ชนะกิเลสด้วยปัญญา
พระธรรมเทศนา
พระอธิการจรัญ ทกฺขญาโณ
วัดหลวงขุนวิน ต.ดอนเปา อ.แม่วาง
จ.เชียงใหม่
การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้จะต้องใช้สติปัญญามาก
ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็เอาชนะกิเลสไม่ได้ เพราะกิเลสเป็นของละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจุดหมายปลายทางให้มากๆ
เพราะความละเอียดลออหรือความลับที่เราไม่รู้ในธรรมชาตินั้นมีอีกมาก การที่เราจะออกจากทุกข์
เราต้องมาศึกษาเรียนรู้ ถ้าความรู้ไม่ฉลาดหรือไม่แยบยลในการเรียนรู้จริงๆแล้ว
เราจะรู้ไม่ได้เลย เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่วกวนสับสนมาก
ก่อนอื่นเราจะต้องสำรวจว่า
อะไร คือ สาระที่สูงสุดของชีวิต เราพึงจะได้และเข้าถึง อันเป็นจุดหมายปลายทางที่สูงสุดของชีวิต
เมื่อเราเกิดมาแล้วไม่สามารถย้อนอดีตที่ผ่านไปให้กับคืนมาได้
ชีวิตผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไปเลย
เวลาที่เหลืออยู่เราจึงจำเป็นต้องมองหาสาระแก่นสารที่ดีที่สุดของชีวิต
เราต้องคว้าเอาตรงนั้นให้ได้ ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรคือจุดสูงสุดของชีวิต
อะไรเป็นสาระสูงสุด
ซึ่งเป็นของละเอียดที่บุคคลนั้นจะมองเห็น และเข้าใจได้ยาก แต่ว่าถ้าเราฝึกทำสมาธิและประพฤติปฏิบัติมาบ้างแล้ว
ก็จะเป็นบาทฐานหรือเงื่อนต้นของการเรียนรู้ เราจะเข้าใจว่า จุดสูงสุด คือ ความสงบระงับ ถ้าคนนั้นไม่เคยทำสมาธิหรือไม่เคยอบรมตนตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย
ก็ยากที่จะรู้ว่าอะไรคือสาระสูงสุดของชีวิต เพราะเขาอาจจะมองไปถึงธรรมเนียมฝรั่งที่ว่า
กินเข้าไป ดื่มเข้าไป กินให้สนุก เที่ยวให้สนุก พรุ่งนี้อาจจะตายก็ได้ บางคนจึงเอาความสุขหรือความสนุกในโลกนี้เป็นจุดหมายสูงสุด เพราะไม่รู้จะเอาอะไรเป็นแก่นสารของชีวิต
เราจงคิดพิจารณาดูว่า ตรงนี้เป็นสาระสูงสุดแล้วหรือ? พวกเขาเหล่านั้นมองไม่ออกว่า อะไรคือสิ่งที่ควรจะรับเอาเป็นสาระในชีวิต เรามาฝึกฝนอบรมจะเข้าใจอย่างนั้นไม่ได้ เพราะถ้าเรายิ่งดื่มยิ่งกินยิ่งเที่ยวเพื่อกอบกวยเอาความสุขของโลกนี้ ก็ติดอยู่ในกามคุณนั่นเอง
จิตของเราที่ติดอยู่ในโลกนี้ก็เพราะอาศัยความสนุกสนาน
ความเป็นไปของโลกเป็นเครื่องอยู่ๆแล้ว จิตนั้นจะดิ้นรนอยู่ตลอดเวลา หาความสงบไม่ได้เลย
ความสงบเกิดขึ้น ณ ตรงนั้น ย่อมไม่ได้
เพราะตรงนั้นเป็นตำแหน่งที่จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งตลอด
จริงอยู่ความสุขทางโลกนั้นมีอยู่ เรียกว่า กามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
กามนี้มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก ไม่ได้ปฏิเสธว่า กามนี้ไม่มีความสุขเลยก็หาไม่ กามนั้นมีความสุขอยู่
แต่ความสุขนั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นความสุขที่เจือด้วยความทุกข์นั่นเอง เราต้องมองด้วยว่า ความสุขที่โลกมีอยู่นั้น
คือความทุกข์ แล้วความทุกข์นี้เป็นผลตามมา โดยมีความสุขเป็นเบื้องต้น
ถ้าไม่มีความสุขเกิดขึ้นก่อน หรือกามคุณไม่มีขึ้นก่อน ไม่มีขึ้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายเราท่านทั้งหลาย
คงไม่ติดอยู่ในโลกนี้เพราะไม่มีสุข ความสุขนี้ทำให้เราติดสุข สุขนี้นำมาซึ่งความวกวนสับสนของจิตมากมาย มีอาการต่างๆ
เป็นอเนกอนันต์ ความปรุงแต่งของจิตทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก
จิตที่ติดอยู่ในความสุขของโลก ติดอยู่ในกามคุณจากการที่ความคิดปรุงแต่งทวีคูณมากขึ้น
ฉะนั้น
เมื่อเราเห็นดังนี้แล้ว เราจึงเป็นคนหนึ่งที่นั่งใกล้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้ฝึกตนมาพอสมควร และเห็นว่าความสงบเป็นสุขอย่างหนึ่งที่ตีคู่ขึ้นมา
เมื่อก่อนเห็นว่าความสุขทางโลกก็มีอยู่ ต่อมาเราเห็นว่าแม้แต่ความสงบที่เกิดจากจิตระงับต่ออารมณ์แล้วตั้งมั่นอยู่
ทำให้รู้สึกมีความสุขขึ้น เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง แต่ความสุขชนิดนี้ เป็นความสุขไม่ได้เจืออะไรเลย
เป็นความสุขในตัวจิตเอง ส่วนจิตเป็นตัวเสวยอารมณ์ที่อาศัยกามคุณแล้วเกิดขึ้น
จิตอาศัยสิ่งหนึ่งแล้วจึงมีความสุขขึ้นมา โดยที่จิตมิได้อาศัยจิต
แต่อาศัยสิ่งที่เป็นคู่ อาทิ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นรับรู้รส เป็นต้น นำมาซึ่งความสุขอันนั้น
ตัวจิตเองก็มีความสุขในตัวเองอยู่แล้ว
แต่เราไม่เคยหยุดปรุงแต่ง เมื่อเราอบรมตนอยู่เรื่อยๆ ทำสมาธิอยู่เรื่อยๆจิตก็สงบลง
เมื่อสงบลงแล้วจะเห็นความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขที่ไม่อิงอาศัยอะไรเลย ความสุขนี้เป็นความสุขที่หาโทษมิได้
และเป็นความสุขที่สุดยอดของชีวิตนี้ แต่มีปัญหาตรงที่ความสงบของจิต เมื่อทำสมาธิแล้วจิตสงบมีความสุข
แต่ความสุขชนิดนี้ มิได้ตั้งอยู่กับเรานานๆได้ เพียงแต่ทำให้เราสงบระงับบางขณะ
เพียงขณะใดขณะหนึ่ง ความสุขนั้นมีอยู่เราได้ลิ้มรส ได้เคยสัมผัส แต่ตั้งอยู่ไม่นาน
เราก็อยากจะให้ความสุขนั้นตั้งอยู่นานๆ แต่ก็ตั้งอยู่ได้เพียงชั่วอารมณ์ของความสงบเท่านั้น
แล้วก็กลับมาปรุงแต่งต่อไปอีก ความปรุงแต่งที่เกิดในภายหลังนี้
ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นความทุกข์เหลือเกิน บุคคลยิ่งมีความสงบมากเท่าไร
ก็ยิ่งรู้สึกว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปรุงแต่งมากเท่านั้น
เหมือนกับว่ายิ่งหนียิ่งทุกข์ ยิ่งสงบเท่าไรยิ่งเห็นความปรุงแต่งเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์มาก
ความทุกข์ตรงนี้จะเป็นภาวะที่ให้เจ้าตัวนั้นรู้ว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อย
ถ้าสงบน้อยก็เห็นความปรุงแต่งมีทุกข์น้อย
ถ้าสงบมากเท่าใดก็จะรู้สึกว่าความปรุงแต่งนั้นเป็นทุกข์มากจริงๆ
ทำไปทำมาแค่จิตกระดิกนิดเดียวความทุกข์นั้น
เหมือนกับเอามีดเสียบแทงเข้าไปที่หัวใจเลย
ทุกข์นั้นจะติดตามคนที่สงบประณีตเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนเงาตามตัว จนกว่าทุกข์นั้นจะถูกทำลายไปทั้งหมดสุขนั้นถึงจะได้มา
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ก็เหมือนกับเป็นสิ่งที่เรายิ่งหนีก็ยิ่งตาม
ทำให้เราจำเป็นจะต้องมีพลังและมีความเพียร เพื่อที่จะทำลายกิเลส
ถ้าบุคคลนั้นยืนอยู่ตรงนี้ชื่อว่า
เข้าไปนั่งใกล้พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากที่สุด แต่เราจะเรียนรู้ว่า ทุกข์โทษในโลกนี้
เป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษา เพื่อที่จะแก้ไขเป็นสิ่งที่สับสน
จุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้ว่า
ทำอย่างไรเราจึงจะเอาชนะการปรุงแต่งให้ได้ แล้วเราจะได้มีความสุขที่สุดในชีวิต
เป็นความปรารถนาที่เราตั้งใจไว้ เรามองจิตที่เป็นชัยชนะของเรา ระหว่างที่เรามองจิตอันเป็นชัยชนะของเรากับขวากหนามที่เผชิญอยู่ตรงหน้า
เป็นอุปสรรคที่เราจะต้องต่อสู้ ลำพังตัวเราเอง จะชนะโดยการทำความสงบมากๆแล้ว
อารมณ์จะหายไปเอง หรือถูกสลายไปเองเป็นไปไม่ได้เลย การอาศัยความสงบถ่ายเดียวชนะไม่ได้
ถ้าเราตั้งความหวังไว้ว่าทำอย่างไรหนอ? เราจึงจะชนะความปรุงแต่งได้
และพ้นจากการปรุงแต่งทั้งหมด ถ้าเราทำได้ดูเหมือนโลกนี้จะมีความสุขที่สุด นี่คือการตั้งความหวังไว้ถูกต้อง แต่ว่าถ้าเราจะอาศัยการทำสมาธิไปจนถึงที่สุด
จิตสงบหยุดลงมากเท่าใด เท่ากับกิเลสก็จะหายไปเท่านั้น ถ้าคิดอย่างนี้ยังคิดผิด
เพราะกิเลสนั้นไม่สามารถจะชนะได้ โดยเอาความสงบมากลบไว้ การกลบไว้นั้นกิเลสไม่ตาย เพียงแต่หลีกทางให้
แล้วมาพบกันทีหลัง เมื่อทำสมาธิมากๆ กิเลสจะหลีกทางให้เราสงบได้ในบางโอกาส อาทิ
โดยการบริกรรมคาถาหรือคำภาวนาต่างๆ ทำให้จิตสงบ หลังจากสงบแล้วจิตก็ปรุงแต่งอีก
เราอยากจะให้ความสงบนั้นตั้งอยู่นานๆก็ได้เพียงแค่นั้น
จิตเมื่อถึงความสงบจริงๆแล้วจะคลายตัวออกมา เวลาถอนตัวออกมาแล้วก็พบการปรุงแต่งใหม่
จิตหนีโดยอุบายนี้หนีไม่พ้น ดังนั้น จึงเป็นวิธีเบื้องต้นที่ทำให้จิตสงบ
เพื่อจะมองเหตุการณ์ต่างๆออก เรามาถึงตรงนี้แล้วจะทำอย่างไร?
ขั้นตอนต่อไป
คือ วิปัสสนา เป็นการทำให้แจ้ง แจ้งตรงไหน?
แสดงว่าวิปัสสนา ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ตำแหน่งนั้นแล้วจะชนะกิเลสได้
ต้องมีทางอื่นด้วยจึงจะช่วยได้
ทำใจให้สงบแล้วต้องมีวิปัสสนาประกอบทำให้แจ้งที่ตัวเรานั่นเอง แจ้งในตัวเรา
การแจ้งตรงนี้ทำให้เรารู้เบื้องลึกของจิตว่าเหตุของการปรุงแต่งทั้งหมดของจิตมาจากไหน?
แล้วเราก็ทำลายเสียตรงนั้น ความปรุงแต่งจึงจะแห้งเหือดหายไป
เราต้องทำลายที่รากเหง้าของการปรุงแต่งทั้งหมด
การทำสมาธิเบื้องต้น
เป็นการตัดอารมณ์ที่ปลายเหตุ
ทำให้ไม่สามารถเอาชนะการปรุงแต่งโดยหมดจด การพิจารณาเป็นของที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
ฉะนั้น จึงมีอุบายหรือทางที่เราจะชนะ นั่นคือทางเส้นใหม่ เป็นทางเส้นอื่น
เบื้องแรกเราต้องศึกษาทางเดินของจิตว่า
อะไรเป็นปัจจัยที่ชักจูงจิตนั้นเดินทางอยู่ก่อนแล้ว เราต้องมาศึกษาตรงนี้ เพราะว่าทางเส้นนั้น
ทำให้เรามีความสงบไม่ยืนนาน ไม่ยืดยาว
เพราะความเคยชินที่เราเดินอยู่บนเส้นทางสายเก่า ที่เราเคยเดินอยู่จนชำนิชำนาญ
ทำให้เราสงบตั้งมั่นถาวรได้ยาก
กระแสจิตที่คอยแต่จะไหลออกไปข้างนอกตามความเคยชินของเขา
เหมือนมีแรงหรือกระแสที่เชี่ยว ทำให้เราทำจิตให้ตั้งมั่นได้ยากเป็นเครื่องบั่นทอนจิต
ทำให้จิตไม่สงบ จึงมีปัญหาขึ้นว่า ทำไมหนอ? จิตจึงไวต่ออารมณ์เหลือเกิน
จิตเป็นผู้หยุดอยู่ในอารมณ์ไม่ได้ ต้องมาค้นคว้าหาที่มาก่อน
ก่อนอื่นเราจะทำให้แจ้งหรือว่าเราจะทำลายการปรุงแต่งทั้งหมด ต้องมาศึกษาตรงนี้ก่อน
ถ้าเรามาศึกษาจริงๆแล้ว จะเห็นว่าจิตถูกกิเลส ๓ ตัว เป็นตัวชักจูง
เป็นพลังอันหนึ่งที่ขับเคลื่อนจิตของเราให้วิ่งอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ
เป็นแรงผลักดันให้จิตของเราวิ่งในกระแสตลอด ทำให้เราหยุดหย่อนไม่ได้ แม้จะตั้งจิตให้สงบสักระยะหนึ่งก็ยาก
เพราะจิตไม่ค่อยตั้งมั่นอยู่ มีแต่จะวิ่งออกไปอย่างเดียว
ฉะนั้น
เราจะต้องหาจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อหาช่องทางเป็นอุบายออก หาทางออก
เราต้องศึกษาลึกเข้าไปอีกว่า ความปรุงแต่งแรกๆ เกิดขึ้นจากอะไร?
เกิดขึ้นโดยอาศัยความดำริ ความดำริ
คือเจตนาอันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จิตก็วิ่งไปตามนั้น ถ้าเราใส่ใจในอารมณ์นั้นมากๆ
จิตจะวิ่งไปตามอารมณ์นั้นมากขึ้น ซึ่งเราก็ทำไปโดยความไม่รู้ ทำให้เราไม่รู้ทางหนีทีไล่
แล้วก็หาทางออกไม่ได้ ความดำริตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนของจิตให้ไปในกระแสนั้น คือจิตดำริไปทางราคะ ดำริไปทางโทสะ ดำริไปทางโมหะ
เราต้องมาศึกษากิเลส ๓ ตัวนี้ก่อน
อะไรเอ่ย?
ที่ทำให้ราคะไม่เกิดนั้นเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมพอกพูนเป็นไปเพื่อความไพบูลย์
และอะไรเอ่ย? ที่ทำให้ราคะไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
และที่เกิดขึ้นแล้วถูกบรรเทาลง พูดง่ายๆ คือจิตปรุงแต่งในราคะที่ไม่ปรุงแต่งทีแรก
แล้วปรุงแต่งขึ้นมา และปรุงแต่งมากขึ้น อะไรเป็นเหตุ อะไรเอ่ย?
ทำให้การปรุงแต่งราคะที่มีอยู่ และมีมากอยู่แล้วบรรเทาลง แล้วตั้งอยู่ไม่ได้
เราต้องมาสำรวจตรงนี้ จิตที่ปรุงแต่งจะทำอย่างไรให้บรรเทาลง
ก่อนจะบรรเทาเราต้องรู้จักจิตทีแรกเกิดอย่างไร?
จะบรรเทาอย่างไร? เราจะหนีอารมณ์หนีให้ไปถึงที่สุด
โดยไม่ต้องไปสนใจแล้วจะหนีอย่างเดียว จะสำเร็จประโยชน์ไม่ได้
เพราะของสิ่งนี้จะติดตามเราตลอด จะแก้ไขไม่ได้ การหนีอารมณ์เช่นนี้ จะแก้ไม่ได้
เราจะหนีจริง แต่ต้องมาศึกษาก่อน มาเรียนรู้ความจริงตรงนี้ก่อน อารมณ์ทั้งหลายนั้น
เราต้องมาศึกษาว่า การเกิดทีแรกนั้นเกิดอย่างไร? อารมณ์เกิดทีแรกนั้นจิตจะสร้างภาพ
การที่จิตสร้างอารมณ์กับภาพนั้น อันเดียวกัน อย่างเช่นเรานึกถึงใครหรือนึกถึงสิ่งใดที่เราชอบก็จะเห็นสิ่งนั้น
จิตก็สร้างอารมณ์ขึ้นมาแว๊บก็ปรากฏภาพสิ่งนั้นขึ้นมาในจิตนั้น
ลำพังตาเราก็เห็นอยู่แล้ว หูเราก็ได้ยิน จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นได้รส
ก็ปรากฏตรงๆอยู่แล้ว ก็ปรากฏได้ การที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ไม่ได้สัมผัสสิ่งนั้น
แต่เกิดขึ้นเองในลักษณะของอารมณ์ทั้งที่เป็นอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้าง เรียกว่า สัญญา
เจตนาบ้าง คือปรุงแต่งไปในอนาคต
สรุปแล้วทั้งหมด คือ สังขาร ตัวสังขาร
คือความปรุงแต่งของจิต ไม่ว่าข้างหน้า ข้างหลัง หรือปัจจุบัน
ล้วนแต่เป็นการปรุงแต่งทั้งหมด ความปรุงแต่งตรงนี้ คือภาพ และเป็นตัวบ่งบอกอารมณ์ของจิต
จิตเรานึกถึงอารมณ์อันใดอันหนึ่งขึ้นมา จิตก็สร้างภาพในจิตของเรา
อารมณ์เหล่านั้นทำให้เกิดอารมณ์รัก ชัง หรือเฉยๆ ภาพนั้นจะปรากฏขึ้นมา
ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่ชอบก็จะชอบไปตามนั้น คือ ราคะ
ถ้าเราเห็นภาพนั้นที่เป็นสิ่งที่ไม่ชอบ คือ โทสะ และเฉยๆ คือ โมหะ
ไปทางไหนชนกิเลสหมดเลย นึกเรื่อยเปื่อยจะว่ารักก็ไม่ใช่ จะว่าชังก็ไม่ใช่
ก็คือโมหะ นั่นเอง สรุปแล้วจิตปรุงแต่งอย่างเดียว
ทั้งสิ่งที่ผ่านมาในอดีตและปัจจุบัน คือความปรุงแต่งทั้งหมด ภาพตรงนี้เองเป็นผู้กำชะตาชีวิตของเราทั้งหมด
ถ้าเราจะทำลายความปรุงแต่งก็คือทำลายภาพนี้ให้ได้
พระพุทธองค์ทรงตรัสเทศนาไว้โดยย่อว่า อารมณ์อันใดที่บุคคลใดนึกถึงที่อยู่เบื้องหน้า
ไม่ถือเอาอารมณ์ที่เป็นเบื้องหน้า และไม่ถืออารมณ์ใดที่เป็นเบื้องหลัง
และอารมณ์ใดที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า เป็นบุคคลผู้ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในอารมณ์อันนั้น
บุคคลนั้นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์นี้ คือผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แล้วเสด็จเข้าที่ประทับ
พระภิกษุทั้งหลายฟังจบแล้วไม่สามารถจะทราบรายละเอียดได้
หาความกระจ่างไม่ได้ ทำอย่างไรจะรู้ความพิสดารนี้
คือรู้ความละเอียดของความตรงนี้ได้ สามกาล คือเบื้องหน้า เบื้องหลัง
ท่ามกลาง จึงพากันขอให้พระกัจจายนเถระ พระอรหันต์ผู้เป็นเลิศในการเทศนาขยายความแห่งธรรมที่แสดงไว้โดยย่อให้พิสดาร
ได้เมตตาแสดงเพิ่มเติมว่า
เบื้องหน้า
คือความปรุงแต่งที่เราจินตนาการไปล่วงหน้าก่อน เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้น
ถ้าเราตั้งจิตไว้ตรงนั้นอารมณ์นั้น วิญญาณก็พัวพันในอารมณ์นั้น
จิตนั้นก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ถ้าเราตั้งจิตไว้ในอารมณ์ที่เป็นเบื้องหลัง
วิญญาณนั้นก็ผูกพันในอารมณ์ที่เป็นเบื้องหลังนั้น
แล้วบุคคลใดที่ตั้งอารมณ์ไว้ในปัจจุบันและข้างหน้า วิญญาณนั้นก็ผูกพันอยู่ด้วยอารมณ์ในปัจจุบันและเบื้องหน้า
การที่พัวพันอยู่ในอารมณ์ในปัจจุบัน และเบื้องหน้าอยู่นั่นเอง เป็นธรรมที่ง่อนแง่นคลอนแคลน
แต่บุคคลที่ทำอย่างไรที่จะทำให้ธรรมนั่นไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน คือ ทิ้งกาลทั้งสามกาล
โดยไม่ตั้งจิตไว้ทั้งสามกาล แม้กระทั่งอารมณ์ที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ตั้งไว้
บุคคลนั้นแลได้ชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนที่เป็นธรรมอยู่เฉพาะหน้า
เมื่อเรารู้ว่าจิตคนเราตั้งไว้ข้างหน้าเป็นสังขาร
คือความปรุงแต่ง
ตั้งข้างหลังหรืออดีตเป็นสัญญา ตั้งไว้ปัจจุบันก็ คือสังขาร ถ้าจิตตั้งไว้ข้างนอกเป็นอารมณ์ทั้งหมด
จิตของมนุษย์จะอยู่ข้างนอกทั้งหมดเลย แล้ววิญญาณ คือธาตุรู้ จะพัวพันหมดเลย จะถูกพันธนาการด้วยอารมณ์นั้น
เรียกว่า พัวพัน เป็นการพันธนาการด้วยอารมณ์ อารมณ์จะฉุดรั้งทำให้วิญญาณตัวนี้เองวิ่งไปตามกระแส
วิญญาณตัวนี้เองจะเป็นตัวท่องเที่ยวอยู่ร่ำไป ก็คือภาพนั่นเอง ภาพ
คืออารมณ์นั่นเอง เราต้องเข้าใจว่า ภาพที่จิตสร้างขึ้นมานั้น คือตัววิญญาณ
เป็นตัวท่องเที่ยว ถ้าเราไม่ตายก็คือวิญญาณลักษณะที่ยังไม่ตาย แต่ถ้าเราตายเมื่อใดวิญญาณก็เป็นลักษณะอีกแบบหนึ่ง
เป็นไปโดยที่ไม่มีการรั้งอะไร กลายเป็นไปตามกรรมตามอารมณ์ที่มีอยู่นั่นเอง
ฉะนั้น เราจึงหล่นอยู่ข้างนอกเพียงถ่ายเดียวไม่ว่ากาลใดๆ
หนามยอกเอาหนามบ่ง เราต้องฆ่าวิญญาณนี้เอง
เราจะรู้แจ้งก็อาศัยตัววิญญาณนี้เองเป็นตัวรู้แจ้ง
แล้วเราจะทำลายวิญญาณโดยตัวของมันเอง แล้วก็จะทำลายได้ เป็นหนามยอกก็เอาหนามบ่ง คือภาพนั่นเอง เช่น
เราเปิดโทรทัศน์มีรายการตลก เราก็หัวเราะตามภาพที่ออกมาทางตลก ชวนให้หัวเราะขำขันเฮฮาตามภาพนั้น
ทั้งๆที่เราหัวเราะอยู่ เราก็เปลี่ยนไปเปิดอีกช่องหนึ่งเป็นภาพกีฬาที่ทำให้มีความรู้สึกมันในอารมณ์
เราก็ตื่นเต้นไปตามนั้น แล้วเราก็เปลี่ยนไปเปิดอีกช่องหนึ่งเป็นการแสดงละครลักษณะเศร้าโศก
เราก็เศร้าโศกตาม ถามว่าอะไร? เป็นตัวบงการให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปรไปตามอารมณ์
ก็ภาพนั่นแหละ มีอิทธิพลทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
จึงเป็นตัวบงการชีวิตให้เรามีอารมณ์แปรเปลี่ยนไปตามภาพนั้น เปรียบเทียบเหมือนว่า ภาพอันใดที่จิตสร้างขึ้นมาในห้วงสำนึก
ภาพนั่นเองเป็นสิ่งพาเราไปทุกทิศทุกทาง ปรุงแต่งไม่รู้จักจบสิ้น
เราจำเป็นจะต้องศึกษาทั้งที่กิเลสมีอยู่
ถ้าเราเห็นว่า ความปรุงแต่งเป็นของที่น่ารังเกียจ ไม่น่าคบค้าสมาคม
ก่อนอื่นเราจะไม่คบ เราจะทำลายก็จับมาศึกษาก่อนว่าเป็นอย่างไร
ว่าอารมณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องมาศึกษาให้ละเอียดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ถ้าเราเข้าใจอย่างนั้นแล้ว เราจะต้องใช้ภาพตรงนี้ เป็นผู้บงการชีวิตตามอารมณ์ที่จะชวนเราไป
เราเห็นจุดอ่อนตรงนั้น เราก็ต้องสร้างภาพอันใดอันหนึ่งที่ให้จิตตั้งอยู่คงที่
ต้องให้ภาพนั้นเป็นภาพเดียวไม่มีหลายภาพ แล้วภาพนั้นเป็นภาพที่เราจะต้องตั้งไว้ แล้วนำมาซึ่งความตั้งมั่นของจิตดวงนี้
ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้จิตเห็นแล้วจะตั้งมั่นได้ อาศัยภาพนั้นเองเป็นผู้เห็น แล้วภาพนั้นเองและความเห็นนั้นเป็นที่มาของความรู้แจ้ง ตัวแจ้งก็คือวิญญาณนั่นแหละทำให้แจ้ง
แจ้งแล้วฉลาดก็คือ รู้แจ้ง เห็นแจ้ง คือตัววิญญาณนี้เอง ถ้าไปเห็นข้างนอกจะเป็นวิญญาณที่ท่องเที่ยวไปหาที่สิ้นสุดไม่ได้
แต่ถ้าเรานำความเห็นนี้มาเห็นตัวของเรา กลายเป็นว่าตัววิญญาณนั้นเป็น ญาณทัสสนะ
เป็นตัวดับทุกข์ด้วย เป็นธรรมชาติอันเดียวกัน
แต่คนละตำแหน่งก็เลยมีอาการต่างกัน ตัววิญญาณอยู่ข้างนอกจะมีแต่โทษ เห็นข้างในจะมีแต่คุณประโยชน์
เราตั้งจิตไว้ที่ตรงไหนล่ะ
ตั้งไว้ที่ตัวเองนั่นแหละ นี่จึงเป็นที่มาของการทำให้แจ้ง หรือทำวิปัสสนา
เป็นการทำความรู้เห็นที่ตัวเราโดยเหตุอันนี้ สาเหตุคือเราจะต้องแจ้งในตัวเรา เพราะตัวเรานั่นเองเป็นสิ่งเดียวซึ่งไม่มีอะไรในโลกจะเทียบได้
ตัวเราเท่านั้นที่ทำให้จิตตั้งไว้แล้ว มองเห็นแล้ว ตั้งมั่นได้โดยถาวรมั่นคงมาก
ถ้าเราเอาจิตไปตั้งไว้ในอารมณ์ข้างนอก มีแต่จิตจะวิ่งออกอย่างเดียว
มีแต่การเคลื่อนไหวไปมา หากเราตั้งจิตไว้ที่ตัวเราได้ เราจะเป็นผู้มีความสงบถ่ายเดียว
เราก็ต้องเอาตัววิญญาณมาเห็นตัวเสีย แล้วครองตำแหน่งนั้นไว้อย่างเดียว ไม่ให้ภาพอื่นแทรก
รักษาไว้ เพียรสร้าง เพียรรักษา ให้เกิดให้มีขึ้นในตัวเราขึ้นมา ตัววิญญาณนี้ถ้าอยู่ในตัวเราแล้ว
จะรู้เห็นทั้งหมด แล้วทำลายตัวเองให้เป็นผู้สงบระงับ เป็นผู้ไม่มีวิญญาณในที่ใดๆ
ก่อนอื่นเราจะต้องมาดูตัวเอง เราจะต้องสละบางสิ่งบางอย่างที่เป็นของโลกๆออกก่อน
สละของโลกออกให้หมด จำเป็นต้องสละบางสิ่งที่เรายึดติดอยู่
การที่เราจะหวังอีกสิ่งหนึ่ง เราจะทิ้งอีกสิ่งหนึ่งก่อน แล้วไปเอาอีกสิ่งหนึ่ง
ถ้าเรายังอาลัยสิ่งหนึ่งอยู่ แล้วจะหวังสิ่งที่เราต้องการไม่ได้เลย เราต้องการความสงบ เราจะต้องทิ้งความไม่สงบนั้น
ทั้งขบวนของความไม่สงบนั้นพร้อมทั้งเหตุ และปัจจัยเหล่านั้นให้หมด ถึงจะได้ความสงบนั้นโดยถาวร
ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ
มีความอุตสาหะ วิริยะ ความเพียร ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจมุ่งสู่จุดหมาย คือ การพ้นทุกข์
การประพฤติปฏิบัติของตัวเองที่ผ่านมา และในครั้งนี้ จงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าสู่มรรคผลนิพพาน
รู้แจ้งในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในที่สุด ดับทุกข์ ดับโศก ทุกท่าน ทุกคน เทอญ.......
(การเห็นแจ้งตัวเอง ด้วยมรรคมีองค์
๘ กายคตาสติ สติสัมโพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ ในกาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยกรรมฐาน ๕ ได้แก่
เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ(หนัง) และอาการ ๓๒ ของร่างกาย คือผม
ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น
น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง จนเห็นความเป็นตัวเป็นตนของตนไม่มี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น