วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อุบายธรรมนำพ้นทุกข์ พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



อุบายธรรมนำพ้นทุกข์
พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

*********


การประพฤติปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์นี้ เราต้องศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน เรามีความทุกข์เพราะมีกิเลส กิเลสก็คืออารมณ์ การดับอารมณ์นี้เราต้องรู้อริยสัจ ๔ คือ รู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ รู้นิโรธ รู้ปฏิปทาหรือแนวทางการปฏิบัติไปสู่การดับทุกข์ และอารมณ์ต้องตัดให้ขาด ถ้าตัดไม่ขาดมันจะโผล่มายิบๆ ยับๆ น่ารำคาญ มรรคมีองค์ ๘ ที่เราได้ศึกษาและอ่านมาก็รู้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ทำไมเรายังมีอารมณ์เหมือนเดิม เพราะเรายังไม่ได้เดินทาง หรือเดินทางไปยังไม่ถึง จึงไม่อาจรู้แจ้งเห็นแจ้งได้ ต้องมาวิเคราะห์ว่า จิตปรุงแต่ง(สังขาร)มีอะไรเป็นมูลเหตุ ทางที่เราเดินอยู่เป็นทางที่เราเดินมานานแล้ว ไม่มีอะไรดีเลยมีแต่การคิดปรุงแต่ง และเป็นการปรุงแต่งที่มีโทษ เมื่อเห็นโทษของการปรุงแต่งก็ดำริออก เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริออกจากกาม ดำริออกจากความพยาบาท ดำริออกจากการเบียดเบียน

กิเลส ๓ ตัว คือ ราคะ โทสะ โมหะ เกิดจากการคิดปรุงแต่งทั้งหมด เป็นการปรุงแต่งที่มีโทษ มีพิษ มีภัย ความสุขที่ได้จากกิเลสก็เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย แต่มีความทุกข์ตามมามากกว่า และเป็นความสุขที่ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ส่วนความสุขที่ไม่มีโทษ ไม่มีภัย คือความสุขจากจิตสงบจากการทำสมาธิ ซึ่งเป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยอะไรเลย แต่ก็สงบยาก งอกงามขึ้นยาก ถ้าพยายามทำบ่อยๆก็จะได้ความสุขที่เราต้องการนี้ขึ้นมา เพื่อนำมาลบล้างความสุขจากกามออกเสีย การอบรมจิตเราต้องรู้พฤติกรรมของกิเลส เกิดขึ้นโดยใจเราเป็นผู้แสวงหา ดิ้นรน กวัดแกว่ง เรานึกถึงภาพหรืออารมณ์ข้างนอกที่ชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ  

ก่อนอื่นเราต้องเห็นโทษของกิเลสก่อน คือความปรุงแต่งทั้งหมด มีรัก มีชัง มีเฉยๆ มีเวทนาสุข ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ๓ อย่างนี้ ชื่อว่า ราคะ โทสะ โมหะ ราคะคือความยินดีทั้งหมด คือยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และเพศตรงข้าม พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษ เห็นคุณหรือประโยชน์ของกาม และหาทางออก หาทางทำลาย โทษของกามคืออะไร คุณหรือประโยชน์ของกามคืออะไร ต้องศึกษาค้นคว้าก่อน  ถ้าดีก็ไม่จำเป็นต้องแก้อะไร ถ้าไม่ดี ไม่ดีอย่างไร จะแก้อย่างไร?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดเมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูก ราคานุสัย คือ กิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ ราคะ ได้แก่ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ ครอบงำ เมื่อราคะเกิดขึ้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นบ้าง พูดง่ายๆ คือความยินดีในหญิงในชายนั่นเอง ก็หมายถึงกามคุณทั้ง ๕ นั่นเอง

ผู้ใดเมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูก ปฎิฆานุสัย คือ กิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ ปฏิฆะ ได้แก่ ความโกรธ ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ครอบงำ

        ผู้ใดเมื่อมีอทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น ย่อมถูก อวิชชานุสัย คือ กิเลสนอนเนื่องในสันดาน คือ อวิชชา ได้แก่ ความหลง ความไม่รู้อริยสัจธรรม ๔ ครอบงำ

อารมณ์ของเรานี้มันสั่งสมไว้มากและสั่งสมมานาน มันพัวพันกันยุ่งเหยิงเหมือนเส้นด้ายพันกันเป็นปมเป็นกลุ่มเป็นก้อน  ยากที่จะสะสางคลี่คลายให้มันแยกออกจากกันได้ การปฏิบัติธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่จะคลี่คลายอารมณ์ออกจากจิตใจได้ เราจำเป็นต้องหาเงื่อนต้นของมันให้เจอก่อน เพื่อจะได้เริ่มต้นแก้เงื่อนนั้นปมนั้น ทีละเงื่อน ทีละปม ให้คลี่คลายออกจากกัน คือการสาวไปหาเหตุ หรือเงื่อนต้นตอของมันนั่นเอง เงื่อนต้นของปัญหาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ก็คือ อวิชชา ความไม่รู้หรือความหลง แล้วก็สาวไปว่า

อะไรหนอ? เป็นอาหารของอวิชชา อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕ (กามฉันทะ คือความพอใจในกามคุณ ๕, พยาบาท คือ การปองร้าย, ถิ่นมิทธะ คือ ความง่วง ความเบื่อ เซง ซึมเซา, อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่าน และวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ)  

อะไรหนอ? เป็นอาหารของนิวรณ์ ๕  อาหารของนิวรณ์ ๕ คือ ทุจริต ๓ (การกระทำชั่วทางกาย วาจา ใจ คือ กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓) 

อะไรหนอ? เป็นอาหารของทุจริต ๓  อาหารของทุจริต ๓ คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)  

        อะไรหนอ? เป็นอาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์  อาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ (ความระลึกได้, ความรู้ตัวทั่วพร้อม)  

        อะไรหนอ? เป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ อาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ คือ การมนสิการโดยไม่แยบคาย (การกําหนดไว้ในใจโดยแยบคาย) 

        อะไรหนอ? เป็นอาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย อาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย คือ ความไม่มีศรัทธา(ความเชื่อ) 

        อะไรหนอ? เป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา  อาหารของความไม่มีศรัทธา คือ การไม่ฟังสัทธรรม (ธรรมของสัตบุรุษ คือ พระพุทธพจน์ ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) 

อะไรหนอ? เป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม อาหารของการไม่ฟังสัทธรรม คือ การไม่คบสัตบุรุษ (อริยบุคคล, ผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ)



ดังนั้น การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์  การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีศรัทธาบริบูรณ์ ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การมนสิการโดยไม่แยบคายบริบูรณ์ การมนสิการโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์ ความไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ทุจริต ๓ บริบูรณ์ ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ย่อมทำให้นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์  นิวรณ์ ๕  ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้อวิชชาบริบูรณ์ อวิชชามีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

อะไรหนอ? เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ  อาหารของวิชชาและวิมุตติ คือ โพชฌงค์ ๗

อะไรหนอ? เป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗  อาหารของโพชฌงค์ ๗ คือ สติปัฏฐาน ๔

อะไรหนอ? เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔  อาหารของสติปัฏฐาน ๔ คือ สุจริต ๓

อะไรหนอ? เป็นอาหารของสุจริต ๓  อาหารของสุจริต ๓ คือ ความสำรวมอินทรีย์

อะไรหนอ? เป็นอาหารของความสำรวมอินทรีย์  อาหารของความสำรวมอินทรีย์ คือ สติสัมปชัญญะ

อะไรหนอ? เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ  อาหารของสติสัมปชัญญะ คือ การมนสิการโดยแยบคาย

อะไรหนอ? เป็นอาหารของการมนสิการโดยแยบคาย  อาหารของการมนสิการโดยแยบคาย คือ ศรัทธา

อะไรหนอ? เป็นอาหารของศรัทธา  อาหารของศรัทธา คือ การฟังสัทธรรม

อะไรหนอ? เป็นอาหารของการฟังสัทธรรม  อาหารของการฟังสัทธรรม คือ การคบสัตบุรุษ



ดังนั้น การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์  การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์ การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์  สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์ ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สุจริต ๓ บริบูรณ์  สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์  สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์  โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์  วิชชาและวิมุตติมีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ชีวิตของเราเปรียบเหมือนเรือลำน้อยล่องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทร หาฝั่งไม่เจอ(นิพพาน) ถูกกระแสลมพายุแรงกล้าพัดกระหน่ำและคลื่นใหญ่ซัดไปซัดมา พร้อมที่จะจมลงสู่ท้องมหาสมุทรตลอดเวลา เราต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้า และเกาะร่างกายอันเป็นซากผีดิบนี้เข้าหาฝั่ง ขึ้นฝั่งให้ได้ ไม่ให้จิตหลุดออกไปจากร่างกาย หรือจมอยู่ในกระแสโลกหรืออารมณ์(กิเลส)อีกต่อไป ไม่ใช่เกิดมาแล้วรอวันตาย เมื่อตายแล้วให้เขานำไปเผาทิ้งไป โดยไม่ได้ใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์อะไรแก่ตนเอง

กรรมฐาน ๕ คือสติปัฏฐาน ๔ หรือกายคตาสติ และโพชฌงค์ ๗ นี้ จะเป็นเส้นทางนำเราให้เห็นแจ้งในร่างกายหรือขันธ์ ๕ จนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารร่างกายนี้ จนสามารถดับอารมณ์หรือการคิดปรุงแต่ง(สังขาร)ได้ เกิดวิชชาและวิมุตติ ยุติการท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดได้ในที่สุด

การประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุด คือ การชนะใจตนเอง ความรู้จากการประพฤติปฏิบัตินั้นมี ๒ แบบ แบบแรก ความรู้ที่มีผลปรากฏออกมาชัดเจนคือดับกิเลสได้ แบบที่สอง ความรู้แบบรู้แล้ว รู้มาก แต่ไม่มีผลปรากฏว่าดับกิเลสได้ จึงไม่สำเร็จประโยชน์ใดๆ จึงสู้การประพฤติปฏิบัติที่ดับกิเลสไม่ได้

การประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มากๆแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของจิตที่ไม่ใช่ระบบทางโลก และจิตจะไม่กลับไปสู่ภาวะนั้นอีก  หากทำสำเร็จได้จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การอบรมจิตนั้นยากมากจริงๆ ต้องมีความอุตสาหะวิริยะและใช้ความอดทนสูงมาก เพราะแรกๆจิตจะต่อต้านมาก นักปฏิบัติต้องอดนอน เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า แต่ก็มีความสุขตามฐานะ ในขณะที่รู้สึกว่าสถานการณ์ตึงเครียดไปหมด แต่ต้องสู้กับกิเลสทนทุกอย่างจนเกิดรู้ขึ้นได้  พระพุทธองค์ทรงทดลองฝึกด้วยวิธีต่างๆมาแล้ว  และทรงตรัสไว้ว่า “สิ่งที่ไม่ควรทำ ๒ อย่าง คือการจมอยู่ด้วยกามคุณทั้ง ๕ อีกอย่างหนึ่ง คือการทรมานร่างกาย เพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งการหลุดพ้น” ในที่สุดพระองค์ทรงเปลี่ยนจากการทรมานร่างกายมาเป็นการอบรมจิต โดยการคิดพิจารณาอยู่ภายในตัวเรา มีขอบเขตภายในร่างกายของเรานี้เท่านั้น  ไม่เช่นนั้นจิตจะออกไปหาอารมณ์ข้างนอก ที่มีขอบเขตอันกว้างใหญ่เกินไป จนไม่สามารถควบคุมได้  

เพราะเราปล่อยจิตของเราออกไปหาเขาเอง แล้วมาบ่นว่าทุกข์ เอาจิตมาอยู่ในกายของเราเปรียบเสมือนบ้านที่เราอาศัยอยู่  ใจของเรามีกิเลสเป็นกามคุณรออยู่ข้างนอก หากส่งจิตคิดออกข้างนอกก็ตกหลุมแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพราะกามคุณมีความเป็นอยู่อย่างนั้นเอง เราต้องห้ามจิตไม่ให้ไปหาอารมณ์แห่งกามคุณที่รออยู่ข้างนอก ที่เรามองเห็นตัวเองไม่ได้เพราะจิตไม่ยอมอยู่บ้าน สำรวจภายในบ้านของตัวเอง ท่องเที่ยวภายในกายนครให้รู้แจ้งภายในถือว่าเป็นการรู้แจ้งโลก จิตของเราต้องอยู่ในขอบเขตนี้เท่านั้น แม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่ให้ออกไปข้างนอก "แม้แต่วินาทีเดียว" เป็นสิ่งที่ตั้งความหวังไว้ให้ได้อย่างนี้ ชนะจิตใจของตนเองได้แน่นอน

เมื่อจิตพิจารณาร่างกายซ้ำซากนานๆเข้า จะเกิดการสำรวจตรวจสอบร่างกายของตนเอง หากคนๆ นี้เอาจริง ทำจริงจังแบบตื้ออยู่เรื่อยไป ในที่สุดความลับที่ปกปิดไว้จะปิดไม่อยู่อีกต่อไป จิตจะค่อยๆ รู้มากขึ้นๆ เผยให้เห็นแสงสว่างขึ้นทีละนิดๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปแบบช้าๆ  แต่มีความมั่นคงแน่นอน สมาธินั้นจะไม่เสื่อมไป การส่งจิตไปข้างนอกมีแต่พบกับปัญหา ทุกข์ไม่จบสิ้น  จึงจำเป็นต้องหาทางออกจากรูปนี้เป็น "โอปนยิโก" คือ เป็นสิ่งที่ต้องน้อมเข้ามาดูภายในตัวเรา  เป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติจะรู้ได้ด้วยตนเอง อบรมให้มากปฏิบัติให้มากทั้งกลางวันกลางคืน การอบรมจิตแบบนี้ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติสมาธิอย่างเดียว แต่เป็นการอบรมจิตทั้งระบบ ในทุกอิริยาบถทั้งยืน เดิน นั่ง นอนฯลฯ แต่กิริยาของจิตอยู่ตำแหน่งเดิมในกายนี้ จะยุติได้" รับรองได้ว่า การปฏิบัติแนวนี้เป็นสมาธิจิตที่สงบมั่นคงหนาแน่นมาก  ถ้าทำสำเร็จไม่มีกำเริบอีกแน่นอน            

ถ้าอยากบังคับจิตให้คิดภายในตัวเราเท่านั้น จัดขอบเขตการคิดให้แคบลง จิตอยากเที่ยวให้เที่ยวไปในกายของเรา  ท่องเที่ยวในกายนคร  การเห็นตัวเองจะชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นไปในรูปนี้จิตจะดิ้นไม่ออก ถึงที่สุดจะเปิดความเห็นทีละนิดๆ  เรารู้ว่าเราเห็นกายของเราได้ หมั่นอบรมให้มาก  เจริญให้มาก จะแจ้งออกมาชัดขึ้นๆ เรื่อยๆ  เป็นไปอย่างช้าๆ  อาศัยความเห็นอันนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต  เครื่องอยู่นี้จะกลายเป็นที่อยู่ใหม่  ธรรมชาติของเครื่องอยู่นั้นตัวเราก็ต้องอยู่เคหะสถาน ที่อยู่อันเก่าคือที่อยู่ของโลกนี้ เมื่อย้ายมาบ้านใหม่คือกายของเราที่เพ่งมองจนกลายเป็นที่อยู่ใหม่ของจิตนั้น เป็นการตีความหมายของอริยสัจ ๔ ได้ถูกต้อง ความรู้แจ้งในอริยสัจถูกต้องมีผล คือ สมาธินั้นจะไม่เสื่อม เพราะมีสติและปัญญา นั่นคือเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้ว         
       
ดวงตาเห็นธรรม เป็นการอุบัติขึ้นใหม่ของรุ่งอรุณ ไปถึงความเจิดจ้าสูงสุด เป็นการสว่างแจ้งที่สุดของดวงตะวันในตอนกลางวัน ไปจนกระทั่งถึงตะวันลับขอบฟ้า ฉันใดก็ฉันนั้น เป็นการจุดประกายให้สาวลึกถึงที่สุดแห่งมรรคผลนิพพาน  แรกเริ่มของแสงอรุณรุ่ง อริยสัจได้ปรากฏแก่เราแล้ว มีความสว่างจ้าที่สุดในตอนกลางวัน ทำให้มองเห็นว่า เมื่อมีแสงสว่างในยามเช้า ก็ย่อมมีแสงสว่างในเวลาสาย  บ่าย เย็น จนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า จะมีแน่นอน ฉายแววให้คาดหวังได้ เมื่อเห็นแสงของรุ่งอรุณ   

เมื่อเห็นกายชัดแสงสว่างจะเกิดขึ้นระดับหนึ่ง จะเป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมถือว่า เป็นแรกเริ่มของแสงยามรุ่งอรุณที่จะทำให้ไปถึงการรู้แจ้งในที่สุด เกิดดวงตาเห็นธรรมรู้แจ้งเบญจขันธ์ เป็นการรู้แจ้งที่สุดของการเห็น โดยแสงสว่างที่เกิดเริ่มแรกเป็นเครื่องปรากฏของการรู้แจ้ง  การปล่อยจิตออกข้างนอก จะทำให้มองไม่เห็น ให้มองเห็นกายในกายของเรา  เราต้องพิสูจน์โดยใช้ความเพียรมหาศาล จะต้องลงเรี่ยวแรงมาก ทำมาก พร้อมทั้งวิเคราะห์ และมีการประเมินผลไปด้วย การไม่ปล่อยจิตออกข้างนอกเป็นการตัดปัญหาที่ต้นน้ำ เป็นการตัดทางลำเลียงไม่ให้ต้นไม้แห่งกิเลสเติบโต  เพราะอารมณ์รออยู่ข้างนอก ถ้าเราไม่ปล่อยจิตออกไป อารมณ์จะทำอะไรได้  ปล่อยโลกไว้อย่างนั้น เพียงแต่เราอย่าปล่อยจิตออกไปเท่านั้นเอง

        เมื่อเห็นตัวเองชัดแล้ว เอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของสติปัญญา สติก็อันนั้น ญาณก็อันนั้น  ทัสสนะก็อันนั้น (ญาณ เป็นการรู้แจ้งชัดในสิ่งที่อบรมให้แจ้ง) ญาณส่งผลถึงความหลุดพ้นเกิดญาณทัสสนะ  ทำให้เกิดวิสุทธิญาณเป็นความหลุดพ้น (วิมุตติ) รู้แจ้งในขันธ์ ๕  ว่าไม่เที่ยง ญาณที่เกิดขึ้นเป็นสภาวะทรงตัวไม่มีการเสื่อม และอยู่ในชีวิตของคนๆนั้นทั้งชีวิต  ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีการดับหายไปจนถึงนิพพาน     
        จิตที่เกิดจากการอบรมตัวขึ้นมาแตกต่างจากการบังคับจิตให้นิ่ง เพราะมีญาณให้รู้แจ้ง นับวันการรู้นั้นจะยิ่งแน่นหนาขึ้น เมื่อเห็นแล้วจะเข้าใจว่ามรรคผลนิพพานมีจริง  โสดาบันจะเข้าใจครรลองของความเป็นไปในตอนเช้าแรกรุ่งอรุณ  เป็นไปตามวงโคจรที่เป็นระบบ มีญาณเป็นมาตรฐานเป็นระบบอัตโนมัติที่ได้อบรมมาแล้ว  อบรมต่อจนถึงแสงแห่งตะวันในยามสาย บ่าย เย็น จนถึงที่สุดของทุกข์ได้สิ้นสุดจบลง 
การเห็นตัวเองเป็นที่มาแห่งการเรียนรู้ระบบของการดับทุกข์ เท่ากับเรารู้แจ้งตัวเอง การหลับตาลงเห็นมืดก็แจ้งตรงมืดนั้นเอง การปฏิบัติอบรมตัวเองให้มาก อบรมจิตในตัวเองอยู่ตลอด ลองมาทำดูแล้วจะรู้แจ้งเองว่า มีอะไรปรากฏออกมา  ทำให้เริ่มรู้เข้าใจระบบตะวันรุ่งอรุณ รู้ไปจนถึงนิพพาน  เข้าใจระบบว่าตรงนี้เป็นที่สุดของทุกข์  รู้ว่าตะวันจะต้องสูงสุดถึงอัสดงคตแน่ๆ เมื่อแสงแห่งรุ่งอรุณปรากฏตาภายในที่มองเห็นตรงนั้นมีอยู่ แต่เรายังไม่เปิดออกมา  "เราต้องอบรมตัวเอง จะรออะไรอยู่ จ้างคนทำแทนก็ไม่ได้ต้องทำด้วยตัวเอง" การจับจุดถูกจะทำให้บรรยากาศไม่อึมครึม ถ้าไม่เช่นนั้น จะทำให้การปฏิบัติซ้ำซาก การเกิดผลไม่ปรากฏ

ตาภายในมองเห็นเมื่อตะวันขึ้นให้เห็นแสงชัดเจน เราก็มองหาทางออก เมื่อแรกเริ่มดวงอาทิตย์อุทัยฉายแววแห่งการเรียนรู้ของการดับทุกข์ได้  อบรมสมาธิในตัวเราให้แก่กล้าดังแสงของดวงตะวัน จะเห็นตัวเองชัดขึ้น  จนเป็นดวงแสงอยู่เหนือศีรษะเป็นดวงกลมๆ แรกๆ จิตจะมีแสงอ่อนๆ สีแดงคล้ายดวงตะวันแรกเริ่มอุทัยอยู่ห่างจากตัวเราประมาณ  ๒ วา แล้วเลื่อนใกล้เข้ามา พิจารณาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ แสงสว่างไสวเหมือนดวงตะวันสว่างจ้าอยู่หน้าผาก ที่สุดดวงแสงนั้นจะครอบตัวเราทั้งหมด จนตัวเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแสงแห่งจิตนั้น  จิตเป็นสิ่งแปลกน่าอัศจรรย์ หากปล่อยออกนอกจะระเหเร่ร่อนไม่มีขอบเขต  แสงแห่งจิตสว่างนิ่งเห็นชัด เป็นสมาธินิ่งอยู่ในตัวเอง ถึงขั้นนี้ยิ้มได้เลย เริ่มมีกำลังใจขยันทำความเพียร ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย  มีความหวังจะทำให้ถึงจุดที่เราต้องการได้แน่  มุ่งมั่นทำให้ถึงที่สุดแห่งความหลุดพ้นอันเยี่ยม  สู้ต่อไปด้วยกำลังใจเต็มเปี่ยมฟันฝ่าอุปสรรคได้  ทำได้ด้วยความเพียร  ความเหน็ดเหนื่อยมีอยู่ แต่ความขยันความเพียรมีมากกว่า  ความเหน็ดเหนื่อยจึงบั่นทอนจิตใจได้น้อย เพราะรู้ว่าทำไปแล้วคุ้ม  เริ่มสาวลึกให้ทะลุทะลวง สมาธิเริ่มปรากฏไปตามทางโคจรนั้นจนสว่าง
        ควบคุมจิตให้คิดอยู่ในขอบเขต
ภายในกาย เราจึงจะชนะกระแสทางโลกได้ แรกเริ่มเหมือนดวงตะวันยามอรุณรุ่ง  จิตเริ่มเป็นสมาธิจะเกิดไปเรื่อยๆ จิตเป็นดวงแสงสว่างขึ้น  การอบรมแนวนี้สมาธิจะไม่เสื่อม มีการอบรมที่ไต่เต้ามาตามลำดับ  เปรียบเสมือนตะวันขึ้นแล้วจะไม่ย้อนกลับไปตกทางทิศตะวันออก  หากความเพียรไม่พอสมาธิจะทรงตัวอยู่อย่างนั้น  แนวโคจรนี้จะต้องให้ดวงตะวันโคจรไปให้ถึงที่สุด ผู้ปฏิบัติจะเห็นความอัศจรรย์เป็นสิ่งที่เร้าใจในการประพฤติปฏิบัติจะไม่ท้อถอย

        การเห็นตัวเองครั้งแรกทำให้ละสักกายทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลสได้ในระดับหนึ่ง พระอริยบุคคลเบื้องต้น(พระโสดาบัน)มีสักกายทิฏฐิเป็นตัวนำแล้ว  วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสจะตามมา  แต่ถ้าไม่เห็นแสงแรกรุ่งอรุณปรากฏ การเห็นสักกายทิฏฐิอันเป็นการรู้แจ้งเบญจขันธ์จะมีได้อย่างไร  การรู้แจ้งยิ่งๆขึ้นไปจะมีได้อย่างไร  แสงแรกเริ่มของอรุณรุ่งมีความรู้เป็นเหตุเป็นปัจจัย  มีความสอดคล้องกันเป็นระบบที่มีความเป็นอัตโนมัติในตัวเอง  การประพฤติปฏิบัติต้องสังเกตการณ์ด้วย  พระพุทธองค์ทรงสอนให้ยึดถือพระธรรมคำสอนเป็นศาสดา  เรามีกำลังใจแม้ว่าจะเกิดไม่ทันสมัยของพระพุทธองค์ก็มีกำลังใจมากมาย มีความอุตสาหะที่จะทำให้ตนเองรู้แจ้งชัด

การที่แสงตะวันแรกเริ่มขึ้นได้แล้ว จะไปสู่ระบบอื่นเป็นไปไม่ได้ น้อมจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์จะหมดปัญหาว่า กายของเราเที่ยงหรือไม่เที่ยง เพราะมีญาณทำให้เกิดรู้แจ้ง ก่อนนี้เราเข้าใจแต่ไม่มีญาณเป็นแต่แค่รู้เฉยๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ใดๆ ไม่มีทางออกในการทำจิตให้รู้แจ้ง แม้เข้าใจว่าตัวเราไม่เที่ยง  การที่แพทย์หรือสัปปะเหร่อมองเห็นกายเน่าเปื่อยผุพังเป็นการเห็นในปฏิกูลอาการ ๓๒ แต่อุบายทางออกที่เป็นญาณไม่มี  ญาณเกิดรู้แจ้งแล้ว ญาณมีผลให้เป็นไปตามระบบ คือการเอาจิตไปเห็น ต้องอบรมจิตให้เห็นขึ้นมา จึงเป็นอุบายทางออก  ความรู้ตรงนี้ คือ ญาณแห่งความรู้แจ้ง จิตที่อบรมไว้จะหยุดไม่ได้ จำเป็นต้องรู้ให้ถึงญาณที่ทำให้รู้แจ้ง  โดยการพิจารณาผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  อันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งที่เราเข้าไม่ถึง เรารู้อยู่แต่จิตไม่เห็น จำเป็นต้องทำให้ญาณในการรับรู้ของจิตรู้แจ้งออกมา การอบรมจิตจึงเป็นอุบายที่ลึกซึ้งมาก ดูเหมือนไม่ใช่ความรู้ที่วิเศษ  แต่แท้จริงแล้ว เป็นที่สุดของความรู้ เป็นจิตที่รู้แจ้งโลก

การรู้แจ้งโลก  เป็นความรู้สูงส่งที่ใครๆ ทำได้ยาก  เป็นความรู้แปลกใหม่ที่รู้ในตัวเราเอง เอาจิตเข้าไปรู้เพราะจิตมีปัญหาที่ตัวจิตเอง  เอาจิตเจ้าปัญหาไปแก้ปัญหาเอง  อบรมจิตให้มากแล้วความเห็นจะเปิดออกมาได้  "อัศจรรย์จริงๆ ยอมรับพระพุทธเจ้า ความรู้ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้นั้นสุดยอด เป็นสิ่งวิเศษเลิศล้ำที่เรานึกไม่ถึง"  เป็นระบบที่เราสัมผัสได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่และอยู่ในวิสัยที่รู้ได้ การอบรมจิตไปเรื่อยๆ จนเห็นตัวเราเองชัดเจนแจ้งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแจ้งทั้งสว่างปรากฏชัดเจนทั้งกลางคืนกลางวัน คนๆ นั้นจะมีสมาธิทั้งกลางวันกลางคืน  จิตเริ่มมีส่วนแบ่ง หนึ่งถูกอบรมอยู่ อีกส่วนหนึ่งอยู่ข้างนอกอยู่กับทางโลก แต่จิตอีกส่วนหนึ่งเข้าไปรู้แจ้งอยู่ภายใน เป็นสภาวะที่คาบเกี่ยวกันกับอีกระบบหนึ่ง จิตส่วนนี้อยู่ภายใน แต่อีกส่วนยังเร่ร่อนอยู่ภายนอก

การอบรมจิตเริ่มแรกมีค่าเท่ากับศูนย์ เมื่อมีผู้แนะนำให้แล้ว เราทำตามหรือรู้ด้วยตนเอง จากการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้อง ก้าวแรกมีแสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีก้าวที่สองตามมา  สะสมเก็บหอมรอบริบจนเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ขึ้นมา เกิดการถ่ายเทจิตไปสู่ข้างในทีละเปอร์เซ็นต์ เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นให้จิตเบี่ยงเบนจากข้างนอกไปสู่ข้างใน  อันเกิดจากศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เกิดขึ้นอย่างมุ่งมั่นขยันอดทน หมั่นเพียรตลอดเวลา ย่อมสัมฤทธิ์ผลได้ ถ้าทำได้  ๒๐% จนเหลือจิตอยู่ข้างนอก ๘๐%  หากเพิ่มขึ้นเป็น ๕๐% จิตได้ผ่านการอบรมครึ่งหนึ่ง แล้วความสว่างไสวจะมีความชัดแจ้งมากขึ้นตามเปอร์เซ็นต์ที่ทำได้ เราเหมือนผู้ได้รับมรดกที่พระพุทธเจ้าทิ้งไว้ให้ ต้องฝึกอบรมจิตด้วยตนเอง มองดูเดียวดายเหมือนพ่อแม่ไม่มี 

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว เราก็อาศัยคำสอนของพระองค์เป็นพระศาสดา มีความมุมานะบากบั่นประพฤติปฏิบัติ  แม้เดียวดายแต่ก็อุ่นใจ  เมื่อเราทำแล้วเห็นผลจะเป็นกำลังใจชโลมใจให้มุมานะมากขึ้น เกิดการพัฒนาตนเองให้เข้าไปรู้ได้  เมื่อก่อนก็เชื่อไปพลางๆก่อน แล้วลองทำดูเป็นการพิสูจน์ด้วยตนเอง  ดังที่พระพุทธองค์ทรงชี้ชวนให้เราประพฤติปฏิบัติจนเกิดการรู้แจ้ง นักปฏิบัติอย่าท้อถอย ต้องพิสูจน์ให้เห็นจริง หากคาไว้ก็ไม่ถึงที่สุดทุกข์  ทะลุทะลวงสู้ เดี๋ยวมีช่องเอง ไม่มีใครไปก็ไปคนเดียว ทำให้เห็นตัวเองขึ้นมา จิตส่วนที่เร่ร่อนเอาสติกั้นไว้อุดไว้ รักษาความเห็นตัวไว้ไม่ให้เสื่อมด้วยการปฏิบัติตาม  สัมมัปปาทาน ๔ อันว่าด้วยความเพียรชอบ เพื่อละอกุศลเก่า ไม่ทำอกุศลใหม่ ทำกุศลใหม่และเพิ่มพูนกุศลเก่า  ความเพียรชอบนี้ อกุศลจะไม่เกิด ส่วนอกุศลที่เกิดแล้วก็บรรเทาลงไป ด้วยมรรคมีองค์ ๘  ความเห็นที่ถูกต้องเป็นระบบ ผลที่ออกมาย่อมถูกต้อง เหมือนเมล็ดพืชที่หว่านลงไป เมล็ดพันธุ์ดีย่อมให้ผลออกมาดี   ความเพียรมีผลอันหวังได้ เป็นครรลองที่ไม่เปลี่ยนแล้ว ตั้งแต่เริ่มเห็นแสงรุ่งอรุณของดวงอาทิตย์ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ต้องเป็นไปตามระบบโคจรดำเนินไปตามทางนั้น การเลิกละกิเลสได้ ๕๐%  จะรักษามาตรฐานการรู้แจ้งไว้ได้ตลอด    
        จิตเป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหล แต่ญาณที่เห็นแจ้งนั้นเป็นเครื่องอยู่ในกาย เป็นสมาธิประเภทหนึ่งที่ตื้นตื่น แต่แน่นหนามีความมั่นคงมาก เป็นมาตรฐานรักษาระดับได้ คงความมาตรฐานได้อย่างไม่น่าเชื่อ  น่าทึ่งว่าพระพุทธองค์ทรงรู้ได้อย่างไร  เดิมเป็นสิ่งที่มีมาตรฐานอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ขุดคุ้ยขึ้นมา  หากไม่รู้กระบวนการของการประพฤติปฏิบัติ ก็ยากที่จะรู้และเข้าใจได้

        จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นมาตรฐานมั่นคง และจิตเป็นธรรมชาติที่เลื่อนไหล เราเอามาคลุกเคล้าเข้ากับร่างกายที่เป็นธรรมชาติอันไม่เลื่อนไหล  เหมือนการบริโภคน้ำหวานดื่มแล้วซึมละลายเข้าในเส้นเลือด เลื่อนไหลในขอบเขตในกายเรา  ไม่เลื่อนไหลเลอะเทอะออกนอกตัวเรา  การดูจิตเห็นแจ้งแล้วในตัวเรา จิตและกายผูกพันเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกระดาษซับน้ำไว้ได้ ทำให้กระบวนการเลื่อนไหลหยุดลงได้อยู่ในสิ่งที่ไม่เลื่อนไหล  ธรรมชาตินี้คนไม่นึกถึง จิตอยู่กับกายติดแนบแน่นมั่นคง บ่งบอกความเป็นมาตรฐานในตัวเอง โดยคำนึงถึงระดับแห่งการรักษาความปล่อยวางได้  กระดาษเป็นเสมือนเนื้อหนังมีส่วนหุ้มจิตไว้  จิตเสมือนน้ำ  จิตบางส่วนซึมซับในตัวเรา อีกหน่อยเราจะซับน้ำให้หมด  การเข้าใจระบบทำให้จิตมีที่อยู่ไม่ต้องประคองมาก การที่จิตอยู่ตรงนี้ทำให้กระแสบังคับจิตเลื่อนไหลอ่อนกำลังลง ฉายแววมีสิทธิ์ลุ้นว่าจะชนะจิตดวงนี้ได้ การประพฤติปฏิบัติซอกแซก จนความรู้ทั้งหมดครอบคลุมจิต  อวิชชาทั้งหลายถูกทำลายลง ความรู้จะผุดขึ้นมาเรื่อยๆ เพียรไปเรื่อยๆ จิตเจิดจ้าสว่างไสว  จิตส่วนสงบก็สงบมาก จิตส่วนเร่ร่อนจะประเมินส่วนที่เหลือได้ กิเลสที่เหลืออยู่จะเห็นผลชัดขึ้น ความจริงสมาธิตรงนี้มีผลทั้งวันทั้งคืน สมาธิปรากฏตลอดเวลาแต่ยังไม่บริบูรณ์ในผล  สักวันต้องถึงที่สุดคือความชนะอันเลิศ ส่วนที่เหลือเป็นกิจที่ต้องทำอยู่ ไม่ได้แสวงหาครูบาอาจารย์  ผิดถูกอย่างไร ไม่กังขาชนะความปรุงแต่งให้ได้ บ่งบอกความแน่ชัดในปฏิปทาที่ตัวเองพิสูจน์ และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของตัวเอง การประพฤติปฏิบัติมีเหตุและผลในตัวเอง สมาธิสูงมากตามความชัดความสว่างไสวที่เพิ่มขึ้น สมาธิมั่นเลี้ยงสภาพอยู่ได้ด้วยสติมีความตื่นตัว ความรู้สึกช่วยให้จิตอยู่กับตัวเรา สติสัมปชัญญะก็ตามมามีความรู้ตัวทั่วพร้อม เห็นแจ้งอัตโนมัติเกิดขึ้น การกระทำซ้ำซาก สมาธิจะมั่นคงแน่นหนามากไม่เลอะเลือนหาย  เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม ทำให้สมาธิที่ได้ตั้งแต่แรกมั่นคงเข้าไปอีก  จิตเป็นจิตที่ปกครองง่าย อ่อนลง กระแสของตัณหาเหลือศูนย์  การคิดไปในอารมณ์ต่างๆที่เป็นความหลงโลก  ไปตามกระแสโลกถูกลิดรอนลง  กระแสน้ำเชี่ยวถูกทัดทานให้ไหลไปสู่น้ำในหนองคลองบึงช้าลง

จิตที่เลื่อนไหลจะหลงโลกไม่รู้แจ้งอริยสัจ  จึงเป็นที่มาของการปรุงแต่งไม่รู้จักจบสิ้น” เมื่ออบรมจิตได้กระแสทางโลกจะลดลง  ความหลงจะหายถูกชำระล้าง อริยสัจ ๔ แจ้ง ผลที่ได้มั่นใจว่าทางนี้ถูกต้อง ความจริงจะเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเอกเทศในความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเอง  มีจุดยืนแน่นอนของตัวเอง เราจึงเข้าใจพระพุทธเจ้า เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อปฏิบัติตามแล้วผลที่เกิดขึ้นเป็นผลอันเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงสอนไว้อย่างผู้รู้จริง  ความศรัทธาในพระรัตนตรัยลึกซึ้ง แน่นแฟ้น ไม่หวั่นไหว  กระแสโลกมีการแก้ไขได้ตามครรลองที่มีอยู่ ผู้ปฏิบัติโดยชอบ พ้นทุกข์โดยชอบ พระอรหันต์ย่อมมีได้เป็นของไม่เกินวิสัย การเข้าไปดูเข้าไปรู้โดยการปฏิบัติ จึงเข้าใจอย่างแน่นแฟ้น กำหนดรู้ชัดเจน ความไม่คิดไม่ปรุงแต่งคือที่สุดในโลกนี้ การดูตัวเราให้เห็น อย่างอื่นไม่นึกถึง จิตคิดข้างนอกปิดไว้ทำให้มืดข้างนอก การไม่คิดทำให้แจ้ง โค่นอำนาจเดิมจัดระบบใหม่

         “การดูตัวเราเสมือนนกอยู่บนฟ้าแต่ไม่เห็นฟ้า ปลาอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ  ไส้เดือนอยู่ในดินแต่ไม่เห็นดิน  จิตอยู่ในตัวเราแต่ไม่เห็นตัวเรา  เป็นจิตหลงโลก”  การเห็นตัวเราข้างในทำให้มืดข้างนอก จิตดีได้ สงบเป็น แต่เราต้องทำไปในทางที่ถูกต้อง เป็นการชำระล้างไปสู่ระบบการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตโอฬารถึง ทำที่สุดทุกข์ได้คือความสงบระงับ

        การฝึกอบรมจิตแบบเห็นกายข้างใน เป็นการเห็นที่ฝังจิตลงในอวัยวะนั้นๆ การเห็นข้างในเมื่อขยายไป ๕๐ % เป็น ๖๐% และเพิ่มขึ้นเป็น ๗๐% มองเห็นข้างนอก ๓๐ % ยิ้มได้มีกำลังใจมากขึ้น เสมือนการทำข้อสอบจากยากไปสู่ง่าย ความยุ่งเหยิงของจิตเพราะกำลังของสมาธิมีน้อย ยังทุกข์อยู่ต้องทำต่อไป เริ่มจากหนึ่งบาทเก็บหอมรอบริบไปให้เพิ่มเป็นร้อยบาทให้ได้ อย่างเช่นสุภาษิตจีนได้กล่าวไว้ว่า ร้อยลี้ต้องมีก้าวแรก การไต่เต้าทุกอย่างต้องอาศัยลำแข้งของตน กาลเวลาที่ทำอยู่เฉพาะตน กาลเวลาที่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติทั้งวันทั้งคืนเป็นงานภายใน  การไม่ให้จิตคิดคือจิตดวงนี้จะต้องไม่คิดข้างนอก ท้ายสุดความรั่วไหลย่อมไม่มีเลย คาดหวังไว้ว่าอนาคตปิดตาย  จิตยุติแน่นอนเป็นเครื่องบ่งบอกให้เข้าใจได้ เป็นระบบที่มีโครงสร้างชัดเจน
        การประพฤติปฏิบัติแบบนักต่อสู้มืออาชีพก็จะได้ผลแบบมืออาชีพ การปฏิบัติแบบเล่นๆ ก็จะได้ผลแบบมือสมัครเล่น การพิจารณาเห็นตัวเองตราบใดการเห็นไม่ถึง ๑๐๐
% หยุดไม่ได้ เพราะมี ๑๐๐% เป็นที่หมายจะให้พ้น เหมือนการสร่างไข้ เมื่อไข้ยังมีอยู่ต้องรักษาให้หาย จึงจะสบายกาย การพิจารณาให้เห็นกายเพิ่มความชัดเจนโดยการทำซ้ำซากไปเรื่อยๆ การแจ้งที่มองเห็นช้าๆ ค่อยๆ ชัดขึ้นๆ แรกๆ เห็นประมาณ  ๑๐%  ธรรมชาติของสมาธิที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ให้ผลแน่นอน สุดยอดแน่นหนา  ทำไปเรื่อยๆๆ จะสว่างขึ้นๆๆ จนถึง ๑๐๐%  สมาธิหนาแน่นที่สุดคือแจ้ง  ตาเนื้อของเราที่ว่าเห็นชัดสู้ความชัดแจ้งนี้ไม่ได้ ค่อยๆเห็นมากขึ้นๆๆ จนทั่วทั้งกาย แม้แต่ขนเส้นเดียวก็ไม่เว้น  จิตเป็นหนึ่งเดียว การคิดนึกไปข้างนอกคิดไม่เป็นแล้ว  การรู้แจ้งตัวเองย่อมรู้ธาตุแท้ในตัวเราว่า สังขารไม่เที่ยง จิตเห็นเองวินิจฉัยเองว่า แท้จริงเป็นของว่างเปล่าจากตัวตน ตัวตนที่แท้จริงไม่มี เป็นของว่างที่หยิบยืมจากโลกนี้ ไม่ใช่ตัวตนของเรา ต้องส่งคืนเมื่อถึงเวลา ความสุขความเพลิดเพลินก็เป็นของว่างเปล่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นของว่างเปล่า จึงเป็นปัจจัยที่จิตจำนนด้วยเหตุผล จิตยอมรับตัวเองว่า หลงโลก 

        เมื่อเห็นว่าตนเองหลงผิด หลงทาง หลงโลกมากมาย  แรกๆจิตดื้อ พยศ ไม่ยอมก็เหนื่อยมาก ทำให้เครียดและเป็นทุกข์ ความสงบของจิตเกิดจากญาณ  ความรู้แจ้งให้คำตอบตลอดเวลา จิตยอมรับว่าผิด มิจฉาทิฏฐิคลายออก  สักกายทิฏฐิเกิดขึ้น จิตเลิกท่องเที่ยวในทางโลกด้วยความหลงโลก เราไม่จำเป็นต้องคุมแล้ว จิตจะควบคุมไว้หรือไม่ควบคุมจิตก็อยู่ ไม่ยอมไป เปลี่ยนความเห็นแล้วสันดานลึกจะถูกขุดแคะออกมา เพราะจำนนด้วยเหตุผล การควบคุมจิตยุติไปไม่ต้องคุมจิตก็ไม่ไป เราก็สบายหลับก็สบาย จิตไม่คิดอะไร ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต  แต่มีปัจจุบันอยู่ภายใน  ทั้งสามกาลจึงไม่มี เพราะปัจจุบันจิตไม่อยู่ข้างนอก  ผู้บรรลุธรรมแล้วผลอันนี้ทำให้เชื่อในพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้ามีจริง "จิตหยุดการท่องเที่ยวในอารมณ์ต่างๆ อันเป็นที่เกิดแห่งภพ" หยุดภพ หยุดชาติ ด้วยการดูจิตเป็นการตัดภพตัดชาติ  จึงพยากรณ์ได้ว่าบุคคลนั้นเกิดเป็นชาติสุดท้าย มาตรฐานอันนี้เป็นหนึ่งเดียวอัตโนมัติ จิตเป็นหนึ่งเดียวนิรันดร ความรู้ว่างเป็นหนึ่งเดียว บันเทิงใจอยู่ รู้ถึงความว่าง จิตว่างเป็นหนึ่งเดียวนิรันดร  ตัณหา ป่ารกชัฏ กระแสน้ำเชี่ยวยุติลง พร้อมกระแสจิตอันเป็นหนึ่งเดียว สว่างไสวทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีเปลี่ยนแปลง สติสัมปชัญญะเป็นมหาสติ เมื่อประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ พ้นทุกข์ได้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น