พ้นการยึดติดจิตจึงหลุดพ้น
เจริญตามรอยพระพุทธบาทแล้ว จะพ้นจากบ่วงมาร
พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ วัดหลวงขุนวิน(สาขาวัดสังฆทาน
จ.นนทบุรี) อ.แม่วาง
จ.เชียงใหม่
******
เจริญพรศรัทธาสาธุชนที่ฟังธรรมปฏิบัติธรรม หากญาติโยมมีความศรัทธาที่แน่นแฟ้นต่อการฟังธรรมปฏิบัติธรรมแล้ว
ความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมนั้นจะไม่ตกต่ำ
และถึงความหลุดพ้นได้ในที่สุด ทำไมพระพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า “หลุดพ้น” ที่ใช้คำว่าหลุด เพราะพระองค์ทรงพิจารณา “ความติดว่า เป็นความทุกข์” เมื่อหลุดแล้วก็เป็นความสุข
เพราะฉะนั้น เรามาปฏิบัติธรรมก็เพื่อมาหาความหลุดพ้น คือพ้นจากจากความติดนั่นเอง
เรามาทบทวนย้อนดูตัวเราว่า
ใจของเราในขณะนี้ติดอะไรอยู่ ทุกคนยังติดอยู่ ติดมากติดน้อย
ทุกข์อยู่กับความติดนั้น ให้พิจารณาดูว่าเรากำลังติดอะไร
ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าติดแล้วเป็นทุกข์ทั้งนั้น จะเป็นติดเหล้าติดบุหรี่ติดอะไรก็ตาม
ติดชากาแฟเป็นทุกข์ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าความติดแล้วไม่มีความสุข
ถ้าคนไหนละได้ เรียกว่า “หลุด” ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ก็หลุด
ติดเหล้าเลิกเหล้าได้ก็หลุด ไม่ว่าจะติดอะไรก็ตาม ติดบ้านติดเรือนถ้าหากว่าทิ้งได้
ออกมาฟังเทศน์ฟังธรรมเข้าวัดเข้าวาได้ก็ เรียกว่า “หลุด” หลุดพ้นชั่วขณะหนึ่ง เป็น “ตทังควิมุตติ”
เรามาปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์นั่นเอง
วิธีการทางพระพุทธศาสนามีอุบายอย่างแยบยล
ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด คนที่ติดอย่างหยาบก็มีอุบายที่จะช่วยให้หลุดได้
ติดอย่างกลางก็มีอุบายที่จะช่วยให้หลุดได้ ติดอย่างละเอียดก็ช่วยให้หลุดได้
ถ้าคนนั้นพอใจ พอใจในการดิ้นที่จะหลุด ถ้าทุกคนพากันดิ้นรนเพื่อจะหลุดรับรองว่า
ทุกคนไม่ติด ต้องหลุดแน่นอน เพราะว่าพระพุทธเจ้าของเรา “เป็นโลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก”
เหตุใดจึงติด วันนี้เรามาพูดกัน “เรื่องติด เรื่องหลุด” ทุกคนยังติดๆหลุดๆอยู่
ติดมากติดน้อย ติดทั้งภายนอกติดทั้งภายใน บางคนหลุดมาได้จากการติดต่างๆ เช่นของมึนเมาของเสพติดทั้งหลายเลิกเสีย
มาฝึกสมาธิเจริญภาวนา ก็ยังมาติดอีก ยังไม่หลุด ที่นี้มาติดอย่างละเอียดขึ้นไปอีก
หลุดจากของหยาบแล้วมาเจริญภาวนา ก็ยังมาติดอีก เรียกว่า “ติดสุข ติดนิมิต ติดอารมณ์” พวกนี้ก็ติดเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการที่จะหลุดไปได้ต้องใช้สติปัญญาอย่างยิ่ง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วหลุดพ้นไม่ได้
พญามารบอกว่ามีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่พ้นจากเงื้อมมือไปได้
นอกนั้นแล้วไม่พ้น ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้วไม่พ้น พวกเรากำลังเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
เมื่อเราเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราจะพ้นจากการติด พ้นจากพญามาร ที่เรียกว่า “บ่วงของมาร” เราติดอยู่ในบ่วงของพญามารร้อยแปดที่จะสกัดกั้นให้เราติด
ไม่ให้หลุดพ้นไปได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมของเราก็เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงให้ได้
เพราะอาศัยการปฏิบัตินี้เอง เราไม่ต้องท้อถอยจงพยายามดิ้นไปเถอะ ดิ้นที่จะออก
ดิ้นเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นทุกข์อยู่ก็พ้นทุกข์ไม่ได้
ให้พวกเราทั้งหลายมาดูตัวเองว่ายังติดอะไรอยู่ ถ้าเราไม่ดู
เราไม่สามารถแกะให้หลุดออกไปได้ สิ่งยึดติดเหล่านั้น
เรามาตรวจดูว่าขณะนี้เราติดอะไร เราหลุดพ้นจากการติดของมึนเมาได้
บ้านเรือนเราก็ไม่ติด ลูกหลานเราก็ไม่ติด ทรัพย์สมบัติอะไรถึงแม้จะมีเราก็ไม่ติด
คิดเสียว่าเป็นของภายนอกเป็นทรัพย์แผ่นดินไม่ใช่ของเรา เรามาอาศัยอยู่ชั่วคราว
ใจเราก็ไม่ติดแล้วใจเป็นสุข นั่งสมาธิก็สงบ
จะไปไหนก็สงบ เพราะเราไม่ติดนั่นเอง เมื่อจิตไปติดทำอย่างไร
เมื่อติดก็ต้องแกะ ถ้าไม่แกะแล้วยิ่งติดใหญ่
วิธีแกะ คือการปฏิบัติธรรม
แกะหรือแก้ ก็คือแก้อารมณ์ที่จิตของเราที่ไปติด ติดอะไร เราก็แกะอันนั้นออก ติดบ้านคิดถึงบ้านเราก็แกะออก
เมื่อจิตหลุดก็เป็นสุข เมื่อจิตไปติดอีกก็เป็นทุกข์อีก นี่แหละความติดเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามหาทางที่จะหลุดพ้น ด้วยการพยายามแกะ
พยายามแก้ให้จิตของเราพ้นจากความติด เมื่อจิตสงบไม่ติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกแล้วก็ยังไม่พ้น
เมื่อจิตสงบแล้วติดสุขอีก ไม่ติดสุขก็ติดนิมิต
เมื่อนั่งสมาธิมีนิมิตเกิดก็ติดนิมิต ติดนิมิตเป็นอย่างไง คือไม่เห็นจริง
เมื่อไม่เห็นจริง ก็ไม่หลุดพ้นอีก พ้นมาตอนหนึ่งแล้ว มาติดอีกรอบหนึ่ง
ที่นี้เราต้องมาแก้กันอีกรอบหนึ่ง เพราะเป็นของละเอียด เป็นของเห็นได้ยากต้องใช้ปัญญา
ถ้าไม่มีปัญญาแกะไม่หลุดอีก ติดนิมิตนี้แหละเป็นของสำคัญเหมือนกัน
ติดสุขก็สำคัญเหมือนกัน เพราะ “ติดสุขจะไม่เห็นทุกข์ ติดนิมิตจะไม่เห็นจิต” แล้วเราจะทำอย่างไร
มีความสุขก็พิจารณาสุขไม่เที่ยง สุขเกิดขึ้นเดี๋ยวก็เป็นทุกข์ เมื่อสุขดับไปเราก็อยากได้สุข
ก็คิดหาสุขอีกเรียกร้องหาความสุข การเรียกร้องนั้นจึงกลายเป็นความทุกข์
เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วทำอย่างไร เมื่อเรารู้แล้วก็เห็นว่า อ๋อ! เป็นธรรมดา
สุขที่เกิดขึ้นเป็นแขกจรมา ไม่ใช่เจ้าของบ้านแล้วก็ลาจากไป
เราอย่าไปติดเขาพัวพันอยู่กับเขา ทำให้เราเป็นทุกข์เปล่าๆ
เราก็เอาจิตอยู่ที่ตัวเรากายของเรา เรียกว่า “เราไม่ติดอะไร สุขก็ไม่ติด
ทุกข์ก็ไม่ติด” เมื่อไม่ติดในสุข ไม่ติดในทุกข์ จิตใจก็โปร่งเบาสบาย
เรียกว่า “ใจเป็นกลาง”
หรือเรียกว่า
“อุเบกขา”
หรือ
“นิพพาน”
คือความดับ
ความดับนี้แหละเป็นสุข ความเกิดเป็นทุกข์
ความเกิดเป็นทุกข์ทั้งนั้น “อะไรที่ว่าความเกิด
ก็ทุกข์เท่านั้นเองที่เกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด”
สังเกตดูให้ดีนอกจากทุกข์ไม่มีอะไร ทุกข์นี้แหละตัวเกิดตัวดับ เพราะฉะนั้น
ให้เราพิจารณาทุกข์กับดูทุกข์ แล้วจะเห็นความเกิดดับ ที่ว่าเกิดดับ อะไรเกิดดับ
ขันธ์ ๕ เกิดดับเห็นชัดอยู่ รูปก็เกิดดับ เวทนาก็เกิดดับ สัญญาก็เกิดดับ
สังขารก็เกิดดับ วิญญาณก็เกิดดับ กายและจิตของเรานี้เกิดดับๆ
ถ้าเรามีสติเพ่งพิจารณาอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเห็นความเกิดดับๆๆ อยู่อย่างนี้ เมื่อเห็นเกิดดับอยู่อย่างนี้ เราก็เห็นว่า อ๋อ
! อย่างนี้เป็นอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง
สิ่งที่ไม่เที่ยงเมื่อเข้าไปยึดก็เป็นทุกข์
ตรงนี้เองหาความสุขจากการปฏิบัติธรรมได้ ก็เพราะเห็นไม่เที่ยง เห็นทุกข์
เห็นว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราโง่ ! สิ่งใดจรมา เราก็ว่าเป็นของเราหมด
ผลที่สุดพอเขาจากไปเราก็เป็นทุกข์ บัณฑิตผู้มีปัญญา ไม่ไขว่คว้าหาสุขนอกตัวเอง
ความสุขอยู่ที่ใจ ความสุขไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจนี้เอง
ถ้าใจเราสงบมีความสุขไหม
มีความสุขยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมดในโลก ทีนี้เราปรารถนาความสุขที่เจือปนด้วยทุกข์
เราจึงสุขๆทุกข์ๆอยู่เสมอ เราควรแสวงหาบรมสุข ความสุขที่ไม่มีความทุกข์ที่เหนือสุขอื่นใด
คือ พระนิพพาน ความดับ ถ้าจิตใจของเราสงบแล้วเป็นความสุขอย่างยิ่ง สงบมากก็สุขมาก
สงบน้อยก็สุขน้อย ให้เราทำจิตให้สงบเถิด วันนี้เรามาพูดเรื่องการติดกัน
ทุกคนก็คงจะยอมรับว่ายังมีติดอยู่ แต่ทุกคนก็ต้องการที่จะหลุดพ้น
ในการปฏิบัติก็ติด บางคนสารพัดติด แต่เขาก็พ้นได้เพราะอะไร
เพราะอาศัยศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระธรรมว่า
พระธรรมมีจริง เชื่อในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์มีจริง
มีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย
ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสน้อมจิตตั้งใจปฏิบัติธรรมที่พระสงฆ์ถ่ายทอดมาสู่พวกเราทั้งหลาย
เราทั้งหลายก็อาศัยการถ่ายทอดมาจากพระสงฆ์ เป็นผู้ถ่ายทอดธรรมะจากพระพุทธเจ้า
ที่เกิดจากการศึกษาและประพฤติปฏิบัติเพียรเพ่งแสวงหาความสงบ แสวงหาความสุขในทางพ้นทุกข์
คือนิพพาน เมื่อพระสงฆ์เพียรเพ่งอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมรู้แจ้งเพราะความเพียรพยายามนั่นเอง
ความสำเร็จอยู่ที่ความเพียร ถ้าเราไม่ทำความเพียรทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จไม่ได้ เพราะฉะนั้น
ให้เรามีความเพียรทุกขณะ การทำความเพียรนี้ ท่านบอกว่า “ความเพียรต้องสละตาย” ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายนอกภายใน
ทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง ลูกหลาน สิ่งที่มี สิ่งที่สมมุติว่าเป็นของเรา
ที่เกี่ยวพันเกี่ยวเนื่องกับเรา เราต้องสลัดตัดให้หมดแม้แต่กายและจิต
เราบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา “ปฏิบัติแบบสละตาย มอบกายถวายชีวิต” ตามที่เราสวดมนต์ในบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ
พระสังฆคุณ ว่าเราเป็นทาสเพื่อการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตแด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์”
ดังนั้น
การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการเสียสละอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เอง ธรรมะจึงทำให้บุคคลที่เข้าถึงธรรมนั้น
เป็นผู้เสียสละอย่างยิ่ง มีความสุขเพราะผู้ปฏิบัติธรรมเป็นคนที่มีน้ำใจ
เป็นคนที่ไม่แห้งแล้งน้ำใจ เป็นคนที่เสียสละ ก็เพราะแม้แต่ชีวิตจิตใจสังขารร่างกายก็ยังสละได้
แล้วทรัพย์สิ่งของภายนอกเป็นเรื่องเล็ก ทำไมจะสละไม่ได้ สิ่งที่เรารักในโลกนี้
ไม่มีอะไรเกินชีวิต ทุกคนรักชีวิตมากกว่าสิ่งใด เพราะฉะนั้นถ้าเราสละชีวิตได้
เราก็จะไม่มีทุกข์ เราจะมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าเรารู้จักเสียสละ เป็นคนไม่กลัวตาย
คนไม่กลัวตายก็ไม่ทุกข์ เมื่อไม่กลัวตายแล้ว ผีก็ไม่กลัว อันตรายทุกสิ่งทุกอย่าง
เราไม่กลัวทั้งหมด พระอรหันต์ท่านจึงไม่มีความสะดุ้งกลัว เพราะอะไรท่านไม่สะดุ้งกลัว
ท่านเชื่อกรรม ท่านยอมรับความจริง ท่านเข้าถึงสัจธรรมความจริงแล้ว
ผู้มีสติและสัมปชัญญะสมบูรณ์ ท่านจึงไม่สะดุ้งกลัวตาย เพราะท่านเสียสละ
ปฏิบัติธรรมเหนือตาย ธรรมะอยู่ที่ไหนก็มีความสุขเมื่อนั้น
การที่เราหลุดพ้นจากความคิดทั้งหลายได้ เป็นความสุขเช่นนี้
พระพุทธเจ้าทรงเห็นโทษว่า
การอยู่ในปราสาทราชวังเป็นการติดทั้งนั้น เพราะในปราสาทราชวังมีพร้อม รูปสวยๆ
เสียงไพเราะๆ กลิ่นหอมๆ สัมผัสที่นิ่มนวล รสอร่อยๆ เป็นของประณีตทั้งนั้น
สิ่งที่ประณีตทำให้เราติดง่ายหลุดยาก
สิ่งที่ประณีตเป็นของติดง่ายแล้วก็หลุดยาก
ถ้าผู้ใดสามารถจะหลุดสิ่งที่ประณีตได้ ไม่ติดสิ่งที่ประณีตผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญา
เป็นผู้มีความละเอียดอ่อนทางด้านปัญญา เป็นผู้มีดวงตาที่ใสสะอาด สายตาไม่สั้น
ไม่เอียง ไม่ยาว เรียกว่า “ตาปกติ” ตาปัญญาทางพระพุทธศาสนา
เป็นตาที่มองทะลุปรุโปร่งไม่มีสิ่งใดปิดบัง ทั้งรูปธรรมนามธรรม
มองทะลุปรุโปร่งถึงแม้ว่าเป็นของไม่มีตัวตนก็จริง
แต่ปัญญาญาณที่เกิดจากการปฏิบัติสามารถที่จะเห็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ได้
เพราะอะไร? เพราะเราทำจิตของเราให้ละเอียด เมื่อจิตสงบแล้วจิตละเอียด
ความละเอียดอ่อนความนิ่งของจิต จะทำให้เราเห็นรูปธรรมนามธรรมในภายนอกทั้งกายและใจ
เราจะเห็นเด่นชัดก็ต่อเมื่อจิตของเรานิ่ง
จิตของเราประณีตเป็นจิตละเอียดไม่มีนิวรณ์เครื่องฉาบทา จิตไม่เศร้าหมอง
จิตไม่ขุ่นมัวเหมือนน้ำที่ตกตะกอนนอนก้นแล้ว
น้ำที่ขุ่นเขาเอาสารส้มมาแกว่งแล้วตะกอนนอนก้น
ข้างบนใสไม่ขุ่น เมื่อมันนิ่งอยู่อย่างนั้นก็เห็นก้นโอ่งชัด จะเห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง
คือเห็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน จะเห็นชัดเจนสามารถแยกแยะได้
อันไหนขุ่น อันไหนใส เห็นความขุ่นความใส ก็จะเกิดความรังเกียจในความขุ่น
คือรังเกียจความชั่ว ไม่อยากพัวพันกับความชั่ว เห็นความดี
ที่จิตใจผ่องใสบริสุทธิ์นั้น เป็นของดีมีค่า
ด้วยเหตุนี้เอง
ผู้ปฏิบัติธรรมจึงเป็นผู้สำรวม กลัวผิดศีลก็เพราะกลัวว่า ตาจะสกปรก หูจะสกปรก
กายจะสกปรก ใจจะสกปรก สำรวมจิตไม่ให้ยินดียินร้าย ไม่ให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว
สำรวมตาเมื่อเห็นรูป สำรวมหูเมื่อได้ยินเสียง ถ้าไม่สำรวมเป็นอย่างไร?
ถ้าไม่สำรวมมันก็ยินดี หรือไม่ก็ยินร้าย แล้วก็ทุกข์
เมื่อเราสำรวมแล้วก็เป็นสุข
ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ใจเป็นกลาง นี่เรียกว่า “การปฏิบัติธรรมเป็นมัชฌิมา” เรามาหาทางที่พอดีๆ คือมัชฌิมาปฏิปทา
มัชฌิมาอยู่ตรงนี้เอง อยู่ตรงที่ไม่รัก ไม่ชัง ไม่อคติ อยู่ตรงที่ทำใจให้เป็นกลาง
ไม่มีอคติลำเอียง
ธรรมะเป็นของกลางๆ “มัชฌิมาปฏิปทา อยู่ที่ใจเป็นหนึ่ง
ใจเป็นเอก” ตาเห็นรูปก็เฉย นี่เป็นมัชฌิมา ถ้ากำหนัดเป็นอย่างไร? หย่อนเกินไป
ถ้าเกิดความโกรธเป็นอย่างไร? ก็เกิดความตึงเครียดเกินไป นี่แหละราคะ โทสะ ทำให้หย่อน
ทำให้ตึง ทั้งหย่อน ทั้งตึง ไม่ดีทั้งนั้น ของดีอยู่ที่ความพอดี
วางใจเป็นกลางพอดีก็ดีแล้ว เราไปหาความดีที่ไหนกัน ความดีอยู่ที่เราพร้อมแล้ว
เราจะหาความดีที่ใจเรา เราอย่าไปหาความดีข้างนอก หาไม่เจอหรอก มันดีเดี๋ยวเดียว
มันดีไม่จริง สามีดี ภรรยาดีนั่นแหละดี ทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นรถยนต์
โทรทัศน์ ตู้เย็น อะไรก็ตาม เฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างที่เราว่าดีๆ
พอเก่าเข้าก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ปกติคงที่ เพราะฉะนั้น ความดีอยู่ที่ตัวเรา เราจึงมีความสุข
เราจะเห็นความดีก็ต่อเมื่อเรารู้จักความดี
รู้จักเอาความดีมาปฏิบัติให้ความดีปรากฏชัดขึ้นในใจ แล้วเราจะสบายใจ
เราจะมีความสุขใจมาก เราจะไม่เบื่อหน่าย เราจะไม่ท้อแท้ต่อชีวิต
เห็นว่าชีวิตเราที่เกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา
ได้ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตที่มีคุณค่าที่สุด เงินทองถึงแม้ว่าจะมีมากมายกองล้นพ้นภูเขา
ก็ซื้อเอาชีวิตของเราไม่ได้ สู้ชีวิตที่ได้มาสัมผัสกับธรรมะไม่ได้
เพราะว่าเป็นชีวิตที่มีความสุข เป็นชีวิตที่มีคุณค่า
มีประโยชน์มากทั้งตนเองและสังคม เพื่อนบ้านใกล้เคียง ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมได้สัมผัสกับธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว
จะมีประโยชน์ต่อชีวิตมาก ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราจะไม่ท้อถอยเลย เราจะช่วยกลบเกลื่อนปมด้อยในชีวิตของเราที่เกิดมาไม่สมบูรณ์
เพราะอะไร? ชีวิตเราจึงไม่สมบูรณ์ เพราะการสร้างกุศลของเราไม่ถึงพร้อม
ยังไม่ปฏิบัติตรงตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา คือไม่พร้อมนั่นเอง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “สพฺพปาปสฺส อกรนํ” การไม่ทำบาปทั้งปวง “กุสลสฺสูปสมฺปทา” การทำกุศลให้ถึงพร้อม “สจิตฺตสปริโยทปานํ” การชำระจิตของตนให้ผ่องใสขาวรอบ
ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
ถ้าเราทำพร้อมกุศลทั้งมวล เราก็พร้อมเกิดเป็นมนุษย์สมบัติ เมื่อเรารู้อย่างนี้
เราก็ไม่ท้อแท้ ไม่เสียใจ ไม่น้อยใจ เราก็ไม่โทษใคร แต่โทษตนเอง โทษว่าเรานี้
ยังทำความดีไม่ถึงพร้อม ถ้าเราทำความดีถึงพร้อมแล้ว เราก็อบอุ่น ไปเจอทักทายปราศัยกับใคร
ก็เป็นที่สบายใจมีความสุขใจ มีความอบอุ่น ให้ทุกคนรักษาการทำความดีไว้ อย่าได้ท้อถอย
อย่าได้ท้อแท้
เวลาก็พอสมควรแล้ว
ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ ทำตนของตนให้พ้นทุกข์
ทำความเพียรให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
ประสบแต่ความสุขความเจริญจนถึงที่สุด รู้แจ้งเห็นจริง
และสิ้นอาสวะทั้งหลายในที่สุด ในอนาคตกาลทุกท่านทุกคนเทอญ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น