วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

โลกุตตรสมาธิ เข้าสู่โลกุตตรธรรม .. พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

 โลกุตตรสมาธิ เข้าสู่โลกุตตรธรรม

พระธรรมเทศนา พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ

วัดหลวงขุนวิน  ต.ดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

*********

     การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นของละเอียดอ่อน เราก็ต้องเข้าใจหลายๆอย่าง ตามพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ และเราจึงก็ต้องอาศัยผู้รู้ ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีประสบการณ์ มาชี้แนะอีกทีหนึ่ง

          ชีวิตทั้งหมดของเราที่เกิดมาเหมือนกับถูกจองจำไว้ เพราะมีอะไรบางอย่างควบคุมเอาไว้ มีธรรมชาติที่ควบคุมตัวเราหรือจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของโลกนี้ เมื่อเราเฟ้นหาความเป็นจริงของชีวิตด้านความอิสระแล้ว แทบจะไม่มีความเป็นอิสระเลย  เราเกิดมาไม่อยากให้มีความแก่  ความเจ็บ และความตาย ก็หาได้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่  แม้แต่จิตใจดวงนี้เราก็ไม่สามารถจะควบคุมให้อยู่ในอำนาจของเราได้  แม้เราจะทำสมาธิให้จิตหยุดนิ่งในตัวมันเอง ด้วยหวังให้จิตหยุดพักระหว่างการเดินทางอันยาวนาน  จิตหยุดพักได้ก็ทำไปอย่างทุลักทุเล เพราะดูเหมือนว่าถูกอะไรบางอย่างที่ครอบงำอยู่ ทำให้เจตนาของเราไม่สัมฤทธิ์ผล แล้วเรามีสิทธิตรงไหนของชีวิตนี้ หมายถึงว่าเราถูกจองจำก็ไม่ผิดนัก สิ่งจองจำเรา ก็คือ กิเลสที่มีอยู่ในตัวเราอยู่ในจิตใจของเรา อันได้แก่  ราคะ  โทสะ  โมหะ ซึ่งมีอยู่ในใจของเรามาก่อนแล้ว  เราเกิดมาเราก็ไม่รู้ว่าเรามาจากไหนอย่างไร เพียงแต่รู้ว่า จิตใจของเรามีกิเลส    ตัวนี้อยู่  กิเลสสามตัวนี้ก็บงการชีวิตของเราให้เป็นไปตามอำนาจของเขา ในที่นี้คือ อำนาจของธรรมชาตินั่นเอง  อำนาจกิเลสครอบงำแล้วก็ผลักดันให้เราไปตามวิถีทางเดินของเขา  เราก็จะเดินตามอย่างทาสผู้ซื่อสัตย์ เป็นผู้รับใช้อำนาจเหล่านี้มาโดยตลอด  จนถึงวาระเวลานี้เราก็เป็นทาสรับใช้เขาอยู่ ชีวิตของเราจึงไม่มีอิสระเลย ทำให้เกิดความคิดอยากจะออกจากธรรมชาติเหล่านี้ อยากจะออกจากกิเลส จุดหมายปลายทางของการประพฤติปฏิบัติก็เพื่อการละกิเลสนั่นเอง

           การละกิเลสเป็นที่มาของการต่อสู้กับธรรมชาติที่ครอบงำเราอยู่ ถ้าอาศัยแต่สติปัญญาที่เรามีอยู่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาชีวิตของเราได้  จึงเป็นปมปริศนาซ่อนเงื่อนหรือปิดบังความรู้ของเราที่ไม่สามารถจะแหวกว่ายออกจากอุปสรรคเหล่านี้ ออกจากสิ่งที่ร้อยรัดจิตใจของเราได้  ต้องอาศัยผู้รู้หรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และการฟังธรรมประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้ การที่คนเราเป็นไปตามอำนาจของธรรมชาติเหล่านี้ มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นเราไม่ทราบ เราไม่ต้องรู้ว่ามันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่บัดนี้มีอยู่เราจะแก้อย่างไรตรงนี้ ธรรมชาติเหล่านี้มีแล้วเราเดินตามกระแสที่ชักจูงเราไปตามเส้นทางของกิเลสที่วางไว้ ผู้รู้ผู้มีสติปัญญาเมื่อพิจารณาไปตามสิ่งต่างๆของธรรมชาติแล้ว เห็นโทษในสิ่งเหล่านั้นเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องผูกมัดแล้ว การเดินตามอย่างทาสผู้ซื่อสัตย์นั้นเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน เพราะเราต้องเดินทางอยู่ตลอดตามที่กิเลสเขาวางเอาไว้ คือ เดินทางใจ เดิน ! เดิน ! จนไม่รู้คำตอบว่าจะสิ้นสุด ณ ที่ตรงไหน  จิตเดินทางตลอดไม่เคยหยุด  แม้ว่าร่างกายของเราจะเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เรายังหยุดได้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง แต่ใจหาได้หยุดไม่ และจะเดินต่อไปอีก และตรงไหนจะเป็นที่สิ้นสุดของเขา ตรงนี้จึงเป็นที่มาของความเหน็ดเหนื่อยเป็นทุกข์มาก เพราะไม่มีความเป็นอิสระไม่เป็นไทแก่ตัวเอง จึงเป็นที่มาของการคิดอยากจะทำลายกิเลส

        เราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติจงเข้าใจเถิดว่า กิเลสในที่นี้ก็คืออารมณ์ทั้งหมดของจิต โดยไม่ยกเว้นไม่แยกแยะว่า อารมณ์ใดเป็นกิเลส  อารมณ์ใดไม่เป็นกิเลส  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า บุคคลใดผู้มีจิตไหลไปทางความยินดี กามาสวะหรือมานานุสัยย่อมตามนอนเนื่องในจิตของบุคคลนั้น  บุคคลใดที่จิตเลื่อนไหลไปในทางดีใจและเสียใจ ดีใจก็ไปทางกามานุสัยย่อมตามนอนเนื่องในจิตของบุคคลนั้น ถ้าจิตนั้นเป็นไปในทางยินร้าย ความโกรธหรือปฏิฆานุสัยก็ตามนอนเนื่องในจิตของบุคคลนั้น  ถ้าบุคคลนั้นถูกอารมณ์ดีใจก็ไม่ใช่ เสียใจก็ไม่ใช่ อวิชชานุสัยก็ตามนอนเนื่องในจิตของบุคคลนั้น  ฉะนั้น จิตใจของคนเราในวันหนึ่งๆ คิดดีใจ เสียใจ และกลางๆ  เรียกว่า  “อทุกขมสุข”   เป็นลักษณะของอารมณ์กลางๆ วันหนึ่งๆ อารมณ์ของจิตก็มีอยู่สามอย่างนี้เท่านั้น คือ คิดชอบ  ไม่ชอบ  แล้วก็กลางๆ (เฉยๆ) ทั้งหมดเป็นรูปของอารมณ์ทั้งหมดทำให้จิตแกว่งไกวตลอดเวลา ทำให้จิตไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งอยู่ได้ ถ้าเกิดว่าบุคคลนั้นทำสมาธิขึ้นมาก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนไปตามลำดับๆไป  สมาธิในที่นี้เป็นการทำจิตให้นิ่งลงไป เราได้ปฏิบัติตามครูบาอาจารย์สอน คือ การทำจิตให้นิ่ง      

         สมาธิ คือ อะไร ?  สมาธิในที่นี้ คือ เราจะเอาจิตดวงนี้หยุดพัก เหมือนเราเดินทางอยู่ตลอดเวลา แล้วเราเอาจิตของเราหยุดพักกลางทางนั้น  สมาธิ คือ การเอาจิตตั้งมั่น เป็นการหยุดพักผ่อน เราเคยได้ยินครูบาอาจารย์สอนให้กำหนดรู้ลมหายใจ  ลมหายใจเข้าพุท  ลมหายใจออกโธ  หรือกำหนดรู้ที่ท้อง หรือปลายจมูก หรือกำหนดตัวรู้ โดยอุบายใดอุบายหนึ่ง เพื่อให้จิตหยุดตัวมันเองไม่ให้เคลื่อนไหว ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นจิตได้เดินทางเคลื่อนไหวอยู่ สมาธินี้เป็นการจับจิตดวงนี้ให้หยุดลงให้ตัวจิตดูตัวมันเอง เราจะเอาตัวรู้ดูตัวรู้ให้นิ่งอยู่ แล้วก็ละอารมณ์ทั้งหมดออกเสีย โดยทำจิตให้นิ่งอยู่ อาการอย่างนี้เป็นการทำสมาธิให้จิตตั้งมั่นขึ้น  จากที่จิตแกว่งให้จิตมั่นขึ้น  แรกๆของการฝึกจิตจะทำได้ยาก เพราะจิตดวงนี้ไม่เคยหยุดมาก่อน จิตกว่าจะหยุดได้ก็ยากเย็นแสนเข็ญ เราต้องบังคับให้จิตหยุดลงโดยอุบายต่างๆ ครูบาอาจารย์สอนหลายอุบายเราก็เฟ้นหาว่า จะเอาอุบายไหนดีก็ทดลองทำไปต่างๆ นานา อุบายใดก็แล้วแต่ทำให้จิตสงบเป็นอันว่าใช้ได้  เราบังคับจิตฝึกจิตให้เป็นสมาธิบ่อยๆ  จิตถูกฝึกบ่อยๆ ความชำนิชำนาญก็เกิดขึ้น ทำให้เรายังจิตดวงนี้ให้สงบลงได้บ้าง ทำบ่อยๆ เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปในตัวเอง จิตสงบลงมากหรือน้อยแล้วแต่กำลังของการกระทำ หรือการประคองจิตไว้มากน้อยเท่าไหร่ แล้วแต่ความสามารถ สติปัญญา และความเพียรของแต่ละคน  
         เมื่อจิตสงบลงไปธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เราจะได้สัมผัสคือความสุข จิตทุกคนเมื่อสงบลงแล้วจะมีความสุขในตัวของจิตเอง เราได้ลิ้มรสความสุขในตัวจิต เมื่อก่อนเราจะต้องให้จิตวิ่งไล่หาความสุขข้างนอก คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ต่างๆ คือ กามคุณ ๕ เช่น วันนี้อยากจะไปทานอันนี้  อยากจะไปฟังเสียงเพลงนั้น เป็นความสุขข้างนอกที่เหมือนเหยื่อล่อให้เราวิ่งไล่ตะครุบในสิ่งเหล่านั้น  สิ่งใดที่ไม่ได้ก็เสียใจ  ได้มาแล้วก็ต้องรักษาหวงแหน  สิ่งเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็เสื่อมสลายหายไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เกิดเป็นภาวะโศกเศร้า เสียใจ ร้องไห้ ร่ำไรรำพันต่างๆ นานามากมาย จิตเราต้องสงบก่อนจึงจะเห็น ทีแรกเราจะไม่เข้าใจเพราะเป็นสิ่งเข้าใจยาก รู้ว่าจิตคิดไป ฟุ้งแล้วเครียด รู้ว่าทุกข์แต่จิตยังไม่ละเอียดพอ

          ถ้าเราฝึกจิตให้สงบลงไปจะเห็นความแตกต่างธรรมชาติของระหว่างจิตที่สงบลงไปใหม่ๆ กับธรรมชาติของจิตที่เราเคยมีอยู่แล้วอย่างเดิมๆ คือจิตไม่สงบเราจะคิดไปเป็นอย่างหนึ่ง  แต่พอจิตสงบลงไปแล้ว เราก็เห็นว่า การที่จิตสงบนั้นเป็นความสุขอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตของเรา แล้วความสุขอันนี้ไม่ต้องวิ่งไล่ตะครุบที่ไหน  กลับเป็นความสุขที่จิตนิ่งลงไปในตัวเอง  ความสุขใหม่ที่เกิดจากความสงบจากการทำสมาธิ  เป็นความสุขที่เข้ามาแทรกในชีวิต เราไม่เคยพบมาก่อน เป็นความสุขใหม่ที่ประณีต และนิ่งสงบระงับ เย็นใจ สบายใจ  สบายกายต่างกับความสุขข้างนอกของโลกที่มีอยู่  ทำให้เราได้รับรู้ว่า ความสุขที่โลกที่มีอยู่คือความสุขแบบใด จิตที่ลิ้มรสความสงบคือสุขแบบใด แล้วเราจะเห็นโทษในความสุขของโลกว่าเป็นความสุขที่เหน็ดเหนื่อย เราต้องวิ่งไล่เพราะถูกสิ่งเหล่านี้ชักจูงใจตลอดเวลา เป็นความสุขที่ไม่น่าปรารถนาและเป็นความสุขที่น่ากลัว นำมาซึ่งทุกข์โทษต่างๆ แต่ความสุขใหม่ที่เกิดจากจิตสงบเป็นความสุขที่หาโทษไม่ได้  แล้วเราก็อยากมีความสุขเช่นนี้มากขึ้น เพราะความสุขเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ใฝ่หาอยากได้อยากมี 

          มีคำถามว่า คนเราเกิดมาต่างแสวงหาสิ่งต่างๆในโลกไปเพื่ออะไร? สุดท้ายจริงๆ ก็เพื่อความสุขมิใช่หรือ? ฉะนั้น ความสุขจึงเป็นยอดปรารถนาของทุกคนหรือความต้องการของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แม้คำว่า “นิพพาน” ซึ่งเป็นชื่อความสุขในพระพุทธศาสนา คือความดับกิเลสทั้งปวงเป็นความสุข “นิพพานัง ปรมังสุขขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง  เป็นความสุขชนิดหนึ่งที่เป็นความสุขอย่างยิ่งที่เราปรารถนา แต่จิตดวงนี้เมื่อเราประคับประคองให้นิ่งลงไปเป็นสมาธิก็นิ่งได้ไม่นาน นิ่งได้สักระยะหนึ่งก็ออกจากความสงบนั้นแล้วกลับไปคิดอีก เราบังคับให้จิตสงบเขาก็สงบแบบบังคับมีเวลาแบบจำกัด ทำให้เราเสียดายว่าน่าจะสงบอย่างนี้นานๆ ชีวิตคนเราน่าจะมีความสุขแล้ว แต่จิตก็หยุดได้ชั่วระยะหนึ่งก็ไปคิดอีก หลังจากทำความสงบออกมาแล้ว ทำไม? จิตต้องคิดอีก เพราะว่าธรรมชาติเดิมของจิตต้องคิดอยู่แล้ว  ปรุงแต่งอยู่แล้ว แต่เรามานั่งสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย ตัวตรง หลับตานอก ลืมตาใน ทำใจให้สงบ การสำรวมตัวสำรวมใจถูกการกระทำอันเป็นรูปแบบที่เราจะต้องทำ เพื่อเอื้ออำนวยให้จิตเป็นสมาธิ  แต่การนั่งหรือการบังคับในอิริยาบถนั้น ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่เราจะต้องอยู่ทั้งวันทั้งคืน แต่เป็นอิริยาบถชั่วเวลาหนึ่ง ตรงนี้เราพอทำให้สงบได้บ้าง แต่เวลาที่มีอยู่ต้องยืน เดิน นั่ง นอน ที่จะต้องสัมผัสสัมพันธ์กับโลก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่เขาก็ทำงานของเขาทำให้จิตของเรามีสมาธิไม่ได้ และตรงนี้เป็นพื้นเพของชีวิตคนเราที่เกิดมาเป็นเครื่องอาศัยของชีวิตประจำวันมากที่สุด 

          การนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียวทำให้เราประคับประคองจิตให้อยู่ในสมาธิไม่ได้  และจิตก็วิ่งออกไปตามทวารทั้ง ๖ คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น กาย  ใจ ทำให้เกิดความไม่สงบ การวิ่งออกไปของจิตนำมาซึ่งภาวะที่บีบคั้นเสียดแทงใจตัวเอง เราจะรับรู้รสชาติการปรุงแต่งคิดไปเรื่อยๆไม่มีความสุขเลย  ชอบให้จิตนิ่งอยู่จึงเป็นสุข จึงเป็นที่มาของการทำสมาธิ  แต่ช่วงเวลานั้นน้อยเหลือเกินและทำได้ยาก เราทำแล้วจิตสงบลงไปบางเวลาเท่านั้น

          ชีวิตนี้เราอยากมีความสุขตลอดเวลาจะเป็นไปได้ไหม? ทั้งในสมาธิก็สงบและออกจากสมาธิก็สงบจะได้ไหม? มีทางไหม?  ที่จะปฏิบัติไปสู่การที่จะเป็นไปอย่างนั้น เพราะเราต้องการให้จิตสงบก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิตนี้ ความจริงแล้วจิตสามารถทำได้  เราสามารถอบรมจิตให้มีสมาธิอยู่ตลอดเวลาได้ ทั้งเวลาทำสมาธิก็สงบ ออกจากสมาธิก็สงบ และสงบอยู่ตลอดเวลาทั้งคืนทั้งวันได้แน่นอน  ปฏิปทามีอยู่ บุคคลที่ปฏิบัติตามแล้วได้ผลเช่นนี้มีอยู่ แต่เราจะรู้วิธีเหล่านั้นได้อย่างไร? และการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นได้อย่างไร? เท่ากับว่า เราจะต้องต่อสู้ทั้งหมดกับอารมณ์ที่มีอยู่ในจิตให้เหลือจิตดวงเดียว คือ กำจัดอารมณ์เหล่านั้นออกจากจิต เหลือจิตที่ไม่มีอารมณ์ ความต้องการของทุกคนที่มาประพฤติปฏิบัติ คือความต้องการเช่นนี้  การที่จิตสงบอยู่ตลอดเวลาก็พอใจแล้ว เราคงจะมีความสุขมาก      
         การประพฤติปฏิบัติที่นำไปสู่ความไม่ปรุงแต่งนั้นทำได้อย่างไร ทีแรกพระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำสมาธิให้จิตสงบ ด้วยการบังคับก่อน แต่การบังคับจิตให้สงบเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนเราจับโจรผู้ร้ายติดคุกหรือขังเขาไว้ แต่เปล่อยไปแล้วเขาก็จะทำอย่างเดิมอีกเพราะอะไร? เพราะว่าเราขังแต่ตัวเขา แต่เรายังไม่ได้เปลี่ยนนิสัยเดิมๆของเขาเลย เท่ากับการบังคับจิตให้สงบลงไป แต่นิสัยความเคยชินต่างๆยังไม่ได้เลิกรา ดังนั้น การจับตัวผู้ร้ายเอามาขังไว้ในคุกเพื่อเป็นการลงโทษ จึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อปล่อยเขาไปแล้วเขาก็มีพฤติกรรมเช่นเดิม เพราะการแก้นิสัยของเขาไม่มี การจับผู้ร้ายมาแล้วจะขังแต่ตัวของเขาอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาให้ได้ นี่คืองานหนักที่สุดยิ่งกว่าขังอีก จิตดวงนี้อุปมาเหมือนว่าเมื่อยังไม่ได้อบรมก็เหมือนผู้ร้าย เราจะเห็นว่าธรรมชาติจิตของเราเหมือนสัตว์ป่าที่ยังไม่ได้ฝึกที่ควรแก่การงาน พระพุทธองค์ทรงฝึกบุรุษเหมือนนายสารถีที่ฝึกสัตว์ทั้งหลายให้ควรแก่การงานฉันนั้น ดังบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณว่า “สัตถา เทวะ  มนุสสานัง”  พระองค์ทรงฝึกมนุษย์และเทวดาให้เป็นคนดีได้ คือเราจะเห็นว่าถ้าเราจับจิตบังคับให้สงบอย่างเดียวก็เหมือนจับตัวผู้ร้ายไปขังคุกไว้อย่างเดียว แต่เวลาปล่อยออกไปนิสัยเดิมก็ออกอีกแล้ว  จับตัวเขาได้แต่นัยอุดมการณ์ความคิดความอ่านต่างๆ ที่ตัวของเขาเราไม่ได้ชะล้าง  ทำให้จิตวิ่งไปสู่กระแสเดิมๆ ของเขาอีก

          ฉะนั้น สมาธิจะแบ่งเป็นข้างในและข้างนอกให้เขาเป็นจิตที่ดีได้ เป็นจิตที่เห็นโทษภัยทั้งหลาย จึงละอารมณ์เหล่านั้นได้  อันนี้ยากมากเป็นขั้นตอนต่อไปที่ยากมาก เราต้องการให้จิตของเรามีสมาธิตลอดเวลา เราจะต้องทำลายอุดมการณ์หรือความคิดอ่านของจิตดวงนั้น และทำให้หายจากสิ่งที่ไม่ดีของเขา พึงละเสียให้ตัวมันเองเห็น และละสิ่งเหล่านั้นเสีย เราจะได้ไม่ต้องห้าม เมื่อจิตรู้และเข้าใจแล้วจิตก็ไม่ไปอีก ฉันใดก็เหมือนกัน โจรผู้ร้ายเราจับมาแล้ว เราจะกักขังเขาอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยพฤติกรรมของเขาให้ได้ ให้เขาเห็นโทษในการกระทำของเขาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นโทษ จนกว่าเขาจะยอมรับว่าพฤติกรรมของเขาเป็นโทษจริงๆ เขายอมรับในตัวของเขาเองด้วย และเขาก็ยอมรับว่าต่อไปเขาจะเลิกทำอย่างนั้น จะกลับใจเป็นพลเมืองดี  จึงปล่อยไปเลยหรืออยู่ที่ไหน เขาก็จะไม่มีพฤติกรรมอย่างเช่นที่เคยทำมาอีก นี่คือ การแก้ปัญหาอย่างถาวร       
          จิตนี้ก็เหมือนกันว่า เราจะบังคับจิตให้นิ่งเพียงอย่างเดียวแล้ว หวังว่าความนิ่งอย่างนั้น จะทำให้อารมณ์ทั้งหมดหายออกจากจิตก็ไม่ได้ ยามสงบจิตก็สงบ เอาอารมณ์วางไว้ก่อนเอาจิตเข้าไปสงบหลบอยู่ข้างในเหมือนเราทำงานในห้องแอร์ อากาศร้อนๆแล้วเราเข้าไปทำงานในห้องแอร์ก็เย็นสบาย แต่ห้องแอร์ไม่ได้หมายถึง ทั้งหมดของชีวิตจะไปอยู่ตรงนั้น  เป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น หลายๆเวลาของชีวิตอยู่ในส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตรงนั้นเยอะแยะไปหมด  ส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ห้องแอร์ตรงนั้น เป็นอากาศที่อยู่ตามธรรมชาติ  ร้อนบ้าง  หนาวบ้าง  เย็นบ้าง แล้วแต่สภาพที่เป็นอยู่  แต่ห้องแอร์นั้นเย็นแน่นอน อุปมาว่าจิตของเราเมื่อทำความสงบนิ่งเข้าไปในสมาธิ แน่นอนย่อมเกิดความสุข ความสบาย เย็นกาย เย็นใจ เหมือนอยู่ในห้องแอร์  แต่ตรงนั้นไม่ใช่ธรรมชาติที่เราต้องอยู่ตลอดเวลา  เพราะเราหนีอารมณ์ต่างๆ แล้วก็หลบอยู่ตรงนั้น  เวลาออกจากห้องแอร์พบกับอากาศร้อน  สภาพอากาศต่าง ๆ ที่จะต้องพบกับการที่เราจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น  ทำให้จิตไม่สามารถที่จะรักษาอำนาจของสมาธินั้นได้  ทำให้จิตรับอารมณ์เหล่านั้นไม่ได้ จำเป็นต้องไหลไปตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ขั้นตอนแรก การทำสมาธิให้สงบแล้วยังไม่พอ ขั้นตอนที่สอง คือ การอบรมจิตให้เห็นโทษในพฤติกรรมของเขาให้ได้ เป็นการเปลี่ยนอุดมการณ์ของเขาให้ออกจากจิตให้ได้  แล้วจะทำอย่างไร? ขั้นตอนนี้ เรียกว่า  “วิปัสสนากัมมัฏฐาน” เราจะเห็นว่าธรรมชาติของจิตสงบนั้นอยู่ที่หนึ่ง แต่ระหว่างที่จิตไม่สงบนั้นอยู่อีกที่หนึ่ง จิตที่ไม่สงบคือจิตที่อยู่ในฐานะที่อยู่ในพื้นฐานที่ต่ำที่สุดของชีวิต อยู่ในอารมณ์ธรรมดาๆหรือปกติ นั่นคือทำเลของอารมณ์ต่างๆ เกิดแล้วจะงอกงามที่สุด เหมือนกับว่าเราอยู่ตรงนี้อารมณ์เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างไรก็อยู่ตรงนี้  สภาพอากาศอย่างไรก็อยู่ตรงนี้  แต่เมื่อเข้าห้องแอร์ก็เป็นอีกที่หนึ่ง ไม่ใช่ตรงนี้ และก็ไม่ใช่อุณหภูมินี้ 
          ถ้าเราทำจิตให้สงบเหมือนกับว่าเราวางอารมณ์ไว้ตรงนี้ แล้วก็เอาจิตออกไปอยู่อีกที่หนึ่ง อารมณ์สงบของจิตนั้นอยู่อีกที่หนึ่ง  อารมณ์ที่ไม่สงบนั้นอยู่คนละตำแหน่งกัน  ถ้าเราอยู่ในสมาธิอยู่ตรงนั้นเราก็สงบ เมื่อออกนอกสมาธิแล้วเราสู้ไม่ได้อารมณ์มีมาก จะดึงจิตฟุ้งไปเลย ทำไมเราต้องออกมา เพราะวิถีชีวิตของเรามาอยู่ข้างนอกมากกว่า  ในสมาธิเป็นเพียงการที่เราหลบเข้าไปอยู่ตรงนั้น เราอาศัยห้องแอร์ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตทั้งชีวิตจะอยู่ในห้องแอร์นั้นตลอด แสดงว่าทำเลปกติไม่ใช่ห้องแอร์  สภาพอากาศภายนอก คือ ธรรมดาของชีวิตที่เราต้องอาศัยอยู่ตรงนั้น  เราหลบเข้าไปอยู่ในห้องแอร์แน่นอนเย็นกายเย็นใจ แต่เมื่อออกมาแล้ว ทำให้เรายังสมาธิให้คงอยู่ไม่ได้ ทำไปทำมาก็วนอยู่แค่นี้ บางครั้งก็มีสมาธิ บางครั้งก็ไม่มีสมาธิ บางครั้งจิตสงบดี  แต่บางครั้งทำสมาธิไม่ได้เลย การกระทำของเราจึงลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ตลอดเวลา    ทำให้เกิดการงงสงสัยว่าคนเราจะพัฒนาจิตไปสู่ทางไหน ?

          จงเข้าใจเถิดว่า การกระทำสมาธิเช่นนั้นเป็นเพียงการกระทำขั้นต้น มิได้หมายถึงว่าผิดก็ไม่ใช่ ถูกก็ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อการเรียนรู้ในธรรมชาตินั้น  แต่ถ้าเราฝึกวิธีเดิมอยู่อย่างนั้น เราก็ไม่สามารถจะพัฒนาจิตของเราให้สูงขึ้นไปกว่านั้นได้อีก  ความรู้ที่เราจะต้องรู้เพื่อพัฒนาจิตของเราให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราจะทำอย่างไร?        
          คนร้ายเราจับขังไว้ในกรงเขาอยู่ได้ แต่ปล่อยแล้วนิสัยเดิมของเขาก็ออกมาอีก  เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยของเขาให้ได้  จิตก็เหมือนกันเราจะจับให้จิตนิ่งอย่างเดียวก็ได้แค่นี้ เราจะเปลี่ยนนิสัยของเขาได้ เราจะต้องเปลี่ยนนิสัยทั้งหมดให้เขาเลิกละการกระทำของเขาว่า ทางนั้นไม่ดีให้เลิกเสียแล้วให้จิตสงบอยู่ตรงนี้ ให้จิตยอมรับด้วยตัวของเขาว่า การเดินทางของเขาที่เป็นไปอย่างเก่าก่อนเป็นทางที่ไม่ดี  เป็นทางนำมาซึ่งทุกข์ แล้วตัวของเขาเห็นโทษในตัวของเขาเอง แล้วเขาจะไม่ไปทางเส้นนั้นอีกแล้ว จิตจะอยู่ในตัวของเขาเอง  จิตยอมเองว่าจะหยุดการประคองก็ง่าย เมื่อคนร้ายกลับใจเปลี่ยนนิสัยแล้ว  การที่จะคุมเขาก็ไม่ต้องคุม เพราะเขาเปลี่ยนนิสัยไปแล้ว         

          การเปลี่ยนนิสัยของจิตใจของเรายากเย็นเหลือเกิน แต่เวไนยสัตว์ทั้งหลายไม่มีจิตชนิดไหนที่ทนทานดื้อดึงจนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนไม่ได้นั้นไม่มี สอนได้ทุกคน สอนได้ทุกจริต ทุกนิสัยได้แน่ๆมีอยู่  แต่เราจะเฟ้นหาอุบายเหล่านั้นได้อย่างไร? นี่คือ ที่มาว่าเราจะต้องฝึกใจดวงนี้เสียแล้ว ฝึกให้ควรแก่การงาน ฝึกให้รู้ในสิ่งที่เขาจะต้องรู้  ถ้าเราจะบังคับจิตให้สงบเช่นนี้เพียงอย่างเดียวก็ได้แค่นี้ เราจึงต้องฝึกจิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง   
          ขั้นตอนแรก เราฝึกจิตโดยบังคับจิตให้สงบ ขั้นตอนต่อไป ฝึกอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่เหมือนเดิมเสียแล้ว ฝึกอย่างไรล่ะ
!  ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ทรงแยกแยะปัญหาเหล่านี้  การที่ทรงเรียนจากท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบสว่า การทำให้จิตสงบลงไปในตัวเองได้รูปฌานจนถึงอรูปฌาน(สมาบัติ ๘) จิตสงบมากที่สุด จิตนิ่งดิ่งลึกที่สุดถึงตัวรู้ พระพุทธองค์ทรงทำได้เพราะทรงสร้างสมบุญญาธิการมามาก ที่สุดของจิตเมื่อถึงความสงบเต็มที่แล้ว ถึงเวลาก็จะออกจากสภาวะเช่นนั้นมาสู่ภาวะปกติ จิตก็เริ่มออกไปอีกแล้ว นิสัยเดิมก็ออกมาทุกอย่าง  กิเลสมีทุกอย่าง  การสงบอย่างนั้นไม่สามารถจะแก้ปัญหาของจิตได้ แก้ไม่ได้  เพราะในสภาวะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ถูกใช้งาน เอาแต่ตัวจิตเองไปนิ่งอยู่  ทำให้จิตสงบได้  แต่เวลาออกจากสมาธิแล้ว จิตมีอาตยนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นประตูออก จิตก็ออกไปหมดเลย เป็นจิตปรุงแต่งออกไปอีก
          พระพุทธองค์ทรงเห็นความปรุงแต่งเหล่านี้ ทรงจับมาพิจารณาว่า จะทำอย่างไรดี ถ้าเราคิดปรุงแต่งขึ้นมา เราคิดไปทางไหน? ทางนั้นจิตก็วิ่งออกไป ทีนี้ข้างนอกไม่ให้คิด  เราสังเกตดูว่าจิตของเราคิดเรื่องใดอยู่ เราก็พยายามคิดเรื่องนั้นซ้ำเข้าไปอีก จิตก็วิ่งตามกระแสอารมณ์มากขึ้นจนเป็นกำลัง จนบางครั้งดับอารมณ์ไม่อยู่คือจิตฟุ้งนั่นเอง บางครั้งเราคิดเรื่องอะไรที่เราหนักอกหนักใจ เราคิดไปๆพยายามเพิ่มความคิดให้มากๆ ผลที่สุดจิตออกไปไม่หยุดก็เครียด  เราอยากจะหยุดแล้ว
! ไม่ไหวแล้ว ! เหนื่อยแล้ว ! เครียดมากแล้วหยุดไม่ได้ จึงเป็นที่มาของความทุกข์มากมาย ความบีบคั้นของจิตใจดวงนี้ แรกๆ ก็คิดน้อยๆ แล้วคิดหนักเข้าๆ เหมือนกับไฟเดิมกองเล็กๆ  เติมฟืนเข้าไปเรื่อยๆ กองไฟก็ใหญ่ขึ้นมา เติมฟืนเข้าไปอีก กองไฟใหญ่ขึ้นมาอีก แล้วก็ดับไม่ลง     เราจะเห็นธรรมชาตินี้ว่า จิตถ้าเราเติมอะไรเข้าไปมากๆ ก็เหมือนกับการเติมเชื้อไฟเข้าไป

          ความปรุงแต่งของจิต จะไปในทางยินดี ยินร้าย และเฉยๆ สามอย่างนี้  จิตคิดในอารมณ์ใดอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีขึ้นมา เช่น คิดไปทางราคะ  จิตจะสร้างภาพขึ้นมาในตัวจิตเอง เราจะดูอารมณ์ ดูกิเลสของเราว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร? เวลาเกิดขึ้นมาเกิดอย่างไร ?  เราต้องดูก่อน ตอนนี้เราไม่ต้องเข้าสมาธิ แต่เราจะดูว่าความปรุงแต่งมีหน้าตาเป็นอย่างไร?  เพราะเป็นปัญหาเหลือเกิน จับตัวมันเองมาดูว่า ตัวละครเหล่านี้ คือ อะไร?  เราจะเห็นว่าความปรุงแต่งแรกๆ จะนึกถึงภาพใดภาพหนึ่ง  นึกถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน  เวลาที่จิตนึกไปจะเกิดภาพขึ้นมาทางใจขึ้นมาก่อน  แล้วภาพนั้นเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสชนิดใด

          การปรุงแต่งในทางยินดีเป็นราคะ เป็นความปรุงแต่งชนิดหนึ่ง เช่น หญิงนึกถึงชาย  ชายนึกถึงหญิงที่ตนมีจิตปฏิพัทธ์คือมีความชอบตามเพศ ตามโลกที่มีกิเลสชนิดนี้อยู่ คิดไปเป็นภาพขึ้นมาก่อน แล้วเรานึกภาพนั้นแล้วขยายความต่อ  การนึกอารมณ์ครั้งแรกเรียกว่า “นิมิต” เป็นเครื่องหมาย แล้วขยายนิมิตให้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย  นึกถึงนิมิตแล้วขยายนิมิตให้เป็นวงกว้างออกไปเรียกว่า “อนุพยัญชนะ” เมื่ออนุพยัญชนะขยายวงกว้างออกไป กลายเป็นความปรุงแต่งที่มากขึ้นอีก ทีแรกกองฟืนเล็กๆ เป็นไฟดวงเล็กๆ แต่เราเติมฟืนเข้าไปมากขึ้นๆ แล้วก็ไฟนี้จะเป็นไฟกองใหญ่  ไฟ คือ ราคะ โทสะ  โมหะ  สุมจิตใจดวงนี้ให้ร้อนเร่าแล้วบีบบังคับให้เจ้าตัวดิ้นไปตามเกมส์ที่คิดเอาไว้  จึงเกิดการคิดที่จะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองคิดไว้นั้น  นี่คือกลไกที่เป็นไปของกิเลสทำให้ทุจริต ๓ เกิดขึ้นตามมา เกิดเป็นการกระทำขึ้นมา เรียกว่า  “กรรม” คือ การกระทำทั้งที่เป็นกุศล(สุจริต) และอกุศล(ทุจริต) ฉะนั้น คนเราและสัตว์โลกทั้งหลายก็เดินไปตามกรรม

          วิถีกรรมเกิดจากความปรุงแต่งเป็นเหตุ  อันนี้คือหน้าตา  จิตใจคนเราต้องดูว่า กิเลสเกิดอย่างไร? แล้วหน้าตาของกิเลสเป็นอย่างไร? ต้องรู้ประวัติความเป็นมา และตัวละครของเขามีองค์ประกอบอะไรบ้าง? เพื่อให้เราแยกแยะและคิดหาวิธีแก้ไข  คนเราที่คิดไปคืออำนาจของกิเลสต่างๆ เช่น  กิเลสเกี่ยวกับราคะ จะเห็นได้ต้องนึกภาพก่อน  นึกภาพทีแรกกิเลสเราก็ไม่ได้โน้มเอียงไปคิดขึ้นมาลอยๆก่อน หรือเจตนาคิดของเราเกิดขึ้นก่อน การขยายนิมิตให้กว้างออกไป จะเห็นอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรานึกภาพขึ้นมาก่อน แล้วเราก็ขยายภาพมากขึ้นไปๆ ความคิดก็จะรวดเร็วขึ้น รุนแรงขึ้นๆ ทวีกำลังมากขึ้นตามลำดับ  ทีแรกเป็นไฟกองน้อยๆ แต่เราไปเติมเชื้อไฟก็เป็นไฟกองใหญ่ขึ้นมา เมื่อคิดถึงสิ่งใดมากจิตก็เร่าร้อน บีบบังคับให้เจ้าตัววิ่งหาสิ่งนี้ให้ได้  แล้วการวิ่งของเราเป็นการแสดงออกทางใจก่อน  การแสดงออกทางกาย และวาจาก็ตามมา กริยาที่ตามออกไปเรียกว่า ทุจริต ๓  คือ  กายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต  เกิดจากมโนเป็นตัวเริ่มแรก      
          กรรมอันเกิดจากการกระทำ  เป็นเครื่องหมุนให้สรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ทั้งหลายหมุนไปตามกรรม เป็นวงจรล้อหมุนไปในวัฏสงสารอันยาวนาน  ความคิดของเราหยุดไม่ได้เลย เพราะเกิดจากเหตุเช่นว่านี้  กิเลสประเภทใดก็บีบบังคับให้เกิดกรรมประเภทนั้น  บีบบังคับให้วิ่งตามกระแสเหล่านั้นก็แสดงออกทางกาย วาจา ใจ  ไปตามการกระทำของจิตนั้นก่อน การกระทำทั้งหลายอันเกิดจากการกระทำของตนก็เกิดขึ้น  นี่คือที่มาของกิเลสต่างๆ เราจะเห็นว่าการดำเนินการเป็นไปตามกระแสที่เป็นไปตามลักษณะนี้ พระพุทธองค์ทรงแยกแยะและทรงค้นว่า อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น  อะไรเอ่ย? ที่ยังให้กามฉันทะที่เกิดแล้วให้งอกงามไพบูลย์  อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามราคะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด แล้วอะไรเอ่ย? ยังให้กามฉันทะที่เกิดแล้วบรรเทาลง 

          เราจะมาดูว่า ราคะ  โทสะ  โมหะ  ที่ไม่เกิดย่อมเกิด เมื่อเกิดแล้วย่อมงอกงามแล้ว นัยตรงข้ามคือ อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด และที่เกิดแล้วงอกงามแล้ว จะถูกบรรเทาลงผ่อนคลายลง  อันนี้เป็นเครื่องแก้  ธรรมชาติเดิมที่เป็นจริงของจิตที่เกิดอยู่ จิตคิดไปแล้วเติมความคิดให้มาก เกิดนิมิตแล้วขยายความเป็นอนุพยัญชนะ ทำให้จิตฟุ้งซ่านออกไปตามกระแสอันนั้น นี่คือธรรมชาติเดิมแท้ๆเป็นสถานะเดิมที่เราเป็นเช่นนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ธรรมชาติเป็นอยู่เช่นนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติที่เป็นอยู่แก้อย่างไร?ธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้แก้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือให้ถูกทางขึ้น ธรรมชาตินี้เป็นสิ่งแก้ได้ และธรรมชาตินั้นเป็นของที่มีอยู่แล้ว

          พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมไม่เกิด  เกิดแล้วถูกบรรเทาลง  เริ่มแรกของจิตที่เกิดกิเลสราคะ  คือ การนึกถึงสิ่งที่มีความงาม นึกถึงสิ่งที่เราชอบ การนึกครั้งแรกเป็นนิมิตที่งาม คือ สุภนิมิต(นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย, สุภะ  แปลว่า งาม)     

          อะไรเอ่ย? ที่ทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความงอกงาม ธรรมนี้แลทำให้กามฉันทะที่ไม่เกิดให้เกิดขึ้น  เกิดแล้วจะงาม เมื่องามแล้วเพิ่มพูนมากขึ้น กลายเป็นกำลังของกิเลสชนิดนี้ ก็คือ สุภนิมิต  เมื่อนึกถึงสิ่งที่เราชอบ ภาพนั้นก็จะปรากฏออกมา แล้วอะไรเอ่ย? เป็นเครื่องแก้  ตอนนี้เราไม่ได้นั่งสมาธิแล้ว  ทีแรกทำสมาธิให้จิตนิ่งก่อน  แต่ตอนนี้มาวินิจฉัยใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่ และจะดำเนินลุล่วงไปโดยกรรมวิธีที่เข้าใจนั้น การตรึกตรองการพิจารณาเรียกว่า ตั้งความเห็นใหม่  แสดงว่าความเห็นเก่าๆ นั้นใช้ไม่ได้  เรียกว่า “ทิฏฐิ” แปลว่า ความเห็น  ความเห็นที่ใช้ไม่ได้ เรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ”        
          การตั้งความเห็นให้ตรง และถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า
เรียกว่า “สัมมา” กลายเป็นคำว่า “สัมมาทิฏฐิ” จะเริ่มมีมรรคมีองค์แปด ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปโป(ความดำริชอบ) สัมมาวาจา(การพูดจาชอบ)  สัมมากัมมันโต(การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีโว(การเลี้ยงชีวิตชอบ)  สัมมาวายาโม (ความพากเพียรชอบ)  สัมมาสติ(ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ(ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นการอบรมมรรค     
          มรรคหรือมรรคา แปลว่า ทางเดิน ทางเดิน ๘ ทางนี้ จะเป็นการพัฒนาจิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงว่า การทำสมาธิแล้วซ้ำซากอยู่ตรงนั้นก็ไม่ใช่  เป็นการวางฐานะของตนเองไปตามลำดับว่าจะวางจิตไว้อย่างไร  ก่อนอื่นจะกระทำสิ่งใดควรศึกษาสิ่งที่มีอยู่ให้ละเอียดก่อน คือ ศึกษาตัวละครทั้งหมดให้เห็นชัดเจนก่อน แล้วจะเข้าใจว่าแก้อย่างไร?  ประการที่ ๑ ธรรมชาติที่มีอยู่นั้นมีอยู่แล้ว  ประการที่ ๒ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ที่จะนำไปแก้ธรรมชาติเหล่านี้  ดังนั้น กามฉันทะที่ไม่เกิดจะไม่เกิด  ที่เกิดแล้วจะถูกบรรเทาลงด้วยธรรมชนิดไหน  
          เราเข้าใจแล้วว่าสุภนิมิต เป็นเครื่องหมายอันเป็นความงาม เป็นที่เกิดของราคะ  นึกภาพอันเป็นที่ตั้งสุภนิมิต  ตั้งแล้วชอบใจว่าเป็นของงามราคะจะเกิด  เกิดแล้วจะงามแต่ธรรมอะไรที่จะมาหักล้างตรงนี้ได้ ก็คือนึกถึงสิ่งใดเราตัดภาพนั้นทิ้งทันที  ภาพข้างนอกตัดทิ้งให้หมดไม่ให้นึกถึง  เวลาจะนึกไม่ให้นึก ที่นึกถึงแล้วให้ตัดทิ้ง แล้วนึกภาพของเราแทน  แต่มีปัญหาว่านึกภาพตัวเองไม่ออก เป็นปัญหาอีกแล้วตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลับตาแล้วพิจารณาให้เห็นตัวเอง  ปรากฏว่านึกไม่ได้จริงๆ  แต่ทำไมนึกถึงคนอื่นได้ ทำไมนึกถึงตัวเองไม่ได้ แปลกไหม?  เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นธรรมชาติของจิตนี้มีอยู่
          ถ้าเรานึกเห็นภาพตัวเองตลอด  เห็นตัวเราแจ้งชัดเจนเหมือนกับที่เรานึกถึงคนอื่นได้  จิตก็มีภาพอันเดียว คือ ตัวเราคนเดียว  เรียกว่า “กายเดียว จิตเดียว”  แต่เรานึกไปข้างนอกนึกเห็นคนหลากหลายในโลกนี้จนนับไม่ถ้วนก็จะเป็นหลายอารมณ์  ข้างนอกหลากหลายกับเป้าหมายของจิตที่จะต้องวิ่งไปหา  แต่ภาพของตัวเองเป็นเพียงเป้าหมายเดียว  มากเป้าหมายก็คือมากด้วยอารมณ์ เป็นที่มาของอารมณ์ต่างๆ อย่างนับไม่ถ้วน  ที่เรามานั่งสมาธิแล้วไม่สงบเลย มีแต่อารมณ์มาจากการที่จิตนึกหลากหลาย  ถ้าจิตนึกภาพเราได้ขึ้นมา มีตัวเราอย่างเดียว อารมณ์ก็จะเป็นอารมณ์เดียวได้ ถ้าคนนั้นมองอย่างนี้แล้ว
ชื่อว่า “มองทางถูกต้องแล้ว” แหลมคมพอที่จะมองปัญหาออกว่า ที่ถูกต้องทำอย่างนี้หรือ?       
          พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนให้ทำสมาธิว่า “ภิกษุทั้งหลายยังจิตให้เป็นสมาธิเถิด เมื่อจิตเป็นสมาธิจะรู้ตามความเป็นจริง” คือ ให้พิจารณาร่างกายสังขารตั้งแต่ เกสา โลมา นะขา  ทันตา  ตะโจ  และอาการทั้ง ๓๒ ประการ บางครั้งสอนให้ทำสมาธิบางครั้งสอนให้พิจารณากาย  ควรยึดแนวทางใด  เพราะถ้าทำกิจใดอยู่ อีกอย่างหนึ่งต้องปล่อยไป จะทำไปพร้อมกันไม่ได้  ต้องเลือกที่จะทำอันใดอันหนึ่งเป็นอย่างๆไป  เราเคยได้ยินอย่างนี้มิใช่หรือว่า บางครั้งก็สอนอย่างนั้น บางครั้งก็สอนอย่างนี้ เรียงลำดับไม่ถูกเอง  จงเข้าใจเถิดว่าแรกๆ เราทำสมาธิก็ทำไปก่อนไม่เป็นไร  ให้ทำอย่างเดิม เมื่อทำอย่างเดิมแล้วหวังว่า การทำอย่างนี้ซ้ำซากให้จิตสงบก็สงบได้ แต่ก็ได้แค่นั้นเอง  จิตเองมีความลึกลับซับซ้อนในตัวเอง  เราจะต้องแก้ปัญหานั้นอีกปมหนึ่ง  การจับจิตให้นิ่งอยู่อย่างเดียวก็เหมือนการจับโจรไปติดคุก แล้วปล่อยไปนิสัยเดิมไม่ได้เปลี่ยน

          จิตเราเมื่อฝึกทำมากๆแล้วเป็นสมาธิได้ แต่เมื่อถึงเวลาออกจากสมาธิ จิตคอยจะออกอยู่แล้ว จิตนิ่งนานไม่ค่อยจะได้เหมือนเราจับเด็กที่ซุกซนนิ่งได้ครู่เดียว  ลิงก็เหมือนกันจับให้อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะธรรมชาติไม่นิ่งอยู่แล้ว  เวลานิ่งแล้วนิสัยเดิมก็ออกอีก หลังจากทำให้จิตสงบแล้ว นิสัยเดิมก็มีเหมือนเดิม เพราะนิสัยเดิมไม่ได้ล้างออก  การที่จะล้างนิสัยเดิมต้องอบรมจิตอีกขั้นหนึ่ง โดยการเปลี่ยนตำแหน่งจิตแทนที่จิตจะคิดไปข้างนอก  จิตคิดเป็นภาพขึ้นมา เราตัดภาพนั้นทิ้ง  นั่นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้จิตอาศัยตำแหน่งเดิมอยู่เพราะทำเลนั้นเป็นที่งอกงามของกิเลสในลักษณะที่ว่า ทำเลเหล่านั้นกิเลสทั้งสามตัวจะงอกงาม เขาจะงามตรงนั้น แต่จะไม่งามในอีกที่หนึ่งเปรียบเหมือนพืชสองชนิด  พืชบางชนิดอยู่ในน้ำงอกงาม  อยู่บนบกจะไม่งาม  แต่พืชบางอย่างอยู่บนบกโตได้อยู่ในน้ำจะเน่าเสีย เหมือนผักบุ้งอยู่ในน้ำจะงาม อยู่บนบกไม่ค่อยงอกงาม ถ้าความชื้นไม่พอก็แห้งตาย แต่ต้นไม้บางอย่างปลูกบนบกห้ามลงน้ำเวลาน้ำท่วมตาย แสดงว่าพืชสองอย่างอาศัยต่างถิ่นกัน  แล้วก็งอกงามต่างถิ่นกัน     
          เราก็มาดูพฤติกรรมของจิตว่า กิเลสทั้งหมดที่มีอยู่จะงอกงามไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตส่งออกนอกแล้วก็ซ้ำเติมเข้าไปอีก เขาปรุงแต่งอยู่ข้างนอกแล้วเราก็เพิ่มความปรุงแต่งมากขึ้นๆ กิเลสต่างๆ จะงามในที่นั้น แล้วกิเลสต่างๆ จะไม่งาม เมื่อเรามามองดูตัวเราเอง  จะมีวันที่เหี่ยวเฉาไปทุกขณะ และสมาธิที่ไม่เกิดยังให้เกิด เมื่อเกิดแล้วจะงอกงาม ขณะที่จิตน้อมมาดูตัวนี่เอง  สมาธิจะเกิดฝ่ายนี้ แต่จะไม่เกิดฝ่ายโน้น การทำสมาธิเช่นนี้ เราวินิจฉัยได้ว่า การตั้งจิตให้เป็นสมาธิให้จิตนิ่งอย่างเดียว เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง  แต่การจะแก้ปัญหาของจิตให้ยั่งยืนถาวรเป็นสมาธิที่มั่นคง ต้องไปแก้อีกระบบหนึ่ง ทำอย่างนี้อย่างเดียว ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถหาทางออกได้ ถ้าเราทำอย่างนี้นานเข้าๆ เราจะเห็นชัดว่า กิเลสของตนที่มีอยู่บางลงจริงๆ  ราคะ โทสะ  โมหะ ก็เบาลง         
          แสดงว่ากิเลสแก้ตรงนี้เองหรือ? ทำไมถึงตื้น และตื้นมากด้วย  อารมณ์เหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่เปลี่ยนที่เท่านั้นเองระหว่างนอกกับใน  จะเข้าสมาธิลึกๆก็ไม่ใช่  จะส่งจิตออกนอกก็ไม่ใช่ เป็นระหว่างกึ่งกลางนั่นแหละ  ตรงนั้นเองกิเลสดับตรงนั้น ตาลืม ๆ นี่แหละ ลืมก็ได้หลับก็ได้ ไม่ได้เข้าสมาธิอะไรเลย เขาแก้ตรงนี้ ทำไมมาแก้ตรงนี้ เพราะว่ากิเลสเกิดตรงนี้  อุณหภูมินี้ ทำเลนี้ เราก็แก้ตรงนี้ เพราะผู้ร้ายอยู่ตรงนี้  เราไปจับที่ไหนล่ะ  เขาอยู่ตรงไหนก็ฆ่าเขาที่นั่น  ถูกไหม?  
          ทำไปทำมาก็เป็นสตินี่เอง เป็นทางสายเอก ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นทางเส้นเดียว
ที่ยังหมู่สัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงมรรคผลนิพพานได้ คือ สติปัฏฐาน ๔  ไม่ได้เรียกว่าสมาธิปัฏฐาน ๔ อันนี้เราอบรมไปก่อน มีคนทำสงสัยว่าผิดหรือเปล่า? ถูกหรือเปล่า? คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น  ความสงสัยทำให้เราเปลี่ยนการกระทำอยู่เรื่อยไม่ดี  ทำลงไปก่อนผิดถูกไม่ว่า เราก็ผิดมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ทำผิดทำถูกจะเป็นอะไรไป  ทำไปก่อน ทำแล้วแก้ได้แน่นอน  เพราะว่าเราตัดผลเพิ่มของกิเลส  สมมุติว่าไฟกำลังลุก แต่เราไม่เติมฟืนเข้าไป นานเข้าๆ ไฟนั้นก็มอด       
          ทีแรกเรานึกถึงตัวเองจะไม่เห็น แต่นึกไปก่อนนึกสร้างภาพขึ้นมา ต้องสร้างภาพขึ้นมา จะให้เห็นเองนั้น ไม่เห็น อันเดียวกับจินตนาการก็ว่าได้  แต่จินตนาการนั้นเป็นอุบายชนิดหนึ่งที่ทำให้จิตอยู่ได้แล้วเป็นสมาธิได้ บางคนคิดว่ามองไปเรื่อยๆ การที่เราสร้างภาพของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้จิตไม่มีโอกาสสร้างภาพข้างนอกขึ้นมา ตรงนี้บางคนคิดว่าเราจินตนาการว่า เป็นวิปัสสนึกหรือเปล่า? ไม่รู้ทั้งนั้น ทำไปก่อน ดีกว่าปล่อยจิตให้เที่ยวไปเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์อะไร
          การพิจารณาและการสร้างภาพของตัวเองขึ้นนั้น ถูกต้องแล้ว รู้เบื้องปลายโน่นว่าถูกหรือผิด  จับผิดจับถูกไปก่อน ไม่เป็นไร เพราะทางมืด ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้จิตหยุดได้  แต่จิตหยุดได้ หยุดได้เมื่อเรา
พิจารณาตัวเองอยู่ซ้ำซาก การพิจารณาตัวเองต้องสร้างอารมณ์ขึ้นมาด้วย ไม่ได้หมายถึงการพิจารณาตัวเองจะมองเพ่งอยู่เฉยๆนั้น ไม่ใช่
!  เราจะต้องสร้างอารมณ์ร่วมให้เกิดให้มีขึ้นมาด้วย  เช่น เรามองตัวเองแล้วนึกถึงว่า สักวันหนึ่งเราจะต้องตาย (มรณานุสติ) ถ้าเขาไม่ฉีดยาเราตัวเราจะขึ้นอืดตัวพองขึ้น น้ำเลือดน้ำเหลืองไหล เป็นการสร้างอารมณ์ร่วม สร้างสัญญาสำทับลงไปที่จิตอีกทีหนึ่ง จิตกลมกล่อมชักชวนจิตให้โน้มเอียงไปทางวิราคะ (วิ แปลว่า ไม่) วิราคะ คือ ออกจากราคะ นึกถึงข้างนอกเป็นราคะ นึกถึงข้างในเป็นวิราคะ ความปราศจากกามราคะ หนีออกจากกามราคะได้เป็นวิราคธรรม  เป็นการถ่ายถอน เป็นการสำรอก  ถ้าเรานึกอยู่เป็นประจำแล้วสร้างเรื่องราวพิจารณาตัวเองให้อยู่ในไตรลักษณ์อย่างเดียว  นึกถึงความไม่เที่ยง  นึกถึงเรื่องตาย  นึกแต่เรื่องตาย  นึกจริงๆ ถ้านึกถึงความตายแล้วจิตจะวนอยู่ในตัวเรา แต่ถ้านึกว่าเราอยากได้นั้นได้นี่  อยากเป็นนั่นเป็นนี่  จิตจะวิ่งออกนอก  ใครจะมีกำลังกว่ากัน  ระหว่างจิตที่จะถูกดึงออกข้างนอกกับจิตที่คิดเรื่องตายนี้ เป็นการสร้างขึ้นมาโดยเจตนาของเรา จะให้เป็นเองนั้นไม่เป็น

          ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า “จงเจริญสตินึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา”  พิจารณาความตาย  พิจารณาอสุภะต่างๆ นั้นคือการให้จิตพรรณนาถึงความไม่เที่ยงของตน  เป็นของที่จะต้องแตกดับสลายหาความยั่งยืนไม่ได้  พิจารณาแต่เรื่องตาย  สรุปลงที่ตาย  ความตายเป็นสิ่งที่ชาวโลกเขาไม่นึกกัน ทางธรรมเขาจะนึกถึงเป็นสิ่งตรงข้ามหมด นึกถึงสิ่งที่เขาไม่นึกกันนั่นแหละ  แล้วก็ไม่นึกถึงสิ่งที่เขานึกกัน  สิ่งที่ชาวโลกนึกกัน เราจะไม่นึกถึงสิ่งนั้น กลับด้านหมดเลย ทำไมเราต้องนึกกลับด้านอย่างนี้ เพราะทำให้เกิดสมาธิทุกอย่างได้  วันหนึ่งๆ เราไม่ให้โอกาสจิตคิดข้างนอกเลย คิดแต่ข้างใน  เวลาทำความสงบถูกขัดเกลามาทั้งวันแล้ว มานั่งชั่วโมงนี้ก็ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราปล่อยจิตออกไปทั้งวัน แล้วมาทำสมาธิบังคับให้จิตสงบ จิตท่องเที่ยวจนสุดกู่แล้วบังคับให้จิตสงบ จะสงบได้อย่างไร?  กำลังมันเยอะเที่ยวจนเพลินแล้ว ระหว่างที่เที่ยวไม่คุมจิตเลย สุดท้ายจิตไม่สงบก็ล้มเลิกแล้วปล่อยไปอีก พรุ่งนี้มาทำอีกก็อย่างเดิม  มะรืนนี้ก็อย่างเดิม ไม่อาจทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้  จะเป็นได้อย่างไรมันไม่มีระบบ เขาจะต้องอบรมทั้งวัน แล้วจิตมันเป็นเอง สมาธิแย่งจะเป็นเสียด้วยซ้ำ เพราะการขัดเกลาตลอด ไม่ให้จิตรั่วไหลไปไหน   
          การอบรมกายคตาสติเอาจิตพิจารณาตัวเราซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนั้น  นานเข้าๆจิตจะเริ่มคุกรุ่นเป็นสมาธิขึ้นมา เราจะรู้สึกว่าจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว สมาธิมากขึ้นๆ ในตัวมันเอง  ทั้งๆ ที่ตัวเราเองคิดแต่เรื่องตายๆ สิ่งเหล่านี้คิดไปแล้วจะยังให้เกิดสมาธิ  แต่การคิดข้างนอกคิดเท่าไหร่ก็ไม่เป็นสมาธิ การคิดในตัวเองจะเป็นสมาธิได้ ความคิดเหมือนกันแต่อยู่คนละที่
  ทำไมข้างในต้องคิดด้วย เพราะเราจะต้องให้จิตรู้ และเข้าใจความไม่เที่ยงของตัวเอง เพื่อเป็นการแก้ และไม่ให้โอกาสความคิดข้างนอกเกิดขึ้น การอบรมเช่นนี้ทั้งกลางวันกลางคืน  นานเข้าๆๆ เราก็เห็นตัวเองชัดขึ้นๆ แล้วเอาความเห็นตัวเองนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิต นานเข้าๆความชำนิชำนาญมีมาก แล้วจิตดวงนี้ถูกอบรมอยู่กับที่มากๆ จะสว่างไสวในตัวเองเกิดเป็นสมาธิขึ้นมาในตัวเอง  และเป็นสมาธิแบบใหม่ที่เราไม่เคยมีมาก่อน  เมื่อก่อนเป็นสมาธิที่จิตนิ่งในตัวเอง  แต่บัดนี้เห็นร่างกายชัดเจนในความสว่างไสวนั้น นิ่งด้วย เห็นด้วย  แต่สมาธิแบบจิตสงบทีแรกนั้นสว่างไสวแต่ไม่เห็นตัวเอง จิตนิ่งเห็นแต่ตัวจิต(จิตเห็นตัวจิตเองเป็นสมาธิแบบโลกีย์)  การพิจารณากายเป็นสมาธิแบบโลกุตตระ เป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง สมาธิสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน         
          การที่จิตเห็นจิตเป็นสมาธิเกิดขึ้นแต่แก้กิเลสไม่ได้
  การเอาจิตมาพิจารณาดูตัวเราในอาการ ๓๒ แก้กิเลสได้ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องสร้างภาพตัวเองขึ้นมาเพื่ออะไร?  เพื่อแก้ปัญหาที่จิตจะสร้างภาพข้างนอกไม่ให้สร้างแล้ว สร้างภาพข้างในแล้วล็อกความเห็นภาพข้างในนั้นไว้ โดยวิธีเห็นตัวเองให้แจ้งชัดเจนแล้ว เอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนี้ เท่านั้นเองจิตของเราจะไม่อยู่ข้างนอกเลย แผนอันนี้วางไว้แล้วด้วยสติปัญญา คนๆนั้นมองรูปการออกว่า งานชิ้นนี้ถ้าทำสำเร็จได้  จิตนั้นจะหลุดออกจากภาวะทางโลกได้  อารมณ์จะไม่เหลือเลยในโลกนี้ เพราะมองเห็นแล้ว  
          ถ้าเราทำมากๆเข้า งมผิดงมถูกทำไปก่อน จะเชื่อก็ไม่ใช่ ไม่เชื่อก็ไม่ใช่ ทำก่อน ขออย่างเดียวเราชนะอารมณ์ได้ก็พอแล้ว  จะถูกหรือผิดก็ช่างเถอะ ขอให้จิตของเราเป็นหนึ่งเดียวได้ก็พอแล้วชีวิตนี้ ทำอย่างไร จะทำได้ ทำวิธีนี้แหละทำได้  ผิดถูกไม่มีใครพยากรณ์ นอกจากความพึงพอใจในผลงาน  เราลูกกำพร้าพ่อแม่ทิ้งมรดกไว้ ปล่อยให้งมเอาเอง  พระพุทธองค์ทรงค้นหาสัจธรรมไว้แล้วก็ทรงปรินิพพานไปแล้ว เราก็เอามรดกที่ทรงให้ไว้เอามาตีให้แตก  พระองค์ไม่สามารถที่จะดูแลเราตรงนี้ แต่เรานำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาดูแลตัวเราเอง หากเราฟังธรรมแล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติได้  ถ้าเราทำไปๆ จะเริ่มเห็นตัวเองชัดขึ้นไปๆ ชัดขนาดไหน ที่ไม่ชัดให้ชัด เน้นให้เห็น  ที่ไม่เห็นให้เห็น แล้วรักษาไว้  ที่ยังไม่เห็นให้สร้างความเห็นเพิ่ม ที่เห็นแล้วรักษาตำแหน่งที่เห็นนั้นไว้ไปเรื่อยๆ เช่นเราเห็น ผม เล็บ  ฟัน หนัง ก็พยายามรักษาไว้แล้วค่อยๆ รุกล้ำเข้าไปกินเนื้อที่ไปเรื่อยๆ จนทั้งตัวไม่เว้นแม้แต่นิดเดียว แล้วเอาความเห็นนี้เป็นเครื่องอยู่ของจิต  จิตมีหนึ่งเดียวถ้าอยู่ข้างในได้ก็ไม่อยู่ข้างนอก  ถ้าอยู่ข้างนอกก็ไม่อยู่ข้างใน  จิตมีดวงเดียว  เก้าอี้มีตัวเดียว ถ้าคนหนึ่งนั่ง อีกคนหนึ่งก็ไม่ได้นั่ง  จิตมีดวงเดียวถ้ามัวแต่คิดข้างนอก ข้างในก็ไม่ได้คิด จึงไม่เป็นสมาธิ  แต่ถ้าอยู่ข้างในจิตไม่มีโอกาสที่จะออกไปคิด เท่ากับว่าจิตมีอารมณ์เดียว  อารมณ์ข้างนอกก็รอค้างอยู่ จิตมีดวงเดียวจิตไม่วิ่งไปหาอารมณ์ข้างนอก
   
          ความจริงเราเป็นผู้ผิด อารมณ์เขาอยู่ข้างนอกโปรยปรายไว้ในโลกอยู่แล้ว  จิตของเราวิ่งออกไปหาอารมณ์ข้างนอกเอง  แล้วก็กล่าวหาว่าสิ่งเหล่านั้นกวนเรา  การแก้นี้แก้ตรงที่เรามีสิทธิที่จะส่งจิตออกหรือไม่ส่งจิตออก  แต่ถ้าส่งจิตออกไปแล้ว เขารุมจิตเราผูกจิตเราไว้ เราก็ไม่มีอำนาจ เพียงแต่เราจะส่งจิตไปหรือเปล่า? ตัดสินใจให้ดี ! จะส่งจิตไปข้างนอกหรือให้เข้าข้างใน
บางคนคิดว่าเราไม่มีสิทธิอะไรเลยหรือ? ดูว่าจิตนี้เบื้องต้นบอกกับตัวเองว่า ตัวเราขออย่าแก่ อย่าเจ็บ อย่าตายเลย เราก็ไม่มีสิทธิอะไร  อีกกรณีหนึ่งเราพยายามบังคับจิตให้สงบ อย่าไปให้นิ่งอยู่ อย่าคิดเลย เราบอกจิตของเราอย่างนั้น แต่จิตก็หาได้ฟังไม่ จิตไม่เชื่อฟังจิตจึงไม่สงบ  แสดงว่าเจตนาของเราไม่มีผลเหมือนกับเราเรียกร้องสิทธิตรงนี้ไม่ได้เลย  การเรียกร้องสิทธิของเราว่างเปล่าไม่มีประโยชน์ เราไม่มีอำนาจอะไรเลย บอกให้หยุดก็ไม่หยุด บอกให้คิดดีๆ จะคิดแต่ชั่วๆ บอกให้อยู่ก็จะไป เขาไม่ขึ้นตรงต่อเราเลย เราไม่อำนาจอะไรเลย

          จิตนี้ควบคุมไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นคนนี้ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย การค้นพบโดยชอบก็มีขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจคุมอะไรได้เลย บางคนสงสัยว่า เราก็ทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้ หาทางออกไม่ได้  เพราะเราไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจในตัวเอง  ความจริงนั้นมีอยู่เป็นช่องนิดเดียว      
          เราบอกจิตให้หยุดแต่จิตไม่หยุด จริงอยู่จิตไม่ได้ขึ้นตรงต่อเรา แต่เมื่อสังเกตเราจะเห็นจิตเราส่งไปหาอารมณ์เอง แล้วก็ถูกอารมณ์นั้นมัดเอาไว้ เหมือนเรามีลูกคนหนึ่งแล้วปล่อยออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนๆ ข้างนอกบ้าน แล้วประพฤติไม่ดีต่างๆ นานา ตามเด็กที่มีนิสัยเกเรเสี้ยมสอนเอาไว้ เราก็บ่นว่าลูกเราไม่ขึ้นตรงต่อเรา เกเรนิสัยไม่ดีถูกเพื่อนๆ ชักจูงไปในทางไม่ดี  เราโทษว่าเราไม่มีอำนาจอะไรที่จะเลี้ยงลูกเราได้ สอนมันก็ไม่เอาเป็นเด็กไม่ดี  แต่ลืมนึกไปว่าเราปล่อยลูกออกจากบ้านเอง  ตรงนี้เรามีสิทธิไม่ใช่หรือ? ที่จะปล่อยลูกออกไปหรือไม่ให้ออกไป ถ้าปล่อยออกจากบ้านแล้วเราไม่มีอำนาจ เด็กๆจะคลุกคลีกันแล้วประพฤติเสียหาย แต่ถ้าเราไม่ปล่อยลูกไป ลูกเราก็จะเสียคนไม่ได้ ตรงนี้เองเรามีสิทธิ จะปล่อยลูกของเราไปหรือไม่? หรือจะให้ลูกอยู่ในบ้านแล้วเสี้ยมสอนใหม่   
          จิตของเราก็เหมือนกัน การที่จะรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
มีช่องนิดเดียวการที่ถูกครอบงำไปหมดเพราะจิตของเราปล่อยออกข้างนอก  เราจะให้จิตอยู่ข้างในหรือจะอยู่ข้างนอกดี  เราจะปล่อยจิตออกไปตามนิสัยเดิมๆ หรือเราจะขังจิตไว้ข้างใน  ตรงนี้เรามีสิทธิ์   เรามีสิทธิตรงนี้เอง จงเอาช่องนิดเดียวนี้ ให้เป็นโอกาสของเราเอาชนะข้าศึกได้   
          เราไม่ได้สิ้นอำนาจทั้งหมดก็หาไม่  เพียงแต่อำนาจเรามี แต่ถูกครอบงำอยู่ แล้วก็วางตำแหน่งระบบที่ผิดเอาไว้ ทำให้เราไม่มีอำนาจ  อำนาจมีเหมือนไม่มี  แล้วช่องทางอันน้อยนิดเราจะฉวยโอกาสนี้ให้เป็นทางเดินที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้  เท่ากับว่าเราจะไม่ปล่อยจิตดวงนี้ออกไปข้างนอกอย่างเก่าก่อน นี่คือสิทธิของเรา แล้วก็ใช้สติประคับประคองจิตของเราให้อยู่ข้างในอย่างเดียวได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็มีแวว ถ้าไม่อย่างนั้นก็ตัน จะเอาอะไรไม่ได้เลยชีวิตนี้  อะไรก็ไม่ขึ้นต่อเราเลย แล้วเรามีชีวิตเพื่ออะไร  มีชีวิตเหมือนไม่มี เพราะไม่มีอะไรขึ้นตรงต่อเรา  แล้วลองถามตัวเองว่า สิทธิทั้งหมดเราจะเป็นผู้ครอบครองทั้งหมด ไม่ขึ้นตรงต่อเขาทั้งหมดเลยมีไหมอย่างนั้น  ในเมื่อกิเลสครองหัวใจเรามาก่อน  แต่ตอนนี้เราจะเปลี่ยน เราจะไม่ให้เขามีอำนาจแม้แต่นิดเดียว แล้วเราจะครอบครองทั้งหมดได้ไหมอย่างนั้น  ตอบให้ก็ได้ว่า  ได้
!  ได้ ! แน่นอน  นั่นคือการพ้นทุกข์แล้ว มีสิทธิทุกอย่างในตัวของเราได้ เท่ากับว่าเราไม่เป็นทาสแล้ว

          คำสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อน้อมนำมาปฏิบัติ เราก็จะเกิดการปฏิวัติขึ้นจัดระบบการปกครองใหม่ทั้งหมด แล้วเราจะปกครองเอง โค่นอำนาจเดิมให้หมดขนาดนั้นเลย จัดระเบียบใหม่แล้วเราขอปกครองชีวิตของเราเอง ไม่ขึ้นตรงต่อใคร อำนาจนี้ครอบงำเรามานมนานแล้ว ระบบนี้ปกครองในหัวใจเรามานานแล้ว  เราเหนื่อยเหลือเกินกับความเป็นธรรมชาติอย่างนี้ เราขอเป็นอิสระบ้าง นี่คือที่มาของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตัวเอง  แต่ถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเราทำไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ สติปัญญาของเรารู้เองไม่ได้ เล่ห์เหลี่ยมทั้งหมดของกิเลสไม่มีใครชี้แนะเราได้ นอกจากพระพุทธเจ้า     
          คนในโลกนี้ ถ้าไม่มีการอุบัติขึ้นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะไม่มีใครเลยที่จะทำได้  ความรู้นี้พระองค์ทรงถ่ายทอดให้สู้สิ่งเหล่านี้ได้ แสงสว่างที่สุดในโลกนี้ที่เราได้รับคือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เหลือเพียงแต่ว่าเราจะน้อมมาปฏิบัติหรือไม่เท่านั้นเอง เราจะอบรมตัวเอง
เช่นนี้ทั้งกลางคืนกลางวัน ตลอดเวลาจนจิตเห็นตัวเองชัดขึ้นมาๆ ตามเจตนาที่สร้างขึ้นมาเองอย่างซ้ำซากแล้ว อาศัยความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตดวงนี้  และพยายามพอกพูนสิ่งที่ไม่เห็นยังให้เห็น สิ่งที่เห็นแล้วยังให้ความเห็นนั้นมากขึ้น และเพียรละอารมณ์ข้างนอกไม่ให้มีโอกาสเกิด ไม่มีโอกาสคิด ทำให้ตรงนั้นไม่มีทางเส้นเดิม โค่นระบบเดิมแล้วจัดระบบใหม่ขึ้นมา  ทำแล้วดูว่า จะเป็นอย่างไรจิตดวงนี้  เดี๋ยวจะมีผลออกมาตามลำดับให้เราเห็นตลอดเวลา  ผิดถูกไม่รู้ทำไปก่อน ทำทั้งกลางคืนกลางวัน ทำมากขึ้นๆๆ เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้นๆ จิตจะสว่างไสวออกมา ทั้งแสงสว่างในตัวมันเองด้วย เหมือนแสงหลอดไฟและการเห็นตัวเองชัดขึ้นมาด้วย  จิตเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง และสมาธิตรงนี้ตื้นมาก เป็นสมาธิที่จิตดิ่งเข้าไปในตัวรู้ก็ไม่ใช่  จิตจะออกไปคิดข้างนอกก็ไม่ใช่ แต่เป็นสติที่คาบเกี่ยวระหว่างนอกกับในเป็นแค่สติแต่เมื่อสติเกิดหนาแน่นมากๆ สตินั้นจะเป็นตัวสมาธิออกมาเอง สมาธิตรงนี้รู้ยากเหลือเกิน เป็นไปตามกลไกหรือระบบเหล่านี้เท่านั้น ที่จะผลิตสมาธิอย่างนี้ออกมาให้เห็นได้ และตัวสมาธิเองมิได้หมายถึงจิตจะนิ่งอย่างเดียวก็หาไม่  นิ่งด้วยและเห็นขึ้นมาด้วยเรียกว่า “ญาณทัสสนะ”  (ญาณ  แปลว่า รู้,  ทัสสนะ แปลว่า  เห็น)  เท่ากับว่าดวงตาข้างในเราเปิดขึ้นมาก็ถูกต้อง  ตาในเปิดนึกถึงตัวเองเรื่อยๆ ต่อมาเห็นจริงๆ เห็นแล้วก็ลุกลามขึ้นไปทั่วตัวมากขึ้นๆ แล้วก็รักษาความเห็นนั้น เอาไว้เป็นเครื่องอยู่ของจิต        ทำไมจึงต้องเป็นเครื่องอยู่  เพราะธรรมชาติจิตเป็นของเลื่อนไหล เราจะปล่อยลอยอยู่กลางอากาศหรือจะวางอยู่ในตำแหน่งไหน? จิตมักจะเลื่อนไหลไปตามสิ่งที่ต่ำกว่าหรือลาดลุ่มกว่าเหมือนน้ำ วางตรงไหนจะไหลไปเรื่อย แต่ถ้าเรามีภาชนะขึ้นมา  น้ำนั้นก็ตั้งอยู่ได้ ภาชนะนั้นเป็นรูปใดน้ำก็เป็นรูปนั้น  ถ้าเป็นแก้วก็เป็นรูปแก้ว ถ้าเป็นขวดก็เป็นรูปขวดที่บรรจุ  แต่ตัวของเราเป็นรูปอาการ ๓๒  จิตนั้นก็เป็นรูป คือ อาการ ๓๒  จิตนั้นเหมือนน้ำเหมือนกับว่าตัวเราทุกอณูของทุกขุมขนหรืออาการ ๓๒ ถูกคลุกเคล้าด้วยตัวรู้ของจิต  และตัวรู้ตัวเห็นของจิตคลุกเคล้าอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย สมาธิเป็นสติ เป็นสัมปชัญญะ   รู้ตัวทั่วพร้อม กลายเป็นสติปัฏฐาน ๔  และสมาธิประเภทนี้เกิดยากรู้ยากเมื่อเกิดแล้วจะคงทนความเป็นสมาธิอยู่นานมาก  ทำไปทำมาเป็นสมาธินานตลอด  ๒๔ ชั่วโมงก็ว่าได้ เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อมหายไม่คลอนแคลน พร้อมที่จะมั่นคงถาวรไปตามลำดับๆ ของอินทรีย์หรือว่าการประพฤติปฏิบัติเพิ่มพูนขึ้น  สมาธิอย่างนี้เป็นสมาธิที่เรียกว่า “โลกุตตรสมาธิ”  เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม 

          การทำจิตให้มีสมาธิลึกๆ (สมาธิแบบโลกีย์)  จิตแนบแน่นมากกลับเสื่อมได้  ถ้ามีอารมณ์เกิดขึ้นมากๆก็เสื่อมได้ แต่เราทำจิตตื้นๆ ตื่นๆ แบบรู้ตัวทั่วพร้อม รู้เห็นตัวเองชัดขึ้นมาเป็นแค่สติ  ตื้นกว่ากลับเป็นของเสื่อมไม่ได้ เพราะสติตื่นรู้นั้นหนาแน่นมากขึ้นจนกลายเป็นมหาสติ  ถ้าใครรู้สมาธิทั้งสองอย่างในตัวคนเดียว คนนั้นแหลมลึกด้วยปัญญาจริงๆ เฟ้นสิ่งที่ไม่เกิดให้เกิด สิ่งที่ไม่มีให้มี และมีแล้วรู้จักธรรมชาตินั้นดีด้วยสติปัญญาของตน สมาธิอย่างนี้จะงอกงามขึ้น พร้อมกับรู้เห็นแจ้งในสรีระของเราตลอดเวลา เห็นตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าของเราตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน เห็นแล้วให้เป็นเครื่องอยู่ และอยู่ตรงนั้นตลอดไป  จิตห้ามออกเอาสิจะปิดให้ตายเลย จิตดวงนี้ไม่ให้หลุดไปข้างนอกเลย ให้อยู่ข้างในอย่างเดียว แล้วก็อาศัยความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ของจิตเหมาะเจาะจริงๆเลย อบรมจิตอย่างนั้นทั้งกลางคืนกลางวัน กลายเป็นว่าตัวของเรากับจิตคลุกเคล้าเป็นสิ่งหนึ่งเดียวอยู่ในตัวเอง สมาธินี้จะไม่เสื่อมจะปรากฏอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน  เรียกว่า “ญาณทัสสนะ”  รู้แจ้งสรีระร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้าจนเห็นแจ้ง  เห็นในที่นี้คือจิตเห็นขึ้นมาตามเจตนาของเราที่ตั้งเอาไว้ 

          อบรมมาตามลำดับ  เมื่อจิตเห็นแจ้งสรีระของเราตามเป็นจริงอย่างนั้น ย่อมเห็นความไม่เที่ยงในตนในขณะเดียวกันนั้นด้วย  เห็นความตายอยูตลอดเวลา เห็นตัวเองเหมือนซากศพ เห็นข้างนอกข้างในเห็นแล้วก็สลดสังเวชใจว่า ตัวเราแท้จริงไม่มีอะไร  เป็นแค่ธาตุ ๔  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  รวมตัวกันเข้าเป็นร่างกายของเรา  การเห็นอย่างนี้เป็นอุบายอย่างเดียวในโลกที่จิตจะยอมรับ และเลิกพฤติกรรม ล้มล้างอุดมการณ์เดิมได้  โดยเหตุผลอันเดียวนี้เท่านั้น ไม่ว่าจิตชนิดใด ถ้าคิดจะไปไหนแล้ว มีอันต้องเลิกไปอย่างเดียว  เปลี่ยนทัศนคติใหม่ นิสัยเดิมที่เกเรอยู่ เป็นนิสัยที่จะต้องเปลี่ยน ตัวเราแท้จริงแล้วเป็นของว่างเปล่า  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ อันเกิดจากการเห็นแจ้งของตนที่อบรมมาตามลำดับเป็นพยานให้รู้เห็นอยู่ จิตดวงนั้นจะยอมจำนนต่อเหตุผล เห็นแล้วจะเอาความเห็นนั้นเป็นพยานในตัวเองว่า จะดื้อไปถึงไหน ดูสิตัวเรามีอะไร ความดื้อดึงคึกคะนองไปตามอารมณ์ของกิเลสที่มีอยู่เหมือนสัตว์ป่าที่ไม่ได้ถูกฝึก  เมื่อเขาเห็นตรงนั้นเขาจะสลดสังเวชว่า จริงๆแล้วนึกว่าตัวของเรามีตัวตน ตัวของตนอยู่ในที่นั้น  ความเห็นเดิมของจิตดวงนี้มีความสำคัญมั่นหมายและคิดว่า ตัวของเราทั้งหมดจะมีอะไรสักอย่างที่เป็นตัวของตน  ความคิดความเข้าใจเดิมทีของจิตดวงนี้จะเข้าใจอย่างนี้มาก่อน 

          ครั้นจิตเห็นจริงๆจากการค้นดูแล้วประจักษ์กับจิตของตนว่าตัวตนไม่มี การเห็นตรงนี้ทำให้จิตเป็นพยานในตัวเองว่า ไม่มีตัวตนของตน แต่ที่มีอยู่กลับเป็นของว่างเปล่า จิตจึงได้เข้าใจว่า ชีวิตตัวตนของเราจริงๆ ไม่มีหรือนี่ ! เดิมจิตไม่เข้าใจตรงนี้ เป็นเหตุแห่งความยุ่งยากสับสน ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องราวต่างๆตามมา เพราะความไม่เข้าใจตรงนี้ ที่คิดไม่จบเนื่องจากเหตุนี้เอง  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า  เมื่อไม่เที่ยงแล้วควรหรือที่จะยึดถือเป็นของเราเป็นตัวตนของเรา  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่ควรพระพุทธเจ้าข้า”    
          เมื่อประจักษ์แจ้งกับจิตตนแล้วย่อมเบื่อหน่าย  เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด  เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว  ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว  รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว  ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว  ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ซึ่งมีกล่าวไว้มากในพระไตรปิฎก  ความจริงจิตเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์(ขันธ์ ๕) แต่ก่อนที่จะเบื่อหน่ายให้เอาจิตไปเห็นแจ้งก่อน  จะเบื่อหน่ายของที่ยังไม่เห็นจะเป็นไปได้อย่างไร การทำให้แจ้งย่อมมีขึ้นด้วยประการฉะนี้  ต้องทำให้เห็นแจ้ง ทำให้ตาในมองเห็นชัด  เราต้องอบรมจิต จำเป็นจะต้องจินตนาการสร้างภาพขึ้นมา  เดิมจิตไม่ได้อยู่ตรงนั้น จิตเปลี่ยนไปตามเนื้องานที่มีอยู่เราต้องเข้าใจไปตามนั้น  ไม่ใช่สิบปีผ่านไปก็พุทโธอยู่นั่นแหละ ทำจิตนิ่งบังคับให้จิตสงบอยู่ การวิวัฒนาการหรือลำดับของการปฏิบัติก็เป็นไปไม่ถูก ผลจะออกมาได้อย่างไร แต่ผู้ปฏิบัติต้องสนใจจริงๆ แบบกัดไม่ปล่อย ทำแล้วไม่ทอดทิ้งถึงไหนถึงกัน ตายเป็นตายจะไม่ทอดธุระในการงานนี้ ชาตินี้ทั้งชาติทำดูซิ ! ทำก็ทุกข์ ไม่ทำก็ทุกข์ ทุกข์ไปหมด  จะเอาอย่างไร? เอาดีสักชาติหนึ่งลองดู ผิดถูกไม่ว่าทำไปก่อน มืดมนเหลือเกิน ทำไปๆ แจ้งจนได้หาทางออกได้    
          เราพิจารณาตนเองไปแล้ว เราจะเห็นสรีระของตนเองตลอดเวลา  เอาความเห็นนั้นเป็นเครื่องอยู่ ทำไปแล้วเห็นแจ้งแล้วต้องเอาเป็นเครื่องอยู่ด้วย  บางคนสงสัยถามว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับยึดมั่นสรีระของตนเองก็เป็นอุปาทานนะสิ  ที่เข้าใจอย่างนั้นนั่นไม่ใช่
! จิตมีเครื่องอยู่กับความเห็นนั้นแล้ว มีปัญญาเป็นเครื่องออก เหมือนเราอาศัยเรือข้ามฟากอาศัยอยู่ แต่ถึงฝั่งก็ต้องทิ้งเรือ  ระหว่างที่ยังไม่ถึงฝั่งอย่าทิ้งเรือ เพราะกายของเรายังไม่ตายต้องใช้งานอยู่  จิตมีความเห็นกายเป็นเครื่องอยู่ แต่มีปัญญาคิดได้ว่า กายที่เป็นเครื่องอยู่นี้ก็ไม่ใช่ของเรา  เราอาศัยกายเป็นเครื่องอยู่แล้ว มีปัญญาเป็นเครื่องออกด้วย  ไม่ต้องเกรงว่าจะเป็นการยึดมั่นถือมั่นเป็นอุปาทาน เพราะการที่จิตไม่มีเครื่องอยู่จิตจะเลื่อนไหล(ในภาวะจิตปกติก็จะเลื่อนไหลไปสู่กามคุณ ๕ ถ้าจิตเป็นสมาธิก็จะลอยตัวไปสู่นิมิตต่างๆ)  ขอให้ทำจริงก็จะได้ผลขึ้นมา  จะให้จิตอยู่หรือจะปล่อยให้จิตเที่ยว จะเลือกเอาอันไหนดี  จิตออกเที่ยวจิตก็ไม่สงบ หากจิตมีเครื่องอยู่ก็สงบในกายของเรา อยากสงบไม่ใช่หรือ?  นี่ให้แง่คิด ให้พิจารณาดู !      
          เมื่อจิตมีเครื่องอยู่ในกายจิตจะแจ้งตลอดเวลา  ความแจ้งนี้ไม่ได้หายไปเลย  ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ใดความแจ้งอันนี้จะแจ้งตลอดเวลา  ๒๔ ชั่วโมง  สว่างไสวทั้งคืนทั้งวัน  ทั้งเดือนทั้งปี ทั้งหลายๆ สิบปีไปจนถึงวันตาย ความแจ้งนี้จะไม่หายเลย ไม่เว้นแม้แต่วินาทีหนึ่งที่จะไม่เห็นแจ้ง  แม้ไม่เจตนาก็เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น  ความแจ้งสว่างไสวนั้นจะปรากฏอยู่ ทำให้จิตถูกปิดทางไม่ให้มีโอกาสออกข้างนอก เพราะเราไม่ให้โอกาสเกิด การที่จิตออกไปข้างนอกนานแล้ว ทำให้เกิดไฟราคะ โทสะ โมหะ  กองไฟเหล่านั้นจะมอดลงไป  จิตอยู่แต่ข้างในจะไปประหารข้างนอกอีกทีหนึ่ง

          ความจริงประจักษ์แจ้งในจิตแล้วว่า ตัวของเราไม่มีตัวตนที่แท้จริง คือ ว่างเปล่า ความสุขในโลกนี้ก็ว่างเปล่า เมื่อจิตเห็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ความเห็นแจ้งนั้นก็เปิดตลอด  เดิมตาในของเราปิดอยู่ไม่ถูกเปิดออกมา เมื่อตาในเปิดแล้วก็มองเห็นตัวเราทั้งหมดหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น  เห็นชัดยิ่งกว่าตาเนื้อ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าจนถึงฝ่าเท้า  ตานอกจะหลับก็ช่างจะลืมตาก็ช่าง แม้อยู่ในที่มืดหรือที่สว่างก็เห็นแจ้งอยู่อย่างนั้น เป็นอมตะทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยปรากฏดังเช่นว่านี้ การปรากฏการเห็นแจ้งขึ้นมาทำให้จิตดวงนี้ยอมจำนนต่อเหตุผล  เพราะญาณนั้นเป็นพยานให้ว่า “เราไม่มีอะไรเลยในโลกนี้” รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ เป็นของว่างเปล่า  ตัวตนเพียงน้อยนิดในตัวของเราก็หามีไม่    
          การไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่าเช่นนี้ ความคิดที่เราคิดอยู่ข้างนอก ในกามคุณทั้ง ๕  สุข ทุกข์ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ดี ถ้าตัวเราไม่เที่ยงแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะไม่เที่ยงได้อย่างไร  ควรหรือที่เราจะเอาจิตไปผูกพันกับสิ่งเหล่านั้น จิตสอนตัวเอง และให้แง่คิดแก่ตัวเอง ให้เห็นพฤติกรรมที่จิตท่องเที่ยวอยู่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด  ควรหรือไม่ควรทำเช่นนั้นต่อไป  จิตจะวินิจฉัยเองแล้วตัวจิตจะถ่ายถอนออกมา นี่จึงเป็นการล้างอุดมคติหรืออุดมการณ์เดิมออกให้จิตยอมรับตัวเองและเลิกพฤติกรรมเดิมนั้น ดีกว่าที่เราจะบังคับให้จิตเลิก เพราะการบังคับจะดีเองไม่ได้ เพราะจิตดื้อจิตยังไม่ยอมรับ เมื่อจิตยอมรับด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงก็จะยอมจำนนและเลิกเอง จึงจะเป็นจิตที่ดีได้ นี่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 
          จิตที่ถูกอบรมเช่นนี้จะเห็นพฤติกรรมของตนที่คึกคะนองอยู่ในโลกว่า ล้วนแต่เป็นทางผิดทั้งสิ้น เมื่อเข้าไปรู้ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน  ถ้าอย่างนี้การคิดไปก็ไม่ได้อะไร เพราะคิดไปก็เพื่อปรนเปรอตนเอง คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณนั่นเอง  ให้มีความสุขขึ้นมา แต่จิตก็ผิดหวังเมื่อประจักษ์ว่า ตนเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณนั้นจะเที่ยงได้อย่างไร?  ควรหรือที่เราจะวิ่งไปตามกระแสอย่างเดิมนั้น  จิตบอกกับตนเองว่า ถ้าอย่างนั้นเลิกเถอะ เลิกเที่ยวเลย เปล่าประโยชน์หาความเป็นสาระไม่ได้ จิตถามแล้วตอบเอง  เพราะพยานความเห็นแจ้งสว่างไสวนั้น เป็นตัวบ่งบอกและแก้ปัญหา อวิชชาถูกโค่นทิ้ง ความไม่รู้ถูกปลิดทิ้ง  ความรู้เข้ามาแทนที่ จิตดวงนั้นจะเป็นจิตที่เลิกพฤติกรรมเดิม ด้วยอุบายนี้     
          จิตเลิกพฤติกรรมได้เราก็ประคองได้ง่าย  ทีแรกเราประคองจิตอย่างเดียว จิตคิดไปตัดออกๆ จิตเริ่มรู้ตัวเองว่าที่คิดนั้นผิดแล้วจึงสมัครใจที่จะหยุดและจะไม่ไปแล้ว เมื่อก่อนจิตยังไม่รู้เราต้องควบคุมไว้ เพราะจิตจะไปอย่างเดียว เราก็เหนื่อยเหลือเกินกับการสกัดจิตดวงนี้ไม่ให้ออกไป จิตเปลี่ยนความเห็นใหม่เช่นนี้ เราก็เบาแรง จิตจะเปลี่ยนนิสัยที่เกเรออกไปตามลำดับ การที่จิตรู้ว่าพฤติกรรมเดิมๆที่ทำอย่างนั้นไม่ดี ความละอาย(หิริ-โอตตัปปะ)ก็เกิดขึ้นในจิตสันดานของตนว่า เป็นสิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา  เป็นความน่าละอาย  น่าเกรงกลัวในการกระทำผิดเช่นนั้น  จิตจะพัฒนาตนเองให้อยู่ในความดีได้ โดยอุบายความเห็นแจ้งขันธ์ ๕ ทำให้จิตเปลี่ยนนิสัยได้

          จิตเปลี่ยนจากจิตดื้อเป็นจิตดี  นิสัยก็เปลี่ยนเป็นดีได้  จิตนี้เป็นของฝึกได้ เราก็อัศจรรย์ในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าแหลมลึกเหลือเกิน  นึกไม่ถึงว่าจิตเป็นของที่ฝึกได้อย่างน่าอัศจรรย์แท้  ที่จริงเราก็อยากจะเป็นคนดีคนหนึ่ง  ไม่ใช่อยากเป็นคนไม่ดี  เราก็เกลียดความไม่ดีในตนเหมือนกัน จิตอยากจะดีแต่ดีได้ยาก เพราะจิตไม่เอื้ออำนวยให้เราดีได้  จิตดีไม่ได้เพราะอุบายไม่มีก็ดีไม่ได้ เจ้าตัวเองก็อยากจะดี แต่บัดนี้มาเห็นช่องทางว่าจิตนี้พัฒนาได้เป็นของสุดยอด  การพัฒนาจิตให้ดีก็ง่ายขึ้นไปตามลำดับ เท่ากับว่าความเพียรละอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพียรทำกุศลธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์ขึ้นได้ ทำจิตให้ขาวรอบได้ จะตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในโอวาทปาติโมกข์        
          ลึกๆแล้วจิตอยากจะดี แต่ไม่มีอุบายให้จิตจำนนต่อเหตุผล ที่จะทำให้จิตดีได้  การจำนนต่อเหตุผลอยู่บนพื้นฐานของความรู้แจ้ง  ถ้าไม่เห็นแจ้งตัวเราจิตไม่ยอมจำนน  จิตดื้อถึงจะมีสมาธิมากความดื้อก็ไม่หาย ดุจดังเราจับโจรขังคุกไว้นานเท่าไหร่นิสัยเดิมก็ไม่หาย แต่การเห็นแจ้งในขันธ์ ๕  จิตจะยอมรับยอมจำนนต่อเหตุผลเป็นโจรกลับใจ  ถูกเปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนดีได้โดยไม่ต้องถูกจับขัง ฉะนั้น จึงไม่ต้องเข้าสมาธิ แต่ให้ใช้สติพิจารณากายของตนให้เห็นแจ้งเท่านั้น เพราะการเข้าสมาธิดิ่งลึกจะทำให้เสียเวลา เพราะไม่ได้ช่วยให้เห็นแจ้งขันธ์ ๕ ผลออกมาจิตก็กลับไปเป็นอย่างเดิมไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็นจิตที่ดีได้ เมื่อเห็นแจ้งกายของตนชัดเจนแล้ว ค่อยไปทำสมาธิในภายหลัง       
          การพิจารณากายทำให้เกิดญาณทัสสนะ  เป็นการเจริญญาณนำไปสู่ความสำเร็จมรรคผลนิพพานในแบบ “ปัญญาวิมุตติ” เป็นการหลุดพ้นจากทุกข์ด้วยปัญญา  ส่วนการเข้าสมาธิแบบดิ่งลึกแน่วแน่จิตเป็นหนึ่งเดียว กระทำได้ในภายหลังเป็นการขยายผลไปสู่การเจริญจิตให้เป็นพุทธะในแบบ “เจโตวิมุตติ” เป็นการหลุดพ้นทางจิตทั้งสองแบบนี้สามารถมีอยู่ในพระอริยบุคคลเดียวกันได้  บุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความแตกฉาน มีปัญญากว้างขวางมากกว่าผู้สำเร็จมรรคผลนิพพาน  ด้วยการหลุดพ้นทางจิตเพียงอย่างเดียว  
          การเห็นแจ้งขันธ์ ๕ ใช้แต่เพียงสติเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าสมาธิ สติเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่แค่การเหยียดรู้ คู้รู้  นั่งรู้  ยืนรู้  นอนรู้ เมื่อทำได้แล้วก็หาย ต้องมาทำใหม่ให้เกิดขึ้นมีขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่สติปัฏฐานมีความหมายลึกกว่านั้นอีก เราตีปัญหาไม่แตก แต่ญาณที่เห็นขันธ์ ๕ แจ้งออกมาจะเห็นตลอดเวลา  เป็นสติที่กลายเป็นมหาสติ เป็นสมาธิอยู่ในตัวเอง จะไม่มีการเผลอเลย เป็นความบริบูรณ์อัตโนมัติ การเห็นแจ้งตัวตนไม่ดับหายไป  ความแจ้งจะแจ้งมาก จะเห็นสรีระของตนเองทั้งหมด แล้วจิตจะค้นหาว่าตัวตนอยู่ที่ไหนไม่มี ภาพนั้นเป็นพยานแล้วล็อคไว้เลย จิตไม่ออกข้างนอกอีกต่อไป      
          จิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เมื่อถูกป้อนข้อมูลได้รับการอบรมตรงนี้ ทำให้จิตของเราไปผูกพันตัวเราเอง ทำให้จิตไม่เลื่อนไหลออก  ตัวจิตจะมั่นขึ้นมา ทำให้การอยู่ของจิตมั่นเป็นสมาธินั่นเอง สมาธิตรงนี้ถึงที่สุดแล้วไม่ต้องประคองอีกต่อไป  จิตเป็นสมาธิอัตโนมัติจิตอาศัยกายเป็นเครื่องอยู่เอง สติกลายเป็นมหาสติก่อให้เกิดสมาธิที่มั่นคงมาก ไม่ต้องควบคุมจิตก็ไม่ไปไหน เป็นสมาธิอัตโนมัติที่ไม่มีวันเสื่อมไปจนตลอดชีวิต เป็นสมาธิที่ยั่งยืนถาวรได้ 
          แรกๆเราเลี้ยงสมาธิเช่นนี้ตลอดเวลา  อินทรีย์สำรวมไว้ตลอดเวลา การเห็นแจ้งตรงนี้ยังไม่พอ เพราะความเพียรในการปฏิบัติยังไม่เต็มที่ เมื่อถึงจุดเต็มอิ่มของการประพฤติปฏิบัติแล้ว การเห็นตัวเองจะแจ้งตลอดเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน สว่างไสวอยู่อย่างนั้น  เมื่อตาในเปิดสมาธิคุกรุ่นอยู่ตลอดเป็นอัตโนมัติเป็นทั้งกลางวันกลางคืน  ความเห็นแจ้งสว่างไสวนั้นไม่ได้ดับหาย  ไม่ได้นั่งสมาธิก็มีจิตเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติ เป็นทั้งระบบของชีวิตไม่ว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม สมาธิจะเกิดโดยอัตโนมัติ  เป็นสมาธิทั้งแท่งเหมือนทองคำทั้งแท่งบริบูรณ์ในตัวมันเอง ไม่มีความเสื่อม เป็นสมาธิที่ไม่ดับหาย  ยิ่งใหญ่กว่าการเข้าสมาธิแบบดิ่งลึก ใครค้นพบสมาธิเช่นนี้ถือว่า สุดยอด เพราะเป็นสมาธิตลอดเวลาและยั่งยืน ไม่นึกว่าจิตจะเป็นสมาธิถึงปานนั้นได้  จิตอยู่มั่นคงมาก เป็นสมาธิมั่นจากการที่จิตคิดออกไปเราพยายามดึงกลับเข้ามาหาตัวเองอยู่ตลอด ทำมากขึ้นๆ ทำให้กำลังของจิตที่วิ่งออกไปเป็นกระแสลดความแรงลงเหมือนรถที่มีความเร็วสูง เกิดการชะลอตัวลงจากรถวิ่งความเร็วเป็นร้อย ต่อไปก็เบาลง ๆ จนเหลือศูนย์    

          เราจะเห็นจิตที่คิดไป ประการที่หนึ่ง จิตคิดไปตามธรรมชาติของจิตที่มีอยู่เก่าก่อน  เป็นสาเหตุที่ทำให้จิตคิดไม่หยุดตามนิสัยเดิมๆ ที่เคยวิ่งออกข้างนอก ประการที่สอง  กระแสที่เป็นแรงผลักดันตัวจิตเองให้ออกข้างนอกมีสูง บางครั้งขณะที่เราทำจิตให้นิ่งอยู่เหมือนมีคนมาดันข้างหลังอยู่ตลอดเวลา จะผลักให้เราล้มไปข้างหน้า การเอาจิตนิ่งเหมือนกับเราเอามือไปอุดก๊อกน้ำ จะมีแรงดันออกมาที่มือเราตลอด ตรงนี้เรียกว่า “กระแส” ทำไมจึงมีแรงในตัวจิตเอง เพราะความเคยชินเหมือนรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูง เมื่อเรายกเท้าออกจากคันเร่ง รถก็ยังวิ่งฉิวอยู่ จิตที่วิ่งไปในอารมณ์ต่างๆ แรงส่งยังมีอยู่ แรงนั้นคอยจะผลักให้เราออกไปข้างนอก  กระแสที่มีความแรงเกินไปทำให้เรายืนอยู่ไม่ได้ด้วยลำแข้งของเรา  ทำให้จิตไม่มีสมาธิ  ต้องแยกแยะดูว่า ที่จิตไม่มีสมาธิ เพราะมีอะไรเป็นสาเหตุ 
          สาเหตุประการที่หนึ่ง คือ  นิสัยเดิมที่เราเคยไป เป็นความหลง ความคุ้นเคย 

          สาเหตุประการที่สอง คือ กระแสเหล่านั้นลดกระแสตัวเองจนถึงศูนย์ ทำให้กระแสไม่มี จิตก็นิ่ง รถวิ่งจนหมดแรงส่งก็จอดนิ่ง เพราะแรงขับเคลื่อนไม่มีแล้ว  ถ้าเชื้อเพลิงถูกตัดไม่ต้องเติมน้ำมัน ยกเท้าจากคันเร่งแล้วไม่ต้องเร่งต่อ ถึงไม่เบรกก็ต้องหยุด เพราะที่สุดก็คือหยุดเพราะแรงส่งไม่มี  เช่นเดียวกันอาหารของจิตที่จะเลี้ยงจิตวิ่งไปในกระแสข้างนอก เราตัดไม่ให้จิตออกไป  แถมน้อมจิตเข้ามาข้างใน เป็นการลิดรอนกระแสให้จางคลายลดแรงผลักดันลงไป จิตอยู่เลย ทำให้ตัวจิตนิ่งในตัวมันเอง ไม่มีแรงขับเคลื่อนอะไรจึงเป็นความนิ่งที่ถาวร ทำให้สมาธิตรงนี้เป็นสมาธิที่ยั่งยืนจริงๆ เป็นสมาธิที่ใหญ่โตมาก ล้มล้างระบบเดิมออกไปได้ จัดระบบใหม่ให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ของจิตดวงนี้ ไม่ให้มีกระแสอะไรต่างๆ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนผลักดันจิตให้ออกไปอีก  มิหนำซ้ำการรู้แจ้งก็มาเปิดให้เห็นอีกด้วย ระบบจิตจึงถูกเปลี่ยนทิศทางไปหมด   
          การรู้แจ้งเป็นพยานแก่ตัวจิตเองว่า เราไม่มีอะไรในโลกนี้ ตัวเรายังไม่มีเลย เราฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น เราไม่มีในที่นี้ ผู้อื่นก็เช่นกันไม่มีตัวตน ร่างกายทั้งร่างเห็นแจ้งเป็นพยานอยู่แล้ว จิตยอมจำนนเมื่อจิตเห็นว่าตัวตนนี้ไม่เที่ยงแล้ว  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจก็ดี  อันเป็นประตูที่อาศัยสัญจรไปมาของจิต เมื่อตัวทั้งตัวไม่เที่ยงแล้ว  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ จะเที่ยงได้อย่างไร?  ขันธ์ ธาตุ อายตนะ กระจัดกระจายอยู่ ความจริงได้ปรากฏประจักษ์แก่จิตกระจ่างแจ้งออกมา  โพธิปักขิยธรรม ๓๗  จะตีแตกไปหมด ทำลายกองอวิชชา  ทำลายกองทหาร  ทำลายกองอำนาจใหญ่โต(กิเลส)ที่ทับถมหัวใจของเรานั้นออกไปได้          
          เมื่อตัวทั้งตัวไม่เที่ยง
  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ จะเที่ยงได้อย่างไร ?  ฉะนั้น กิจอันใดที่อาศัยอายตนะเหล่านี้เป็นเครื่องออก  สุขก็ดี  ทุกข์ก็ดี  ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี  อารมณ์เหล่านั้นจะเที่ยงได้อย่างไร ? เมื่ออายตนะไม่เที่ยง  อุบายออกว่า ถ้าเช่นนั้น เราปล่อยตาไว้เป็นของใช้  จิตเราอย่ายินดีแม้ตานั้น และอย่าออกจากตานั้น  ตาใช้งานไปแต่จิตอย่าวิ่งออกจากตานั้นเลย นี่เป็นเครื่องออกของตานั้น อุบายออกก็จะเกิดขึ้นว่า เราไม่ควรจะส่งจิตออกไปข้างนอกทางตา  เพราะฉะนั้น ตา หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ซึ่งเป็นอายตนะ ได้เริ่มปิดแล้ว ปิดทั้งๆ ที่เปิดอยู่  ปิดแทนที่จะหลับตาตลอดกลับเปิดอยู่ เป็นเหมือนของที่ปิดเอาไว้ เปิดเหมือนปิด ปิดเหมือนเปิด ไม่มีความหมายอะไร เพียงแต่ไม่ส่งจิตออกตานั้น ก็สำเร็จประโยชน์แล้ว   
          นี่คือ อุบายออก รู้สึกก็สักแต่ว่ารู้  เห็นสักแต่ว่าเห็น  ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน แต่จิตหาได้ไปคลุกคลีต่ออารมณ์เหล่านั้นไม่  ตีกรอบจิตดวงนี้แคบลงๆ ล้อมวงตีกรอบจนดิ้นไม่หลุด และการลิดรอนต่างๆ มีระเบียบหมด  นี่คืออบรมมรรค  มรรคปฏิปทาถูกผิดอย่างไร ผลไม่มีอย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้  ผิดถูกอย่างไรถ้าผลเช่นนี้เกิดมีขึ้น ใครพยากรณ์ว่าถูกหรือผิด  เอาความจริงไม่ดีกว่าหรือ?

          มรดกชิ้นนี้ เอาไว้ให้เราขบคิดกันเอง ใครจะตีความหมายแตก เราไม่ได้เอาความรู้มาวัดเอาความเป็นจริงมาวัดดีกว่า  คนนั้นจะรู้จักว่าถูกหรือผิดอย่างไร? ถ้าคนปฏิบัติจริงๆ กัดไม่ปล่อย เมื่ออยากจะหาทางออกก็ค้นคว้าธรรมชาติที่มีอยู่ ตามธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กาย เวทนา จิต ธรรม(สติปัฏฐาน ๔) เมื่อเห็นกายในกายก็จะเห็นตัวจิตทั้งหมด  เราเห็นว่า  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ ไม่เที่ยง  เวทนานั้นจะเที่ยงได้อย่างไร?            
          เมื่อถูกวางกรอบครอบเอาไว้ ทำให้จิตดิ้นไม่หลุด  จำนนต่อเหตุผลมีประการต่างๆ ด้วยญาณทัสสนะที่เกิดขึ้น ญาณตัวนี้เป็นตัวทำลายอวิชชา จิตเกิดความสว่างไสวเห็นตัวแจ้งทั้งวันทั้งคืน จิตมองเห็นตัวเองแล้วเกิดความเบื่อหน่ายสรีระของตนว่า เป็นสิ่งปฏิกูล เห็นตัวเองเหมือนซากศพทั้งคืนทั้งวัน เบื่อหน่ายว่าเราไม่มีอะไรดีเลยหรือนี่
! มีแต่สิ่งปฏิกูล

          ทีแรกนึกแต่เรื่องตาย ยังมองไม่เห็นตัวเอง นึกถึงตัวเองตาย สร้างภาพให้เห็นจินตนาการขึ้นมาก่อน  เมื่อตาในเปิดมองเห็นตัวเองแล้วเราไม่ต้องนึก การนึกเห็นตัวเองจะเกิดขึ้นเองโดยเอาความเห็นภาพจินตนาการเป็นตัวอย่าง เอาความเห็นเป็นเครื่องวัด เรียกว่า  “เนกขัมมะ” คือ ความออกจากกาม จิตเมื่อเห็นตัวเอง จิตจะนึกถึงความตายเองโดยอัตโนมัติ  เห็นความตายทั้งที่เจตนาและไม่เจตนาก็เห็นโดยอัตโนมัติ  แปลก ! จิตจะไม่ลืมความตายเพราะการเห็นแจ้งนั้น แจ้งในขันธ์ ๕ แล้วจะไม่ลืมความตาย

          การเห็นตัวเองชัดแล้วจบ แต่เชื่อไหมว่าจิตดวงนี้กบฏคืนได้ เช่น เราพิจารณาร่างกายตามครูบาอาจารย์สอนบ้าง  ตามคำสอนพระพุทธเจ้าบ้าง ว่าตัวของเราไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง แล้วย้ำกับตัวเองว่า เราไม่มีอะไรเลย ปล่อยวางโลกเสีย จิตยอมรับ จิตตกลงว่า จะไม่ดื้อ จะปล่อยวาง หลังจากอบรมแล้ว ต่อมาเราก็ปล่อยจิตตามปกติธรรมดา  สักพักจิตลืม  บางครั้งเราพบกับอารมณ์วิ่งพรวดเข้าใส่  ทั้งๆที่จิตก็บอกกับตนเองแล้วว่า อย่าไปยุ่ง ! แต่จิตกบฏเสียแล้ว จิตเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน  กลับไปเป็นเหมือนเดิม เราอบรมจิตแล้วไม่ได้ผล  จิตเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำไมเป็นอย่างนี้ จิตก็ไม่เข้าใจตัวเอง เพราะการอบรมจิตของเราไม่มีญาณเกิดขึ้น เป็นแค่สัญญาว่า เราไม่เที่ยง ไม่ได้พิจารณาร่างกายให้เกิดญาณออกมา  สัญญา คือ เจตนาให้จิตพิจารณาตามความเป็นจริง แต่จิตไม่เห็นแจ้งออกมา เป็นความละเอียดในการรับรู้ของจิตอีกชั้นหนึ่ง  จิตจึงจะยอมรับความเป็นจริง การพิจารณาเป็นไปตามสัญญากระทำซ้ำซากบ่อยๆ ให้กลายเป็นญาณขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง  ญาณเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เห็นแล้วจะไม่หาย และญาณจะไม่ดับ  เมื่อญาณไม่ดับการพลิกแพลงของจิตหลังจากอบรมแล้วจะไม่กลับกลอก จิตที่เห็นญาณแล้ว จะเป็นมาตรฐานในตัวเอง จิตจะไม่กบฏอีกต่อไป           
          การที่จิตกลับกลอกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  เพราะการอบรมของเรายังไม่พอ  การเห็นตัวเองของเรายังไม่แจ้ง จึงยังไม่เกิดญาณขึ้น หากทำให้เห็นแจ้งจิตจะอยู่ในอำนาจควบคุมของเรา การเห็นนั้นจะไม่หายเป็นพยานแก่จิตแล้ว จิตจะไม่กบฏ การที่จิตกบฏเพราะความเห็นนั้นหายไป  ยังไม่เกิดญาณขึ้น ต้องอบรมจิตซ้ำซากทุ่มเททำให้มากขึ้นอีก จนความเห็นแจ้งตัวตนไม่ดับหายไป จึงเกิดเป็นญาณทัสสนะ     
          เมื่อเราเห็นรถชนคนตาย เราผ่านไปพบเห็นเข้าใจสลดสังเวชมาก  จิตใจห่อเหี่ยวมือไม้อ่อนไปหมด และเห็นว่ามนุษย์เราไม่มีอะไรหนอ? มีแค่นี้หนอชีวิต ความไม่ดีในใจอยากจะเลิกหมด อยากจะทำความดี  แต่พอเวลาผ่านไปสักพักก็ลืมแล้ว จิตก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก  เพราะเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้วก็ลืมไปแล้ว  อันเดียวกันเลยจิตลืมสิ่งที่ได้รับการอบรมผ่านมานั้น  แต่ญาณไม่ลืม ญาณเป็นการรู้ที่ฝังแน่นในจิต  ญาณ คือ การเห็นแจ้งออกมา แล้วล็อคคาไว้ประกบจิตดวงนี้ไม่ให้ลืมความเห็นนั้น เพราะญาณเป็นพยานติดอยู่กับจิตประกบไว้เลยจะพ้นทุกข์จริง ญาณประกบจิตกลับกลอกไม่ได้เลย  เสมือนการที่เราเห็นคนถูกรถชนตายสลดสังเวชใจ แล้วยังไม่พอจับซากศพนั้นแบกติดบ่าไว้เลย  ไปบ้านไปด้วยกันไปไหนไปด้วยกัน  จิตจะไม่ลืมญาณเป็นพยานล็อคจิตไว้จนวันตาย  จิตดิ้นไม่หลุดเลยไม่มีอำนาจใดๆ ทำให้จิตเปลี่ยนแปลงได้ จิตนั้นจะเลิกพฤติกรรมเดิมแล้วล็อคความเห็นนั้นไว้ จิตไม่กบฏอีกต่อไป 

          จิตเกิดความเบื่อหน่ายตัวเอง คลายความยินดีในตัวเองออก คลายความยินดีในตัวเองได้เท่าใดก็คลายความเป็นโลก คลายอารมณ์ทั้งหมดออกจากจิต ซักฟอกจิตจนเหลือแต่จิตดวงเดียวที่ไม่มีอารมณ์  มีแววตั้งแต่เห็นครั้งแรกแล้วว่างานนี้สำเร็จแน่  ทำไปจนถึงที่สุดแล้ว เราเบื่อหน่ายตัวเองมากเท่าใด นั่นคือ ความเบื่อหน่ายโลกทั้งโลก  เบื่อหน่ายในแง่โลกเป็นของที่ไร้สาระ เพราะเห็นตัวเองเป็นสิ่งปฏิกูลเป็นเหมือนซากศพตลอดเวลา เราฉันใดผู้อื่นก็ฉันนั้น หญิงก็ดีชายก็ดี ตรงนี้ทำให้กามราคะที่เบาบางตั้งแต่ต้นถูกฆ่าให้ตายอีกทีหนึ่ง  ไม่เหลือหมดกามราคะ  แล้วธรรมชาตินี้จักไม่ฟื้นอีกด้วย เพราะการเห็นแจ้งนั้นมากสว่างไสวรุ่งเรืองล็อคจิตไว้หวนกลับไม่ได้ เท่ากับธรรมชาติอันใดที่มีอยู่ในใจเรามาก่อน เป็นเกมส์อันหนึ่งที่เราเกิดมาพบนั้นถูกลบทิ้งให้หมด เหลือแต่จิตดวงเดียว เท่ากับว่าเราโละอารมณ์เหล่านั้นออกทั้งหมดไม่เอาแล้ว ถ้าเราเห็นแจ้งตัวเองได้เท่าไหร่ก็เบื่อโลกนี้มากเท่านั้น เป็นอุบายออกของจิตว่าคิดอะไรไปก็ไม่ได้อะไรอย่าไปคิดเลย  เรื่องของความคิดจงละเลิกเสีย

          จิตเริ่มเห็นโทษแล้วว่า กิเลสของตนเป็นของน่ารังเกียจ แต่ก่อนกิเลสเป็นของสนุกสนานเมื่อเห็นตัวแจ้งแล้ว กิเลสเป็นสิ่งน่ารังเกียจ จิตก็จะถ่ายถอนจนเบื่อตัวเองถึงที่สุดร้อยเปอร์เซ็นต์  โลกทั้งโลกนี้เหมือนผลไม้ที่สุกงอมหลุดจากขั้วจิต หลุดจากอารมณ์ทั้งหมดไม่ขึ้นกับอะไร  ผลไม้หลุดจากขั้ว  ชีวิตปิดฉากของอารมณ์  จิตเป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา คนนั้นจึงหลุดพ้น หมายถึงหลุดจากความปรุงแต่งของจิตที่เป็นอารมณ์ทั้งหมด  ไม่ขึ้นตรงต่อใครต่ออะไรอีก นอนหลับสบายไม่ต้องทำความเพียรแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว ธรรมชาติของจิตนั้นรุ่งเรืองสว่างไสวในตัวเอง จิตจะไม่มีภาวะที่กลับไปเป็นอย่างเดิม เป็นคนเดิมอีก

          แสดงว่าธรรมชาติมีทางออก มิได้หมายถึงธรรมชาติของจิตต้องเป็นอยู่อย่างนั้น ก็จะต้องเป็นเช่นนั้นตลอด เป็นอย่างอื่นหาเป็นไปได้ไม่ก็ไม่เชิง  ปฏิปทาทั้งหมดมีอยู่บุคคลที่ประพฤติได้ตามปฏิปทานั้นมีอยู่ จิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จิตหลุดจากอารมณ์ทั้งหมด กลายเป็นว่า จิตนั้นไม่ขึ้นตรงต่อใคร จิตเป็นอิสระ จิตจะเชื่อฟังบอกให้อยู่ก็อยู่ จิตไม่ดื้อ จะไม่มีอะไรเลวร้ายอีกต่อไป  จิตไม่คิดอะไรเลย อดีตไม่มี  อนาคตไม่มี  จิตไม่ออกแล้วจะไม่หวนกลับไปสู่สภาพเดิม  คนนั้นเมื่อจิตว่างเปล่า ร่างกายก็ว่างเปล่า เป็นหญิงก็ไม่ใช่ เป็นชายก็ไม่ใช่  แต่ร่างนั้นเป็นหญิงเป็นชายอยู่ แต่จิตหาได้เป็นไม่  บริสุทธิ์แท้ๆ คือ ความว่างเปล่า เป็นสุญญตารมณ์  อารมณ์เป็นสูญ  คนๆ นั้น หนึ่งเดียวในโลกนี้ เป็นเช่นนี้จริงๆ

         ทำไปเถิดเราไม่ต้องเชื่อฟังใคร  อย่าเอาปริยัติให้มาก  เน้นปฏิบัติให้มากๆ เป็นได้ใครไม่เชื่อว่าจิตนี้หยุดได้ ถ้าคิดว่าปล่อยให้จิตคิดไป แล้วเราอย่าหมายมั่น แสดงว่าคนนั้นไม่รู้จริงๆ  แล้วคนๆนั้นก็หนีพ้นจากความเป็นโลกไม่ได้ จึงได้คิดเช่นนั้น  ปฏิปทามีอยู่และคนที่ทำได้มีอยู่ ถ้าไม่เช่นนั้นจะสุขได้อย่างไร สุขจริงๆ สุขที่จิตไม่คิดอะไร จิตไม่คิดตลอด  ๒๔  ชั่วโมง  จิตจะถูกปิดไปจนวันตาย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำการงานอย่างไรถูก ทำถูก ! ขอให้เราทำได้เช่นนี้แล้วจะทำงานแบบรู้ ไม่ได้ทำแบบใช้จิตคิด มีตาเหมือนไม่มีตา มีหูเหมือนไม่มี มีตัวเองเหมือนไม่มีอะไร โลกนี้เป็นสูญ สุญญตารมณ์ ไม่ต้องควบคุมจิต ปล่อยจิตก็จะไม่ไปไหนเลย จิตจะว่านอนสอนง่าย จิตที่คิดไม่ดีไม่มีเหลือ จิตจะเรียบร้อยมากเหมือนผ้าที่พับไว้ ไม่น่าเชื่อว่า จิตจะน่ารักขนาดนั้น กลายเป็นจิตที่น่ารัก ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน อบรมแล้วนำสุขมาให้จริงๆ สุขนั้นคือความเป็นหนึ่งเดียว กายเดียวจิตเดียว จิตจะมั่นคงยั่งยืนถาวร

          สมาธิที่ได้เป็นมหาสติทำให้เกิดญาณเห็นแจ้งตนเอง  เป็นสมาธิในอริยมรรค ถ้าไม่อบรมไม่เกิดต่อเมื่ออบรมแล้วจึงจะเกิด  แต่รู้ได้ยากมากที่สุด  การมีสติพิจารณากายทุ่มเททำทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดเลยเว้นแต่หลับก็ยังทำไปจนกระทั่งหลับ แม้กระทั่งความฝันก็ไม่ให้มีขึ้น แม้แต่ความฝันก็ให้จิตรั่วไม่ได้ ทำจนถึงขนาดนั้น แม้จะเหนื่อยขนาดไหนก็ต้องทำ ไม่ทำอย่างนั้นก็สู้ไม่ได้ เพราะสมาธิแบบมุ่งให้เกิดญาณเป็นโลกุตตระสมาธิ เราทำกระท่อนกระแท่นก็ไม่ได้ ถ้าเราทำแล้วพอเลิกทำก็ปล่อย จิตที่ถูกปล่อยจะมาดึงจิตที่เหนี่ยวรั้งไว้ข้างในตัวออกไปอีก เปรียบดังเราหาเงินมาได้ร้อยบาท แต่เวลาจะใช้ๆเกินทุน ต้องไปหาใหม่อีก แล้วเมื่อไหร่จะมีเงินเป็นกองใหญ่  เวลาเลิกทำสมาธิก็ปล่อยไปทิ้งไป อารมณ์ข้างนอกก็จะดึงออกไปอีก แล้วต้องทำใหม่อีกก็เป็นอย่างเดิมอีก ไม่มีระบบระเบียบ จึงไม่ใช่  สัมมัปปาทาน ๔  ว่าด้วย ความเพียรชอบเพื่อละอกุศลเก่า ไม่ทำอกุศลใหม่ เพียรทำกุศลใหม่ และเพิ่มพูนกุศลเก่า  จัดสรรปันส่วนให้ถูกต้อง กาลเวลาเท่ากันแต่การประพฤติปฏิบัติทำไม่เหมือนกันก็เจริญไม่ได้  ไม่น่าเชื่อว่าการไม่คิดเป็นความสุขที่สุดในโลกได้  เพราะคิดแล้วไม่ได้อะไร เลยไม่คิด แค่จิตสงบแค่นิดๆหน่อย ยังมีความสุขมากเหลือเกิน  ถ้าจิตไม่คิดตลอดกาล จะเป็นสุขมากขนาดไหน   
          เมื่อก่อนเรายังไม่ได้อบรมจิต ยังนึกไม่ถึงว่า จะให้จิตนิ่งตลอดจะได้หรือ?  เมื่อทำไปแล้วมีแววว่าจะเป็นไปได้ ธรรมชาติเหล่านี้เรายังไม่รู้ ให้ทำไปก่อนแล้วจะฉายแววออกมาให้เห็นว่า เป็นไปได้และผลสุดท้ายก็ทำได้  ขอให้คนๆนั้น ทำความเพียรให้มากยาวนานกี่ปีก็ทำไป ทำความเพียรอย่างเดียว ความเพียรจะนำไปสู่ความสำเร็จและนำประโยชน์สุขมาให้  หากทำได้แล้ว ความปรุงแต่งดับสนิท  คนนั้นจะไม่เหมือนคนในโลกนี้  วิญญาณของเขาดับแล้ว  การคิดเห็นเป็นภาพออกมาถูกทำลายไปจะไม่มีอีกต่อไป วิญญาณดับไปแล้ว เวลาตายไม่มีการปรากฏอยู่ ณ ที่ใด แต่คนเราเวลาตายจิตคิดถึงอะไร สิ่งนั้นจะเป็นที่เกิด อย่าว่าแต่ตายเลย คนเป็นๆ ยังคิดไม่หยุดเป็นการเกิดเป็นภพชาติทั้งหมด

          น่ากลัวจิตของปุถุชนไม่มีการหยุดคิดเลยเกิดแล้วตายๆๆไม่รู้จบ เกิดโดยที่อารมณ์เป็นผู้พาไป ไม่มีการสิ้นสุดของภพชาติ  คนเราเกิดมาก็ผ่านการเกิดการตายมามาก ทุกข์แสนสาหัสก็มีอยู่ในชีวิตนี้ แต่สุดท้ายก็รอดจากความตายไม่ได้ แล้วชีวิตเราจะได้อะไรกับความเป็นไปอย่างนี้ โลกมีความเพลินประการต่างๆ เป็นเครื่องประกบไว้ กามคุณทั้ง ๕ ผูกมัดจิตดวงนี้ไว้ หากทำให้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์ทั้งหมดได้ จิตก็ไม่ถูกผูกมัด โซ่ตรวนถูกทำลายแล้ว เราจะเป็นอิสรภาพในตัวของเราเอง ไม่ขึ้นตรงต่อใคร เราก็จะซาบซึ้งในพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ โดยนัยนี้ เมื่อเห็นแจ้งกายแล้ว เราจะเกิดความซาบซึ้งถึงบุญคุณของผู้ที่ให้ความรู้ก็คือพระพุทธองค์นั่นเอง

          แล้วเราจะเกิดความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก  บางครั้งเราทำความเพียรไปนึกไปว่าถ้าไม่มีความรู้อันนี้ในโลกนี้แล้ว เราจะอยู่ตำแหน่งไหนหนอของโลกนี้ เราจะเป็นคนเช่นไรหนอ บุคคลผู้ให้ความรู้ช่างมีพระคุณต่อเราเหลือเกิน  พระพุทธคุณล้นอยู่ในใจ  ธรรมที่เห็นมีอยู่ทำให้น้ำตาคลอ เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็มีรสชาติในการกระทำความเพียรมีชีวิตชีวา มีผลทำให้เกิดความมุมานะที่จะยังให้เกิดความสำเร็จประโยชน์สูงสุด มีปีติสมาธิในตัวเอง การประพฤติปฏิบัติไม่ได้จืดชืดอย่างที่คิด เป็นของที่มีอยู่แล้วในโลกนี้ กิเลสต่างๆก็เคยมี  แต่สิ่งที่ไม่มีนี้เรายังไม่เคยพบ  ถ้าไม่มีแล้วไม่สนุกกลับมามีใหม่อีกก็ได้  แต่ทุกคนเมื่อทำถึงที่สุดทุกข์แล้ว ไม่มีการย้อนกลับมาแน่นอน มีแต่ละจากความเป็นโลก ไม่คิดจะกลับ เพราะโลกนี้ว่างเปล่าไร้สาระ  ความเพลินที่มีอยู่เป็นสิ่งจอมปลอม เป็นน้ำผึ้งที่เคลือบยาพิษ  เจือด้วยยาพิษหลอกให้เราดื่มกิน คิดว่าหวานแต่เป็นยาพิษดีๆนี่เอง ความสุขใดๆที่โลกมีอยู่ความสุขนั้นก็เจือไปด้วยยาพิษแต่เราไม่รู้ ถึงรู้เราก็ไม่มีอุบายออก และเราไม่ขวนขวายที่จะออก  ความรู้ที่พระพุทธองค์ทรงมาสั่งสอนจะมีประโยชน์อะไรกับบุคคลนั้น  แต่จะมีประโยชน์กับบุคคลที่นำมาประพฤติปฏิบัติเท่านั้น จึงจะเห็นความอัศจรรย์นั้น ว่ามีความสำคัญมากสำหรับชีวิตนี้ เพราะเราไม่ได้เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือเชื่ออย่างลอยๆ เราขอพิสูจน์ก่อน ถ้าพิสูจน์แล้วไม่จริงเราก็ไม่ศรัทธา  ความศรัทธาไม่มีใครบังคับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล  ศรัทธาจะเกิดมีขึ้นได้โดยบุคคลนั้นเห็นผลของการกระทำ จึงเกิดศรัทธาขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้น ศรัทธา  วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จึงเป็นกำลังที่ยังบุคคลนั้นเข้าสู่ความเลื่อมใสศรัทธาแล้วก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ไม่ได้ศรัทธาลอยๆ เป็นศรัทธาที่เกิดด้วยเหตุสัมปยุตที่เป็นจริง     

          ที่สุดของธรรมทั้งหมดรวมอยู่ที่นิพพาน  หลักการประพฤติปฏิบัติธรรมที่เราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์มานั้น ให้ทำทั้งหมด จะเชื่อทีเดียวกันก็ไม่ใช่ ค้นเอาว่าจะหาทางออกอย่างไรดี และทางออกนั้นต้องมีคุณภาพ มีความชัดเจนต่อความเชื่อและความเข้าใจ  ถ้าเราอบรมจิตแล้วผลที่ได้ “จิตไม่เป็นหนึ่งเดียว” ทางเส้นนั้นถึงจะพรรณนาอย่างสวยหรูวิจิตรด้วยอักษร ไพเราะด้วยสำนวนก็หาได้ถูกไม่ แต่ถ้าเส้นทางนั้นแม้จะไม่ได้พรรณนาถึงความวิจิตรอะไร แต่ทางนั้นดับได้  กิเลสตัณหาและความปรุงแต่งของจิตที่มีอยู่เป็นเครื่องวัดทางนั้น เป็นความถูกต้องในการประพฤติปฏิบัติ เราเอาผลที่ได้เป็นสำคัญ ไม่ได้เอาความไพเราะของสำนวนในการสอน  เราเอาความจริงที่ปรากฏ เอาความจริงเข้าว่า  เหมือนคนที่เป็นไข้มีคนบอกว่า ยาขนานนั้นดี  ยาขนานนี้ดี  เราจะวัดเอาความดีของยาได้ตรงไหน ถ้าว่าดีกินแล้วไม่หายไข้ยานั้นก็ไม่ดี  การวัดว่าดีก็ตรงที่ผลของการหายไข้  แต่ถ้าเขาบอกว่ายานี้ไม่ค่อยดีลองกินดูแล้ว ไข้กลับหายก็กลายเป็นว่ายาตัวนี้ดีที่สุด  ทั้งที่เขาบอกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่  เราเอาผลของการหายไข้เป็นเครื่องวัดฉันใดก็เหมือนกัน  การหมดกิเลสดับความปรุงแต่งได้  จิตเป็นหนึ่งเดียวไม่มีการเปลี่ยนแปลง แปรสภาพเป็นอย่างอื่นไม่ได้  เอาสิ่งนี้เป็นเครื่องวัด ความถูกผิดเอาผลที่ได้เป็นเครื่องมือวัด ไม่ได้เอาความวิจิตรของโวหารหรืออื่นๆ เป็นเครื่องวัด    
          จะไม่พูดถึงเรื่องอื่น แต่จะพูดเรื่องจิต เรื่องใจ เพราะตรงนี้เป็นเรื่องยาก จะเอาเนื้อๆมาพูดไม่พรรณนาเรื่องอื่น  ถ้าใจไม่เป็นเสียอย่างก็ไม่เป็น  บุญ บาป  สวรรค์ นรก ก็อยู่ที่ใจดวงนี้ ถ้าเป็นก็เป็นทั้งหมด เรามาพบคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะเอาเท่าไหร่ประโยชน์อันนั้นต้องคิดให้ดี  ถ้าวัยของเราล่วงเลยแล้ว ความตายมาถึงเราจะทำอย่างไร?  ตายไปเกิดเป็นสัตว์อื่นที่ไม่มีคำสอนของพระพุทธองค์ตรงนั้น อย่างสุนัขอยู่ลานธรรมทุกวัน สุนัขเหล่านั้นจะรู้หรือเปล่า? ไม่รู้เสียดายเวลา ทำไปเถอะเพราะไม่ทำก็ทุกข์อยู่แล้ว  ใช้ความเพียรมาก เห็นใจว่าต้องเพียรมากจริงๆทุกเวลา ชีวิตของคนๆนั้นระบบชีวิตไม่มีรอยรั่วเหมือนเรือไม่มีรอยรั่วถึงจะข้ามฟากได้ การทำสมาธิอารมณ์ไม่รั่วถึงจะเสื่อมไม่ได้ น้ำไม่รั่วน้ำนั้นก็ไม่พร่อง  ถ้ามีรอยรั่วน้ำก็พร่องอยู่ ความเผลอของสติก็มีได้  เมื่อความรั่วไหลของจิตในอายตนะไม่ปรากฏ  สมาธิบริบูรณ์อยู่ตรงนั้น  สมาธิจะเสื่อมได้อย่างไร เพราะบริบูรณ์อยู่สมาธิกันรอยรั่วไว้หมด สติปัญญามีมาก ทำไปทำมา ผม ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  ดูอาการ ๓๒ นั่นเอง  ไม่ใช่อย่างอื่นเลย  พระบวชใหม่ก็ให้กรรมฐาน ๕ เกสา  โลมา  นะขา  ทันตา  ตะโจ  ทุกองค์ไม่ได้เว้นเลยแม้องค์เดียว  ทำไมไม่ทำตรงนี้กัน  เมื่อทำก็ทำไม่พอ ทำให้มากพอก็จบ  เป็นสิ่งที่ให้ตรงๆอยู่แล้ว  แต่การทำของเราไม่พอเอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทำให้เห็นแจ้งแล้วจะสำเร็จมรรคผลนิพพานได้        การให้กรรมฐาน ๕  ก็ให้ตรง ๆ อยู่แล้วแต่กิเลสเล่ห์เหลี่ยมมีมาก  ถ้าไม่เช่นนั้นกิเลสก็คงหลอกมนุษย์ไม่ได้ เพราะกิเลสมีความฉลาด ถ้าเราคิดว่าเราฉลาดกว่ากิเลส กิเลสจะครอบงำจิตใจของเราได้อย่างไร แสดงว่าเราโง่กว่ากิเลส เราคิดว่าเราฉลาดแต่สู้กิเลสไม่ได้ ไม่นึกว่ากิเลสจะมีความแหลมคมมากขนาดนั้น  หลอกมนุษย์ยังไม่พอ ยังหลอกเทวดาไปจนถึงพรหมโลกโน่น ไม่ใช่หลอกมนุษย์อย่างเดียว เทวดาก็โดนหลอกทั้งที่เห็นนรกอยู่แท้ๆ มนุษย์ยังไม่เห็นนรก เห็นนรกไม่ได้ เก่งมากธรรมชาตินี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นกรงขังอันใหญ่หนาขังสัตว์โลกได้อย่างไร ถูกขังจริงๆถูกขังด้วยอารมณ์ คนที่ชนะได้นั่นแหละบุรุษอาชาไนย  เอกบุรุษ โซ่ตรวนอันนั้นแข็งแกร่งมาก  เราจะหนีดีหรือจะยอมเป็นทาสต่อไปดี?         
          ทำความเพียรเหนื่อยจริงๆ แต่ผลที่ได้มาคุ้ม แต่ใครจะทนได้ความเพียรอันนั้น ทำซ้ำซาก ทำทั้งวันทั้งคืน ทำต่อเนื่องจนกระทั่งหลับ ตื่นขึ้นมาทำต่อ  ความเพียรนั้นไม่ใช่ทำแล้วจะทุกข์อย่างเดียวก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ทุกข์อยู่ เพราะอดหลับอดนอน เมื่อยล้า แต่สุขก็ยังเจืออยู่ในนั้น เหมือนน้ำผึ้งชโลมใจให้เรามีกำลังทำต่อไป  เราทำไปน้ำตาคลออยู่ในลูกตาประจำ ทำให้เกิดมุมานะเพราะมีความซาบซึ้งใจ กำลังตรงนั้นหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตชีวาในการทำความเพียร  ไม่ใช่ทำแบบแห้งแล้ง  แต่มีรสชาติในการทำความเพียร มีความฮึกเหิมไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้าคนนั้นจับหลักได้น้ำขึ้นก็เรือขึ้น วันนั้นบุคคลนั้นเจริญอยู่ถ่ายเดียวเจริญจริงๆ เพราะยังความพอใจให้เกิดอยู่สม่ำเสมอ ไม่ทอดธุระในการงานนั้น สมาธิสติปัญญาที่มีอยู่หล่อเลี้ยงใจอยู่ตลอดเวลา มีความเพลิดเพลิน  เป็นความเพียรที่ไม่รู้สึกว่า ลำบากยากเข็ญจนเกินไป เพราะมีกำลังใจทำเหมือนเรามาทำงานได้เงินเยอะๆ ทำไปเหนื่อยก็จริง แต่เห็นผลตอบแทนแล้วสบายใจเหนื่อยก็ยอม การทำความเพียรทำไปน้ำตาจะคลออยู่เรื่อย ทั้งที่เราก็ไม่ได้เจอพระพุทธเจ้าแต่ภายในบ่งบอกถึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ ไม่ซึ้งได้อย่างไรตาในเปิดเห็นหมดแล้ว ทำให้นึกถึงบุคคลที่ให้ความเป็นรสชาติของการกระทำ มีความฮึกเหิมต่อสู้กับอุปสรรคน้อยใหญ่  โดยที่ไม่เห็นกับความเหน็ดเหนื่อย คนนั้นถ้าทำความเพียรแล้วได้อารมณ์เช่นนี้ หวังได้ว่าคนนั้นพ้นทุกข์ได้แน่ อยู่คนเดียวในป่าการประพฤติปฏิบัติไม่ได้อาศัยใครเลยเป็นเครื่องเพลิดเพลิน อาศัยภายในนั่นแหละเหมือนเราอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าเอาคำสอนของพระองค์น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนพระพุทธองค์ทรงสอนออกจากพระโอษฐ์ มีความอบอุ่นเหลือเกินว่าพระองค์ทรงปรารถนาดีต่อเรา ทั้งๆที่เราก็ไม่เคยเจอพระองค์ แต่ความรู้สึกของคนปฏิบัติจะเป็นอย่างนั้น  ทำให้มุมานะมากในการปฏิบัติให้หลุดพ้นให้ได้จึงจะพอใจ สมาธิก็มากใจสว่างไสวทั้งกลางคืนกลางวัน ตัวเราสว่างเพราะอำนาจของสมาธิมีมากเหมือนแสงไฟกระจายออกจากตัว  แต่เป็นความรู้สึกของตนคนเดียวที่มีตัวรู้อยู่ คนอื่นมองไม่เห็นเป็นความสว่างของสมาธิสว่างไสวอยู่ตลอดเวลา อัศจรรย์ใจว่าไม่เคยเกิดอย่างนี้มาก่อน ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ทำให้มีชีวิตชีวาในการกระทำ

          ถ้าเราทำสมาธิมาก่อน ด้วยการทำให้จิตนิ่งในตัวมันเอง แต่จิตเมื่อนิ่งถึงที่สุดแล้วจะถอนตัวออกมา แล้วจิตจะแบ่งภาค  ส่วนหนึ่งจะออกไปคิด แต่อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่  เมื่อก่อนไม่เป็น แต่คนที่ทำสมาธิจะเป็นเช่นนี้ แล้วก็มีความคิดอยู่ในตัวเอง  พอคิดไปแล้วเพ่งมองตัวรู้แล้วการเกิดนั้นจะดับไปเอง เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหมด เรากาถามตัวเองว่าการเกิดดับเช่นนี้ที่สุดอยู่ตรงไหน จะไม่มีคำตอบให้เลย จะเป็นอยู่เช่นนี้ไปจนถึงวันตาย ไม่มีการจบ ทำไปจนอายุร้อยปีก็ไม่จบ เพราะต้นไม้ยังมีรากอยู่มันก็งอกออกมาอยู่เรื่อย เป็นปัญหาที่แก้ไม่จบ  ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างถาวร เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ตัดแต่ยอดไม้แล้วมันก็งอกออกมาใหม่  ขุดรากถอนโคนสิ ! อุปาทานขันธ์ ๕ ทำให้แจ้งออกมา  การดับแล้วก็เกิด ดับแล้วเกิดอยู่เรื่อย เกิดขึ้นมาใหม่อีกมันไม่จบ  เหมือนต้นหญ้างอกขึ้นมา เราตัดยอดก่อน  สักระยะงอกออกมาอีกก็ตัดอีก เหมือนการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแจ้งขันธ์ ๕ ไปไม่รอด  ต้องแจ้งออกมา  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  ทำให้แจ้ง  แล้วกิเลสจะเหือดแห้งไปในที่สุด  การส่งจิตออกนอกเป็นน้ำเลี้ยงให้กิเลสเติบโต หากเราตัดน้ำเลี้ยงเสีย ทำให้ต้นไม้โตไม่ได้ กิเลสก็เติบโตอยู่ไม่ได้ เหมือนต้นไม้จะตัดยอดหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว ขอให้ขุดรากถอนโคนต้นไม้ก็เหี่ยวเฉาทั้งต้น งอกออกมาไม่ได้อีกต่อไป

          คนปฏิบัติสมาธิเช่นนี้มีมาก  บางคนคิดว่า คิดแล้ว คิดไป แต่อย่าหมายมั่น อย่าใส่ใจ หรืออย่าถือสาหาความ ปล่อยให้คิดแล้วไม่ต้องพะวงอะไร ยิ่งไปกันใหญ่เลย คนเช่นนี้หาทางออกไม่ได้ก็คิดอยู่ไม่จบ เท่ากับไม่ได้ทำการปฏิบัติอะไรเลย เขาก็คิด เราก็คิด เพียงแต่คิดแล้วไม่ได้ใส่ใจ  เหมือนมีไฟอยู่กองหนึ่งมีถ่านไฟแดงๆ จับแล้วก็วาง ระหว่างที่จับก็ร้อนแล้วก็วาง แล้วก็จับใหม่อีกร้อนก็วางอีก จึงเป็นการกระทำที่ไม่จบ การที่จะจบได้ก็คือไม่ต้องจับแล้วก็ไม่ต้องวาง เพราะการจับทีแรกเป็นขั้นตอนที่หนึ่ง  การวางเป็นขั้นตอนที่สอง  ขั้นตอนที่หนึ่งไม่มีแล้ว ขั้นตอนที่สองจะมีได้อย่างไร?  จึงต้องรู้แจ้งขันธ์ ๕ ให้ได้ แล้วจะจบได้ ไม่ต้องทำความเพียรอีกเลย เกิดไม่มี จะมีดับได้อย่างไร? เพราะมีญาณอยู่แล้ว สมาธิที่ได้เป็นสมาธิที่ไม่เสื่อม เป็นการทำสมาธิแบบโลกุตตระ  เน้นการเกิดญาณเป็นที่สุดแล้ว  เขาจะไม่มีการคิดเลย  คิดแล้วรู้ก็ไม่มี นี่คือการแก้ปัญหาถาวร  ความคิดใหม่จะไม่เกิดขึ้นอีกเลยในชีวิตของคนๆนั้น

          การกระทำเริ่มโดยพิจารณาตัวเองตรงไหนตรงหนึ่งก็ได้  ขอให้แจ้งจุดใดจุดหนึ่งของร่างกายก่อน สุดท้ายจะจบลงโดยไม่เว้นเลยแม้แต่แห่งเดียว แม้ขนเส้นเดียวก็ไม่เว้น ตั้งแต่ศีรษะจรดฝ่าเท้า ถ้าเว้นที่ใดที่หนึ่งถือว่าตีให้แตกไม่ได้ คือ ยังแจ้งไม่ได้  เหมือนกองฟืนใหญ่เราไม่จำเป็นที่จะต้องจุดทุกที่ เราจุดเพียงที่ใดที่หนึ่งเมื่อไฟลุกไหม้แล้ว ก็จะลุกลามไปหมดทั้งกองเอง  ตัวเราจึงควรนึกถึงอะไรที่ถนัดก่อนแล้วก็นึกบ่อยๆ แล้วจะลุกลามขยายวงกว้างออกไปเอง  เรามองตัวเองแล้วควรพรรณนาถึงความไม่เที่ยงของตนเองไปด้วย  วันหนึ่งสักวันเราต้องตายเน่าเปื่อย ผ่าตัวเองดู  สักวันเขาจะต้องผ่าตัวเรา  สร้างอารมณ์ร่วมในการทำเช่นนี้เรียกว่า  โยนิโสมนสิการ  เป็นการใส่ใจโดยอุบายอันแยบคาย  แต่การทำโยนิโสมนสิการ อารมณ์ใดตั้งไว้แล้ว จิตจะน้อมมาสู่ตัว ขณะใดอารมณ์ตั้งไว้แล้ว จิตวิ่งออกข้างนอกทิ้งตัวเอาไว้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการเป็นอารมณ์ร่วมที่ทำให้เกิดความกลมกล่อมในการทำความเพียรเพื่อให้สำเร็จประโยชน์ 
          การทำสมาธิมีอยู่    แบบ คือ  สมาธิครั้งแรกจิตนิ่งในตัวมันเอง เป็นสมาธิที่สงบแต่เหมือนกับการจับเอาคนร้ายมาขังไว้ แต่สันดานเดิมไม่ได้ถูกชำระล้างออกไป ถึงเวลาก็ปล่อยเขาออกไป เขาก็กลับไปมีพฤติกรรมเป็นโจรเช่นเดิมอีก เพราะยังไม่ได้ทำลายล้างสันดานเดิม เหมือนกับเรามากำหนด เกิด-ดับๆ มันก็จบไม่ลง  แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อให้รู้ไว้  นี่คือ สมาธิแบบโลกีย์
          สมาธิอีกแบบเป็นโลกุตตระสมาธิ ต้องใช้ความเพียรมาก รู้เห็นได้ยาก แต่ให้ผลแน่นอนมาก สมาธิที่ได้เป็นมหาสติ ทำให้เกิดญาณเห็นแจ้งตนเอง เป็นสมาธิในอริยมรรค ถ้าไม่อบรมไม่เกิด ต่อเมื่ออบรมแล้วจึงจะเกิด แต่รู้ได้ยากมากที่สุด  การมีสติพิจารณากายทุ่มเททำทั้งวันทั้งคืนไม่ได้หยุดเลยเว้นแต่หลับ แม้กระทั่งความฝันก็ไม่ให้มีขึ้น จิตรั่วไม่ได้ทำจนถึงขนาดนั้น แม้จะเหนื่อยขนาดไหนก็ต้องทำ ไม่ทำอย่างนั้นก็สู้อารมณ์(กิเลส)ไม่ได้ เพราะสมาธิแบบนี้มุ่งให้เกิดญาณ ทำให้เกิดความรู้แจ้งสว่างไสวทั้งกลางวันกลางคืน ความเห็นแจ้งไม่ดับไม่หาย จึงเป็นสมาธิที่คงทนถาวรไม่มีเสื่อม  เป็นผู้มีกายเดียวจิตเป็นหนึ่งเดียวตลอดชีวิต
    

        ขอให้ทุกคนทุกท่านมีความสุขความเจริญ มีดวงตาเห็นธรรมเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ถึงซึ่งประโยชน์สูงสุด คือ มรรคผล และนิพพานเทอญ


*********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น