิทธิพลของเรา  กิเลสคืออะไร ?  กิเลสก็คืออารมณ์ ความปรุงแต่งต่างๆ นั้นแหละ กิเลสคือความปรุงแต่งทั้งมวล นี่คือศัตรูหรือศึกอันใหญ่ วันนี้เรามาต่อสู้ข้าศึกก็มาต่อสู้ตรงนี้เอง อารมณ์ทั้งหมดที่เรามีอยู่คือกิเลสทั้งหมด ฉะนั้น คนที่ต่อสู้กิเลส ชนะก็คือชนะอารมณ์ทั้งหมด  อารมณ์ถูกระงับและจะไม่มีในคนๆ นั้นอีกต่อไป  เป็นผู้ทะลุทะลวงและเป็นผู้ดับความปรุงแต่งได้สิ้นซาก  ความปรุงแต่งนี้เองถ้าดับสนิทแล้วจะนำมาซึ่งความสุขมหาศาล เรียกว่า “พ้นทุกข์”  ฉะนั้น ความพ้นทุกข์ตรงนี้ก็เป็นการดับความปรุงแต่งให้สนิทนั่นเอง
          เราจะต้องมาต่อสู้แล้วเราเริ่มรู้แล้วว่าข้าศึกหน้าตาเป็นอย่างนี้ เราเริ่มจะมองออกว่าข้าศึกหน้าตาอย่างไร?  แล้วกลอุบายต่างๆ ที่เราจะต่อสู้จึงเป็นขั้นตอนต่อไป ที่จะต้องเรียนรู้ ความปรุงแต่งทั้งหมดที่มีอยู่ในเรา เป็นเหตุทำให้ความปรุงแต่งของจิตทะเยอทะยานไปในโลกกว้าง ทำให้หยุดไม่ได้เลยเป็นเรื่องที่เราจะต้องขบคิด พินิจพิจารณาว่าความปรุงแต่งนี้เองเป็นเหตุที่เราอยู่นิ่งไม่ได้ บังคับบัญชาเราเหมือนเป็นนายในร่างกายอันนี้ คนเกลียดกันหรือว่ารักกัน ถ้าสองคนนั้นตายไปเราเอาเขามาอยู่ด้วยกัน ก็ไม่ได้รัก ไม่ได้เกลียดกัน  ถ้าบุคคลนั้นยังไม่ตายมีใจอยู่ก็จะแสดงอาการออกมารักหรือเกลียดทันที ใจจึงเป็นใหญ่ที่สุดในกายนี้ กายเป็นเครื่องอาศัยของใจนี้ แต่มีความลึกลับซับซ้อนว่า ทำอย่างไรจะสะสางสิ่งเหล่านี้ให้จบลง ชนะสิ่งเหล่านี้หรือรู้แจ้งสิ่งเหล่านี้ตามที่มีอยู่  นี่คือการจะแก้ปัญหาในการทำสมาธิ ตรงนี้ลำพังตัวเราเองจะอาศัยความสามารถของตัวเองแล้วไม่สามารถที่จะชนะได้  บุคคลที่จะชนะได้ต้องอาศัยธรรมะคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น  เป็นที่พึ่งทั้งหมดของเหล่าชาวพุทธทั้งหลาย เพื่อจะให้รู้แจ้งสิ่งนี้  ก่อนอื่นเราจะต้องเห็นโทษของกิเลสก่อน  เห็นคุณ  เห็นประโยชน์ตามเป็นจริง  ถ้าบอกกิเลสไม่ดีให้ฆ่ากิเลส  เราก็ยังไม่รู้ว่าไม่ดีอย่างไร  รู้แต่ยังไม่ละเอียดลออพอที่จะทำสงครามกับข้าศึกคือกิเลส  ดูเหมือนว่าเรายังไม่มีความหนักแน่นพอ ไม่วินิจฉัยให้ดีพอว่าอะไรคือข้าศึกซึ่งเป็นศัตรูกับเรา จึงสมควรแล้วหรือที่จะคิดทำลายเขา  กิเลสในที่นี้คือสุขเวทนา  ทุกขเวทนา  อทุกขมสุขเวทนาคือไม่สุขไม่ทุกข์มีอารมณ์เฉยๆ  ใจของเรามีเท่านี้  นึกไปทางรักก็จะรัก  นึกไปทางชังก็จะชัง  นึกไปทางเฉยๆ ก็เฉยๆ  สามอย่างนี้มีอยู่ตลอดเวลาไม่ได้หยุดเลยจิตดวงนี้ ทั้งสามอย่างมีชื่อในทางกิเลส คือ  ราคะ โลภะ โทสะ  โมหะ ในที่นี้คือความยินดีกับอะไรทั้งหมดในโลกนี้  หูยินดีในเสียง  ตายินดีในรูป  จมูกยินดีในกลิ่น  ลิ้นยินดีในรส  กายยินดีในสัมผัสอ่อนนุ่ม  อายตนะทั้งหมดยินดีในสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้คือราคะทั้งหมด  รวมไปถึงความยินดีในเพศตรงข้าม  ราคะตรงนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนถึงคุณโทษ  ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ แล้วหาทางชนะ หาทางทำลาย 

          ก่อนอื่นที่จะทำลายเราต้องรู้ว่ามีโทษไหม  ประโยชน์มีไหม  และประโยชน์นั้นคือ  อะไรต้องมาศึกษาก่อน ทำไมต้องศึกษาค้นคว้าก่อน ถ้าดีอยู่แล้วเราก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไร ถ้าไม่ดีมีความไม่ดีอย่างไร  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ราคะนี้เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง  เบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง  เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นไปเพื่อความไม่ตั้งมั่น  ความไม่มีสมาธิ  เป็นไปเพื่อความไม่รู้แจ้ง  นี่คือโทษของราคะ  จริงอยู่เราเกิดมาเอาธรรมชาติที่เป็นจริงมาพูด  ลักษณะของธรรมะ  ราคะเป็นเรื่องที่น่าจะอับอาย  แต่เรื่องอับอายนี่แหละเป็นเรื่องที่ไหม้ระบาดอยู่ในโลกนี้  ร้อนไปทุกหย่อมหญ้า  จึงจำเป็นจะต้องนำมาพูดพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย  จะต้องละสิ่งนี้จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้  สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่จะต้องหยิบยื่นเอามาศึกษาก็คงจะต้องพูดถึงลักษณะของธรรมก่อน

          ราคะนี้ เราพูดง่าย ๆ คือความยินดีในหญิงและชาย  ง่ายที่สุดชัดที่สุด  เพราะรูปรส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์ๆ ใด  ในโลกนี้รวมอยู่ในหญิงและชายนั่นเอง เรียกว่า กามคุณทั้ง ๕  เราเกิดมาจำความได้โตขึ้นมาวัยสมควร ก็เริ่มมีความยินดีในเพศตรงกันข้าม  ความรู้สึกของบุคคลนั้นจะยินดีกำหนัด จะทำให้บุคคลทั้งสองวิ่งเข้าหากันและแสวงหาความต้องการอันนั้น ตรงนี้เองเป็นเหตุที่เป็นปัจจัยให้ใจแล่นไปสู่อารมณ์ต่างๆ อย่างมากมายก่ายกอง  ทำให้จิตนี้มีความรู้สึกว่า อารมณ์ของเราทำไมจึงไม่หยุดสักที  ทำไมจิตของเราไม่หยุดนิ่งสักที มานั่งสมาธินี่ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้จิตนิ่งไม่ได้ เพราะการสั่งสมอารมณ์ ความรู้สึกเหล่านี้มีมาเป็นอเนกชาติแล้ว  การจะทำใจให้สงบระงับทีเดียวยากเหลือเกินเพราะว่ากิเลสเป็นตัวเหตุ ฉะนั้น ตรงนี้เราจะเห็นว่าเบียดเบียนตนบ้างเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง จะพูดถึงโทษตามพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า กามนี้มีสุขน้อยแต่มีโทษมาก  ไม่ได้หมายถึงว่ากามนี้จะไม่มีสุขเลย และจะไม่มีโทษเลย  สุขนั้นมีอยู่แต่มีสุขน้อย แต่โทษที่ตามมามากมายก่ายกอง ศึกษาดูว่ามีโทษมากอย่างไร จริงอยู่กามคุณในเพศตรงข้ามที่มีอยู่เป็นความสุขอันน้อยนิดที่บุคคลนั้นแสวงหา ทุกข์ที่ตามมามากมายก่ายกอง  เราจะเห็นว่ามีการฆ่าฟันกันทำลายกันและทำอะไรต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากมาย แม้แต่การข่มเหงน้ำใจกัน เบียดเบียนน้ำใจกัน  นี่คือโทษเรื่องกาเม และจิตลึกๆนั้นแม้มีสามีภรรยาแล้วก็หาพอไม่ เราจะเห็นสามีภรรยาที่จะประพฤตินอกใจกัน  แต่ความละอายความกลัวบาป ทำสิ่งนั้นไม่ดีไม่ควรทำเป็นกำลังอันหนึ่ง ที่มาเหนี่ยวรั้งเราไม่ให้ทำผิดศีลข้อกาเม  ความรู้ดี รู้ชั่ว เรียกว่า หิริโอตตัปปะ  มีความกลัวบาป มีความละอายต่อการประพฤติผิด ก็เลยหักห้ามใจไม่ให้มีความประพฤติเช่นนั้นเกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่าใจลึกๆ นั้นจะไปในทางชั่ว ใจดวงนี้จึงร้ายกาจมาก
          ความดีตรงนี้ที่มีเพียงน้อยนิด ที่เราพอจะแบ่งเบาการประพฤติของเราให้อยู่ในกรอบ เหมือนรถที่พอจะมีเบรกอยู่บ้าง  ถ้าไม่มีเบรกหรือว่าเบรกแตกเมื่อไหร่แล้ว เป็นได้เรื่องเลย  เบรกพอจะทำให้เรายับยั้งได้บ้าง ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไม่ยินดีในคนอื่นเลยก็หาไม่  ความยินดีมั่วไปหมด เราเห็นว่าทำแล้วไม่ดีก็ข่มใจให้ยินดีแต่สามีภรรยาของตน  อย่างนั้นยังไม่พอ จิตก็มีอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด  เป็นเหตุเป็นปัจจัยบางครั้ง  เรายินดีในสามีภรรยาตน  อ้าวพอรู้ว่าภรรยาของตนไปมีชู้มา ความหวงแหนความที่ตัวเองหลงใหลว่า นี่เป็นสามีภรรยาของเรา  เกิดฮึกเหิมขึ้นมาจะต้องทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือบุคคลที่มายื้อแย่งนั้น  ความเบียดเบียนก็เริ่มเกิดแล้ว  ทั้งๆ ที่ต่างคนต่างเกิดมาไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มารู้จักกันทีหลังแล้ว ร่างกายตัวเองก็ไม่มีอำนาจอะไร  จะไปมีอำนาจเหนือคนอื่นได้อย่างไร  เรายังคุมจิตของตัวเองให้มีสิทธิในตัวเองตลอดยังคุมไม่ได้  ร่างกายนี้จะแก่  จะเจ็บ  จะตาย  ก็คุมไม่ได้  การจะคุมบุคคลอื่นให้อยู่ในอำนาจของเรานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย 

          ความเห็นผิดตรงนี้เป็นที่มาของความไม่รู้แจ้ง เรียกว่า อวิชชา ความหลง ไม่ตรงตามสภาวะที่เป็นอยู่ว่า  โลกนี้เป็นเช่นนี้เราจะต้องมาศึกษา  เราพอจะเห็นว่าราคะที่เกิดขึ้นแล้วให้ไพบูลย์ขึ้นงอกงามขึ้น  เหมือนบุคคลที่มีเชื้อโรคหรือสิ่งที่ไม่ดีไว้ เราก็ยังสร้างสมสิ่งนั้นให้งอกงามขึ้น  แล้วใจที่ครอบงำอยู่ในกามคุณอันนั้นจะงอกงามขึ้น  เราเกิดมาในชาตินี้สามีภรรยาเรามีราคะอยู่  ๘๐ %  ก็เลยมีสามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันไปจนวันตาย  ราคะไม่งอกเงยขึ้นเป็น ๑๐๐%  หรือ ?  แต่ต่างยอมรับกันว่ามีศีล ๕ นั้นดี  ดีได้ในระดับหนึ่งแต่ลึกๆ แล้วยังไม่ถึงที่สุดของความดี  ต้องดูตามลำดับก่อน ดูตามความสามารถ  ถ้าพูดถึงเรื่องของจิตแล้วไม่ดีสักอย่างต้องทำลายอย่างเดียว เพราะบุคคลนั้นจะสร้างสมอบรมราคะ ที่มีอยู่ให้งอกงามขึ้นๆ สั่งสมประสบการณ์จนกามนั้นเต็มบริบูรณ์ในหัวใจ จนจิตนิ่งไม่ได้เลย จิตที่นิ่งไม่ได้ เป็นการท่องเที่ยวไปยาวนานจนไม่รู้จักคำว่าจบ  บอกตัวเองได้ไหมว่าจิตเรา นี่คิดจบวันไหน?  ใครตอบตัวเองได้ว่า จิตเราจะคิดจบตรงไหน?  ถ้าตอบไม่ได้วัฏสงสารจบไม่ลง    
          ฉะนั้น เราเกิดเราตายไม่มีวันที่จะสิ้นสุดเลย  แค่เราเกิดมามีอัตภาพจนบัดนี้แล้ว กว่าเราจะตายป่านนี้ก็ทุกข์มามากแล้ว  ที่เสี่ยงความเป็นความตายมา เอาชีวิตรอดมาได้จนถึงวันนี้ ก็หนักหนาสาหัสแล้ว ดูเหมือนว่าเราจะยินดีในสิ่งนี้  ถ้าไม่เห็นโทษเราก็ไม่อยากจะออกอะไร  เพราะไม่รู้จะดำริออกอย่างไร  ไม่คิดจะฆ่ากิเลสนั่นเอง  ถ้าราคะไม่อยู่ในกรอบของศีลธรรมก็ยิ่งเลวร้ายใหญ่ เรื่องเบียดเบียนกันทั้งนั้น  เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางยังไม่พอ จะต้องตกนรกกันอีกมากมาย  เพราะว่าใจไม่ยอม ใจจะไปตามนั้น  ถ้าเรามีศีล ๕  ก็ดีขึ้นมาหน่อย แล้วก็ยังไม่เพียงพอที่จะดีที่สุดของความดีได้  ที่สุดของความดี คือต้องทำลายราคะนั้นเสีย เรียกว่า  ธรรมะมีเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แต่เราก็ต้องไต่ไปตามลำดับฐานะของตัวเอง  ต้องก้าวไปอย่างนั้น  คนที่คิดว่าราคะมีโทษมหาศาล  แล้วทำอย่างไรจะให้ปลอดภัยจากสิ่งนี้ ในโทษทั้งหลายเหล่านั้น คิดไปคิดมาผู้รู้ทั้งหลายค้นคว้าหมดแล้วมีพระพุทธเจ้า เป็นต้น มีทางเดียวคือทำลายเสีย
! คิดจะทำลายธรรมชาติอันนี้ให้ได้  ที่เกิดมาดูแล้วมีโทษมากกว่าสุข สุขมีอยู่แต่น้อยนิดโทษที่เกิดมาแทบตาย ตกนรกหมกไหม้  แม้แต่อยู่ในเมืองมนุษย์ยังเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางไม่ใช่น้อย แล้วตายไปนรกแน่นอน      
          ฉะนั้น ความทุกข์ต่างๆ ที่เรามีอยู่เห็นโทษภัยอันนั้น  คิดหาทางจะกำจัด  ถ้าบุคคลใดสามารถกำจัดสิ่งนี้ได้  มีหรือที่จะไปติดคุกติดตะราง  มีหรือจะเบียดเบียนบุคคลอื่น มีหรือจิตนี้จะท่องเที่ยวต่อไปสิ้นกาลนาน  ถ้ามีก็เป็นเชื้อเป็นสมุนหรือบริวารของราคะนั่นเอง  ถ้าสิ้นราคะแล้วจิตก็สงบระงับ นี่คือ สิ่งที่ให้ผลตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว  เบียดเบียนตนเองบ้าง  เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นไปเพื่อความไม่ตั้งมั่น  ถ้าหมดราคะเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น  เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์  เป็นผู้รู้แจ้งในธรรมะคำสอน ตรงข้ามหมดเลยกับข้อที่กล่าวมานั้น มองทางเดียว คือต้องชนะสิ่งนี้ให้ได้  อันนี้คือทางที่เราจะต้องต่อสู้กับกิเลสตัวนี้  ชี้ให้เห็นโทษว่านี่คือศัตรูของเรา คือราคะ          
       โทสะนั้น มีโทษแน่นอน มีโทษเต็มไปหมด  ราคะกับโทสะเป็นของคู่กัน ถ้ามีราคะโทสะย่อมมี เพราะราคะเป็นนำมาซึ่งโทสะ  เวลากิเลสตัวนี้ดับทั้งราคะและโทสะจะดับหมดเลย เมื่อทำลายได้ตัวหนึ่งอีกตัวหนึ่งจะถูกทำลายไปด้วย  เพราะเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน สมมุติว่าเรามีของที่มีค่าชิ้นหนึ่ง เช่นกระเป๋าเงิน และมีเงินอยู่ในกระเป๋านั้น เวลาเราจะนั่งตรงไหนก็พยายามแลดู  พยายามคลำดูว่ายังอยู่หรือเปล่า  เพราะเราเห็นว่ามีค่า  เมื่อมีค่านี้เองทำให้เรารักและประกบด้วยจิตของเราไว้เป็นเหตุ ต่อมาเงินนั้นหายหรือถูกขโมยไป  ความเสียใจความโกรธที่คนแย่งไปเพราะความรักเป็นเหตุ ถ้าเราไม่รักเราไม่หวงแหนหรือปล่อยวางว่าเงินนี้มีอยู่ก็จริง แต่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ช่าง  ไม่ยินดียินร้ายก็ไม่เกิดอะไร  ถ้าความรักมีเมื่อใดนั่นแหละ  ความโกรธจะตามมาเมื่อนั้น  ถ้าความรักแปรสภาพเป็นอย่างอื่นความโกรธก็เกิดขึ้น  ถ้าเงินไม่มีในกระเป๋ามีแต่กระเป๋าเปล่าๆ แล้วกระเป๋ามีราคาไม่แพงอะไร มีคนขโมยเอาไปหรือตกหายไป เราจะเสียดายไหม? นิดเดียว เอาไปเถอะไม่มีอะไรตรงนั้น ตัดใจได้ เพราะค่าไม่มี ความรักนำมาซึ่งโทสะด้วย  โทสะเป็นเหตุให้ต้องประทุษร้ายกัน  โทษของโทสะก็อย่างเดียวกับราคะ  เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง  เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง  เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นไปเพื่อความไม่ตั้งมั่น  เป็นไปเพื่อความไม่รู้แจ้ง  นี่คือโทษ 

          โมหะ  คือ ความหลง ความหลงมีประการต่าง ๆ ทั้งไม่รู้ว่า นี่คือทุกข์  อันนี้คือโทษ  ไม่รู้ว่าเป็นอย่างนี้  รู้แต่รู้ไม่จริง  รู้ไม่แจ้ง  รู้แต่ว่าสำคัญผิด เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ไม่รู้ว่ากิเลสเป็นโทษเป็นภัย  ไม่รู้ทางออกไม่รู้อะไรต่างๆ  เรียกว่า อวิชชา  ความหลงความไม่รู้ต่างๆ ครอบไปหมด  เป็นเหตุอันหนึ่งนำมาซึ่งให้จิตหยุดนิ่งไม่ได้ แล้วโทสะจะนิ่งหรือ? ราคะยังไม่นิ่งเลย        
          กิเลสทั้งสามตัวทำให้จิตเรานิ่งไม่ได้เลย  วันนี้เรามานั่งสมาธิทำไมจิตไม่ยอมเราเลย ไปโน่นไปนี่ คิดอะไรหนักหนา  คนแก่ก็ว่าเรานี่ผ่านโลกมามากแล้วไม่ดีสู้คนหนุ่มไม่ได้   คนหนุ่มก็ว่าเรากำลังหนุ่มคิดถึงอนาคตมากไม่ดีอีกแล้ว  อะไรก็ไม่ดีสักอย่างวัยไหนก็ไม่ดี  คิดเหมือนกันหมดเลย  แล้วตัวเองจะหยุดจิตให้หยุดก็หยุดไม่ได้  รู้สึกลำบากยากเย็น  แยงด้ายเข้ารูเข็มยังง่ายกว่าเหลือเกินนะ จิตจะไม่หยุดเลย นี่คือสาเหตุ และนั่นคือกิเลสทั้งหมด
          มาถึงตรงนี้ เราเริ่มเห็นแล้วว่า กิเลสหน้าตาเป็นอย่างนี้หนอ เริ่มรู้แล้วว่ากิเลสเป็นศัตรู เมื่อก่อนนึกว่าเป็นมิตร เริ่มเชื่อแล้วว่ากิเลสมีโทษ  พูดถึงพื้นฐานว่าเราเกิดมามีอะไรอยู่ แล้วสิ่งที่เราต่อสู้ มาบวชวันนี้เพื่อต่อสู้อะไร  ต่อสู้กิเลส  กิเลสคืออะไร  หน้าตากิเลสเป็นอย่างไร  เริ่มจะมองเค้าออกว่า อ๋อ
! เป็นอย่างนี้เอง 

          ขั้นตอนต่อไปเมื่อเราเห็นศัตรูโดยความเป็นศัตรูก็คิดทำลาย ทำอย่างไรหนอเราจะชนะสิ่งนี้ได้ หากไม่มีสิ่งนี้แล้วเราจะปลอดภัยทุกอย่างในโลกนี้  ไม่มีโทษหาโทษไม่ได้เลย  มีหรือคนที่ไม่มีราคะ จะไปแย่งลูกแย่งสามีภรรยาใคร  มีความยินดีใครไม่มี  แล้วคุกตะรางที่มีอยู่  สิ่งนี้เป็นเหตุแล้วคนนี้จะติดคุกไหมไม่มี เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรใคร  แล้วมีไหมคนที่มีเหตุอย่างนี้แล้ว จะติดคุกติดตะราง  มี ! คนดีก็ติดได้ ขอให้จนตรอกเถอะ เอาสิ               

          ฉะนั้น  พระอริยเจ้าทั้งหลาย  พระผู้หมดอาสวะทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งบริบูรณ์คือ บริสุทธิ์เรื่องใจนี้เอง เรามาถึงเรื่องการต่อสู้  เพราะอะไรเราจึงไม่รู้หรือไม่ชนะสิ่งนี้  การที่เราไม่รู้ในอริยสัจธรรมทั้ง    เราจึงไม่สามารถจะชนะตรงนี้ได้  อริยสัจธรรมทั้ง ๔  จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้

          อริยสัจธรรมทั้ง    คือ อะไร ?  รู้จักทุกข์  รู้เหตุของทุกข์  รู้ข้อประพฤติปฏิบัติอันเป็นปฏิปทานำไปสู่ความดับทุกข์อันนั้น  ก่อนอื่นที่เราจะรู้การดับทุกข์ว่า ต้องทำอย่างไร ต้องมารู้ก่อน ทุกข์ในที่นี้ถ้าไม่ทำกัมมัฏฐานมาก่อนเราจะไม่รู้จักทุกข์นี้เลย เรามาประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ให้นั่งสมาธิก่อนอันนี้ก็ถูกอยู่  นั่งเพื่อให้จิตสงบระงับลงบางขณะ  เพราะจิตเราคนที่ยังไม่ถูกฝึกหรือฝึกน้อยจะให้สงบ ระงับเป็นไปไม่ได้เลย  แต่ถ้าเราไม่เคยสงบแล้วมาทำให้สงบ  เราจะเริ่มรู้ว่า  อ๋อ ! เราคิดว่าจิตเราคิดอยู่ตลอดเวลา  แล้วก็ไม่เคยหยุด  เมื่อจิตหยุดลงไปดูเหมือนว่ามีความสุขอะไรบางอย่างอยู่ในจิตนั้น  จิตนั้นจะหลั่งไหลความสุขออกมาจากตัวของเขาเอง  ถ้าพยายามประคับประคองจิตไม่ได้ไม่มีทางเลย หมายถึงเรามีสิทธิบางส่วนที่จะทำได้  แต่เราไม่ได้มีสิทธิทั้งหมดของจิตดวงนี้ เพราะตัวเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิต  ถ้าเราไม่มีสิทธิทำอะไรได้เลย ข้อประพฤติปฏิบัติก็เกิดขึ้นไม่ได้  เราสามารถที่จะมีสิทธิทำตรงนั้นได้  แต่ทำได้ยากเพราะว่าจิตดวงนี้หลงโลกหลงสงสาร  หลงจนแกะออกได้ยากเหลือเกิน

          ก่อนที่จะมาเรียนรู้ตรงนี้ ทำสมาธิเบื้องต้นก่อน  การทำสมาธิคือพยายามเอาจิตให้มาหยุดอยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ให้จิตได้พัก เพราะจิตเดินทางมายาวนานแล้ว ให้จิตได้พักลงให้นิ่ง แล้วเราจะเริ่มรู้อาการของจิตที่สงบลง แต่ก่อนก็สงบได้ ไม่ใช่ว่าไม่สงบเสียเลย  จะสงบง่ายๆ ก็ไม่ใช่  อยู่ที่การฝึกจะเห็นว่าบางคนจิตสงบง่ายมาก  เขาฝึกมามากมีปัจจัย มีอุปนิสัยมามากจึงทำได้ง่าย บางคนทำมามากก็ไม่เคยจะสงบก็อย่าท้อแท้ใจตรงนั้น  ทำบ่อยๆ ทำมากๆ ทำเนืองๆ ทำอยู่บ่อยๆ ก็จะสงบลงไป เอาสงบตรงไหนก็ได้ที่อยู่ในตัวเราให้จิตนิ่ง แล้วเป็นธรรมชาติที่เมื่อจิตนิ่งจะเห็นความสุขบางอย่างที่หลั่งไหลออกจากตัวจิตเอง  เราก็ยินดีในความสุขนั้น  การที่เรายินดีในความสุข เพราะเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของคนเราทุกคนเกิดมา ย่อมปรารถนาความสุข แม้แต่สัตว์ก็ชอบความสุขความสบาย ทุกคนที่ทำสมาธิก็ต้องชอบความสุขแบบนั้น       
          ดังนั้น จิตของเราถ้าหยุดความปรุงแต่งหรือว่าสงบลง  จะเริ่มรู้ว่าตัวของเรา
มีความสุขบางสิ่งบางอย่างอยู่ในตัวของเราเอง  โดยไม่ต้องดิ้นรนแสวงหาอะไรเลย  เมื่อเราหยุดลงเมื่อใดความสุขอันนั้นเหมือนจะหลั่งไหลออกจากตัวของเรามาก  แล้วเราก็ยินดีในความสุขอันนี้ว่า ไม่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลที่สอง หรือบุคคลอื่นเลย  ไม่เกี่ยวเนื่องกับอะไรเลย  เป็นเรื่องของตัวเราเองแท้ๆ หยุดอารมณ์เมื่อไรก็รู้สึกว่ามีความสุข จึงพอใจในความสุขอันนั้น  แล้วความสุขอันนั้นก็มิได้ตั้งอยู่นานนัก  จะได้ตามเวลาที่เราพอจะอบรมได้ในแต่ละครั้ง นานบาง  น้อยบ้าง  ตามอาการที่จะเป็นไป แต่ว่าเรามักจะเสียดาย  คิดว่าเมื่อจิตสงบลงแล้วก็มาปรุงแต่งต่อ  ความคิดความนึกที่มีขึ้นมาทีหลังรู้สึกเราจะไม่ชอบเลย  รู้สึกว่าเป็นทุกข์ จึงสับสน นี่เป็นเรื่องปัญญาทั้งนั้นเลย เบื้องแรกเราทำสมาธิให้สงบระงับเพียงชั่วขณะ เรียกว่า สมถะ  แล้วเราจะรู้สามอย่างว่า  ความคิดมาจากไหน  เราจะดับอย่างไร  เราจะเดินไปทางไหนให้ไปสู่จุดที่ดับนั้น  อันนั้นต้องใช้ “ปัญญา”  เรียกว่า “วิปัสสนา” ทำให้แจ้ง แจ้งตรงไหน ? 
          การทำให้แจ้งหรือดับทุกข์เป็นคำๆเดียวกัน  ลักษณะกิริยาอันเดียวกันแต่ต่างอาการ  แจ้งกับการดับทุกข์เป็นลักษณะที่ว่า  แจ้งก็ดับทุกข์ได้  ดับทุกข์ได้ต้องแจ้ง  หนีกันไม่ได้ตรงนี้ต้องแปลเป็นสองอย่าง ทำให้แจ้งก็ได้ หรือการดับทุกข์ก็ได้  เราทิ้งคำถามหรือปัญหาที่ตอบตัวเองไม่ได้ไว้ก่อน  อย่างเช่นเราจะทำอย่างไร? จึงจะชนะความคิดความปรุงแต่งอันนี้ได้  เราตอบไม่ได้เก็บไว้ก่อน มีแต่คำถาม แต่หาคำตอบไม่ได้ เพราะทีแรกจะรู้ทีเดียวไม่ได้  แล้วทำอย่างไรเราจะดับความคิดนี้ได้สนิท  ตอบยังไม่ได้ ทางเดินอย่างไรที่จะไปสู่การชนะตรงนี้ ยังรู้ไม่ได้ เรารู้ข้อเดียวที่ชัดนั่น คือ ความปรุงแต่งคือทุกข์ รู้เพียงข้อเดียวนี้  แล้วไปถามผู้รู้ทั้งหลายว่าทำอย่างไรต่อ  
          ผู้รู้ทั้งหลายก็จะบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ว่า ให้พิจารณาอาการ  ๓๒ พิจารณาตัวเรานี้เอง แล้วก็จะสงสัยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความปรุงแต่งของจิต  ทำไมต้องมาพิจารณาร่างกายอันนี้  เป็นเรื่องจิต
! ไม่ใช่เรื่องกาย  ทำไมต้องมามองที่ตัวเรานี้  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน หนัง  เกี่ยวอะไร ?  บางคนไม่รู้ทำไปก่อน แล้วจะรู้ทีหลัง  มันซับซ้อนเรื่องจิตแต่แก้ที่กาย  เรื่องอยู่ที่หนึ่งแต่ไปแก้อีกที่หนึ่ง  ความจริงที่เดียวกันแต่ซับซ้อน  เหมือนเราไปตัดหญ้าทำไมตัดแล้วก็งอกขึ้นมาใหม่  อ๋อ ! มันมีรากทำอย่างไร จะตัดแล้วไม่ให้มันงอก  ก็ขุดรากทิ้ง  ทำไมไปเกี่ยวกับรากที่อยู่ใต้ดิน แต่ต้นหญ้าบนดินเราไม่ชอบ ให้มันยาวมันรก จะไปเกี่ยวอะไรกับใต้ดิน ก็ใต้ดินนำมาซึ่งหญ้าบนดิน  รากทำให้เกิดใบแล้วใบทำให้เราไม่ชอบ แต่เราไปตัดแต่ใบแต่ไม่ตัดราก  เราไม่ชอบที่ใบ แต่ทำไมต้องเกี่ยวกับรากมันเกี่ยวกัน มันเนื่องกัน อันนี้ก็เหมือนกันอันเดียวกัน เป็นเรื่องของอารมณ์ แต่ขึ้นอยู่กับความเห็นของตัวเรานี้    
          ความเห็นตัวเราคือ “ราก”  โยงใยไปถึงอารมณ์คือ “ใบ”  ดับตรงนี้รู้แจ้งได้ยาก ซับซ้อน เรียกว่า “วิปัสสนา” ทำให้แจ้ง ธรรมสองอย่างนี้หากเราเจริญให้มาก ทำให้มากเป็นปฏิปทาแล้วเราจะรู้แจ้งตามนั้นได้  
          คำว่า “แจ้ง”  แจ้งอย่างไร? แล้วเราจะมีสิทธิ์แจ้งหรือ?  คนเราแจ้งได้ทุกคนหรือ?  แจ้งได้ทุกคน แล้วมีสิทธิ์แจ้งทุกคน  พูดถึงความเป็นไปได้ว่า เราสามารถจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ คำว่า “แจ้ง” เป็นธรรมชาติอย่างไร เราพอมีไหมตรงนั้น  แล้วมีหน้าตาเป็นอย่างไร?  ความจริงความรู้แจ้งมีอยู่ทุกคนแล้ว  อาการแจ้งก็มีอยู่ทุกคน  เป็นธรรมชาติที่เรารู้จัก  แต่อาจจะไม่สนใจหรือว่าไม่ให้ความสำคัญอะไร  ก็เลยไม่ทราบว่าอันนั้น คือ อะไร  แจ้งในที่นี้คือ จิตแจ้ง ขัดต่อสิ่งที่รู้ที่เห็น แต่เราแจ้งผิดที่ อย่างเช่นว่าจิตเราเมื่อเรานึกถึงบ้าน  นึกถึงคนนั้นคนนี้  อารมณ์โน้น อารมณ์นี้ จะเห็นภาพขึ้นมาในใจ ใจจะเห็น เราอยู่ตรงนี้เรานึกถึงบ้าน  เราจะเห็นบ้านเป็นอย่างไร หลังบ้านเป็นอย่างไร  นึกถึงลูกหลานเห็นหน้าชัดนึกถึงต่างประเทศที่เราเคยไป  แล้วจะแจ้งชัดเจน  ทั้งๆ ที่กลางคืนอยู่ในที่มืดๆ บ้านนั้นอาจจะไม่เปิดไฟ  ดับไฟหมดก็ได้  นึกถึงกลางวันก็เป็นกลางวัน  นึกถึงกลางคืนก็เป็นตอนกลางคืน  แล้วทุกอย่าง จะแจ้งชัดเป็นภาพ  เห็นภาพหมดเลยนั่นคือแจ้ง  แต่จิตไปแจ้งข้างนอกหมด  หมายถึงจิตไปเห็นหมดเลยในสิ่งที่เคยรู้เคยเห็น  การเห็นสิ่งที่มีมาก่อนดั้งเดิมหรือสิ่งที่เคยผ่านมาแล้วเรียกสิ่งนั้นว่าเป็น “สัญญา” สิ่งที่จะทำในวันพรุ่งนี้เรียกว่า  “สังขาร”  แล้วเราก็นึกเห็นสิ่งที่เห็นอยู่นี้ ลืมตาเห็นเป็นปัจจุบัน  เรียกว่า “วิญญาณ” ทั้งหมดเป็นขันธ์ ๕  คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ เกิดตลอดเวลา
          การที่เราเห็นทุกสิ่งความเห็นอันนั้นจึงเป็นที่ท่องเที่ยว เป็นนิมิตที่อารมณ์ของคนนั้น จะคล้ายตามสิ่งที่เห็น อย่างเช่นเรานึกถึงใครคนหนึ่งที่เราชอบ จิตก็จะน้อมไปทางราคะ ชอบเพราะภาพนั้นเป็นเหตุ นึกถึงใครทำให้เราคล้อยตามไปในทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้  เหมือนเราเปิดโทรทัศน์ดูช่องนี้มีตลก เราก็หัวเราะ  อีกช่องหนึ่งมีละครที่โศกเศร้าอารมณ์ของเราก็เศร้าโศกตามผู้แสดง ทำไมโทรทัศน์จอเดียวพอเปลี่ยนช่องก็เปลี่ยนอารมณ์ จิตเราก็จิตดวงเดียว แต่เปลี่ยนอารมณ์ได้ตลอด  ออกอาการไปทางรัก  ชัง  เฉยๆ ไปเรื่อยแสดงออกทางสีหน้าไปตามนั้น  เป็นเครื่องบ่งบอกอารมณ์ของตน  แสดงว่าเราก็แจ้งแล้ว แต่แจ้งข้างนอก แจ้งผิดที่คือไปแจ้งข้างนอกหมด  แต่สิ่งเดียวที่เราแจ้งไม่ได้คือตัวเราเอง     
          หลับตาพยายามมองให้เห็นตัวเองนึกถึง ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  นึกถึงหน้าตาของเราตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ทำไมเรานึกไม่ออก  ลืมตาส่องกระจกก็พอเห็นนะ แต่หลับตานึกไม่ออก ทำไมเราหลับตาแล้วนึกถึงคนอื่นจึงนึกเห็นได้  ทำไมนึกถึงตัวเราแล้วไม่เห็น  สงสัยไหมทำไม? จึงเป็นอย่างนั้น ถ้าจะนึกต้องเห็นสิ นึกถึงคนอื่นยังนึกเห็น การนึกถึงตัวเองก็ต้องนึกได้  ตรงนี้เองเป็นที่มาของสิ่งปกปิดที่เราไม่รู้ทั้งหมด เรียกว่า อวิชชา  พระพุทธเจ้าทรงสอนสิ่งนี้ให้เห็นแจ้ง  ถ้าแจ้งแล้วตัวของเราจะเห็นหมดเลย ตั้งแต่หัวถึงเท้า  ชัดแจ้งไม่มืด  ตอนนี้เราหลับตานึกถึงตัวเราจะมืด แล้วเราอบรมจิตจนกว่าการเห็นจะแจ้งขึ้นๆๆ จนเห็นชัดข้างนอกไม่พอ ชัดถึงข้างใน  ค้นคว้าในร่างกายจนเห็นประจักษ์ว่า มีอะไรในที่นี้  การเห็นชัดแจ้ง จะแจ้งทั้งกลางคืนกลางวัน  นั่นแหละเรียกว่า “รู้แจ้ง” มืดนั้นเองเปลี่ยนมาเป็นแจ้ง  ตรงมืดนั้นทำให้แจ้ง  
          แล้วทำอย่างไรเราจึงจะทำให้แจ้งได้  เราต้องทำสงครามกันเสียแล้ว  ทำสงครามกับอารมณ์ที่เรามีอยู่ ถ้าเราจะเอาชนะโลกโดยความโลกที่เรามีอยู่  ออกจากสิ่งทั้งหมดที่พันธนาการใจเราอยู่  เราต้องดำริออกให้หมดแล้วปิดทางสิ่งที่กำเริบขึ้น  ช่องทางที่เป็นอยู่นั้นออกให้หมด  แล้วจึงจะพาจิตดวงนี้ไปสู่ทางเส้นใหม่เป็นการเปิดทางใหม่ขึ้น เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ถ้าพูดให้แจ้งชัดขึ้นเมื่อประพฤติปฏิบัติทำอย่างไร  คือการเจริญสติ เป็น สติปัฏฐาน ทั้งกลางวันกลางคืนคอยสกัดกั้นจิตที่คิดออกข้างนอก เราตัดทิ้งให้หมด คิดอะไรก็ช่างแสดงว่าความคิดนี่เราไม่ชอบแล้ว เราไม่คบต่อไป เราต้องการหยุดจิตดวงนี้ไม่ให้คิด เราต้องไม่ส่งเสริมเนื้อแห่งความคิดให้เกิดขึ้น ดำริออก
! ราคะเป็นเหตุให้จิตคิดไม่หยุด โทสะเป็นเหตุให้จิตคิดไม่หยุด  โมหะคือความหลงต่างๆ เป็นเหตุให้จิตคิดไม่หยุด  เราจะไม่ให้ได้ช่องทางเลย แล้วก็ทำในใจโดยอุบายที่เป็นตรงกันข้าม  แล้วพาจิตดวงนี้เข้ามาหาตัวทั้งหมดไม่ให้เดินข้างนอก 

          เราเริ่มจะทำสงครามแล้วตอนนี้  การจะชนะทั้งกลางวันกลางคืนต้องทำความเพียรอย่างเดียวเลย เจริญสติจิตคิดไปน้อมเข้ามาหาตัว ไม่ใช่น้อมเข้ามาเฉยๆ ต้องมองตัวเองให้ชัดขึ้นให้แจ้งขึ้น  นึกถึงความปฏิกูล  นึกถึงอสุภะ  นึกถึงความเป็นทาส นึกถึงความชัดแจ้ง  ก่อนอื่นเราต้องสร้างภาพขึ้นก่อนว่า หน้าตาของเราเป็นอย่างไร ตามที่เราเคยส่องกระจก ดูทำบ่อยๆ แล้วเอาจิตไปอยู่ตรงนั้นบ่อยๆ คิดอะไรตัดออกแล้วน้อมจิตเข้าหาตัว  ทำอย่างนี้ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ตลอดเวลาอันยาวนาน  อบรมให้เป็นนิสัยเป็นปัจจัยจนไม่ให้จิตได้ช่องทางที่จะไปข้างนอกเลย  จิตคิดไปตัด ! แล้วน้อมเข้ามาหาตัว  ทำเข้าไปนานขึ้นๆ ๆ จนเรามองตัวเองบ่อยเข้าๆๆ  เหมือนเราเช็ดถูไม้กระดานหรือพื้นไม้เริ่มเป็นเงา  เราเริ่มเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น  จิตคนเราอบรมอยู่ในตัวแล้ว พิจารณาความปฏิกูล พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ตลอดเวลา  ทำไมต้องพิจารณาความตายอยู่ตลอดเวลาเพราะว่าไม่เปิดช่องให้จิตไปคิดที่อื่น ให้ความตายล็อคไว้ เรียกว่า  “กายคตาสติ”    
         กายคตาสติ  เป็นการนึกถึงกายเป็นสติเป็นเครื่องอยู่ นึกถึงความไม่เที่ยง  นึกถึงว่าร่างกายนี้จะเป็นอะไรต่อไป  เอาความจริงของร่างกายมาอบรมจิตตรงนี้  เดินทางสายใหม่  ทำไมจึงต้องนึกถึงความเป็นจริงของร่างกายตัวเอง เพราะจิตเราไม่เคยสนใจเลยว่า ในที่สุดเราจะต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย  ความรู้สึกของเราที่เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมา เราต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย  ก็รู้อยู่  แต่ว่าจิตไม่เคยใส่ใจเป็นเพียงความรู้สึกเท่านั้น  แก้ไม่ได้เลย  ความนึกคิดของเราเห็นตามนั้น แต่จิตไม่เห็นตาม  เราลืมตาก็มองเห็นทั่วตัวเรา แต่จิตไม่เห็น  ถ้าจิตเห็นหลับตาก็เห็นเท่ากับลืมตา หลับตาลืมตาก็เห็นมืดก็เห็น ไม่ต้องใช้ไฟสว่างก็เห็น เข้าไปแจ้งอย่างนั้น  แต่ว่าเรายังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้นในใจของเรา เราต้องอบรมให้เกิดขึ้นเป็นข้อประพฤติปฏิบัติโดยวิธีการพิจารณาร่างกายกลบเกลื่อนอารมณ์ของโลกทั้งหมด  ไม่ให้ได้ช่องเจริญสติเช่นนี้ทั้งกลางวันกลางคืน  นึกถึงความตายเป็นอารมณ์  เพราะว่าร่างกายจะต้องเป็นไปอย่างนั้น จึงได้มาอบรมจิตตรงนี้         
          อบรมจิตเช่นนี้นานเข้าๆ จิตมองไปมองมาท่องเที่ยวอยู่ในกายบ่อยเข้าๆ จนจิตทนต่อการเพ่งมองของเราไม่ได้ก็เลยเห็นชัดขึ้นๆ  เมื่อเราเห็นชัดขึ้น  เรารักษาความเห็นอันนั้นเอาไว้เป็นที่อยู่ของจิตดวงนี้ให้เป็นเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน  แล้วพอกพูนให้มากขึ้นก็จะเห็นแจ้งขึ้นๆ ชัดขึ้นไปๆ ทั้งกลางวันกลางคืน จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่เราอบรมตัวเราแล้วจะสว่างไสวขึ้น  จากที่มืดๆ จะเริ่มสว่าง ใหม่ๆ อาจจะมีแสงวับๆ แว็บๆ ไม่เป็นไร  ทำไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่การนั่งสมาธิอย่างเดียว  มีการค้นคว้าในตัวเสร็จเรียกว่า “วิปัสสนา” นั่นเอง    

          ความรู้แจ้งอันนี้  เริ่มเกิดขึ้นมาแล้วค่อยๆ เห็นขึ้นมาๆ ชัดขึ้นไปๆๆ เราก็รักษาความเห็นนั้นไว้ เมื่อจิตเห็นตรงนั้น  ความเห็นอันนี้เกิดขึ้น จิตก็เริ่มอยู่กับตัว  เมื่อจิตอยู่กับตัวมากขึ้นจิตนั้นก็เป็นสมาธิ จิตนั้นก็สว่างไสวทีละน้อยๆ ค่อยๆ สว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการของการเจริญประพฤติปฏิบัติก็จะเติบโตขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน จะต้องทำความเพียรมาก  ทำไมต้องทำกลางวันกลางคืนเพราะจิตคิดทั้งวันทั้งคืน เราต้องอุดรอยรั้วให้หมด ไม่เช่นนั้นไม่ทันเกม สู้ไม่ได้ทำแค่ชั่วโมง  สองชั่วโมงแล้วปล่อย เราก็ไปเดินทางเก่าอีกแล้ว เป็นทางที่เราเคยเดินนั่นแหละ  ไปคิดไปนึกอีก  ทำแทบตายไม่หยุดคิดจะไปหยุดอย่างไร  ปล่อยจิตออกไปแล้ว  เวลา  ๒๔  ชั่วโมง ไปจับไว้เพียงชั่วโมงเดียว แล้วเราจะไปถึงไหน แล้วบอกตัวเองว่าปฏิบัติไม่เจริญ ไม่รู้เป็นอย่างไร ทำแล้วก็ไม่เกิดสมาธิสักที ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยไม่เอื้ออำนวยในการเกิด จึงเจริญไม่ได้  การทำกัมมัฏฐานจะเห็นความเจริญ ต้องทำกันทั้งวันทั้งคืน แต่ว่าเรามีเวลาน้อยเหลือเกิน ไม่เป็นไรก็ทำตามเวลาที่เรามีนั่นแหละ  ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐแล้วที่มาประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าน้อยคนนักที่จะมาได้ ทางโลกเอาจิตไปหมด จิตเราไม่เป็นของเราแล้ว ไปอยู่กับลูกกับหลานอยู่บ้านอยู่กับการงานหมด
          เราอบรมจิตมากขึ้นทำทั้งกลางวันกลางคืน
  เราจะเห็นความเจริญชัดเจน  วันหนึ่งจิตของเราจะก้าวไปๆ ตามลำดับ จะแจ้งขึ้นๆ จิตจะมั่น  สมาธิจะเกิดมากขึ้นๆๆ  ความรู้แจ้งก็จะชัดขึ้นๆ  เราเห็นตัวเองจากจุดใดจุดหนึ่ง   การเห็นนั้นจะลุกลามไปทั่วสรรพางค์กายมากขึ้น ๆ แล้วความรู้สึกนั้นจะฝังแน่นอยู่ในตัวของเรากลายเป็นสัมปชัญญะ  ทั้งแจ้ง  ทั้งเป็นสติ  ทั้งเป็นสมาธิ  ทั้งเป็นปัญญา และเป็นสัมปชัญญะ แจ้งเข้าไปๆ  ชัดแจ้งเห็นทั่วตัวไปหมดแล้วทั้งข้างนอกข้างใน กายจะเริ่มเห็นตับ ไต ไส้พุง เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหมดขึ้นมา  แล้วจิตจะมั่นขึ้นๆ  เมื่อเห็นแจ้งแล้วจิตจะมั่นมากเหมือนกับเป็นสิ่งอาศัยซึ่งกันและกันได้  เรียกว่า “สติปัฏฐาน”  จิตอยู่ตรงนี้จะมั่นคงขึ้นๆ มีสมาธิที่โดดเด่นแน่นแฟ้นพอกพูนให้มากขึ้น  นี่คือบารมีสูงสุดจะชนะทุกข์ได้  เราอบรมจิตให้มากขึ้นๆ จนเห็นข้างนอกข้างในเห็นตับ ไต ไส้พุง ทั้งกลางวันกลางคืน ความเห็นอันนี้แก่ตัวจนถึงระดับหนึ่งแล้ว  จะตั้งอยู่ได้โดยอัตโนมัติ  แล้วเราก็อาศัยความเห็นอันนี้เป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนั้น   จิตที่คอยคิดข้างนอกก็จะน้อยลงๆ ผลที่สุดหยุดคิด ความคิดเหือดแห้ง เพราะเราไม่ให้โอกาสคิดเลย  จิตเข้าไปอยู่ในตัวหมดเลยทั้งกลางวันกลางคืน     
          เมื่อเห็นแบบนี้แล้วปัญหาที่ค้างไว้ทีแรกว่า  เรารู้จักทุกข์ แต่เหตุของทุกข์เราไม่รู้  การดับทุกข์ดับอย่างไรเราไม่รู้  ข้อประพฤติปฏิบัติที่เราทำ คือการดับทุกข์นั้นเราไม่รู้  ก็มาเริ่มรู้ตรงนี้ว่า  อ๋อ
! เข้าใจแล้วๆ เรียกว่า “รู้อริยสัจ ๔” นั่นเอง  ทั้งสี่ข้อครบแล้ว  รู้อย่างไร?  รู้ว่าตัวของเรามองไปมองมาจิตท่องเที่ยวในตัวเห็นสรรพางค์ร่างกายตลอดเวลา ไม่มีว่างแม้วินาทีหนึ่งที่ไม่เห็น เพราะความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต  สติเป็นสัมปชัญญะตลอดเวลา  และสมาธินั้นจะมีทั้งกลางวันกลางคืน  ไม่เป็นสมาธิไม่มีเลย 

          สมาธิตรงนี้ เป็นเครื่องยืนยัน และความรู้แจ้งเป็นเครื่องยืนยันแก่จิตนี้  เป็นพยานแก่จิตดวงนี้ว่า ตัวเรามีแค่นี้ จิตนั้นก็จะเห็นตัวเองหมด  ทั้งข้างนอกข้างในเห็นตับ ไต ไส้พุง  ตัวเราอยู่ตรงไหนนี่  เขาเรียกชื่อเราอยู่ตรงนี้ เราไปอยู่ที่ไหน  มองไปมองมาไม่มี  มองตรงนั้นตรงนี้ก็เป็นตับ เป็นโครงกระดูก เป็นเส้นเอ็น เป็นอวัยวะน้อยใหญ่ แล้วตัวเราอยู่ตรงไหนไม่มี  มองไปมองมาหาตัวเราไม่ได้เลย  เรียกว่า ค้นหาบุคคลโดยปรมัตถ์ ไม่เจอ เราในที่นี้เป็นสักแต่ว่าธาตุทั้ง    คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  มาประชุมกันขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย กลายเป็นไปรู้ขันธ์ ๕ ว่าขันธ์ห้าทั้งหมดเป็นของว่างเปล่า  หาตัวตนที่นี้มิได้มีเลย  ความรู้สึกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อตัวเราไม่มีตัวตนที่แท้จริง ตัวเราไม่มีเป็นของว่างเปล่าแล้ว  ความนึกคิดที่เราคิดอยู่สมควรแก่เราหรือ? ถ้าตัวตนไม่มีเราก็ไม่ต้องเอาอะไรในโลกนี้  ถ้าไม่เอาก็ไม่ต้องคิดอะไรในโลกนี้  เออ ! ใช่  ถ้าร่างกายไม่มีก็ต้องไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ เพราะเห็นตัวเองเป็นพยานว่าโลกนี้ไม่มีอะไร เป็นเพียงสมมุติสัจจะเท่านั้น  ความเห็นตรงนี้ เป็นพยานแก่จิตว่าเมื่อไม่มีอะไร ก็ไม่ควรเอาอะไรเป็นอารมณ์  กำลังความเห็นเช่นนี้ เรียกว่า “ปัญญา”  ดับจิตที่ปรุงแต่งอีกแรงหนึ่ง  ตั้งด้วยสติก่อน แล้วตอนหลังเอาปัญญาเข้าไปดับ ความปรุงแต่งหรือดับตัณหาด้วยปัญญา         
          ดัง
พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาท่านอชิตมาณพว่า  อวิชชา  คือ ความไม่รู้ ปิดบังโลก คือหมู่สัตว์ไว้ สติเป็นทำนพที่กั้นกระแสไว้  ส่วนตัณหาละด้วยปัญญา  สังขาร คือ ความปรุงแต่งละด้วยการเห็นถูกต้องอย่างนี้ (สัมมาทิฏฐิ) ฉะนั้น จิตที่มีกำลังตรงนี้  มีกำลังดับความปรุงแต่งให้กลายเป็นว่าพ้นจากภาวะความปรุงแต่ง ถ้าแก่กล้าถึงที่สุด  จิตพ้นโดยที่ไม่กลับมาอีกเลย  หมายถึงว่าจะไม่หวนกลับมาปรุงแต่งอีกเลยตลอดทั้งชีวิต เป็นชัยชนะที่ขาวสะอาด  จิตชนะพ้นจากความปรุงแต่งของโลกทั้งหมด  แสดงว่าความเป็นไปของโลกเราจะเปลื้องตัวเองออกจากโลกนี้ได้ โดยข้อประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมนึกถึงว่าบุคคลใดหนอที่ให้ความรู้อันนี้มา  คำสอนนี้เป็นผลเกิดขึ้นทำให้นึกถึงบุญคุณอันนั้น เรียกว่า “เข้าถึงพระรัตนตรัย” ซาบซึ้งถึงบุญคุณพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นที่มาของความรู้นี้  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ที่จะเกิดขึ้นในใจบุคคลนั้น  มีความแน่นแฟ้นมั่นคงมาก เพราะความรู้ตรงนี้เป็นเหตุทำให้ตัวเขาเป็นพยานว่า ความรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถพิสูจน์ได้จากการกระทำเช่นนี้ 
          เมื่อแจ้งขึ้นมากเท่าใด ความปรุงแต่งจะน้อยลงๆ ในที่สุดความปรุงแต่งจะดับก็เหลือแต่จิตดวงเดียว  จิตดวงเดียวก็พ้นจากความปรุงแต่ง  จึงพ้นทุกข์ได้  การเห็นตัวเองไม่มีตัวตนในที่นี้ก็เพียงพอระดับหนึ่งแล้ว แต่การเห็นปฏิกูลในตัวเองที่มีมากมาย  ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า มีน้ำเลือด น้ำเหลือง มีอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหมดมองเห็นทั้งกลางวันกลางคืนจึงรู้แจ้ง  ไม่ใช่การนึกเห็นก็เห็น ไม่นึกไม่เห็น  การเห็นเช่นนั้นจะเห็นทั้งวันทั้งคืน เป็นเครื่องอยู่ของจิตประกบจิตไว้เลย  เมื่อจิตจะยินดีอะไรในโลกความเห็นอันนี้จะเข้าไปสอนว่า จะยินดีอะไรเล่า
! ดูตัวเองซิมีอะไร ความรู้อันนี้จะเข้าไปสอนจิต  สอนจนจิตเลิกราความคิดให้กลับเป็นจิตที่ดีได้      
          ความรู้แจ้งตรงนี้ชัดขึ้นๆ เห็นความปฏิกูลในตัวเองมากมายก่ายกอง  ทำให้เราเบื่อหน่ายคลายความยินดีในตัวเองออก  เห็นว่ามนุษย์ไม่มีอะไรดีเลย มีแต่ความปฏิกูลอย่างยิ่งในที่นี้  แล้วความเห็นนั้น
ปรากฏตลอดเวลา  ทำให้เราสำรอกราคะออกได้  ความกำหนัดยินดีในต่างเพศออก แล้วก็เบาบางลงๆ น้อยลงๆ พร้อมเห็นโทษมากขึ้นตามลำดับของอินทรีย์ของคนๆ นั้น เห็นทุกข์  เห็นโทษ เห็นอานิสงส์ที่ออกจากสิ่งนั้นตามความเป็นจริง  เครื่องรู้เห็นนั้นเป็นพยานให้ราคะเบาบางลง ๆ ผลที่สุดคือชนะหมดจด  หมายถึงว่าจิตคลายออกหมด  แต่ลำพังตาเราเห็นไม่สามารถชนะได้เลย ฉะนั้น ความรู้อันนี้ไม่ได้เกิดจากตาเลย  ถ้าความรู้อันนี้ชนะโลกประเภทราคะนี้ด้วยตา ไม่เช่นนั้นก็คงชนะกันหมดแล้ว อย่างเช่นหมอพยาบาลเห็นคนไข้ สัปปะเหร่อเห็นคนตาย ก็เห็นว่าคนเรานี้ไม่มีอะไรเลย  ไปดูศพคนตายที่โรงพยาบาลเหมือนดุ้นไม้ดุ้นฟืนนั่นแหละ  หมอก็ยังยินดีอยู่  พยาบาลก็ยังยินดีอยู่  กิเลสเต็มไปหมดเหมือนเดิม ไม่เห็นจะละอะไรได้เลย  ทำไมเป็นอย่างนั่น  ก็เห็นอยู่ว่ามนุษย์มีอยู่แค่นี้แต่เขาก็ละไม่ได้  เพราะจิตของบุคคลนั้นไม่ได้รู้เห็น มันวิ่งอยู่ข้างนอก  ก็เลยไม่มีทางที่จะชนะได้  เพราะฉะนั้นธรรมชาติปกปิดโดยที่ว่ามิดชิดเหลือเกิน  ไม่ให้คนนั้นรู้ ทั้งๆที่ตาเห็นอยู่ เราก็เคยเห็นคนแก่  คนเจ็บ  คนตาย  ก็เคยเห็น  เราก็เอาชนะไม่ได้ แต่จิตเห็นตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องเห็นศพอะไรก็ชนะได้เลย  ทั้งๆที่ตาลืมอยู่ก็ชนะได้ เพราะจิตยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตาที่มองเห็นถ้าจิตชนะได้แล้ว ตาไม่มีปัญหาเลย  จะเห็นอะไรก็ช่าง อย่าว่าแต่มนุษย์เลยเทพธิดาต่างๆ หรือว่าเทพบุตรก็ไม่มีความยินดีอะไรทั้งนั้น  เพราะมองเห็นโทษ อย่าว่าแต่ร่างมนุษย์เลย พูดถึงประสิทธิภาพในการละตรงนี้ มีมากพอที่จะเอาชนะธรรมชาตินี้ได้  จิตเมื่อชนะตรงนี้ได้แล้วอารมณ์ก็หมด เมื่ออารมณ์ไม่มี สิ่งนี้ก็ย่อมไม่มี  ราคะมีจึงมีอารมณ์ ถ้าราคะไม่มีจะมีอารมณ์ได้อย่างไร อารมณ์ก็มีไม่ได้  ฉะนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “มุนีไม่ละกามทั้งหลายแล้วจะเข้าถึงความตั้งมั่นแห่งจิตนี้ไม่ได้เลย” ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ด้วย         
          ถ้าคนเรามีกิเลสเหล่านี้ครอบงำอยู่  ไม่สามารถจะทำให้จิตตั้งมั่นถาวรได้เลย  หากทำลายได้ จิตนั้นจึงจะเป็นผู้ที่ตั้งมั่นถาวรมากจนถึงวันตาย  เมื่อจิตชนะตรงนี้ เห็นตรงนี้แล้วก็เริ่มสำรอกอารมณ์ออกทั้งหมด ความรู้แจ้งสว่างไสวทั้งกลางวันกลางคืน เป็นสุขที่สุดยอดของความสุขที่เราต้องการในเบื้องต้นว่า ทำไมหนอ?  จิตเราอยากจะให้หยุด แล้วมีความสงบทั้งกลางวันกลางคืนไม่ได้หรือ? ตรงนั้นจะเสวยผลหมด ความหวังที่เราปรารถนาเอาไว้ได้ผลแล้ว  ฉะนั้น ความหวังอันนี้ สามารถจะทำให้เกิดขึ้นมีขึ้นได้ เรียกว่า “พ้น” จากอารมณ์ตรงนี้เอง การพ้นทุกข์ตรงนี้เกี่ยวโยงไปถึงหลายอย่าง เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท เกี่ยวกับภพชาติ  เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด เป็นกระบวนโยงใยมากมาย แต่ก็ให้รู้ตามลำดับ อธิบายมากก็จะสับสน พยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด อย่างเช่นเราปรุงแต่งไม่ใช่การปรุงแต่งธรรมดา  เรามองดูเหมือนจะไม่มีโทษอะไร  นั่นแหละคือความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  ทุกข์ทั้งมวลมีอยู่ในความปรุงแต่งอันนั้นอันเดียว

          ฉะนั้น จิตเราที่ปรุงแต่งอยู่ข้างนอกนั้น การเกิดของเราก็มีร่ำไป  การเกิดก็มีความแก่  ความเจ็บ  ความตาย  ความเศร้าโศก พิไรรำพันต่างๆ ตามมา  เพราะความปรุงแต่งนี้เป็นเหตุ เมื่อเราชนะความปรุงแต่งนี้ได้  จิตอยู่ในตัวเป็นผู้วางความหลงทั้งหมดของโลกไว้  การจุติไม่มีอีกเลยสำหรับบุคคลนั้นจิตไม่ได้คิด ไม่มีอารมณ์เลย  ไม่มี แต่ไม่ตาย  คนไม่มีอารมณ์ก็มี  จิตไม่ได้คิด ตายไปไม่มีอารมณ์เลย เพราะเขาทำแบบรู้อยู่อีกภาวะหนึ่ง  ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะเปลื้องตนเองออกจากโลกนี้ได้ จากที่ความเป็นโลกเราก็เคยเป็น เหนือโลกเราก็สามารถที่จะรู้ได้ มีอยู่ให้พิสูจน์ในโลกนี้  บุคคลที่ทำได้ก็มีอยู่ในโลกนี้ ข้อประพฤติปฏิบัติที่มีอยู่ในโลกนี้ สามารถที่จะพิสูจน์ได้         
          ดังนั้น จึงเป็นอุดมมงคลที่เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นบุญอันใหญ่เหลือเกินแล้ว สามารถ
พิสูจน์ได้และท้าพิสูจน์ด้วย  ทำไปเถิดจะได้รู้แจ้งชัด  ไม่ใช่คาดว่าเราคงจะไปได้ชาติหน้าโน่น
! หรือตายไปแล้วจึงจะได้นิพพาน เอาในชาติปัจจุบันนี่แหละให้รู้ไปเลย  เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า คำสอนพระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือไม่?  ถ้ามีจริงแล้วเราจะไม่เชื่อได้อย่างไรว่ามีจริง  เมื่อมีจริงแล้วมีผลนั้นได้อย่างไร?  ผลนั้นได้จากที่ไหน ?  ความเห็นแน่นแฟ้นจะเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นมากมายจนเป็นปัจจัตตัง  เป็นการรู้เฉพาะตน ความสุขมหาศาลที่ว่าจิตเป็นหนึ่งเดียวทั้งกลางวันกลางคืน เมื่ออบรมให้แก่กล้าแล้วไม่ต้องประคองจิตไว้เลย จิตจะเป็นหนึ่งตลอดเวลา    
          ถ้ารู้ชัดตนเอง เราก็รู้ชัดคนทั้งโลกว่า คนทั้งโลกนี้ก็เหมือนเรา  เราก็เหมือนคนทั้งโลก ถ้าเราไม่เห็นชัดในตัวเอง เราก็ไม่เข้าใจคนทั้งหมด  ก็หลงทั้งเราและหลงทั้งโลก  การรู้แจ้งตรงนี้ฝากไว้ที่ตัวเอง มีหมดแล้วตัวเราทั้งกายทั้งใจ  แต่จิตเราเดินทางผิด  เดินทางตามกระแสโลกมานมนาน จึงไม่อาจรู้แจ้งได้เลย  นี่จึงเป็นปัจจัยที่เราท่องเที่ยวไปในโลกกว้างอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะความคิดอันนี้เอง เมื่อเราตายไปนั้น เราจะคิดอยู่ในอารมณ์ใดล่ะ?  อารมณ์เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่เพาะภพชาติต่อไป  คิดอารมณ์ใดอารมณ์นั้นเป็นที่เกิดต่อไป  แล้วจะจบตรงไหน ก็ไม่อาจรู้ได้  ไม่เป็นไร  เรารู้ว่าความปรุงแต่งคือ ทุกข์ รู้ไปอย่างนี้ก่อน แล้วเราไปรู้ภพชาติทีหลัง  เราชนะอารมณ์ได้ก่อน  แล้วจะไปรู้เรื่องอย่างอื่น ขอให้เราชนะอารมณ์นี้ได้เป็นสุดยอดของความสุข 

          พรหมจรรย์อันนี้ ความสุขนี้ที่เราถือไว้เป็นความสุขที่สุดยอดในบรรดาความสุขทั้งมวล เรียกว่า “สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี” จะมีเพียงชั่วครั้งชั่วคราวก็หาไม่ มีความสุขใจทั้งวันทั้งคืน เพราะเหตุอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุกระทำไว้ทั้งวันทั้งคืน ความเพียรที่ลงเรี่ยวแรงไปทำทั้งกลางวันกลางคืน  ผลออกมาทั้งกลางวันกลางคืนก็เป็นผลของเราหมด ฉะนั้น ความเพียรตรงนี้ต้องมีมากไม่ใช่น้อย แต่อย่าคิดว่าทำให้แจ้งได้ง่าย ๆ   ลองทำดูไม่ได้แจ้งง่ายๆ การทำจะทำตรงไหนก็ได้  ไม่มีใครรู้ว่าเรากำลังทำอยู่  บางคนนั่งสมาธิจะเห็นสังขารข้างใน  ถ้าเห็นตัวเราเมื่อเห็นแล้วหายไปจะเป็นเครื่องอยู่ไม่ได้ จิตล่องลอยเห็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว  พิจารณาให้มาก ทำความเพียรให้มาก ไม่ให้จิตปรุงแต่งอะไรจึงชนะได้

          ความรู้เห็นตัวนี่ไม่ใช่ว่าเราเห็นแล้วก็หาย  แต่ขณะนี้ไม่เห็นแล้วนั้นไม่ได้  ความรู้แจ้งอันนี้สมมุติว่าเราไปเห็นรถชนคนตาย ใจหายแว๊บ เห็นศพ เห็นเลือดกระจาย กลิ่นเลือดเหม็นคาวคลุ้ง จิตใจหดหู่ไปหมด  แต่พอคล้อยหลังไป อาการเหล่านี้ฝังในความรู้สึกชั่วระยะหนึ่งแล้วก็หายไป วันหลังต่อมาไปเจอคนที่ยังไม่ตาย คนนั้นก็หล่อ คนนี้ก็สวย  ลืมความหดหู่ใจที่เห็นศพคนตายไปหมด  กลับไปหลงรูปหล่อ รูปสวยนั้นอีก

          ทำไม? สู้ไม่ได้หรือกิเลส เพราะความเห็นอันนั้นมันลืมเลือน การเห็นตัวเองเมื่อเห็นแล้วทิ้งไม่ได้เลย ต้องเอาเป็นเครื่องอยู่ประกบจิตติดแจไว้ตลอดเวลา  ให้เป็นสติสัมปชัญญะที่ขาดจากกันไม่ได้  ความเห็นอันนี้จะเป็นพยานประกบจิตไว้  ความเห็นศพอันนั้นเอามาไว้ที่เราตลอด แล้วศพนั้นไม่ใช่ใครแต่นึกให้เห็นเป็นศพตัวเราแทน  เราเห็นเราในศพเราจะรู้สึกว่าเป็นอย่างไร เราเห็นตัวเองเป็นศพตลอดเวลาเหมือนกับเห็นซากผีดิบในตน  ทำความเพียรให้มากๆ ถ้าเห็นตัวแล้วลืมไป เห็นอย่างอื่นจะไม่ใช่ญาณ ไม่ใช่เครื่องอยู่ของจิต  ไม่มีพลังพอที่จะให้จิตอยู่ได้  จิตเห็นตัวเองแล้วกลับไปเห็นคนอื่นก็ลืมอีกแล้ว  ลืมความหลังไม่มีพยานประกบจิตไว้ ต้องให้เห็นตัวเองอยู่ตลอดเวลา   
          การที่จิตจะยินดีในเพศตรงข้าม ความเป็นหญิงเป็นชายที่เราเห็น ในขณะเดียวกับที่จิตเห็นตัวเองเป็นซากศพอยู่  จิตเข้าไปประกบเลยว่าจะยินดีอะไรเล่า? ก็ดูตัวเองซิมีอะไร  ก็จะเห็นตนเองมี ตับ ไต ไส้พุง ตลอดเวลา  แล้วแว๊บเดียวที่จิตไปยินดี  ความเห็นนี้เข้าไปต่อสู้เลย  จิตก็เริ่มคลายลงๆๆ จนหมด แล้วยังไม่พอความเห็นอันนี้ประกบจิตไว้อีก ไม่ให้หนีไม่ให้ฟื้นเลย คลายกิเลสออกแล้วก็คาไว้ จนเห็นความเป็นอสุภะเต็มแก่ จิตก็จะทิ้งความเป็นหญิงเป็นชายได้  จิตก็ยังไม่ละจิตจะประกบไว้ไม่ให้กำเริบออกมาอีก เอาเป็นเครื่องอยู่ของจิตอยู่อย่างนั้น  ไม่ให้มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาได้เลย  เพราะกำลังตรงนี้มหาศาลมากพอที่จะทำลายได้หมด เหมือนกับการที่เราจะถอนหญ้ามาสักเส้นหนึ่ง แล้วตากไว้บนทรายร้อนๆ ให้แห้งแล้วบดให้เป็นผง ยังไม่พอนำไปเผาทิ้งในกองไฟ  แล้วเป็นขี้เถ้าเป็นฝุ่นผงโปรยไปตามลม คิดหรือว่าหญ้านั้นจะฟื้นมาอีกเป็นอย่างนั้นเลย
          ถ้าเห็นตัวแล้วจะเห็นชัดความเห็นนั้นจะไม่หาย ถ้าหายจิตก็ยุ่งใหญ่ เพราะธรรมชาติตรงนั้นเหมือนกับว่า เป็นที่หลบที่หลีกของการบำเพ็ญของการประพฤติปฏิบัติอยู่ มีช่องทางตรงนั้นเปิดให้เราอยู่ เหมือนกับข้อประพฤติปฏิบัตินี้มีอยู่ประจำโลก แต่คนไม่รู้จัก  เหมือนกับที่อยู่ที่เราจำเป็นจะต้องอยู่ตรงนั้น ถ้าทำเช่นนั้นอารมณ์ก็หมด  ไม่มีอารมณ์ แต่การเห็นตัวเองนิดๆ หน่อยๆ อารมณ์ก็เหมือนเดิม จิตยังท่องเที่ยวอยู่ ไม่ใช่พิจารณาร่างกายแล้วทิ้งไปๆ อาตมาไม่อยากใช้คำว่า พิจารณา แต่ทำให้แจ้ง และเป็นเครื่องอยู่ ดูเหมือนจะเหมาะกว่า  เพราะว่ากายของเราต้องทำให้แจ้งแล้ว กลายเป็นเครื่องอยู่ของจิตด้วย ถึงจะต่อสู้กิเลสได้ทัน  ถ้าเป็นเช่นนี้กิเลสไม่กำเริบ  แล้วอารมณ์ที่จะกลับฟื้นมาปรุงแต่งต่อไม่มีชนะได้ทั้งวัน ก็มีความสุขถ่ายเดียวไปจนตลอดชีวิต  สงครามอันนี้ไม่กำเริบ การชนะขาดมีอยู่เป็นจิตมีดวงเดียว

          ถ้าจิตอยู่ข้างนอกก็เป็นอันว่าข้างในเราก็ไม่เห็นตัวเอง หมายถึงว่าแจ้งข้างนอก จิตอยู่ข้างในก็เห็นแจ้งข้างใน  แต่ทุกวันนี้เราเห็นข้างนอกหมด  มีปัญหาทุกคนเป็นอย่างนี้ ทำอย่างไรจะให้จิตย้ายเข้ามาข้างในตัวเรา  เรามัวแต่คิดไปแล้วก็ตัด โดยที่ไม่มองตัวเราจะไม่ได้เลย ตัดแล้วเกิดๆๆๆ อยู่เช่นนี้เรื่อยไป คือความยึดมั่นในตัวเรานี่  จิตยึดมั่นมองไม่เห็นตัวเรา  หลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา ซึ่งไม่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ไม่ใครสอน แต่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด  เป็นสัญชาตญาณ  เช่น  เราเดินไปรถพุ่งเข้ามาจะชน เราก็หลบหนีเพราะเรากลัวตาย  คำว่า “เรา” นี้ เป็นสัญชาตญาณที่ฝังลึกว่า “เป็นเรา” แต่ความเป็นเราแท้จริงไม่มี เป็นเพียงอุปาทานยึดมั่นว่าเป็นตัวตน  อย่างเช่นหลวงพ่อพุทธทาสพูดว่า ตัวกูของกู เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าน้อมจิตเข้ามาดูตัวให้เห็นตัวเอง จิตจะหยุดออกข้างนอก จิตจะอยู่กับตัว       
          จิตเห็นตัวเรา  จิตเห็นแจ้งแล้ว ตัวเราไปอยู่ตรงไหน ไม่มีตัวเราในนี้  มองไปมองมาเป็นของว่างเปล่า ตัวทั้งตัว ร่างทั้งร่าง กลายเป็นของว่างเปล่า มิได้หมายถึง ว่างเหมือนอากาศก็หาไม่  ว่างในลักษณะที่ว่างจากตัวตนแท้จริง  มองเห็นสภาวะที่มีอยู่เป็นสักแต่ว่าสิ่งประกอบกันขึ้น เรียกว่า “รู้แจ้งขันธ์ ๕ โดยความเป็นอนัตตา”  เหมือนคนที่ไปตัดต้นกล้วยมา นึกว่าแก่นสารสาระอยู่ในต้นกล้วยนั้น ปลอกกาบกล้วยออกไปจนหมด  ผลที่สุดมีแต่กาบกล้วย ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนพยับแดด เปรียบเหมือนฟองน้ำ เปรียบเหมือนต้นกล้วย  เปรียบเหมือนของที่หลอกลวงเรา  ตัวเราเหมือนกับว่าเป็นของหลอกลวงอันหนึ่งที่เรานึกว่าเรานี่ คือ ตัวตน ความสำคัญอันนี้เป็นที่มาของความคิดที่ผุดออกมาจากตรงนี้  มาจากสัญชาตญาณว่า “เป็นตัวของเรา” เมื่อความยึดมั่นตัวตนมีขึ้น คำว่า “ของๆ เรา” ก็มีมาเมื่อนั้น บ้านของเรา รถของเรา ลูกของเรา สามีภรรยาของเรา เมื่อมีของๆเราตามมา “มานานุสัย” ความคิดก็จะแล่นซ่านไปในโลก  เป็นที่มาของกิเลส ๓  อย่างนี้ตามมา คือ  ราคะ  โทสะ  โมหะ  เมื่อมองเห็นความไม่เที่ยง  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เมื่อเป็นเช่นนี้  คำว่า เป็นตัวเรา ของเรา ความปรุงแต่งที่ซ่านไปในโลกก็ถึงความยุติตรงนี้ คือ ดับความปรุงแต่ง ตัวตนตรงนี้ ถ้าไม่เห็นแจ้งก็ไม่ชนะความคิดปรุงแต่งได้เลย     ถ้าเราเห็นตรงนี้ แต่สมาธิที่ตั้งมั่น ไม่ตั้งมั่น ที่ตั้งมั่นแล้วเสื่อมหายไป ก็ไม่ใช่ทาง  แต่เมื่อเห็นตนเองชัดแล้ว สมาธิที่ไม่ตั้งมั่นจะตั้งมั่นถาวร  ความพ้นอันนี้มีครั้งเดียวแล้วก็ไม่หวนกลับไปอีก คือไม่คิดอะไร เพราะรู้แจ้งว่า โลกนี้ล้วนแต่อนัตตา  ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา  แต่เดิมก็มีเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา ความคิดก็ซ่านไป  แต่ว่าในความเป็นจริงเราก็ไม่มี เขาก็ไม่มี  ความคิดการแก้ปัญหาจะมาแก้ที่ตัวเรานี้  เรื่องนี้เป็นอารมณ์ทำไมต้องมาเห็นเนื้อเห็นหนังจะเกี่ยวอะไร? นั่นคืออารมณ์ยึดเนื้อหนังว่า เป็นเราก็เลยผูกพันกันเป็นวงจร

          รู้หรือยังว่าศัตรูของเราอยู่ตรงไหน ? สงครามนี้เราจะทำหรือไม่ ? จะลงมือทำหรือเปล่า?  ถ้าเราชนะเราก็เป็นไท  ถ้าเราไม่ชนะเราก็เป็นทาส  เราคือทาส  เราไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเหนือกว่าความต้องการของกิเลส  แต่ถ้าชนะได้ควบคุมได้หมดเลย  จิตจะว่านอนสอนง่าย จะไม่ดื้อต่อเรา จะมีความเห็นคล้อยตามเราหมด โดยไม่มีอคติอะไรเลย  จิตจะพ้นจากภาวะความปรุงแต่งเป็นเอกเทศโดยไม่ขึ้นตรงต่ออารมณ์  ฉะนั้น จิตนี้เราเป็นนายแล้ว  เราสั่งจิตให้คิดอยู่ภายในตัวอย่างเดียวไม่ให้ออกนอกกาย  จิตก็จะคิดทำตามสั่ง ถ้าเราไม่สั่งจะไม่คิดเลย  ต่างกับจิตที่เราอยู่ภายในอำนาจกิเลส  เราบอกให้หยุดก็ไม่ยอมหยุดจะคิดตะพึด หัวเราะใส่เยาะเย้ยด้วย  ไล่ไปเถอะ  บอกให้หยุดก็ไม่หยุด  คิดดีๆ ทำอย่างนี้ดี แล้วอย่างนี้ไม่ดี จิตก็ไม่สนใจคิดแต่จะทำชั่ว  เรื่องดี ๆ ไม่ชอบ ไม่สนทั้งนั้น  แต่ถ้าเราฝึกจิตดีแล้ว จิตจะว่านอนสอนง่าย  บอกอย่าคิดก็ไม่คิด  บอกอย่าดื้อก็ไม่ดื้อเลย ไม่สั่งคิดจะไม่คิดเลยทั้งวันทั้งคืน แล้วความคิดไม่ให้แล่นออกข้างนอก ก็จะไม่แล่นออก จิตอยู่ในกำมือเราหมด นั่นคือ เราอยู่เหนืออิทธิพลของจิตและเหนืออิทธิพลของกายนี้  ถ้าเราทำชนะตรงนี้ได้ กายนี้มีกายเดียว ตายไปแล้วจะไม่เกิดอีก คือชาติสุดท้าย   
          กายเป็นของเดิมที่กิเลสคว้าออกมา เป็นสังขารขันธ์มีส่วนเหลือ คือร่างกายนี้ มีมาก่อนแล้ว เรามาแก้กิเลสทีหลังก็เลยมีชีวิตอยู่เป็นร่างกายสุดท้าย ตายแล้วสิ้นสุดภพไม่มีอารมณ์เป็นที่เกิด ไม่หว่านเมล็ดพันธุ์พืชลงไปอีกในที่ดินนั้น  เหมือนกับต้นไม้ไม่ออกลูกออกผลให้เป็นเมล็ดสืบพันธุ์ต่อไป อารมณ์เป็นที่เกิดของการเวียนว่ายตายเกิด  ฉะนั้น ตรงนี้เราควบคุมได้หมด จึงเป็นผู้อยู่พ้นทุกข์ อยู่เหนืออำนาจของกิเลสนั่นเอง
    
            กิเลสมันร้ายกาจ คิดได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้าไม่ฆ่ากิเลสอย่าหวังว่า จะมีความสุขได้เลยชีวิตนี้ สงครามนี้
ชนะแล้วไม่ต้องกลับมาทำอีก  เป็นการเอาชัยชนะที่เราไม่ต้องทำตลอดชีวิต ชนะแล้วคือจบ แล้วก็เสวยผลยาวเลย  ไม่น่าเชื่อว่าจิตจะอยู่  จิตเหมือนลิงยิ่งกว่าลิงอีก  ไม่น่าเชื่อว่าจิตจะอยู่มั่นขนาดนั้น เวลาจิตมั่นมีความมั่นมาก  หินผาต้นไม้ยังไม่มั่นคงเท่าจิต  แต่ถ้าไม่มั่นดูเหมือนยากเหลือเกิน ไม่น่าเชื่อว่าจิตจะมั่นได้ เรื่องลึกลับซับซ้อนต่างๆ ที่มีอยู่ก็ค้นหาได้ในตัวเรา  สงครามในการต่อสู้กิเลส (ความคิดต่างๆ) ถ้าปราศจากกิเลสก็ คือไม่มีอารมณ์  ทำไมไม่มีอารมณ์ก็เพราะเห็นว่า โลกนี้ไม่มีอะไรจะเอาเป็นอะไร ก็ไม่ต้องมีอารมณ์เพราะโลกนี้เป็นอนัตตา  แต่ถ้าเราไม่เห็นตัวเอง เราก็ไม่เข้าใจ ความคิดตรงนี้ทำให้เราไม่รู้แจ้ง  จะต้องทำความเพียรมากมาย ถ้าพูดถึงความเพียรเริ่มท้อใจแล้ว ต้องทำทั้งกลางวันกลางคืน  ถ้าพูดตรงๆ ไม่ทำอย่างนั้นไม่ได้  ไม่ชนะ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องบวชหมดสิ  จริงๆแล้วต้องบวช ไม่ได้บวช บวชไม่ได้ไม่เป็นไร  ทำตามอินทรีย์ ไม่อย่างนั้นพระอรหันต์ก็อยู่บ้านไปทำนาทำไร่ไป อยู่ไปก็หมดกิเลสไปด้วยสิ

          เพศพรหมจรรย์เป็นเพศสุดท้าย มองตรงนั้นไม่มีอะไร จะออกมาตรงพรหมจรรย์หมด  เพราะจิตมีดวงเดียวก็เลยเป็นคนๆเดียว เพราะต้องลงเอยตรงนั้น ขนาดว่ามีคู่ครอง  มีสามีภรรยาผลสุดท้ายต้องออกเลย การบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเพศฆราวาสอยู่ไม่ได้ถึง    วัน ต้องปรินิพพาน คือต้องดับขันธ์ เพราะรองรับไม่ได้  พูดอย่างนี้ชักกลัวๆ กลัวอะไรเล่าในโลกนี้มีอย่างนี้แหละ เพราะความตายเป็นเหตุให้เรามองเห็นโทษ  ถ้าไปเห็นตัวเองก็รู้แล้วสลดสังเวชไม่มีอะไรดีเลย เห็นน้อยก็ไม่พอต้องเห็นให้มากๆ จนเป็นเครื่องอยู่ของจิต กิเลสก็จะคลายออกหมด     
          ฉะนั้น เราจะเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเรา แล้วก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ การมองเห็นตัวไม่ได้เห็นง่ายๆ  ถ้ายังไม่เห็นต้องทนต่อการพยายามมองให้เห็นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ก็ทนอยู่ตรงนั้นแหละ  จนกว่าจะเปิดให้เราเห็น จนรู้แจ้งนั่นแหละ  ความเห็นอันนี้จะช้าหรือเร็วอยู่ที่การปล่อยจิตออกข้างนอก  วันหนึ่งมี  ๒๔ ชั่วโมง  ถ้าปล่อยจิตออกเกินครึ่ง แล้วทำสมาธิเล็กน้อยไม่มีทางชนะได้  ต้องพยายามมองให้เห็นตัว ทำเวลานานเกินครึ่งวันไปก่อนมากกว่า ๑๒ ชั่วโมงขึ้นไป ยังพอลุ้น เว้นเพียง ๔ ชั่วโมง เพื่อนอนหลับพักผ่อน  กระทำเช่นนี้ความเพียรเจริญเห็นได้ชัด  แม้แต่วันหนึ่งๆ จะก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ  เพราะทั้งวันอุดรอยรั่วหมด ไม่พาจิตให้หลงใหลไปในอารมณ์ต่างๆ เลย บางครั้งจิตออกไปเราก็ดึงกลับตลอดเวลา  เพราะเห็นว่าทางเส้นเดิมนี้ เดินทางไม่จบ เราก็ไม่เดินต่อไป ดำริออกจากทางเส้นนั้น แล้วเดินทางเส้นใหม่ คือเดินเข้าหาตัว  การคิดทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จักหยุด เราก็ต้องทำทั้งวันทั้งคืนจึงจะทันกัน  ทำไม่หยุด ผลออกมาก็เป็นสมาธิทั้งกลางวันกลางคืน ไม่รู้จักหยุดเหมือนกัน ทำเหตุไว้อย่างใดก็ได้ผลเช่นนั้น ก็สมเหตุสมผลกัน กลายเป็นว่าทั้งชีวิต มีแต่สมาธิเป็นหนึ่งอย่างเดียว    ความเพียรตรงนี้ ต้องทุ่มเทมหาศาล ทั้งๆที่รู้ว่าอะไรๆก็เอาไปไม่ได้ แต่ก็ยังคิดอยู่นั่นแหละ
เพราะเราไม่รู้แจ้งในตน 

          ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ มีความเพียร วิริยะ อุตสาหะ ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ มุ่งสู่จุดหมาย คือความพ้นทุกข์  ดับทุกข์  ดับโศก การประพฤติปฏิบัติของตัวเองที่ผ่านมา รวมในครั้งนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน ได้รู้แจ้งตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในที่สุด ทุกท่าน ทุกคน เทอญ
                                                      
                                               **********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น