วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ยุติสังสารวัฏ .. พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ



ยุติสังสารวัฏ
พระอธิการจรัญ ทักขญาโณ  วัดหลวงขุนวิน (สาขาวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี)  ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

          (นโม ๓ จบ) ขอนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น  ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง กราบคารวะครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ เจริญสุขญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น จะไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้ ด้วยการฟังเพียงอย่างเดียว  ต้องมีองค์ประกอบอื่นคือ การประพฤติปฏิบัติไปด้วย ซึ่งมีความยากลำบาก ความสับสนวุ่นวาย  และความไม่เข้าใจอีกมากมาย ทั้งมีความลึกลับซับซ้อน และความยากลำบากในการแก้ปัญหา จนบางครั้งเหมือนกับว่าเกินวิสัยที่เราจะรู้ แต่ก็รู้ได้ด้วยการอาศัยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ่งบอกหรือชี้นำให้เข้าไปรู้ได้  ความรู้นี้จึงเป็นความรู้ที่สูง เราเกิดเป็นมนุษย์  คิดว่าตนเป็นสัตว์ที่ฉลาด แต่ความฉลาดของเรายังมีสิ่งที่เหนือกว่านั้นอีก  แต่ก็อยู่ในวิสัยที่พอจะรู้ได้ เข้าไปรู้ไปเห็นได้ด้วยการประพฤติปฏิบัตินั่นเอง
ก่อนอื่นเพื่อให้ความรู้ของเรานั้นกว้างขวางขึ้น  ให้รู้สิ่งที่ควรจะรู้ และประพฤติปฏิบัติเป็นรูปธรรม  จะกล่าวถึงการเกิดมาเป็นคนของเรา ชีวิตอินทรีย์ของเราจริงๆ ก็คือ จิตดวงนี้ แต่ชีวิตอีกชีวิตหนึ่ง ก็คือร่างกายอันนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นชีวิตที่แท้จริง การตายเป็นเพียงเปลี่ยนเครื่องอาศัย  หลังจากตายจากร่างกายอันหยาบนี้  เรายังมีชีวิตอยู่ในจิตดวงนั้นนั่นเอง  ดังนั้น จิตดวงนั้นจึงเป็นชีวิตๆหนึ่ง ไม่ยุติว่าตัวเราตายไปแล้ว จะยุติการตายของจิตดวงนั้น เพราะจิตเป็นนามธรรมเป็นธรรมชาติที่ตายไม่ได้  แต่เป็นธรรมชาติที่รู้  แล้วจิตจะเดินทางต่อไป  ทิ้งร่างที่ตายนั้นไว้แล้วก็เดินทางต่อไป  ชีวิตของคนเราจริงๆ คือ จิตดวงนั้นเท่านั้น  เมื่อคนตายไปแล้วคนๆ นั้นยังมีชีวิตอยู่ เพราะว่าการตายเป็นเพียงเปลี่ยนรูปร่างเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ  แต่ว่าชีวิตตรงนั้นเดินทางอยู่ตลอดเวลา  จิตเดินทางอยู่ในอารมณ์น้อยใหญ่มากมายก่ายกองตลอดเวลา และไม่รู้จบ   
พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งในความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ คือว่า ถ้าหยุดเวียนว่ายตายเกิดหรือหยุดการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ  หยุดที่ใจเท่านั้น ใจต้องหยุดก่อน  กายนี้ก็จะเป็นร่างกายสุดท้ายเอง  แต่ร่างกายนี้ เมื่อตายไปแล้วจะยุติการเกิด  การแก่  การเจ็บ  การตายนั้นไม่ใช่  เป็นเพียงเปลี่ยนภพชาติเท่านั้นเอง ดังนั้น การตายของคนเราถือว่าตายเท่าไรก็ไม่รู้จักจบ  แต่ถ้าจิตนั้นจบ จิตนั้นหยุดเดินทางแล้ว ทุกอย่างก็ยุติและร่างกายนี้ก็เป็นร่างกายสุดท้าย ฉะนั้น ภพชาติที่มีอยู่ที่เราต้องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี้  เราจะต้องยุติที่ใจเท่านั้น เราจะเห็นว่าคนเราที่เกิดมา  ตัวเรานี้เดินทางอยู่ภายนอก แต่จิตใจนี้เดินทางอยู่ภายในตลอดเวลา และหาที่ยุติไม่ได้ นั่นหมายถึง เราลองตอบตัวเองดูว่า  จิตในอารมณ์ต่างๆ ตรงไหนเล่าจะเป็นที่ยุติ จะไปถึงทางตันที่ไหน ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเลยว่า จิตนั้นจะยุติที่ตรงไหน  จะเห็นว่าการเดินทางของจิตไม่มีขอบเขตสิ้นสุด นอกจากนิพพาน เราจะปล่อยจิตเดินทางไปเรื่อยๆ แล้วถึงที่หนึ่งจะหยุดเองเป็นฐานะที่เป็นไปไม่ได้  เพราะการเดินทางของจิตนั้นเป็นวัฏจักร  การเดินทางเป็นวงกลมที่สุดนั้นมีไม่ได้ เดินทางวนไปวนมา มีทางเดียวที่เราจะยุติคือ  ให้เห็นโทษในการเดินทางเหล่านั้นแล้วยุติเสีย  เราจะต้องค้นคว้าว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากเหตุอะไร อะไรเป็นสาเหตุ  อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งนั้น  เราต้องอาศัยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้  รู้แจ้งในความเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ได้โดยพระองค์เอง  มีความรู้ในปฏิปทาอันเป็นหนทางที่จะออกจากสิ่งเหล่านี้ได้  เท่ากับว่าคนเราเกิดมาเราจะต้องหาทางยับยั้งให้จิตยุติการเดินทางนั้นเสีย  เราจึงจะพ้นออกจากภพ ชาติ  ชรา  มรณะได้ ถ้าจิตยุติได้ยั่งยืนตลอด เป็นอันว่าการเดินทางของจิตยุติแล้วโดยถาวร คือ นิพพาน นั่นเอง”        
นิพพานเป็นการยุติการเดินทางทั้งสิ้นของจิต  แต่เรายังฝึกไม่ได้เรายังประพฤติปฏิบัติใหม่อยู่ เราก็นึกไม่ได้ว่า จิตนี้จะหยุดได้หรือ ? ดูๆ แล้วเหมือนกับว่า จิตนี้หยุดไม่เป็น  ถึงจะหยุดอยู่บ้างในการที่เราฝึกสมาธิแต่ก็หยุดชั่วขณะ จะหยุดจริง ๆ แล้วจะมีหรือไม่ ความจริงมีอยู่เป็นของที่มีอยู่แต่เรายังไม่ถึงเอง เราจึงตอบตัวเองไม่ได้  จิตที่จะหยุดจากการเดินทางนั้นมีอยู่ เป็นปฏิปทาที่มีอยู่  สมัยพุทธกาลบุคคลที่รู้ ทางเส้นนี้มีอยู่ บุคคลที่เดินทางเส้นนี้มีอยู่ และบุคคลที่ถึงที่สุดของทางเส้นนี้มีอยู่ พระพุทธเจ้ามีอยู่  พระธรรมมีอยู่  พระอริยสงฆ์ก็มีอยู่  เมื่อครั้งพุทธกาล  แต่ปัจจุบันพระพุทธองค์ทรงละสังขารไปแล้ว ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว  พระธรรมก็ยังมีอยู่  พระอริยสงฆ์มีอยู่  การประพฤติปฏิบัติถึงมรรคผลแล้วย่อมมีอยู่  แต่ก็เป็นปลายศาสนาแล้ว เพราะว่าศาสนาล่วงเลยมานานแล้ว  เราก็สงสัยกันใหญ่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่  ความจริงมีอยู่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า บุคคลที่ประพฤติธรรมโดยชอบแล้ว โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หมายถึงว่าเราทำแล้วสามารถจะเหมือนกับบุคคลที่อยู่ในสมัยพุทธกาลได้ บรรลุธรรมได้โดยอาศัยคำสอนในศาสนาของพระองค์  ด้วยการประพฤติปฏิบัติ เป็นเหตุเป็นผล  เอาตัวเองเป็นพยาน หาทางยับยั้งจิตให้ยุติการเดินทางนั้นให้ได้
วิธีแรกที่ฝึกกันคือ บังคับจิตให้สงบ อยู่ๆจะให้จิตสงบเอง เมื่อคิดไปแล้ว จะหยุดเองเป็นไปไม่ได้ จะให้หยุดอย่างไร มีวิธีหนึ่งก็คือ  บังคับ  ถ้าไม่บังคับก็หาช่องทางอย่างอื่นไม่ได้  ขั้นตอนแรกคือบังคับจิตให้สงบ พยายามตีต้อนจิตให้อยู่มุมแคบ  แล้วจับจิตนั้นอยู่ได้  อุบายวิธีนี้เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน  แปลว่า  ข่มขี่บังคับจิต  ในท่ามกลางอารมณ์มากมาย  แต่ก็บังคับจิตนั้นให้สงบลง  การบังคับแล้วบังคับเล่า  เช่น การที่เรามานั่งปฏิบัติธรรมกัน เป็นการบังคับจิตให้สงบนั่นเอง  จิตก็ไม่ยอมจะสงบ แล้วจะเห็นว่าบังคับไปบังคับมาบางครั้งสำเร็จ  แต่บางครั้งก็ไม่สำเร็จ  บางครั้งก็ไม่สงบเลย  ถึงแม้จะบังคับแล้วบางครั้งจิตสงบลงได้แต่ก็เพียงชั่วระยะหนึ่ง  จิตก็กลับไปสู่สภาพเดิมอีก  นี่คือภาวะทั้งหมดที่เป็นไปของการฝึกจิตที่เราจะสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้  บางครั้งเราฝึกมากขึ้นไปโดยมีครูบาอาจารย์สอน โดยการภาวนา พุทโธ บ้าง ฯลฯ เป็นอุบายบังคับจิตให้สงบ  แต่เมื่อจิตถูกบังคับมากๆ มีช่องที่สงบได้บ้าง  ถึงแม้ว่าความสงบนั้นจะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ตาม แต่เราจะมีความรู้ตรงนั้นอีกมากมาย เราจะเห็นธรรมชาติจิตของตัวรู้นิ่งอยู่ในตัวของมันเอง เอาตัวรู้ดูเข้าไปมากๆ จิตก็สงบลงได้ กว่าจะสงบได้ก็ต้องฝึกอย่างมากเพราะจิตไม่ค่อยจะยอม  จิตชินต่อการท่องเที่ยวในอารมณ์ต่างๆ มานานแล้ว  การที่จะให้จิตยุติการไปก็เป็นการกระทำที่ลำบาก  แต่ไม่ได้หมายถึงว่า การกระทำแล้วจะไม่สัมฤทธิ์ผลเลยก็หาไม่ อาจจะทำให้จิตถูกบังคับให้สงบได้บ้างบางโอกาส  หรือมากกว่านั้นถ้าคนนั้นชำนิชำนาญเราสามารถบังคับอบรมจิตให้อยู่ในความสงบได้ แต่เมื่อจิตสงบลงไปแล้วจะเห็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิตก็คือ ความสุข จิตทุกคนที่ฝึกแล้วทำสมาธิขึ้นมาจะพบความสุขในตัวจิตเอง  ความสุขตรงนี้เป็นความสุขใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  เมื่อก่อนเราคิดว่า ความสุขอยู่ข้างนอก แล้วเราก็วิ่งหาตามอารมณ์ เช่น ตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายถูกต้องสัมผัส ใจคลุกเคล้ากับอารมณ์ต่างๆ ที่อยู่ข้างนอก  
แท้จริงตัวของจิตเองกลับมีความสุขขึ้นมาได้และความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่เยือกเย็น เป็นความสุขที่ลุ่มลึกประณีต ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราชอบความสุขอย่างนี้  จิตเมื่อสงบแล้วจะเกิดความสุขในจิตเช่นนี้ทุกคน  แม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น  ก็เป็นเงื่อนต้นของความรู้อีกมากมายที่แตกแขนงออกมาจากสิ่งที่รู้จากจิตที่สงบนี้ เช่น จิตมีความสุขในตัวเองเป็นความสุขที่สงบระงับ เป็นความสุขที่ประณีตกว่าความสุขข้างนอก ทำให้เราเห็นว่าความสุขข้างนอกกับความสุขของจิตต่างกัน ความสุขข้างนอก หมายถึง จิตวิ่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ เป็นความสุขที่วิ่งไล่ตะครุบ  เป็นความสุขที่วิ่งหาตลอด  แต่ความสุขภายในที่เกิดจากสมาธิเป็นความสุขที่ยุติลงอย่างเป็นสุข โดยไม่ต้องวิ่งหาอารมณ์เหล่านั้น เป็นความสุขที่เกิดขึ้นแล้วไม่เร่าร้อนไม่กวัดแกว่ง  ทำให้เราได้รับความสุขนั้น แล้วเกิดติดใจในความสุขอันนั้นช่างประณีตสงบเย็นหาโทษไม่ได้   
คนเราเกิดมาทุกคนต้องการความสุข  แต่ความสุขที่โลกมีอยู่กลายเป็นความสุขที่วิ่งหาตลอด แล้วเราจะหาความสุขอื่นที่เปลี่ยนจากความสุขทางโลกก็หาไม่พบ  ต้องอบรมจิตให้เป็นสมาธิ แล้วเกิดความสุขเช่นนี้ขึ้น  จึงเป็นความสุขแบบใหม่ที่เป็นข้อแลกเปลี่ยนหรือข้อเปรียบเทียบกับความสุขข้างนอก หาทางออกที่ดีที่สุด คือ ความสุขภายในเป็นความสุขอันประณีตกว่า  เรากำหนดรู้ภาวะความเป็นธรรมชาติของตัวเองได้เมื่อจิตสงบลงได้  เป็นเงื่อนต้นของการเรียนรู้  แท้จริงคนเราต้องการความสุขของชีวิต  ถึงแม้ว่านิพพาน ก็เป็นความสุขชนิดหนึ่ง  
ธรรมชาติของคนและสัตว์ก็คือต้องการความสุข  แต่ความสุขอื่นที่โลกมีเป็นความสุขที่เร่าร้อน เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว  ทำให้เราเห็นโทษอันเป็นความสุขของโลกียวิสัย  ความสุขภายนอกเป็นโทษ  จิตเราไม่ได้นิ่งเลยกับความสุขเหล่านี้ ต้องวิ่งหาตลอด  อันเป็นที่มาของความปรุงแต่ง แล้วก็เป็นการไหลไปของจิตมากมาย นั่งอยู่หาความสงบไม่ได้เลย  แทบจะหยุดไม่ได้เลยจิตดวงนี้  นี่คือที่มาของความปรุงแต่งทั้งหมด มาด้วยอาการอย่างนี้ เป็นจิตที่หลงโลก  แล้วหาทางออกไม่ได้  แต่เราไปพบความสุขอื่นที่ดีกว่านี้ เราก็อยากจะได้ความสุขนั้น แล้วก็มองเห็นโทษความสุขจากภายนอก 
ถ้าคนนั้นมีความรู้สึกอย่างนี้ชื่อว่า บุคคลนั้นพัฒนาจิตใจของตัวเองขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว ดีกว่าคนที่ไม่ฝึกจิต ซึ่งจะไม่มีทางรู้สิ่งเหล่านี้เลย  นั่นคือ วิวัฒนาการของชีวิตของผู้ประพฤติปฏิบัติสู่ระดับหนึ่งของการเรียนรู้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะถึงที่สุดตรงนี้  ยังมีความรู้ที่จะต้องรู้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกมากมาย ยังอีกยาวไกล  เราจะต้องสาวไปตามลำดับของการเรียนรู้ เพราะไม่เช่นนั้นการเรียนรู้ก็ไม่ชัดเจนในการที่จะเข้าใจ  การกระทำตรงนี้เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราก็ติดใจในความสุขเหล่านี้  อยากจะได้ความสุขเช่นนี้มาก ๆ ให้ชีวิตของเราอยู่กับความสุขนี้ เราก็พอใจแล้ว  แต่จิตก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นดังที่เราต้องการ จิตอยู่ในความสงบระยะหนึ่งแต่เมื่อถูกกระทบอารมณ์ต่างๆมากมาย  มีความยินดียินร้ายอยู่จิตก็จะวิ่งเข้าหาอารมณ์นั้นอีก  ทำให้เราทุกข์ใจกับความเป็นไปของจิตว่าทำไมไม่อยู่ตรงนี้  ทำไมต้องวิ่งออกไปอีก จิตเองเขาก็ไม่รู้เขาจะอยู่ตัวได้ยังไง  อยู่ตัวได้ยาก คอยแต่จะไปอยู่เรื่อย ทำให้การอยู่ของจิตไม่มั่นคง ไม่สามารถที่จะดำรงความเป็นอิสรภาพของตัวเองได้ นี่คือที่มาของปัญหา    
สรุปคือ เราอยากจะให้จิตสงบอยู่นานๆ ตลอดเวลาได้ก็พอใจแล้วชีวิตนี้  แต่จิตก็สงบได้ชั่วระยะหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าบังคับก็สงบได้เพียงระยะหนึ่ง  การบังคับโดยจิตยังไม่ยอมรับแต่ถูกบังคับให้สงบ การถูกบังคับแล้วสงบก็ยังดีกว่าไม่ถูกบังคับเลย  เราจะยืนฐานการประพฤติปฏิบัติตรงนี้อย่างเดียว โดยวิธีการบังคับไม่ยุติแน่  ไม่เป็นผลสำเร็จแต่เป็นเพียงระดับหนึ่งหรือขั้นตอนหนึ่งเท่านั้นของการประพฤติปฏิบัติ  ดังนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนว่าสมถะแล้วก็ควรมีวิปัสสนา  วิปัสสนากัมมัฏฐาน  จึงเป็นเรื่องกว้างไกลเหลือเกินที่จะเข้าใจและละเอียดลออจนสามารถที่จะให้จิตดวงนี้หยุดการท่องเที่ยวโดยถาวรได้  "วิปัสสนากัมมัฏฐาน  แปลว่า ทำให้แจ้ง  ทำให้เจริญนั่นเอง”  ทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่แจ้งชัด  เราจะต้องทำให้แจ้งออกมา    
ฉะนั้น การบังคับจิตให้สงบถ่ายเดียวก็สงบแบบบังคับ  จิตก็ไม่ยอมรับจะสงบได้เพียงระยะหนึ่ง แต่เราไม่พอใจ อยากให้จิตยอมรับแล้วก็เลิกรากันไปเสียจากอารมณ์เหล่านี้แล้ว เราจะพอใจ  จะเห็นว่าถ้าทำวิธีบังคับอยู่บ่อยๆ ทำมากๆ แล้ว  การนำไปสู่ชัยชนะคงไม่ถึงที่สุดแน่  เราจะต้องเรียนรู้อุบายเพื่อให้เข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกมากมาย  เราจะต้องค้นคว้าว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน ? อะไรเป็นสาเหตุ แล้วเราจะเข้าไปรู้ได้อย่างไร  ปฏิปทาไหนที่จะนำเราไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้รู้ได้ในสิ่งนั้น นี้เป็นคำถาม เป็นข้อสงสัยที่เราไม่สามารถจะคลี่คลายออกได้  ถ้าเราบังคับจิตให้สงบอยู่ถ่ายเดียว คงจะไม่ได้ผลแน่ จิตที่ไม่สงบเพราะมีอะไร เพราะมีอารมณ์  อารมณ์เหล่านี้มาจากไหน แล้วเราจะดับอย่างไร  การปฏิบัติอย่างไรจะไปสู่ความดับอันนั้น เราจะต้องค้นหาสาเหตุเพื่อดับที่เหตุนั้น  แล้วจิตจึงจะไม่มีอารมณ์ เช่น เราจุดเทียนอยู่เล่มหนึ่ง มีลมมาหรือพัดลมเป่าอยู่  ถ้าเราจุดเทียนแล้วหวังว่าเทียนจะติดไฟแล้วลุกสว่างไสวอยู่ แต่มีลมจึงแกว่งไกวแล้วเทียนทำท่าจะดับ  ก็ใช้วิธีเอามือบังลมไว้  แต่การบังนั้นเป็นของชั่วคราวชั่วขณะหนึ่ง  เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปลายเหตุ เหมือนกับการที่เราบอกตัวเองไว้ว่า  จะทำสมาธิต่อไปนี้อย่าไปคิดอะไรนะ  คิดก็พยายามหยุดเอาไว้นะ  หยุดคิดให้จิตนิ่ง  ทำให้จิตสงบ เป็นความสงบเพราะถูกบังคับให้สงบ โดยที่ไม่ต้องวินิจฉัยว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน  ทำยังไงจะให้อารมณ์ดับ ไม่คิดอะไร ต้องการทำสมาธิ  ตัดความคิดโดยการไม่ไปวิจารณ์อะไร หรือวินิจฉัยอะไร  เมื่อทำสมาธิแล้วเกิดความสงบขึ้นได้ แต่เป็นความสงบที่ไม่จีรังยั่งยืนอะไร  เป็นความสงบที่มีชั่วขณะหนึ่ง  เราต้องการความสงบมากขึ้น  ถ้าเป็นไปได้อยากให้สงบตลอดเวลา  เราไม่ใช่แก้ปัญหาตรงนั้นเท่านั้นเสียแล้ว  เราจะต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ เราต้องถามว่าทำไมเทียนจึงนิ่งไม่ได้ ก็เพราะมีลม แล้วจะทำยังไง  ก็ไปปิดพัดลมสิ  ลมไม่มีเทียนก็ตั้งอยู่ได้ แสงเทียนก็สว่างอยู่ได้  เราไม่ใช้มือบังแล้ว แต่ไปแก้ที่ต้นเหตุคือการปิดพัดลม แล้วแสงเทียนจะนิ่งเอง แม้ไม่เอามือบังแสงเทียนก็นิ่งเองลุกสว่างไสวอยู่  ไม่ต้องบังคับอะไร ไม่ต้องใช้มือบัง  คนนั้นสามารถจะเข้าใจระบบว่า ลมมาจากแหล่งกำเนิดของลม  ฉันใดก็ฉันนั้น อารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่มาจากแหล่งที่เป็นสาเหตุเหมือนกัน
แหล่งกำเนิดของอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน ? ลองถามตัวเองแล้วนึกตอบดูว่า อารมณ์เหล่านี้มาจากไหน ใครรู้บ้าง  อารมณ์ที่คิดอยู่ในใจมาจากไหน อะไรเป็นตัวผลิตให้เกิดอารมณ์นั้น อะไรเป็นตัวกำเนิดของอารมณ์เหล่านี้”  พระโสดาบันตอบได้ ไม่ใช่โสดาบันตอบไม่ได้  แล้วปฏิปทาไหนหนอเป็นการนำไปสู่การดับอารมณ์เหล่านี้ แล้วเวลาดับจะดับอย่างไร การประพฤติปฏิบัติอย่างไร นำไปสู่ความดับเหล่านั้น  เขาแจ้งใจและดับได้ระดับหนึ่งแล้วนั่นคือ พระอริยบุคคลตั้งแต่เบื้องต้นขึ้นไป คือ พระโสดาบันขึ้นไป เพราะรู้ครบในองค์ ๔ ประการ คือ รู้ในอริยสัจ  ๔ ตามความเป็นจริง  นึกตอบได้ไหม ? อยากจะรู้ว่าต้นเหง้าเค้ามูลของอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน จะดับอย่างไร ? ใครดับได้ ? การประพฤติปฏิบัติอย่างไรนำไปสู่ความดับนั้น ตอบได้ไหม ถ้าตอบไม่ได้ ๔ อย่างนี้  พ้นทุกข์ไม่ได้  คือ ความรู้ของเราไม่พอ  แรกๆ ทำจิตให้สงบแบบบังคับ  ตอนนี้เราจะให้จิตเลิกไปเลย ไม่ต้องคิดอะไร  เลิกเดินทางเสีย เลิกท่องเที่ยวเสีย แล้วเราจึงจะมีความสุขอย่างที่เราต้องการ  ต้องทำลายอารมณ์ทั้งหมดออกจากตัวเอง  ถามว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน อะไรเป็นตัวผลิตให้เกิดอารมณ์ ดังเช่น น้ำที่ผุดขึ้นมาๆ เหมือนที่ผุดขึ้นมาอยู่ตลอด อะไรทำให้อารมณ์เหล่านี้เหือดแห้ง  แล้วจะเข้าไปสู่การปฏิบัติให้พ้นทุกข์อย่างไร ใครตอบได้ ? ลองถามแล้วลองตอบดูซิ 
ความรู้เหล่านี้สูงมากถ้ารู้แล้วดับได้เลย ถ้ารู้แล้วจะไปสู่การดับทุกข์ได้จริง เหมือนว่าเทียนเล่มนี้ไฟไม่ค่อยนิ่งเพราะมีพัดลมอยู่  แล้วเขารู้ว่าการจะให้แสงเทียนนิ่งจะต้องไปปิดพัดลม แล้วเขาก็ไปปิดเพราะรู้ว่ามาจากพัดลมเป็นสาเหตุ  แล้วก็รู้ว่าจะไปปิดพัดลมปิดอย่างไร หมายถึง รู้ปฏิปทาที่จะไปสู่การปิดตรงนั้น  รู้การปิดคือ วิธีปิด รู้ว่าปิดแล้วพัดลมจะดับหยุดพัดไป แสงเทียนจะนิ่งไม่ดับ  เราต้องการให้จิตนิ่งเหมือนต้องการให้ไฟนิ่งนั่นเอง  แต่ถ้าเราไม่ปิดพัดลมแสงเทียนจะนิ่งได้อย่างไร  เราไม่ได้แก้ที่ไฟอย่างเดียว คือ เราไม่ปิดพัดลม แต่เอามือบังให้แสงเทียนนิ่งอยู่ได้  ถ้าทำเช่นนี้อย่างเดียวคือ แก้ที่ปลายเหตุใช่ไหม  ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ  แต่ถ้าคนนั้นแก้ปัญหาให้ได้ถาวรจริงๆ ให้ครบระบบ คือ สาเหตุที่แสงเทียนไม่นิ่งเพราะมีลม  ลมมาจากไหน แหล่งที่มาคือพัดลม  พัดลมเป็นสาเหตุทำให้แสงเทียนไม่นิ่ง  ปฏิปทา คือ วิธีการดับพัดลมให้หยุดการทำงาน จึงนำไปสู่การดับของพัดลมนั้น  ผลออกมาคือ ไม่ต้องใช้มือบังลมอีกแล้ว  แสงไฟจากเทียนส่องสว่างนิ่งได้      
อุปมา จิตเหมือนแสงเทียนดวงนั้น  ลมเหมือนกับอารมณ์ เราจะบังคับให้จิตนิ่ง แต่ไม่แก้ที่พัดลมไม่ได้ปิดพัดลม จะจบได้หรือเปล่า  เราต้องฉลาดกว่านั้น คือ ค้นหาเหตุ  เขาต้องมีสาเหตุของเขามา  เราอยากจะให้จิตนิ่งแต่บังคับให้จิตนิ่งอย่างเดียว  การเอามือบังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ต้องไปสนใจว่าลมมาจากไหน คนนั้นไม่มีทางที่จะรู้เลย และไม่มีทางที่จะสำเร็จความปรารถนาของตน เพราะมัวแต่จุดเทียน แต่พัดลมไม่ปิด จะแก้ปัญหาได้อย่างไร  แก้ปัญหาไม่ได้เพราะสาเหตุของปัญหาคือพัดลม  จิตดวงนี้เหมือนไฟ เราคิดซิว่าจิตดวงนี้ทำให้นิ่งๆ อย่างไร  เราไปดับที่อารมณ์อย่างเดียวจิตก็ไปไม่เป็น  การดับที่ลมประหนึ่งว่าเป็นการทำลายอารมณ์ทั้งหมดได้  จิตจะนิ่งเองโดยที่ไม่ต้องบังคับ แต่เมื่อก่อนจะให้จิตนิ่งเอง โดยการบังคับให้นิ่งกว่าจะนิ่งได้ก็ทุลักทุเลดีไม่ดีบังคับไม่ได้เลย  นี่คือ เหตุผลของการกระทำอย่างแรก  การบังคับไปเรื่อยๆ  แล้วให้จิตนิ่งเอง ถ้าเราทำลายที่อารมณ์  แต่เราไม่เน้นที่ว่าจิตจะนิ่งหรือไม่นิ่ง เหมือนว่าเราจะคิดว่าไฟจะนิ่งหรือไม่ก็ไม่สนใจแล้วปิดพัดลม  เมื่อพัดลมถูกปิดลงลมก็หยุด  เราจะปรารถนาว่าไฟนี้จงแกว่งเถิดจงอย่านิ่งเลย ไฟนั้นก็นิ่งอย่างเดียวเพราะไม่มีลม  ปรารถนาให้ไม่นิ่งไฟก็จะนิ่ง ฉันใดก็เหมือนกันจิตดวงนี้  ถ้าเราทำลายสาเหตุของอารมณ์ทั้งหมด  เราจะปรารถนาว่าให้จิตนี้เป็นสมาธิก็เป็นสมาธิ  แม้ไม่ปรารถนาให้จิตเป็นสมาธิ ก็ยังเป็นสมาธิอันเดียวกัน เป็นสมาธิโดยที่ไม่มีอารมณ์ เพราะอารมณ์ถูกกำจัดไปแล้ว  
นี่คือการมองความแหลมลึกของสาเหตุเหล่านี้ คือ เราจะต้องมองอะไรที่กว้างนั้นคือ มองให้ครบองค์ประกอบถึงความเปลี่ยนแปลงและความเป็นมาของเขา  ความจริงแล้วต้องมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยอยู่ เราถึงจะพบทางแก้ปัญหาได้  ตอบได้หรือยังว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน ลองตอบซิ  เข้าใจแล้วว่าจิตปรุงแต่ง  จิต คือ ตัวรู้  ปรุงแต่ง คือ อารมณ์  ถามว่าอารมณ์มาจากไหน  อารมณ์อยู่ภายนอกนั้นไม่ใช่  ความจริง คือ จิตของเราวิ่งไปหาอารมณ์เอง  อารมณ์นั้นไม่ได้วิ่งมาหาเรา  ถ้าเราไม่วิ่งอารมณ์ก็อยู่ตรงนั้นแหละ  ไม่มีอารมณ์เกิดขึ้นจิตของเรา  ไม่ได้หมายถึงว่าอารมณ์จะเข้ามาหาเราเอง  แต่จิตเราวิ่งหาอารมณ์เอง  เพียงแต่จิตเราไม่ไปเท่านั้น อารมณ์ก็ไม่มีแล้ว  ใครรู้บ้างว่าอารมณ์เหล่านี้มาจากไหน ? อารมณ์เหล่านี้ คือ กิเลส  เป็นอนุสัยที่นอนเนื่องในขันธสันดานมีอยู่”  ตัวเหล่านี้มาจากไหน ? อะไรเป็นสาเหตุของอารมณ์  ที่ผุดขึ้นๆ ตลอดเวลา  อะไรเป็นต้นกำเนิดของอารมณ์  ถ้าเห็นแล้วเข้าใจได้ก็จะดับตรงนี้ได้  ต่อไปจิตดวงนี้ยุติเลย คนๆ นั้น แต่คนที่จะตอบได้นั้น คือ พระโสดาบัน ขึ้นไปตอบได้แล้วก็ดับได้ด้วย  ชัดเจนเลยเพราะโครงสร้างทั้งหมดเปิดให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง 
จิตกับอารมณ์มาคลุกเคล้ากัน คือ จิตปรุงแต่ง เหมือนเอาข้าวกับแกงมาผสมกันเป็นของผสมแล้ว ก็คือปรุงแต่งแล้ว  แต่เราแยกกับและข้าวให้ออกจากกัน โดยที่จิตอย่าปรุงแต่งเลย  แล้วการปรุงแต่งมาจากไหน มาจากอุปาทานขันธ์ ๕  ซึ่งเป็นที่มาของต้นกำเนิดของอารมณ์ทุกชนิด อุปาทานขันธ์ ๕  หมายถึง ความยึดมั่นขันธ์ ๕  เป็นต้นกำเนิดความปรุงแต่งอันนี้  ต้นเหง้าของอุปาทานขันธ์ ๕  มาจากไหน  มาจากความไม่รู้ (อวิชชา)  แล้วความไม่รู้นั้น ไม่รู้อะไร ไม่รู้อริยสัจ ๔  มีอยู่ ๔ ประการ คือ ไม่รู้จักตัวทุกข์   ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)  ไม่รู้การวิธีดับทุกข์ (นิโรธ) ไม่รู้ปฏิปทาออกจากทุกข์(มรรค อันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์)  
อีกนัยหนึ่ง คือ ไม่รู้ว่าความคิดมาจากไหน ? ไม่รู้ว่าความคิด คือ ทุกข์ และไม่รู้ว่าความคิดนี้มาจากไหน ? จะดับความคิดได้อย่างไร ไม่รู้ว่าปฏิปทาที่จะนำไปสู่การดับทุกข์จะเดินทางไหนดี การไม่รู้อริยสัจ ๔ กับการไม่รู้สิ่งนี้เป็นอันเดียวกัน” 
ฉะนั้น คนที่จะดับทุกข์ได้ต้องไปถอนอุปาทานขันธ์ ๕ ออก แล้วความคิดจะออกไปเองโดยปริยาย ความคิดเหล่านี้จะจางคลาย จางลงๆๆ เบาลงๆ ผลที่สุดมีเพียงจิตดวงเดียวอยู่กับโลก แต่ไม่มีอารมณ์ใดๆ จิตดวงนี้จะเลิกคิดเลิกนึก และเลิกปรุงแต่ง ความปรุงแต่งจะยุติตรงนั้นได้ ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ คือ ตัวทุกข์ การเข้าใจของเรารู้ได้ยาก  ทำอย่างไรอุปาทานขันธ์ ๕  นี้เราจะรู้จักได้อย่างไร ?        
คนที่รู้จักกับคนที่ไม่รู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ ต่างกันอย่างไร ? เราจะรู้ตัวเองไหมว่า เรารู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ คำถามเหล่านี้ลองนึกตอบดูซิ คนที่มีอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คือ คนไม่แจ้งในขันธ์ ๕ อันเดียวกัน และคนที่ไม่มีอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คือคนที่แจ้งในขันธ์ ๕ อันเดียวกัน แจ้งก็คือ รู้ขันธ์ ๕ ถอนอุปาทานได้  ถ้าไม่แจ้งก็ถอนไม่ได้  ถอนไม่ได้อารมณ์ก็ยุติไม่ได้  อันเดียวกัน ฉะนั้น อารมณ์ทั้งหมดมาจากตรงอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นแหล่งกำเนิด  การที่เราฝึกโดยการบังคับจิตให้เป็นสมาธินิ่งอยู่เป็นสมถะ แล้วการมองเห็นตัวเองให้จิตอยู่กับตัว เห็นอาการ  ๓๒  เอาจิตฝังแน่นในอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเป็นวิปัสสนา เกิดเป็นมหาสติทำให้แจ้งในขันธ์ ๕  เราจะต้องรู้ว่าทำอย่างไร จะให้ดับอุปาทานขันธ์ ๕  และต้องรู้วิธีว่าจะดับอย่างไร ถ้ารู้ว่าอุบายออกอย่างไร ? คนนั้นรู้ประเสริฐ รู้อย่างเลิศ  รู้คุณ รู้โทษ  รู้อุบายออก รู้ปฏิปทาออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง      
ภิกษุก็ดี สมณะพราหมณ์ก็ดี ที่รู้ความเป็นจริงของขันธ์ ๕  ถ้ารู้ว่าอุบายออกอย่างไร ? คนนั้นรู้ประเสริฐรู้อย่างเลิศ  รู้คุณ รู้โทษ  รู้อุบายออก  รู้ปฏิปทาออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง นับว่ารู้ในสิ่งที่เป็นเลิศ เพราะรู้แล้วจึงจะออกได้ ถ้าไม่รู้ก็ออกไม่ได้ เพราะความรู้นั้นเป็นที่มาของการออก การเข้าวัดมานาน ปฏิบัติมานาน แต่ดูเหมือนว่า ความคิดจะมากกว่าเดิมอีก ความจริงก็เท่าเดิม แต่การกำหนดรู้ละเอียดขึ้น ก็เลยเห็นว่ามาก  เมื่อก่อนความคิดก็มากอย่างนี้ แต่การกำหนดรู้ของเราหยาบทำให้มองเห็นว่า เราไม่คิดอะไรเท่าไร ยิ่งทำก็ยิ่งคิดเหมือนมากกว่าเดิม ดูเหมือนว่ายิ่งเข้าวัดก็ยิ่งคิดไม่หยุดเลยยิ่งทุกข์ เมื่อก่อนไม่เข้าวัดก็พอจะมีความสุขอยู่บ้าง ยิ่งเข้าวัดยิ่งเห็นทุกข์มากขึ้น ความจริงถูกแล้ว ยิ่งเห็นทุกข์ การกำหนดรู้ก็ยิ่งละเอียด ความละเอียดทำให้เราเห็นพฤติกรรมของเขาได้ชัดเจนขึ้น  แล้วทุกข์บีบบังคับเราเหมือนไฟลนก้น  บังคับให้เราหาทางออก  ถ้าไม่เห็นทุกข์ก็ไม่มีทางที่จะดิ้นออก  ถูกบีบอย่างนี้ก็ต้องหาทางออกให้ได้ คือ เห็นทุกข์ เป็นเรื่องดีนะ แสดงว่าเราเข้าวัดก็ได้อะไรมากแล้วล่ะ รู้ว่าทุกข์เท่าไหร่ก็ยิ่งได้ผลมาก เพราะจิตละเอียด  แต่เรามองกลับกัน ทำจริงๆ ก็ได้ผลจริงๆ ทำให้แจ้งอย่างเดียวให้แจ้งตัวเรา แล้วจะแจ้งทั้งวันยันค่ำ แจ้งสว่างโร่ จิตอยู่กับตัวอย่างเดียวไม่มีออกข้างนอก จิตอยู่ที่ตัวของเขานั่นแหละ ขอบเขตอยู่แค่นั้น  ยุติ !  ยุตินึกอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว ความคิดยุติ  ผลจากการเห็นแจ้งตัวนั้น จะรักษาความคงทนอยู่ จึงไม่ต้องทำความเพียรอีกต่อไปจนตลอดชีวิต การเห็นแจ้งตัวเอง จะไม่แปรเปลี่ยนเลย  นี่คือ ญาณ เป็นตัวรู้ เป็นเครื่องหมายแห่งความรู้แจ้ง" ต่อไปจะทำความเพียรก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ สมาธิก็ไม่ได้เป็นอื่น 
การฝึกอบรมจิต(จิตญาณ)เป็น วิปัสสนาญาณ ยิ่งกว่าฌานอีก เพราะเป็นสมาธิตลอดเวลา แต่ถ้าเอาตัวรู้มาพิจารณาเห็นเนื้อหนังของเราจะเป็น ญาณ เห็นแจ้งตัวเราออกมา  เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ  หลังจากได้สมาธิแบบโลกุตตระแล้ว เราเอาจิตดูจิตได้แล้วก็เป็นฌานได้  แต่ถ้าคนนั้นทำ ฌาน อย่างเดียว ไม่มี ญาณ ก็จะหาตัวรู้(ญาณ)ไม่ได้  กลายเป็นสมาธิแบบโลกีย์  ญาณเป็นเครื่องหมายแห่งความรู้แจ้งเห็นจริง ถ้าไม่มีญาณก็ไม่สามารถรู้เห็นแจ้งได้
ส่วน ฌาน เป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นการเอาจิตดูตัวจิตอีกทีหนึ่ง แต่เป็นของที่ทำแล้วก็ต้องปล่อยวางทั้งหมด ฌานเป็นการเอาจิตดิ่งลงไปในตัวรู้แต่ไม่ต้องเห็นตัว เป็น สมถะ เอาจิตดูจิต  จิตนิ่งในตัวเอง เป็นสมาธิแบบโลกีย์ ไม่สามารถสู่ทางพ้นทุกข์ได้ แต่การทำวิปัสสนาญาณเห็นตัวไม่ต้องเป็นฌาน ก็สามารถทำได้ เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ  
แปลก ! เพราะเขารู้ด้วยญาณ  เพราะเขาอบรมจิตมาพอ  ถึงจะเป็นอย่างนั้นได้แต่ ฌาน ตัวรู้เพ่งอยู่ในตัวจิตดิ่งเข้าไปลึก ตัวเรานิ่งแล้ว จิตจะเริ่มแยกตัวออกจากตัวรู้ บางครั้งรู้ว่าเรานั่งอยู่แต่ว่าสั่งงานไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ กระดิกนิ้วมือขยับไม่ได้เลย เพราะจิตขาดการติดต่อจากตัวเรา  จิตดูจิตจะดิ่งเข้าไปจนไม่รู้ตัว เป็นสมาธิแบบโลกีย์ แต่มีตัวรู้เป็นเครื่องอยู่ ลึกจนถึงก้นบึ้งแห่งจิตแล้ว ตัวเราจะไม่รับรู้เลย  แต่เมื่อถึงเวลาแล้วก็จะคลายออกจากสมาธิ ก็จะเริ่มรู้ตัวขยับแขนขยับขาได้แล้ว ตาหูก็เริ่มทำงานจิตก็ออกข้างนอกอีกแล้ว ไปสู่ภาวะเดิม เมื่อก่อนที่จิตจะสงบเป็นอย่างไร ก็จะไปสู่ภาวะอย่างนั้นอีก ตรงนี้แก้ไม่ได้ 
ฉะนั้น ญาณ กับ ฌาน  จึงเป็นคนละระบบ  ถ้าทำฌานอย่างเดียวไม่มีญาณไปไม่ได้เลย  ถ้าคนนั้นมีญาณอย่างเดียวเห็นแจ้งในธาตุขันธ์ได้  แล้วก็ไม่ต้องทำความเพียรอีกต่อไป คนนั้นจะเป็น สุขวิปัสสโกคือ พ้นทุกข์แบบไม่มีปรุงแต่งเลย  แล้วจิตไม่ได้อยู่ลึกอยู่ตื้นๆ เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่จิตไม่ได้ท่องเที่ยวเท่านั้นเอง  จิตเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่จิตไม่ได้ออกข้างนอก สงบอยู่ได้ตลอดเวลา จิตไม่ได้ออกไปไหน  สมาธิในพระพุทธศาสนาต่างกันตรงนี้ ฉะนั้น การปฏิบัติสมาธิแบบโลกุตตระทำแล้วจบได้ จะไม่มีข้างนอก  ต่อไปจะทำก็ได้ไม่ทำก็ไม่เป็นไร  จะทำจริงหลังจากเป็นพระอนาคามีแล้ว  เพราะการพิจารณาร่างกายแจ้งที่สุด คือ พระอนาคามี แจ้งมาก ราคะ โทสะ จะไม่เหลือแล้ว เราจะสังเกตว่ามรรคมีองค์ ๘ ตัดแล้วจากกาม  ตัดแล้วจากอกุศลทั้งหลาย ยังปฐมฌานให้เกิด
บางครั้งอุปนิสัยของคนอบรมมาอย่างนี้ ต้องเอาสมาธินำหน้า  แล้วพิจารณาธาตุขันธ์หรือขันธ์ ๕  ให้แจ้งทีหลังได้  แต่อีกคนไม่เอาสมาธินำหน้า แต่เอาปัญญานำหน้า  เข้าใจระบบจิตว่า ควรดำริออกอย่างนี้  ก็ทำตามระบบ แต่เมื่อไปถึงพระอนาคามี  การพิจารณากายแจ้งสุดแล้ว จบแล้ว เห็นตัวแจ้งชัดมาก  แต่การพิจารณาต่อไปไม่มีแล้ว ก็จะทำฌานขึ้นมาเอง ตรงนั้นไม่ยากอะไร เพียงแต่ไม่ได้เข้าไปเท่านั้นเอง  การเข้าฌานเป็นการให้รู้วิชชา ๓ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ และอาสวักขยญาณ) เพื่อให้รู้เรื่องความลึกลับของจิตโดยตรง  เป็นความรู้ประกอบอันนี้ เราไปรู้ข้างหน้าโน้น คือขั้นตอนต่อไป  แรกๆทำตัวรู้เห็นแจ้งในขันธ์ ๕ ก่อน  การทำฌานจะทำก่อนก็เกิดก่อน จะทำทีหลังก็เกิดทีหลังได้ ถึงจะมีสมาธินำ หรือเอาปัญญานำ ที่สุดคือ การเห็นตัวอย่างเดียวเท่านั้น  ทั้งสองอุปนิสัยจะต้องมาแจ้งขันธ์ ๕ อย่างเดียวเว้นไม่ได้เลย อุบายไหนก็แล้วแต่ไม่รู้แจ้งตรงขันธ์ ๕ ชื่อว่าไม่รู้  แล้วก็จะทำให้ถึงความพ้นทุกข์จริงๆไม่ได้ หากไม่แจ้งในขันธ์ ๕ จะฝึกมาขั้นตอนอย่างไหน ก็ต้องมาแจ้งตรงขันธ์ ๕ ที่เดียวกันนี้  อย่างอื่นเป็นองค์ประกอบเท่านั้น ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ต้องรู้เห็นแจ้งให้ได้ ไม่เห็นแจ้งถือว่าไม่ผ่าน เพราะพ้นไม่ได้
ถ้าไม่เห็นแจ้งก็เป็นสมาธิแบบโลกีย์  ถ้าเห็นแจ้งก็เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ แม้ไม่ได้ทำฌานก็เป็นโลกุตตระได้ แต่เป็นสมาธิแบบโลกุตตระ  จิตนั้นก็ไม่ได้ปรุงแต่งเลย  ความสมบูรณ์มีอยู่ เพราะความรอบรู้ด้วยปัญญามีอยู่ ความรู้ตรงนี้เป็นความรู้ที่ยั่งยืนถาวรมั่นคง เป็นความรู้ที่ไม่แปรเปลี่ยน  บุคคลนั้นจึงไม่ต้องทำความเพียรอีกต่อไป  มีความเห็นแจ้งที่ยั่งยืนอยู่ตลอดชีวิต  การทำความเพียรทำไม่ทำก็ไม่ว่า ทำไปเพื่อเป็นกิริยาเท่านั้น  แต่การทำเพื่อละกิเลสไม่มีแล้ว  เหมือนการปลูกบ้านเมื่อสร้างเสร็จ การที่จะปลูกบ้านต่อไม่มีแล้ว  แต่ว่าปัดกวาดเช็ดถูทำความสะอาดได้อยู่  กิริยาที่เคยปฏิบัติเดินจงกรมนั่งสมาธิ ว่างๆก็ทำตามความเคยชิน ทำเป็นเยี่ยงอย่างคนอื่น  ทำเป็นวิหารธรรม  ทำความสะอาดซักซ้อมความเป็นอยู่ได้ แต่การทำเพื่อละกิเลสจะไม่มีอีกต่อไป  สงครามกับกิเลสนี้ เลิกแล้วเลิกเลย  อัศจรรย์นะจิต เป็นของแปลกอย่างไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นอย่างนั้นได้  ยามมั่นก็มั่น  ยามไม่มั่นก็ดูไม่ออกว่าจิตจะมั่นได้ ก็มีทางที่จะถึงความมั่นคงได้
ฌานทำให้จิตสงบได้ แต่ญาณอันเป็นธาตุรู้ไม่มี เพราะญาณเป็นธาตุรู้ ญาณเป็นสิ่งที่ปลูกฝังไว้ในจิตไม่ได้ เพราะจิตเป็นนามธรรมไร้ตัวตน จึงควบคุมจิตให้สงบตลอดเวลาไม่ได้  ต่างกับญาณที่ถูกอบรมจิตให้ฝังแน่นไว้ในแต่ละอวัยวะภายในกายได้ เพราะมีขันธ์ ๕  ซึ่งมีรูปกาย คือกายหยาบเป็นรูปธรรมนั่นเอง
ภพอื่นๆแม้แต่เทวดาผู้มีกายทิพย์เป็นกายละเอียดที่เรามองไม่เห็นเป็นรูปธรรม  จึงไม่สามารถบำเพ็ญเพียรเพื่อความหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้ ดังนั้น การเห็นแจ้งจึงต้องแจ้งในขันธ์ ๕ คือ เห็นแจ้งในตัวเราเท่านั้น เป็นความโชคดีและเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์เท่านั้นเป็นผู้มีรูปกายประกอบด้วยอาการ ๓๒ จึงสามารถประพฤติปฏิบัติ บำเพ็ญความเพียรให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
การอบรมจิตต้องมีเทคนิค มีอุบายกล่อมจิตว่า เออ ! จิตเที่ยวมานานแล้วนะ  อยู่ตรงนี้นะ อย่าไปไหนนะ เหมือนการกล่อมเด็ก  นึกดูนะ อีกหน่อยเราจะต้องตาย  ลองนึกดูเขาเผาเรา จะเป็นอย่างไร กล่อมจิตเข้าไปต้องมีอย่างนี้ด้วยนะ มีลูกเล่น ลูกยอ ต้องมีอุบายกล่อมจิตให้โน้มเอียงไปในทางที่เราต้องการ เรียกว่า โยนิโสมนสิการ”  คือ อุบายที่แยบยลในการโน้มน้าวจิตให้แจ้งขันธ์ ๕ แล้วจึงจะถึงที่สุดแห่งการสิ้นทุกข์ได้
ขอยุติเพียงเท่านี้ ขอให้ทุกคนรู้แจ้งเห็นธรรม ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ถึงมรรคผลนิพพานทุกคนทุกท่านด้วยเทอญ.......




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น