วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทำสงครามกำจัดกิเลส ... พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ




ทำสงครามกำจัดกิเลส
พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

*********
       

การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น มีแนวทางการประพฤติปฏิบัติอยู่ในในพระไตรปิฎก ครูบาอาจารย์หลายรูปศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วได้มาแสดงให้ความรู้ ทั้งๆที่คำสอนก็มีอยู่ในตำรา แต่เราก็ไม่อาจเข้าถึงความรู้นั้นได้ เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบทาง ทั้งๆที่ทางนั้นก็มีอยู่ เพราะลำพังการอ่านพระไตรปิฎกแต่สภาพจิตของเราที่รู้พร้อมยังไม่เกิดขึ้น การประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเดียว โดยไม่ฟังพระธรรมคำสอนก็ไม่แตกฉาน ถ้าปฏิบัติอย่างเดียวก็รู้ได้น้อย รู้ภายนอกอย่างเดียวแต่ข้างในไม่มี ดังนั้น การฟังธรรมและเข้าถึงคำสอนพระพุทธเจ้าขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางด้านจิตใจของแต่ละบุคคล ต้องรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร คือกิเลส ทำไมจะต้องประพฤติปฏิบัติธรรม

จิตเดิมแท้ของมนุษย์มาอาศัยบิดามารดาเกิด เติบโตจากวัยเด็กขึ้นสู่วัยหนุ่มสาว ได้เรียนรู้ธรรมชาติว่า มีกิเลสติดตัวมา คือ ราคะ  โทสะ  โมหะ  กิเลส    อย่างนี้ ก่อให้เกิดการดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้สิ่งต่างๆมาตามที่กิเลสเรียกร้อง  จิตจึงไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้จิตเกิดการปรุงแต่งจนหยุดไม่ได้ กิเลสที่มีอยู่เดิมตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชราเบ่งบานขึ้น  จิตมีประตูทางออก  ๖ ประตู ทำอย่างไรหนอ? เราจะอุดประตูทั้ง    นี้ได้  จิตดวงนี้ปรุงแต่งอยู่เรื่อยไม่หยุดนิ่ง  แล้วเมื่อไหร่จิตจะหยุดนิ่งได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากเหลือเกิน เพราะจิตมีวัฏสงสารอันยาวนาน

       ศาสนาพุทธทำสงครามกับกิเลส  เพื่อให้จิตหยุดการปรุงแต่งพ้นการเวียนว่ายตายเกิด ทำอย่างไร? จะให้ได้จิตเป็นหนึ่งเดียวสงบนิ่งได้ตลอดไป  เราต้องใช้ความเพียรมากมายในการประพฤติปฏิบัติ เพื่อหยุดจิตให้สงบนิ่ง เพราะสิ่งต่างๆในโลกหลอกล่อให้จิตติดกับดัก คือ กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ(สัมผัส)  ทำให้จิตยินดีวิ่งหาสิ่งเหล่านี้มาเป็นของตัว  มีความสุขแต่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ทำให้เป็นทุกข์อย่างมากมาย ความสุขในกามคุณเป็นเหตุให้เราไม่เห็นโทษ เราจึงต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อดับกิเลสให้พ้นจากกามราคะ ก่อนที่กิเลสจะเกิดเราจะเห็นว่าภาพนั้นเกิดขึ้นก่อน ไปในทางรักก็จะชอบ เดี๋ยวก็จะไม่ชอบแล้ว หรือจิตไปในโทสะเดี๋ยวก็จะโกรธ ถ้าภาพใดภาพหนึ่งเกิดขึ้นปุ๊บ เราตัดเสีย แล้วน้อมมาพิจารณาร่างกายตัวเอง ราคะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น โทสะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น  ที่เกิดแล้วย่อมบรรเทาลง ฉะนั้นการลิดรอนกิเลสราคะ โทสะ  โมหะ นี้ก็ถูกลิดรอนไปเรื่อยๆ คือ ไม่ได้ช่อง  เหมือนกับเราเปิดโทรทัศน์ ภาพในโทรทัศน์เกิดขึ้น อารมณ์เราก็คล้อยไปตามภาพนั้น  ถ้าภาพนั้นเป็นภาพของตัวเราเองจะเป็นอย่างไง  เราเห็นภาพของคนอื่นแต่เอาธรรมชาติอันนั้นมามองตัวเอง  เมื่อมองตัวเองมากเข้าๆ จิตเป็นธรรมชาติที่ว่าน้อมหาตัวบ่อยๆ จะเกิดความสว่างขึ้นและความสงบเกิดขึ้น เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ จะเป็นเครื่องรู้เห็นที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นก็จะเกิดขึ้น  จิตมองตัวเองบ่อยๆ  จะเป็นสมาธิขึ้นมา ถ้ามองอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่เป็นสมาธิ แต่มองตัวเองจะเป็นอารมณ์ของสมาธิ   
       ฉะนั้น การก้าวเดินทีแรก เราต้องพยายามให้เกิดการมองเห็นตัวเองก่อน ไม่มีทางมาก่อนแต่เราจะสร้างทางเส้นนี้ให้เกิดขึ้น เป็นทางดับทุกข์โดยเรามองตัวเองพิจารณาคิดไปข้างนอกแล้วตัดออกๆเสีย มองตัวเองแล้วพิจารณาถึงความตาย  พิจารณาถึงความปฏิกูลตามความเป็นจริงของร่างกาย    การนึกถึงความตาย และความเป็นปฏิกูล เรียกว่า  น้อมจิตไปทางไตรลักษณ์ พิจารณาถึงความแก่  ความเจ็บ ความตาย  ให้จิตคุ้นเคยกับความที่จะเป็นไปของร่างกายอันนี้ เพราะการนึกอย่างนั้นทำให้จิตลดกระแสลง ลดขอบเขตในการท่องเที่ยวลง จะเกิดสติปัญญาขึ้นว่าร่างกายของคนเราเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่จะต้องแตกดับในที่สุด     
      เราก็รู้ว่าร่างกายจะต้องแตกดับ ทำไม? จึงต้องพิจารณาเล่า ระหว่างที่เรารู้กับจิตที่รู้นั้นต่างกัน
ต่างกันอย่างไร ใครๆ ก็รู้ว่าทุกคนต้องแก่  ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่ความรู้อันนั้นช่วยอะไรไม่ได้เลย รู้แต่ไม่เห็น ที่เห็นคือเห็นด้วยตา จิตที่เห็นด้วยตาเป็นจิตที่ส่งออกข้างนอกแล้ว เป็นจิตที่นำมาซึ่งสติปัญญาอะไรไม่ได้ จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นมาไม่ได้ ทุกคนเคยเห็นคนแก่ คนตาย คนเจ็บแต่ทำไมคนเรา จึงละกิเลสไม่ได้ ก็เพราะจิตอยู่ข้างนอก แต่ถ้าเรามองเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ในตัวของเราแท้ๆ จะเริ่มละกิเลสได้  ซึ่งไม่ใช่การเห็นด้วยตา แต่เป็นการอบรมจิตให้เข้าไปรู้เห็นตรงนี้ จิตเห็นกับตาเห็นนี้ ต่างกันลิบลับอย่างไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้  จิตเห็นจะนำมาซึ่งสติปัญญาเป็นสมาธิขึ้น เรามองตัวเองอยู่บ่อยๆ จิตคิดไปกลับมามองตัวเราๆ ทำยากแต่ว่า ทำไม่หยุด สู้ ทำอยู่เนืองๆ เราจะเกิดความชำนิชำนาญขึ้น

        เมื่อจิตสงบจะมีความสุขชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมาในตัวของจิตเอง เป็นความสุขที่จิตมีสมาธิ เป็นความสุขที่ไม่มีโทษ เป็นความสุขที่ไม่อาศัยอารมณ์ใดเลย แต่ทำได้ยาก เป็นความสุขที่ต้องการอย่างยิ่ง เพื่อมาลบล้างทดแทนความสุขทางกามคุณ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต้องการความสุข  เกลียดทุกข์  ความสุขที่ไม่มีภัย คือ ความสุขจากการรู้แจ้งได้มาโดยยาก และมีกำลังน้อยกว่าความสุขจากกามทั้งหลาย จึงต้องอดทนอดกลั้นอีกมากในการประพฤติปฏิบัติ  
       การไม่มองตัวเองจึงดับความปรุงแต่งไม่ได้  เมื่อมองตัวเราแล้วจะได้อะไร? จะเกิดอะไรขึ้น พระท่านสอนให้พิจารณาตัวเองมองตัวเอง แต่เรามองไม่เห็น  ที่มองไม่เห็น เพราะตัวของเราเป็นของที่ใกล้ที่สุด แต่จิตไม่เคยมอง ทำให้การมองใหม่ๆมองไม่เห็น เพราะเราไม่เคยมองตัวเองมาก่อน พอเราหัดมามองตัวเองจึงเป็นของใหม่สำหรับเรา ความชำนิชำนาญไม่เกิดย่อมไม่เห็น  เราจะทำให้เกิดการเห็นขึ้นได้ต่อไป เราต้องตั้งปณิธานไว้ในใจว่า จิตที่คิดปรุงแต่งไปในอารมณ์ข้างนอก อารมณ์อะไรก็แล้วแต่ที่จิตปรุงแต่งไป  ทางเส้นนี้เราเดินมาแล้วๆ เราจะเดินต่อไปทำไม เดินไปแล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด ความสิ้นสุดไม่ปรากฏ เราจะหยุดตรงไหน? ไม่มี ตายยังไม่หยุด มันก็คิดต่อไปเรื่อยๆๆๆ  เกิดตายๆๆ ตายเกิดๆๆ เมื่อเป็นดังนี้  เราดำริออก  ระงับทางเส้นนี้เอาไว้  แต่แรกๆ จิตมันแย่งจะออกไป  พิจารณากายอยู่พอเผลอก็ไปอีกแล้ว  เราต้องทำบ่อยๆ ทำอยู่เนืองๆ ต้องต่อสู้ ต่อสู้อารมณ์ระหว่างจิตกับอารมณ์  จิตออกนอกแล้วเราจะดึงกลับเหมือนชักคะเย่อกัน  ชิงไหวชิงพริบชิงกันเต็มที่ชิงเป็นเจ้าของ จิตไม่รู้ เราก็แย่งชิงจิตที่จะคิดไปข้างนอก พอรู้ตัวก็ดึงกลับคว้าเอาจิตมาพิจารณาร่างกายมันต่อสู้กัน ทำไมเราต้องต่อสู้ เราจำเป็นจะต้องต่อสู้ เพื่อแย่งชิงจิตให้มาพิจารณาร่างกาย 

เราต้องประคับประคองจิต ให้เราพิจารณาตัวเองเรียกว่า สมถะ  ความจริงแปลว่า ความข่มความระงับให้จิตสงบลง  ถึงแม้ว่าจิตนั้นอยากจะออกไปข้างนอก แต่พยายามประคองไว้ข่มไว้  เพื่อให้จิตมามองสกนธ์กายของเรา แต่เรามองไม่เห็น ก็นึกให้เห็นก่อน นึกเอาว่ารูปพรรณสัณฐานของเราหน้าตาเราเป็นอย่างไร ให้พิจารณาร่างกายตรงใดตรงหนึ่งก่อน  ตรงอวัยวะส่วนไหนก็ได้  ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า  เราอย่าไปเอามากเกินไป จับยากเพราะไม่คุ้นเคย นึกไม่ออกพยายามนึก ถึงเราเคยส่องกระจกดูร่างกายของเรา พิจารณาว่า รูปพรรณสัณฐานเป็นยังไง  ทำบ่อยเข้าๆ จะช่วยลิดรอนจิตที่คิดข้างนอกให้อ่อนตัวลง และภาพข้างนอกที่ปรากฏอยู่ในมโนทวาร (มโนวิญญาณ  เป็นการรู้เห็นภายนอก) จะหาช่องทางไม่ได้ คือ เราจะหนีกิเลสเราต้องหนีอย่างนั้น อยู่ๆเราจะให้สงบถ่ายเดียวนั้นไม่ได้ เราไม่ถากไม่ถางไม่ได้ เราพิจารณาร่างกายจิตคิดอะไรตัดออก แล้วน้อมมาพิจารณาร่างกาย  ทำมากขึ้นๆๆๆ อย่างเช่นจิตนึกไปถึงอารมณ์ราคะ หรือโทสะ ตัดออก แล้วน้อมมาพิจารณาร่างกายแทน   

       การที่เรามองตัวเองบ่อยๆ มองไปๆๆ เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้นมาทีละน้อยๆ จากทีแรกไม่ชัด ไม่เห็นเลย เมื่อเห็นขึ้นมาทีละน้อย จิตจะเกิดสมาธิไปในตัว เป็นจิตที่มีความสุขมาก เป็นจิตที่มีสมาธิตลอดไม่ใช่จิตปรุงแต่ง  แต่จิตที่ปรุงแต่งคือจิตออกข้างนอกแล้ว  การมองตัวเองจิตจะเริ่มมองเห็นด้วยอาการ ๓๒  ทีละน้อยๆ แล้วรักษาความเห็นอันนั้นไว้  ทำไมเราต้องรักษาความเห็นอันนั้นไว้  เอาจิตไปเกาะไว้กับตัว  ทำให้จิตนั้นหลุดออกจากข้างนอก  อารมณ์ข้างนอกที่จะออกไป  ออกไปไม่ได้ เพราะเราเกาะตัวนั้นไว้  จิตที่เกาะอยู่ในตัวบ่อยขึ้นๆ กลายเป็นสติสัมปชัญญะ กลายเป็นสมาธิขึ้นเป็นลำดับๆ ไป  จิตที่อยู่ข้างนอกเริ่มลดลง ความปรุงแต่งก็จะน้อยลงๆ ความปรุงแต่งน้อยลงเท่าใด ความสงบและความรู้เห็นภายในจะมากขึ้นตามลำดับ  ความปรุงแต่งนำมาซึ่งความทุกข์ แล้วไม่พอยังนำมาซึ่งความมืด

       เรามองตัวเองใหม่ๆจะมืดมองไม่เห็น  นึกไม่ออกว่าหน้าตาของเราเป็นอย่างไร เพราะว่าตัวนี้ทำให้มืด เราก็อบรมจิตไปเรื่อยๆ ก็จะแจ้งขึ้นไปๆ เห็นอาการ ๓๒ ชัดขึ้นไปๆ ความเห็นอันนั้นเป็นเครื่องอยู่ของสติ แล้วก็ทำให้แก่กล้าขึ้นมากขึ้นๆๆๆ จิตเห็นตัวเองมากเท่าใด จิตก็จะทิ้งอารมณ์ข้างนอกมากขึ้นเท่านั้น  อารมณ์ข้างนอกก็จะน้อยลงๆๆ  เพราะว่าจิตของเราไม่ออกข้างนอกตามอารมณ์  เราจะอยู่แต่ข้างใน  จิตอยู่ข้างในมากขึ้นๆๆ ก็กลายเป็นสมาธิมากขึ้นๆ  เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นจิตที่เป็นเอกเทศ เป็นอิสระก็เกิดความสุขที่เป็นสมาธินั่นเอง ความสุขคือการที่จิตไม่ปรุงแต่ง  จะปรุงแต่งได้อย่างไร เมื่อจิตอยู่กับตัวมองเห็นตัวเองชัดขึ้นไปๆๆ  เกิดสติปัญญาขึ้น  ตัวของเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นก็จะปรากฏขึ้น มากขึ้นๆ ความชัดเจนจะเป็นพยานแก่จิตเองว่าจิตของเราเป็นของไม่เที่ยง จิตก็เห็นความไม่เที่ยงตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เหมือนกับว่าเรานี้เห็นตัวเองเป็นซากศพอยู่ตลอดเวลา  นึกถึงความตายตลอด  นึกถึงความเป็นความมีไม่ได้ เพราะจิตจะออกนอก หากนึกถึงความตายแล้ว จิตจะน้อมเข้าข้างใน ความตายเป็นที่สุดของชีวิตนี้  จิตพิจารณาความตายมากขึ้นๆ แล้วจะถึงทางยุติความปรุงแต่งได้  เราน้อมจิตพิจารณาร่างกายมากขึ้นๆ เมื่อจิตเห็นตัวเองชัดขึ้นไปๆ จิตก็เริ่มสว่างขึ้นๆ สว่างทั้งปัญญาและจิตที่เป็นสมาธิ  เป็นอาการที่สว่างสงบมีความสุขมาก ตามลำดับของความเห็นนั้น เราอบรมมากเท่าใด ความเห็นก็จะเกิดมากเท่านั้น  สุขในที่นี้เป็นความสุขที่จิตสงบตัวเองลงไป เป็นความสุขในตัวเองที่ไม่อิงอาศัยสิ่งอื่นใด  จิตเป็นสมาธิได้ยาวนานมากขึ้นๆ กลายเป็นว่าจิตที่คิดอยู่ข้างนอกไม่ได้ช่องทางเลย เกิดความปรุงแต่งแล้วก็ตัดออกๆ ทำไปทำมาจิตไม่มีโอกาสที่จะออกข้างนอก  
       เราอบรมจิตอบรมแล้วอบรมอีก ให้มองเห็นตัวเอง มัดจิตติดไว้รักษาความเห็นนั้นให้อยู่กับตัวมีสติสัมปชัญญะ กลายเป็นว่าทางเส้นที่เราเคยเดินปิดลงทีละน้อยๆ เราจะเริ่มออกจากทุกข์แล้ว ออกจากทางที่ปรุงแต่งนั้นไปตามลำดับๆ ความปรุงแต่งไม่ได้ช่องทาง  ราคะที่เกิดก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ โทสะที่จะเกิดก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ระหว่างการประพฤติปฏิบัตินั้นจะเห็นภาพตัวเองครองในทุกที่ทุกตำแหน่ง กลายเป็นว่า รักษาความเห็นตัวเองไว้ได้ทั้งวันทั้งคืนตลอด ๒๔ ชั่วโมง เราต้องทำถึงขนาดนั้น  ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจิตก็รั่วไหล ทำให้สมาธิที่เรามีจะเสื่อมลง ฉะนั้น ต้องรักษาตรงนี้ ความรู้ความเห็นจะแก่ขึ้นไปๆๆ มากขึ้นๆๆ ถึงระดับที่เรารักษาจิตหรือไม่ จิตก็ไม่ไปไหนแล้ว เพราะถูกอบรมเสียจนอยู่จิตสงบมากขึ้นๆๆ  ผลที่สุดจิตที่คิดนึกข้างนอกน้อยลงไปๆ เหมือนกับว่าเมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นตัวเองเลย เพราะจิตที่คิดไปข้างนอก อุปมาเปรียบเทียบว่า จิตที่คิดไปข้างนอก ๑๐๐
% ข้างในไม่เหลืออยู่เลยแม้เปอร์เซ็นต์เดียว มีแต่จิตปรุงแต่งไปข้างนอก  ซึ่งเราจะต้องปิดทางที่จิตปรุงแต่งข้างนอกลง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเดินต่อไป เพราะเห็นแล้วว่า ทางเส้นนี้ไม่ควรเดินแล้ว เดินต่อไปไม่ได้แล้ว อยากจะหนี ผลที่สุดทางเส้นเดิมก็ถูกปิดลง   

เมื่อจิตมองเห็นตัวเองแล้วจะไม่หายไปไหน  ไม่ใช่การนึกเห็นก็เห็น ไม่นึกเห็นก็ไม่เห็น ไม่ใช่เป็นดังนั้น การมองเห็นตัวจะคลุกเคล้าให้จิตกับร่างกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  กายเป็นสติสัมปชัญญะ  กายเป็นสมาธิ  กายเป็นปัญญา  และเป็นปัญญาที่ไถ่ถอนตัวเองออกจากความปรุงแต่ง กลายเป็นว่าจิตถูกมัดไว้กับตัว เหมือนกับว่าเข้ากันได้ซึมซับกันไป เป็นสติสัมปชัญญะตลอดเวลา กลายเป็นว่าจิตทั้งดวงผูกมัดไว้กับตัว กลายเป็นว่าธรรมชาติเส้นทางเดิมถูกปิดลงไป  เราชนะได้ทางเส้นนี้  เมื่อชนะได้จิตอยู่ตรงไหน  กลายเป็นว่าจิตเป็นสมาธิอยู่ตลอด เป็นสมาธิที่เราต้องการว่า ทำอย่างไรเราจะมีสมาธิตลอดเวลา  มีสมาธิแล้วเรามีความสุข เราชนะแล้วส่วนหนึ่ง  เรารบขึ้นไปเพื่อชนะแล้ว ชิงจิตเข้าไปอยู่ข้างในตัวเรา เพราะฉะนั้น การเกิดกิเลสก็เกิดจากตัวเรานั่นเอง การดับกิเลสก็ดับจากตัวเรานั่นเอง  
       จิตที่เห็นตัวเป็นจิตที่รู้แจ้งทั้งหมดว่าอะไรคืออะไร ศาสนาพุทธไม่ใช่ว่าเราจะเอาจิตมาให้สงบๆๆ ถ่ายเดียวแล้วจะจบกิจนั้น ไม่ใช่
!  จะต้องค้นคว้าอะไรอีกมากมาย แม้พระพุทธองค์ทรงแสวงหาทางดับทุกข์อยู่ ทำอย่างไรจะให้จิตสงบระงับลง การไปศึกษากับท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส เป็นการปฏิบัติเอาจิตสู่ความนิ่ง เพื่อที่จะให้ตัดความปรุงแต่งได้ แต่ก็ตัดความปรุงแต่งไม่ได้ ถึงแม้ว่าจิตจะนิ่ง อย่างเช่นว่าเราเอาจิตที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวให้มากที่สุด  ถ้าทำมากๆ จิตจะนิ่งได้ แต่เวลาจิตคลายตัวออกมาจากสมาธิก็ไปคิดอีกแล้ว แม้ว่าจิตจะเป็นสมาธิมากมายก่ายกอง แต่จิตก็ยังมีความปรุงแต่งอยู่หนีความปรุงแต่งไม่ได้เลย การแสวงหาทางดับทุกข์อย่างเช่นฤาษีชีไพร เพ่งจิตให้อยู่ในอารมณ์อันเดียวมากที่สุดให้จิตสงบอย่างเดียว  แต่ปรากฏว่าจิตสงบได้เฉพาะช่วงเวลาที่สงบ แต่เวลาจิตคลายตัวออกมาจิตก็ไปคิดอีกแล้ว  เพราะฉะนั้นความสงบที่ว่านี้เป็นความสงบที่หนีความปรุงแต่งไม่พ้น ทำไมฤาษีสงบอย่างนั้นแล้วจึงตัดความปรุงแต่งไม่ได้  ดับไม่ได้ เพราะว่าหนทางเส้นนี้ไม่ได้ดับกิเลสตรงนั้น

พระพุทธเจ้าทรงศึกษาจากท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส ได้ฌานสมาบัติ๘ คือ รูปฌานและอรูปฌาน พระองค์ทรงเห็นว่าทางเส้นนี้ไม่ใช่ทางดับทุกข์ เป็นเพียงจิตที่สงบระงับเฉยๆ แต่ไม่สามารถดับความปรุงแต่งได้ตลอดไป  เมื่อคลายออกจากสมาธิก็ยังคิดนึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่  ความคิดอันนี้ทำอย่างไรเราจะหนีให้พ้น  ทำให้พ้นได้ด้วยการมาพิจารณาร่างกายเราในอาการ ๓๒  กายสังขารของเรานึกให้เห็น การมองเห็นตัวเองเป็นสิ่งที่กลบเกลื่อนอารมณ์ทั้งหมด  เป็นการเห็นตัวเองแทนตำแหน่งภาพ  ย้ายภาพจากข้างนอกให้มาเป็นภาพตัวเองเสีย ถึงจะถึงความดับทุกข์ได้  จิตออกเที่ยวมากนักเอาจิตนั้นมาเที่ยวในตัวเอง(กายนคร)มามองตัวเองเสีย  มองตัวเองแล้วจิตจะหยุดเลย หากยังไม่เห็นตัวเอง พยายามทำให้เห็นมากๆ จิตจะหยุดท่องเที่ยวได้เอง แล้วจะรู้แจ้งว่า ตนเองเป็นสิ่งไม่เที่ยง จะเห็นตัวเองทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีว่างแม้แต่วินาทีหนึ่งที่จะไม่เห็น      
       เมื่อเห็นตัวเองแล้ว เอาเป็นเครื่องอยู่ของจิตตลอดเวลา จะเป็นสมาธิตลอดเวลา  สมาธิเกิดขึ้นเป็นสมาธิที่พ้นจากความปรุงแต่ง  เราเห็นกายของตัวเอง แล้วเราจะมีปัญญารู้แจ้งว่า ร่างกายของเราเป็นของไม่เที่ยง จิตเห็นอยู่ว่ากายไม่เที่ยง  ความรู้เดิมเป็นความรู้ว่าไม่เที่ยง แต่เป็นความรู้ที่ช่วยอะไรไม่ได้ การเห็นกายแล้วรักษาความเห็นเป็นเครื่องอยู่ อยู่กับความเห็นตลอดเวลา มองเห็นกายของตัวเองอยู่ตลอดเวลา เห็นตัวเองเหมือนซากศพอยู่ตลอดเวลา เห็นโดยไม่มีการว่างแม้สักนิดหนึ่ง  เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว สติปัญญาก็จะแทงตลอดว่า  เมื่อไม่เที่ยงแล้ว จิตที่คิดอยู่ข้างนอกก็ไม่สมควรแก่เรา เพราะเมื่อไม่เที่ยงแล้ว ก็ไม่ควรจะเอาอะไร  เมื่อจิตคิดอย่างนี้คือจิตเห็นความถูกต้องของธรรมชาติ เกิดปัญญาเห็นว่าเมื่อตัวของเรา ไม่เที่ยงทุกอย่างก็ไม่เที่ยงทั้งหมด เราก็ไม่สมควรจะคิดอะไรเป็นอารมณ์ในโลกนี้ เพราะว่าคิดไปก็ไม่เที่ยงคิดไปแล้วจะได้อะไร แถมไม่เที่ยงอีกต่างหาก  เมื่อเป็นดังนี้จิตที่เห็นหรือเข้าใจอย่างนี้ ก็จะดับตัวปรุงแต่งนั้นให้สนิทลงไปอีก อบรมจิตอบรมแล้วอบรมเล่า จนจิตถ่ายถอนตัวเองออกจากอารมณ์มากขึ้นๆ กลายเป็นว่าพ้นจากความปรุงแต่งได้ หมายถึงว่าในชีวิตของคนๆ นั้น ความปรุงแต่งไม่มีเลย จิตที่คิดปรุงแต่งก็ถึงคราวอวสานคือดับลงไปๆๆๆ ทีแรกเราดับด้วยการข่มประคองไว้ๆ ผลที่สุดดับได้สนิท  ทางเส้นนี้เลิกกันทีไม่เดินต่อไปแล้ว  เมื่อจิตไม่มีความปรุงแต่งจะอยู่กับอะไร  อยู่กับความว่างนั่นแหละ ไม่ปรุงแต่งอะไร เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะเอา ความที่ไม่มีอะไรจะเอา ความเห็นของตัวเองนั้นเป็นพยาน เป็นพยานว่าตัวเรานี้ไม่มีตัวตนที่แท้จริง  สรรพสิ่งทั้งหลายก็ไม่ใช่ของเราทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่อะไรที่เราจะไปเอา  เพราะจิตมองเห็นตัวอยู่ตลอดเวลา  จิตเป็นพยานแก่จิตเองว่า ตัวของเราเป็นดั่งนี้  เห็นตัวเองเป็นซากศพตลอดเวลามันจะเอาอะไร    
       ฉะนั้น กิเลสที่เกิดจากความปรุงแต่งก็ถึงคราวมอดไหม้ลงไปๆ เมื่อเห็นดังนั้นแล้วจิตที่เกิดจากกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี  ถูกอบรมจนกระทั่งบางลงไปๆๆ จนไม่มีเหลือจะเหลืออะไร เพราะจิตเห็นตัวเอง ไม่มีหญิง  ไม่มีชาย  เป็นเพียงคนๆหนึ่ง จิตถูกอบรมมากเข้าจะเห็นความปฏิกูลในร่างกายของทุกๆ คนมากขึ้นไปๆ  เมื่อจิตไปเห็นย่อมเบื่อหน่าย มีแต่ความปฏิกูลในตัวของตัวเอง เห็นตับ ไต ไส้ พุง เห็นน้ำเลือด น้ำเหลือง เห็นข้างนอกข้างในตลอดเวลา  ทำให้ราคะที่มีอยู่ถูกแทนที่ด้วยอสุภะแล้ว ราคะก็บางลงไปๆ จนกระทั่งไม่เหลือ เพราะความปฏิกูลมากล้นเหลือเกินเห็นทั้งวันทั้งคืน จนไม่มีว่างจากการเห็น ความเห็นอันนี้จะกันไว้อีกที อาศัยความเห็นนั้น ทำให้จิตออกไปไม่ได้ จิตจะมีความเห็นนั้นจนถึงวันตาย  ฉะนั้น จิตที่อยู่กับตัวก็คือเรารบชนะแล้ว  รบกับอารมณ์ชนะแล้ว เราสามารถที่จะย้ายจิตจากการปรุงแต่งข้างนอกมาอยู่ภายในกาย ทางออกนั้นมีอยู่ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่รู้จะออกอย่างไร

ทำยาก ! มองตัวเองอยู่บ่อยๆ อย่าไปตามความคิด แล้วจะบ่นว่า ทำไมไม่หยุดความคิดปรุงแต่งสักที ถ้าเรายังปล่อยจิตตามอารมณ์อยู่ก็เกิดการปรุงแต่งไม่หยุด  เวลาคิดก็เพลินไปกับมัน เราคิดจะหยุด เราต้องเป็นข้าศึกกับอารมณ์ความปรุงแต่ง  ต้องตั้งใจว่าทางเส้นเดิมนั้น เราจะไม่เดินแต่ไม่ใช่ว่าเราจะดับความปรุงแต่งได้ทันทีนั้น ไม่ใช่  จิตจะไปเราก็ดึงไว้  ถ้าเราไม่เห็นตัวเองจิตจะออกข้างนอก ๑๐๐% ไม่มีแม้เปอร์เซ็นต์เดียวจะอยู่กับตัว  ถ้าจะมีก็มีไม่ถึงเสี้ยวเปอร์เซ็นต์ด้วย  เริ่มจากศูนย์ก่อตัวขึ้นทีละน้อยขึ้นไป เหมือนตราชั่งอีกข้างหนึ่งของเต็มอีกข้างว่างเปล่า ก็หนักไปอีกข้างหนึ่ง ทำอย่างไรจะให้อีกข้างน้ำหนักเบาลงไปบ้าง  เอาข้างมากมาใส่อีกข้างทีละน้อย คือ ความเพียรของเรา  การดับความปรุงแต่งจะได้ความสุขล้วนๆอย่างที่เราต้องการ  เป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยอะไร คือ ว่างเปล่าไม่ปรุงแต่งอะไร  ไม่ต้องประคับประคองจิตจนถึงวันตาย  จิตที่อบรมมากแล้วไม่ต้องประคอง   ถ้าต้องประคองจิตไปจนวันตายนั้นไม่ใช่ ! การที่เราประคองคือจิตยังแย่งออกข้างนอกอยู่ อบรมไปๆจิตจะลดกระแสลง  จะเป็นสติอัตโนมัติไม่ต้องประคองแล้ว ไล่ไปก็ไม่ไป ทีแรกจิตอยากจะอยู่แต่ไม่ยอมอยู่ มีแต่จะออกไป มันต่างกัน

ถ้าทางเส้นนี้ไม่มี คนเราก็หาทางออกไม่ได้ ทางเส้นนี้มีอยู่ทุกคนก็ต้องออกทางเส้นนี้ได้  เหมือนทางคนละทางที่เราเดินอยู่ซึ่งจิตไปแต่ข้างนอก แต่ทางนี้ย้อนมาแต่ข้างใน  เราต้องอบรมย้ายฐานของจิตมาอยู่ข้างใน แล้วสมาธิไม่ต้องพูดถึง เมื่อจิตอยู่กับตัวข้างในไม่เป็นสมาธิจะเป็นอะไร  สมาธิที่เกิดทีแรกเป็นสมาธิที่เห็นตัวนิดหน่อย เห็นยังไม่หมด เผลอแผล็บเดียว เดี๋ยวจิตก็ออกไปข้างนอกอีกแล้ว ทำให้เราเรียนรู้ว่า จิตสงบเป็นอย่างนี้  จิตไม่สงบเป็นอย่างนี้  แต่เหมือนกับว่า เราไปหาใครคนหนึ่งแล้วเขาก็เอาขนมให้เราชิม  ขนมมีรสชาติอร่อยมาก เราติดใจ อยากจะทานอีก แต่ต้องทำเอาเอง  เราต้องเตรียมอุปกรณ์มาทำขนมชิ้นนั้นให้มากพอ เท่าที่เราต้องการ  ต้องเสียเวลาอีกมากเหมือนกับการที่เราภาวนาหรือทำให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว  โดยการกำหนดลมหายใจหรือวิธีอื่นๆ ให้จิตสงบ  ให้เราเรียนรู้ความสงบของจิต ให้เราได้รู้รสชาตินิดหนึ่ง แล้วจิตก็คิดปรุงแต่งอีกแล้ว เราก็อยากหนีๆให้จิตสงบ  ความสงบที่เราจะได้มาก็ต้องไปค้นหาสาเหตุก่อน แล้วไปดับตรงเหตุนั้น จึงจะได้ผลตามมาเอง 

       ความจริงกิเลสอยู่ข้างนอกเราส่งจิตไปหาเขาเอง  เพราะเราไม่สามารถบังคับบัญชาจิตให้อยู่กับตัวได้ จิตก็ไหลออกแต่ข้างนอก ออกไปหาเขาอย่างเดียว เหมือนกับของที่อยู่ที่ลาดชันก็จะเลื่อนไหลลงไปยังที่ต่ำกว่า ความจริงกิเลสเขาก็ไม่ได้เข้ามาข้างในเลย แต่จิตเราไปหาเขาเอง  เราพยายามจะหยุดแต่หยุดไม่ได้เลยปล่อยจิตไหลออกข้างนอก ถ้าเราน้อมจิตมาพิจารณาร่างกายแล้ว กิเลสจะเกิดไม่ได้เลย จิตเมื่อเรามองเห็นตัวเรา ความปรุงแต่งทำอะไรไม่ได้เลย  เมื่อปรุงแต่งไม่ได้จิตนั้นย่อมเป็นไทแก่ตัวเอง จิตอยู่ในกำมือเราสามารถบังคับบัญชาจิตได้ เราสั่งไม่ให้ไปก็ไม่ไป  สั่งว่าอย่าปรุงแต่งก็ไม่ปรุงแต่ง  แต่จิตที่อยู่ข้างนอก ห้ามว่าอย่าไปก็ไม่ฟัง อย่าปรุงแต่งก็ยังปรุงแต่ง ให้คิดดีก็ไม่เอา จะคิดไม่ดี จะคิดชั่ว แสดงว่าจิตไม่เชื่อเราเลย  ฉะนั้น จิตที่อยู่ข้างนอกเป็นจิตที่เราฝากชะตากรรมเอาไว้แล้วแต่มันจะพาไป เราจึงไม่สามารถจะเลือกได้ว่าเราตายไปแล้ว เราจะเกิดเป็นอะไร ใครก็รู้ว่านรกไม่ควรไป ไม่อยากจะไป แต่ก็ห้ามจิตไม่ได้ก็เพราะว่าปิดจิตไม่ได้  ห้ามจิตไม่ได้ จงคิดดี มันก็ไม่ยอมคิดดี  เราห้ามมันก็ไม่ฟัง ฉะนั้น เราก็ปิดกั้นไม่ให้ไปนรกไม่ได้  ทำอย่างไรได้จิตมันไปในวัฏสงสารแล้วแต่กรรมจะพัดพาไป แตกต่างจากจิตข้างในที่ไม่มีใครมีอำนาจควบคุมได้ นอกจากตัวเองมีอำนาจสั่งจิตได้ บอกอย่าไปก็ไม่ไป  อย่าปรุงแต่งก็ไม่ปรุงแต่ง  จิตนั้นเป็นของเราแท้ๆ เหมือนเงินที่อยู่ในกระเป๋าของเรา  เรามีสิทธิ์ที่จะซื้ออะไรก็ได้ ไม่ซื้ออะไรก็ได้  “จิตอิสระ” จึงกล่าวว่า พระโสดาบันนั้นปิดทางนรก  ปิดอย่างไร? ปิดการปรุงแต่งอย่างเดียว  ถ้าคนไหนอบรมจิต จนปิดจิตได้สนิท ตราบนั้นก็ปิดนรกได้  ถ้าปิดจิตไม่สนิทก็ปิดทางนรกไม่ได้   ทำยากแต่ต้องทำให้ได้จะให้ใครทำให้ก็ทำไม่ได้นอกจากตัวเอง  “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้” ถ้าทำให้ได้พระพุทธเจ้าทรงทำให้แล้ว ทุกคนทุกข์เหมือนกันหมดเจ้าของต้องทำเอง

จิตอยู่กับตัวเป็นจิตที่เป็นไทไม่ขึ้นในอำนาจใคร ไม่มีอำนาจใดๆเข้ามาก้าวก่ายข้างในได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นเหมือนกับว่าทางนี้มีทุกข์ แต่ทางที่ออกจากทุกข์ก็มีอยู่  เหมือนกับมีทางอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเดินทางเส้นนี้ ไม่มีใครชี้ช่องให้เดินนอกจากพระพุทธเจ้า หัดมองตัวเองบ่อยๆ ไม่น่าจะยากอะไร นอนก็มุ้งเดียวกันขึ้นเหนือลงใต้ก็หิ้วไปด้วย  จะไปมองนอกตัวก็ไปไม่จบ  เราไม่ได้ลืมอะไรไว้ที่บ้านเลยมาที่นี่ก็เอามาหมด ตัวเราเอามาหมดไม่ได้ลืมตับลืมไตไว้ที่บ้านเลย ของใกล้ที่สุดกลายเป็นของไกลที่สุด จิตมันมองเลยไป มัวแต่มองข้างนอกหมด กลายเป็นว่าของที่ใกล้ไม่เคยมองเลย  การที่ไม่เคยมองของใกล้เหมือนเส้นผมบังภูเขา  น่าอัศจรรย์ว่าของเหล่านี้ ปิดหูปิดตามืดมิดหมดไม่รู้อะไรเป็นอะไรในโลกนี้  ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้จะมีอยู่ ดูๆแล้วธรรมชาตินี้โหดร้ายเหมือนกัน   โหดร้ายเหมือนกับว่าเราเอายาเสพติดไปมอมเมาเด็กให้กินกันไปแล้ว แต่เวลาเด็กทะเลาะหรือทำร้ายกันเราก็ไปลงโทษเขา  เหมือนกับที่เราเกิดมาธรรมชาติยัดเยียดให้เรา มีราคะ โทสะ โมหะ  ทั้งที่เราไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไร  เวลาที่เราทำไม่ดีก็มาลงโทษ เอาเราไปลงนรก เพราะทำบาปทำไม่ดี ทั้งๆเราก็อยากจะดีแต่ดีไม่ได้ ธรรมชาติของทุกคนอยากจะดีอยากให้ตัวดี แต่ดีได้ยากเหตุปัจจัยทำให้ยาก เพราะความลุ่มหลง เวลาเราทำไม่ดีไปก็ถูกลงโทษ  โหดร้ายไหม ? เมื่อเหตุเป็นดังนี้ บุคคลผู้มีบุญญาบารมีมากคือพระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าทางออกย่อมมีอยู่ ถ้าโลกนี้แต่สุขเพียงอย่างเดียว พระองค์คงไม่ทรงแสวงหาทางออก  จะออกทำไม? ก็เมื่อมีสุขอยู่แล้ว 

แสดงว่าโลกนี้มีอันตรายมอมเมาเราแล้ว ทำให้เราหลง เมื่อหลงแล้วก็ลงโทษเรา  ทำไม่ดีนำไปลงนรก ทำดีไปขึ้นสวรรค์  เราก็อยากดีไม่รู้จะทำอย่างไร จิตมันจะลงต่ำ จิตไม่ไหลขึ้นสูง มันจะลงต่ำอยู่เรื่อย  เรื่องไม่ดีจิตมันชอบ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?  จิตมันจะเอาแต่ไม่ดี  ทำไมเราไม่ได้เสี้ยมไม่ได้สอนหรือ? สอน ! แต่เรื่องดีมันไม่ค่อยจะเอา จะแหกกรงอันนี้ออกไป มันยากเหลือเกิน ขังเราไว้ให้ไม่ดีอย่างเดียว เหมือนกับมอมเมาเรานั่นแหละ  ทั้งที่คนเราอยากจะเป็นคนดี แต่มันดีได้ยาก ฉะนั้น ต้องแตกหักกันไม่ไปทางเส้นนั้นแล้ว ต้องต่อสู้กับมันถึงจะชนะได้ การชนะไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่การต่อสู้แค่นิดหน่อย ร้องไห้ไม่รู้กี่ยก ต่อสู้อยู่คนเดียว เอาตัวเองสู้ ตายเป็นตาย !  อย่างไรๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว ตายอยู่ในความเพียรยังประเสริฐกว่า เป็นการตายในสนามรบ      จิตนี้ถ้าเราไม่ดำริออก เราจะเลือกว่าปรุงแต่งอย่างดีๆ อารมณ์ดีๆ อันไหนไม่ดีไม่ปรุงแต่งเลือกไม่ได้ นอกจากเราจะทิ้งทั้งสองอย่าง ทั้งดีและไม่ดีออกไปให้หมด  การที่จิตเอาชนะอารมณ์ได้ความปรุงแต่งจะเข้ามายุ่งไม่ได้เลย แสดงว่าธรรมชาติมีทางออกให้อยู่ เหมือนกับที่พระองค์ทรงมองทางไว้ว่า มีขาวก็มีดำ  มีมืดก็มีสว่าง ก็น่าจะมีทางออกได้  แต่ว่าเป็นทางเส้นเล็กๆ แคบแล้วก็ปิดหูปิดตาคน  ถูกการปรุงแต่งปิดบังหมดยิ่งปรุงแต่งมากเท่าไร? เหมือนกับความมืดก็ย่อมมีมากเท่านั้น เหมือนเราต้องการเห็นเงาตัวเองในน้ำ แล้วเอามือหนึ่งไปแกว่งน้ำ แล้วเราจะมองเห็นภาพเงาในน้ำได้อย่างไร?

ถ้าเราวินิจฉัยว่าเรามองเห็นเงาตัวเองในน้ำไม่ได้ก็มือตัวเองไปแกว่งน้ำไว้ ที่มาของการมองไม่เห็นเงาก็คือมือไม่หยุดแกว่งน้ำ  ถ้าเราจะเห็นเงาต้องหยุดแกว่งน้ำ แล้วชักมือออกก่อน เดี๋ยวน้ำก็หยุดกระเพื่อมแล้วนิ่ง ถ้าเราจะเห็นตัวเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เราต้องหยุดจิตไม่ส่งออกข้างนอกก่อน  การมองตัวให้เห็นเงาตัวเอง แล้วเอามือแกว่งน้ำไปด้วย ยิ่งแกว่งก็ยิ่งไม่เห็น จิตที่ส่งไปข้างนอกหรือความปรุงแต่งนำมาซึ่งความมืดมนอนธการ ทางเส้นนี้มีแต่มืดจะรู้แจ้งเห็นจริงไม่ได้ เรียกว่า โลก  ดวงอาทิตย์ ทำให้แจ้งข้างนอกแต่มืดข้างใน     เราต้องดำริออกให้มากๆ จึงจะเปิดให้โลกนี้สว่างไสวขึ้น  แล้วความปรุงแต่งจะดับสนิทที่เหตุคือตัวเรา  ดังหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า “ตัวกูของกู” ตัวกูมีเมื่อไหร่ของกูก็ย่อมตามมา  กลไกธรรมชาตินั้นปิดไว้ไม่ให้เรารู้  เรารู้ได้อย่างเดียวว่าคิดไม่หยุด  ไม่รู้ว่ามาจากไหน?  มาจากอะไรไม่รู้  การไม่รู้นี้ ถ้าเรามองไม่เห็นตัวเราก็ยังไม่รู้อยู่ดี

       การเห็นตัวเราจะเปิดออกมา ปัญญาของตัวเองจะเปิดออกมาได้ว่า  อ๋อ ! ที่แท้จริงตัวเราไม่มี เพราะจิตมองเห็นทุกอณูของร่างกายหมด  เห็นแล้วก็แสดงให้เห็นอยู่อย่างนั้นเป็นพยานว่า ตัวเราที่แท้จริงเป็นเช่นดังซากศพ  ความเห็นนี้จะแสดงให้เห็นอยู่จนวันตายไม่มีวันดับ เป็นพยานไปทุกสิ่งทุกแห่งที่เราไปในโลกนี้ว่า ไม่ควรยึดมั่นอะไรในโลกนี้  ไม่มีอะไรเป็นของเราที่แท้จริงเป็นมายา เป็นของสมมุติที่เราเห็นอยู่นี้ไม่ใช่ตัวของเรา ที่เป็นตัวเราสักส่วนไม่มีเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ย่อมคลายความปรุงแต่งออก ทีแรกกั้นไว้ก่อนไม่ให้จิตออกไปข้างนอกแล้วหยุดจิตไม่ให้ปรุงแต่ง เป็นการเอาสมถะข่มระงับไว้ก่อน แล้วเอาวิปัสสนาเข้าไปแก้ที่ข่มไว้อีกที  เมื่อแก้แล้วถึงจะขาดกัน  แล้วเราจะได้ครองจิตนี้ เป็นศึกแย่งชิงจิตดวงเดียวระหว่างอารมณ์แห่งกิเลสจะดึงกับเราเหมือนการชักคะเย่อ ถ้าเรากัดไม่ปล่อย สู้ไม่ถอยชนะแน่นอกจากเราจะท้อ แล้วเราจะได้อะไร เพราะอารมณ์ที่เป็นกิเลสมันอยู่กับตัวเรา ไม่ใช่หนีจากเรา  ถึงแม้เราจะขี้เกียจหรือขยันมันก็ไม่หนี  แล้วเราจะพิจารณาร่างกายหรือไม่เราก็ต้องตายอยู่แล้ว ต้องแก่ ต้องเจ็บ  ต้องตาย  โลกนี้เป็นไปอย่างนั้นอยู่แล้ว  คนผู้มีปัญญาเป็นคนที่เห็นประโยชน์  จะตายแล้วพิจารณาก่อน ให้เห็นก่อน ก่อนจะทิ้งเอาของที่เป็นสาระอยู่ท่ามกลางของที่ไม่เป็นสาระ ทำให้เห็นก่อนจะทิ้งร่างกายนี้ ทิ้งก็ไม่ว่า ตายก็ไม่ว่า ขอให้เห็นก่อนพยายามทำความพอใจให้เกิดขึ้น ในการทำความเพียรนี้ให้ได้ 
       เราก็ทำของเราอยู่อย่างนั้น เรามองของเรา ใครจะไปรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ นั่งอยู่ไหน นอนอยู่ไหน เราทำความเพียรของเรา ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการนั่งสมาธิภาวนาเพียงอย่างเดียว การทำความเพียรต้องทำทุกอิริยาบถตลอด  ๒๔ ชั่วโมง ไม่ใช่ทำความเพียรใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เพราะช่วงที่เราไม่ทำจิตก็ไหลออกข้างนอกหมด  ตราบใดที่จิตมีเวลาคิดปรุงแต่งอยู่ เราต้องมีเวลาทำความเพียรอยู่ตลอดเวลา สรุปว่า ไม่มีเวลาว่างเลย กลางวันก็ไม่ว่าง กลางคืนก็ไม่ว่าง การทำความเพียรต้องทันกัน ทำไม่หยุด  ทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน  หยุดไม่ได้เพื่อไม่ให้จิตออกข้างนอกเท่าที่จะทำได้ ไม่เช่นนั้นรักษาจิตไว้ไม่ได้ ทำแค่ชั่วโมง สองชั่วโมง  แล้วก็มาทำใหม่ไม่ได้ เพราะกับเหมือนพายเรือทวนน้ำ ต้องทำอยู่ตลอดเวลา  ถ้าปล่อยจะถูกน้ำพัดไป แล้วก็มาบ่นว่า ทำมานานแล้ว ทำไม่ได้ ทำได้ไม่ถึงไหนเลย  ลองทำไม่หยุดทั้งวันทั้งคืนจะเห็นความก้าวหน้าชัดเจน วันนี้อารมณ์เปลี่ยนแล้ว  พรุ่งนี้อารมณ์เปลี่ยนอีกแล้ว  จะค่อยๆ ก้าวหน้าขึ้นไปๆ อารมณ์ในการประพฤติปฏิบัติจะก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงฐานะของตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าเราทำไว้อย่างไร เราก็ย่อมได้ผลอย่างนั้น  เราจะเห็นความก้าวหน้าชัด  การปฏิบัติจะไม่อยู่กับที่  ความก้าวหน้าจะปรากฏอยู่ตลอดเวลา  หลับก็ทำ ตื่นก็ทำ นั่งๆ นอนๆ ทำทุกอิริยาบถถึงจะสู้กันได้  ทำไปแล้วต้องรักษาจิตไว้ด้วย ทำไปแล้วประคองจิตไว้ไม่ให้คิดออกไปข้างนอก ต้องต่อสู้อย่างสุดขีดเลย ว่าทางเส้นนั้นไม่ควรไป

ถ้าหลังจากทำแล้วปล่อย วันใหม่มาทำอีกก็จะไปไม่ถึงไหน  ไม่เพียงพอน้ำขันเดียวไปรดไฟกองใหญ่จะดับได้อย่างไร  ทำเหตุไว้อย่างนั้นผลก็ได้อย่างนั้น ไม่สามารถที่จะเปลื้องตัวเองออกจากทุกข์ได้แท้จริง แล้วการประพฤติปฏิบัติต้องทำมากๆ ทำแล้วทำอีกๆไม่ให้จิตได้ช่องทางที่จะออกไปเพ่นพ่านข้างนอกอย่างเมื่อก่อน  เราจึงได้นั่งเนสัญชิก  การนอนมากทำให้จิตรั่วไหลเยอะ แล้วยังไม่พอดึงอารมณ์ภายในลงไปอีก ทำให้สมาธิเราเสื่อม  เป็นข้อธุดงค์ข้อ ๑๓  ที่ว่าให้นอนน้อยแล้วประพฤติตนอยู่ในอิริยาบถ  ๓ คือ  ยืน  เดินจงกรม  นั่งสมาธิ  ให้จิตตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ความรั่วไหลน้อยลง  การพายเรือทวนน้ำ  ๑๒  ชั่วโมง ภายใน  ๒๔ ชั่วโมง ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน  ต้องทำเกินครึ่งจึงจะรู้สึกว่าดีขึ้นไปเรื่อยๆ  ถ้าพายเรือทวนน้ำ  ๑๕ ชั่วโมงดีขึ้นอีก  ถ้าพายเรือทวนน้ำ  ๒๐ ชั่วโมง เหลืออีก ๔ ชั่วโมง ก็ดีขึ้นมาอีก เผื่อไว้เวลาหลับที่รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง  หลงๆลืมๆ บ้างตามอาการที่เราหลับไป สุดวิสัยเพราะธรรมดาเราต้องมีหลับมีนอนบ้าง แต่ว่าให้นอนน้อย  จิตจะได้รั่วไหลน้อย ต้องทำขนาดนั้น ความเพียรถ้าปล่อยให้รั่วหมดวันยันค่ำไม่ได้ผลเลย การหลับแล้วฝันก็ไม่หยุดปรุงแต่ง

จิตอยู่ภายในมีแต่ความสุข เป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยอันใด เราต่อสู้ก็ได้มาซึ่งความสุข เป็นความสุขที่จิตคลายจากอารมณ์ข้างนอก  ความจริงมีความเห็นอันเดียวกัน เราเห็นข้างนอก เราปรุงแต่งไปในอารมณ์อันใด จะเห็นภาพนั้น  เช่น นึกถึงภาพบ้านก็จะเห็นบ้านขึ้นมา  ภาพบ้านนั้นให้เอาภาพตัวเราแทนเสีย  การเห็นข้างนอกเรียกว่า มโนวิญญาณ การเห็นข้างในเรียกว่า ญาณทัสสนะ ย้ายฐาน ย้ายธรรมชาติอันเดียวกันที่มีอยู่แล้ว แต่ว่าแจ้งข้างนอก นึกเห็นข้างนอกแจ้งชัดเลย  แม้แต่เม็ดสิวเม็ดหนึ่งก็ยังเห็นชัด จิตสร้างภาพชัดมาก ลองหลับตานึกดู แต่พอนึกถึงตัวเองแล้วมืด  ทำไมจึงมืด การแจ้งก็แจ้งจากที่เรานึกเห็นเหมือนกับข้างนอก  แต่เป็นการแจ้งภายในตัวเองข้างนอกก็เลยมืด การเห็นแจ้งตัวเองก็แจ้งทุกคนในโลกนี้ คนก็เหมือนกับสินค้ายี่ห้อเดียวกัน เนื้อหนังก็เหมือนกัน รูปพรรณสัณฐานจะต่างกันบ้างก็เหมือนกัน ไม่ว่าชาติไหน ประเทศไหน ก็เป็นธรรมชาติเดียวกัน มีกิเลสตัวเดียวกัน รู้แจ้งตัวเองก็รู้แจ้งทุกคนในโลกนี้ มาจากที่เดียวกัน คือ ธาตุ    ได้แก่ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ       
       ถ้าไม่แจ้งตัวเองก็คือมืดข้างในแต่แจ้งข้างนอก เพราะข้างนอกเป็นเป้าเคลื่อนที่ แต่ตัวเองเป็นเป้าอยู่กับที่ ทำให้จิตนั้นเป็นจิตที่มั่นคง ดิ้นไม่ได้เพราะเป็นภาพที่อยู่กับตัวเป็นสิ่งตายตัว  การเห็นภาพคนอื่นจะไม่นิ่งอยู่กับที่จะเคลื่อนไหวตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามาดูตัวเราอยู่กับจะจิตมั่นคง นี่คือธรรมชาติ บอกทางให้แล้วทำเอา  อดหลับอดนอนอุตส่าห์มาหาทางออก ของใครของคนนั้นต้องเอาออกเอง ได้ชี้แนะตามที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะให้แล้ว  แต่ระหว่างที่ทำก็ยังสงสัยว่า สำนักโน้นถูกหรือผิดก็สงสัยไปหมด จะถูกจะผิดอย่างไรทำไปก็สงสัย เมื่อเห็นตัวเองภาพนั้นก็ดับเกิดไม่ได้ ภาพนั้นไม่ออกมาในความนึกคิดเลย ความปรุงแต่งไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเห็นตัวเองแทน  ถ้าไม่เห็นตัวเองก็ไม่ได้ เพราะจิตไม่มีที่เกาะก็จะออกไปข้างนอกอีก เรามองตัวเองไม่เห็นจิตหล่นไปๆไม่มีที่เกาะ ฉะนั้น เราต้องสร้างความเห็นนี้ขึ้นให้จิตเกาะตัวเองไว้ให้พ้นจากความปรุงแต่ง เรานึกเห็นร่างกายตัวเองให้นึกจุดใดจุดหนึ่งก่อน อย่างเช่น นึกถึงเล็บเอาจิตไว้ที่เล็บ นึกเห็นเล็บในตำแหน่งไหนให้อยู่ในตำแหน่งนั้น  ไม่ใช่เห็นเล็บลอยๆอยู่นั้น ไม่ได้  ตัวของเราอยู่ตรงไหนให้เอาความรู้สึกอยู่ตรงนั้นเลย  ถ้าหลับตาแล้วเห็นตัวเองอยู่ข้างนอกก็ไม่ใช่ เป็นการส่งจิตออกนอกแล้ว จะเป็นโมหะทันที  มองให้เห็นในกายเรา  เราต้องเอาตัวของเราแทนทั้งหมด

       การที่เรานึกภาพอสุภะความปฏิกูลของตัวเองออก เหมือนกับเราตะเกียกตะกายออกมาจากหลุมแล้ว  มีคนบอกให้เราล้างตัวเองให้สะอาดด้วยน้ำ  แล้วก็ใส่เสื้อผ้าสะอาดพรมด้วยสิ่งที่เป็นของหอม แล้วถึงจะบริสุทธิ์ผุดผ่องได้  แต่ว่ามีคนชี้แนะอย่างนั้นแล้ว แต่การเข้าใจมีอยู่สองจำพวก  จำพวกหนึ่งออกจากหลุมมาแล้ว ล้างตัวแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่แล้ว แต่ว่าเชื้อข้างในย่อมปะทุออกมา ความเหม็นนั้นโชยอยู่ แต่เสื้อผ้านั้นคลุมเอาไว้  อุปมาเหมือนว่า คนที่ทำสมาธิสงบแล้วทำให้มากขึ้นๆๆ แล้วหวังว่าสมาธิจะกลบเกลื่อนกิเลสที่มีอยู่ให้เหือดแห้งไป  อันนี้เขาก็ไม่สามารถที่จะเปลื้องกิเลสออกได้ การจะเอากิเลสออกได้ต้องพิจารณาเห็นตัวเอง ทำสมาธิแล้วดับไม่ได้ บางคนมีสมาธิมากๆ สงบได้ แต่ความสงบของเขาไม่ปราศจากกิเลส  
       จิตเป็นธรรมชาติที่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว นิ่ง
! มีความสุขมาก ไม่ต่างจากความสุขที่เห็นตัวเอง แต่ความสุขของจิตที่นิ่งนั้นเมื่อจิตคลายตัวออกมารับรู้อารมณ์ข้างนอกก็ปรุงแต่งอีกแล้ว ความปรุงแต่งไม่สามารถจะหนีห่างจากจิตเขาได้  พยายามจะหลีกตัวเองออกจากความปรุงแต่ง แล้วไปสงบข้างในมากขึ้น หวังจะหนีความปรุงแต่งให้ไกลที่สุด  อุปมาเหมือน คนที่หลุดออกจากบ่อน้ำครำมาแล้ว เปลี่ยนผ้าเลยเพื่อให้เขาบริสุทธิ์ แต่ว่าตัวเองไม่ได้ล้างตัวทำความสะอาด เพราะการเข้าใจผิดว่าไม่ต้องล้างตัวก็ได้ เสียเวลาใส่เสื้อผ้าเลยเหมือนกับทำสมาธิลบความปรุงแต่ง โดยไม่พิจารณากายเลย แล้วหวังว่าจะชนะกิเลส ทำอย่างไรก็ชนะไม่ได้  ถึงจะสงบมากมายอย่างไร แต่ธรรมชาติของคนเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นเป็นประจำได้ จะต้องคลายสมาธิออกมาแล้ว จิตก็รับรู้ข้างนอก ตาเห็น หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น รั้งไม่อยู่แล้ว จิตจะไปคิดอีกแล้ว  ดับกิเลสไม่ได้สนิทเป็นเพียงการดับชั่วคราว  เหมือนกับบุคคลที่ตกอยู่ในบ่อขึ้นมาเปลี่ยนเสื้อผ้าเลย แต่อีกคนหนึ่งตกอยู่ในบ่อเมื่อออกจากบ่อแล้วยังไม่รีบใส่เสื้อผ้า  เขาจะล้างตัวให้สะอาดก่อน เพราะเขาเห็นว่าถ้าล้างตัวเองให้สะอาดใส่เสื้อผ้าก็ย่อมสะอาด เหมือนกับว่าคนเราทำความเพียร เพื่อเรียนรู้ว่า จิตที่สงบกับจิตไม่สงบต่างกันอย่างไร จะได้แยกแยะออกว่า จิตสงบเป็นอย่างนี้  จิตไม่สงบเป็นอย่างนี้ แต่จิตของเขาก็ยังไม่สงบอยู่ดี จึงค้นหาสาเหตุว่า ความไม่สงบนั้นมาจากไหน?  ก็รู้ว่าความไม่สงบกับความปรุงแต่งมาจากการมองไม่เห็นตัวนั่นเอง การไม่เห็นนั้นทำให้มีความยึดมั่นว่า ตัวของเราเป็นตัวตน  ที่มาของการพิจารณาย่อมเกิดขึ้นตรงนี้  จึงต้องทำสมาธิควบคู่กับการพิจารณา หรือไม่ทำสมาธิเลย เพียงแต่พิจารณาอยู่ถ่ายเดียวก็ได้ 

สมาธินั้นเหมือนกับว่าเป็นที่พักเฉยๆ เป็นสมาธิคนละอันกับสมาธิที่มองเห็นตัวเอง  และเป็นสมาธิที่มองไม่เห็นตัวซึ่งแก้กิเลสไม่ได้ แต่สมาธิที่มองเห็นตัวเองมั่นคงมากประสิทธิภาพสูงมาก เป็นสมาธิที่มาตรฐานมั่นคงมาก และสามารถดับกิเลส หยุดการปรุงแต่งได้หายขาด  แล้วก็มาชำระล้างตัวเองจนถึงที่สุดล้างคราบที่สกปรกนั้นออก แล้วจึงจะใส่เสื้อผ้าใหม่ถึงจะสะอาดบริสุทธิ์ได้  แม้ว่าล้างตัวสะอาดแล้ว น่าจะบริสุทธิ์แล้ว แต่กลิ่นไอยังมีอยู่ เปรียบเหมือนอนุสัยที่นอนเนื่องในขันธสันดาน  ทั้งตัวสะอาดหมดแล้วแต่กลิ่นสาบยังติดอยู่ ตัวไม่มีคราบแต่กลิ่นยังติดอยู่ เขาย่อมรังเกียจกลิ่นที่ฝังลึกในเนื้อหนังที่แน่นหนา ที่มองความสกปรกไม่เห็นแล้วแม้แต่นิดเดียว เหมือนบุคคลที่อบรมจิตจนจิตนั้นตัดจากอารมณ์ภายนอกทั้งหมดแล้ว แต่ข้างในยังมีอยู่ เป็นอนุสัยนั้นคือความทุกข์  ฉะนั้น เขาต้องกำจัดทุกข์ข้างใน นั่นหมายถึง อริยบุคคลที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

เราพยายามดับความปรุงแต่งให้หมดไป  มองตัวเองมีแต่มืดอย่างเดียวไม่น่าเชื่อว่ามืดได้อย่างไร มองเห็นกายคนอื่นแจ้งหมด  ไม่น่าเชื่อว่าจิตที่ไม่เคยเห็นตัวเอง เพราะจิตไม่เคยได้รับการอบรมมาก่อนของใกล้ๆ แท้ๆ แต่มองไม่เห็น  พยายามทำไปของใครก็ของมัน ตัวเองสร้างเหตุไว้แล้วต้องแก้ด้วยตัวเอง ไม่น่าเชื่อว่าจิตจะมีความลับมากมาย การรู้เห็นตัวเองเหมือนกับรู้เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง  รู้เห็นความเกิด ความแก่  ความเจ็บ ความตาย  ว่าเป็นทุกข์  รู้อายตนะธาตุขันธ์ต่างๆ ตามความเป็นจริง  รู้เห็นว่าอะไรคือตัวกำเนิดตัวทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และข้อปฏิบัติที่ออกจากทุกข์ได้  เราจะออกจากทุกข์ได้อย่างไร เราจะรู้ เราจะเข้าใจ      
       ถ้าเราไม่เห็นตัวเองไปเห็นอย่างอื่นก็รู้แจ้งไม่ได้  เมื่อมองไม่เห็นก็พยายามมองมากๆ ถ้ามองไม่เห็นจริงๆ เอามือคลำดูหรือลืมตาดู  หลวงพ่อสนองเคยเทศน์มองเล็บอย่างเดียว ๓ เดือนยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเลย ทนทานต่อการมองของเรามาก  การมองเห็นไม่ใช่ง่ายๆ แต่ว่าธรรมชาติรู้เห็นนั้นมีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มี ตรงนั้นมีอยู่เหมือนกับว่า เราเอาอะไรไปฝังดินไว้เอาดินกลบไว้มากๆ เราไปขุดดู ขุดน้อยๆหาไม่พบแน่ ต้องขุดมากๆเพราะว่า ความหนาแน่นมันมากเหลือเกิน  แต่ไม่เป็นไรไปที่ไหนก็พิจารณาไปเรื่อยๆ หอบหิ้วไปด้วย จิตนี้เราจะเดินตามทางสายเก่าทางเดิมไม่ได้แล้ว  ถ้าเราเดินตามเส้นทางนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับที่เราเคยเดินทางเดิม เดินทางเส้นเก่าแล้วเราจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร แล้วก็มาบ่นว่า จิตไม่หยุด  ปรุงแต่งอดไม่ได้ มีทั้งสุข ทั้งทุกข์อยู่ในนั้น สรุปแล้วคือทุกข์
  หยุดการปรุงแต่งแล้วเอาจิตมาไว้กับตัวเอง  อบรมจิตมากขึ้นๆ จากที่ไม่เห็น สักวันก็ต้องเห็นขึ้นมา  บางคนมองกิเลสไม่ออกเลย  ไฟไหม้ยังไม่รู้จักไฟอีก  คนยิ่งสงบยิ่งปรุงแต่งก็ยิ่งทุกข์มาก ยิ่งเราเห็นความสงบมากเท่าไร เราก็จะเห็นความเป็นจริงที่ตรงกันข้ามกับความสงบเป็นทุกข์มากเท่านั้น ความไม่สงบเป็นมลทินของความสงบ  ความที่เป็นมลทินย่อมเห็นโทษ  ทำให้ดำริออกและแสวงหาทางออก ถ้าเราจะปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืนตายแน่ๆ 

จิตคนเราอบรมอยู่กับตัวได้ อกุศลธรรมทั้งหลายเข้าถึงไม่ได้ อารมณ์ที่จิตคิดไม่ดีนั้นจะหายไปหมด มีแต่คิดดีถ่ายเดียวคิดไม่ดีไม่มีเลย  ถ้าเห็นตัวเองมีแต่ดีล้วนๆมันต่างกัน จิตที่ออกข้างนอกผลัดกันรุกผลัดกันรับกับจิตที่ฝังแน่นข้างใน มันเป็นเพื่อนกันเอาดีไว้ไม่ได้อย่าเอา ไม่ได้เลย เช่น นาย ข.  คบนาย ก.  ก็ต้องคบนาย ค.  ด้วย เพราะนาย  ก.  นาย  ค.  เป็นเพื่อนกัน  ก็เลยหนีสองคนไม่ได้ เพราะเขาเป็นเพื่อนกันมาก่อน  ถ้าเราจะไปแยกคิดดีอย่างเดียว ส่วนคนที่คิดไม่ดีไม่คบนั้นไม่ได้  ถ้าเราจะหนีต้องทิ้งทั้งสองคนไม่เอาเลย การพิจารณาร่างกายก็เพื่อให้จิตมีที่เกาะ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะหล่นลงเหมือนให้เราไปเกาะฝาผนังซึ่งไม่มีที่เกาะ เพราะว่าเรายังไม่ได้บำเพ็ญขึ้นมา จิตหล่นลงไปหาการปรุงแต่งอีก เกาะก็เกาะไม่อยู่ ตรงนี้เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้มีขึ้น เพื่อเราจะรั้งจิตตัวเองอยู่ จิตที่ยังไม่มีเครื่องอยู่ หล่นลงสู่การปรุงแต่งคือบ่อน้ำครำ ถ้าจะให้พ้นจากบ่อต้องต่อสู้มาก ต่อสู้จนร้องไห้ไม่รู้กี่เที่ยว หัวชนฝาก็แล้วกัน ไม่ใช่ธรรมดา  กัดฟันสู้ดีกว่าอยู่เป็นทาสเขาต่อไป สู้ตายในสนามรบดีกว่าตายอยู่ในอิทธิพลของ เขา  ปิดนรก คือ ปิดการปรุงแต่ง ถ้าเราหนีการปรุงแต่งไม่ได้ ก็ปิดไม่ได้

จิตปิดส่งนอกได้ไม่ใช่ธรรมดา ต้องทุ่มเทมากมายกว่าจะได้อย่างนั้น  ต้องต่อสู้มากเหมือนเอายาเสพติดไปมอมเมาเด็ก เมื่อเขาประพฤติไม่ดีก็ลงโทษ  ทำอย่างไรจะไม่กินยาเสพติดนั้น จึงจะพ้นอิทธิพลของเขาได้ เป็นไทแก่ตัวเอง  เราจะเห็นว่าธรรมชาตินี้โหดร้ายมาก  แม้จะหนีก็ไม่ให้ช่องทางที่จะหนีได้ เหมือนกับปิดทางไว้แทบจะไม่รู้ทางเลย  ขังเราไว้ตรงนั้นกัดกันไป ทะเลาะกันไป  จะหนีออกก็ปิดหนทางหมดไม่ให้ออก  รู้ได้เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสวงหาทางออกได้  แม้แต่พระพุทธเจ้าทรงออกจากทุกข์ได้แล้ว  พระอรหันต์ทั้งหลายกว่าจะพ้นทุกข์ได้ก็ทรมานยากเย็นแสนเข็ญ  โหดร้ายอย่างไรก็ต้องหนี คนเราถึงเราจะไม่ดีอย่างไร ก็ไม่ใช่ปรารถนาจะไม่ดีตลอด  ก็อยากจะดีนั่นแหละ เพราะเชื้อข้างในปะทุให้เราทำไม่ดีอยู่เรื่อย  จะให้ดีมันก็ยังฝืนอยู่ อำนาจใฝ่ต่ำมันดึง มันลงต่ำ 

ฉะนั้น เพศพรหมจรรย์ จึงได้อุบัติขึ้นในโลก ก็เพราะเป็นสิ่งทำได้ยาก  โลกนี้สิ่งเที่ยงแท้ที่เป็นสาระอยู่หามีไม่  เมื่อไม่มีเราย่อมแสวงหาทางออก คนที่จะรู้ต้องมีบารมีมาก รู้ว่าโลกนี้ไม่เที่ยง  แล้วก็แสวงหาทางออกก็ออกไม่ได้ เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะหาทางออกได้  ต้องอาศัยพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  พระธรรมคือคำสั่งสอนการแสวงหาทางออก พระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติตาม  ไม่เช่นนั้นออกไม่ได้  บุคคลที่มีพระคุณแก่เรา คือพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  เราตาบอดถูกเยียวยารักษาให้หายได้ โดยที่ผู้รักษาเมตตาอนุเคราะห์ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอันใดเลย ความรู้นี้พระองค์ทรงแสดงไว้ให้ปรากฏในโลกนี้เป็นทางออก  คำสอนคือพระธรรม  ทรงได้มาอย่างยากลำบากแสนเข็ญ  ถ้าเราทำไปได้ผลหรือหาทางออกจากทุกข์ได้  จะรู้ถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ได้ทรงแสวงหาความรู้นี้มาบอกมาสอนเรา เราก็ได้เสวยผลที่ปรากฏในจิตใจมากมาย เกิดความสำนึกในบุญคุณมากศรัทธาไม่หวั่นไหวต่อพระรัตนตรัย  เป็นผู้มั่นคงเที่ยงแท้หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  ถ้าผลไม่เกิดขึ้นก็ไม่เห็นความอัศจรรย์ในการที่จะดับทุกข์  ถ้าดับทุกข์ได้ผลขึ้นมาก็รู้ในความอัศจรรย์ว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ในโลกนี้จริง  พระธรรมมีอยู่  ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่อยากจะเชื่อ กิเลสพาให้เราสับสนจนทำให้สงสัย  ถึงแม้เราจะศรัทธาอยู่เลื่อมใสอยู่ แต่ว่าความเลื่อมใสยังไม่ถึงที่สุดแท้ของการเลื่อมใส  เพราะเชื้อปะทุข้างใน ทำให้เราวกวนสับสนคลางแคลง ฉะนั้น บุคคลที่พระพุทธองค์ทรงยอมรับว่าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เป็นสาวกของพระองค์ คือ พระอริยบุคคลเบื้องต้น คือพระโสดาบันขึ้นไป

พระอริยบุคคลเบื้องต้น เป้าหมายแรกที่ถูกทำลาย คือสักกายทิฎฐิ จึงจะทำลายวิจิกิจฉาได้ คือ การเห็นตัวไม่ใช่ตัวตนนั้นเอง  เห็นว่าตัวไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่มีเราในที่นี้และไม่ใช่ของเรา เห็นสกนธ์กายของตัวเองชัดเจน  อินทรีย์แก่กล้าแล้วถึงจะข้ามพ้นไปได้  หมดความสงสัยในข้อวัตรว่าสำนักนั้นผิดหรือถูก  เป็นการลูบคลำข้อวัตร ที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาส มั่นใจในปฏิปทาว่า ทางนี้เป็นทางที่นำตนให้พ้นออกจากทุกข์ได้แน่นอน ตรงนี้เหมือนกับเว่ารามีปืนกระบอกหนึ่งเล็งเป้าไปที่นก  นก คือ สักกายทิฏฐิ  การพิจารณาให้เห็นตัวเองจะทำลายสักกายทิฏฐิได้ การที่มองไม่เห็นตัวเองก็ไม่สามารถจะทำลายสักกายทิฏฐิได้  การถือข้อวัตรผิดๆ ถูกๆ ก็ตามมา การเปลื้องตัวเองออกจากทุกข์ทำให้จิตเป็นอิสระ จิตไม่คิดปรุงแต่งเป็นความสุขที่สุด

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ จงเป็นพลวัตรปัจจัยให้กุศลผลบุญเป็นเสบียง นำไปสู่ที่สุดแห่งการพ้นทุกข์ ทุกท่าน ทุกคน เทอญ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น