วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ทางออกจากโลกโดยทางพระวิสุทธิมรรค...พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)




ทางออกจากโลกโดยทางพระวิสุทธิมรรค


พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)

วัดบรมนิวาสวรวิหาร แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๑

**********

การที่ท่านทั้งหลายได้สลัดตัดกังวล ในกิจการงานแห่งเคหะสถานบ้านเรือนมายังที่ประชุมนี้ สำเร็จมาแต่ความไม่ประมาท ปรารถนาจะทำตนให้เป็นที่พึ่ง คือตั้งใจจะประกอบการกุศลส่วนที่ตนยังไม่เคยมีให้มีขึ้น และเพื่อจะบำรุงบุญกุศลที่ตนได้ประพฤติมาแล้วให้เจริญภิยโยยิ่งขึ้นตามลำดับ ความจริงการที่จักได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์ ท่านแสดงว่าเป็นของแสนยาก เพราะเป็นชาติที่อุดม อาจที่จักประกอบคุณงามความดีได้ทุกประเภท ชีวิตความเป็นอยู่ตลอดมาถึงวัยนี้ขัยนี้ ก็เป็นของแสนยากแสนลำบาก ต้องฝ่าฝืนอุปสรรคขัดข้องมาโดยลำดับ การฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็แสนยาก ต้องมีศรัทธาความเชื่อพอ จึงจะฟังได้ ทั้งเป็นของละเอียด ยากที่จักถือเอาเนื้อความได้ พุทธบุคคลทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในโลกแต่ละครั้งแต่ละคราวก็เป็นของแสนยาก เพราะต้องบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการ มีทาน ศีล เป็นต้น บริบูรณ์แล้วจึงจะมาเกิดขึ้นได้ ในพวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ของหาได้ด้วยยากทั้ง ๔ ประการนี้ ได้มาถึงจำเพาะหน้าแล้ว มิหนำซ้ำเกิดในตระกูลอันเป็นสัมมาทิฏฐิ ส่วนตนก็มีศรัทธา เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อคุณพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะที่พึ่งได้ แต่มักพูดกันโดยมากว่า ความเพียรของตนยังอ่อน ถ้าเช่นนั้นก็ควรปรารภความเพียรให้หนักขึ้น เอาตัวออกจากความทุกข์ได้ในชาตินี้เป็นดี เพราะชาติหน้า หมายไม่ได้ว่าจะได้อัตตภาพเป็นอะไร จึงจะได้อัตตภาพเป็นมนุษย์อีก จะวางใจว่าเราคงมีศรัทธาเหมือนชาตินี้ไม่ได้ เพราะข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ตั้งความเพียรเอาตัวรอดเสียในชาตินี้เป็นดี เพราะทางออกจากทุกข์ ก็พากันเข้าใจอยู่โดยมากแล้ว

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมคุณ ถือเอาเนื้อความในบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นแสดงต่อไป จักแสดงปฏิบัติธรรมกับปฏิเวธธรรม ทางออกจากโลก หรือทางออกจากทุกข์โดยทางวิสุทธิมรรค ในวันพระก่อน ได้แสดงทางออกจากโลกโดยทางพระอัฏฐังคิกมรรค วันนี้จะแสดงโดยทางวิสุทธิมรรค ทางทั้งสองนี้เมื่อตรงได้ความแล้ว ก็คงกลมเกลียวลงรอยเดียวกัน ต่างแต่อัฏฐังคิกมรรคมีองค์ ๘ วิสุทธิมรรคมีองค์ ๗ เท่านั้น ในองค์ทั้ง ๗ ของวิสุทธิมรรคนั้น คือ

สีลวิสุทฺธิ                            ความบริสุทธิ์ของศีล ๑

จิตฺตวิสุทฺธิ                          ความบริสุทธิ์ของจิต ๑

กงฺขาวิตรณวิสุทฺธิ                 ความบริสุทธิ์แห่งการพ้นความสงสัยเสียได้ ๑

มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทฺธิ   ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ทาง นี่ใช่ทาง ๑

ปฏิปทาญาณทสฺสนวิสุทฺธิ       ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นว่า นี่ปฏิปทาทางปฏิบัติตรง ๑

ญาณทสฺสนวิสุทฺธิ                 ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นอันสำเร็จมาแต่ปฏิปทา ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ์ ๑

ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ท่านแสดงว่าเป็นมรรค ตามนัยอภิธัมมัตถสังคหะว่า ญาณทสฺสนวิสุทธิ นามมคฺโค ปวุจฺจติ ความว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นชื่อของมรรคดังนี้

ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ ท่านแสดงว่าเป็นมรรค ตามนัยอภิธัมมัตถสังคหะว่า ญาณทสฺสนวิสุทธิ นามมคฺโค ปวุจฺจติ ความว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ์นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นชื่อของมรรคดังนี้

จักอธิบายวิสุทธิทั้ง ๗ นั้นต่อไป สำหรับเป็นทางศึกษา ความจริงก็คือปฏิบัติธรรม คือ "ศีล สมาธิ ปัญญา" นั้นเอง จึงไม่แก่งแย่งกันกับอัฏฐังคิกมรรค

สีลวิสุทธิก็คือแสดงกองศีล จิตตวิสุทธิก็คือแสดงกองสมาธิ ทิฏฐิวิสุทธิถึงญาณทัสสนวิสุทธิก็คือแสดงกองปัญญา

สีลวิสุทธิ หมายถึง อริยกันตศีล คือศีลในอริยมรรค คือ สมฺมาวาจา สมฺมากมฺมนฺโต สมฺมาอาชีโว เหมือนกัน ตั้งเจตนาให้เป็นสมุทเฉททวิรัติก็นับว่าเป็นสีลวิสุทธิได้

จิตตวิสุทธิ หมายถึง อัปปนาจิต คือตั้งใจบำรุงสติปัฏฐาน อันสัมปยุตตด้วยสัมมาวายามะจนบรรลุอัปปนาจิต ชื่อว่า จิตตวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ หมายถึง ทิฏฐิที่ตรง เป็นองค์สัมมาทิฏฐิ คือเห็นว่าความดีความชั่วเป็นของมีจริง สัตว์ทำดีได้ดีจริง สัตว์ทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้าเป็นของมีจริง มรรค ผล นิพพาน เป็นของมีจริง กันสัญญาวิปลาสออกเสียได้ 
    สัญญาวิปลาสนั้น ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดเหมือนอย่างผู้เห็นว่าตายแล้วสูญ ไม่มีอะไรไปเกิดอีก ข้อนี้พึงกำหนดดูธรรมชาติ สิ่งใดซึ่งเป็นของมีอยู่แล้วและจักสูญไป สิ่งนั้นจะพึงมีได้ด้วยเหตุไร บางพวกเห็นว่า ตายแล้วเกิดอีก เคยเกิดเป็นสิ่งใดก็ต้องเป็นสิ่งนั้น เหมือนอย่างผู้เกิดเป็นมนุษย์ก็จักเกิดเป็นมนุษย์ร่ำไป เคยเป็นสตรีก็จักเป็นสตรีร่ำไป เคยเป็นสัตว์ประเภทใด ก็จะต้องเป็นสัตว์ประเภทนั้นร่ำไป ดังนี้ ข้อนี้พึงกำหนดดูให้เข้าใจ ส่วนรูปร่างเหมือนอย่างเป็นมนุษย์ หรือเป็นสัตว์ต่างๆ นั้น เป็นภพ เป็นชาติ ส่วนหนึ่งไม่กลับกลายคงที่ แต่สัตว์ผู้เป็นเจ้าของภพชาตินั้นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนสัตว์นั้นจะไปถือเอาภพใดชาติใดก็ได้ สุดแต่กุศลจะนำไป

บางพวกเห็นว่า บุญไม่มี บาปไม่มี เหตุไม่มี ผลไม่มี ดีชั่วเป็นเองทั้งนั้น อย่างนี้ชื่อว่า นัตถิกทิฏฐิ บางพวกเห็นว่าความไม่ทำ เป็นกิเลสหมด ทำสิ่งไรเป็นกิเลสทั้งสิ้น อย่างนี้ชื่อว่า อกิริยทิฏฐิ

เมื่อกันทิฏฐิวิปลาสออกได้แล้วเป็นผู้เชื่อกรรมเชื่อผลโดยแน่แท้ ตั้งใจปฏิบัติตามพุทธโอวาท เจริญสมถวิปัสสนาจริงๆ แต่อย่างนั้น สัญญาวิปลาสยังแอบเข้าไปเป็นเจ้าของเสียอีก ทำให้ทิฏฐิไม่บริสุทธิ์ได้ เหมือนอย่างผู้ยกสังขารขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ เห็นสังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นวิปลาส เพราะยังเห็นซีกเดียว เห็นแต่เขา ไม่เห็นเรา

ถ้าจะให้เป็น “ทิฏฐิวิสุทธิ” ต้องให้เห็นเขาด้วย เห็นเราด้วย เห็นไม่ใช่เขาด้วย เห็นไม่ใช่เราด้วย จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นทิฏฐิวิสุทธิ

ส่วน กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งการข้ามความสงสัยนั้นคือทิฏฐิวิสุทธิ ชำระวิปลาสเสียได้แล้ว คือเห็นสรรพสังขารไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา คือเห็นปัจจุบันธรรมชัดขึ้น เพราะรู้เท่าสังขาร คือที่รู้ว่า ร่างกายจิตใจของตนเป็นสังขารนั้น ไม่ใช่วิชชาของเราเอง จำเขามาทั้งนั้น ทั้งพระไตรลักษณ์ที่กล่าวว่า สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เป็นสัญญาอดีต จำเขามาทั้งนั้น  ตกลงก็คือสังขารผู้รู้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็สัญญาอดีต ส่วนตัวไม่เที่ยง ตัวทุกข์ ตัวอนัตตาเอง ก็สัญญาอดีตเหมือนกัน

เมื่อเห็นธรรมที่เป็นปัจจุบันเต็มที่ สัญญาอดีตดับหมด คือสังขารผู้จำเลยก็ดับ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ผู้โจทก์ก็ดับ ยังเหลือแต่ปัจจุบันธรรม เป็นธรรมอันแน่นอน เป็นธรรมอันไม่กำเริบ เป็นผู้สิ้นสงสัยในอดีตอนาคตด้วย เห็นปัจจุบันธรรมนี้ ชื่อว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ

ส่วน "มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ" นั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่ กังขาวิตรณวิสุทธิเหมือนกัน คือสิ้นสงสัยในอดีต อนาคต เห็นปัจจุบันธรรมเป็นตนแล้ว ก็ตั้งหน้าสำรวจทางเดินต่อไป ให้รู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เมื่อสมาธิฟอกจิตให้ผ่องใสแล้ว จักได้ประสบวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

โอภาโส    คือเกิดแสงสว่างอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้พบได้เห็น

ปีติ          ความอิ่มกาย อิ่มใจ

ปสฺสทฺธิ    ความสงบใจ

อธิมกฺโข   ความน้อมใจเชื่อต่อพระนิพพาน

ปคฺคโห    ความประคองอารมณ์

สุขํ          ความสุข

ญาณํ       ความรู้

อุปฏฺฐานํ   ความเพียรเป็นไปมั่น

อุเปกฺขา    ความเพิกเฉยต่ออารมณ์

นิกนฺติ       ความรักใคร่ในพระนิพพาน

แต่ละอย่างๆ ล้วนเป็นของประณีต ทำให้พิศวงงงงวยไปได้ ให้สำคัญว่าตนเป็นผู้สำเร็จ ความจริงเป็นกิเลส เครื่องกั้นจิตมิให้สำเร็จพระนิพพาน เมื่อไต่สวนเห็นความผิดอย่างนี้ก็เพ่งหาทางที่ถูกต่อไป เห็นวิปัสสนาญาณ ๑๐ ประการ ว่าเป็นทางที่ถูก การพิจารณารู้แน่ว่า นี่ทางผิด นี่ทางถูก เพียงเท่านี้ ชื่อว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ส่วน "ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ" นั้น เป็นผลสำเร็จมาแต่ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ เมื่อวินิจฉัยตกลงว่า นี่ทาง ก็ลงมือดำเนิน คือน้อมจิตสู่วิปัสสนญาณ ยกสังขารขึ้นเป็นอารมณ์ เห็นความเกิดดับแห่งสังขารชัดใจ ชื่อว่า "อุทยัพพยญาณ" แล้วพิจารณาแต่ความดับอย่างเดียวเป็น "ภังคญาณ" แล้วพิจารณาเห็นสังขารเต็มไปด้วยโทษ เป็น "อาทีนวญาณ" แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเป็น "นิพพิทาญาณ" แล้วเกิดความสะดุ้งหวาดต่อสังขารเป็น "ภยญาณ" แล้วหาทางหนีออกจากสังขารเป็น "มุญจิตุกัมยตาญาณ" แล้วพิจารณาหาทางออกเป็น "ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ"  เมื่อพิจารณาเห็นไม่มีทางออกที่จะออกได้ เกิดเพิกเฉยต่อสังขาร ชื่อว่า "สังขารุเปกขาญาณ" ถ้ากำลังปัญญาน้อย มาถึงเพียงแค่นี้แล้วก็ถอย ยกจิตให้สูงขึ้นไปอีกไม่ได้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นแต่เพียงเพิกเฉยต่อสังขาร เห็นสังขารเป็นแต่เพียง อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา เท่านี้ หาพ้นจากโลกไม่ จึงกลับพิจารณาญาณทั้ง ๘ นั้น เป็นอนุโลมปฏิโลม ยกขึ้นสู่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็น "สัจจานุโลมิกญาณ" เมื่อสัจจานุโลมิกญาณแก่กล้า มีกำลังเต็มที่ ก็แลเห็นโลกุตรธรรม เรียกว่า "โคตรภูญาณ"

จะได้จะเสียก็โคตรภูญาณนี้เอง ถ้ากำลังน้อยก็กลับหลัง ถ้ากำลังมากก็ไปหน้า ถึงโลกุตตระทีเดียว โลกิยวิปัสสนาเห็นโลกุตตระมีแต่โคตรภูญาณอย่างเดียว  

การที่ยกวิปัสสนาขั้นต่ำขึ้นสู่อริยสัจ ๔ เป็นข้อสำคัญ คือให้เห็นสังขารเป็นตัวทุกข์  ให้เห็นความไม่รู้เท่าสังขารเป็นสมุทัย ความรู้เท่าสังขารแล้วสังขารดับเป็นนิโรธ  ปัญญาที่รู้อาการแห่งสังขารเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ ชื่อว่า "สัมมาทิฏฐิ" เป็นมรรค

การที่แสดงอริยสัจ ได้เคยแสดงขยายออกเป็นหลายประเภท ค่าที่ไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงจัง ก็ถือเอาเนื้อความไม่ได้ บัดนี้ จะตั้งปัญหาไว้ให้สักปัญหาหนึ่ง

ทุกขอริยสัจนั้น จะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? สมุทัยอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? นิโรธอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? มัคคอริยสัจก็ดีจะบัญญัติลงที่กายที่ใจนี้หรือ ? ถ้าบัญญัติลงในที่อื่นก็แล้วไป 
  ถ้าบัญญัติทุกข์ลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติสมุทัยลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัตินิโรธลงที่กายที่ใจ ถ้าบัญญัติมรรคลงที่กายที่ใจ "เมื่อกายและใจยังมีอยู่  ทุกข์จะดับได้ด้วยอย่างไร สมุทัยจะดับได้ด้วยอย่างไร นิโรธจะดับได้ด้วยอย่างไร มรรคจะดับเป็นผลขึ้นด้วยอย่างไร"  ปัญหานี้สำหรับนำไปตรอง ได้แสดงทางออกจากโลกด้วยวิสุทธิมรรค พอเป็นวิธีทางดำเนินของพระโยคาวจร ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารพอเป็นสังเขปไว้เพียงเท่านี้

ทางวิสุทธิมรรคที่แสดงมานี้ก็เป็น สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เหมือนนัยหนหลัง และเป็น สนฺทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตนเอง และเป็น อกาลิโก ไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นธรรมมีอยู่ทุกเมื่อ  และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดผู้อื่นให้มาดูได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาสู่ตนได้ คือให้มีขึ้นในตน และเป็น ปจฺจตฺตํ ผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งจำเพาะที่ตน 
 จึงเป็นของควรเชื่อได้ว่าเป็นพุทธโอวาทโดยไม่ต้องสงสัย ควรที่พุทธบริษัทจะกำหนดนำไปตรวจตรอง จนเกิดความบริสุทธิ์สิ้นสงสัยในพุทธโอวาท จักได้เป็นคนฉลาดในทางแห่งความสุข โดยนัยดังวิสัชนามา ด้วยประการฉะนี้


วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปัญญาอบรมสมาธิ....หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน



ปัญญาอบรมสมาธิ

(หลวงตาพระมหาบัว  ญาณสัมปันโน)



การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์ ตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ในพระพุทธศาสนา คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล เป็นรั้วกั้นความคะนอง ทางกาย วาจา ศีลเป็นธรรมคุ้มครองโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข  ศีลมีหลายประเภทนับแต่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ถึงศีล ๒๒๗ ตามประเภทของบุคคลที่จะควรรักษาให้เหมาะแก่เพศ และวัยของตน เฉพาะศีล ๕ เป็นศีลที่จำเป็นที่สุดสำหรับฆราวาส  ผู้เกี่ยวข้องกับสังคมหลายชั้น จึงควรมีศีลเป็นเครื่องรับรองความบริสุทธิ์ของตน

สมาธิ คือ ความสงบ หรือความตั้งมั่นของใจ จึงเป็นข้าศึกต่อความคะนองของใจ ที่ไม่อยากรับ ยา คือ กรรมฐาน ผู้ต้องการปราบปรามความคะนองของใจ ซึ่งเคยเป็นข้าศึกต่อสัตว์มาหลายกัปนับไม่ถ้วน จึงจำเป็นต้องฝืนใจรับ ยา คือ กรรมฐานโดยการน้อมธรรมเข้ามากำกับใจ ธรรมกำกับใจ เรียกว่า "กรรมฐาน" มี ๔๐ ห้อง ตามจริตนิสัยของบรรดาสัตว์ ไม่เหมือนกัน มี กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุวัตถาน ๑ และอรูปฌาน ๔

จะขอยกมาพอประมาณที่ใช้กันโดยมาก และให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นที่พึงพอใจ คือ อาการของกาย ๓๒ มี เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทนฺตา (ฟัน) ตโจ(หนัง) ที่ท่านเรียกว่า กรรมฐาน ๕ หรือ พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ฯลฯ หรืออานาปานสติ(ระลึกลมหายใจเข้าออก) บทใดก็ได้ ตามแต่จริตชอบ เพราะนิสัยไม่เหมือนกัน จะใช้กรรมฐานอย่างเดียวกัน ย่อมเป็นการขัดต่อจริต ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เมื่อชอบบทใดก็ตกลงใจนำบทนั้น มาบริกรรม

        ฉะนั้น จงทำตามหน้าที่แห่งบทภาวนาของตน อย่าพะวักพะวนในกรรมฐานบทอื่นๆ จะเป็นความลังเลสงสัย  ตัดสินใจลงไปสู่ความจริงไม่ได้ จะเป็นอุปสรรคแก่ความจริงใจตลอดกาล จงตั้งใจทำด้วยความมีสติจริง ๆ อย่าเรียง ศีล สมาธิ ปัญญา ให้นอกไปจากใจ เพราะกิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อยู่ที่ใจ ใครไม่ได้เรียงรายเขา เมื่อคิดไปทางผิด มันก็เกิดกิเลสขึ้นมาที่ใจดวงนั้น ไม่ได้กำหนดหรือนัดกันว่า ใครจะมาก่อนมาหลัง มันเป็นกิเลสมาทีเดียว กิเลสชนิดไหนมา มันก็ทำให้เราร้อนได้เช่นเดียวกัน เรื่องของกิเลสมันจะต้องเป็นกิเลสเรื่อยไปอย่างนี้ กิเลสตัวไหนจะมาก่อนมาหลังเป็นไม่เสียผล ทำให้เกิดความร้อนได้ทั้งนั้น วิธีการแก้กิเลสอย่าคอยให้ศีลไปก่อน สมาธิมาที่สอง ปัญญามาที่สาม นี่เรียกว่าทำสมาธิเรียงแบบ เป็นอดีต อนาคตเสมอไป  หาความสงบสุขไม่ได้ตลอดกาล

ทางที่ถูก และราบรื่นของผู้ปฏิบัติก็ คือ เมื่อจิตได้รับความสงบ พอเห็นทางแล้ว ต้องฝึกหัดจิตให้คิดค้นในอาการของกาย จะเป็นอาการเดียว หรือมากอาการก็ตาม ด้วยปัญญาคลี่คลายดูกายของตน เริ่มตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า ฯลฯ ที่เรียกว่า อาการ ๓๒ ของกาย สิ่งเหล่านี้ตามปกติ เต็มไปด้วยของปฏิกูลน่าเกลียดตลอดเวลา ไม่มีอวัยวะส่วนใดจะสวยงามตามโมหนิยม ยังเป็นอยู่ก็ปฏิกูล ตายแล้วยิ่งเป็นมากขึ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล หญิง ชาย มีความเป็นอย่างนี้ ทั้งนั้นในโลกนี้ เต็มไปด้วยของอย่างนี้  หาสิ่งที่แปลกกว่านี้ไม่มี  ใครอยู่ในโลกนี้ ต้องมีอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้  ความเป็น อนิจฺจํ ไม่เที่ยงก็กายอันนี้ ทุกฺขํ ความลำบากก็กายอันนี้ อนตฺตา  ปฏิเสธความประสงค์ของสัตว์ทั้งหลายก็กายอันนี้  สิ่งที่ไม่สมหวังทั้งหมดก็อยู่ที่กายอันนี้

ความหลงสัตว์หลงสังขารก็หลงกายอันนี้  ความถือสัตว์ถือสังขารก็ถือกายอันนี้ ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารก็พลัดพรากจากกายอันนี้ ความหลงรักหลงชังก็หลงกายอันนี้ ความไม่อยากตายก็ห่วงกายอันนี้ ตายแล้วร้องไห้หากันก็เพราะกายอันนี้ ความทุกข์ทรมานตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตายก็เพราะกายอันนี้ ทั้งสัตว์และบุคคลวิ่งว่อนไปมาหาอยู่หากินไม่มีวันไม่มีคืนก็เพราะเรื่องของกายอันเดียวนี้  มหาเหตุมหาเรื่องใหญ่โตในโลกที่เป็นกงจักรผันมนุษย์ และสัตว์ไม่มีวันลืมตาเต็มดวง ประหนึ่งไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ก็คือ เรื่องของกายเป็นเหตุ  กิเลสท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอดก็เพราะกายอันนี้

สรุปความเรื่องในโลก คือ เรื่องเพื่อกายอันเดียวนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณากายพร้อมทั้งเรื่องของกายให้แจ้งประจักษ์กับใจ ด้วยปัญญาอยู่อย่างนี้ ไม่มีวันหยุดยั้ง กิเลสจะยกกองพลมาจากไหน? ใจจึงจะสงบลงไม่ได้ เมื่อปัญญาอ่านประกาศความจริง ให้ใจฟังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจจะฝืนความจริงจากปัญญาไปไหน  เพราะกิเลสก็เกิดจากใจ ปัญญาก็เกิดจากใจ เราก็คือใจ จะแก้กิเลสด้วยปัญญาของเราจะไม่ได้อย่างไร เมื่อปัญญาเป็นไปในกายอยู่อย่างนี้ จะไม่เห็นแจ้งในกายอย่างไรเล่า ?

เมื่อเห็นกายแจ้งประจักษ์ใจ ด้วยปัญญาอย่างนี้ ใจต้องเบื่อหน่ายในกายตน และกายคนอื่น สัตว์อื่น ต้องคลายความกำหนัดยินดีในกาย แล้วถอนอุปาทานความถือมั่นในกาย โดยสมุจเฉทปหาน พร้อมทั้งความรู้เท่ากายทุกส่วน ไม่หลงรัก หลงชัง ในกายใดๆ อีกต่อไป การที่จิต ใช้กล้อง คือ ปัญญา ท่องเที่ยวในเมือง กายนคร ย่อมเห็น กายนคร ของตน และ กายนคร ของคนและสัตว์ทั่วไปได้ชัด ตลอดจนทางสามแพร่ง คือ ไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา และทางสี่แพร่ง คือ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั่วทั้งตรอกของทางสายต่างๆ คือ อาการของกายทุกส่วน พร้อมทั้งห้องน้ำ ครัวไฟ (ส่วนข้างในของร่างกาย) แห่งเมืองกายนคร  จัดเป็น โลกวิทู

ความเห็นแจ้งในกายนครทั่วทั้งไตรโลกธาตุก็ได้ด้วย ยถาภูตญาณทัสสนะ ความเห็นตามเป็นจริงในกายทุกส่วน หมดความสงสัยในเรื่องของกาย ที่เรียกว่า รูปธรรมต่อไปนี้ จะอธิบายวิปัสสนาเกี่ยวกับนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้า แต่ละเอียดไปกว่า

รูปขันธ์ คือ กาย  ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา  แต่รู้ได้ทางใจ

เวทนา คือ สิ่งที่จะต้องเสวยทางใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง

สัญญา คือ ความจำ เช่น จำชื่อจำเสียง จำวัตถุสิ่งของ จำบาลีคาถา เป็นต้น

สังขาร คือ ความคิด ความปรุง เช่น คิดดี คิดชั่ว คิดกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว หรือ ปรุงอดีตอนาคต เป็นต้น

วิญญาณ ความรับรู้ คือ รับรู้ รูป เสียง กลิ่น  รส เครื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นอาการของใจ ออกมาจากใจ รู้ได้ที่ใจ และเป็นมายาของใจด้วย ถ้าใจยังไม่รอบคอบ จึงจัดว่าเป็นเครื่องปกปิดความจริงได้ด้วย การพิจารณานามธรรมทั้งสี่  ต้องพิจารณาด้วยปัญญาโดยทางไตรลักษณ์ล้วนๆ เพราะขันธ์เหล่านี้มีไตรลักษณ์ประจำตน ทุกอาการที่เคลื่อนไหว แต่วิธีพิจารณาในขันธ์ทั้งสี่นี้ ตามแต่จริตจะชอบในขันธ์ใด ไตรลักษณ์ใด หรือทั่วไปในขันธ์ และไตรลักษณ์นั้นๆ จงพิจารณาตามจริตชอบในขันธ์ และไตรลักษณ์นั้นๆ เพราะขันธ์ และไตรลักษณ์หนึ่งๆ เป็นธรรมเกี่ยวโยงถึงกัน จะพิจารณาเพียงขันธ์ หรือไตรลักษณ์เดียว ก็เป็นเหตุให้ความเข้าใจหยั่งทราบไปในขันธ์ และไตรลักษณ์อื่นๆ ได้โดยสมบูรณ์ เช่นเดียวกับพิจารณาไปพร้อมๆ กัน เพราะขันธ์ และไตรลักษณ์เหล่านี้ มีอริยสัจเป็นรั้วกั้นเขตแดนรับรองไว้แล้ว เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารลงในที่แห่งเดียว ย่อมซึมซาบไปทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกาย  ซึ่งเป็นส่วนใหญ่รับรองไว้แล้ว ฉะนั้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจงตั้งสติและปัญญา ให้เข้าใกล้ชิดนามธรรม คือ ขันธ์สี่นี้ทุกขณะ ที่ขันธ์นั้นๆ เคลื่อนไหว คือ ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตาประจำตน  ไม่มีเวลาหยุดยั้ง  ตามความจริงของเขา ซึ่งแสดงหรือประกาศตนอยู่อย่างนี้  ไม่มีเวลาสงบ แม้แต่ขณะเดียว  ทั้งภายใน  ทั้งภายนอก  ทั่วโลกธาตุประกาศเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปฏิเสธความหวังของสัตว์พูดง่ายๆ ก็คือ ธรรมเหล่านี้ไม่มีเจ้าของ ประกาศตนอยู่อย่างอิสรเสรีตลอดกาล ใครหลงไปยึดเข้าก็พบแต่ความทุกข์ ด้วยความเหี่ยวแห้งใจ ตรอมใจ หนักเข้ากินอยู่หลับนอนไม่ได้ น้ำตาไหล จนจะกลายเป็นแม่น้ำลำคลองไหลนองตลอดเวลา และตลอดอนันตกาลที่สัตว์ยังหลงข้องอยู่ ชี้ให้เห็นง่ายๆ ขันธ์ทั้งห้า เป็นบ่อหลั่งน้ำตาของสัตว์ผู้ลุ่มหลง นั่นเอง

การพิจารณาให้รู้ด้วยปัญญาชอบในขันธ์และสภาวธรรมทั้งหลาย ก็เพื่อจะประหยัดน้ำตา และตัดภพชาติให้น้อยลง หรือให้ขาดกระเด็นออกจากใจผู้เป็นเจ้าทุกข์ ให้ได้รับสุขอย่างสมบูรณ์นั่นเอง สภาวธรรมมีขันธ์ เป็นต้นนี้ จะเป็นพิษสำหรับผู้ยังลุ่มหลง ส่วนผู้รู้เท่าทันขันธ์ และสภาวธรรมทั้งปวงแล้ว สิ่งทั้งนี้จะสามารถทำพิษอะไรได้ และท่านยังถือเอาประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้เท่าที่ควร เช่นเดียวกับขวากหนามที่มีอยู่ทั่วไป ใครไม่รู้ไปโดนเข้าก็เป็นอันตราย แต่ถ้ารู้ว่าเป็นหนาม แล้วนำไปทำรั้วบ้าน หรือกั้นสิ่งปลูกสร้าง ก็ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจงทำความแยบคายในขันธ์และสภาวธรรมด้วยดี  สิ่งเหล่านี้เกิดดับอยู่กับจิตทุกขณะ จงตามรู้ความเป็นไปของเขาด้วยปัญญาว่า อย่างไรจะรอบคอบ และรู้เท่านั้น จงถือเป็นภาระสำคัญประจำอิริยาบถ อย่าได้ประมาทนอนใจ ธรรมเทศนาที่แสดงขึ้นจากขันธ์ และสภาวธรรมทั่วไปในระยะนี้ จะปรากฏทางสติปัญญาไม่มีเวลาจบสิ้น และเทศน์ไม่มีจำนนทางสำนวนโวหาร ประกาศเรื่องไตรลักษณ์ประจำตลอดเวลา ทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน ทั้งเป็นระยะที่ปัญญาของเราควรแก่การฟังแล้ว เหมือนเราได้ไตร่ตรอง ตามธรรมเทศนาของพระธรรมกถึกอย่างสุดซึ้งนั่นเอง

ขั้นนี้ นักปฏิบัติจะรู้สึกว่าเพลิดเพลินเต็มที่ในการค้นคิดตามความจริงของขันธ์ และสภาวธรรมที่ประกาศความจริงประจำตน แทบไม่มีเวลาหลับนอน เพราะอำนาจความเพียรในหลักธรรมชาติ ไม่ขาดวรรคขาดตอน โดยทางปัญญาสืบต่อในขันธ์หรือสภาวธรรมซึ่งเป็นหลักธรรมชาติเช่นเดียวกัน ก็จะพบความจริงจากขันธ์ และสภาวธรรมประจักษ์ใจขึ้นมาด้วยปัญญาว่า แม้ขันธ์ทั้งมวล และสภาวธรรมทั่วไป ตลอดไตรโลกธาตุ ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาของเขาอย่างนั้น ไม่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นกิเลสตัณหา  ตามโมหนิยมแต่อย่างใด

อุปมาเป็นหลักเทียบเคียง เช่นของกลางที่โจรลักไป ก็พลอยเป็นเรื่องราวไปตามโจร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสอบสวนดูถ้วนถี่ จนได้พยานหลักฐานเป็นที่พอใจแล้ว ของกลางจับได้ก็ส่งคืนเจ้าของเดิม  หรือเก็บไว้ในสถานที่ควร ไม่มีโทษแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ก็มิได้ติดใจ ในของกลาง ปัญหาเรื่องโทษก็ขึ้นอยู่กับโจร เจ้าหน้าที่จะต้องเกี่ยวข้องกับโจร และจับตัวไปสอบสวนตามกฎหมาย  เมื่อได้ความตามพยานหลักฐาน ถูกต้องตามกฎหมายว่า เป็นความจริงแล้ว ก็ลงโทษผู้ต้องหาตามกฎหมาย และปล่อยตัวผู้ไม่มีความผิด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกไปเป็นอิสรเสรีตามเดิมฉันใด เรื่อง อวิชชา จิต กับสภาวธรรมทั้งหลาย  ก็ฉันนั้น

ขันธ์ และสภาวธรรมทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ไม่มีความผิด และเป็นกิเลสบาปธรรมแต่อย่างใด แต่พลอยเป็นเรื่องไปด้วย เพราะจิตผู้ฝังอยู่ใต้อำนาจของอวิชชา ไม่รู้ตัวว่า อวิชชา คือ ใคร ? อวิชชากับจิต จึงกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน เป็นจิตหลงไปทั้งดวง เที่ยวก่อเรื่องรัก เรื่องชัง ฝังไว้ตามธาตุขันธ์ คือ ตามรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ตามตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ และฝังรัก ฝังชัง ไว้ตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตลอดไตรโลกธาตุ เป็นสภาวะที่ถูกจับจอง และรักชัง ยึดถือจากใจดวงลุ่มหลงนี้ ทั้งสิ้น

เพราะอำนาจความจับจองยึดถือเป็นเหตุ ใจอวิชชาดวงนี้ จึงเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตาย หมุนเวียนไปได้ทุกกำเนิด ไม่ว่าสูง ต่ำ ดี ชั่ว ในภพทั้งสามนี้ แม้จะแยกกำเนิดของสัตว์ที่ต่างกันในภพนั้นๆ ไว้มากเท่าไร ใจดวงอวิชชานี้ สามารถจะไปถือเอากำเนิดในภพนั้นๆ ได้ตามแต่ปัจจัยเครื่องหนุนของจิตดวงนี้ มีกำลังมากน้อย และดีชั่วเท่าไร ใจดวงนี้ต้องไปเกิดได้ ตามโอกาสที่ จะอำนวย ตามสภาวะทั้งหลายที่ใจดวงนี้ มีความเกี่ยวข้อง จึงกลายเป็นเรื่องผิดจากความจริงของตนไปโดยลำดับ

เพราะอำนาจอวิชชาอันเดียวเท่านี้ จึงก่อเหตุร้าย ป้ายสี ไปทั่วไตรโลกธาตุ ให้แปรสภาพ คือ ธาตุล้วนๆ ของเดิม(ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ)ไปเป็นสัตว์ เป็นบุคคล และเป็นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามโมหะ(อวิชชา)นิยม เมื่อทราบชัดด้วยปัญญาว่า ขันธ์ห้า และสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ตัวเรื่อง และตัวก่อเรื่อง เป็นแต่พลอยมีเรื่อง เพราะอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจ บันดาลให้สภาวะทั้งหลาย เป็นไปได้ตามอย่างนี้แล้ว ปัญญาจึงตามค้นลงที่ต้นตอ คือ จิตดวงรู้ อันเป็นบ่อเกิดของเรื่องทั้งหลาย อย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยความไม่วางใจ ในความรู้อันนี้

เมื่อสติปัญญาที่ได้ฝึกซ้อมเป็นเวลานาน จนมีความสามารถเต็มที่ ได้แผ่วงล้อม และฟาดฟันเข้าไปตรงจุดใหญ่ คือ ผู้รู้ที่เต็มไปด้วยอวิชชาอย่างไม่รีรอ ต่อยุทธ์กันทางปัญญา เมื่ออวิชชาทนต่อดาบเพชร คือ สติปัญญาไม่ไหว ก็ทลายลงจากจิตที่เป็นแท่นบัลลังก์อันประเสริฐของอวิชชามาแต่กาลไหนๆ เมื่ออวิชชาได้ถูกทำลายตายลงไปแล้วด้วยอำนาจ มรรคญาณ ซึ่งเป็นอาวุธทันสมัย เพียงขณะเดียวเท่านั้น ความจริงทั้งหลายที่ได้ถูกอวิชชากดขี่บังคับเอาไว้ นานเป็นแสนกัปนับไม่ถ้วน ก็ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาเป็นของกลาง คือ เป็นความจริงล้วนๆ ทั้งสิ้น  ธรรมที่ไม่เคยรู้ได้ปรากฏขึ้นมาในวาระสุดท้าย ยถาภูตญาณทัสสนะ เป็นความรู้เห็นตามเป็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างเปิดเผย  ไม่มีอะไรปิดบังแม้แต่น้อย

เมื่ออวิชชาเจ้าผู้ปกครองนครวัฏฏะตายไปแล้ว ด้วยอาวุธ คือ ปัญญาญาณ พระนิพพานจะทนต่อความเปิดเผยของผู้ทำจริง รู้จริง เห็นจริงไปไม่ได้ แม้สภาวธรรมทั้งหลาย นับแต่ขันธ์ห้า อายตนะภายใน ภายนอก ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ ก็ได้เป็นธรรมเปิดเผยตามความจริงของตน จึงไม่ปรากฏว่า จะมีอะไรที่เป็นข้าศึกแก่ใจต่อไปอีก นอกจากจะปฏิบัติขันธ์ห้า พอให้ถึงกาลอันควรอยู่ ควรไปของเขาเท่านั้น ก็ไม่เห็นมีอะไร  เรื่องทั้งหมดก็มีอวิชชา คือ ความรู้โกหกอันเดียวเท่านั้น เที่ยวรังแก และกีดขวาง ต่อสภาวะให้เปลี่ยนไปจากความจริงของตน

อวิชชาดับอันเดียวเท่านั้น โลก คือ สภาวะทั่วๆ ไป ก็กลายเป็นปกติธรรมดา ไม่มีใครจะไปตำหนิติชมให้เขาเป็นอย่างไรต่อไปได้อีกแล้ว เช่นเดียวกับมหาโจรผู้ลือนาม ได้ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่าตายแล้ว ชาวเมืองพากันอยู่สบาย หายความระวังภัยจากโจร ฉะนั้น ใจทรงยถาภูตญาณทัสสนะ คือ ความรู้เห็นตามเป็นจริง ในสภาวธรรมทั้งหลายอย่างสมบูรณ์ และเป็นความรู้ที่สม่ำเสมอไม่ลำเอียงตลอดกาล นับแต่วันอวิชชาได้ขาดกระเด็นไปจากใจแล้ว ใจย่อมมีอิสรเสรีในการนึกคิดไตร่ตรอง รู้เห็นในสภาวธรรมที่เกี่ยวกับใจได้อย่างสมบูรณ์ ตา หู จมูก  ฯลฯ และรูป เสียง กลิ่น รส  ฯลฯ  ก็กลายเป็นอิสรเสรีในสภาพของเขาไปตามๆ กัน ไม่ถูกกดขี่บังคับหรือส่งเสริมใดๆ จากใจอีกเช่นเคยเป็นมา ทั้งนี้ เนื่องมาจากใจเป็นธรรม มีความเสมอภาค และให้ความเสมอภาคแก่สิ่งทั้งปวง จึงหมดศัตรูต่อกันเพียงเท่านี้ เป็นอันว่าจิตกับสภาวธรรมทั้งหลาย ในไตรโลกธาตุ ได้ประกาศสันติ ความสงบต่อกัน ลงในสัจจะความจริงด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ภาระของจิต และเรื่องวิปัสสนาของนามธรรม ที่เกี่ยวกับจิต  จึงของยุติเพียงเท่านี้

ฉะนั้น จึงขออภัยโทษเผดียงท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เพื่อกำจัดกิเลสด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า จงเห็นธรรมในคัมภีร์ทุกๆ คัมภีร์ ชี้ตรงเข้ามาหากิเลส และธรรมในตัวของเรา โดยไปซุ่มซ่อนอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ผู้ใดมีโอปนยิกธรรมประจำใจ  ผู้นั้นจะเอาตัวรอดได้

เพราะศาสนธรรม สอนผู้ฟังให้เป็น โอปนยิกะ คือ น้อมเข้ามาสู่ตัวทั้งนั้น และอย่าพึงเห็นว่า ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอดีต อนาคต โดยไปอยู่กับคนที่ล่วงลับไปแล้ว และไปอยู่กับคนที่ยังไม่เกิด จงทราบว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนคนตายแล้ว และไม่สอนคนที่ยังไม่เกิด จงเห็นว่าพระองค์สอนคนเป็น คือ ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พวกเราทั้งหลาย สมกับพระพุทธศาสนาเป็นปัจจุบันทันสมัยตลอดกาล ขอความสวัสดีมงคล จงมีแด่ท่านผู้อ่านผู้ฟังทั้งหลาย  โดยทั่วหน้ากันเถิด ฯ

www.Luangta.or.th-