วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

สติปัฏฐาน ๔ พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



สติปัฏฐาน ๔

"สติปัฏฐาน ๔" เป็นทางสายเอก เป็นทางเดินไปสู่การเห็นแจ้งขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นกองทุกข์ในอริยสัจ ๔ ซึ่งเกิดจากตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา เมื่อเห็นแจ้งเหตุแห่งทุกข์ และดับเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว ก็เป็นนิโรธ ทางนำไปสู่การดับทุกข์นั้น คืออริยมรรคมีองค์ ๘
 ส่วนสติปัฏฐาน ๔ นั้น เป็นมรรคข้อที่ ๗ ที่จะนำไปสู่การมีสมาธิที่มั่นคงถาวร และเป็นสัมมาสมาธิ คือมรรคข้อที่ ๘ โดยมีมรรคข้อที่ ๑ คือสัมมาทิฏฐิ มรรคข้อที่ ๒ คือสัมมาสัมกัปปะ มรรคข้อที่ ๓ คือคือสัมมาวาจา มรรคข้อที่ ๔ คือสัมมากัมมันตะ มรรคข้อที่ ๕ คือคือสัมมาอาชีวะ มรรคข้อที่ ๖ คือสัมมาวายามะ เป็นฐาน เป็นบริวารล้อมรอบ นั่นแหละจึงจะเป็นสัมมาสมาธิที่ถูกต้องและสมบูรณ์ ตรงต่ออริยมรรคและอริยผล ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าผู้ปฏิบัติเอาสมาธินำหน้า โดยไม่มีมรรคอีก ๗ ข้อ เป็นฐาน เป็นบริวารล้อมรอบ อย่างที่นิยมปฏิบัติกันทั่วไปอยู่ในปัจจุบัน จะไปไม่รอด จะถึงทางตัน หาทางออกไม่ได้ เพราะการทำสมาธิเมื่อจิตเข้าฌาน ๑ ถึง ๔ แล้ว จิตก็เข้าไปสงบนิ่งอยู่ภายใน กิเลสถูกกดทับไว้ และจะมีนิมิตต่างๆมากมาย เช่น เห็นสวรรค์ นรก ภูตผีปีศาจต่างๆ และรู้วาระจิตของคนเป็นต้น  นั่นเป็นผลพลอยได้จากการทำสมาธิ และล้วนแต่เป็นการส่งจิตออกนอก ไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลแต่อย่างใด
บางคนหลงคิดว่าตนเองสำเร็จมรรคผลเบื้องสูง ก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ความจริงเป็นวิปัสสนูกิเลส จิตหลอกจิต ที่เกิดจากผลของการทำสมาธินั้นเอง เพราะพอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม สมาธิกดข่มกิเลสไว้ได้ชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่ทำสมาธิเท่านั้น แต่ทำให้ละกิเลสไม่ได้ เพราะสมาธิฌานนั้นจิตจะสงบนิ่งอย่างเดียว อารมณ์พิจารณาขันธ์ ๕ ไม่มี  ก็ไม่อาจทำให้เห็นแจ้งขันธ์ ๕ เพื่อละอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นรากเหง้าของกองแห่งทุกข์ ตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ได้
          สัมมาสมาธิ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นฐานรองรับ  สติปัฏฐาน ๔ เป็นฐานที่ตั้งการทำงานของสติ ๔ ประการ คือ กาย เวทนา จิต และธรรม  ให้รู้แจ้ง เห็นแจ้ง ตามความเป็นจริง  เปรียบสมาธิเหมือนเด็กน้อยที่ไร้เดียงสา ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง และไม่รู้อะไรควร อะไรไม่ควร จึงมีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน ส่วนสติเหมือนพี่เลี้ยง ถ้าพี่เลี้ยงดี แข็งแกร่ง เอาใจใส่ดูแลเด็กน้อยดี ไม่ให้รอดไปจากสายตาเลย เด็กน้อยย่อมเติบใหญ่ ปลอดภัย และแข็งแกร่งไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการมีสัมมาสมาธิที่แข็งแกร่ง มีมาตรฐานที่มั่นคงถาวรแล้ว ต้องเจริญสติปัฏฐาน ๔ เป็นฐานรองรับ โดยไม่ให้จิตหลุดออกจากกาย เวทนา จิต และธรรเลย จนเป็นมหาสติ มหาปัญญา(สัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม)
ในสติปัฏฐาน ๔ นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณากายก่อน คือใช้วิจารณญาณ(โยนิโสมนสิการ)ให้น้อมนำเอากัมมัฏฐาน ๕ คือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ(ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) ที่บุคคลทั้งหลายหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นบุคคลตัวตนเราเขา มาพิจารณาก่อน และทรงให้ความสำคัญกัมมัฏฐาน ๕ นี้มาก ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์ต้องให้กัมมัฏฐาน ๕ แก่กุลบุตรในวันอุปสมบททุกองค์ ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ต้องถูกปรับอาบัติ
เพราะถ้าภิกษุไม่รู้แจ้งในกายแล้ว ก็ไม่อาจถอนอุปาทานในกายหรือรูปขันธ์ หรือสักกายทิฏฐิได้  และเมื่อพิจารณาเห็นรูปกายภายนอกแล้ว ให้พิจารณากายภายในจนครบอาการทั้ง ๓๒ ประการ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด น้ำหนอง เลือด เหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำปัสสาวะ มันสมอง ให้รู้แจ้งเห็นแจ้ง แจ้งอย่างไร แจ้งอย่างที่เราคิดถึงคนอื่น เราเห็นคนอื่นเป็นอย่างไร ก็เห็นตัวเองอย่างนั้น และเหมือนเราฉายเครื่องเอกซเรย์ส่องเข้าไปดูภายในร่างกายของเรา ก็จะเห็นร่างกายที่เต็มไปด้วยความปฏิกูลไม่สะอาด (อสุภสัญญา) เห็นเป็นซากผีดิบในตน
และพิจารณาเห็นร่างกายเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ (จตุธาตุววัตถาน)คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมตัวกัน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตนที่แท้จริง พร้อมกับพิจารณาความตายควบคู่ไปด้วย (มรณสัญญา) และคิดพิจารณาร่างกายของเราเป็นซากศพ ระยะต่างๆ เช่น ตายได้ ๑ วัน ๓ วัน ๗ วัน มีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเปลี่ยนแปลงอันแปลกไปเป็นระยะ ๆ ๙ ระยะ จนกระทั่งนึกถึงการเห็นศพตนเองถูกเผามอดไหม้สลายไปในกองเพลิง
 ในขณะพิจารณาให้ตั้งคำถามตนเองไปด้วยว่า คำว่า เราๆนั้น อยู่ตรงไหน ในร่างกายนี้ ตรงไหนในร่างกายนี้ที่เป็นเรา และตรงไหนที่น่าชื่นชมยินดี เมื่อค้นไปค้นมา ค้นมาค้นไปแล้ว ก็เห็นว่าเราไม่มีในร่างกายนี้จริงๆ ร่างกายนี้ก็ไม่มีเราจริงๆ เพราะกายนี้เป็นสักแต่ก้อนธาตุเท่านั้น และเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด ก็จะทำให้เรากำจัดราคะ ความกำหนัดยินดีในตน และในผู้อื่นได้ แต่ต้องพิจารณาให้เห็นอยู่เสมอๆตลอดเวลา  ให้ร่างกายนี้เป็นเครื่องอยู่ของจิต ไม่ให้จิตหลุดออกจากกายนี้ได้เลย จิตจึงจะเป็นสมาธิที่แน่นหนา มั่นคง และมีมาตรฐานตลอดเวลา
การปล่อยให้จิตเลื่อนไหลหลุดออกจากกาย จิตจะหลงโลกไม่รู้แจ้งอริยสัจ จึงเป็นที่มาของการปรุงแต่งไม่จบสิ้น ก็คือกิเลสนั่นเอง การปฏิบัติธรรมก็จะไปไม่รอด จะไม่เจริญก้าวหน้า เพราะถ้าส่งจิตออกนอก เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส  กายสัมผัสร้อนเย็นอ่อนแข็ง ในสิ่งที่ชอบก็จะเกิดเป็นราคะ  ถ้าไม่ชอบก็เป็นโทสะ  ชอบก็ไม่ใช่ ไม่ชอบก็ไม่ใช่ ก็เป็นโมหะ
เพราะฉะนั้น กิเลส ๓ ตัวนี้ คือ ยังทำงานต่อในใจเราเหมือนเดิม เดินเครื่องเหมือนเดิม แม้จะทำสมาธิมานาน ๒๐ ปี ๓๐ ปี เข้าออกสมาธิเก่งมากเพียงใดก็ตาม  ถ้าปล่อยให้จิตที่ท่องเที่ยวเร่ร่อนออกนอกกาย ก็เหมือนกับมีการเวียนเกิดเวียนตาย สร้างภพน้อย ภพใหญ่ อยู่ไม่รู้จักหมดสิ้นนั่นเอง
เพราะฉะนั้น จิตต้องมีเครื่องอยู่ เพราะจิตเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล เหมือนน้ำต้องมีภาชนะรองรับถึงจะนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้  เมื่อจิตอยู่ที่กายก็เหมือนกับเต่าหดตัวอยู่ในกระดองย่อมปลอดภัย สุนัขจิ้งจอกก็ไม่สามารถกัดหัว กัดแข้ง กัดขา เอาไปกินเป็นอาหารได้ ถ้าจิตอยู่ในกาย ราคะ โทสะ และโมหะ ก็เข้าครอบงำจิตไม่ได้ ฉันนั้น
พระพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านจึงสอนไว้ว่า อย่าส่งจิตออกนอกเป็นสมุทัยคือ เหตุแห่งทุกข์นั่นเอง การทำสมาธิกำหนดยุบพอง พุทโธ หรือดูลมหายใจเพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของกาย ถ้าไม่น้อมจิตพิจารณาร่างกายร่วมไปด้วย ก็จะเป็นสมาธินิ่ง เข้าสู่ฌาน ๑, , , ๔ อารมณ์คิดพิจารณาหรือโยนิโสมนสิการไม่มี ใช้พักจิตได้(เป็นเครื่องอาศัยของพระอริยเจ้า) เพราะจะไม่เห็นตัว ไม่มีอารมณ์คิด แต่จะเห็นนิมิตต่างๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญารู้เท่าทัน ก็ทำให้หลงในนิมิตนั้นได้ ถ้าเป็นนิมิตที่สวยงาม เช่น สวรรค์ก็หลงเพลิดเพลิน ถ้านิมิตที่น่ากลัว เช่นนรก เปรต ผี มีคนจะมาทำร้าย อาจจะกลัวจนสติแตกเป็นบ้าไปได้เช่นกัน
สมาธิเช่นนั้นจัดเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะส่งจิตออกนอก นั่นไม่ใช่หนทางแห่งการดับทุกข์ นิมิตต่างๆ ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมาธินั้น ก็คู่กับความคิดซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตปกติ อารมณ์ก็คือกิเลส คือการคิดปรุงแต่ง หรือสังขาร ซึ่งเกิดจากอวิชชา คือไม่รู้แจ้งอริยสัจ ๔ นั่นเอง ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่มีอารมณ์ เพราะท่านรู้แจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว
ดังนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติที่ขาดปัญญาพิจารณานิมิตเป็นไตรลักษณ์ ก็อาจหลงตนเป็นผู้รู้ ผู้วิเศษ ทำตนกร่างขึ้นกว่าเดิม พอมีคนมาเคารพนับถือมาก ก็จะหลงในลาภสักการะ เพราะกิเลสยังไม่สิ้น แทนที่จะละกิเลสได้ กลายเป็นมีกิเลสเพิ่มมากขึ้นมาอีก
          ถ้าเป็นสัมมาสติหรือสัมมาสมาธิแล้ว จิตจะอยู่กับตัวคือ รูป หรือร่างกายตน ใช้เป็นที่อาศัยในขณะมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ยึดติดว่า ร่างกายเป็นตน เป็นของตน เพราะมีปัญญาเป็นเครื่องออก มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่จิตไม่ออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักว่าแต่ได้ยิน ฯ เพราะมีสัมปชัญญะเห็นแจ้งขันธ์ ๕ ว่า เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจากตัวตนที่แท้จริง ก็ละอัตตาตัวตนได้
เมื่อเห็นร่างกายไม่ใช่ตัวตนแล้ว ก็จะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงไปด้วยว่า เวทนา คือ การเสวยอารมณ์เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ อันอาศัยกายนี้เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ตัวตน 
สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ที่อาศัยกายนี้เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ตัวตน
 สังขาร คือ การคิดปรุงแต่งอันอาศัยกายนี้เกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ตัวตน  
และ วิญญาณ คือ ธาตุรู้ ที่ผ่านอายตนะภายใน ๖ คือ ตา(จักขุวิญญาณ) หู(โสตวิญญาณ)  จมูก(ฆานวิญญาณ) ลิ้น(ชิวหาวิญญาณ)  กาย(กายวิญญาณ)  ใจ(มโนวิญญาณ) ที่ไปกระทบกับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) ธรรมารมณ์ ก็ไม่ใช่ตัวตนเช่นกัน  เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงใยเนื่องถึงกันหมด
 แล้วจะทำให้เราสามารถละสักกายทิฏฐิ อันเป็น สังโยชน์ คือ กิเลสเครื่องรัดร้อยจิตให้ติดอยู่กับโลก ข้อที่ ๑ (ที่เห็นว่าร่างกายเป็นตนเป็นของตน) ที่พระโสดาบันละได้ แล้วจะทำให้สามารถละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติหรือคุณของพระรัตนตรัย) และสีลัพพตปรามาส (การลูบๆคลำๆศีลพรต ปฏิบัติแบบไหนจึงจะดีและถูกต้อง) ตามมาได้ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เนื่องกัน
เมื่อรู้แจ้งเห็นแจ้งกายในกาย เพราะมีสติอยู่ในกายพิจารณากายอยู่ตลอดเวลา ย่อมเห็นแจ้งเวทนาในเวทนา  ย่อมเห็นแจ้งจิตในจิต  ย่อมเห็นแจ้งธรรมในธรรม ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตนเราเขา เพราะธรรมทั้ง ๔ นี้เกี่ยวเนื่องกัน
เมื่อเห็นอสุภะความปฏิกูลในกาย ย่อมหมดความยินดีในกาย  ย่อมละกามราคะได้  ซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๔ ที่พระอนาคามีละได้  โทสะ และโมหะ อันเกิดขึ้นเนื่องจากราคะก็ละไปได้ด้วย 
เมื่อมีสติอยู่กับกายแล้ว ราคะที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะบรรเทาลงไป  โทสะที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะบรรเทาลงไป  โมหะที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็จะบรรเทาลงไป
แล้วก็จะเห็นแจ้งจิตในจิต รู้แจ้งชัดว่า จิตมีราคะ หรือไม่มีราคะ มีโทสะ หรือไม่มีโทสะ  มีโมหะ หรือไม่มีโมหะ และรู้แจ้งชัดธรรมในธรรม คือ ขันธ์ ๕ นิวรณ์ ๕  อายตนะ ๑๒  ไตรลักษณ์ โพชฌงค์ ๗ และอริยสัจ ๔ (คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ภิกษุเมื่อสงัดจากกาม และอกุศลกรรมทั้งหลายแล้ว จงทำปฐมฌานให้เกิดเถิด แล้วทำทุติยฌานให้เกิดเถิด แล้วทำตติยฌานให้เกิดเถิด แล้วทำจตุตถฌานให้เกิดเถิด ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การระลึกชาติ  รู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย และเพื่อทำอาสวะให้สิ้นไป
ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าให้ทำสมาธิ ซึ่งเป็นมรรคข้อที่ ๘ ก็ต่อเมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นมรรคข้อที่ ๗ ครบบริบูรณ์แล้ว เพราะตัดกามราคะได้แล้ว ละอกุศลกรรมทั้งหลายได้แล้ว จึงเป็นสัมมาสมาธิ จะไม่มีนิมิตใดๆ ที่เป็นวิปัสสนูกิเลสมาหลอกให้หลงได้อีก
และเมื่อได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำสติสัมโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ เมื่อสติสัมโพชฌงค์บริบูรณ์แล้ว ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
นี่คือทางหลุดพ้นที่ถูกต้องตามพระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ ผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางนี้ สามารถพิสูจน์ให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ด้วยตนเอง
สำหรับผู้ที่ไม่สนใจเจริญฌาน ๑ – ๔ ก็เจริญวิปัสสนาต่อ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์สายสุกขวิปัสสโก เป็นผู้ปฏิบัติแบบเรียบๆ เงียบๆ จนกิเลสสิ้นไป ตัดอุปาทานขันธ์ ๕ ได้จนหมดสิ้น






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น